ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
ความคิดที่ว่าเราควรกินเนื้อสัตว์ใหญ่ อย่างวัว ควาย หรือหมูน้อยลงบ้างนั้น มีอยู่ในกระแสอาหารปลอดภัยมานานแล้วนะครับ การชักชวนให้คนหันมากินปลา เห็ด ถั่วนานาชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนเพียงพอก็เป็นความรู้ที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร การค้นพบครั้งใหม่ๆ ยิ่งทำให้เห็นว่า พืชหลายชนิดมีวิตามินแร่ธาตุจำเป็นเพียงพอที่จะทำให้ผู้สมาทานมังสวิรัติมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์เป็นปรกติ แม้มิได้บริโภคเนื้อสัตว์เลยก็ตาม
ยิ่งปัญหาเรื่องพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ใหญ่ อย่างเช่นข้าวโพด กลายเป็นที่มาของปัญหาฝุ่นควัน โยงใยผลกระทบไปถึงเรื่องภาวะเรือนกระจก โลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน เรื่องนี้ก็ยิ่งต้องมาทบทวนถึงความเป็นไปได้ ต้องเร่งไปให้ถึงผลลัพธ์สุดท้าย เพราะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่สุด ตรงจุดที่สุด ทำได้เร็วที่สุด โดยเราทุกๆ คน
แต่ปัญหาแรกคือไม่ใช่คนไม่รู้ ทว่า เรื่องกินนั้น “เรื่องใหญ่” ลิ้นคนบางครั้งก็เปลี่ยนยากเอาการ จะให้อยู่ๆ กินเนื้อวัวเนื้อหมูน้อยลงตั้งครั้งหนึ่ง มันไม่ใช่ง่ายๆ เลย
แต่เอาเข้าจริง บางทีลิ้นก็ไม่ได้เปลี่ยนยากอย่างที่คิดหรอกครับ ยิ่งถ้าเราตั้งใจด้วยแล้ว มันอาจกลายเป็นทางเลือก เป็นรสชาติใหม่ๆ ขึ้นมาก็ได้
พิสูจน์กันด้วยหลนหม้อนี้มั้ยครับ “หลน (ลดเนื้อ) หมู” มาทำหลนกะทิกัน โดยลดเนื้อหมูบดที่เคยใช้ลงครึ่งหนึ่ง แล้วแทนด้วยเต้าหู้ขาว เริ่มขยำเต้าหู้แข็งปริมาณเท่าหมูให้แหลก เคล้ารวมกับหมูในชามอ่าง ใส่ข้าวหมากผสมสักถ้วยหนึ่ง หลนโบราณหลายสูตรเขาให้ใส่ข้าวหมากครับ ของเค็มเราใช้เต้าเจี้ยวขาว อย่างเค็ม หรือเนื้อปลาอินทรีเค็มก็ได้ บดๆ บี้ๆ พอให้แหลก ผสมตามไปให้เข้ากัน
ซอยหอมแดงเยอะๆ หั่นพริกชี้ฟ้าคละสี คั้นน้ำมะขามเปียกไว้ เอากะทิใส่หม้อตั้งไฟ ตามด้วยหมูที่ผสมไว้ ใส่หอมแดง เติมกะทิให้ได้ความข้นมันตามต้องการ ปรุงน้ำปลา น้ำมะขามเปียก ถ้าชอบหวานก็น้ำตาลปี๊บสักหน่อย ใส่พริกชี้ฟ้า รอให้เดือดอีกครั้งก็ใช้ได้
อุบายของสูตรนี้คือการสวมรอยเอากับกลิ่นน้ำราดหมี่กะทิที่เราคุ้นเคย...คงนึกออกนะครับ ส่วนประกอบสำคัญของน้ำหมี่กะทิคือเนื้อหมูและเต้าหู้แข็งหั่น พอเราแปลงมาใช้กับหลนหมูแบบนี้ ความทรงจำของกลิ่นรสหมี่กะทิก็จะมาซ้อนทับรสที่ลิ้นรับจากชามหลน (ลดเนื้อ) หมู ทำให้เราไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไปสักเท่าไหร่หรอกครับ ขอผักสดกรอบๆ ฉ่ำๆ มากินแนมสักกระจาดหนึ่งเถอะ...
เท่านี้ก็กินโปรตีนได้หลากหลาย สถาปนารสชาติแนวๆ ได้ด้วยฝีมือเราเอง แถมยังเป็นประหนึ่งปฏิบัติการแรกๆ ที่จะมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาสภาวะอากาศโลกแปรปรวนด้วยครับ...