แต่ละครอบครัวมีลวงของตัวเอง แต่ละลวงต้องใช้เครื่องมือหาปลาที่เหมาะสมแตกต่างกันตามลักษณะลวงและชนิดปลา ถ้ามองเห็นทุ่นหรือป่อมในแม่น้ำโขงแสดงว่าตรงนั้นมีเครื่องมือหาปลาของเจ้าของลวง
ลวงโขง
แม่น้ำมีเจ้าของ
สายน้ำที่ถูกสาป
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
หลายวันแล้วที่ สมาณ แก้วพวง คว้าน้ำเหลวขึ้นฝั่ง สาวมองดักปลาขึ้นจากน้ำมีเพียงความว่างเปล่า
แต่วันนี้ต่างออกไป
“อุวะ โชคดีอะไรอย่างนี้นะ” คนหาปลาพูดระหว่างปลดปลาจากตาข่าย
ตัวที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ไล่ไป...
กลางแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองสังข์ทอง แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว มองหรือตาข่ายของพรานปลาพื้นบ้านดักปลาตะเพียนได้เก้าตัวตรงลวงสาธารณะ
คนริมน้ำโขงสั่งสมความรู้เรื่องการหาปลาสืบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผ่านการเฝ้าดูพฤติกรรมของปลา สังเกตการไหลของสายน้ำผ่านคก ดอน คอน เวิน หาด ฯลฯ ระบบนิเวศเฉพาะถิ่นของแม่น้ำโขง จนพบตำแหน่งที่วางเครื่องมือหาปลาแล้วจับปลาได้มาก
ตรงนั้นเรียกว่า “ลวง”
ลวงปลาทำเลดีมีผู้ครอบครองเหมือนผืนดินที่ใช้ทำไร่ทำนา ลวงปลาชุกชุมซื้อขายกันในราคาหลักหมื่นถึงแสน แม้ไม่ขายก็เก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน
แม่น้ำโขงที่บ้านม่วงเคยเต็มไปด้วยลวงหาปลา
แต่วันนี้ต่างออกไป
ปลาตะเพียนกับปลาโจกหลังเขียวติดมองหรือตาข่ายของพรานปลาพื้นบ้าน ลึกลงไปใต้ความเงียบสงบของผิวน้ำ ถ้าไม่รู้ว่าปลาอยู่ตำแหน่งใดก็ยากที่จะจับ
“มันเป็นพื้นที่หาปลาของชาวบ้าน จุดที่หาปลาได้ดีเขาเรียกว่าลวง” เรือของสมานหันหัวออกจากลวงสาธารณะ มีเรือของอ้ายสุดตา พรานหาปลาอีกคนในหมู่บ้านเข้ามารับช่วงต่อ
ลวงสาธารณะมีชาวประมงบ้านม่วงเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร แต่ต้องช่วยกันดูแลรักษา ไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเช่นเครื่องช็อตปลา
ยังมีลวงส่วนตัวหรือลวงปัจเจก ที่เจ้าของจับจองเองหรือได้รับเป็นมรดกตกทอดต่อ ๆ มา
คำว่า “ลวง” หมายถึง “จุดหาปลา” พื้นที่ที่กระแสน้ำ
แสงแดด อากาศ สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้คนหาปลาใช้เครื่องมือจับปลานานาชนิด ลูกน้ำโขงในภาคเหนือแถบเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เรียกพื้นที่หาปลาลักษณะนี้ว่า “โม้ง” และ “ลั้ง” ใต้ลงมาแถบไทย-ลาวในภาคอีสานไปถึงลาวใต้ กัมพูชา และเวียดนามเรียกว่า “ลวง”
ไม่ว่าจะเรียกว่าโม้ง ลั้ง หรือลวง ต่างก็เป็นแหล่งปลาชุกชุม หรือไม่ก็เป็นจุดที่ปลามักจะว่ายผ่าน เป็นพื้นที่ทำงานในแต่ละวันของชาวประมงพื้นบ้าน
อ้ายสุดตา พรานปลานัยน์ตาหวานที่เข้ามาไหลมองต่อจากสมานเล่าว่า ลึกลงไปใต้ท้องน้ำโขงมักจะเป็นพื้นหินหรือทราย ถ้าตรงไหนราบเรียบสม่ำเสมอและมีร่องน้ำหลักมักจะไหลมองจับปลาได้
มองหรือตาข่ายที่สมานและอ้ายสุดตานำมาใช้บางพื้นที่เรียกว่าดาง เป็นเครื่องมือหาปลาที่พบมากบนแม่น้ำโขง ในอดีตทำจากต้นปอปั่นเป็นเส้นแล้วนำมาสาน ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตาข่ายถักจากเชือกไนลอนหรือเอ็น มีขนาดช่องตาข่ายตั้งแต่ ๒-๒๕ เซนติเมตร ผูกตะกั่วชิ้นเล็ก ๆ ถ่วงให้ตีนมองจมลงใต้น้ำ ส่วนบนใช้กระติกน้ำหรือขวดน้ำพลาสติกเป็นทุ่นผูกติดไว้ เพื่อที่เวลาไหลมองจะได้เห็นว่ามองอยู่ตรงไหน
ปรกติมองหนึ่งผืนจะมีความยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร กว้าง (หรือลึก) ๒ เมตร ถ้าอยากให้มองยาวขึ้นก็นำมาเย็บต่อกัน มองเล็ก ๆ มักขึงไว้ริมฝั่งติดตั้งอยู่กับที่ ปลาที่ได้มักเป็นปลาตัวเล็ก ๆ เช่น ปลามาง ปลาจอกทราย ปลาปีกไก่ ถ้าเป็นมองใหญ่จะใช้วิธี “ไหลมอง” กลางแม่น้ำ คนอยู่บนเรือค่อย ๆ ไหลมองลงไปขวางทางเดินของกระแสน้ำเพื่อดักปลา ครบเวลาก็ค่อย ๆ สาวมองขึ้นมาลุ้นว่ามีปลาติดไหม
มองหรือตาข่ายมีทั้งแบบขึงไว้ริมฝั่ง และแบบ “ไหลมอง” ซึ่งคนบนเรือจะค่อย ๆ ปล่อยมองขวางกระแสน้ำ นอกจาก “ลวงมอง” แล้วยังมี “ลวงเบ็ด” “ลวงตักช้อน” เลือกใช้อย่างเหมาะสมกับระบบนิเวศแต่ละจุด
ระบบนิเวศย่อยของแม่น้ำโขงแบ่งออกเป็นหลายระบบ ยกตัวอย่างเช่น ก้อน คัน หรือแก่ง เป็นก้อนหิน คันหิน หรือแก่งหินในแม่น้ำ ช่วงฤดูฝนมักจมอยู่ใต้น้ำ โผล่ให้เห็นช่วงฤดูแล้ง
คก มักตั้งอยู่ริมตลิ่ง มีลักษณะเว้าเข้ามาริมฝั่ง แต่ก็มีคกที่อยู่ติดดอนกลางแม่น้ำเช่นกัน ลักษณะของน้ำในคกจะไหลวน
แซน เป็นแนวโขดหินที่ทอดตัวยาวเป็นเส้นตรง มักอยู่ในแก่งที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว
