นักปั่นจักรยานหยุดพักพูดคุยใต้ร่มเงาต้นไทรใหญ่ข้างศาลาริมทาง เป็นวิวทิวทัศน์ที่พบได้ระหว่างทางจากบึงพระชนกไปเกาะเทโพ
ภาพ : ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา
อยู่ดี ตายดี
ที่อุทัยธานี
Foto Essay
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่องและภาพ : เยาวชนค่ายสารคดี 19
ขอขอบคุณ : ถวิล พึ่งสุข, เสถียร แผ่วัฒนากุล,
ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์, ปราโมช เลาหวรรณธนะ
และชุมชนชาวเมืองอุทัยธานีทุกคน
เมืองอุทัยธานีมีความพิเศษ ในความช้ามีเวลาให้หยุดพักและอยู่กับตัวเองมากขึ้น ในความเล็กมีความเป็นมิตรของผู้คนที่เชื่อมโยงกัน มีแม่น้ำสะแกกรังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวอุทัยธานี มีความยาว ๒๒๕ กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงจังหวัดอุทัยธานี และไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เป็นเส้นแบ่งระหว่างเกาะเทโพที่เต็มไปด้วยพื้นที่เกษตรและธรรมชาติ กับฝั่งเมืองอุทัยธานีใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
“แม่น้ำสะแกกรัง” แม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแม่น้ำทำการเกษตรและเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้ ปลาส่วนใหญ่ในตลาดเช้าเมืองอุทัยฯ ล้วนมาจากแม่น้ำสะแกกรัง ทั้งจากการเลี้ยงในกระชังและการตกปลา
ที่นี่เป็นแหล่งปลาแรดคุณภาพดี
ที่พ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่นเดินทางมาซื้อไปจำหน่ายต่อ “ที่นี่ฮวงจุ้ยดี ข้างหน้าเป็นน้ำ ข้างหลังเป็นภูเขา” หนึ่งในเกษตรกรชาวอุทัยฯ ให้ความเห็น
ภาพ : สุดารัตน์ จังโส
รดน้ำต้นเตยที่ปลูกในแม่น้ำสะแกกรัง วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนชาวแพแห่งแม่น้ำสะแกกรัง
ภาพ : สุดารัตน์ จังโส
ศรีวภา วิบูลรัตน์ หรือ “ป้าแต๋ว” วัย ๗๐ ปี ผู้เป็นเจ้าของแพร้านปลาย่างซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวหนึ่งของเมืองอุทัยฯ มีจุดเริ่มต้นจากที่สามีป่วยติดเตียง ทำให้เธอตัดสินใจเปลี่ยนจากการขายปลาที่ตลาดมาขายที่แพแทนเพื่อจะได้ดูแลสามีไปพร้อมกัน ไม่กี่ปีก่อนเธอยังเคยเป็นมะเร็งแต่ก็ได้รับการรักษาจนหาย “ปล่อยมัน ดูนู่นดูนี่ เล่นโทรศัพท์ ดูติ๊กต็อก ยูทูบ ฟังเพลง อย่าไปคิดเรื่องความตาย คิดแล้วมันจิตตก ถึงเวลาจะตายมันต้องตายอยู่แล้วคนเรา อยู่ไปไม่ได้นานเท่าไรหรอก”
ภาพ : ณิชมน นิตยโกศล
สินธุ์ชัย พูลแก้ว ชายร่างกำยำที่เคยทำอาชีพทั้งทหารพรานและนักมวยที่มีชื่อเสียงในอดีต เขาเป็นหนึ่งในชาวแพที่อาศัยอยู่ในเรือนแพที่ทำด้วยไม้ทั้งหลัง มุงหลังคาสังกะสี มากกว่า ๔๐ ปี มีอาชีพประมงจับปลา ทั้งไว้กินเองและนำไปขายในตลาด “อยู่แบบพอเพียง” คือนิยามชีวิตที่ดีของสินธุ์ชัย
ภาพ : กฤษฎ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
บุคคลในภาพคือ “พ่อ” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้สินธุ์ชัยอยากเป็นทหารรับใช้ชาติตามรอยพ่อ แต่สุดท้ายเขาต้องลาออกจากราชการเนื่องจากบาดเจ็บหนักจากการปฏิบัติหน้าที่
ภาพ : กฤษฎ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
แพต่างสี ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสะแกกรัง ลอยห่างจากท่าราว ๑๐ เมตร แพสีม่วงเป็นของ สาคร คงห้วยรอบ (พ่อ) แพสีชมพูเป็นของ สมคิด คงห้วยรอบ (ลูกสาว) กิจกรรมชาวแพอยู่ในห้องหลักเพียงห้องเดียว ทั้งกินข้าว รับแขก นอน ห้องหลักของแพแทบทุกหลังจึงรวบรวมสิ่งจำเป็นไว้ทั้งหมด
ภาพ : อาชวิน ฉัตรอนันทเวช
สมคิดไปเที่ยวมาแล้วหลายประเทศ และเคยทำงานเป็นบริกรอยู่ร้านอาหารในต่างประเทศ จนเมื่อเกิดเรื่องเศร้าโศกครั้งใหญ่ของครอบครัวคือการสูญเสียแม่ “เราเหมือนคนบ้าไปเลย ไม่รับรู้อะไรกับใครทั้งนั้น มันเศร้ามากเลย” หลังจากสูญเสียแม่ สมคิดเคยคิดสั้น หวังลาโลกตามแม่ไปอีกคน แต่โชคดีที่พระธรรมมาดึงสติ เธอไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมและได้คำตอบว่าจะมีชีวิตต่อไป ส่วนพ่อสาครนั้นแม้ร่างกายจะร่วงโรยไปตามอายุ ทว่าหัวจิตหัวใจยังแกร่งดังหินผา “อย่าไปกลัวตายเลย จะไม่ตายน่ะสิไม่มี”
