ทีมผู้ก่อตั้ง Pet SOULciety ทั้งสามคน นั่งวางแผนการดูแลชีวิตของสัตว์เลี้ยงผ่าน Pet Friendship สมุดฝากรักสัตว์เลี้ยง และวาดฝันถึงภาพของโลกในอุดมคติที่เป็นมิตรต่อสัตว์
ขอให้คุณโอบกอดเมื่อ
แมวป่วย แก่ ตาย
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่อง : ณิชมน ทุมมา
ภาพ : ลลิภัทร แสนแทน
เมื่อมนุษย์รับรู้ว่าแท้จริงแล้วบนโลกอันกว้างใหญ่นี้ไม่ได้มีเพียง “มนุษย์”
ที่ต้องการความรักและความเมตตา
ทำไม “มนุษย์”
จึงโอบกอด “แมว”
“เพียงยอมรับสิ่งที่เขาเป็น นั้นคือเรารักตัวตนและศักดิ์ศรีความเป็นสัตว์ในตัวเขาแล้ว”
สำหรับกอเตย-ปิญชาดา ผ่องนพคุณ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Pet SOULciety ชุมชนผู้สนับสนุนการดูแลสัตว์เลี้ยง นับจากวันที่หมาแสนรักของเธอวิ่งออกไปโดนรถชน แต่เจ้าตูบยังรวบรวมพลังเฮือกสุดท้ายเดินกลับมาตายในอ้อมแขนของเธอ ตั้งแต่วันนั้นเธอก็ไม่เปิดใจให้สัตว์เลี้ยงตัวไหนอีกเลย
แต่จากประสบการณ์การทำงานออกแบบวางแผนการอยู่ดีตายดีในมนุษย์ มีสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความงดงามในจิตใจของผู้ร่วมออกแบบ ทำให้เธอได้สัมผัสถึง “ความห่วงใย” ที่มีต่อทุกสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตของเขา เริ่มตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน ลูกหลาน หรือแม้แต่ “สัตว์เลี้ยง”
เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเต็มเปี่ยมความหวังว่า ชีวิตที่งดงามและมีความหมายนั้นคือการเกื้อกูลและส่งต่อความรักความเมตตาให้แก่ชีวิตอื่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงจึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกันกับจุ๊บ-ฐิฏา หาญฤทธิวงษ์ ศิลปินดอกไม้ทับ ผู้เคยมีประสบการณ์การดูแลแบบประคับประคองสัตว์เลี้ยงของตนเอง และปลา-ธนันปภัสร์ ทิพย์รักษ์ Creative Director ผู้หันกลับมาเผชิญหน้ากับความเสียใจ เมื่อวันหนึ่งแมวที่เคยเลี้ยงแบบระบบเปิดเดินหายจากบ้านอย่างไม่รู้ชะตากรรม
บ้านพักพิงของเหล่าแมวจร “Catster by Kingdom of Tigers” คาเฟ่ที่เปิดโอกาสให้เหล่าแมวเหมียวขี้อ้อนไร้เจ้าของทุกตัวมีบ้าน กินอิ่ม นอนอุ่น
Pet SOULciety ชุมชนผู้สนับสนุนการดูแลสัตว์เลี้ยงพื้นที่ปลอดภัยที่เชื่อมโยงหัวใจของคนและสัตว์เลี้ยงเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจสัตว์เลี้ยง ทั้งร่างกาย สุขภาวะ จิตใจ จนถึงจิตวิญญาณ ผ่านการบรรยายในหลักสูตรวิชาแมวศาสตร์และวิชาหมาศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญ มีสัตวแพทย์ด้านอายุรศาสตร์ พฤติกรรม สัตว์เลี้ยง การดูแลประคับประคอง เป็นต้น รวมถึงการเปิดพื้นที่ชวนคนมาร่วมใคร่ครวญ ทบทวนความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังมี Pet Friendship สมุดฝากรักสัตว์เลี้ยง ให้เจ้าของแสดงเจตจำนงเพื่อเตรียมความพร้อมให้สัตว์เลี้ยงในวันที่เจ้าของจากไป
