คำบรรยายภาพโดยกรมศิลปากรระบุว่า ชาวโคราชหาบเสบียงไปมณฑลอุดร เป็นภาพจริงตามคำเล่าของผู้เฒ่าชาวขอนแก่นคนหนึ่งที่บอกว่าเขาหาบไก่เดินทางราว ๑๔๐ กิโลเมตรจากบ้านมูลนาคมาขายที่ตลาดเมืองนครราชสีมา ตัวละ ๒๕ สตางค์ เพื่อหาเงินเสียภาษีให้ราชการ

Image

Image

จากมณฑลนครราชสีมาหรือหัวเมืองลาวกลางในอดีตมีทางเกวียนเชื่อมต่อกับมณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดรมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ต่อมาเมื่อมีการวางแนวสายโทรเลขก็คงจะเลียบเคียงไปตามเส้นทางโบราณเหล่านั้น

จากเรือนประทับแรมแสนสุขในตัวเมืองโคราช คณะตรวจราชการใช้เวลา ๔ วันเดินตามแนวสายโทรเลขจากมณฑลนครราชสีมาเข้าสู่เขตมณฑลอุดรที่เมืองชนบท

“พลับพลาที่พักที่มณฑลอุดรทำรับ คือที่เมืองชนบท เมืองขอนแก่น แลเมืองหนองคาย รวม ๓ แห่ง ที่ได้ไปประทับมาแล้วนั้น เขาทำด้วยเครื่องไม้จริง จะใช้เปนที่ว่าการต่อไปด้วย”

รายงานการตรวจราชการลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๔๙ ที่กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์และพัฒนาการด้านการปกครองของมหาดไทยในยุคบุกเบิกไปด้วย ทั้งยังบันทึกสภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ อาชีพของผู้คนท้องถิ่น

ที่เมืองชนบท 
“พึ่งตัดไปขึ้นมณฑลอุดรเมื่อตั้งข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลอุดร  ราษฎรเมืองชนบทมีชาวโคราชกับชาวอุดรเกือบจะเท่า ๆ กัน รวมทั้งสิ้น ๓๕,๙๐๖ คน การทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำนาอย่าง ๑ ทำไร่ฝ้ายอย่าง ๑ ไร่อ้อยอย่าง ๑ ทำเกลืออย่าง ๑ ผสมโคอย่าง ๑ ทำไหมอย่าง ๑ ไหมเดิมทำแต่พอใช้ ในบ้านเมืองขายกันราคาชั่งละ ๓ บาท ตั้งแต่ ๒ ปีมานี้ ไหมได้ออกเปนสินค้าทางเมืองนครราชสิมาบ้าง ราคาขึ้นเปนชั่งละ ๗ บาท ๓๒ อัฐ”

๑ ชั่ง เท่ากับ ๑.๒ กิโลกรัม
เวลานั้น ๑ บาท เท่ากับ ๖๔ อัฐ

ส่วนที่เมืองไผทสงฆ์เป็นเมืองโบราณริมฝั่งลุ่มแม่น้ำมูล “มีเนินดินเป็นกำแพงและมีคูสองชั้น จำนวนพลเมือง รวม ๒๒๘,๐๐๐ การทำมาหาเลี้ยงชีพ มีการทำนา ทำไร่ผัก ไร่ยาสูบและจับสัตว์น้ำพอเลี้ยงกันเอง และมีการทำไหมและหุงเกลือจำหน่ายขายไปที่อื่น ๆ บ้าง บ้านราษฎรหมู่หนึ่ง ๆ มีรั้วไม้จริงบ้าง ไม้ไผ่บ้างเป็นเขตหมู่บ้าน”

เป็นยุคที่บ้านเมืองเริ่มมีถนนและสะพาน

สภาพบ้านเมืองที่ได้เห็นตั้งแต่ย่านแขวงเมืองขอนแก่น 
“สพานใหญ่ข้ามลำน้ำพาชี เปนสพานไม้แก่นมีพนักสองข้าง”

ที่เมืองหนองคาย “ทางเกวียนที่เปนทางสำคัญในการค้าขาย แลเขาอ้างเหตุที่จะรับเสด็จซ่อมทาง แลทำสพานอย่างถาวรข้ามลำน้ำแทบทั่วทั้งมณฑล แลได้ทรงเห็นสพานใหญ่ ๆ หลายสพาน กับทั้งที่พักตามระยะทางก็ทำด้วยเครื่องไม้จริงสำหรับจะได้เอาไว้เปนศาลาสำหรับอาไศรยต่อไปโดยมาก เพราะเขาหาไม้ได้ง่ายใช้แรงราษฎรแลเรี่ยรายเงินพวกพ่อค้าทำสำเร็จได้ ตลอดจนทางโทรเลขก็ถางเตียนซ่อมแซมไว้ไม่มีที่ติ ถ้าจะคิดเปนราคาเงินที่ต้องซื้อหรือจ้าง ทำการถาวรที่เขาทำครั้งนี้ จะเปนเงินราวสี่ห้าหมื่นบาท”

Image

เรือนประทับแรมที่ใช้รับเสด็จ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า บางส่วนเขาทำด้วยเครื่องไม้จริง จะใช้เป็นที่ว่าการต่อไปด้วย

ทั้งยังได้รับรายงานว่า “กรมการหัวเมืองรายทางได้ทำทางเกวียนเดินตลอดลุ่มแม่น้ำโขง แล้วข้าหลวงเทศาภิบาลจะตัดหนทางเกวียนจากเมืองท่าอุเทนให้ไปต่อกับเมืองหนองคาย ทางเมืองสกลนครหรือหนองหารต่อไป เพื่อเปนการสะดวกแก่การค้าขาย” 

เมืองสกลนครที่ตั้งอยู่บนเนินลาดริมเทือกเขาภูพาน 
“มีถนนกว้างใหญ่หลายสายและมีถนนซอยขึ้นไป ระหว่างหมู่บ้านเปนทางสี่แยกหลายแห่ง บ้านเรือนราษฎรมีรั้วไม้จริง และเปนเรือนฝากระดาน หลังคากระเบื้องไม้โดยมาก นับว่าเปนเมืองที่มั่งคั่งยิ่งกว่าหัวเมืองที่ผ่านมาแล้วโดยมาก  แต่เขาว่าอากาศสู้ที่เมืองหนองคายไม่ได้ เพราะถึงฤดูฝนลมพัดมาจากเขาภูพานมักมีความไข้”

ถัดไปทางบ้านนาแก หรืออำเภอนาแกในทุกวันนี้ 
“มีหมากมีมะพร้าวบริบูรณ์ ตามระยะทางที่มาเมื่อใกล้หมู่บ้าน มีราษฎรมาตั้งร้านพัก มีโอ่งน้ำและมะพร้าวอ่อนสำหรับรับรองคนเดินทางมาเปนระยะ ๆ หลายแห่ง” 

เมืองเรณูนคร บ้านเมืองของชาวผู้ไท “เดิมชื่อบ้านดงหวาย ตั้งเปนเมืองขึ้นเมืองนครพนมในรัชกาลที่ ๓ สังเกตดูผู้คนแต่งตัวสอาดเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่งที่ได้ผ่านมาแล้ว พลเมืองเปนผู้ไทยโดยมาก มีจำนวน ๑๑,๙๘๖ เปนที่ดอน ใช้น้ำบ่อแต่ที่นาดี ชาวบ้านมีฝีมือทอผ้าดี กับมีการผสมโคกระบือนำไปขายถึงเมืองมรแมน เดินทางช่องสระผม ผ่านไปทางมณฑลเพชรบูรณ์ ขากลับซื้อสินค้าจากเมืองมรแมนมาขายที่นี่ จึงมีผ้าด้ายไหมเครื่องแต่งตัวแปลก ๆ”

ส่วนที่เมืองยโสธร
 “มีถนนใหญ่เปนทางสี่แยก ริมถนนใหญ่มีร้านเปนตึกดินอย่างโคราช มีพ่อค้าจีนแลพ่อค้าไทยมาจากโคราชตั้งขายของต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากเมืองนครราชสิมามากร้านด้วยกัน แลมีผ้าม่วงหางกะรอกและโสร่งไหมซึ่งทำในพื้นเมืองมาขายบ้างบางร้าน หมู่บ้านราษฎรก็แน่นหนา มีจำนวนพลเมืองทั้งสิ้นประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน มีถนนเล็ก ๆ เดินถึงกันในหมู่บ้าน แต่เปนที่มีฝุ่นมาก”

ในทุกเมืองที่เสด็จผ่าน
ผู้เข้าเฝ้าหลักกลุ่มหนึ่ง
เป็นพ่อค้าจีน
ที่มีตัวตนในเอกสาร
และกลายเป็นประวัติศาสตร์
ของทางการต่อมา

Image

บายศรี ส่วนหนึ่งของประเพณีการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของชาวอีสานที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ถึงในแทบทุกเมือง และทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่โดยทั่วไป

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ในแต่ละบ้านเมืองมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนท้องถิ่นมารอเฝ้าต้อนรับ ดังปรากฏในภาพถ่ายและบันทึกที่บรรยายถึงการรับเสด็จอย่างแจ่มชัด

