Image

Pietro Lo Casto ช่างภาพชาวอิตาลี จัดแสดงภาพถ่ายของครอบครัวริมแม่น้ำสาละวินที่ถูกทาบทับด้วยผังสถาปัตยกรรมของเขื่อนจนเห็นใบหน้าไม่ชัด ที่ชั้น ๒ ของสภากาแฟ 36 พรีเมี่ยม สาขาปัตตานี 

จุด สี เส้น ศิลป์
ให้จิตวิญญาณได้พักพิง
ในพื้นที่สีแดง

“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ

เรื่อง : ณิชากร คงบำเพ็ญ
ภาพ : ณิชมน นิตยโกศล

“ทางทัศนธาตุ ‘จุด’ เป็นองค์ประกอบสำคัญอันแรก จุดสร้างเส้น สี รูปร่าง รูปทรง 

“จิตก็เหมือนกัน คือจุดเริ่มต้นแรก ถ้าเราประคับประคองให้ดี ก็จะทำให้อยู่ดี”

ประโยคช่วงหนึ่งเอ่ยโดย ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ขณะเรานั่งสนทนากัน 
ณ ปาตานีอาร์ตสเปซ (Patani Artspace)

จุดเริ่มต้นของฉันอยู่กรุงเทพฯ ลากเส้นเดินทางสู่จังหวัดปัตตานี มาอยู่ท่ามกลางงานศิลป์มากมายในเทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024 ซึ่งจัดโดยปาตานีอาร์ตสเปซ

ในที่แห่งนี้…ฉันมองเห็นศิลปะที่เข้าไปเป็นจุดเล็ก ๆ ช่วยเยียวยาจิตใจใครหลายคน ศิลปะที่แต่งแต้ม “พื้นที่สีแดง” ให้หลากหลายขึ้น

เริ่มต้นผลงานเพื่อซ่อมสร้างจิตใจ

“เราชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก ขีดเขียนวาดรูปไปเรื่อย เมื่อไรที่เราไม่พอใจ น้อยใจ ร้องไห้ ก็เปิดสมุดวาดรูป จะเอาอารมณ์ตัวเองมาอยู่ในรูปตลอด

นอเดียนา บีฮิง ศิลปินจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เล่าเรื่องราวชีวิต เธอสำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระยะแรกเธอสนใจสร้างงานเกี่ยวกับความทรงจำ เรือนไม้ สถาปัตยกรรม แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มขึ้นช่วงที่เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

“ตอนจบปริญญาโทเป็นจังหวะที่พ่อป่วยแล้วไม่มีคนดูแล เรามีสี่พี่น้อง และเป็นคนสุดท้อง กลายเป็นเราต้องดูแลพ่อ แกมีอาการน้ำท่วมปอดอยู่ไอซียู หมอบอกไตวายต้องฟอกไต แนะนำว่ามีสองวิธี คือฟอกเลือดกับล้างไตทางช่องท้อง เราเลือกล้างไตทางช่องท้อง”

นอเดียนาเรียกโรคนี้อย่างขัน ๆ ว่า “โรคคุณหนู” เพราะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ ทั้งตัวผู้ป่วย ผู้ดูแล สถานที่ รวมถึงผู้ดูแลต้องมีเวลาให้ เนื่องจากการฟอกไตทางช่องท้องต้องทำวันละสี่ครั้ง โดยต่อสายท่อจากถุงน้ำยาล้างไตเข้ากับสายท่อล้างไตซึ่งยื่นออกมาจากช่องท้อง เติมน้ำยาค้างไว้ ๔-๕ ชั่วโมงเพื่อกรองของเสียส่วนเกินออกจากเลือด จากนั้นใช้เวลาอีกราว ๑ ชั่วโมงปล่อยน้ำยาที่มีของเสียออกจากช่องท้อง ทำหมุนเวียนเช่นนี้ทุกวัน

จากนักศึกษาจบใหม่ไฟแรง งานหลักของเธอกลับเป็นการดูแลพ่อ มีเวลาว่างเพียงเล็กน้อยทำงานศิลปะ กระทั่งเกิดจุดหักเหครั้งใหญ่จากการระบาดของโควิด-๑๙ ในพื้นที่เบตง เธอและพ่อติดเชื้อจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