กอเตยเล่าว่าจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับสัตว์เลี้ยง ทำให้มองเห็นความเมตตาและความห่วงใยของผู้คนที่มาร่วมพูดคุย เกิดการตั้งคำถามว่าในขณะที่มนุษย์ออกแบบการอยู่ดีตายดีของตนเองได้ แล้วในมิติของสัตว์เลี้ยงควรเป็นอย่างไร ในความเห็นส่วนตัวเธอคิดว่าการออกแบบการอยู่ดีตายดีแทนสัตว์เลี้ยงที่รักนั้นขึ้นอยู่กับว่า “เราให้คุณค่าสัตว์เลี้ยงอย่างไร”
น้ำเสียงที่นุ่มนวลแฝงความจริงจังของเธอทำให้ฉันหวนนึกถึงเรื่องราวในความทรงจำ ตั้งแต่จำความได้ฉันได้รับการสอนว่าไม่ควรอยู่ใกล้ “แมว” เพราะฉันแพ้ขนแมว แต่ความจริงคือด้วยวิถีชนบทที่ให้คุณค่าหรือความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์เพียงเพื่อใช้ประโยชน์มากกว่าเพื่อความรักละแวกบ้านที่ต่างปลูกทุเรียนหรือผลไม้นานาชนิดเพื่อเลี้ยงชีพส่งผลให้ผู้คนในหมู่บ้านต่างเลี้ยงหมาเพื่อใช้เฝ้าสวน ชีวิตในวัยเด็กของฉันจึงผูกพันกับหมามากกว่าแมว
หลังจากสูญเสียหมาตัวสุดท้ายของบ้าน ไม่กี่เดือนต่อมาแมวส้มก็เข้ามาแทนที่เพื่อให้ครอบครัวของเราเดินหน้าต่อไป ถึงแม้จะตระหนักลึก ๆ ในหัวใจว่า วันหนึ่งเจ้าสมาชิกใหม่ของบ้านจะต้องเดินจากบ้านเราไป
เมื่อมี “แมว”
แมวเข้ามาสู่บ้านตรงกับช่วงเวลาที่ฉันเริ่มออกไปเสาะแสวงหาความหมายชีวิต ฉันจึงไม่ผูกพันกับเจ้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แมว” มากนัก ถึงกระนั้นก็อดไม่ได้ที่จะถามหาหรือกดหัวใจให้มันอย่างลับ ๆ แต่ที่เห็นได้ชัดคือการเลี้ยงแมวของคนในบ้านแตกต่างจากที่เคยเลี้ยงหมามาก่อน จนฉันหลงคิดว่าหรือแท้จริงแล้วแมวมีพลังวิเศษ
พออายุ ๒๐ ปี ฉันมีโอกาสออกเดินทางด้วยตัวเองครั้งแรก หลังเดินทางทั้งวันทั้งคืนจากศรีสะเกษดินแดนบ้านเกิดมาสู่หน้าประตูบ้านสองชั้นหลังหนึ่งย่านแฮปปี้-แลนด์ในเมืองหลวง เมื่อกดกริ่งหน้าประตูบ้านก็ได้ยินเสียงขานตอบ ก่อนหญิงสาววัยกลางคนเดินออกมาต้อนรับด้วยท่าทางสบาย ๆ พร้อมรอยยิ้ม ฉันถือวิสาสะเรียกเธอว่า “พี่วี”
วี-อโณทัย องกิตติกุล ขณะสร้างสรรค์ ภาพวาดเหล่าแมวเหมียว มีเฮงเฮง แมวส้มแสนซนมาป่วนตอนทำงาน
ปลอกคอสีแดงสลักชื่อคุกกี้บนแผ่นโลหะสีเงินรูปปลาเป็นของต่างหน้าเพียงชิ้นเดียวที่วีเลือกเก็บไว้ดูยามคิดถึงแมวที่เคยเลี้ยง
วี หรือ อโณทัย องกิตติกุล นักวาดภาพประกอบอิสระวัย ๔๓ ปี เจ้าของเพจ Cookie and the gang ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการเลี้ยงแมวนับสิบชีวิตที่ไม่ได้คิดครองโลกมากกว่าครองใจเจ้าบ้านและหัวใจเหล่าแฟนคลับ