คอน เป็นสายน้ำที่แยกออกจากแม่น้ำโขงสายหลัก ไหลอ้อมดอนหรือเกาะแล้ววกกลับสู่แม่น้ำโขงอีก
ดอน เป็นเกาะกลางแม่น้ำโขงที่เกิดจากดินหรือทรายไหลมาทับถม มีทั้งดอนดินและดอนทราย บนดอนมักมีต้นไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด
บุ่ง เป็นแอ่งน้ำหรือหนองน้ำในหินหรือดินซึ่งจะถูกน้ำท่วมช่วงฤดูฝนของทุกปี เมื่อน้ำลดจะมีน้ำขังกลายเป็นแอ่งน้ำ
เวิน เป็นลักษณะของน้ำที่ไหลมากระทบหินหรือดินบริเวณส่วนโค้งของแม่น้ำ ทำให้น้ำไหลวนเป็นวงกว้างและลึก มักมีเศษพืชไหลมารวมกลายเป็นแหล่งสะสมอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
นิเวศย่อยแต่ละระบบไม่ได้คงสภาพเดิมตลอดทั้งปี แต่ผันแปรตามฤดูกาลขึ้นอยู่กับระดับน้ำ แสงสว่าง และอุณหภูมิ นิเวศต่าง ๆ เชื่อมโยงวงจรชีวิตผู้คนกับพืชและสัตว์น้ำ
อ้ายสุดตาเล่าว่า ก้อนหรือแก่งช่วยลดความแรงของกระแสน้ำ ปกป้องสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ให้ปลอดภัย คล้ายคกในแง่ที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสัตว์น้ำจากน้ำเชี่ยว ส่วนคอนเป็นทางผ่านของปลาที่ว่ายหาแหล่งอาหารหรืออพยพไปวางไข่ มีระดับน้ำสูงเมื่อถึงช่วงฤดูฝน ดอนเป็นที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์เลื้อยคลาน หนู งู อีเห็น กิ้งก่า รวมทั้งแมลงต่าง ๆ ที่จะหนีน้ำขึ้นไปอยู่เวลาน้ำหลากท่วมที่ต่ำ ลูกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามตลิ่งหรือดอนเมื่อร่วงหล่นลงน้ำเป็นอาหารของปลา
“เราต้องสังเกตสภาพโดยรอบของจุดที่จะหาปลา เพราะปลาบางชนิดชอบอยู่ตามน้ำตื้น บางชนิดชอบน้ำลึก บางชนิดชอบอยู่น้ำไหล ต้องเลือกใช้เครื่องมือหาปลาให้เหมาะสม ยกตัวอย่างเบ็ด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จับปลาได้ตลอดทั้งปีแต่ก็มีหลายรูปแบบ เช่น เบ็ดโยง มักวางคันเบ็ดในวังน้ำหรือที่ร่ม เบ็ดราว ขึงริมฝั่งช่วงน้ำขึ้น เบ็ดข่อมหรือเบ็ดคันจะปักตามตลิ่ง ส่วนใหญ่ใช้ช่วงน้ำลด กวาดหญ้าและเศษไม้รอบ ๆ ออกก่อน เอาเหยื่อมาร้อยกับดวงเบ็ด จะได้ปลาอะไรก็ขึ้นอยู่กับเหยื่อที่ใช้
ลวงเป็นจุดหาปลาที่กระจายอยู่ในแม่น้ำโขง มีทั้งลวงสาธารณะและลวงส่วนบุคคล ชุมชนยอมรับให้เป็นมรดกตกทอดและซื้อขายกันได้ ถือเป็นการจัดสรรกรรมสิทธิ์พื้นที่หาปลาในแม่น้ำ คล้ายการจับจองที่ดินบนบก
ปลาตะเพียนเก้าตัวติดมองตรงพื้นที่ลวงสาธารณะหลังคืนที่มีฝนตกลงมาในแม่น้ำ ปลาตะเพียนตัวเขื่องนี้ใช่จะหาได้ง่าย ๆ ในภาวะที่แม่น้ำโขงถูกทำให้แปรปรวน
“ส่วนพวกลอบ ไซ ใช้ช่วงน้ำแล้ง แต่ควรวางที่น้ำไหล แหทอดได้แทบทุกแห่งแม้แต่โขดหินหรือคก แต่ก็ควรจะเป็นช่วงน้ำน้อย หรืออย่างมองก็ใช้ดักปลาได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงน้ำไหลเชี่ยวเพราะจะมีพวกเศษไม้หรือเทาไหลมามาก” เทาคือสาหร่ายชนิดหนึ่ง คนริมโขงทางภาคเหนือเรียกว่าไก นิยมนำมาทำอาหาร
“อ้ายสุดตา” เป็นชื่อที่คนบ้านม่วงเรียก สุดตา อินทร์สำราญ พรานปลาอายุ ๕๐ ปี พ่อของอ้ายสุดตาไม่ได้เกิดที่นี่ แต่พบรักกับสาวริมโขงจึงตกลงใจลงหลักปักฐานเมื่อราวปี ๒๕๒๐
ทุกวันนี้อ้ายสุดตามีลวงหาปลาเป็นของตัวเองสามลวงจากการซื้อและเช่าช่วงต่อจากชาวประมงคนอื่น ๆ
บางชุมชนริมแม่น้ำโขงที่มีพื้นที่ทางการเกษตรไม่มากนัก ลวงเปรียบเสมือนที่ดินบนแม่น้ำ ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้สม่ำเสมอ
แม้ไม่มีเอกสารสิทธิเหมือนที่ดินบนบก หน่วยงานของรัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ เจ้าของลวงไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์จับต้องได้ แต่คนลุ่มน้ำโขงสัมผัสกับมันจริง ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สิทธิครอบครองนี้ได้รับการยอมรับและส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เรียกว่าเป็นการจัดการตามจารีตพื้นบ้าน
บทความ “พรานปลาน้ำโขงแห่งธาตุพนม” ของวลัยลักษณ์ ทรงศิริ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ กล่าวถึงการหาปลาของชาวบ้านริมโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ห่างจากตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ไปทางท้ายน้ำไว้ตอนหนึ่งว่า “การจับปลาในแม่น้ำโขง ใช้ระบบความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งสองฝั่งโขงที่มีมาแต่โบราณ มีการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า ‘ลวง’ ซึ่งก็คือพื้นที่จับปลา และใช้วิธีการจับปลาแบบการ ‘ไหลมอง’ คือการวางตาข่ายเช่นเดียวกัน โดยชาวบ้านจะมีการแบ่งเป็นลำดับที่ต้องเข้าคิว โดยไม่แบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นคนลาวหรือคนไทย”
