Image

ภาพถ่ายจิ๋วแจ๋ว !

Hidden (in) Museum

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

นับแต่การถ่ายภาพกำเนิดขึ้นในโลก เทคโนโลยีถ่ายภาพก็ไม่เคยหยุดพัฒนา

ปี ๒๕๓๔ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ (ปัจจุบันใช้ชื่อภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ จัดแสดงกล้องถ่ายรูป ภาพถ่ายสีเชิงศิลปะ วิทยาศาสตร์การพิมพ์ และเทคโนโลยีทางภาพ “เป็นแห่งแรกของไทยและเอเชีย”

ในห้องกว้างของชั้น ๓ อาคารภาพถ่ายฯ เล่าวิวัฒนาการของกล้องและภาพถ่าย จัดแสดงกล้องหายากและกล้องทรงคุณค่ามากมายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน (บางส่วนได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์) ทั้งกล้องระดับมืออาชีพอย่างกล้องถ่ายรูปสามมิติ กล้องฟิล์มกระจกเปียก กล้องดาแกร์ กล้องสายลับ และกล้องทั่วไปหลากยี่ห้อ เช่น นิคอน แคนนอน ฟูจิ ไลก้า โพลารอยด์ ฯลฯ ยังมีจัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องมืด รวมถึงให้ความรู้การกำเนิดแสง สี และภาพสามมิติ กระบวนการถ่ายภาพฟิล์มกระจกแห้ง การถ่ายภาพแคโล-ไทป์ การถ่ายภาพดาแกโรไทป์ ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์ภาพถ่ายแก่ผู้สนใจได้ศึกษาศิลปะ เทคโนโลยี และพัฒนาเทคนิค 

ตะลึงตาที่สุดยกให้ “ภาพถ่ายจิ๋ว” และ “กระบวนการถ่ายภาพจิ๋ว (micro photography)” ซึ่งย่อภาพปรกติให้มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยายหรือกล้องจุลทรรศน์ช่วยดู 

Image

Image

นวัตกรรมไมโครฟิล์มแสนประหลาดนี้คิดค้นโดย จอห์น เบนจามิน แดนเซอร์ (John Benjamin Dancer) ชาวอังกฤษ ผู้เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และช่างภาพ ตอนแรกเขาถ่ายภาพแบบดาแกโรไทป์ (daguerreotype) สารไวแสงที่ใช้เป็นวัตถุทึบแสง เห็นภาพยาก ภายหลังจึงใช้สารไวแสงอื่นที่โปร่งแสงกว่าเพื่อให้เห็นภาพดีขึ้น อีก ๑๕ ปีต่อมาก็ใช้วิธีถ่ายภาพแบบกระจกเปียก (wet-plate process) ได้ภาพที่อยู่บนสไลด์กล้องจุลทรรศน์ซึ่งเป็นแผ่นกระจกบาง ปรากฏว่าภาพมีความคมชัดสูง

ที่น่าทึ่งคือภาพถ่ายนั้นมีขนาดจิ๋วเพียง ๒.๕ x ๒.๕ มิลลิเมตร !

เมื่อแดนเซอร์นำภาพจิ๋วออกจำหน่ายก็มีผู้สนใจ แต่ขายได้น้อย เพราะการดูภาพต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ซึ่งราคาสูงและไม่สะดวก แดนเซอร์จึงประดิษฐ์ “ไมโครกราฟ (micrograph)” เป็นอุปกรณ์เสริมช่วยในการติดตั้งและดูภาพ แต่ลูกค้าก็ไม่นิยม จึงทำให้ภาพจิ๋วยังจำกัดอยู่ในวงแคบ

กระทั่ง เรอเน่ ดากรง (Rene Dagron) ช่างภาพชาวฝรั่งเศสได้ประดิษฐ์ “สแตนโฮป (stanhope)” อุปกรณ์ช่วยมองภาพจิ๋วโดยใช้เลนส์ขนาดเล็กมาก ทำให้การถ่ายภาพจิ๋วและมองภาพผ่านสแตนโฮปของดากรงได้รับความนิยมสูงและขายสแตนโฮปได้มากจากชาวปารีส

สิ่งที่จัดแสดงมีทั้งสแตนโฮปขนาดเท่าปากกาและตัวอย่างจำนวนมากของภาพถ่ายจิ๋วจัตุรัสบนแผ่นแก้วไวต่อแสงแบบคอลโลเดียน แค่ในแว่นขยายพื้นที่ขนาดก้นแก้วน้ำ ๑ อันก็บรรจุของดีไว้ถึง ๔๕๐ ภาพ ไม่แปลกที่ใครจะเดินผ่านหลายรอบโดยไม่เห็นหากไม่ตั้งใจสังเกต-มองหา

ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู  

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ
ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒๕๔ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น.
โทร. ๐-๒๒๑๘-๕๕๘๑