ฉันได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก “เก้าเก้า” หนึ่งในแมวตัวเอกประจำบ้านพี่วี ในบ้านประดับประดาด้วยข้าวของที่เกี่ยวกับแมว ตุ๊กตาไหมพรมรูปแมว รูปวาดที่ทำให้บรรยากาศอบอวลด้วยกลิ่นอายความทรงจำที่มีร่วมกัน บ่งบอกว่าคนในบ้านหลังนี้รักและผูกพันกับแมวมากแค่ไหน
เรานั่งคุยกันในห้องทำงานที่เต็มไปด้วยความทรงจำมากมาย ทั้งอุปกรณ์วาดภาพ หนังสือเต็มชั้น และสิ่งของหลากหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับ “แมว” วางเรียงรายพร้อมกับรูปวาด “คุกกี้” แมวแสนรักที่เธอบรรจงวาดขึ้น
“ทั้งชีวิตพี่เหมือนมี ‘แมว’ เข้ามาพัวพันตลอดเลย” วีย้อนความ
ตั้งแต่เด็ก ๆ ทางบ้านของวีมักให้ข้าวแมวจรที่ผ่านไปมาเสมอ เมื่อหญิงสาวเติบโตขึ้น มีงานทำ เธอถึงได้เลี้ยงแมวจรที่เข้ามาในชีวิตช่วงนั้น “กุ๊งกิ๊ง” ถือเป็นแมวตัวแรกที่เธอและครอบครัวศึกษาวิธีเลี้ยงจากอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง ทั้งซื้อข้าวของให้ พาไปหาหมอรับวัคซีนเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตน้องดีขึ้น
“ทุกอย่างดูเหมือนราบรื่นจนกระทั่งแจ็กพอต ! หมอตรวจพบว่ากุ๊งกิ๊งเป็น ‘ลิวคีเมีย’”
เธอจึงเริ่มเรียนรู้สิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือความหมายของ “ชีวิต”
เมื่อย้อนกลับมาอ่านหนังสือที่เคยบันทึกเรื่องแมวของตนไว้ วีก็ระเบิดน้ำตาพร้อมรอยยิ้มให้ความทรงจำ
การดูแลแมวแบบประคับประคองที่บ้าน เจ้าของแมวต้องเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม และสภาพจิตใจ
เมื่อแมวป่วย แก่ ตาย
แมวมีอายุขัยเฉลี่ย ๑๒-๑๕ ปี หากเทียบกับอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ ๖๐-๗๐ ปีนั้นนับเป็นช่วงเวลาแสนสั้นที่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันกับแมว ต้องผ่านช่วงเวลา “ป่วย” “แก่” และ “ตาย” หรือเมื่อ “วันกลับดาว” มาถึง
หลังจากวีรับรู้ว่ากุ๊งกิ๊งเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย) แถมโรคแทรกซ้อนคือมีน้ำในช่องอก แมวแสนรักก็แสดงอาการป่วยรุนแรง เพียงแค่ ๓ วันต่อมากุ๊งกิ๊งก็จากไป “พี่ถึงเข้าใจ ทำไมคนถึงร้องไห้เวลาที่หมาแมวจากไป ฟูมฟายหนักยิ่งกว่าตอนอกหักอีก”
ในตอนนั้นเธอบอกตัวเองว่า “ไม่เลี้ยง (แมว) อีกแล้ว”
จนกระทั่งวันหนึ่งแมวที่คนในหมู่บ้านเลี้ยงแบบปล่อยคลอดลูกแล้วก็คาบลูกไปบ้านนั้นบ้านนี้ เพื่อนบ้านหลังหนึ่งจึงจับลูกแมวรวมใส่ในกะละมังแล้วนำมาให้เจ้าของ แต่เจ้าของแมวกลับนำมาให้เธอ “งั้นเอาหมดกะละมังนั่นแหละ” วีรับเลี้ยงแมวห้าตัวนั้น แต่เพราะในบ้านมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยจึงต้องเลี้ยงในโรงรถ ทำให้ไม่นานนักก็มีตัวหนึ่งหายไป