เป็นการควบคุมการใช้ทรัพยากรแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นที่มีมานานโดยไม่ต้องใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบยุค modern state
เรือลำเล็กแล่นทวนน้ำ ปลายทางคือคกถ่อน ลวงที่สมานเป็นเจ้าของ
พายุฤดูร้อนเมื่อคืนก่อนทำให้ลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก มีไม้ใหญ่ล้มขวางทางหลวงสาย ๒๑๑ หนองคาย-ปากชมและเกี่ยวสายไฟขาด นอกจากรถติดยาวแล้วยังมีไฟดับบางพื้นที่
รุ่งขึ้นแม่น้ำโขงเหมือนอิ่มน้ำ ตลอดคืนสายน้ำไหลรินมาตามโขดหิน ชะง่อนผา และลำน้ำสาขาต่าง ๆ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ช่วงแล้งกลางเดือนเมษายนบนลำน้ำโขงก็ยังมากด้วยเกาะแก่ง
แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย มีลักษณะคล้ายระฆังคว่ำ ทอดตัวผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ทั้งสองฝั่ง ตามลำน้ำมีก้อนหรือแก่งหิน สมานเล่าว่ายิ่งเข้าสู่ฤดูแล้งก็ยิ่งมองเห็นสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศที่เป็นดอน เกาะแก่ง รวมทั้งเกิดบุ่งจำนวนมาก
ระหว่างขับเรือเขามองไปยังตำแหน่งของลวงตามจุดต่าง ๆ ในสายตาคนทั่วไปถ้าไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็นหรือมองข้าม เรือแล่นผ่านเกาะ ดอน แซน ที่โผล่ขึ้นเหนือระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาศัยของปลา ซึ่งพรานปลาจะมาวางเครื่องมือหาปลาไว้
พรานปลาที่มีความชาญไม่ได้ออกหาปลาสะเปะสะปะแต่จะมุ่งตรงไปยังเป้าหมาย คนหาปลาจะรู้ว่าพื้นที่หาปลาแต่ละแห่งเป็นของใคร ทุ่นกลางแม่น้ำโขงที่เรียกว่า “ป่อม” ก็เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าลึกลงไปใต้น้ำมีเครื่องมือหาปลาวางอยู่ อาจเป็นมองหรือแน่งก็ได้
“ถ้าแบ่งตามประเภทของเครื่องมือจะมีทั้งลวงมอง ลวงเบ็ด ลวงต่ง” สมานอธิบายขณะควบคุมเรือให้แล่นไปตามร่องน้ำ
เจ้าของลวงคือผู้รู้วิธีจับปลาในลวงของตัวเองดีที่สุด ประเมินถูกว่าช่วงเวลาไหนควรใช้เครื่องมือชนิดไหน
คนหาปลาแต่ละคนยังถนัดหาปลาด้วยเครื่องมือต่างกันออกไปจนเป็นที่มาของคำว่าเซียน ที่บ้านม่วงก็มีทั้งเซียนปลาเอิน เซียนปลาโจก เซียนปลาม้าง
แม่น้ำโขงช่วงที่่ไหลคดโค้งผ่านตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงไทย-ลาว ตามลำน้ำมีระบบนิเวศย่อย ได้แก่ แก่ง ก้อน หาด คก คอน และเวิน แต่ละแห่งมีเรื่องราวที่มาของชื่อหรือบ่งบอกลักษณะเฉพาะ เช่น ก้อนตัก คกผ้าห่ม ดอนเจ้า ก้อนพ่อบั่ว คกอีทิพย์ ฯลฯ
แผนที่แสดงระบบนิเวศแม่น้ำโขง บันทึกภาพเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ สอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้งลวง ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงจากโครงการเขื่อนมากมายทำให้โครงสร้างในเชิงนิเวศของลวงหลายแห่งไม่ล่อปลาเข้ามาอยู่เหมือนแต่ก่อน (แผนที่พัฒนาโดย TERRA โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง)
เรือแล่นผ่านจุดต่าง ๆ ของแม่น้ำโขงที่มักจะมีชื่อเรียกตามระบบนิเวศบริเวณนั้น เช่น คกยานาง ก้อนหมอสา ก้อนแสนสูง แซนปลาขบ หาดแสน ปากห้วยคำ ฯลฯ ชื่อของลวงก็มักถูกเรียกตามชื่อเรียกระบบนิเวศบริเวณนั้น รวมทั้งชื่อที่ตั้งตามลักษณะทางกายภาพ
ก้อนโด่ เป็นก้อนหินยื่นล้ำออกไปในแม่น้ำโขงมากกว่าหินก้อนใด จึงถูกใช้เป็นจุดดูปลาว่าว่ายเข้ามาแล้วหรือยัง
ก้อนซุงนาก มีหินใหญ่สามก้อนตั้งโอบกันเป็นโพรง นากเข้ามาอยู่อาศัยและคอยจับปลากินเป็นอาหาร ราวปี ๒๕๒๒ ยังพบนากอยู่ประมาณหกเจ็ดตัว แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว
คกผ้าห่ม ได้ชื่อนี้เพราะบริเวณคกมีอากาศหนาวเย็น ต้องห่มผ้าเวลาหาปลา
ก้อนตัก เวลาปลาขึ้น ถ้าไปตักต่องที่ก้อนอื่นจะไม่ได้ปลาต้องมาตักต่องที่ก้อนนี้เพราะมีปลามาก สมัยก่อนหมุนเวียนกันตัก ๒๐-๓๐ คนก็ยังได้ปลาเพราะอยู่ใกล้แก่งที่น้ำเชี่ยวกราก ปลาจะเข้ามาหลบตรงก้อนตักเพื่อรอจังหวะว่ายออกไป
ดอนเจ้า เป็นดอนใหญ่กลางแม่น้ำโขงติดเขตลาวช่วงสงกรานต์ชาวบ้านสองฝั่งจะเดินทางมาประกอบพิธีเซ่นไหว้ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีลวงที่ตั้งชื่อตาม “คน” ที่ใช้ลวงนั้น...ทั้งคนเป็นและคนตาย
ก้อนลวงโต่งทิดมี เรียกตามชื่อนายมีที่เข้ามาจับจองพื้นที่หาปลา ที่เรียกว่าทิดเพราะเพิ่งสึกจากพระ