“เวลาถึงที่พักมีชาวบ้านมาหาแห่งละมาก ๆ ทุกแห่ง และเวลานี้เป็นเวลามีดอกพะยอม พวกหญิงสาวชาวบ้านมักร้อยเป็นมาลัยสวมศีรษะเหมือนรัดเกล้า และต่างหูที่ใช้กันนั้นมีก้านยาวงอนขึ้นข้างหลัง เหมือนจอนหูเรียกว่ากะจอน ชาวมณฑลอีสานใช้ตัดผมเป็นพื้นไว้ผมทัดยาว” พระนิพนธ์ที่เมืองเสลภูมิ

เมื่อเสด็จไปจดริมฝั่งโขงที่เมืองหนองคายและล่องตามลำน้ำโขงไปยังเมืองต่าง ๆ ทางฝั่งขวา

“มีราษฎรพากันมาต้อนรับเปนอันมาก และว่าที่ได้เห็นเจ้านายเสด็จไปทางนี้ดูมีความปีติยินดีทั่วน่ากันทุกแห่ง”

จนถึงเมืองนครพนม 

“ตามลำน้ำโขงมาข้างใต้ ขึ้นที่ท้ายบ้านพวกจีน ดูร้านพ่อค้าจีนขายของต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากกรุงเทพฯ และตลาดขายของสด”

ตกค่ำ

“มีหมอลำมาเป่าแคนร้องลำว่ากันระหว่างชายกับหญิง แล้วราษฎรได้แห่ผ้าป่าซึ่งเรี่ยรายกัน ผ่านที่พักมาให้อนุโมทนาแล้วไปทอดณะวัดต่าง ๆ”

สังเกตว่าในทุกเมืองที่เสด็จผ่าน ผู้เข้าเฝ้าหลักกลุ่มหนึ่งเป็นพ่อค้าจีนที่มีตัวตนในเอกสารและกลายเป็นประวัติศาสตร์ของทางการต่อมา

Image

ภาพการรับเสด็จตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า “มีราษฎรพากันมาต้อนรับเปนอันมาก และว่าที่ได้เห็นเจ้านายเสด็จไปทางนี้
ดูมีความปีติยินดีทั่วน่ากันทุกแห่ง”  สังเกตฝาเรือนประทับที่เป็นใบไม้ขนาบด้วยไม้ไผ่สานนั้นมักถูกใช้เป็นฉากหลังในการถ่ายภาพบุคคลในหลายที่ 
ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นวัสดุและสไตล์ทางสถาปัตยกรรมด้านที่อยู่อาศัยยอดนิยมของท้องถิ่นในเวลานั้น

Image

ภาพบน กรมศิลปากรบรรยายว่าเป็นซุ้มประตูที่ข้าหลวงกับราษฎรจัดทำขึ้นเพื่อรับเสด็จที่ห้วยหลัว ก่อนเข้าเมืองสกลนคร เห็นถนนและแนวคูที่ดูรู้ว่ามีการยกระดับปรับปรุงขึ้นจากที่ลุ่มชุ่มน้ำ มีม้ากินหญ้าอยู่ด้านหลัง ซึ่งอาจเป็นตัวเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในอีกภาพที่บรรยายว่าเป็นถนนเมืองสกลนคร  ส่วนภาพล่างเป็นการรับเสด็จแถวขอบทุ่งกุลา นอกเมืองร้อยเอ็ด

ที่เมืองชนบท “นายอำเภอพร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านแลผู้เฒ่าพาราษฎรชายหญิงประมาณ ๒๐๐ คน นำบายศรีตีฆ้องแห่มายังที่พัก ผู้เฒ่าขึ้นนะโมว่าคำอำนวยพร แล้วผูกไหมทองที่ข้อมือเปนการทำขวัญตามธรรมเนียมบ้านเมือง และจีนพ่อค้า ๔-๕ คน มีขุนพานิชจีนนิกรเปนหัวน่ามาให้กิมฮวยอั้งติ๋ว

อุปกรณ์แต่งกระถางธูป เป็นดอกไม้กับผ้าแดง

เมืองหนองคาย “พวกชาวเมืองแห่บายศรีขวัญ ตีฆ้องแลโห่ร้องเปนกระบวนมาประชุมพร้อมกันที่ปรำใหญ่ข้างที่พัก พวกจีนพ่อค้ามีกิมฮวยอั้งติ๋ว เข้ากระบวนแห่มาด้วย”

สภาพสังคมความเป็นอยู่ของราษฎรในหัวเมืองลาวพวนก่อนเป็นมณฑลทำอาชีพเกษตรกรเลี้ยงตัวเอง เป็นอยู่ง่าย ๆ  เมื่อเป็นหัวเมืองได้รับการส่งเสริมให้ทำนา เลี้ยงสัตว์ และบำรุงผลเร่วไม่ให้สูญพันธุ์  ถ้าราษฎรสองคนผัวเมียสามารถปลูกข้าวได้ปีละ ๓๐ สัด รัฐจะรับซื้อข้าวเปลือกที่เหลือจากการบริโภค ด้านการเลี้ยงสัตว์ ได้ทรงจัดตลาดให้ราษฎรได้ซื้อขายสัตว์กันทุกเมืองและประกาศให้ราษฎรนำสัตว์มาตีตราเพื่อป้องกันการลักขโมย

ต่อเนื่องมาถึงยุคนายฮ้อยค้าวัวควายซึ่งได้มาเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ ระหว่างทางตรวจราชการด้วย

“ในหมู่ราษฎรที่มาหามีพม่า ๓ คน ซึ่งมารับซื้อกระบือลงไปขายข้างใต้ไต่ถามถึงหนทางที่ไป ว่าลงทางช่องตะโก เพราะเปนทางที่มีน้ำบริบูรณ์กว่าทางอื่น กระบือที่พาลงไปปีละครั้งอยู่ในระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ คราวหนึ่งถึง ๘๐๐-๙๐๐ ตัว ลงไปขายทางเมืองพนมสารคาม เมืองพนัศนิคมบ้าง ไปเมืองมินบุรีบ้าง และกรุงเก่าบ้าง ไต่ถามถึงการพิทักษ์รักษากระบือเวลาเดินทางเปลี่ยว ว่าใช้กระบวนนอนเฝ้ารายกันเปนวงรอบฝูงกระบือ ถ้าจะมีคอกสำหรับกระบือพัก ควรมีที่ปากดงแห่งหนึ่ง กลางเขาแห่งหนึ่ง และเชิงเขาอีกแห่งหนึ่ง และที่ ๆ ต้องการน้ำเวลานี้ คือในเขตรมณฑลปราจิณบุรีที่เชิงเขาลงช่องตะโกแล้วแห่งหนึ่ง ที่ละหานทรายแห่งหนึ่ง”

เส้นทางโบราณที่กลายมาเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๘ จากอีสานใต้สู่ภาคตะวันออกในปัจจุบัน

กับอีกเส้นทางที่เคยนำนายฮ้อยมุ่งสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง

“มีพ่อค้าซื้อโคกระบือไปขายคราวหนึ่ง ตั้งแต่ ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ บ้าง ลงทางดงพระยาไฟไปขายที่ปากเพรียวทางหนึ่ง  ลงทางดงพระยากลางไปขายที่อำเภอสนามแจง แขวงเมืองลพบุรีทางหนึ่ง”

ปัจจุบันเป็นตำบลสนามแจง อำเภอบ้านหมี่

Image

หนองประจักษ์ เมืองอุดรธานี เมื่อปี ๒๔๔๙ กับในตอนนี้ ปี ๒๕๖๘

ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

หลังผ่านยุคเริ่มปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลมานับสิบปีแล้ว เมื่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจากกรุงเทพฯ มาเห็น พระองค์ได้บันทึกภาพสังคมชนบทของชาวมณฑลอุดร

