เผาดิน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ให้ “ผลิบาน”
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
การมองโลกด้วยสายตาแบบเด็กช่วยเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ
แม้ที่ผ่านมามีนักออกแบบจำนวนมากรังสรรค์ดินเป็นเครื่องปั้นเซรามิก
ใช่ว่าคนมาทีหลังจะเพิ่มความสนุกให้งานรูปแบบเดิมด้วยมิติใหม่ไม่ได้
เมื่อทางเลือกมีมากกว่าเรื่องวัสดุ ยังแตกต่างได้ด้วยสีสัน รูปทรง และเทคนิค ดร. กฤตยชญ์ คำมิ่ง จึงนำวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวมอญที่ตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและภูมิปัญญาที่ผูกพันกับวิถีทำเครื่องปั้นดินเผามาพัฒนาสร้างสรรค์ ทั้งภาชนะในครัวเรือน เครื่องประดับอย่างลูกปัด กระเบื้องในงานสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ประติมากรรมอย่างพระพุทธรูป บุคคล ตุ๊กตา
เริ่มตั้งแต่นำดินจากลุ่มน้ำเจ้าพระยามาปรับปรุงสภาพให้โครงสร้างดินแข็งแรงขึ้น จะได้ขึ้นรูปง่ายและแมตช์กับวัสดุเคลือบ แล้วอาศัยทักษะวิธีที่ชวนให้นึกย้อนสู่จินตนาการวัยเด็กครั้งได้เล่นสนุกกับการปั้นดินน้ำมันในวิชาศิลปะ พัน ม้วน บิด พับ
รู้กันว่าเสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาอยู่ตรง “สีสันจากกระบวนการเผาไหม้” ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านจะใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงและปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบการหลอมละลายจึงไม่อาจควบคุมการเกิดสี แต่เมื่อนักออกแบบต้องการผลลัพธ์อย่างใจจึงพัฒนาเทคโนโลยีโดยสร้างเตาเผาขึ้นใหม่ ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงเพื่อควบคุมอุณหภูมิแล้วคัดสรรวัตถุดิบประเภทสารช่วยหลอมทำปฏิกิริยาเคมีกับผลึกดินที่อุณหภูมิสูง
พลังงานความร้อนขับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สารประกอบหนึ่งฟอร์มตัวจนมีลักษณะเป็นแก้ว ทำหน้าที่ประสานอนุภาคดินให้เป็นโครงสร้างเข้าด้วยกัน ช่วยให้ชิ้นงานหลังเผาคงทนแข็งแรง สารที่นักออกแบบคัดสรรมาใช้ยังมีส่วนทำให้เกิดปฏิกิริยากับสารประกอบอื่นอย่างในขี้เถ้า แกลบ สร้างสีสันพิเศษตามต้องการในกระบวนการเคลือบ
เกิดเป็นผลงานประติมากรรมเซรามิกที่ให้ความรู้สึกขี้เล่น
ตั้งชื่อแนวคิด “การผลิบาน” เปลี่ยนดินแม่น้ำธรรมดาให้ตื่นตาอีกครั้ง