ก้อนพ่อบั่ว เรียกตามชื่อพ่อบั่วที่เข้ามาจับจองลวงก่อนใคร เพื่อนชวนไปหากินที่ลวงอื่นก็ไม่ไป จนสุดท้ายพ่อบั่วเสียชีวิตตรงก้อนนี้ระหว่างหาปลา
คกอีทิพย์ ตั้งตามชื่อผู้หญิงชื่อทิพย์ เคยมาหาปลาและเสียชีวิตที่นี่
คกผีน้อย ได้ชื่อมาเพราะมักจะมีศพเด็กหรือศพคนตัวเล็ก ๆ ลอยมาติด ศพจะไหลวนอยู่ตรงคกนี้ ถ้าเป็นศพผู้ใหญ่หรือศพวัวควายจะลอยผ่านไปตั้งแต่แรก
แม้ตัวจากไปแล้ว แต่เรื่องราวความเป็นมาของคนที่เคยใช้ลวงยังตกทอดมาถึงคนรุ่นหลัง ผ่านเรื่องเล่าขานว่าพื้นที่ไหนบ้างเคยมีคนหาปลามาก่อน
เรือแล่นมาถึงคกถ่อน สมานสำรวจมองพบเพียงความว่างเปล่า ไม่มีปลาติดตาข่ายเลยสักตัวเดียว
“เป็นอย่างนี้มา ๓-๔ วันแล้ว” ลูกแม่น้ำโขงเอ่ยด้วยความผิดหวัง
คกถ่อนกลางแม่น้ำอยู่ติดกับดอนค้อ ใกล้ ๆ กันมีคกอีทิพย์ คกป่าแก่ ก้อนโตน ฯลฯ ฝั่งตรงข้ามเยื้องกันมีคกสองคอน
พื้นที่ลวงของคนบ้านม่วงเคยเป็นจุดที่หาปลาได้มาก สมานจำได้ว่าเมื่อก่อนในแต่ละครั้งที่ออกหาปลาจะไม่ค่อยมีเวลาขึ้นฝั่งมากินข้าว
“ใครออกเรือกับพ่อ แม่ก็จะเอาข้าวมาส่งที่ท่าเรือเพื่อให้เอามานั่งกินบนเรือ ตอนนั้นปลาเยอะต้องช่วยกันเฝ้าปลา พอขึ้นฝั่งก็ส่งปลาให้แม่เอาไปขาย หรือไม่ก็แปรรูปเป็นปลาร้า”
พรานปลาวัยกลางคนเล่าว่า เมื่อก่อนมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อปลาถึงหมู่บ้าน รายได้จากการหาปลาของแต่ละครอบครัวเริ่มตั้งแต่ ๑ หมื่นบาทไปจนถึง ๒ แสนบาทต่อปี
แต่วันนี้ต่างออกไป
ระดับน้ำที่ผันผวนขึ้นลงผิดจังหวะ การไหลของแม่น้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้การหาปลาในแม่น้ำโขงยากลำบาก กว่าจะได้ปลามาแต่ละตัวเลือดตาแทบกระเด็น
ชัยวัฒน์ พาระคุณ คนบ้านม่วงที่จำเป็นต้องละทิ้งอาชีพหาปลาเล่าด้วยความเจ็บช้ำใจบนหาดทรายริมแม่น้ำโขงว่า “ครอบครัวผมเคยมีลวงห้าลวง แต่ตอนนี้หายไปแล้วสาม”
นับตั้งแต่จำความได้ เขาต้องตื่นตี ๕ ลงเรือกับตา ช่วยกันยามมองหรือกู้มอง ยามข่าย ตามลวงต่าง ๆ ของครอบครัว กว่างานในแม่น้ำจะลุล่วงก็ ๖ โมงกว่า รีบกลับมาแต่งตัวไปเรียนหนังสือ เลิกเรียนกลับบ้านมาเอาควายเข้าคอก พอถึง ๕ โมงเย็นก็ออกไปดูปลาที่ลวง เป็นอย่างนี้ทุกวัน
ลวงแต่ละลวงมีลักษณะต่างกัน ตากับหลานจะใช้เครื่องมือหาปลาชนิดไหนก็ขึ้นอยู่กับปลาที่ชอบว่ายเข้าไปในลวงนั้น
“อย่างลวงที่อยู่ตรงท่าน้ำหน้าบ้านจะใช้ตาข่ายช่องความห่างไม่เกิน ๕ เซนติเมตร ดักพวกปลาตัวเล็ก ๆ ส่วนตาข่ายที่จะดักปลาใหญ่ต้องใช้ขนาด ๒๕ มีอยู่ลวงหนึ่งเคยดักได้ปลาเอินน้ำหนัก ๔๗ กิโลกรัม ถือว่าตัวใหญ่นะ”
ปลาเอินเป็นชื่อท้องถิ่นของปลายี่สกไทยที่ปัจจุบันกลายเป็นปลาหายาก เหลือน้อยลงทุกทีในแม่น้ำโขง หน่วยงานในสังกัดกรมประมงต้องเพาะพันธุ์นำมาปล่อยเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร
“เมื่อก่อนลวงตรงนั้นเป็นสันดอน แล้วมีหินเป็นก้อน แต่ตอนนี้ลวงนั้นหายไป จริง ๆ ก็ไม่ถึงกับหาย แต่โครงสร้างในเชิงนิเวศมันไม่ล่อปลาเข้าไปข้างในแล้ว”
มองหรือตาข่ายเป็นเครื่องมือจับปลาที่พบแทบทุกพื้นที่ในแม่น้ำโขง โดยทั่วไปมีความยาว ๑๐๐ เมตร ถ้าต้องการให้ยาวขึ้นก็นำมาเย็บต่อกัน การทำเครื่องมือประมงพื้นบ้านอาศัยภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งเกิดจากการสังเกตสภาพแวดล้อมและธรรมชาติของปลา
“พอระดับน้ำลดลง เบ็ดที่ปักไว้กลายเป็นลอยพ้นน้ำ บางครั้งอยู่ ๆ ระดับน้ำสูงขึ้นพรวดพราด เครื่องมือหาปลาก็ลอยตามน้ำไป” ชัยวัฒน์อธิบายผลจากความผันผวนของกระแสน้ำ
น้ำขึ้นและลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ สถานการณ์ผิดปรกติที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน” ทำให้คนหาปลาในแม่น้ำโขงไม่สามารถใช้เครื่องมือจับปลาได้อย่างแม่นยำเหมือนก่อน พรานปลาไม่สามารถใช้ความรู้ท้องถิ่นคาดการณ์การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นของปลา
ความผันผวนที่เกิดขึ้นยังทำให้ลักษณะทางกายภาพของลวงตามจุดต่าง ๆ เปลี่ยนไป
“บางครั้งก็มีตะกอนมาทับถม บางครั้งอยู่ ๆ น้ำก็ลดจนตลิ่งพัง แทบทุกลวงของผมเป็นเหมือนกัน จนหลัง ๆ ไม่ค่อยได้ออกไปใส่เครื่องมือหาปลาแล้ว ยกลวงให้ญาติ ๆ ใครอยากใส่ก็เชิญ ถ้าเขาได้ปลาถึงจะแบ่งมาให้เรากิน คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านพอรู้ว่าเราไม่ยามมองแล้วก็มาขออนุญาตใช้” ชัยวัฒน์ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลวงของตัวเอง
“ช่วงแรก ๆ พยายามคิดว่าไม่เน้นปลาตัวใหญ่ แต่หลัง ๆ แม้แต่ปลาตัวเล็กยังหาไม่ได้ พอดูแล้วว่าไม่คุ้มค่าก็เบนออกหันมากรีดยางเป็นหลัก”