“ตั้งแต่เข้าเขตรมณฑลอุดรมา ได้ไปเที่ยวตามหมู่บ้านราษฎรตามทางที่ผ่านมาหลายแห่งบางแห่งเปนบ้านใหญ่ตั้งมาช้านานหลายชั่วคน ลองไต่ถามถึงประเพณีการสมาคมของชาวบ้านเหล่านี้ ตามที่พวกชาวบ้านชี้แจง ได้ความปลาดน่าพิศวงอย่าง ๑  คือชาวบ้านเหล่านี้ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่ง ๑  มีเย่าเรือนพอกันอยู่ แลมียุ้งเข้าเก็บไว้พอกินปี ๑  ในลานบ้าน ปลูกพริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ สำหรับต้มแกง  นอกบ้านมีสวนผลไม้ เช่น กล้วย, อ้อย, หมาก, มะพร้าว และมีที่ปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ต่อเขตรสวนออกไปถึงทุ่งนา ต่างมีเนื้อนาและโคกระบือพอทำได้เข้ากินทุกครัวเรือน  ถึงฤดูทำนาก็ช่วยกันทำนาทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่  สิ้นฤดูนาผู้ชายไปเที่ยวหาของขาย ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงไหมแลทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม  เศษอาหารที่เหลือบริโภคใช้เลี้ยงไก่แลสุกรไว้ขาย การกินอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ทำได้เองเกือบไม่ต้องซื้อหาสิ่งอันใด สิ่งที่ต้องซื้อก็คือเครื่องเหล็ก เช่น จอบ เสียม มีดพร้า เปนต้น แลเครื่องถ้วยชาม บางทีก็ซื้อด้ายทอผ้าหรือผ้าผืน แลของอื่น ๆ ที่ชอบใจซึ่งพ่อค้าหาไปขาย  เงินทองที่จะใช้ซื้อหาก็มีพอเพียง เพราะมีโคกระบือที่ออกลูกเหลือใช้ แลมีหมูแลไก่ที่เลี้ยงไว้ด้วยเศษอาหารเหลือบริโภค ขายได้เงินซื้อของที่ต้องการได้พอปราถนา ต่างครัวต่างอยู่เปนอิศระแก่กัน ไม่มีใครเปนบ่าว ไม่มีใครเปนนายใคร ลูกบ้านอยู่ในปกครองของผู้ที่เปนหัวน่าครัวของตน แล้วก็มีผู้ใหญ่บ้านแลกำนันต่อขึ้นไป ดูปกครองกันง่ายดาย  แต่ว่าทั้งตำบลนั้นจะหาเศรษฐีที่มั่งมีเงินแต่ ๒๐๐ บาทขึ้นไปไม่มีเลยคนยากจนถึงต้องเปนบ่าวคนอื่นก็ไม่มีเลยสักคนเดียว คงอยู่กันมาเช่นนี้นับด้วยร้อยปีแล้ว เพราะเหตุว่าพวกชาวบ้านทำไร่นาหาเลี้ยงตัวได้ โดยไม่จำเปนต้องใช้เงิน  ความรู้สึกต้องการตัวเงินไม่รุนแรง เงินก็ไม่มีอำนาจเหมือนในเมืองที่ว่าเปนศิริวิไลย จึงไม่ใคร่มีใครสะสม แต่จะว่ายากจนก็ไม่ได้ เพราะเลี้ยงตัวได้โดยผาศุกไม่อัตคัด”

แต่ตามปากคำของคนท้องถิ่นในยุคหลังการปฏิรูปจัดระเบียบการปกครองซึ่งต้องเสียภาษีให้ทางราชการ ตามที่ ประวิทย์ สายสงวนวงศ์ ระบุใน “ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทและข้อจำกัดการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ” โดยอ้างจากรายงานตรวจราชการของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี ๒๔๓๙ “เรื่องพระพรหมภิบาลไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา” ว่าราษฎรจะฆ่าหมูตัวเองกินกัน 
“...ก็ต้องเสียภาษีสุกรหนึ่ง ๓ บาทบ้าง ๑ บาทบ้าง ๕๐ สตางค์บ้าง”

ในระดับหมู่บ้าน กำนันที่ปกครองดูแลหมู่บ้านราว ๑๐ หมู่บ้าน ได้รับการมอบหมายหน้าที่ให้สำรวจจำนวนหลังคาเรือน จำนวนประชากรแยกชาย-หญิง พื้นที่ไร่นา จำนวนโค กระบือของแต่ละครัวเรือน จำนวนเกวียน อาวุธปืน ตรวจตราคนแปลกหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้าน คนที่จะออกไปทำมาหากินต่างเขตแขวงให้กำนันออกหนังสือให้ คิดค่าธรรมเนียมฉบับละ ๑ อัฐ

จากนั้นราษฎรในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีภาระต้องเสียภาษีให้กับรัฐ จากสิ่งของมาเป็นเงินตรา ในปี ๒๔๓๙ ยกเลิกการเก็บส่วยผลเร่วมาเป็นเงินค่าราชการคนละ ๒ บาทต่อปี  ถัดมาปี ๒๔๔๐ เพิ่มเป็น ๓.๕๐ บาท  กระทั่งปี ๒๔๔๔
พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. ๑๒๐ ระบุอัตราสูงสุดไว้ถึงคนละ ๖ บาทต่อปี โดยเก็บจากชายฉกรรจ์อายุระหว่าง ๑๘-๖๐ ปี ชำระที่แขวงใด เมืองใด หรือมณฑลใดก็ได้ ผู้ที่เสียเงินส่วยแล้วทางราชการจะออกใบเสร็จ (ปี้) ให้ เพื่อแสดงแก่เจ้าหน้าที่ 

ในมณฑลอีสาน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์กำหนดให้สัตว์พาหนะต้องมีใบรูปพรรณ เพื่อป้องกันการพลัดหายหรือถูกขโมย การซื้อขายต้องไปตกลงกันที่อำเภอ จึงถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ โดยต้องให้เจ้าหน้าที่พิมพ์รูปพรรณไว้ด้วย

การพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะต่าง ๆ ต้องเสียค่าธรรมเนียมเชือกละ ๕ บาท  ม้า โค กระบือ ตัวละ ๑๖ อัฐ หรือราว ๑ สลึง

ยังไม่รวมภาษีทางอ้อมจากค่าอากรนา สุรา น้ำมันเชื้อเพลิง ป่าไม้ ยาสูบ เกลือ รวมทั้งการทำธุระกับราชการก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม

หากเสียเงินรัชชูปการไม่ตรงตามกำหนดก็จะถูกปรับเป็นหลายเท่า คือ จาก ๔ บาท เป็น ๑๒ บาท และอาจเพิ่มขึ้นถึง ๓๐ บาท ตามที่มีบันทึกใน พระประวัติและพระกรณียกิจ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

ขณะทางฝั่งซ้ายตรงข้ามมณฑลอุดร ฝรั่งเศสเก็บส่วยเพียงอย่างเดียว สยามจึงต้องทำเช่นเดียวกัน โดยเก็บจากชายฉกรรจ์คนละ ๑ บาท มาตั้งแต่ปี ๒๔๓๗  กระนั้นก็ยังเป็นปัญหาเนื่องจากกรมการเมืองไม่สามารถเข้าไปเก็บภาษีในเขต ๒๕ กิโลเมตร และราษฎรแถบนั้นก็อ้างว่าอยู่ใต้บังคับฝรั่งเศส ไม่ยอมเสียส่วย

ระหว่างลงเรือข้ามหนองหารจากท่าแร่สู่เมืองสกลนคร ขบวนเสด็จได้พบเห็นวิถีประมงในบึงน้ำ ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์

ตามที่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์คนแรกของมณฑลอุดร เคยถวายรายงานเรื่องการเก็บภาษีในมณฑลว่า “เมืองหนองคายไม่มีภาษีอากรสิ่งใดเหมือนเมืองนครราชสีมา มีแต่เงินส่วยอยู่ปีละ ๒๕ ชั่งเศษ และสารพัดจะกันดารต่าง ๆ จนกระทั่งน้ำมันปิตโตรเลียมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเงินสำหรับช่วยราชการบ้าง แต่คิดดูอย่างหยาบ ๆ ไม่เกินปีละ ๓๐๐ ชั่ง จึงจะให้ราษฎรมีความสุข คือไม่ต้องกะเกณฑ์เป็นต้น”

ทางการสยามแก้ปัญหาด้วยการประกาศพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. ๑๒๐ (ปี ๒๔๔๔) แทนการเก็บส่วยในมณฑลอุดร คนละ ๔ บาทต่อปี

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้รูปแบบการทำมาหากินแบบพื้นบ้านดั้งเดิมเริ่มเปลี่ยนเป็นต้องการเป็นตัวเงินมากขึ้น เนื่องจากต้องชำระภาษีเป็นเงินบาท ไม่ใช่ส่วยสิ่งของดังแต่ก่อน กลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับมากกว่าปัจจัยด้านอื่น

ตามคำเล่าของ บุญ สอนนำ ชาวบ้านมูลนาค ขอนแก่น ที่ สุวิทย์ ธีรศาศวัต บันทึกไว้ใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๔๔ ว่าเขาต้องหาบไก่เดินทางราว ๑๔๐ กิโลเมตร นำมาขายที่ตลาดเมืองนครราชสีมา ตัวละ ๒๕ สตางค์ เพื่อหาเงินเสียภาษีให้ราชการ

ภาพหมู่บ้านอย่าง “แชงกรีลา” หรือยูโทเปียตามในบันทึกตรวจราชการจึงคงไม่ใช่ชุมชนทั่วไปของหมู่บ้านอีสาน

และคงจะตามธรรมดาของโลกและสังคมในแห่งหนใดก็ตามที่ล้วนย่อมต้องมีด้านตรงข้ามปะปนกันอยู่ แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงเล่าจากมุมมองของใคร

แม้กระทั่งในวันนี้ อีสาน หรืออดีตหัวเมืองลาวก็ยังงาม เช่นเดียวกับความทุกข์ยากที่ยังมีอยู่

Image

เมืองหนองคาย บ่ายวันฤดูร้อนปี ๒๕๖๘ อุณหภูมิ ๓๙ องศาเซลเซียส ต่างจากในฤดูหนาวปี ๒๔๔๙ ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงบันทึกว่า “มาถึงหนองคายได้เห็นแม่น้ำโขงวันนี้ ที่นี่อยู่ค่างหนาวจัด เมื่อคืนนี้
ปารอดถึงสี่สิบสี่” 
(หรือราว ๖.๖๖ องศาเซลเซียส) และวันก่อนหน้านั้น อุณหภูมิที่ริมลำน้ำซวย นอกเมืองหนองคาย เมื่อคืนวันที่ ๔ มกราคม “เวลาค่ำวันนี้ปรอทลงถึง ๓๘ ดีกรีฟาเรนไฮต์ หนาวกว่าวันอื่นที่ได้พบในคราวนี้” 

