หมู่บ้านและผืนป่าตามแนวอุโมงค์ผันน้ำจะกลายเป็นจุดวางกองดินกองหินที่ถูกขุดขึ้นมา พื้นที่รวมกัน ๔๔๑.๑๕ ไร่
กองดินที่อมก๋อย
สืบชะตา สาละวิน
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
“เส้นผ่านศูนย์กลางของอุโมงค์กว้าง ๘ เมตร มากพอที่รถบรรทุกขนาดใหญ่สองคันแล่นสวนกันได้ ความยาวของอุโมงค์ตลอดทั้งแนวมากกว่า ๖๐ กิโลเมตร จะมีกองดินสูงเป็นภูเขาเลากาสักแค่ไหน” คำถามของ จินดารัตน์ รำไพพนม กระทบใจหลายคน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ตามแนวอุโมงค์ผันน้ำ
แผนที่แสดงระบบอุโมงค์ส่งน้ำทะลุผืนป่ารอยต่อสามจังหวัด และพื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ รวม ๖ จุด
ดินและหินที่ถูกขุดขึ้นมาจะนำไปทิ้งที่ไหน ? จะเคลื่อนย้ายต่ออย่างไร ?
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ประเมินว่า กองดิน กองหิน วัสดุต่าง ๆ ที่ถูกขุดขึ้นมาจากข้างล่างจะมีปริมาตรรวมกันมากกว่า ๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องใช้พื้นที่วางกองดินมากถึง ๔๔๑.๑๕ ไร่
ตำแหน่งของกองดินถูกกำหนดให้ตั้งอยู่ใกล้ร่องเขา ห่างจากชุมชน ลำน้ำ และมีทางระบายน้ำออก เฉลี่ยแล้วมีกองดิน ๑ จุด ทุกระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร รวม ๖ จุด ได้แก่พื้นที่
๑. บ้านแม่สวดใหม่ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๔๔.๘๘ ไร่
๒. บ้านผีปานใต้ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ๗๗.๗๔ ไร่
๓. ไม่ระบุชื่อหมู่บ้านในตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดกองดิน ๒ แห่ง รวมกัน ๓๒.๔๙ ไร่
๔. บ้านหนองอึ่งเหนือ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ๗๙.๓๔ ไร่
๕. บ้านตุงลอย ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ๑๐๐.๘๐ ไร่
๖. ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ๑๐๙.๓๐ ไร่
นอกจากทำไร่หมุนเวียน ชาวปกาเกอะญอยังเก็บหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ บุก ใบตองตึง จับปลาในลำธาร ใช้ไม้ไผ่ในงานจักสานและสร้างกระท่อม
จุดวางกองดินสี่จากหกจุดอยู่ในอำเภออมก๋อย เป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง หรือที่คนภาคกลางเรียกว่าชาวเขา
ทุกวันนี้พื้นที่เกือบทั้งหมดคือราว ๙๙ เปอร์เซ็นต์ของอำเภออมก๋อยถูกประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน แต่อำเภอเทือกเขาสูงและผืนป่าแห่งนี้กลับถูกประกาศเป็นสถานที่หลักสำหรับทิ้งกองดิน
จินดารัตน์จากบ้านผีปานใต้เล่าว่า หมู่บ้านของเธอเป็นหนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ในแนวอุโมงค์ผันน้ำและถูกกำหนดให้เป็นจุดวางกองดิน
“หมู่บ้านของเราแต่ละครอบครัวทำไร่หมุนเวียนเป็นอาชีพหลัก ทุ่งนาธรรมดาแทบไม่มีเพราะพื้นที่ลาดชัน เราถึงเป็นห่วงว่าโครงการจะกระทบป่าไม้ ทำไมกฎหมายบอกว่าห้ามทำลายป่า ห้ามบุกรุกแผ้วทาง แต่กลับอนุญาตให้ทำโครงการใหญ่ ๆ อย่างนี้”
บ้านแม่สอใต้ ตำบลนาเกียน เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ขนาด ๒๓ ครัวเรือน ตั้งอยู่ในป่าห่างจากตัวอำเภออมก๋อยประมาณ ๔ ชั่วโมง เอกชัย จามรจารุเดช เดินอยู่บนแปลงเกษตรริมลำห้วยแม่เลาะ ที่ราบริมลำห้วยเป็นที่ทำกินของคนกะเหรี่ยงสามหมู่บ้านที่กำลังปรับสภาพพื้นที่เตรียมปลูกข้าวและพืชผัก
บ้านแม่สอใต้ถูกกำหนดจุดวางกองดิน จากการสำรวจรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำพบว่าชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินตั้งแต่ ๖-๑๑.๕ ไร่
จุดที่ใช้วางกองดินมากที่สุดอยู่ในอำเภออมก๋อย กองใหญ่ที่สุดอาจเป็นบ้านแม่สอใต้กับบ้านผีปานใต้ หมู่บ้านอื่น ๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น บ้านหนองอึ่งเหนือ บ้านตุงลอย จากการสำรวจรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบพบว่ามีชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินตั้งแต่ ๖-๑๑.๕ ไร่
บนนาข้าวที่ชาวบ้านกำลังขุดตอซังอันเหี่ยวแห้งเตรียมปลูกข้าวครั้งใหม่ เอกชัยแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการอย่างเห็นได้ชัด
“เขาไม่ได้ลงรายละเอียด แค่บอกว่าจะถมที่ ถ้าเจ้าของไม่มาก็จะเอาไปฟรี ๆ ถ้าไม่แสดงตัวจะไม่มีค่าชดเชยให้”
เอกชัยเล่าว่าหลายเดือนก่อนเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจเสาไฟฟ้าแรงสูง ครั้งที่ ๒ ตั้งใจมาดูที่นา “มีคนถามว่าจะชดเชยเท่าไรก็บอกว่าตอบไม่ได้ แล้วก็พูดว่าถ้ามีโครงการจะมีงานให้ชาวบ้านทำ ให้เงินวันละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ถึงวันนี้เราห่วงเรื่องอนาคต กลัวผลกระทบที่ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรบ้าง แล้วคนรุ่นหลังจะอยู่กันอย่างไร”
หลายหมู่บ้านในตำบลนาเกียน ตำบลอมก๋อย ของอำเภออมก๋อยไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านต้องพึ่งพาพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์
“ทุกครั้งเวลาเราถามเรื่องไฟฟ้า เจ้าหน้าที่จะบอกว่าเราเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในป่าติดขัดข้อกฎหมาย มีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหลาย ไม่ว่าไฟฟ้า น้ำประปา หรือแม้แต่ถนนเข้าหมู่บ้าน แต่มาวันนี้จะมีถนนตัดเข้ามาถึงพื้นที่หัวงานก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ และหมู่บ้านของเราจะมีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน”
ทุกครั้งที่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ มักมีคำพูดว่าคนส่วนหนึ่งต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ แล้วคนส่วนใหญ่ได้เสียสละอะไรแล้วบ้างหรือยัง
“คนบนดอยต้องเสียสละเพื่อให้คนภาคกลางมีน้ำกินน้ำใช้ คำพูดนี้แทงใจมาก คุณควรบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ พวกเราช่วยกันทำแนวกันไฟป่าทุกปี มีพิธีกรรมรักษาป่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น สะดือป่า สุสานบรรพบุรุษ ป่าจิตวิญญาณ ดูแลรักษาต้นน้ำลำธารตามประสาคนที่ต้องพึ่งพาน้ำ ถ้าไม่มีโครงการผันน้ำ คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะอยู่กันไม่ได้หรือ”