“ห้องปลอดเชื้อ” สถานที่สำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ปิดกั้นพื้นที่ด้วยพลาสติกใส ตัดขาดจากโลกภายนอก มีเพียงโทรศัพท์ที่ใช้สื่อสารได้ ไม่รู้วันเวลา ฝนตกหรือฟ้าร้อง ยังเป็นภาพที่ติดอยู่ในความทรงจำ นอเดียนาเผชิญกับห้วงเวลาหนักหนาที่สุดในชีวิต

“ตอนนั้นเชื้อลงปอดหนักกว่าพ่ออีก แต่ต้องลุกขึ้นทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ได้กังวลว่าเราจะรอดมั้ย ก็ขอดุอาอ์ (การขอพรจากอัลลอฮ์ตามหลักศาสนาอิสลาม) ให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี”

Image

นอเดียนา บีฮิง จัดแสดงงาน ณ สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี ชั้น ๑ เรื่องเล่าจากผู้ป่วย CAPD ชิ้นงานใหญ่ ตั้งแต่ฝ้าเพดานจดพื้นสามชิ้น รายละเอียดของงานเป็นภาพปักด้วยด้ายสีดำและสายพลาสติกระโยงระยางแปลกตา

ในเวลาไล่เลี่ยกันตาของนอเดียนาก็ได้รับเชื้อโควิด-๑๙ และถูกส่งตัวเข้ามาเพิ่มอีกคน ภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นก่อความเครียดสะสม

“เราต้องอยู่กับความเป็นความตายตลอด ไม่รู้จะรอดมั้ย ทุกวันมีรายชื่อคนเสียชีวิต พ่อจะถามว่า ‘วันนี้ใคร ?’ เราไม่รู้จะตอบยังไง บางเตียงเพิ่งคุยกับเขา แล้วจู่ ๆ เขาก็เสีย”

หนึ่งเดือนเต็มในห้องปลอดเชื้อ ด้วยภาวะแทรกซ้อนทั้งโรคไตและอีกหลายโรคที่มีอยู่ก่อนหน้า ทำให้พ่อของนอเดียนาจากไป ร่างของพ่อถูกนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่เธอยังต้องอยู่ดูแลตา

“ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรืออะไรสักอย่างถึงขั้นมีพยาบาลจากหน่วยจิตเวชมาประเมินว่าขั้นไหน แต่โชคดีอยู่ในภาวะนี้เพียง ๑ เดือน”

แม้ภาวะความเครียดจะเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่นอเดียนารู้ว่ามันยังตกค้างในจิตใจ เธอจึงเลือกปลดปล่อยในงานศิลปะ

“โชคดีที่เราเรียนศิลปะ พอออกจากโรงพยาบาลก็ทำงานเลย เหมือนเอาความเครียดมาลงกับงานศิลป์”

นอกจากนี้การมองชีวิตตามหลักศาสนาที่เธอนับถือยังช่วยเยียวยาจิตใจอีกทาง

“ในมุมมองของศาสนาอิสลาม เขาให้คิดว่าโลกนี้เป็นโลกแห่งการทดสอบ ทุกอย่างถูกบันทึกไว้แล้วว่าเราเสียตอนไหน วันไหน แค่เราไม่รู้ เลยทำให้เราเข้าใจการใช้ชีวิตโดยไม่เครียดมากเกินไป”

เมื่อผ่านบททดสอบอันหนักหนาที่สุดในชีวิต ประสบการณ์และความทรงจำในห้วงเวลานั้นก่อเกิดเป็นงานศิลปะ ห้องปลอดเชื้อ จัดแสดงในเทศกาลศิลปะ Kenduri Seni Nusantara 2022 ที่จัดโดยปาตานีอาร์ตสเปซในปี ๒๕๖๕