ช่วงเวลาที่ห่างกัน ๑๐๐ กว่าปี เมื่อมองจากวันนี้บางเรื่องฟังดูเหมือนเป็นนิทานอีกเรื่อง
 “...ยังอีก ๖ ดีกรีก็จะถึงน้ำแข็ง ฉันไม่เคยพบหนาวที่ไหนในเมืองไทยเหมือนวันนั้น” เป็นนิทานในความหมายที่ฟังดูเหลือเชื่อ มากกว่าหมายถึงเรื่องปั้นแต่ง เนื่องจากล้วนเป็นเรื่องเล่าจากข้อเท็จจริงทั้งสิ้น

เรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำโขงอยู่ใน นิทานโบราณคดีเรื่องที่ ๑๗ เล่าถึงเรื่องความมหัศจรรย์ทั้งในแง่สัณฐาน ภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ วิถีชีวิตคนท้องถิ่น ฯลฯ มาจากภาพจริงที่คณะตรวจราชการได้เห็น
“ตามหาดและริมฝั่งน้ำราษฎรปลูกผักปลูกยาเป็นระยะ ๆ ไป บางแห่งก็เป็นป่าที่ไม่มีผู้คน  ในลำน้ำโขงมีจระเข้ และริมตลิ่งเห็นนกยูงบางแห่ง บางแห่ง
ก็เห็นลิง และบางแห่งที่ใกล้หมู่บ้านเห็นกระบือลงกินน้ำเป็นฝูง ๆ แลเห็นเครื่องดักปลาบ้าง นาน ๆ จึงเห็นเรือลำหนึ่งสองลำ รู้สึกว่าเปลี่ยวมาก”


ในยุคที่ยังไม่มีถนน คณะตรวจราชการใช้เวลา ๑๘ วัน เดินตามแนวสายโทรเลขและทางเกวียนจากโคราชถึงหนองคาย จากนั้นล่องตามลำน้ำโขงไปจนถึงนครพนม ซึ่งใช้เวลาเพียง ๓ วัน บนความเร็วของเรือกลไฟที่ข้าราชการผู้ใหญ่ของฝรั่งเศสให้มาใช้ในการนี้

“วันนี้นายพันตรีโนลัง ข้าราชการฝรั่งที่เมืองเวียงจันท์มาหา บอกว่าเคาเวอเนอเยเนราลให้นำเรือกลไฟชื่อลาแครนเดียลำ ๑ เรือไฟเล็กอิกลำ ๑ รวม ๒ ลำ มาให้ใช้ในการเดินทางต่อไป และได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานข้างฝั่งซ้ายต้อนรับให้ทุกแห่งได้สั่งให้ขอบใจ”

Image

Image

Image

ท่าเรือเมืองหนองคายปัจจุบัน เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ลงเรือกลไฟของฝรั่งเศสที่ท่านี้เพื่อเสด็จในแม่น้ำโขง ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ว่า “ถ้าใครยังไม่เคยเห็นก็น่าไปดู” แต่ “ฉันไปหนหนึ่งแล้วยังไม่นึกอยากไปล่องแม่น้ำโขงอีกจนเดี๋ยวนี้”  ส่วนภาพล่างเป็นเรือพายที่ชาวบ้านใช้ในแม่น้ำโขง ขุดจากซุงทั้งต้น

ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์

ตามไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้กันว่าเวลานั้นยังอยู่ในยุคขยายอำนาจของประเทศนักล่าอาณานิคมตะวันตก ฝรั่งเศสเข้ายึดครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมปักปันแบ่งเขตแดนแผ่นดิน โดยยุคก่อนหน้านั้นบ้านเมืองในแถบลุ่มน้ำโขงยังไม่มีพรมแดนแผนที่ตายตัว กำหนดเขตเมืองด้วยการตั้งถิ่นฐานของพลเมือง

การมาของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมสร้างความตึงเครียดต่อสยามตลอดฝั่งน้ำโขง มีรายงานการกระทบกระทั่ง ต่อรอง ทำข้อตกลง และละเมิดข้อตกลงกันไปมาอยู่ตลอดเวลา กระทั่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒

เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสส่งเรือรบปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา บังคับให้สยามสละการอ้างสิทธิ์ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและบรรดาเกาะในแม่น้ำโขง จนถึงเมืองจำปาศักดิ์และเมืองมโนไพรทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง รวม ๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสจากกรณีการกระทบกระทั่งทางทหารที่เมืองเชียงขวางและที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ประวัติศาสตร์ที่สยามมองว่าเป็นการสูญเสียดินแดน แต่การกำหนดเส้นพรมแดนที่ชัดเจนด้วยแม่น้ำโขงก็ช่วยให้สยามครอบครองดินแดนส่วนที่ยังไม่ชัดเจนทางฝั่งขวาได้อย่างถาวรต่อมา

หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สัณฐานของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจึงเป็นรูปร่างอย่างที่เป็นแผนที่ประเทศทุกวันนี้ ที่มีพื้นที่อีสานเป็นส่วนหนึ่งด้วย

ครั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ เสด็จตรวจราชการเมืองริมฝั่งโขงเมื่อปี ๒๔๔๙ ฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมดินแดนทางฝั่งซ้ายได้ให้เรือมาใช้ในการเดินทาง แม้การตรวจราชการนั้นนัยหนึ่งเพื่อยันต้านอำนาจการรุกรานของฝรั่งเศสอยู่กลาย ๆ ก็ตาม

ตามเอกสารรายงานตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยดูฝรั่งเศสจะมีไมตรีอย่างดีเยี่ยม

“ได้ข่าวว่าฝรั่งเศสตระเตรียมรับรองมากว่าจะลงมาเชีญไปเวียงจันท์ ทรงเห็นว่าทีจะต้องไปแต่จะคิดอ่านกลับมาหนองคายในวันนั้นไม่ต้องค้าง เพราะไม่อยากจะขยายโปรแกรมตามที่ได้กะไว้แต่เดีม”

แต่ต่อมาทราบว่า ผู้สำเร็จราชการรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสที่ประจำอยู่เวียงจันท์
 “ไปเมืองตังเกี๋ยยังหากลับมาไม่ เพราะฉนั้นจึงไม่ต้องเสด็จไปเวียงจันท์”

แต่ให้เรือใช้ ตามในรายงานตรวจราชการวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๔๙

“ฝรั่งเศสได้เอาเปนธุระจัดการให้ได้ทรงรับความศุขสบายเปนอย่างดีที่สุดที่เขาจะทำได้เปนที่ชอบพอเรียบร้อยกันมาตลอดทาง” 

แต่ประทับแรมแต่เฉพาะทางฝั่งขวาเท่านั้น แม้บางครั้งต้องพายเรือกลับมาเอง
 “ฉันต้องลงเรือพายของเมืองท่าอุเทนข้ามมายังที่พักแรม” เนื่องจากเรือกลไฟต้องจอดทางฝั่งซ้าย

“การที่ล่องคิดจะหยุดพักแต่ในพระราชอาณาเขตร เพราะเขาจัดรับมีที่พักแรมทุกระยะตลอดทาง เปนแต่ใช้พาหนะของฝรั่งเศส เขาให้นายพันตรีโนลังลงมาด้วยจนตลอดทาง  ขณะเมื่อลงเรือมีข้าราชการแลราษฎรมาส่งเปนอันมาก พระก็มาสวดชยันโตประน้ำมนต์บนร้านริมซุ้มประตูบนตลิ่งทางลงเรือ พวกส่งโห่ฮิ้ว เรือลาแครนเดียยิงปืนสลุต เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๕๐ นาที เรือใช้จักรออกจากท่า”
...

พร้อมกันนั้นสยามก็ดำเนินนโยบายให้ราษฎรในพื้นที่ถอยห่างจากความเป็นลาว ทั้งในเชิงสำนึกทางการเมืองและประวัติศาสตร์

เจดีย์และวิหารวัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย
ภาพเปรียบเทียบในช่วงเวลาห่างกัน ๑๒๐ ปี
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image

สวนเกษตรริมฝั่งโขงตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า “ตามหาดและริมฝั่งน้ำราษฎรปลูกผักปลูกยาเป็นระยะ ๆ ไป” ในทุกวันนี้ก็ยังคงมีอยู่
ภาพ : ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ

Image

สะพานเชื่อมสองฝั่งโขงอีกแห่งหนึ่ง จังหวัดบึงกาฬ

บ้านบึงกาฬเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการปี ๒๔๔๙  ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๔  ศาลากลางและศูนย์ราชการจังหวัดยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ภาพ : ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ

พร้อมกับน้ำใจไมตรีที่ดูเหมือนมีความสัมพันธ์อันดี แต่ขณะเดียวกันก็เห็นแนวโน้มถึงความพยายามของฝรั่งเศสในการดึงดูดผู้คนในหัวเมืองอีสานของสยาม โดยใช้ความต่างทางชาติพันธุ์ระหว่างผู้ปกครองจากกรุงเทพฯ กับผู้ใต้ปกครองที่เป็นลาว ซึ่งถูกเกณฑ์แรงงานและเก็บส่วย ให้ไปขออยู่ใต้ปกครองฝรั่งเศส ซึ่งจะช่วยให้พ้นจากการกดขี่ของสยาม

