Image

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากปลาจากปากแม่น้ำจะอพยพขึ้นมาวางไข่ในลำน้ำสาขา

ผลกระทบ พันธุ์ปลา
กับอุโมงค์ผันน้ำยวม

สืบชะตา สาละวิน

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล, เพีียรพร ดีเทศน์

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ระบุชนิดปลาที่สำรวจพบช่วงฤดูร้อนว่ามีปลาแป้นแก้ว ปลาแขยง ปลากระทุงเหว ปลาก้าง ปลานิล ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ฯลฯ  ปลาที่สำรวจพบช่วงฤดูฝนมีปลากดเหลือง ปลาค้อ ปลาสะนาก ปลาหนามหลัง ปลากระดี่หม้อ ฯลฯ  แม้อาจจะไม่ครบทุกชนิดเพราะช่วงเวลาที่ศึกษามีจำกัด แต่ก็แสดงให้เห็นความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำยวม

เมื่อมีการสร้างเขื่อน นิเวศวิทยาทางน้ำของแม่น้ำยวมจะเปลี่ยนจาก “น้ำไหล” เป็น “น้ำนิ่ง” กลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่ลึกและยาวตามแม่น้ำยวมถึง ๒๒ กิโลเมตร คิดเป็นระยะทางมากกว่า ๑ ใน ๑๐ ของแม่น้ำยวมทั้งสาย

วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาโครงการเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมประมงเพื่อหารือเรื่องทรัพยากรประมงและนิเวศวิทยาทางน้ำ หัวข้อสำคัญคือหามาตรการป้องกันความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของปลาและมาตรการป้องกันสัตว์น้ำข้ามลุ่มน้ำ

บริษัทที่ปรึกษาโครงการชี้แจงประเด็นที่ชาวบ้านห่วงกังวลว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้ปลาบริเวณท้ายเขื่อนไม่สามารถว่ายขึ้นสู่แม่น้ำยวมเหนือเขื่อนได้เหมือนเดิม ปลาที่เคยจับได้ในอดีตโดยเฉพาะปลาหายาก เช่น ปลาตูหนา (ปลาสะแงะ) ปลากดหัวเสียม ปลาคม ปลาเวียน จะหายไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของปลา เจ้าของโครงการจึงออกแบบทางปลาผ่านหรือบันไดปลาโจนบริเวณสันเขื่อนเป็นช่องทางพิเศษให้ปลาว่ายขึ้นและลงช่วงเหนือเขื่อนกับท้ายเขื่อนได้

อย่างไรก็ตามด้วยความสูงของสันเขื่อน ทางปลาผ่านของเขื่อนน้ำยวมจะต้องยาวและคดโค้งมาก นอกจากสูญเสียพื้นที่ป่า ในทางปฏิบัติยังไม่ทราบว่าจะมีปลาท้องถิ่นว่ายอพยพได้จริงหรือไม่

ดร. สุพัฒน์ พลชา ตัวแทนของบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงในที่ประชุมว่า จากการสำรวจพบว่าปลาที่พบตลอดทั้งลำน้ำคือกลุ่มปลาตะเพียนและปลาค้อจะไม่ได้รับผลกระทบจากการกั้นเขื่อนน้ำยวม แต่กลุ่มปลาไหล ปลากัด และปลาพลวง อาจได้รับผลกระทบ  รูปแบบของบันไดปลาที่เหมาะสมควรจะให้ปลาอพยพขึ้นและลง  กรณีที่ติดตั้งลิฟต์ปลาก็น่าจะไม่เหมาะสมเพราะไม่ครอบคลุมปลาทุกชนิด  แนวทางแก้ปัญหาควรเพาะพันธุ์ปลาบางชนิดเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำโดยใช้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำยวม

Image

กุ้งสาละวินอาศัยอยู่ในโพรงหรือรูริมตลิ่ง พบทั่วไปในลุ่มน้ำสาละวิน 
ภาพ : เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน

Image

การผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอาจก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศของทั้งสองลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการปนเปื้อนพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งปลากินพืชและปลากินเนื้อต่างถิ่น

เขื่อนยังทำให้พื้นท้องน้ำเปลี่ยนสภาพ จากเดิมเป็นทรายปนเลน บางช่วงเป็นก้อนหิน มีสัตว์หน้าดินและตัวอ่อนของแมลงอยู่อาศัย ปลาที่พบเป็นปลาที่ชอบกินตัวอ่อนแมลง ตะไคร่น้ำ และเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามน้ำไหล การสร้างเขื่อนทำให้น้ำนิ่ง ตกตะกอน ท้องน้ำเปลี่ยน สภาพแหล่งอาหารเปลี่ยน กระทบเป็นลูกโซ่ต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

บุญส่ง ศรีเจริญธรรม
 ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง กรมประมง ให้ข้อเสนอแนะว่า เมื่อระบบนิเวศตอนกลางเปลี่ยน กลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความลึกและน้ำนิ่ง กลุ่มปลาน้ำไหล ปลาเดินทาง และปลาที่อยู่กับกระแสน้ำทั้งหมดจะขยับประชากรขึ้นไปทางตอนบน  แม้ว่าจะเพาะพันธุ์ปลาเหล่านี้ก็ไม่สามารถปล่อยลงในอ่างเก็บน้ำยวมได้เพราะแหล่งอาศัยไม่เหมาะสม  กรณีปลาพลวงคงไม่มีปัญหาเท่าไร เพราะไม่ใช่ปลาน้ำนิ่ง  เมื่อมีอ่างเก็บน้ำ ปลาพลวงก็ขยับขึ้นไปอาศัยบริเวณต้นน้ำ และจะไม่ว่ายลงมาด้านล่าง เพราะมีอ่างเก็บน้ำที่มีสภาพเป็นน้ำนิ่งขวางกั้นอยู่ยาวถึง ๒๒ กิโลเมตร

แต่สำหรับปลาบางชนิด เช่น ปลาตูหนา (ปลาสะแงะ) ที่ต้องลงไปวางไข่ในทะเลแล้วเดินทางกลับขึ้นมาเติบโตในน้ำจืด ยังอธิบายได้ยากว่าแนวทางแก้ปัญหาจะทำอย่างไร โดยทั่วไปแล้วปลาจากลุ่มน้ำสาละวินตอนล่างตั้งแต่สบเมยเรื่อยไปถึงสบยวมจะขึ้นมาหากินและวางไข่ในลุ่มน้ำสาละวินตอนกลางและตอนบน คือบริเวณแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา รวมทั้งลำน้ำสาขาอื่น ๆ ในลุ่มน้ำสาละวินสองช่วงเวลา คือ ๑. มิถุนายน-กรกฎาคม เมื่อระดับน้ำเริ่มเพิ่มสูง ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นมา และ ๒. ธันวาคม-มกราคม เมื่อระดับน้ำเริ่มลด ปลาจะว่ายตามน้ำกลับลงไป

ในกรณีปลาตูหนา (ปลาสะแงะ) คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อน บุญส่งคาดว่าปลาตูหนา (ปลาสะแงะ) จะไม่สูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย หรือแม่น้ำยวมช่วงท้ายเขื่อน แต่ด้านเหนือเขื่อนประชากรปลาตูหนา (ปลาสะแงะ) จะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถว่ายอพยพขึ้นและลงตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็อาจสูญพันธุ์ไปจากบริเวณเหนือเขื่อน

Image

แม่ค้าขายปลาในเมืองมะละแหม่ง ปากแม่น้ำสาละวินในรัฐมอญ ความหลากหลายของพันธุ์ปลาเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของท้องถิ่น