ภายในพื้นที่จัดแสดงแผ่นพลาสติกใสนำมาใช้กั้นแทนผนัง จำลองเป็นห้องเล็ก ๆ เมื่อเรามองตามผนังพลาสติกใสจะพบสิ่งแทนความทรงจำเกี่ยวกับพ่อของนอเดียนาแขวนไว้รายรอบ ทั้งเสื้อผ้า ถุงน้ำยาล้างไต  เมื่อเข้าสู่ภายในห้องจะพบเตียงตั้งอยู่ บนผ้าปูเตียงนอเดียนาปักลวดลายเป็นโครงร่างมนุษย์ เธออธิบายว่าการเย็บปักนี้เป็นสัญลักษณ์แทนการซ่อมแซม สะท้อนความรู้สึกที่ปรารถนาให้ร่างกายพ่อกลับมาสมบูรณ์แข็งแรง

ผลงานชิ้นนี้ปลดล็อกความรู้สึกของเธอได้สำเร็จเนื่องจากเมื่อผู้ชมมาดูงานก็จะเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายมีผู้ชมคนหนึ่งเห็นผลงานแล้วร้องไห้ออกมา

นอเดียนาถามว่า “ทำไมถึงร้องไห้ ?” เขาตอบว่าพ่อเขาก็ป่วยเป็นโรคไต เขาเองทำหน้าที่ดูแลพ่อและตอนนี้พ่อก็เสียแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปนอเดียนาบอกว่าช่วงเวลาที่ดูแลพ่อทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจสัจธรรมชีวิตมากขึ้น

“ก็ยังคิดถึงแหละ แต่เราต้องยอมรับความจริง ไม่งั้นจิตใจเราจะแย่ ดำเนินชีวิตยากขึ้น”

Image

ภายในห้องชั้น ๑ ของปาตานีอาร์ตสเปซ ห้องมืดที่มีประกายสีทองมลังเมลืองคือผลงาน เพดานต่ำ ของ กรกฎ สังข์น้อย ซึ่งวัสดุสีทองครึ่งวงกลมมากมายที่ห้อยลงมาจากเพดานคือกะลาที่ทาสีทอง

เส้นทางต่อขยาย 
สู่ เรื่องเล่าจากผู้ป่วย CAPD

เรื่องของพ่อกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากสานต่อเรื่องราวให้ไกลกว่าตัวเอง ผลงานชิ้นถัดไปเธอทำร่วมกับโครงการ Early Years Project ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี ๒๕๖๖ ซึ่งเธอได้ทำงานศิลปะร่วมกับผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) รวมถึงญาติ บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเบตง จังหวัดยะลา

ไอเดียของเธอมาจากพาพ่อไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกเดือน จึงมีโอกาสพบปะคนไข้อื่น ๆ ภายในห้องผู้ป่วย CAPD เห็นบรรยากาศการพูดคุย แลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างกลุ่มผู้ป่วย

“กลายเป็นว่ามีทั้งความสุขความทุกข์ในเสียงพูดคุย เราเลยเกิดไอเดียว่าทำไมไม่เอามาทำเป็นภาษาภาพนะ อยากให้คนอื่นรู้มุมมองของคนไข้ว่ามีหลากหลาย”

เธอลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ป่วย รับฟังสิ่งที่พวกเขาพบเจอ ภายใต้อาการเจ็บป่วยนั้นแท้จริงแฝงด้วยปัจจัยอื่น ๆ อีก ทั้งความเครียด ค่าใช้จ่าย คนดูแล บางคนต้องการทำงานเพื่อมีรายได้มารักษาตัวเอง ขณะบางคนต้องล้างไตเอง เดินทางมาโรงพยาบาลเอง

“ตอนแรกเราเข้าใจว่าปัญหาเราใหญ่มาก แต่พอฟังปัญหาเขา กลายเป็นปัญหาเราดูเล็กไปเลย”

นอเดียนาจึงคิดหาแนวทางให้ผู้ป่วยเยียวยาสภาพจิตใจด้วยวิธีการทางศิลปะ ให้พวกเขามีที่ระบายความรู้สึก โดยเธอนำถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วมาทำความสะอาด แจกจ่ายแก่ผู้ป่วยให้ใช้แทนกระดาษเพื่อวาดรูปยามว่าง หรือมีเรื่องอยากระบาย รวมถึงบันทึกวิดีโอสัมภาษณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ป่วย ก่อนที่ผลงานวาดเส้นและเสียงบันทึกเหล่านี้จะถูกรวบรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นผลงาน “พื้นที่ปลอดภัย” จัดแสดงในรูปแบบศิลปะจัดวาง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในนิทรรศการ Early Years Project #7