ภาพ : อาชวิน ฉัตรอนันทเวช
“เกิดมาก็เจอส้มโอ” ละเอียด วิศิษฎ์รุ่งเรือง วัย ๗๐ ปี และ โสภณ วิศิษฎ์รุ่งเรือง วัย ๖๙ ปี คู่สามีภรรยา เจ้าของสวนส้มโอและพืชสวนนานาชนิดบนเนื้อที่หลายไร่บนเกาะเทโพ โดยเฉพาะ “ส้มโอบ้านน้ำตก” ส้มโอคู่คำขวัญเมืองอุทัยธานี สวนนี้ปลูกเป็นรอบที่ ๕ แล้วหลังเหตุการณ์น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ละเอียดเล่าว่า “ปลูกส้มโอมาตลอด พอน้ำท่วมก็หยุด หยุดแล้วก็ปลูก ปลูกแล้วก็หยุด พอน้ำท่วมตายก็เริ่มใหม่อีก” ทั้งสองคนย้ำว่าแม้น้ำท่วมจะทำให้พวกเขาสูญเสียทรัพย์สิน แต่ก็ช่วยให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น “ถ้าตายก็อยากตายที่นี่ บ้านอยู่ที่นี่ มองไปตรงไหนก็มีแต่ความทรงจำ”
ภาพ : สิรินธร เผ่าพงษ์ไทย
ซุ้มสวนไผ่เกษตรทางเลือกและประตูสู่บ้านของ จำนงค์ หมายแพทย์จิตร และ กิมเฮี๊ยะ พูลเทียน บนเกาะเทโพ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมผสมผสาน ซึ่งรวมพืชผักสวนครัว ไผ่สีสุก ไผ่กิมซุง และนาข้าว ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ จะฟื้นคืนชีวิตให้พื้นที่มรดกจากบรรพบุรุษ จำนงค์เคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วถึงห้าครั้ง เรื่องราวไม่คาดฝันได้มอบมุมมองชีวิตใหม่และชีวิตบั้นปลายที่ใฝ่ฝันมานาน “ทำอะไรที่อยากทำ เพราะไม่รู้ว่าเราจะไปเมื่อไร”
ภาพ : พชรภา พิพัฒน์นัดดา
เมืองอุทัยธานีเหมาะกับการใช้จักรยาน เพราะขนาดเล็ก สัญจรไปไหนมาไหนได้ง่าย อีกทั้งผู้คนก็คุ้นหน้าคุ้นตากัน ผู้ใช้รถใช้ถนนจึงเกรงอกเกรงใจกัน ระหว่างทางมีทิวทัศน์สวยงามของพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเงียบสงบ มองไปทางไหนก็เห็นทางจักรยานและคนใช้จักรยาน ปัจจุบันมีชมรมจักรยานอุทัยธานีเป็นศูนย์รวมที่เชื่อมโยงผู้คนที่รักชอบจักรยาน และสร้างแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสุขภาพ “เราออกมาปั่นกันทุกเช้า มาขอแค่ให้ได้เจอกัน ขอแค่ให้ได้ปั่น ไปไหนก็ไปกัน มันอยู่ที่คน” จักรยานไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือออกกำลังกาย แต่นำพาผู้คนสู่การเปลี่ยนแปลงและมิตรภาพที่ดี
ภาพ : ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา
มนตรี อโณวรรณพันธ์ ชายวัย ๗๙ ไอดอลนักวิ่งของชาวอุทัยฯ ผู้คว้าถ้วยและเหรียญรางวัลมามากมาย เริ่มต้นการวิ่งหลังจากได้รับสัญญาณเตือนจากร่างกาย จึงตระหนักว่าต้องใส่ใจ ดูแลสุขภาพให้มากขึ้น จนการวิ่งเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน พลังความตั้งใจของเขาส่งต่อ เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น “ไม่ใช่แค่คนในชุมชนนะ ครอบครัวผมวิ่งกันทั้งบ้าน ภรรยาผม ลูกสาว ลูกชาย ลูกสะใภ้” กระแสรักสุขภาพในเมืองอุทัยธานีทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะสำหรับออกกำลังกาย หนึ่งในนั้นคือสวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ หรือบึงพระชนก ซึ่งทุกเช้ามืดมนตรีกับครอบครัวจะมาวิ่งที่นี่ “อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ อย่ารอเป็นโรค เน้นใช้จ่ายเพื่อป้องกันและดูแล ดีกว่าไปรักษาภายหลัง”
ภาพ : ธนภรณ์ จิตตะยโศธร
ชมรมวิ่งเมืองอุทัยฯ มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันการออกกำลังกายของคนอุทัยฯ มีกิจกรรมนัดวิ่งด้วยกันตอนเช้า ได้พูดคุยสนทนากันเรื่องการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ในเมืองอุทัยฯ หนึ่งในคนรักสุขภาพแห่งเมืองอุทัยฯ บอกว่า “การออกกำลังกายคือความสุข” ความสดชื่นจากหยาดเหงื่อ ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าจากการซึมซับแสงแดดยามเช้าและกลิ่นอายดิน จะมอบพลังในการใช้ชีวิตให้แก่เรา และผลลัพธ์ที่ได้นี้มาจากการลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้น
ภาพ : ลลิภัทร แสนแทน