เมื่อโครงสร้างทางนิเวศของลวงไม่เหมาะสำหรับการดักปลาคนหาปลาบางส่วนยอมจำนนโยกย้ายไปประกอบอาชีพอื่น ๆ อย่างเช่นงานรับจ้างหรือไปทำงานต่างถิ่น
“คนหาปลาตกงาน ไหปลาร้าก็ตกงาน เพราะมันไม่มีปลา แม้แต่ปลาตากแห้งที่เคยแขวนไว้ในห้องครัวช่วงหน้าฝนก็ไม่มี ก็ขนาดชาวประมงยังไม่มีปลาแล้วใครจะมี คราวนี้ลวงหาปลาที่เรามี ใครมาขอใส่มองก็เชิญตามสบาย แต่ก็ไม่ค่อยเห็นใครเขาใส่กัน มันก็ยังมีนะ แต่น้อยกว่าสมัยก่อนเยอะ”
ปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความผันผวนของระดับน้ำเป็นสิ่งที่ชาวบ้านควบคุมไม่ได้ เซียนปลาอย่างอ้ายสุดตาก็ไม่ต่างจากพรานปลาคนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ
ปรากฏการณ์น้ำโขงขึ้นลงผิดปรกติและความเปลี่ยนแปลงของตะกอนแม่น้ำ ส่งผลกระทบกับลวง พฤติกรรมของปลาจนเกิดสภาวะ “หลงฤดู”
ระบบนิเวศบริเวณที่มีน้ำไหลผ่านช่องแคบของหินเรียกว่าคอน ถ้าน้ำนิ่งเรียกว่าโส่ มองหรือตาข่ายที่ใช้ขนาด ๓-๔.๕ เซนติเมตร จับปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากระบอก ปลายอน ปลาตะเพียนหางแดง บางครั้งวางเครื่องมือทิ้งไว้ข้ามคืน บางครั้งวางแล้วไล่ให้ปลาว่ายมาติดและเก็บทันที
เมื่อก่อนเวลาจับปลาได้เขาก็จะรวบรวมเอาไปขายที่บ้านหนอง อยู่ห่างจากบ้านม่วงประมาณ ๒ กิโลเมตร ปลาแม่น้ำโขงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและราคาไม่ถูกเลย บางครั้งพ่อค้าแม่ค้าถึงกับต้องเดินทางมารับซื้อปลาสดถึงริมน้ำ บ้างต้องจองคิวหรือวางมัดจำล่วงหน้า
ปลาแม่น้ำโขงมีทั้งปลาเกล็ดและปลาหนัง ที่ได้รับความนิยมมากคือปลาหนังชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาแข้ ปลาเคิง ปลาคัง ฯลฯ ชื่อปลาเหล่านี้จะถูกติดอยู่ตามฝาผนังของร้านอาหารริมโขง
แต่เมื่อสายน้ำผันผวน ระบบเศรษฐกิจที่เคยขึ้นกับการหาปลาก็ซบเซา ขณะที่ราคาปลาแพงขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะปลาแม่น้ำโขงของแท้หายากขึ้นทุกวัน ที่ยังเห็นอยู่บนโต๊ะอาหารส่วนมากจะเป็นปลาจากแหล่งอื่น
อ้ายสุดตาเคยได้เงินจากการขายปลาปีละ ๑.๕-๑.๖ แสนบาท แต่ทุกวันนี้รายได้ลดลงมาก ออกเรือทั้งวันยังแทบไม่ได้ปลา ชีวิตพรานปลาที่เคยรุ่งโรจน์ต้องพลิกผันเพราะความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง
คกปากคอนขอนขามเคยเป็นลวงมองที่อ้ายสุดตาหาปลาได้มากที่สุด ตรงนั้นน้ำลึกราว ๑๕ เมตร กระแสน้ำไหลเชี่ยว ใครพายเรือมาต้องออกแรงพายสุดกำลังถึงจะผ่านขึ้นไปได้ แต่รอบ ๆ คกปากคอนขอนขามมีต้นไคร้และต้นก่ามคอยทำหน้าที่เป็นบ้านปลา รากของต้นไม้ที่จมอยู่ในน้ำเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำอย่างดี ทำให้มีปลาชุกชุม
“เจ้าของลวงอนุญาตให้เข้าไปหาปลาด้วยกัน ได้ปลามาก็แบ่งกันกิน ถ้าเอาไปขายก็แบ่งเงินกันคนละครึ่ง ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่คือปลาเอิน หรือปลายี่สกไทย”
อ้ายสุดตาเคยจับปลาเอินจากลวงแห่งนี้ได้ปีละ ๓๐-๔๐ ตัน คิดเป็นเงินตก ๒-๓ แสนบาท
คกอีทิพย์เป็นอีกลวงของพรานสุดตานัยน์ตาหวาน เขาชอบใช้ตาข่ายขนาด ๑๖-๒๕ เซนติเมตรจับปลาตัวโต ๆ นอกจากปลาเอินแล้วยังมีปลาแข้ ปลาหูหมาด ปลาอีตุ ปลาปากปาน ขนาดตัวละ ๕-๒๐ กิโลกรัมขึ้นไป
ระดับน้ำขึ้นลงผิดปรกติทำให้การไหลมองของคนหาปลาทำได้ยาก การไหลมองต้องอาศัยร่องน้ำที่มีน้ำไหลแรงสม่ำเสมอ เพื่อให้ความเร็วของมองพอดีกับการจับปลา
“ถ้าระดับน้ำลดลงความแรงของน้ำก็ลดลงทำให้ความเร็วของมองช้าลงตามกระแสน้ำ เวลาปลาว่ายมาชนมองก็ดิ้นหลุดออกไปได้” พรานปลาคนท้าย ๆ ที่ยังไม่ยอมจำนนต่อความผันผวนของกระแสน้ำอธิบาย
อีกสิ่งหนึ่งที่อ้ายสุดตาไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิตตั้งแต่เริ่มหัดหาปลาคือภาวะแม่น้ำโขงใส
ตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงจะพัดพาตะกอนไหลมากับสายน้ำ สีของแม่น้ำโขงมักจะเป็นสีปูนของตะกอนที่เกิดจากการพังทลายของหินและดิน เมื่อถึงจุดที่มีแม่น้ำสาขาไหลมาบรรจบจะเกิดภาพ “แม่น้ำสองสี” ยกตัวอย่างที่ปากแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี เกิดภาพ “โขงสีปูน มูลสีคราม” หมายถึงแม่น้ำโขงที่มีสีเหมือนปูนไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่เป็นสีคราม
แต่วันนี้ต่างออกไป
ภาวะน้ำโขงใสเกิดขึ้นหลายจังหวัด ตั้งแต่จังหวัดเลยที่อยู่เหนือสุดของแม่น้ำโขงภาคอีสาน ไล่ลงมาถึงหนองคาย นครพนม ฯลฯ ที่หนองคายในช่วงแรก ๆ คนบ้านม่วงยังไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ตะกอนในแม่น้ำโขงหายไปไหน ?