บนทางเดินสีขาวสะอาดตา ผลงาน “พื้นที่ปลอดภัย” จัดแสดงอยู่สองฟากฝั่ง ฝั่งหนึ่งจะเห็นภาพถ่ายผู้ป่วยและบุคลากรผู้เกี่ยวข้องเรียงเป็นแถวบนผนังขาว คั่นกลางด้วยจอ LED ขนาดย่อมซึ่งแสดงวิดีโอบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย อีกฟากผนังสะดุดตาด้วยแผงภาพขนาดใหญ่หลายแผงแขวนอยู่ มองใกล้ ๆ จะเห็นว่าคือถุงน้ำยาล้างไตที่เหล่าผู้ป่วยได้วาดภาพไว้ ซึ่งเย็บเข้าด้วยกันเป็นแผงภาพใหญ่ ทำให้ลวดลายการ์ตูน ดอกไม้ สัตว์ตัวน้อย อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

Image

ใบหน้าพร่าเลือนบนถุงกระสอบหลากสีบนผนัง ใช้ผงถ่านที่ได้จากการเผาข้าวของ ณัฐพงศ์ นิ่มชะนะ ศิลปินสื่อถึงอาชีพชาวนาและปัญหาทางการเกษตรที่ไม่ถูกแก้ไขด้วยความเข้าใจ จัดแสดงในวัดหลักเมือง

“ส่วนใหญ่ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ไม่ค่อยบอกเรื่องลบ เขาป้อนแต่ความสุข เพราะไม่อยากให้คนอื่นทุกข์ไปกับเขา เขารู้ดีว่ามันหนักมากจนอธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก ก็ให้กำลังใจคนที่เจอแบบเดียวกัน  สำหรับคนสุขภาพแข็งแรงก็อยากให้ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น” นอเดียนาเล่าเสียงสะท้อนของผู้ป่วย

ปัจจุบันนอเดียนากับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการยังติดต่อกันเสมอ เธอเริ่มทดลองใช้ถุงน้ำยาล้างไตเหล่านี้มาทำงานประยุกต์ศิลป์ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าแก่วัสดุเหลือใช้ และในอนาคตอาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ผู้ป่วย

ถุงน้ำยาล้างไตขนาด ๒๕ x ๒๐ เซนติเมตร นำมาเย็บประกอบเป็นแผ่นใหญ่คล้ายผืนผ้าใบ แขวนเรียงกันสามชิ้นในอาคารของสถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี ผลงานนี้ชื่อ เรื่องเล่าจากผู้ป่วย CAPD เป็นผลงานล่าสุดของนอเดียนา เธอเปรียบว่าผลงานเธอเสมือนภาพยนตร์ไตรภาค (อาจมีภาคต่อ) เริ่มจาก ห้องปลอดเชื้อ เล่าเรื่องพ่อ  ภาค ๒ พื้นที่ปลอดภัย เล่าเรื่องราวผู้ป่วยคนอื่น ๆ ด้วยตัวผู้ป่วยเอง ภาค ๓ เรื่องเล่าจากผู้ป่วย CAPD เป็นการสรุปเรื่องราวผู้ป่วยด้วยลายเส้นของนอเดียนา

บนถุงน้ำยาล้างไตถูกวาดด้วยปากกามาร์กเกอร์ ทับด้วยการปักลวดลายที่เธอถนัด กลายเป็นลายเส้นทับซ้อนหลายมิติ แสดงภาพผู้ป่วยที่เธอเคยสังเกตการณ์ พูดคุยใกล้ชิด นอเดียนาชี้ไปยังผลงานหนึ่งในสามภาพนี้ว่ามาจากเคสของผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่งจบการศึกษาระดับมัธยมฯ เท่านั้น

