“อย่าเชื่อความคิด”
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
คุณเคยฝันร้ายจนตื่นขึ้นมานั่งตัวสั่นเทาไหม ในความฝันมันเหมือนจริงมาก แต่เมื่อรู้ว่าฝัน ความกลัวก็บรรเทาลง
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ แห่งวัดป่าสุคะโตผู้ล่วงลับบอกว่า ความคิดเหมือนนักเล่นกลที่ทำให้เราเชื่อว่าเป็นความจริง แม้ใจคิดแย้ง แต่สุดท้ายก็หลงเชื่อ เหมือนความฝันที่ทำให้เราหลงเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง เรารู้ว่าฝันเมื่อตื่น แต่ความคิดเกิดขึ้นตอนเราตื่น และจะไม่หายไปไหน
ในหนังสือ อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณคิด : Don’t Believe Everything You Think เขียนโดย โจเซฟ เหงียน บอกว่า ความคิดคือรากของความทุกข์ พวกเรามีชีวิตอยู่ผ่านมุมมองของเราเอง ซึ่งแตกต่างจากคนรอบข้างเรา ขณะนั่งอยู่ในร้านกาแฟเดียวกัน ดื่มกาแฟชนิดเดียวกัน คนคนหนึ่งกำลังคิดว่าตัวเองอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่คนข้าง ๆ กลับดื่มด่ำกับกาแฟสด ดังนั้นชีวิตเราจะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับความคิดนี้เอง
ความคิดมีอิทธิพลต่อจิตใจ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าความคิดเป็นความจริง จนบางคนพร้อมสละทรัพย์สินเงินทอง เวลา หรือชีวิตเพื่อทำตามความคิดนั้นแต่นักจิตวิทยาและนักการศาสนาล้วนพูดตรงกันว่า “อย่าเชื่อความคิด” เพราะเป็นเพียง “มุมมอง” หรือ “ทัศนคติ” ที่เรามีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นเราจึงมักถูกความคิดเล่นงาน โดยลืมไปว่าความคิดเกิดขึ้นวันละนับหมื่นครั้ง และที่สำคัญธรรมชาติจิตใจมนุษย์มักคิดลบ งานวิจัยขนาดใหญ่ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) สหรัฐอเมริกา พบว่าคนทั่วไปคิดวันละประมาณ ๒.๔-๖ หมื่นครั้ง หรือ ๔๐ ครั้งต่อนาที โดย “คิดซ้ำ” ร้อยละ ๙๕ และคิดลบร้อยละ ๗๕
ในเชิงจิตวิทยาอธิบายว่า เรารับมรดกการคิดลบมาตั้งแต่บรรพบุรุษยุคหินที่ออกไปล่าสัตว์เป็นอาหาร ต้องระแวดระวังภัยรอบตัว แต่ปัจจุบันการคิดลบมักสร้างปัญหาหรือความทุกข์มากกว่า เพราะอาจทำให้เราฆ่าคนได้ คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้ายเรา หรือทำร้ายตัวเอง เนื่องด้วยความคิดลบทำให้เครียด โกรธ เกลียด หรือเศร้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม นักกีฬาว่ายน้ำที่ประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาตช่วงล่างในวัย ๒๐ ต้น ๆ กล่าวใน “รับมือกับความเครียด ความคิดฟุ้งซ่าน” ทางยูทูบว่า ความคิดเป็นกรงขังจิตใจที่แข็งแรงกว่าคุกใด ๆ หลังประสบอุบัติเหตุเขาอยู่ในกรงขังความคิดและความเหงานาน ๑๖ ปี จนเมื่อได้ฝึกความรู้สึกตัว จึงปลุกตัวเองให้ไม่ตกเป็นเหยื่อความคิด ดังนั้นชีวิตช่วง ๓๐ ปีท้ายจึงมีความสุขสงบ เพราะเป็นอิสระจากความคิด