“พอน้ำใสพวกปลามันคงมองเห็นเบ็ด ตาข่าย เหยื่อที่พวกเราวางไว้ใช้ดัก” กลุ่มพรานปลาทำได้เพียงตั้งคำถามเพราะเห็นว่าช่วงที่น้ำโขงใส พวกเขายิ่งจับปลาได้น้อยลง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณปลาลดลงในประเทศท้ายน้ำประกอบด้วยการจับสัตว์น้ำแบบผิดวิธี การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การจับปลาในฤดูวางไข่ ฯลฯ แต่อ้ายสุดตาคิดว่าปัจจัยสำคัญที่สุดคือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศจีน ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ ที่ราบสูงทิเบต เข้าสู่ดินแดนของประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ความยาวประมาณ ๔,๙๐๙ กิโลเมตร
จีนเรียกแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลอยู่ภายในประเทศของตัวเองว่าหลานชางเจียง (Lancang Jiang) หรือแม่น้ำล้านช้าง เฉพาะช่วงที่แม่น้ำไหลอยู่บนแผ่นดินจีนมีความยาวประมาณ ๒,๑๓๐ กิโลเมตร
ที่ผ่านมาพญามังกรอาศัยความได้เปรียบจากการครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในแม่น้ำโขงตอนบน ใช้แม่น้ำโขงที่ไหลอยู่ในพื้นที่ประเทศของตนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า มีเขื่อนขนาดใหญ่ถูกสร้างแล้ว ๑๔ โครงการ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในโครงการนิคมอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้หรือจีนยูนนาน นอกจากนี้ยังปรับปรุงร่องน้ำหรือที่เรียกว่าการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขงเพื่อความสะดวกในการเดินเรือพาณิชย์บนแผ่นดินจีนและพรมแดนพม่า-ลาว
รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ “โม้ง-ลั้ง-ลวง อัตลักษณ์คนหาปลาบนแม่น้ำโขงและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ภายหลังการสร้างเขื่อนของจีน ศึกษาบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน” ของ ธีรภัท ชัยพิพัฒน์ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนวิจัย (วิจัยทั่วไป) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๕๑ ระบุว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากการสร้างเขื่อนของจีนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนสองฝั่งโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน
“ในทางการเมืองการปกครองจีนไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นผู้คนที่อยู่ในอาณาบริเวณ ๒๔ ตารางกิโลเมตร จำนวน ๙๖ หมู่บ้าน หรือประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน ได้สูญเสียความมั่นคงทางสังคมและมนุษย์ ถูกโยกย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่เดิม ซึ่งคนส่วนใหญ่ในที่นั้นเป็นคนกลุ่มน้อย การสร้างเขื่อนม่านวาน เมื่อเริ่มมีการกักเก็บน้ำผลกระทบข้ามพรมแดนก็เกิดขึ้นลงมาถึงจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย โดยที่ปริมาณน้ำเปลี่ยนแปลงไปผิดฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบนพบกับสภาพปัญหาการจับปลาได้น้อยลง”
เนื้อหาในรายงานกล่าวถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเสี่ยววานและม่านวาน ซึ่งจีนสร้างเขื่อนม่านวานเสร็จเป็นเขื่อนแรกในปี ๒๕๓๓
ในส่วนของแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านเจ็ดจังหวัดภาคอีสานตามแนวพรมแดนไทย-ลาว เรียงตามลำดับ ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เฉพาะแม่น้ำโขงส่วนนี้มีความยาวประมาณ ๙๗๕ กิโลเมตร
ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบกับลวงและคนหาปลาที่บ้านม่วงเกิดขึ้นชัดเจนที่สุดในปี ๒๕๖๒ กลางปีนั้นเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จและเริ่มทดลองผลิตไฟฟ้า
เขื่อนไซยะบุรีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี” เป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ตั้งอยู่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาวห่างจากชายแดนอำเภอเชียงคานของจังหวัดเลยขึ้นไปทางต้นน้ำประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร
คนบ้านม่วงเล่าว่า กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ช่วงฤดูน้ำแดงที่ปลาจะอพยพขึ้นมาวางไข่ อยู่ ๆ แม่น้ำโขงก็ลดระดับลง ๓-๔ เมตร ปลาตัวใหญ่ว่ายหนีน้ำไม่ทัน ติดค้างอยู่ในวังจำนวนมาก พวกกุ้งหอยปูปลาตัวเล็ก ๆ พากันแห้งตายคาผืนทราย
หน้าฝนปีนั้นแม่น้ำโขงที่อำเภอสังคมมีน้ำไหลแค่ในร่องน้ำลึก มีคนอธิบายว่าเกิดจากฝนแล้ง แต่อ้ายสุดตาเชื่อว่านี่เป็นฝีมือมนุษย์ “จะมาแล้งอะไรกลางฤดูฝนคนทำชัด ๆ” ตลอดปีนั้นเขาจับปลาขายได้แค่ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท
หลังจากนั้นแม่น้ำโขงก็แปรปรวนตลอดทั้งปี ต้นไคร้น้ำที่เคยขึ้นอยู่ตามเกาะแก่ง โขดหิน ริมตลิ่ง ค่อย ๆ แห้งเหี่ยวและยืนต้นตาย ทั้ง ๆ ที่เป็นพืชท้องถิ่นที่ทนทานสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงฤดูกาลของแม่น้ำโขง
ต้นไคร้น้ำถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ชื่อ “พันโขดแสนไคร้” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญก็ได้ชื่อจากจำนวนโขดหินที่ว่ากันว่ามีถึงหลักพันและมีต้นไคร้ขึ้นอยู่รวมกันนับแสนต้น แต่ทุกวันนี้คนบ้านม่วงพากันพูดว่าตรงนั้นเป็น “พันไคร้แสนโขด” บางคนก็บอกว่า “พันโขดแต่ไม่มีไคร้”
แม่น้ำโขงไม่ได้มีเฉพาะมิติปลากับน้ำ มนตรี จันทวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ซึ่งตามประเด็นโครงการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงมาหลายปีและสนใจศึกษาเกี่ยวกับนก แมลง พืชพันธุ์ท้องถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่นพลับพลึงธาร หญ้าหวีด รวมถึงไคร้น้ำ เล่าว่า “ในช่วงฤดูฝนต้นไคร้จะจมอยู่ใต้น้ำ ใช้รากยึดเกาะต้านทานกระแสน้ำเชี่ยว อาศัยตะกอนดินที่ทับถมตามเกาะแก่งช่วยยึดเกาะและเป็นแหล่งอาหาร ต้นไคร้ส่วนมากที่ขึ้นกลางแม่น้ำโขงจะเป็นทรงพุ่ม แต่มีลำต้นและกิ่งก้านลู่ไปตามน้ำ ถ้าเป็นต้นไคร้ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่ง ไม่ได้สัมผัสกับน้ำเชี่ยวมาก ทรงพุ่มจะตั้งตรง”
ช่วงที่ต้นไคร้จมอยู่ใต้น้ำอาจจะเรียกว่าเป็นเวลาพักตัว เมื่อระดับน้ำโขงลดระดับลง ต้นไคร้ก็กลับมาโผล่พ้นน้ำ เริ่มแตกกิ่งก้านสาขาและผลิช่อดอก
หลังปี ๒๕๖๒ ป่าไคร้ที่บ้านม่วงหายไปทีละหย่อม บทความ “เขื่อนโขงน้ำใส ไฟฟ้าไม่สะอาด ตะกอนหาย” ของมนตรี เผยแพร่วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๗ ชี้ว่าเกิดจากการหายไปของตะกอนอันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและลาว
“การหายไปของตะกอนแม่น้ำโขงจากเขื่อนที่สร้างแล้วในจีนและลาว และได้เห็นปรากฏการณ์นี้ชัดเจนในฤดูแล้งตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ทั้งที่ปัญหาต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๒ เช่น การระบาดของสาหร่ายแม่น้ำโขง การระบาดของหอยแมลงภู่เล็ก (หรือหอยรกควาย) ชุมชนไม่สามารถทำการประมงได้ และการกัดเซาะท้องน้ำที่รุนแรงขึ้น”
กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ช่วงฤดูน้ำแดงที่ปลาอพยพขึ้นมาวางไข่ อยู่ๆ แม่น้ำโขงก็ลดระดับลง ๓-๔ เมตร ปลาตัวใหญ่ว่ายหนีน้ำไม่ทัน ติดค้างอยู่ในวังจำนวนมาก พวกกุ้งหอยปูปลาตัวเล็กๆ พากันแห้งตายคาผืนทราย
พบน้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีคราม นักวิชาการชี้ระบบนิเวศวิกฤต
“แม่น้ำโขงสีคราม” ปรากฏการณ์ “น้ำหิว” สู่หายนะระบบนิเวศ !?