ตามบันทึกการตรวจราชการตอนผ่านไปแถวเมืองกุมภวาปี มณฑลอุดร
 “...หมู่บ้านสองเปลือยซึ่งเปนที่ราษฎรชาวเมืองนครนายก มาตั้งทำนาเข้าเจ้าหลายปีมาแล้ว  คนพวกนี้เปนเชื้อลาวชาวเวียงจันท์ แต่ก่อนเมื่อศก ๑๑๓-๑๑๔ ฝรั่งเศสให้พวกกรมการเมืองเวียงจันท์ลงมาเกลี้ยกล่อมให้กลับไปเมืองเดิมของปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ที่มาเกลี้ยกล่อมมาบอกว่าจะได้บ้านเรือนไร่นาสารพัดไม่ต้องลงทุนรอนอย่างไร ไปอยู่กินตามชอบใจ พวกนี้หลงเชื่อก็ขายบ้านเรือนไร่นาอพยพไปเมืองเวียงจันท์  ครั้นไปถึงไม่ได้จริงดังคาดเห็นสู้อยู่เมืองนครนายกไม่ได้ ก็พากันอพยพกลับมา ที่ยังมีทุนรอนพอกลับมาถึงบ้านเดิมได้ก็มี  ที่หมดทุนมาไม่ได้ ก็ตั้งทำไร่นาอยู่ในมณฑลอุดรที่ตำบลนี้บ้าง ตำบลอื่นบ้าง ยังมีอยู่หลายสิบครัว”

ขณะที่ทางการสยามเผชิญหน้าด้วยออกนโยบายช่วงชิงราษฎรกลับมา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสาน ใช้วิธีแจกเสื้อผ้าและยกเว้นไม่เก็บภาษีในปีแรก ให้แก่ราษฎรที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เข้ามาจดทะเบียนเป็นคนในบังคับสยาม 

พร้อมกันนั้นสยามก็ดำเนินนโยบายให้ราษฎรในพื้นที่ถอยห่างจากความเป็นลาว ทั้งในเชิงสำนึกทางการเมืองและประวัติศาสตร์ ด้วยการผลิตความรู้และเรื่องเล่าใหม่ที่แยกจากความรู้ว่าด้วยลาว ตามที่ เชิดชาย บุตดี ตั้งเป็นประเด็นในการวิจัยดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “วงจรการผลิตความรู้ว่าด้วยอีสานจากยุคอาณานิคมถึงยุคชาตินิยม

บรรยายภาพโดยกรมศิลปากรว่าหญิงชาวเมืองเรณูนครนั่งเรียงบนเกยชั่วคราวที่สร้างขึ้นใกล้ที่ประทับแรมเพื่อให้เจ้านายเดินขึ้นประทับช้างได้สะดวก

“ผลกระทบหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ คือหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ชนชั้นปกครองสยามเริ่มมีการแบ่งแยกและผลิตความรู้ของพื้นที่ ที่เรียกว่าอีสานขึ้นมา เพื่อให้เป็นความรู้ที่ต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส”

เช่นเดียวกับที่ ประวิทย์ สายสงวนวงศ์ ระบุใน เปลี่ยนอีสานให้เป็นไทย ว่า คำว่าลาว หรือความเป็นลาว เป็นปัญหาสำหรับสยาม 
“เมื่อฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและสิบสองปันนา ตลอดจนสิบสองจุไท กลายเป็นเขตอารักขาของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๓๐  ความคล้ายคลึงด้านภาษาและวัฒนธรรมระหว่างสองฝั่งโขง อาจเป็นข้ออ้างที่ฝรั่งเศสใช้เป็นสาเหตุเข้าครอบครองดินแดนที่ราบสูงโคราช  ความกังวลทำให้รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอาณาบริเวณนี้เสียใหม่  ชนชั้นนำสยามพยายามสร้างคำอธิบายใหม่ว่าแท้จริงแล้ว ลาว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับ ไทย ซึ่งเป็นคำที่ชาวสยามใช้เรียกตนเอง”

ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงให้เหตุผลว่า การที่ในอดีตคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้คำว่า “ลาว” ล้วนเป็นการเข้าใจผิด แท้จริงแล้วผู้คนในล้านนาและล้านช้าง ตลอดจนที่ราบสูงโคราช ล้วนแต่เป็นชนชาติไทยทั้งสิ้น สมควรจะเรียกว่าไทยล้านนาและไทยล้านช้างเสียมากกว่า

เช่นเดียวกับที่ ธวัช ปุณโณทก เขียนไว้ใน “ไทยอีสาน” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน ว่า ชาวภาคกลางมักเรียกคนอีสานและคนลาวว่าลาว เพราะภาษาพูดต่าง แต่ความจริงเป็นภาษาไทยสาขาหนึ่ง

คนอีสานหรือคนลาว จนถึงคนไทในสิบสองปันนาและในรัฐฉาน ต่างก็เรียกตัวเองว่าไท หรือไทย ไต แปลว่าคน หรือชาว เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ซึ่งหมายถึงคน ต่อท้ายด้วยชื่อเมือง แต่คนภาคกลางเรียกกลุ่มคนไทยที่เสียงพูดเพี้ยนจากตนว่าลาว

ชาวอีสานกลุ่มไทย-ลาวจึง
 “เป็นไทยสาขาหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมหลักเหมือนกับไทย เช่น ภาษา ศาสนา ความเชื่อ จารีตประเพณี ฯลฯ แต่มีวัฒนธรรมย่อยต่างกันไปเฉพาะกลุ่มชนท้องถิ่น”

การจัดการความรู้ว่าด้วยลาวก่อนยุคจักรวรรดินิยมขึ้นไปจึงย่อมไม่พบว่ามีปฏิสัมพันธ์กับล้านช้าง แต่สัมพันธ์กับราชสำนักทางลุ่มเจ้าพระยาในฐานะประเทศราช หัวเมืองชั้นนอก และเมืองขึ้น

แม้ว่าตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ผู้คนในดินแดนแถบนี้มีรากเหง้าด้านภาษา ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ฯลฯ ร่วมกับทางหลวงพระบาง เวียงจันท์ จำปาศักดิ์ ที่เป็นอดีตสามราชธานีของคนชาติพันธุ์ลาวในแถบลุ่มน้ำโขง มากกว่าจากอาณาจักรทางลุ่มเจ้าพระยา

แต่การจัดการความรู้ด้านชาติพันธุ์พยายามจะกล่อมเกลาผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในหัวเมืองลาวและเขมรป่าดงให้มีสำนึกร่วมว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม เชื่อมโยงกับราชสำนักกรุงเทพฯ

ความพยายามของชนชั้นปกครองสยามในการลบล้างคำว่า “ลาว” ออกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นปรากฏอยู่ใน พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของ ม.ร.ว. ปฐม คเนจร ซึ่ง เชิดชาย บุตดี ระบุว่า แทบเป็นฉบับเดียวกันกับต้นฉบับตัวเขียน พงศาวดารเมืองอุบลราชธานี ที่เก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ แต่ พงศาวดารเมืองอุบลราชธานี ถูกแก้ไขเนื้อหาและถ้อยคำ โดยเฉพาะการขีดฆ่าคำว่า “ลาว” แล้วเขียนคำว่า “ไทย” ลงไป  Akiko Ijima ผู้ค้นคว้าสอบทานสันนิษฐานว่าถูกแก้โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นการพยายามปกปิดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ผู้คนในพื้นที่อีสาน ด้วยการหลีกเลี่ยงคำว่า “ลาว”

“อากิโก อิจิมา เสนอว่าพระองค์คือหนึ่งในชนชั้นปกครองสยามที่มีบทบาทในการพยายามลบคำว่า ลาว และความเป็นลาวออกจากคนชาติพันธุ์ลาวในภาคอีสาน ให้ความรู้อีสานถอยห่างจากคำว่า ลาว กระทั่งเป็นความรู้ที่ไปรับรองคำว่า ไทยอีสาน  แม้คำเรียกดังกล่าวนี้ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่สามารถหลีกพ้นไปจากคำว่าลาว” ตามความเห็นของ เชิดชาย บุตดี

สยามมองว่าเป็นการสูญเสียดินแดน
แต่การกำหนดเส้นพรมแดนที่ชัดเจนด้วยแม่น้ำโขงก็ช่วยให้สยามครอบครองดินแดนส่วนที่ยังไม่ชัดเจนทางฝั่งขวาได้อย่างถาวรต่อมา

Image

ท่าเรือฝั่งโขงเมืองนครพนมเมื่อปี ๒๔๔๙ เทียบกับปัจจุบัน
ภาพปัจจุบัน : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

เทศกาลแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่ในช่วงคริสต์มาสทุกวันนี้น่าจะมีขึ้นในตอนหลัง  เมื่อ ๑๒๐ ปีก่อน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ถึงแถบนี้ว่า ที่นี่มีวัดโรมันคาทอลิกก่อผนังด้วยศิลาแลง มีบาทหลวงมาสอนศาสนาอยู่ ๒๒ ปีเศษแล้ว รูปหนึ่งป่วยเป็นไข้จนผิวเหลือง หมอที่ไปกับขบวนเสด็จช่วยตรวจและให้ยา