เรื่องเล่าจากผู้ป่วย CAPD ได้เรียงร้อยเข้ากับผลงานศิลปะชิ้นอื่น ๆ ซึ่งจัดแสดงกระจายทั่วเมืองปัตตานี ทั้งสถานสงเคราะห์เด็ก โรงเรียน ร้านกาแฟ ฯลฯ รวมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024 

“ความตายยิ่งใหญ่มาก ชีวิตหลังความตายสำคัญกว่าชีวิตที่เราเป็นอยู่ แต่ไม่ใช่อยู่รอความตายอย่างเดียว ต้องเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ” เจะอับดุลเลาะกล่าว แต่เมื่อตายแล้ว พระเจ้าจะยังให้ผลบุญแก่ผู้ทำความดีสามประการ นั่นคือ การเป็นลูกที่ดี การให้ทาน และการให้ความรู้แก่เพื่อนมนุษย์

Image

เทศกาลศิลปะนานาชาติครั้งนี้ จัดกระจายอยู่ทั่วเมืองปัตตานี มีทั้งผลงานของศิลปินในพื้นที่และศิลปินต่างชาติ หนึ่งในที่จัดแสดงคือสถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี

Image
Image

 เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ เจ้าของปาตานีอาร์ตสเปซ จัดแสดงผลงานเศษซากทางความรู้สึก เป็นอาคารยกพื้นสูง ไม่มุงหลังคา และฝาเรือนเป็นกรวยจราจรสีส้ม ดูแปลกแยก ผิดที่ผิดทาง

ปาตานีอาร์ตสเปซเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยที่รวมผู้คนหลายสัญชาติ ต่างพื้นที่ พูดคนละภาษา ทำงานคนละแบบ ซึ่งเชื่อมโยงกันผ่านงานศิลปะ

สีเฉดใหม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยใน “พื้นที่สีแดง”

ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของปาตานีอาร์ตสเปซ อาคารหลังคาจั่วสูงสีขาวสะอาดตา ตัดกับความเขียวขจีของทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา มี ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นเจ้าของ

“เราอยากมีพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่อรวมกลุ่มศิลปินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผมเองเป็นอาจารย์ พอเด็กจบ งานดี ๆ หายไปพร้อมกับคน เพราะไม่มีที่ให้เขาประลองฝีมือ ซัปพอร์ตเขา”

เจะอับดุลเลาะเล่าว่า เมื่อครั้งตนเรียนที่นี่แทบไม่มีพื้นที่ศิลปะ ไม่มีหอศิลป์ท้องถิ่น ต้องไปกรุงเทพฯ ซึ่งการแข่งขันสูง พอเรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงตัดสินใจกลับมาเติบโตที่บ้านเกิด และสร้างพื้นที่ศิลปะของตัวเองในปี ๒๕๕๕

“อีกเหตุผลคือจากความขัดแย้งในพื้นที่ คนมองเราในมิติของความน่ากลัว นิยมความรุนแรง เราเลยใช้ศิลปะนี่แหละส่งเสียงให้คนรับรู้ สร้างบทสนทนาระหว่างคนนอกกับคนใน”

สำหรับเขาศิลปะไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เป็นเรื่องของชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024 เป็นประตูบานสำคัญที่เปิดให้คนนอกพื้นที่และคนในพื้นที่มาพบกัน วันแรกของงานเต็มไปด้วยผู้คนจากหลากพื้นที่ หลายภาษา ทั้งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนต่างถิ่น บางคนมาจากต่างประเทศ แถบเอเชียถึงยุโรป บางคนเป็นศิลปิน บ้างเป็นนักเรียนนักศึกษา เสียงพูดคุยทั้งภาษามลายู ไทย อังกฤษดังอื้ออึง กลายเป็นพื้นที่ที่ปราศจากอคติทางเชื้อชาติและศาสนา

“ชีวิตเราอยู่กับความขัดแย้ง ความเครียด เราต้องมีพื้นที่ทางจิตวิญญาณให้เขาได้ปลอบประโลม เหมือนช่วยบำบัดจิตใจแก่ทุกคน” เขากล่าว 