วีตั้งชื่อลูกแมวลายสลิดทั้งสี่ตัวที่เหลืออยู่ว่า คุกกี้ หมีหมี บัตเตอร์ ไอซิ่ง
ครอบครัวใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตเธอนั้นป่วยด้วยโรคร้ายทุกตัว โดยได้รับพันธุกรรมจากแม่ที่เป็นลิวคีเมีย เชื้อไวรัสลิวคีเมียผ่านจากแม่แมวสู่ลูกแมวในขณะตั้งท้องได้ แถมยังติดต่อจากแมวสู่แมวด้วยกันผ่านสารคัดหลั่ง ตั้งแต่น้ำลาย ปัสสาวะ น้ำตา หรืออุจจาระด้วย
แมวที่จากไปก่อนคือไอซิ่ง เจ้าแมวขี้กลัว เธอยังจำได้ดีว่าน้องกลัวแม้แต่เจ้าของ
วีเล่าต่อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อยว่า “ลิวคีเมียเหมือนกับระเบิดเวลา” หมอบอกเธอว่าโรคนี้ทำให้แมวอยู่ได้นานสุดคือ ๔ ปี
การมีแมวทั้งหมดเป็นลิวคีเมียส่งผลต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ทาสแมวให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เธอต้องจัดการเลี้ยงแยกห้อง ทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ และได้ค้นพบว่า “แมวทำให้พี่ได้จัดการชีวิตตัวเองเป็นระบบมากยิ่งขึ้น”
เมื่อวันที่ระเบิดเวลาลูกแรกทำงาน “หมีหมี” เริ่มหายใจลำบาก หอบง่าย โดยตรวจพบว่ามีน้ำในช่องอกในที่สุดหมีหมีก็จากไป
หมีหมีทำให้วีได้เห็นและสัมผัสกับความตายอย่างใกล้ชิด เมื่อการจากลาใกล้มาถึงเธอเปิดบทสวดให้น้องฟัง “มีจังหวะหนึ่งที่น้องกระตุกเหมือนหมดลมหายใจเฮือกสุดท้ายแล้วจากไปอย่างสงบในอ้อมกอดเรา พี่จึงได้เห็นว่า ‘ความตาย’ เป็นแบบนี้เอง”
แต่การรับมือกับความสูญเสียยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธออยู่ดี
สัตวแพทย์เป็นความหวังและกำลังใจสำคัญช่วยประคับประคองจิตใจเจ้าของสัตว์เลี้ยงป่วยให้ร่วมสู้ไปด้วยกัน
หมอตอย สัตวแพทย์หญิงมาฆะศิริ ศมานุกร โรงพยาบาลสัตว์เวทแคร์ ผู้รับรักษาสัตว์เลี้ยงป่วยระยะสุดท้ายด้วยใจ
ระหว่างที่ดูแลเหล่าแมวลิวคีเมีย เพื่อนที่เป็นบรรณาธิการชวนวีให้ทำหนังสือและวาดภาพประกอบเล่าเรื่องการเลี้ยงแมวของเธอ นั่นจึงเป็นที่มาของ Cat me if you can จับแมวสองมือ วางจำหน่ายในปี ๒๕๕๖
วียังเก็บปลอกคอแมวที่เคยเป็นนางเอกประจำบ้านไว้แทนความคิดถึง เธอหยิบหนังสือที่เธอวาดภาพตัวแมว อันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาเปิดพร้อมกับพูดด้วยรอยยิ้ม “ถ้าไม่มีแมวมาอยู่ในชีวิต ทั้งชีวิตนี้พี่คงไม่มีทางวาดแมวเป็น”
เพจ Cookie and the gang เกิดขึ้นเพื่อหนุนเสริม หนังสือ Cat me if you can จับแมวสองมือ เรื่องราวในเล่มเกี่ยวข้องกับ “คุกกี้” แมวลายสลิดสาว ตัวละครหลักที่นำพาฉันกับวีมาพบเจอกันในวันนี้ โดยมีความน่ารักของเหล่าแมวพี่น้อง หมีหมีและบัตเตอร์ รวมอยู่ด้วย
