ชะตากรรมแม่น้ำโขง
Foto Essay
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ภาพโดรน : นพ. สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์
ในอดีตแม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักว่า “Mighty Mekong” หมายถึงแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำเป็นสีปูนจากตะกอนหินและดินที่ถูกกระแสน้ำพัดพามา แต่ไม่นานมานี้เองที่แม่น้ำโขงถูกตั้งฉายาใหม่ว่า “Hungry Mekong” หมายถึงแม่น้ำโขงผู้หิวโหย เนื่องจากขาดแคลนตะกอนในน้ำ เพราะถูกเขื่อนตอนบนกักตะกอนไว้ โครงการต่าง ๆ ทั้งการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขา เขื่อนกันตลิ่ง ทำให้แม่น้ำไม่มีโอกาสไหลอย่างอิสระ
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างผูกพันกับทรัพยากรและสภาพแวดล้อม ชุมชนท้องถิ่นสั่งสมภูมิปัญญาเรื่องพันธุ์ไม้ พันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาในลักษณะต่าง ๆ
หากแต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยจากการล้างผลาญและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ กำลังนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาจถึงเวลาทบทวนและตรวจสอบทิศทางการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานความเคารพต่อความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น
แม่น้ำโขงบางช่วงแผ่กว้าง บางช่วงหดแคบลง เรือต้องแล่นตามร่องน้ำผ่านเกาะแก่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เกาะแก่ง หาดหิน หาดทราย แปรผันไปในแต่ละฤดู เกิดระบบนิเวศตามการขึ้นลงของแม่น้ำ บริเวณที่โผล่พ้นน้ำเป็นแหล่งวางไข่ของนกและแมลงหลายชนิด ที่เห็นชัดเจนช่วงฤดูแล้ง เช่น บุ่ง คัน หาด ผา เวิน ช่วงฤดูฝน เช่น คอน น้ำก้อง ซ่ง
ประตูระบายน้ำศรีสองรักสร้างกั้นคลองลัดที่ขุดขึ้นใหม่เพื่อตัดช่วงคดโค้งและย่นระยะของแม่น้ำเลยก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง เป็นจุดเริ่มต้นของอภิโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน ประกอบด้วยประตูระบายน้ำห้าบาน และอีกสองบานพร้อมประตูเรือ แม่น้ำเลยไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงฝั่งไทย นอกจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแล้ว ยังมีโครงการเขื่อนถูกสร้างอีกนับร้อยแห่งบนแม่น้ำสาขาต่าง ๆ
ต้นไคร้น้ำ (Homonoia riparia) ยืนต้นตายหลังแม่น้ำโขงแปรปรวนตลอดทั้งปี ๒๕๖๒ ทั้งความผันผวนของระดับน้ำและปริมาณตะกอนที่ลดลง เมื่อไม่มีดินตะกอนมาทดแทนมากพอ รากก็ลอยและทยอยตายไป เหลือแต่ต้นที่แคระแกร็น ต้นไม้ที่เหลืออยู่ไม่ว่าไคร้น้ำ หญ้าหวีด พลับพลึงธาร ส้มแหนบ นาวน้ำ หว้า หรือพันธุ์พืชท้องถิ่นอื่น ๆ ต่างพยายามต่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น
พลับพลึงธารแม่น้ำโขง (Crinum viviparum) บางพื้นที่เรียกว่าบัว เกิดในสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวริมฝั่งหรือท้องน้ำที่เป็นลานหินหรือแก่งหิน ทนทานต่อน้ำท่วมยาวนานนับเดือนในช่วงฤดูฝน และพร้อมออกดอกขยายพันธุ์เมื่อน้ำลดในฤดูแล้ง
หญ้าหวีด (Cryptocoryne sp.) มีหลากหลายสายพันธุ์ พบตามทางน้ำไหลริมแม่น้ำใหญ่ ในแม่น้ำโขงมักขึ้นบริเวณร่องเนินทรายอยู่กับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ต้นไคร้ ต้นหว้า การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงทำให้พืชท้องถิ่นตายลง สวนทางกับชนิดพันธุ์จากต่างถิ่น เช่น ไมยราบยักษ์ (ซ้าย) ที่ลุกลามเข้ามาในแม่น้ำโขง