น้ำโขงสีคราม ความงามของสัญญาณร้าย
ปลายปี ๒๕๖๒ สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนมสวยใส มองเห็นเป็นสีฟ้าหรือสีครามคล้ายน้ำทะเลบริเวณกลางลำน้ำ ส่วนที่อยู่ใกล้ตลิ่งมีสีขุ่นกว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวพากันถ่ายภาพและแชร์ลงโลกออนไลน์
มีนักวิชาการออกมาอธิบายว่านี่เป็นสัญญาณของปรากฏการณ์ “น้ำหิว” (hungry river) ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำทั้งสาย
ผศ.ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นที่ปรึกษาพัฒนานิพนธ์หัวข้อ “ระบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการพื้นที่หาปลาในลำน้ำโขงของชาวประมงพื้นบ้าน และผลกระทบจากการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ส่วนหนึ่งของการศึกษารายวิชาพัฒนาชุมชนภาคนิพนธ์ของ สุพัตรา อินทะมาตร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า “แม่น้ำโขงที่เป็นสีคราม แท้จริงแล้วเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงใส ไม่มีตะกอนในน้ำจึงสะท้อนแสงของท้องฟ้า หากดูดี ๆ จะเห็นว่าน้ำในแม่น้ำโขงใสแจ๋วมาก”
แม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกในฉายา “Mighty Mekong” หมายถึงแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่อันเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ สีของแม่น้ำสายนี้จะเป็นสีปูน เพราะมีตะกอน
ที่เกิดจากการพังทลายของหินและดินถูกหอบมากับสายน้ำ
แต่วันนี้แม่น้ำโขงกำลังกลายสภาพเป็น “Hungry Mekong” หรือแม่น้ำโขงผู้หิวโหย ผลจากการขาดแคลนตะกอนในน้ำ
การสร้างเขื่อนนอกจากจะขัดขวางเส้นทางการอพยพตามธรรมชาติของสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ยังทำให้เกิดการตกตะกอนด้านหน้าเขื่อน และทำให้แม่น้ำด้านหลังเขื่อนมีตะกอนน้อยลง แม่น้ำขาดแคลนแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำและการเกษตร
ยกตัวอย่างเขื่อนปากมูลที่สร้างกั้นแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run of river) ก็มีตะกอนทับถมอยู่ด้านหน้าเขื่อน เมื่อเปิดประตูระบายน้ำก็ต้องใช้เวลาให้สายน้ำพัดพาตะกอนออกไป แต่ก็ไม่หมดเพราะตะกอนทับถมอยู่ตามร่องหินของแก่งที่เคยเป็นบ้านของปลา
“กรณีแม่น้ำโขง นอกจากตะกอนทับถมเหนือเขื่อนแล้ว ทางท้ายเขื่อนบริเวณที่เป็นหาดทราย แก่งหิน และป่าไคร้ น้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนเดิม ที่พันโขดแสนไคร้ น้ำที่เคยไหลเอื่อยก็แทบไม่ไหล และบ่อยครั้งที่น้ำลดจนแห้งราวกับทะเลทราย” อาจารย์ไชยณรงค์อธิบาย
แม่น้ำโขงที่หิวโหยยังสร้างหายนะได้อีก ที่น่ากังวลคือการดึงตลิ่งให้พังลงมา น้ำที่ปราศจากตะกอนจะกัดเซาะตลิ่ง พาเอาตะกอนออกจากตลิ่งและท้องน้ำเพื่อคืนสมดุลตะกอน นำไปสู่การพังทลายของตลิ่งตลอดลำน้ำ
เขื่อนไซยะบุรีมีประตูระบายน้ำ ๑๑ บาน แบ่งเป็นประตูระบายน้ำล้น ๗ บาน และประตูระบายน้ำล้นพร้อมระบายตะกอนหนักระดับใต้ท้องน้ำ ๔ บาน
หน้าที่หลักของประตูระบายน้ำล้นคือเปิดการระบายน้ำกรณีที่ปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งระบายตะกอนตามธรรมชาติให้ผ่านไป ทั้งที่เป็นตะกอนหนักและตะกอนแขวนลอย
หลังเกิดปรากฏการณ์น้ำโขงใส มีความพยายามตรวจสอบข้อมูลและติดตามปริมาณตะกอนของแม่น้ำโขงโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ต้นปี ๒๕๖๔ เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงช่วยกันตรวจวัดความขุ่นของน้ำในแม่น้ำโขงโดยใช้กระบอกวัดความขุ่นและแผ่นวัดความขุ่น (Secchi disk) จุดตรวจวัดกระจายไปทุกจังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำโขงรวมกัน ๑๐ สถานี เช่น โฮงเฮียนแม่น้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, แพกลุ่มประมงพื้นบ้าน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, บ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย, บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม, บ้านสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
ในบรรดาสถานีตรวจวัดทั้งหมดมีเพียงโฮงเฮียน แม่น้ำของที่วัดความขุ่นเหนือที่ตั้งเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว นอกนั้นจุดตรวจวัดในภาคอีสานอยู่ด้านท้ายน้ำเขื่อนไซยะบุรี
ความร่วมมือกันของชาวบ้านเป็นไปตามแนวทางวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen science) ซึ่งเป็นการวิจัยง่าย ๆ ที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนทั่วไป กระบอกวัดความขุ่นมีความยาว ๑๒๐ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ นิ้ว ตักน้ำในแม่น้ำโขงใส่ลงไป แล้วก้มลงส่องดูแผ่นวัดความขุ่นที่อยู่ก้นกระบอก ค่อย ๆ เติมน้ำจนกว่าจะมองไม่เห็น ความขุ่นมีหน่วยเป็นเซนติเมตร ยิ่งอ่านได้ค่ามากก็แสดงว่าน้ำมีความขุ่นน้อยหรือมีความใสมาก หากอ่านได้ค่าน้อยแสดงว่าน้ำมีความขุ่นมากหรือมีความใสน้อย
ผลการตรวจวัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ความขุ่นของน้ำโขงลดลงอย่างชัดเจน จากโฮงเฮียนแม่น้ำของมีค่าความขุ่น ๗๙ เซนติเมตร แต่เมื่อตรวจวัดด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรี ทุกสถานีมีค่ามากกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ที่บ้านสำโรงสูงถึง ๑๗๗ เซนติเมตร บ่งบอกถึงความใสของน้ำโขงในภาคอีสาน
สอดคล้องกับผลการตรวจวัดตะกอนและสารแขวนลอยของกรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้สถานีเชียงแสนเป็นสถานีอ้างอิงหลัก หากปีไหนไม่มีข้อมูลของสถานีเชียงแสนก็ใช้สถานีอื่นที่อยู่เหนือเขื่อนไซยะบุรีกับสถานีเชียงคาน พบว่าหลังการสร้างเขื่อนไซยะบุรีปริมาณสารแขวนลอยมีสัดส่วนลดลงอย่างชัดเจน โดยในเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ และกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีค่าลดลงเฉลี่ย -๗๗.๕๓ และ -๙๘.๗๗ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เปรียบเทียบกับก่อนเปิดเขื่อนไซยะบุรีในปี ๒๕๕๗ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ สัดส่วนสารแขวนลอยในแม่น้ำโขงมีค่าลดลง -๑๐.๗๖, -๗.๘๓ และ -๓๒.๑๔ ตามลำดับเท่านั้น