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

พระธาตุนารายณ์เจงเวง ตามตำนานว่าสร้างโดยผู้หญิง แข่งกับพระธาตุภูเพ็กที่สร้างโดยผู้ชายซึ่งสร้างไม่เสร็จ
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image

องค์พระธาตุพนมปัจจุบัน เทียบกับ
เมื่อปี ๒๔๔๙ ซึ่งยังรายล้อมด้วยทิวไม้

Image

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
Image

พระอุโบสถวัดกลาง ในตัวเมืองร้อยเอ็ด ทั้งบรรยากาศภายในวัดและสถาปัตยกรรมแทบไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ ๑๒๐ ปีก่อน
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image

จากมณฑลนครราชสีมาขึ้นไปยังมณฑลอุดรจนจดฝั่งโขงและเลียบตามลำน้ำลงมาเป็นท้องถิ่นของคนชาติพันธุ์ลาวเป็นหลัก  กระทั่งขึ้นฝั่งที่นครพนม ขี่ม้าเดินบกมุ่งมาทางเทือกเขาภูพาน คณะตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยก็ได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียกว่าคนต่างจำพวก ตามในพระนิพนธ์ ซึ่งนับเป็นเอกสารชั้นต้นในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานสืบมารวมทั้งด้านอัตลักษณ์ ลักษณะทางกายภาพ การแต่งกาย การละเล่น คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนอ้างอิงกันมาตามบันทึกจากการตรวจราชการปี ๒๔๔๙

Image
Image
Image

ภาพผู้คนที่กล้องฟิล์มกระจกบันทึกไว้ เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน เป็นหน้าตา อันหลากหลายของคนพื้นเมืองอีสานที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียกว่าคนต่างจำพวก “เปนไทยต่าง ๆ” แต่ในเอกสารราชการให้ “ลงในช่องสัญชาตินั้นว่า ชาติไทยบังคับสยาม” เท่านั้น

Image

คนชาติย้อ“โดยมาก แต่แต่งตัวอย่างชาวเมือง ภาษาพูดก็เหมือน ๆ กัน เปนแต่สำเนียงเพี้ยนกันบ้าง  พระศรีวรราชเล่าว่า พวกย้อนี้เดิมอยู่เมืองไชยบุรีเมื่อครั้งขึ้นเมืองเวียงจันท์ ครั้นเสียเมืองพวกย้อก็หนีไปตั้งอยู่เมืองหลวงโปงเลง ทางเมืองคำเกิดคำมวน” 

ชาวกะเลิง
“อยู่มาช้านานหลายชั่วคนแล้ว จนไม่รู้ว่าพวกเกลิงมาจากไหน ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า แลสักแก้มเปนรูปนก หญิงบางคนไว้ผมสูง แต่โดยมากแต่งตัวตามธรรมดาคนพื้นเมือง”

ที่เมืองกุสุมาลย์ 
“กรมการกำนันผู้ใหญ่บ้านแลราษฎรชายหญิงมารับเปนอันมาก ชาวเมืองนี้เปนข่าที่เรียกว่ากะโซ้ เดิมมาจากเมืองมหาไชย-กองแก้ว ผู้หญิงไว้ผมสูงแต่งตัวนุ่งสิ้นสวมเสื้อกระบอกย้อมครามห่มผ้าแถบ  ผู้ชายแต่งตัวอย่างคนชาวเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าขัดเตี่ยวไว้ชาย ข้างหน้าชายหนึ่งข้างหลังชายหนึ่ง  มีภาษาที่พูดคล้ายสำเนียงมอญ แล้วพวกผู้ชายมีการเล่นเรียกว่า สะลา คือมีหม้ออุตั้งกลาง”

ลายมือบนภาพระบุว่าเป็นชนพวกข่า เมืองกุสุมาลย์และชาวมณฑลอุดร

ในยุคสมัยที่น้อยคนจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพ แต่ “คนชั้นสามัญ” เหล่านี้ ได้มีตัวตนอยู่ในภาพถ่าย ก็อาจเกี่ยวเนื่องด้วยการเสด็จอีสานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ซึ่งดูจากการจัดฉากหลัง เสื้อผ้าหน้าผม การจัดท่าและองค์ประกอบภาพ บ่งบอกความตั้งใจของช่างภาพกับความร่วมมือของคนในภาพ

Image

กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายนี้ พระองค์เน้นว่าล้วน “เปนไทยต่าง ๆ” ซึ่งเมื่อกำหนดด้วยเกณฑ์ภาษาก็มีเชื้อสายไทยกับเชื้อสายขอม

“เรื่องคนชาติต่าง ๆ ทางมณฑลเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้ลองสอบทางภาษาทุกพวกที่ได้มาพบ คือให้นับตามภาษาของเขาตั้งแต่ ๑ ไปจน ๑๐ แล้วจดไว้พิเคราะห์ดู เห็นมีแต่นับอย่างภาษาไทยกับภาษาเขมร ๒ อย่างเท่านั้น จึงสันนิฐานว่า คงจะเปนเชื้อสายไทยพวก ๑ เชื้อสายขอมพวก ๑ ที่มาเรียกชื่อเปนพวกนั่นนี่ต่างกันไปเปนหลายพวก เห็นจะเกิดแต่อยู่แยกย้ายต่างถิ่นฐานกัน นานเข้า ก็รู้สึกว่าต่างกันไป แต่ความจริงคงอยู่ในเปนไทยชาติ ๑ เปนขอมชาติ ๑ เท่านั้น”

การแสดงสถานะบุคคลในทางเอกสารราชการให้ระบุเป็น “ไทย” เท่านั้น

ดังความในสารตราตั้งที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสานมีไปยังเมืองต่าง ๆ

“เมื่อจะมีการสำรวจสำมะโนครัว หรือหากว่ามีราษฎรมาติดต่อ ที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ของทางราชการให้ปฏิบัติใหม่ โดยลงในช่องสัญชาตินั้นว่า ชาติไทยบังคับสยาม ทั้งหมดห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไทย ฯลฯ ดังที่ได้ปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด”

ด้านอัตลักษณ์ ลักษณะทางกายภาพ การแต่งกาย การละเล่น คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ ล้วนอ้างอิงกันมาตามบันทึกจากการตรวจราชการปี ๒๔๔๙

Image

ชาวกะเลิงในปัจจุบันกับบ้านแบบกะเลิง อายุเป็นร้อยปี ที่สกลนคร
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

จากการทั่งบั้งในพิธีกรรม สู่การแสดงโส้ทั่งบั้ง ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เรียกว่าเล่นสะลา ปัจจุบันเป็นการแสดงชุดสำคัญในงาน “โส้รำลึก” เทศกาลใหญ่ประจำปีของอำเภอกุสุมาลย์ในช่วงวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓
ภาพปัจจุบัน : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

“เวลาบ่าย ๔ โมง ไปดูหมู่บ้านแลวัด ตรงเนินแห่งหนึ่งมีศิลาแลงเปนก้อน ๆ เขาเล่าว่าเมื่อครั้งผีบุญ ราษฎรที่หลงเชื่อว่าหินแร่จะเปนเงินได้พากันมาเก็บก้อนกรวดเล็ก ๆ ที่ตรงนี้ไปคนละมาก ๆ แต่เวลานี้ถ้าใครพูดขึ้นถึงเรื่องผีบุญก็ออกอาย ๆ ตามกัน แสดงอาการประหนึ่งไม่เคยรู้เคยเห็น”

รายงานการตรวจราชการ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพบันทึกเหตุการณ์ในพื้นที่เมืองเสลภูมิเมื่อ ๕ ปีก่อนนั้นไว้สั้น ๆ ทั้งที่เป็นปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองครั้งใหญ่ของมณฑลอีสาน

และจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ทางเสด็จตรวจราชการในพื้นที่มณฑลอีสานล้วนแต่ทับไปตามท้องที่ที่มีปรากฏการณ์ผู้มีบุญเกิดขึ้นเมื่อ ๕ ปีก่อน

มณฑลอีสานหรืออดีตมณฑลลาวกาวกินคลุมพื้นที่แถบอีสานกลางตั้งแต่กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ลงมาจนถึงแถบอีสานใต้ และเดิมทีเมื่อยังชื่อมณฑลลาวกาวนั้นกินคลุมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและลาวใต้แถบจำปาศักดิ์ ก่อนถูกฝรั่งเศสยึดครอง  กองว่าการมณฑลอยู่ที่อุบลราชธานีแต่ในการเสด็จตรวจราชการปี ๒๔๔๙ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ ไม่ได้เสด็จไปถึง

ตามความในโทรเลขกราบบังคมทูลฯ จากยโสธร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ร.ศ. ๑๒๕