เศษซากทางความรู้สึก คือผลงานศิลปะของเจะอับดุลเลาะ บนเรือนมลายูสองชั้นที่หลังคามีเพียงโครงไม้ มีกรวยจราจรสีส้มประกบกันเรียงต่อเป็นผนัง ภายในมีกระทะที่ร่างรูปปืนด้วยจุดสีแดงห้อยเรียงราย เจะอับดุล-เลาะได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตในปัตตานี  บ้านที่สร้างไม่เสร็จเหมือนปัญหาที่ยังคาราคาซัง ผนังบ้าน (ที่ควรมั่นคง) ที่ใช้กรวยจราจรประกบกันก็ดูพร้อมจะถล่มตลอดเวลา และกรวยจราจรที่มักอยู่ตามท้องถนนยังถูกใช้เพื่อสะท้อนประเด็นของด่านอันนำมาสู่ปัญหาหลายด้าน ทั้งทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิต การละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการสอบสวน

เจะอับดุลเลาะมองว่าศิลปะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเยียวยาให้ลืมความรุนแรงลงได้บ้าง

“‘ลืม’ ไม่ได้หมายถึงไม่สนใจนะ แต่เพื่อให้เรามีหัวจิตหัวใจทำอย่างอื่นบ้าง” เจะอับดุลเลาะย้ำ

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้น ณ ปาตานีอาร์ตสเปซ ในหัวข้อ “Before Birth and Beyond Death : ก่อนอุบัติและหลังสลาย” ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

“ผมโชคดีที่พระเจ้าให้ผมมีความสามารถทางศิลปะ ผมเลยสื่อความคิดผ่านงานศิลป์เพื่อแสดงการต่อสู้ เรียกร้องความยุติธรรมในสังคม”

เจะอับดุลเลาะเสริมว่า ศิลปะเป็นดั่ง “พื้นที่ปลอดภัย” แม้เนื้องานอาจตีความได้หลากหลาย แต่ไม่มีลายลักษณ์อักษรมาจำกัดความคิด

“นี่คือข้อดีของศิลปะ ปาตานีอาร์ตสเปซเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนมีอุดมการณ์ อย่างน้อยการต่อสู้ในที่สว่าง ทุกคนก็รับรู้ว่าเรากำลังทำอะไร”

รูปร่างของสังคมที่แปรเปลี่ยน 
เมื่อศิลป์เข้าไปเปลี่ยนแปลง

ริมคลองกอลอกรือบอที่ไหลผ่านหน้าหอศิลป์ คนในชุมชนดอนรักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ร่วมกับแขกต่างถิ่น ยืนแออัดริมตลิ่งส่งเสียงเซ็งแซ่เชียร์การแข่งเรือยอกอง กีฬาพื้นถิ่นที่หอศิลป์จัดขึ้น

“เราพยายามทำงานกับทุกคน อย่าลืมว่าศิลปะที่ศิลปินสร้างได้แรงบันดาลใจจากสังคมหรือชุมชน ดังนั้นศิลปะต้องมีหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมด้วย”

ช่วงแรกที่ทำหอศิลป์ ชาวบ้านยังไม่เข้าใจสิ่งที่เขาทำ แต่ผ่านไปสักพักจึงค่อย ๆ เกิดบทสนทนาขึ้น พื้นที่หอศิลป์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ใช้จัดกิจกรรม ดังเช่นการแข่งขันเรือ ชาวบ้านก็ช่วยตัดหญ้า สร้างสนาม  เจะอับดุลเลาะชี้ว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องทำประโยชน์ให้ชุมชนด้วย

เขายังมองว่าศิลปะมีศักยภาพช่วยพัฒนาให้เกิดรายได้ เพราะเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนนอกเข้ามาสู่พื้นที่จังหวัด

“มนุษย์เสพอาหารสองประเภท คืออาหารทางกายกับอาหารทางจิตวิญญาณ ปากท้องกินอิ่ม ใจก็ต้องอิ่ม ด้วยการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ศิลปะและวัฒนธรรม” เจะอับดุลเลาะกล่าว

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ภัณฑารักษ์ของเทศกาลศิลปะนานาชาติครั้งนี้เล่าถึงผลตอบรับซึ่งดีขึ้นจากเทศกาลศิลปะที่จัดเมื่อ ๒ ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

