Image

พล.อ.เดชนิธิศ เหลืองงามขำ
ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์
ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์
กับความพยายาม
“พาทหารไทยกลับบ้าน”

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“นักรบนิรนาม ๓๓๓ ได้สิทธิเท่านักรบสมรภูมิอื่น

“ทหารผ่านศึกมีสามแบบ หนึ่ง เสียชีวิต  สอง 
พิการ  สาม กลับมาปลอดภัย  บัตรทหารผ่านศึกมีสี่ชั้น บัตรชั้น ๑ สำหรับทหารที่ได้รับเหรียญรามาธิบดี เหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ เหรียญกล้าหาญ หรือไปรบ แล้วกลับมาแบบสูญเสียอวัยวะจนพิการหรือทุพลภาพ บัตรชั้น ๒ คือผู้ได้เหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ ๑  บัตรชั้น ๓ ผู้ได้เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ ๒ เหรียญราชการชายแดน ส่วนบัตรชั้นที่ ๔ คือปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๘ เดือนขึ้นไป แต่ไม่ได้รับเหรียญใด ๆ

“ตอนนี้ อผศ. ดูแลทหารผ่านศึกที่ยังมีชีวิตทั้งหมดกว่า ๖๘๒,๗๑๙ นาย (ข้อมูล ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗) ปัจจุบันดูแลทหารผ่านศึกทั้งหมด ๖๘๔,๑๒๙ นาย (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๗)

“บัตรชั้นที่ ๑ จำนวน ๒,๘๘๖ คน  ครอบครัวที่ถือบัตรชั้นที่ ๑ จำนวน ๑๐,๐๕๔ คน บัตรชั้นที่ ๒ จำนวน 
๑๗,๘๙๓ คน บัตรชั้นที่ ๓ จำนวน ๑๕๑,๔๙๖ คน และบัตรชั้นที่ ๔ จำนวน ๕๐๑,๘๐๐ คน 

“สำหรับกรณีนักรบนิรนามในสมรภูมิลาว สามารถ
นำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาได้ประมาณหลักร้อย และยังคงมีบางส่วนที่หายสาบสูญ เพราะฐานปฏิบัติการถูกโจมตี จนทำให้ไม่สามารถติดต่อทหารเหล่านั้นได้

“ปัจจุบัน อผศ. มีโครงการ ‘ขุดกระดูกคนไทย
กลับบ้าน’ ผมทำเพราะได้ยินเรื่องรบในลาวมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อย ศึกษามาระดับหนึ่ง ได้พูดคุยกับทหารผ่านศึก ทราบว่าบางท่านไปรบในเวียดนามแล้วก็ไปรบในลาวในนามของสงครามลับ ทุกท่านพูดตรงกันว่าสมรภูมิลาวโหดที่สุด ญาติทหารผ่านศึกในลาวบอกผมว่าเขาอยากได้กระดูกกลับมาทำบุญ  ผมได้พูดคุยกับนายกสมาคมนักรบนิรนาม ๓๓๓ ท่านฝันว่าจะไปขุดกระดูกทหารไทยกลับบ้าน อยากสร้างอนุสาวรีย์นักรบนิรนามในหน่วยบัญชาการอากาศโยธินซึ่งตอนนี้สร้างไปบางส่วนให้เสร็จ

“บางท่านไปรบในเวียดนามแล้วก็ไปรบในลาวในนามของสงครามลับ ทุกท่านพูดตรงกันว่าสมรภูมิลาวโหดที่สุด ญาติทหารผ่านศึกในลาวบอกผมว่าเขาอยากได้กระดูกกลับมาทำบุญ”

“ผมจึงชวนเพื่อนนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกัน (รุ่นที่ ๓๖) คือ ดร. หิมาลัย ผิวพรรณ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าผมมีโอกาสมาทำงานตรงนี้น่าจะได้ทำบุญครั้งใหญ่ เพื่อนก็เอามูลนิธิพระราหูมาสนับสนุนทุน เพราะต้องใช้เข้าไปสำรวจ ขุดค้น เอากระดูกกลับมาทำพิธีทางศาสนา สุดท้ายดอกเตอร์หิมาลัยได้คุยกับ พล.อ.อ. พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ว่าจะขอเอากระดูกบรรจุในอนุสรณ์สถาน  ตอนนี้เราพยายามทำเท่าที่ทำได้ มีทีมงานสองท่านที่เป็นผู้นำในการทำงาน นำโดยคุณจิรัฐติกร มาลีแก้ว ทายาททหารผ่านศึกที่ไปรบในลาว ใช้เงินทุนตัวเองเข้าไปสำรวจพื้นที่ในลาวแล้วสามครั้ง รอบที่ ๔ เราอนุมัติงบประมาณให้และทำเป็นโครงการ แต่ต่อไปคงต้องบอกบุญ ซึ่งเราไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล

“ผมเคยทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ 
(กต.) เขาขอให้ผมหยั่งท่าทีรัฐบาล สปป.ลาว  อย่างที่ ๒ เขาให้ทำเรื่องนี้ผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-ลาว และอย่างที่ ๓ ขอว่าให้ระวังการพูดที่อาจส่งผลกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“ในข้อแรก ผมอาศัยจังหวะการประชุมสมัชชา
สมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งท่าน พล.ท. (นอกราชการ) แสงนวน ไซยะลาด ประธานสหพันธ์นักรบเก่าแห่ง สปป.ลาว ท่านไปร่วมประชุมด้วยจนได้ทำความรู้จักกับท่าน และช่วงต้นปี ๒๕๖๗ ผมได้ไปรดน้ำดำหัวท่าน เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ จึงได้มีโอกาสขอความอนุเคราะห์เรื่องนี้ปรากฏว่าท่านยินดีและเต็มใจ ท่านบอกว่าประเทศอื่น ๆ เขาก็มาขุดไปแล้ว ผมจึงขอบคุณท่าน แล้วกลับมาดำเนินขั้นตอนกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยท่านก็ยินดี ช่วยประสานหน่วยงานรัฐบาล สปป.ลาว ให้ เพราะท่านเป็นอดีตรัฐมนตรีป้องกันประเทศ

“ผมได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝั่งไทยก็ส่งคนมาช่วย ตอนนี้ตั้งคณะทำงาน มีผมเป็นประธาน กรรมการมีดอกเตอร์หิมาลัย พี่ ๆ นักรบนิรนามหลายคน  ผมยังได้รับความร่วมมือจาก 
พ.อ. นิธิโรจน์ วรชาติธนะสาร ผู้ช่วยทูตทหารบกไทยประจำกรุงเวียงจันทน์ นอกจากนี้ผมยังประสานกับสถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทยมั่นใจว่าในที่สุดน่าจะผ่านเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาล

“โครงการนี้จะเดินต่อไปได้มาจากส่วนแรก ฉันทามติ
จากหน่วยงานราชการไทย ที่จะทราบช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๘  สอง ต้องรักษาความสัมพันธ์กับ สปป.ลาวให้ดี  สาม ผมมีเวลาอีกราว ๑๑ เดือนในตำแหน่งก่อนจะเกษียณ และเมื่อพ้นหน้าที่ไป ผมยินดีให้การสนับสนุนกับผู้ดำรงตำแหน่งท่านต่อไปในเรื่องนี้”