“ข้าพรพุทธเจ้า [ข้าพระพุทธเจ้า] มามณฑลอิสาณคราวนี้ เปนแต่ได้ไปนั่งพูดโทรศับท์กับกรมขุนสรรพสิทธิ แต่เห็นจะไม่ได้พบกัน ด้วยไม่มีเวลาพอจะไปได้ถึงเมืองอุบล  ส่วนกรมขุนสรรพสิทธิก็นั่งรับพวกข้าหลวงปันเฃตรแดนอยู่ที่เมืองอุบล
ทรงเตรียมพาหะนะไว้พร้อม พอสิ้นธุระจะรีบเสด็จตาม แต่ข้าพรพุทธเจ้าเห็นว่าจะไม่ทันด้วย ข้าพรพุทธเจ้าจะออกจากเมืองยะโสธรมะรืนนี้ไปทางเมืองร้อยเอ็จ แล้วกลับเฃ้าโคราชทางเมืองภูไทยสง”


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานในช่วงเกิดเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของคนท้องถิ่น ที่เรียกกันต่อมาว่ากบฏผีบุญ ซึ่งมีจุดปะทะครั้งใหญ่ที่สุดอยู่ที่หมู่บ้านสะพือ ทางตอนเหนือของเมืองอุบล

ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดย “ผู้มีบุญ” ตามคำเรียกของคนในพื้นที่ แต่ทางการสยามเรียก “ผีบุญ” เป็นขบวนการดิ้นรนต่อสู้จากแรงกดดันเนื่องจากการถูกเรียกเก็บภาษีและการกดขี่ของข้าราชการสยาม ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองและการจัดระเบียบรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตกเข้ามาเป็นตัวแปรด้วย

Image

บางช่วงของเส้นทางเสด็จผ่านไปตามพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์กบฏผีบุญ เมื่อ ๔-๕ ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจเป็นการติดตามตรวจตราดูความสงบเรียบร้อยไปด้วย  ภาพบน-หินแฮ่ หรือหินลูกรัง จากแหล่งศิลาแลง เมืองเสลภูมิ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า “ราษฎรที่หลงเชื่อว่าหินแร่จะเปนเงิน ได้พากันมาเก็บก้อนกรวดเล็กๆ ที่ตรงนี้ไปคนละมาก ๆ แต่เวลานี้ถ้าใครพูดขึ้นถึงเรื่องผีบุญก็ออกอายๆ ตามกัน แสดงอาการประหนึ่งไม่เคยรู้เคยเห็น”  ภาพล่าง-หมู่บ้านนาหาด มหาสารคาม เป็นอีกแห่งที่มีการกวาดจับผู้ตั้งตนเป็นผีบุญ ซึ่งอาจเป็นเพียงผู้นำและที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน ที่ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมืองแต่อย่างใด
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ความระแวงและการปราบปรามอย่างเข้มงวดเฉียบขาดนำไปสู่การเหวี่ยงแหกวาดล้างผู้มีการกระทำเข้าข่ายกบฏครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจับกุมส่วนใหญ่เป็นเพียงหมอไสย หมอธรรมในหมู่บ้านที่ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมืองแต่อย่างใด หากเป็นเพียงที่พึ่งจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาของคนในสังคมท้องถิ่น จนถึงความหวังว่าจะนำพาให้พ้นจากความยากแค้นขัดสน แต่ถูกชะตากรรมและภาวะเปราะบางทางการเมืองผลักให้ติดร่างแหโทษทัณฑ์ไปด้วย

กลุ่มที่มีแนวคิดและเป้าหมายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจนเป็นกลุ่มทางเมืองอุบลที่นำโดยองค์มั่น ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้มีบุญ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ช่วยให้ยิงฟันไม่เข้า ศัตรูมองไม่เห็น รวบรวมกำลังพลได้นับพันคน ใช้อาวุธพื้นบ้านพวกปืนผาหน้าไม้หอกดาบ เตรียมจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานี

ตามที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์รายงานทางโทรเลขถึงกระทรวงมหาดไทยที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงฯ เป็นเสนาบดีอยู่ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๔๔ 
“ครั้นถึงแรมเดือน ๘ มันจึงหาพวก ๒,๕๐๐ คนเศษ ยกไปเขมราฐ จับท้าวอ่อนกิติกาฆ่า แล้วเอาไฟจุดเรือน”

แต่เมื่อเคลื่อนพลมาถึงบ้านสะพือ ถูกทางการสยามดักปราบด้วยปืนใหญ่ พลพรรคฝ่ายผู้มีบุญเสียชีวิตในสนามรบที่ทุ่งโนนโพธิ์กว่า ๒๐๐ คน ถูกจับอีกนับร้อย บางส่วนเสียชีวิตจากการถูกจองจำกลางแจ้งในทุ่งศรีเมือง กลางเมืองอุบล แกนนำถูกตัดหัวเสียบประจาน แล้วจากนั้นมากลุ่มต่อต้านอำนาจสยามในมณฑลอีสานก็เงียบหายไป

กล่าวกันว่าชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของสยามได้มาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รับเข้ามาจากประเทศตะวันตก

ทางรถไฟที่ใช้
 “ลำเลียงสิ่งของเครื่องใช้จากกรุงเทพฯ และการสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์และเครื่องยุทธสัมภาระทั้งปวง อันต้องทำต่อเนื่องกับกรุงเทพฯ”

โทรเลขและโทรศัพท์ ซึ่งจนถึงปีที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ เสด็จตรวจราชการนั้น ตามหนังสือรายงานว่า
 “ตามทางที่เสด็จนี้มีโทรศัพท์ มณฑลอิสาณพูดกันได้จนถึงเมืองร้อยเอด ทางนครราชสิมาพูดกันได้จนถึงพิมาย”

รวมทั้งยุทโธปกรณ์และการจัดกองทัพแบบสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อตอนเช้าวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๔๙ ก่อนเริ่มเสด็จออกจากเมืองนครราชสีมา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ
 “ทรงแต่งพระองค์เปนนายพลโท เสด็จไปทอดพระเนตร์ทางทหาร กรมทหารได้ซ้อมรบถวายทอดพระเนตร์อย่างเตี้ย ๆ เปนที่เจริญพระไทยมาก”

เทคโนโลยีสมัยใหม่จากโลกตะวันตกเหล่านี้ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของสยามต่อกลุ่มต่อต้านในแถบอีสาน และอีกไม่ถึง ๒ ทศวรรษต่อมา อดีตมณฑลลาวทั้งหลายก็กลายเป็นภาคอีสานในแผนที่รูปขวานของประเทศไทยแต่นั้นมา

Image

บ้านวังปลัด แหล่งโบราณคดีสำคัญที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงแวะมาทอดพระเนตรเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

มูลหลงล้ำค่า หาดทรายแพปลา ท่าเรือโบราณตำนานพระพุทธรูปจมน้ำ

คำขวัญบ้านวังปลัดคู่กับภาพเขียนสีที่ไม่ได้อยู่ตามสถานที่ราชการหรือป้ายทางเข้าชุมชน แต่อยู่บนรั้วบ้านร้านชำกลางชุมชน

“หลานสาววาดไว้ ก่อนเขาไปเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ  ชอบทางศิลปะตั้งแต่อยู่มัธยมฯ ตอนนี้เรียนอยู่ปี ๓” ยายบุญธรรม สายทอง เจ้าของบ้านวัย ๗๒ ปี เล่าที่มาของรูปวาดและคำขวัญบนกำแพงบ้านของตน

วังปลัดเป็นบ้านเมืองสำคัญสมัยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการอีสาน ปี ๒๔๔๙

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล เป็นเมืองในเขตปกครองของเมืองไผทสง หรืออำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน  ช่วงท้ายของการเดินทางตรวจราชการพระองค์แวะและเขียนถึงบ้านนี้หลายบรรทัด

“...เปนที่มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของเก่าอยู่ในลำน้ำมักงมได้เนือง ๆ ตอนที่เรียกว่าวังปลัดไปจากบ้านบุ่งเบาระยะทาง ๑๕๐ เส้น  วิธีงมนั้นมีคนถือแหลนลงเรือ เอาแหลนสักไปในน้ำ ถ้าแหลนกระทบของแขงก็ลงงม บางทีก็ได้พระพุทธรูปของโบราณ พิเคราะห์ดูที่บนตลิ่งริมน้ำซึ่งเปนที่งมพระนี้มีพื้นดินสูงเปนเนิน พอคะเนได้ว่าจะเปนที่มีเจดีย์ฐานอันใดมาแต่เดิม แล้วน้ำกัดพังลงไปจึงมีพระพุทธรูปที่งมได้ในลำน้ำตรงนั้น พระพุทธรูปงมได้ที่วังปลัดเปนพระพุทธรูปฝีมือช่างขอมโบราณสมัยเดียวกันทั้งนั้น”

ยายเจ้าของร้านชำกลางหมู่บ้านวังปลัดเผยด้วยว่านางเป็นลูกสาวของอดีตจอมโจรชื่อดังเมื่อพ่อหลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปสร้างชื่อกระฉ่อนทางภาคกลาง แม่พาเธอกับน้องสามคนย้ายจากขอนแก่นมาอยู่ริมฝั่งมูลที่บ้านวังปลัดตั้งแต่เธอเพิ่งเข้าโรงเรียน ยังทันได้ฟังคำเล่าขานจากพวกผู้ใหญ่ที่เป็นชาวประมง