เรื่องราวในหนังสือดำเนินไปด้วยความสุขตั้งแต่เริ่ม จนกระทั่งถึงหน้าท้าย ๆ ภาพการ์ตูนสี่ช่องบอกเล่าถึงความอาลัยอาวรณ์เมื่อวันหนึ่งในพื้นที่ที่เคยใช้ชีวิตประจำวันอยู่ด้วยกันไร้ซึ่งเจ้าสี่ขา มุมที่แมวชอบนอนเล่นเหลือเพียงชามข้าว ของเล่น ไม่มีเจ้าเหมียวอยู่อีกต่อไป ภาพนี้บันทึกช่วงเวลาที่ทำหนังสือเล่มแรกใกล้เสร็จพร้อม ๆ กับการจากไปของหมีหมี เปิดหนังสือมาถึงหน้านี้ทีไรเธอก็ยังรู้สึกใจหายทุกที
หลังจากนั้นไม่นานระเบิดเวลาของบัตเตอร์ก็เริ่มทำงาน อาการของบัตเตอร์รุนแรงกว่าพี่น้องเพราะมีโรคแทรกซ้อนคือ FIP (โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว) แล้วบัตเตอร์ก็จากไปอีกตัว
“ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว พี่หันไปคุยกับคุกกี้ทั้งน้ำตาว่า อย่าเพิ่งเป็นอะไรนะ อยู่ด้วยกันก่อน”
คุกกี้เป็นแมวตัวโปรดของวี มีชีวิตอยู่ด้วยกันนานที่สุดในบรรดาพี่น้องแมว เมื่อเล่าถึงแมวแสนรักเธอกำปลอกคอของคุกกี้แน่นก่อนหลั่งน้ำตาด้วยความคิดถึง “พี่รู้ดีว่ายังไงคุกกี้ก็ไม่รอด แต่พี่โชคดีนะที่มีหมอเข้าอกเข้าใจให้คำแนะนำเคียงข้าง” เธอตัดสินใจพาคุกกี้กลับมารักษาตัวที่บ้านและใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกัน
“ภาพการสูญเสียแมวหลาย ๆ ตัวยังคงติดอยู่ในหัวใจเสมอ เรารู้แล้วว่าความตายเป็นอย่างไร”
ในวาระสุดท้าย คุกกี้กระโดดขึ้นมาซุกใต้ผ้าห่มที่วีนอนอยู่แล้วชักกระตุก แรงสั่นสะเทือนทำให้วีตื่นขึ้นมา เธอบอกลาว่า “ขอบคุณสำหรับทุกอย่างนะคุกกี้” วีตัดสินใจจัดงานศพให้คุกกี้ ทำบุญ ถวายสังฆทาน เผาร่างและข้าวของของน้องไปพร้อมกัน จากนั้นนำอัฐิส่วนหนึ่งไปลอยน้ำ อีกส่วนนำไปปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณบ้าน
วีเล่าถึงเหตุการณ์วันลอยอัฐิคุกกี้ว่า “นอกจากครอบครัวพี่ มีคนอื่นมาลอยอัฐิสัตว์เลี้ยงที่เขารักด้วยเช่นกัน เราสัมผัสถึงความรัก ความห่วงใยที่พวกเขามีเหมือนกันกับเรา คือมองสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัวจริง ๆ”
“อยากให้บ้านหลังสุดท้ายของเหล่าแมวจรอยู่ในอ้อมกอดของมนุษย์” ใบหน้าเปื้อนสุขของ นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจทูนหัวของบ่าว และคาเฟ่บ้านพักพิงของเหล่าแมวจร Catster by Kingdom of Tigers ที่ได้รับการปลอบประโลมใจจากพี่หมอน อดีตแมวจร นัชญ์เชื่อว่าทุกชีวิตล้วนต้องการความเมตตาโดยไม่จำเป็นต้องมีรักนำมาก่อน
คุณยายพัน-แม่ของวี ถักโครเชต์เป็นงานอดิเรก จากที่ไม่เคยชอบแมว กลับถูกความน่ารักของเจ้าเหมียวทลายกำแพงหัวใจ แน่นอนว่าช่วงนี้ยังถักตุ๊กตาแมวตัวน้อยอีกด้วย
หลังจาก “แมว” กลับดาว
เคยมีคนถามวีผ่านเพจ Cookie and the gang ว่า “ทำอย่างไรถึงรับมือกับความสูญเสียได้” ในวันที่แมวกลับดาว