เขาบอกว่าความคิดมีพลัง เพราะผลักดันให้เกิดการพูดและการกระทำ ดังนั้นวิธีคิดคือผู้ทำให้ชีวิตสุขหรือทุกข์ ถ้าคิดดี ความสุขจะมาโดยง่าย ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เช่น มองโลกอย่างเบิกบาน มองโลกในแง่ดี มองว่าปัญหาคือการเรียนรู้ หยุดคิดสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
การอยู่ในภาวะไม่มีความคิดจะทำให้เรานิ่งสงบ ทำสิ่งใดก็ได้ประสิทธิผลสูงสุด ดังเช่นนักกีฬาโอลิมปิกจะมีผลงานสูงสุดเมื่ออยู่ในภาวะ “the zone” หรือภาวะไร้ความคิด (non-thinking)
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีคำว่ามูชิน (mushin) เป็นภาวะที่ใจเป็นอิสระจากการใจลอย ความโกรธ ความกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอิสระจากตัวตน ภาวะมูชินนำไปประยุกต์ใช้ระหว่างการต่อสู้ เช่น คาราเต้ เมื่อเข้าถึงภาวะนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีอิสระที่จะกระทำหรือตอบโต้โดยไม่ลังเลซึ่งเป็นปฏิกิริยาระดับจิตใต้สำนึก
หลวงพ่อคำเขียนบอกว่ามีเพียงการรู้สึกตัวเท่านั้นที่จะแยกได้ว่าความคิดเป็นเรื่องในหัว ไม่ใช่ความจริงตรงหน้า การมีสติหรือความรู้สึกช่วยแก้ความหลง ทำให้สิ้นกรรม สิ้นความคิด
ดังนั้นการฝึกความรู้สึกตัวให้รู้ทันความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นหลักประกันว่าเราจะไม่ติดกับดักความคิด เพื่อจะได้มีชีวิตที่เบิกบาน ผลิดอกออกผล และสุขสงบ
“รู้สึกตัว
รู้ทันความคิด”
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม กล่าวว่า ความรู้สึกตัวเป็น “มรรคส่วนตัว“ หรือทางออกจากทุกข์ประจำตัว โดยมีกฎสำคัญคือ เมื่อมีความคิดอย่าห้ามความคิด ให้เคลื่อนไหวกายและเอาใจไปไว้กับกาย เรียกว่า “รู้เนื้อรู้ตัว” แล้วความคิดจะค่อย ๆ หายไปเอง
การรู้ทันความคิดในที่นี้หมายถึง รู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้น รู้ว่าความคิดนั้นบวกหรือลบ มีประโยชน์หรือโทษต่อตนเองและผู้อื่น หรือส่งผลอย่างไรต่อตัวเรา จนเมื่อตระหนักว่าความคิดนั้นไม่เป็นประโยชน์ เราจึงปรับเปลี่ยนมุมมองได้โดยทำตามขั้นตอนดังนี้
☀ เปลี่ยนมุมมอง ลองมองหาประโยชน์หรือความดีของความคิดที่เกิดขึ้น เช่น ทำให้เรียนรู้หรือฝึกตน
☀ เปลี่ยนอิริยาบถ หันไปทำอย่างอื่น ดูนกดูฟ้า มองออกไปข้างนอก จะทำให้หยุดคิดชั่วขณะ
☀ จดจ่อกับลมหายใจ ไม่ยุ่งกับความคิด ไม่ยุ่งกับความโกรธ หายใจเข้าลึกออกยาวห้ารอบ อย่าพยายามทำตามความคิด เพราะความคิดเป็นอนิจจัง
☀ ตัดความคิด ถ้ายังคิดให้ตัดความคิด ไม่ทำตามความคิดเพราะมันไม่มีตัวตนอยู่จริง เดี๋ยวก็หายไป “ไม่คิดต่อ ไม่คิดตาม” ทำบ่อย ๆ จะรู้ทันความคิด