“เกิดปรากฏการณ์โรงแรมเต็มซึ่งหาไม่ได้ง่าย ๆ ในปัตตานี จริง ๆ เป้าหมายการจัดแสดงงานเพื่อกระตุ้นเตือนบางอย่างแก่มนุษย์ แต่ผลพลอยได้คือเรื่องเศรษฐกิจ”

เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็เกิดการกระจายรายได้แก่ผู้คนในจังหวัด ทั้งคนขับรถ ร้านอาหาร โรงแรม และตลาด

การเปลี่ยนแปลงอีกประการจากเทศกาลศิลปะครั้งก่อนคือบางสถานที่ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หรือสถานสงเคราะห์เด็กปัตตานีที่เข้าไปจัดแสดงงานได้การตอบรับที่ดี อย่างสถานสงเคราะห์เด็กปัตตานีทางกลุ่มผู้จัดได้ทำกิจกรรมโครงการศิลปะบำบัดร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี ชั้น ๒ มีห้องอาบแสงสีม่วงรำไร คืองานศิลปะการหลับใหล ของ นุรัตนา หะแว อาจารย์มหาวิทยาลัยและคุณแม่ของลูก ๆ ทั้งสาม งานศิลปะนี้ทำเป็นโมไบล์ดอกไม้ ถ่วงน้ำหนักด้วยกระดิ่งเล็ก ๆ

“งานชิ้นนี้เราทำให้เขาโดยเฉพาะ” นุรัตนา หะแว หนึ่งในศิลปินผู้จัดแสดงงานในสถานสงเคราะห์เด็กปัตตานีเอ่ย

ห้องเล็ก ๆ ในอาคารสถานสงเคราะห์ทาผนังด้วยสีม่วง มีโมไบล์ดอกไม้ที่ทำจากซองผงซักฟอก ซองสบู่ประกอบกัน
ห้อยระย้าลงจากฝ้าราวฝนดาวตก พร้อมเสียงกรุ๊งกริ๊งของกระดิ่งเล็ก ๆ ปลายสายโมไบล์ แม้ผลงานการหลับใหล ของเธอจะต้องการสะท้อนพฤติกรรมทิ้งขยะโดยไม่รู้ตัวของผู้คน แต่ก็ตั้งใจมอบให้เสมือนของขวัญแก่เด็ก ๆ ในสถานสงเคราะห์ด้วย

นุรัตนาเล่าถึงโครงการศิลปะบำบัดว่า ระยะเวลาทำโครงการประมาณ ๑๐ วัน ผลตอบรับน่าพอใจ เพราะเด็กบางคนไม่กล้าอธิบายว่าพบเจออะไรมา แต่สร้างรูปทรง รูปวาดจากการขีดเขียนแทน ทำให้นำไปวิเคราะห์สภาพจิตใจของพวกเขาจากภาพวาดได้ และงานของพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะนานาชาติ ซึ่งจัดแสดงในอาคารของสถานสงเคราะห์ด้วย

“พอเราเอาศิลปะเข้าไปแสดง มีผู้ใหญ่มาเห็นก็ให้ทุนสร้างตึกใหม่ ให้อาคารนี้เป็นห้องแสดงนิทรรศการศิลปะ” อนุวัฒน์ให้ข้อมูลเพิ่ม “นี่คือศิลปะได้เปลี่ยนแปลง mindset ของคนที่อยู่ข้างใน และเปลี่ยนแปลงสถานที่ด้วย”

รูปสลาย ร่างมลาย 
แล้วสิ่งใดเล่าจะดำรงอยู่ ?

