Image

อะไรอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

บุหรี่ไฟฟ้าคือสิ่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่เราแทบไม่รู้จัก  แม้คนที่สูดดม
สิ่งนั้นเข้าสู่ร่างกายก็ไม่รู้ว่าภายใต้ภาพลักษณ์สวยงาม ทันสมัยนั้นซ่อนสิ่งใดอยู่

ปีที่แล้วเน็ตฟลิกซ์เผยแพร่สารคดีชุด Big Vape เปิดโปงที่มาและกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าชื่อดังที่ทำให้วัยรุ่นและคนวัยทำงานตอนต้นหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของโลกภายในเวลาไม่กี่ปี สร้างความวิตกกังวลแก่หน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลก ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศกำลังเร่งออกกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพพลเมืองของตน

สารคดีเรื่องนี้บอกว่าจุดเริ่มต้นของบุหรี่ไฟฟ้าก็เพื่อให้คนเลิกสูบบุหรี่โดยหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับพัฒนาไปไกลเกินกว่าใคร ๆ จะคาดถึง และผลลัพธ์ขัดแย้งกับความตั้งใจแรกเริ่มอย่างสิ้นเชิง นั่นคือนอกจากคนสูบบุหรี่ปรกติจะไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังเกิดการติดบุหรี่ไฟฟ้าในคนกลุ่มใหม่ และส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า

ทั้งนี้หลักการทำงานของบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยเกลือนิโคติน ขดลวดให้ความร้อน เพื่อทำให้เกลือนิโคตินละลายเป็นไอระเหย และน้ำยาที่ให้กลิ่นรสและสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ โดยในน้ำยามีกรดอนินทรีย์อ่อน ๆ ทำให้รสชาตินุ่มละมุน และมีตัวทำละลายหลักที่เมื่อถูกความร้อนแล้วเกิดสารฟอร์มาลินและโลหะหนักอันเป็นสารก่อมะเร็ง โดยปัจจุบันมีน้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ ๗,๐๐๐ ชนิด ซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุมและเปิดเผยข้อมูลสูตรน้ำยา ผู้ใช้จึงไม่มีทางรู้เลยว่ากำลังนำอะไรเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าออกสู่ตลาดช่วงแรกพบว่าคนก็ยังสูบบุหรี่แบบเดิม บริษัทผู้ผลิตจึงหันไปทำการตลาดกับคนกลุ่มใหม่ คือ วัยรุ่น ผู้หญิง และวัยทำงานโดยจ้างอินฟลูเอนเซอร์ในแพลตฟอร์มออนไลน์มาร่วมงานปาร์ตี้ที่แจกบุหรี่ไฟฟ้าฟรี แล้วให้ทุกคนถ่ายรูปลงอินสตา-แกรม รวมทั้งจ้างคนทำโฆษณาสร้างความทันสมัยให้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วนำคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามารวมตัวกันพ่นสิ่งที่เรียกว่า “ไอน้ำ” เพื่อสื่อว่าไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น และไม่เป็นอันตราย รวมทั้งออกแบบรูปลักษณ์สวยงามเหมือนของเล่นหรือเครื่องประดับ ซึ่งช่วยอำพรางจากการตรวจสอบของผู้ปกครองและสังคมอีกด้วย

นับเป็นแผนการตลาดที่ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งบริษัท Juul Labs ของสองนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ พบว่ายอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นหกเท่า และมีส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ ๗๒ นับแต่นั้นชื่อของบริษัท “Juul” กลายเป็นชื่อเรียกบุหรี่ไฟฟ้าไปโดยปริยาย

สอดคล้องกับผลการศึกษาของหน่วยงานรัฐบาลในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ระบุว่า เด็กและเยาวชนคือกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เติบโตเร็วสุด โดยปี ๒๕๖๐ นักเรียนมัธยมฯ ปลายร้อยละ ๓๗ เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งที่เป็นปีที่องค์การอาหารและยา (FDA) ออกกฎหมายควบคุมห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแก่คนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี และห้ามโฆษณา ซึ่งในปีเดียวกันพบเด็กวัยรุ่นป่วยเป็นโรคปอดโดยไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา จากการสืบประวัติพบว่าเด็กเหล่านี้สูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งพบวิตามินอีในปอด ซึ่งคาดว่ามาจากสารละลายวิตามินอีแอซีเทตที่ใช้เป็นตัวทำละลายในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่มีส่วนประกอบของน้ำมันกัญชา

รายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มีผู้ป่วยปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) ๒,๘๐๗ ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเสียชีวิต ๖๘ ราย และผลการศึกษาในวารสาร สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปี ๒๕๖๒ พบว่า ร้อยละ ๒๒.๕ ของหนูทดลองที่สัมผัส “ควันบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นเวลา ๕๔ สัปดาห์ เป็นมะเร็งปอด และร้อยละ ๕๗.๕ มีอาการเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ท่ามกลางข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้ากำลังทำลายสุขภาพของเยาวชนและคนวัยทำงานทั่วโลก แต่การตลาดแนวอินฟลูเอนเซอร์และโซเชียลมีเดียอันทรงพลัง ผสมพฤติกรรมวัยรุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและมีไลฟ์สไตล์ทันสมัย มากกว่าความปลอดภัยระยะยาว สิ่งที่จะช่วยปกป้องสุขภาพอนาคตของมนุษยชาติคือกำหนดนโยบายและกฎหมายควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เข้มงวด ดังเช่นประเทศออสเตรเลียที่เพิ่งออกกฎหมายดังกล่าวฉบับล่าสุด

กฎเหล็กบุหรี่ไฟฟ้า
ที่ออสเตรเลีย 

ออสเตรเลียกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกับทั่วโลก ที่อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ผลสำรวจพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจากร้อยละ ๑๑.๓ ในปี ๒๕๖๒ เป็นร้อยละ ๑๙.๘ ในปี ๒๕๖๕/๒๕๖๖ หรือเติบโตเกือบหนึ่งเท่าตัว และในปี ๒๕๖๕ พบว่าร้อยละ ๖๖ ของผู้เข้าร่วมการศึกษา อายุ ๑๓-๑๙ ปี เคยลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า ส่วนปี ๒๕๖๕/๒๕๖๖ พบว่าร้อยละ ๒๖.๖ ของนักเรียนโรงเรียนมัธยมฯ ในรัฐวิกทอเรียเคยลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า ขณะปี ๒๕๖๔ พบว่าร้อยละ ๓๒ ของเด็กอายุ ๑๔-๑๗ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า  ส่วนผลสำรวจระดับชาติปี ๒๕๖๕ ผู้ตอบแบบสอบถามอายุ ๑๕-๓๐ ปี ร้อยละ ๑๔ ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ปีนี้ออสเตรเลียจึงทยอยออกกฎหมายควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จนกลายเป็นประเทศที่กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเข้มงวดที่สุดในโลก ดังนี้

  • ๑ มกราคม ๒๕๖๗ : รัฐบาลห้ามนําเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง ทั้งที่มีและไม่มีนิโคติน

  • ๑ มีนาคม ๒๕๖๗ : มีข้อกำหนดเพิ่มเติมคือห้ามนําเข้าบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าแบบชาร์จได้ โดยไม่มีใบอนุญาตนําเข้าและใบอนุญาต และอนุญาตเฉพาะรสมินต์ เมนทอล หรือยาสูบ

  • ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ : บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดต้องวางขายในร้านขายยาเท่านั้น ไม่ว่าจะมีนิโคตินหรือไม่ บรรจุภัณฑ์เป็นแบบธรรมดา รสชาติจำกัดเฉพาะมินต์ เมนทอล และยาสูบ ไม่สามารถขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือร้านต่าง ๆ

- ผู้ที่อายุเกิน ๑๘ ปี ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินได้ไม่เกิน ๒๐
มิลลิกรัมหลังจากปรึกษาเภสัชกรแล้ว โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากบุคลากรทางการแพทย์

- ผู้ที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ต้องมีใบสั่งจากบุคลากรทางการแพทย์

- ผู้ที่ต้องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นเกิน ๒๐ มิลลิกรัม
ต้องมีใบสั่งจากบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม

- ห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย

ที่มา : https://adf.org.au/insights/vaping-changes-australia/