“เขาหว่านแหแล้วโดนเกี่ยว สาวไม่ขึ้น หน้าแล้งท้องน้ำลึกสัก ๑๐ ศอก ดำน้ำลงไปปลด เจอพระพุทธรูปอยู่ใต้น้ำ ขนาดยืนบนหน้าตักจับแต้หูถึง” นางเล่าแล้วทำท่ายืนจับติ่งหูตัวเอง บอกขนาดพระพุทธรูปใต้น้ำตามที่ฟังคนโบราณเล่ามา

Image

วังปลัด เวิ้งน้ำริมฝั่งมูล ที่คณะตรวจราชการได้เห็นการงมหาพระพุทธรูปใต้น้ำ  คนในพื้นที่เล่าว่าทุกวันนี้ก็ยังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่ในนั้น แต่นำขึ้นมาไม่ได้ และไม่มีใครงมหาวัตถุโบราณกันแล้ว นอกจากหาปลา

ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

นางว่าทุกวันนี้พระใหญ่ก็ยังอยู่ในนั้น ท่าน้ำข้างวัดวังปลัด ที่ตั้งศาลตาปู่ในปัจจุบัน ใกล้กันมีศาลหลวงอุดม วังปลัดอยู่ด้วย ซึ่งตามตำนานพื้นบ้านอีกเรื่องเล่าว่าชื่อวังปลัดมาจากข้าราชการมาเรือล่มเสียชีวิตบริเวณนั้น

ยายบุญธรรมเล่าด้วยว่าท่าฝั่งน้ำมูลตรงนั้นเรียกกันหลายชื่อ บางทีเรียกท่าช้าง ตามเรื่องเล่าว่าเอาช้างมาลากพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สำเร็จจนช้างล้มตาย  ต่อมามีผู้หญิงอีกคนเสียชีวิตริมน้ำตรงนั้น คนจึงเรียกท่ายายสั้นตามนามผู้ตาย เรื่องหลังนี้เป็นยุคที่แกจำความได้ดีแล้ว

ทุกวันนี้พื้นที่บนเนินข้างวังปลัด วังน้ำริมลำมูลอันเป็นตำนานของชุมชน เป็นที่ตั้งประปาของหมู่บ้านวังปลัด  ส่วนในบ้านของเธอเองก็มีรูปถ่ายขาวดำของพ่อตอนเป็นไอ้เสือเมื่ออายุ ๓๕ ปี กับอีกภาพเป็นรูปสีช่วงปลายชีวิตขณะครองเพศบรรพชิต ซึ่งเพิ่งมรณภาพเมื่อไม่กี่ปีมานี้

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ เสด็จตรวจราชการผ่านมา ศึกษาและบันทึกโบราณคดีที่บ้านวังปลัดตอนพระชันษา ๔๔ ปี ก่อนถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในอีก ๙ ปีต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

หลังจากทรงทำหน้าที่ร่วมวางรากฐานการปกครองแบบเทศาภิบาล ๒๓ ปี ทรงตั้งมณฑล ๑๘ มณฑล ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของ ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

“ส่วนการสืบเสาะค้นคว้าในทางพงศาวดารและโบราณคดี เป็นผลพลอยได้จากการมหาดไทยเพราะเผอิญท่านทรงโปรดในทางนั้นอยู่ด้วย เราจึงได้ความรู้กันอย่างสนุกสนาน และยอมรับว่าท่านเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์แต่อย่างเดียว”

Image

จากฤดูหนาวปี ๒๔๔๙ ที่เริ่มออกตรวจราชการจากเมืองโคราชไปจนสุดขอบแดนอีสานเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน คณะตรวจราชการใช้เวลาเกือบ ๒ เดือน จึงย้อนกลับมาถึงมณฑลนครราชสีมาอีกครั้ง ผ่านเมืองน้อยใหญ่นับ ๒๐ เมือง ถ้านับรวมชุมชนหมู่บ้านเท่าที่ปรากฏนามในบันทึกด้วยก็อีกหลายสิบ จึงกล่าวกันว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่เดินทางไปทั่วถิ่นอีสาน

และว่าตามจริงก็อาจนับว่าพระองค์เป็นเจ้านายชั้นสูงพระองค์แรกที่เดินทางไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศมากที่สุดด้วยก็เป็นได้ เพราะตลอด ๒๓ ปีที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการหัวเมืองทั่วทุกภูมิภาค

บางหัวเมืองเสด็จไปหลายครั้งตามที่ปรากฏหนังสือรายงานการตรวจราชการในแต่ละครั้ง ซึ่งในตอนหลังพระองค์ประมวลประสบการณ์จากการเดินทางทั่วประเทศ รวมทั้งการเสด็จประพาสต่างประเทศ มาเขียนเป็นเรื่องเล่าร้อยแก้ว รวมอยู่ใน นิทานโบราณคดี ทั้งเรื่องลี้ลับ เรื่องพื้นบ้าน ราชการตามหัวเมือง อาถรรพณ์ ความเชื่อ รวมถึงโรคภัย อย่างเรื่องที่ ๑๐ “เรื่องความไข้ที่เพชรบูรณ์” เป็นบันทึกจากคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ปี ๒๔๔๗ ซึ่งก่อนเสด็จ
 “พอปรากฏข่าวว่าฉันเตรียมตัวจะไปเมืองเพชรบูรณ์ พวกพ้องพากันมาให้พรคล้ายกับจะส่งไปทัพบ้าง มาห้ามปรามโดยเมตตาปรานีด้วยเห็นว่าไม่พอที่ฉันจะไปเสี่ยงภัยบ้าง”

แต่พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ
 “ไปเถิด อย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเราท่านก็เสด็จไปแล้ว”

ตำบลท่าช้าง ที่ประทับแรมคืนสุดท้าย ก่อนข้ามแม่น้ำมูลไปสถานีโคราช ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ  ราว ๑๕ ปีหลังจากนั้นมีทางรถไฟผ่านตำบลนี้ไปจนจดฝั่งน้ำมูลช่วงปลายที่อุบลราชธานี
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

เวลานั้นเสนาบดีหนุ่ม “เคยผ่านป่าดงแม้ที่ว่าไข้ร้ายมาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้สึกครั่นคร้ามอย่างไร”

ครั้นถึงเวลาเสด็จก็มีผู้ขอติดตามไปด้วยหลายคน 
“ไม่เห็นมีใครครั่นคร้าม”

เมื่อกลับมาก็
 “หามีใครเจ็บไข้ไม่” จึงทำให้ “แต่นั้นมาก็หาคนไปรับราชการในมณฑลเพชรบูรณ์ได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน”

แต่คราวเสด็จเข้าสู่เมืองพิมายของมณฑลนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๙ ได้ข่าวว่ามีกาฬโรคกำลังระบาดอยู่ที่เมืองนครราชสีมา คณะตรวจราชการตัดสินใจไม่เข้าตัวเมือง

“ได้รับพระราชทานพระราชโทรเลข ทรงพระวิตกด้วยมีกาฬโรคที่โคราช จึงดำรัสห้ามไม่ให้มารดามารับ แลทรงพระกรุณาตักเตือนให้ข้าพระพุทธเจ้าระวังหลีกเลี่ยงในเวลาขากลับลงไปทางโคราชนั้น”

ปรับแผนจากเดิมที่จะเข้าไปค้างในเมือง เป็นพักที่ท่าช้าง ห่างเมืองนครราชสีมา ๔๕๐ เส้น วันรุ่งขึ้นข้ามแม่น้ำมูล เดินทางผ่านบ้านพระผุด บ้านมะเริง และบ้านพักแสนสุข ตรงไปยังสถานีรถไฟนครราชสีมา

สองโมงครึ่งขึ้นรถไฟขบวนพิเศษออกจากสถานี

“ถึงสถานีกรุงเทพฯ เวลาค่ำ ได้เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณะพระที่นั่งอัมพรสถาน เปนเสร็จการที่ไปมณฑลอุดรแลมณฑลอิสาณ”

นับเป็นการเสด็จตรวจราชการอีสานครั้งสุดท้ายในระบบมณฑล เพราะ ๑๖ ปีหลังจากนั้นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้รวมสามมณฑลบนที่ราบสูงเป็น “ภาคอีสาน” และต่อมาระบบมณฑลเทศาภิบาลก็ถูกยกเลิกเมื่อปี ๒๔๗๖ จากนั้นจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ

แต่ความเป็นภาคอีสานก็อยู่กับพื้นที่ราบสูงฝั่งขวาแม่น้ำโขงสืบมา

อดีตดินแดนหัวเมืองลาวเลือนสลายไปจากการรับรู้จดจำ แต่ความเป็นลาวยังดำรงอยู่ในวิถีและชาติพันธุ์ ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม  

หมุดของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่ตำบลท่าช้าง เมื่อปี ๒๔๖๔ ซึ่งมีทางรถไฟข้ามแม่น้ำมูลไปถึง มณฑลอีสานแล้ว  โดยก่อนหน้านั้นย้อนไปจนถึงปี ๒๔๔๓ ซึ่งเริ่มมีทางรถไฟมาถึงโคราช ผู้คนและสินค้าจากอีสานต้องข้ามแม่น้ำมูลไปขึ้นรถไฟที่สถานีนครราชสีมา  รางเหล็กคู่และไม้หมอนนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่แผ่นดินที่ราบสูง และมีพลวัตสืบเนื่องมาอย่างไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีก เช่นเดียวกับที่อื่นใดในโลก

Image