ในศาสนาอิสลาม มนุษย์จะพบพานโลกสามโลกด้วยกัน “ดุนยา” คือโลกที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ เป็นโลกชั่วคราว เมื่อมนุษย์ตายจะไปสู่ “บัรซัค” โลกหลังความตาย วิญญาณจะอยู่ในหลุมฝังศพเพื่อรอคอยวัน “กิยา-มะฮ์” คือวันพิพากษา เพื่อฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และเข้าสู่โลก “อาคิเราะฮ์” คือโลกนิรันดร์

“ความตายยิ่งใหญ่มาก ชีวิตหลังความตายสำคัญกว่าชีวิตที่เราเป็นอยู่ แต่ไม่ใช่อยู่รอความตายอย่างเดียว ต้องเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ” เจะอับดุลเลาะกล่าว  แต่เมื่อตายแล้ว พระเจ้าจะยังให้ผลบุญแก่ผู้ทำความดีสามประการ นั่นคือ การเป็นลูกที่ดี การให้ทาน และการให้ความรู้แก่เพื่อนมนุษย์

Image

งานเทศกาลศิลปะจัดขึ้นทุก ๒ ปี ณ ปาตานีอาร์ตสเปซ แม้ Kenduri Seni Patani 2024 จะจบลง แต่ความทรงจำและความสัมพันธ์อันดีระหว่างศิลปิน ชุมชน และนักท่องเที่ยว จะถูกส่งต่อไปถึงอนาคต

LandscapeSociety (Space in the whirlpool beneath modern conditions) ผ้ามุ้งสีขาวแซมฟ้าและชมพูหลากสีปลิวไสวยามฝนตกกลางทุ่งนาเขียวขจีด้านหลังปาตานีอาร์ตสเปซ คือผลงานของ ไพศาล อำพิมพ์ ที่มุ้งมีนัยถึงการปกป้องบางอย่าง แต่บางอย่างก็ทะลุผ่าน

“อย่างผมเป็นอาจารย์ พอผมตาย พระเจ้าจะสอบสวนว่าเมื่อคุณมีชีวิต คุณนำความรู้ด้านศิลปะไปทำอะไรแก่มวลมนุษย์บ้าง พระเจ้าไม่ได้ถามเรื่องชื่อเสียงหรือความร่ำรวย เราจึงต้องไม่หยุดหย่อนในการทำงาน เพราะตั้งเจตนาไว้ว่าคือการให้”

เมื่อเราจากโลกนี้ไป แล้วสิ่งใดที่จะเหลือไว้ ? คำถามนี้กลายเป็นแนวคิดสำคัญของเทศกาลศิลปะนานาชาติครั้งนี้

“แนวคิดคือ ‘Before Birth and Beyond Death : ก่อน
อุบัติและหลังสลาย’ จริง ๆ ผมได้แรงบันดาลใจจากแนวปรัชญาของศาสนาอิสลาม ผมเป็นไทยพุทธ แต่ประเด็นนี้มันเชื่อมโยงหลายมิติ ไม่ใช่แค่ศาสนาอิสลามอย่างเดียว” อนุวัฒน์อธิบายแนวคิดหลัก

“โลกที่เราอยู่ชั่วคราว แล้วเราอยากทิ้งอะไรให้คนข้างหลัง จึงย้อนกลับมาประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะอีก ๕ ปีโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตโลกร้อน ขณะเดียวกันยังมีประเด็นสงครามและการเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เลยคิดว่าเราจะทิ้งโลกในแบบที่เละเทะ หรือจะสร้างอะไรให้คนข้างหลัง”

“โดยส่วนใหญ่ศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) มาจากปัญหา ความไม่สบายใจ เลยสะท้อนหรือตั้งคำถามถึงความไม่สบายใจนั้น เพื่อหาทางออกไม่ว่าศิลปะเชิงบวกเชิงลบ สุดท้ายต้องนำไปสู่เชิงบวก คือให้เรามีความเห็นใจ นึกถึงคนอื่นมากขึ้น”

จุดเล็ก ๆ ของศิลปะอาจเริ่มจากการแสดงออก หรือปลดเปลื้องสภาวะจิตใจของใครคนหนึ่ง แล้วค่อย ๆ รวมตัวเป็นเส้นสายให้ศิลปะสะท้อนบางอย่างนอกเหนือกว่านั้น กระทั่งกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนมีโอกาสสนทนากัน เชื่อมโยงสู่การทำเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม

…ฉันกลับกรุงเทพฯ สู่จุดเริ่มต้น หยิบกระดาษและปากกา... 

...ค่อย ๆ วาดระบายความรู้สึก...  

Image