“เมื่อไม่มีดินตะกอนเข้ามาทดแทนมากพอ ต้นไคร้น้ำก็รากลอยและตายไป ต้นที่เหลืออยู่ก็แกร็นลงไม่ใหญ่โตเหมือนเก่า” มนตรีเล่า รากของต้นไคร้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ กิ่งก้านสาขาเป็นที่หลบซ่อนตัวของปลา ป่าไคร้เป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำโขงแทบทุกชนิด การลดลงของไคร้จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณสัตว์น้ำ
นอกจากต้นไคร้ ต้นหว้าก็ได้รับผลกระทบ พืชท้องถิ่นที่ชอบขึ้นตามแก่งหิน โขดหิน ถ้าขึ้นตามขอบบุ่งหรือริมตลิ่งอาจมีลำต้นสูงถึง ๓ เมตร ค่อย ๆ แห้งตาย
สวนทางกับไมยราบยักษ์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน
“วัชพืชที่ขึ้นริมฝั่งโขงจะไม่ตายและจะขยายพื้นที่เข้าไปตรงกลางแม่น้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำโขงไม่มีน้ำ หรือถึงมีน้ำก็มีระยะเวลาไม่นานพอที่จะท่วมวัชพืชเหล่านี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมโขงจะเสียโอกาสใช้ที่ดิน ชาวประมงก็เสียโอกาสจับปลา”
นานวันเข้าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ชาวประมง แม่น้ำ ปลา แมลง ต้นไม้ ตะกอน ลวง ฯลฯ ก็ค่อย ๆ แยกห่างกัน
โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของชุมชนสองฝั่ง ความหลากหลายของพันธุ์ปลาและกรรมสิทธิ์ที่เคยมีบนแม่น้ำสูญหาย ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบยังมีอีกมากที่จะตามมา
คนหาปลาลอยลำเตรียมอุปกรณ์กลางลำน้ำโขงที่แผ่กว้าง ช่วงอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไม้ยาว ๆ เรียกว่าไม้ส้าว หรือไม้คันชัก ไว้สำหรับบังคับหางเสือ
เรือแล่นทวนน้ำ มุ่งไปทางพันโขดแสนไคร้ แวะตรงลวงริมตลิ่ง
“น้ำเป็นอย่างนี้ จะให้วางมองจับปลาได้อย่างไร” สมานพูดเมื่อเห็นว่าไม่มีปลาติดตาข่าย
หากเปรียบสัดส่วนความหลากหลายทางชีวภาพกับขนาดพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำโขงจะอุดมสมบูรณ์มากที่สุด แม้แต่แม่น้ำแอมะซอนอันยิ่งใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ก็ต้องหลีกทาง เพราะถึงจะมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า แต่ก็มีพื้นที่ลุ่มน้ำใหญ่กว่าแม่น้ำโขงมากนัก
อาจารย์ไชยณรงค์อธิบายคุณค่าและความสำคัญของแม่น้ำโขงที่มีต่อคนท้องถิ่นว่า “แม่น้ำโขงมีคนมากกว่า ๖๐ ล้านคนเป็นเจ้าของมาตั้งแต่บรรพกาล คนเหล่านี้อาศัยแม่น้ำโขงจับปลาหาเลี้ยงชีพ ใช้น้ำอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกที่สุด รวมทั้งทำเกษตรริมโขงทั้งแบบยังชีพและกึ่งอุตสาหกรรม ตั้งแต่หนองคายไปถึงนครพนมเป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อทำซอส พื้นที่ริมฝั่งและในลำน้ำโขงแทบทุกหนแห่งที่จับปลาได้มีเจ้าของหมด”
ปลาเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพของระบบนิเวศและคุณภาพของแม่น้ำได้ดีที่สุด
เมื่อปลาในแม่น้ำโขงลดลงและหายไป นั่นหมายความว่าแม่น้ำกำลังจะตาย
“ไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด แต่มีต้นทุนด้านระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของชุมชนที่ไม่ถูกกล่าวถึง และเป็นภาระต้นทุนแฝงของระบบนิเวศและชุมชนที่ต้องแบกรับตลอดไป”
ลำแสงสุดท้ายมาจากอีกทาง สมานแล่นเรือกลับหมู่บ้านผ่านลวงของตัวเอง ผ่านเครื่องมือหาปลาที่ถูกวางทิ้งร้างตามตลิ่ง คนหาปลาอาจไม่มีวันได้นำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้อีก ถ้าหากไม่มีการทุบทำลายเขื่อนทิ้ง
คืนสิทธิ์ให้กับเจ้าของตัวจริงแห่งแม่น้ำโขง
เอกสารประกอบการเขียน
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly). (๒๕๖๖). มิตรแม่น้ำ. เชียงใหม่ : โคขยันมีเดียทีม.
ธีรภัท ชัยพิพัฒน์. (๒๕๕๑). “โม้ง-ลั้ง-ลวง อัตลักษณ์คนหาปลาบนแม่น้ำโขงและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ภายหลังการสร้างเขื่อนของจีน ศึกษาบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน”. กองทุนวิจัย (วิจัยทั่วไป) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มนตรี จันทวงศ์ นิจนิรันดร์ อวะภาค และ อารียา ติวะสุระเดช (บรรณาธิการ). (๒๕๕๘). นิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ลุ่มน้ำโขง จากแก่งคุดคู้ถึงผาชัน ในกระแสการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ.
ยศ สันตสมบัติ และคณะ. (๒๕๕๒). แม่น้ำแห่งชีวิต. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุพัตรา อินทะมาตร. (๒๕๖๑). “ระบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการพื้นที่หาปลาในลำน้ำโขงของชาวประมงพื้นบ้าน และผลกระทบจากการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”. พัฒนานิพนธ์ รายวิชาพัฒนาชุมชนภาคนิพนธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สพสันติ์ เพชรคำ. “ลวงลุ่มน้ำโขง : การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน บริเวณพรมแดนไทย-ลาว”. ใน วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๓.
ขอขอบคุณ
สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัด
ภาคอีสาน
กลุ่มฮักเชียงคาน จังหวัดเลย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคาย
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly)
องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ด้วยความระลึกถึง
หมู่บ้านชาวประมงริมแม่น้ำโขง
พี่บึ้ง พี่ดาว พี่บัน พี่ชาญณรงค์ อ้ายสุดตา เบล
เจษฎา ขิมสุข และภาพยนตร์เรื่อง Lost in Mekong Delta