(ร่าง) รายงานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานด้านทรัพยากรประมงและนิเวศวิทยาทางน้ำตามข้อเสนอของคณะกรรมการผู้ชำนาญการการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ถูกบันทึกไว้ในรายงานชี้แจงเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เล่มที่ ๒/๒) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร พฤษภาคม ๒๕๖๔ ระบุว่า “การสร้างทางผ่านปลาจะสามารถแก้ไขปัญหาปลาได้กี่ชนิดต้องพิจารณา และไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้หมด เขื่อนมีความสูงเกือบ ๗๐ เมตร การที่จะหาทางปลาผ่านที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ นั้นยากมาก  ปลาตูหนาต้องลงไปวางไข่ในทะเล การตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลาบริเวณเขื่อนน้ำยวมก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะไม่สามารถขนน้ำเค็มขึ้นมาเพื่อเพาะพันธุ์  เป็นปัญหาด้านเทคนิคจริง ๆ สำหรับความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจหายไป”

นอกจากผลกระทบต่อชนิดพันธุ์และปริมาณปลา นักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ติดตามโครงการอุโมงค์ผันน้ำยังห่วงกังวลเรื่องการปนเปื้อนของชนิดพันธุ์ปลาจากลุ่มน้ำหนึ่งสู่ลุ่มน้ำหนึ่ง 

ถ้าอัตราการสูบน้ำประมาณ ๑๘๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ความเร็วของน้ำ ๓.๔ เมตรต่อวินาที ระยะเวลาของน้ำที่เคลื่อนที่จากปากอุโมงค์ถึงปลายอุโมงค์จะใช้เวลา ๘-๑๓ ชั่วโมง ด้วยระยะเวลาขนาดนี้ปริมาณออกซิเจนในน้ำจะยังคงมีหลงเหลือ เป็นไปได้ว่าปลาที่ถูกสูบเข้าสู่อุโมงค์จะไปโผล่อีกลุ่มน้ำหนึ่ง

Image
Image

ปลาแค้สาละวิน (Bagarius sp. “Salween”) พบได้ไม่ยากนักในลุ่มน้ำสาละวิน
ปลายะคุย (Gagata dolichonema) อาศัยบริเวณน้ำไหลแรง พื้นทรายหรือโคลน มีออกซิเจนในน้ำสูง

Image

ปลาคม (Tor putitora) หรือปลาเวียนยักษ์ ปลาเวียนหิมาลัย โตเต็มที่ยาวถึง ๒๗๕
เซนติเมตร

จากการเก็บข้อมูลเฉพาะเขตไทยพบพันธุ์ปลากว่า ๑๙๐ ชนิด ทั้งลุ่มน้ำสาละวินคาดว่ามีมากถึง ๒๐๐-๓๐๐ ชนิด ซึ่งมีเพียงไม่เกิน ๑๐ ชนิดที่พบในลุ่มน้ำปิงที่เป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาเค้าขาว  ปลาจากสองลุ่มน้ำมีลักษณะของพันธุกรรมแยกกันชัดเจน  ปลาที่หลุดรอดข้ามลุ่มน้ำอาจกลายเป็นสัตว์ผู้ล่า กินปลาชนิดอื่นขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเอเลียนสปีชีส์ (alien species) หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งในช่วงแรก ๆ น่าจะยังไม่มีสัตว์ผู้ล่าปลาชนิดนี้เพราะยังไม่เคยมีมาก่อน

บุญส่งให้ความเห็นว่า “สำหรับเรื่องปลาข้ามลุ่มน้ำเป็นเรื่องอ่อนไหวและเป็นเรื่องใหญ่ วิธีการที่โครงการเสนอเป็นเรื่องใหม่สำหรับกรมประมง แต่ก็กำลังดูข้อมูลเชิงระบบนิเวศและเชิงสถานที่... ในประเด็นเชิงชีววิทยา ปลาแต่ละชนิดหากินคนละเวลา ถ้าที่ปรึกษาชี้ได้ว่าปลาที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ หากินกลางวัน ก็สามารถเปลี่ยนเวลาสูบน้ำไปอีกเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาเหล่านั้นไม่ได้กระจาย”