ตลิ่งแม่น้ำโขงแบ่งเป็น “ตลิ่งระดับบน” กับ “ตลิ่งระดับล่าง” ตลิ่งระดับบนจะเพาะปลูกพืชผลได้ตลอดทั้งปี มีทั้งพืชล้มลุก เช่น ยาสูบ พริก มะเขือเทศ คะน้า ฟักทอง มันแกว พืชกึ่งยืนต้น เช่น กล้วย และพืชยืนต้นจำพวกไม้ผล ส่วนตลิ่งระดับล่างเน้นเพาะปลูกพืชผักเวลาน้ำโขงลดระดับลง ผลผลิตที่ได้มีทั้งบริโภคในครัวเรือนและส่งขาย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคาย แหล่งเพาะพันธุ์ปลาหายาก เช่น ปลาบึก ปลากระโห้ ปลาตะเพียน ปลายี่สก นำไปปล่อยเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ลุ่มน้ำพรมแดนและแหล่งน้ำสาธารณะ
ภาพวาดปลาเคิงหรือปลาคัง กับปลาตองหรือปลากราย พันธุ์ปลาท้องถิ่นในแม่น้ำโขง บริเวณบันไดท่าน้ำหน้าโรงเรียนบ้านเชียงคาน “วิจิตรวิทยา” ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและการเปลี่ยนผ่านรอบปี ช่วงแล้งหาดหิน หาดทราย และโขดหินจะโผล่พ้นน้ำ ช่วงน้ำหลากระบบนิเวศต่าง ๆ จมใต้น้ำ ระบบนิเวศย่อยในแม่น้ำโขงเกี่ยวข้องกับวัฏจักรชีวิตของพืช ปลา สัตว์น้ำ เป็นแหล่งวางไข่ อนุบาลตัวอ่อน แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย รวมทั้งเป็นที่พักและหลบซ่อนจากศัตรู ชีวิตในลุ่มน้ำโขงไม่ว่าคนหรือสัตว์ไม่อาจแยกขาดจากสิ่งอื่น ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน
ตลิ่งริมแม่น้ำโขงทรุดที่บ้านห้วยค้อ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสานตั้งข้อสังเกตว่า การกัดเซาะตลิ่งตลอดแม่น้ำโขงรุนแรงขึ้นหลังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกั้นแม่น้ำโขง ทำให้การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติ มีการขึ้นลงเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง ส่งผลต่อการกัดเซาะผิวดินริมตลิ่งจนถล่มลงมา
เขื่อนกันตลิ่งงบประมาณนับหมื่นล้านบาทถูกสร้างป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง เฉพาะปีงบประมาณ ๒๕๖๖ มีโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง ๑๗๑ โครงการ รวม ๔,๑๓๗,๐๔๐,๒๐๐ บาท ทั้งหมดดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย
การดูดทรายในปริมาณมากและขาดการควบคุมอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดผลกระทบต่อแม่น้ำ เปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ จนเกิดการขอให้ระงับหรือยกเลิกการดูดทรายในบางพื้นที่
การร่อนทองเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนระบบนิเวศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คนท้องถิ่นเรียกการไปร่อนทองว่า “ไปเล่นคำ” ขณะเดียวกันคนร่อนทองก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ของแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป
แม่น้ำโขงมีบทบาททางเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คน เป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้คนมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ประมงพื้นบ้าน เกษตรริมโขง หรือแม้แต่การขุดหินสวยงามริมแม่น้ำโขงขึ้นมาขาย
การแลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้าบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าระหว่างประเทศ ที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ฝั่งตรงข้ามบ้านโคกแห่ เมืองสังข์ทอง นครหลวงเวียงจันทน์ แม่น้ำโขงมีบทบาททางเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คน เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายครอบครัว
การแข่งขันเรือยาวประเพณีไทย-ลาว จัดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนกันยายน ที่เทศบาลตำบลหอคำ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ศึกเรือยาวชิงจ้าวสายน้ำสะท้อนความสัมพันธ์ของผู้คนสองฟากฝั่ง แต่บางพื้นที่ความผูกพันของคนกับแม่น้ำโขงก็เริ่มห่างเหินแล้ว