ทุกวันนี้เธอก็ยังตอบไม่ได้ แต่การผ่านเรื่องราวของการสูญเสียหลายต่อหลายครั้งทำให้เธอตระหนักว่า “แท้จริงชีวิตเป็นอย่างนี้เอง” เหมือนพบสัจธรรมของชีวิตจากการเลี้ยงแมว
“พี่ได้รู้ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ เข้าใจเรื่องมรณานุสติว่า ‘ทําไมคนเราต้องตาย’ แท้จริงการตายแค่ย้ายเขาจากที่เราเห็นอยู่เข้ามาอยู่ในความทรงจำเราแทน”
การจากไปของครอบครัว “คุกกี้” ไม่ได้ทำให้ชีวิตของวีกับสัตว์เลี้ยงหยุดเพียงแค่นั้น เธอก้าวเดินต่อไปอย่างงดงาม เมื่อชีวิตคือการเปลี่ยนผ่าน เรื่องราวของแมวได้รับการร้อยเรียงอีกครั้งผ่านสมาชิกใหม่ของบ้าน “เฮงเฮง” แมวส้มหนุ่มหล่อที่เข้ามาสู่บ้านก่อนบัตเตอร์และคุกกี้จะจากไป เธอเลี้ยงเฮงเฮงแยกจากแมวตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ
วีหัวเราะก่อนเล่าให้ฟังว่า “เฮงเฮงวิ่งอยู่ในห้องทำงานพี่ แล้วคุกกี้ทำตัวเหมือนนางอิจฉามาส่องดูว่าทำอะไรกัน” เธอพาฉันไปทำความรู้จัก “เฮงเฮง” แมวส้มแสนซนตัวเอกในหนังสือเล่มต่อมา Cat me if you can จับแมวสองมือ ๒ ตอนแมวเฮงเฮง ตีพิมพ์ในปี ๒๕๕๘
ในวันฝนตกหนัก น้องสาวของเธอยืนรอรถเมล์เพื่อจะไปทำงาน ระหว่างนั้นเหลือบเห็นลูกแมวอยู่กลางถนน เลยต้อนมันเข้าริมถนนแล้วโทร. หาเธอให้ออกมารับแมว สภาพของเฮงเฮงคือมอมแมม ตัวเล็กเท่าฝ่ามือ เธอเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่าเหมือนนางงามสันติภาพ
เฮงเฮงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่วีรับแมวจรมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ปัจจุบันสมาชิกแมวในบ้านมีมากถึง ๑๐ ตัว ได้แก่ เฮงเฮง เงินเงิน มีมี ดีดี แปดแปด เก้าเก้า พี่โข่ง สมอลล์ นิ่มนิ่ม และนุ่มนุ่ม เรื่องราวแสนน่ารักยังมีให้เหล่าแฟนคลับได้ติดตามผ่านเฟซบุ๊กเพจ
“วงการแมวเข้าแล้วออกยากนะ ต่อให้บอกว่าไม่อยากเลี้ยง แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งมีแมวมานอนอยู่ตรงหน้าแล้วต้องการความช่วยเหลือ เราก็จะไม่มองข้าม เพราะคิดว่าถ้ามีกำลังดูแลเขาได้ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย อาจเป็น ‘โชคชะตา’ ที่พาเรามาเจอกัน”
“ความรักที่ไม่หวังผลตอบแทน” กลายเป็นพลังให้หญิงสาวผ่านช่วงเวลายากลำบากหลายครั้งที่เกินกำลังมนุษย์ทาสแมวคนหนึ่งจะรับมือไหว ส่งผลให้เธอค้นพบสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ได้เรียนรู้ความธรรมดาที่สุดในชีวิตทั้งของเธอและสัตว์เลี้ยงที่เธอรัก นั่นคือ “ความตาย”
ความตายของสัตว์เลี้ยงที่เธอได้เรียนรู้และสัมผัสทำให้เธอให้ความสำคัญกับช่วงเวลาปัจจุบันที่มีร่วมกันกับเหล่าบรรดาแมวในบ้าน ให้มีความสุขในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้