แท่งหินเล่าลุ่มน้ำโขง
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
สิ่งละอันพันละน้อยถ้าไม่มีหลักฐานอาจเหมือนไม่เคยเกิด
เมื่อหน่วยงานท้องถิ่นปรับอาคารชั้นเดียวที่สร้างปี ๒๔๔๐ เป็นศาลากลางหลังแรกของจังหวัด (อาคารตึกหลังแรกของมณฑลลาวพวน) ต่อมาเป็นหอวัฒนธรรมจังหวัด แล้วปี ๒๕๔๙ ก็เป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดหนองคาย ตัวอาคารคล้ายสถานที่ราชการของ สปป. ลาว ซึ่งได้อิทธิพลสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส รับกับหลักฐานของเมืองที่บันทึกว่าก่อนตั้งเป็นเมืองหนองคาย เดิมเป็นพื้นที่ขึ้นตรงกับนครหลวงเวียงจันทน์ มีชาวชุมชนเป็นลาวพวน (เมืองพวนเคยเป็นรัฐอิสระ มีเจ้าปกครองชาวพวนพูดสำเนียงใกล้เคียงชาวหลวงพระบางและชาวเวียงจันทน์จำนวนมากก็มาจากเมืองพวน) นิทรรศการมีเจ็ดห้องตั้งชื่อตามหัวข้อจัดแสดง ได้แก่ อัตลักษณ์หนองคาย, บุคคลสำคัญ, โบราณคดี, โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านโคกคอน, ความหลากหลายวัฒนธรรมหนองคาย, วิถีชีวิตชาวหนองคาย และพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อเมืองหนองคาย
โดยรวมเล่าถึงเมืองแต่ละสมัย ไม่ผิดถ้าจะเลือกทำความรู้จักปัจจุบันก่อนค่อยย้อนหาอดีต ผ่านรูปถ่ายบุคคลสำคัญ รูปครอบครัว ไล่เรียงอ่านสิ่งพิมพ์ที่รายงานข่าวกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ชมข้าวของที่ชาวบ้านมอบให้ รวมทั้งสิ่งจัดแสดงของชาวไทยอีสาน พระไม้แบบลาวพวน จำลองศาลเจ้าของชาวจีนเวียดนามในหนองคายช่วงปี ๒๕๐๐ ฯลฯ สรรพสิ่งสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมที่ชาวเวียดนามอพยพมาช่วงก่อน-หลังสงครามเวียดนาม และย้อนหลังไปยุคล่าอาณานิคมฝรั่งเศสที่หนองคายเสมือนปราการด่านเเรกในการต่อสู้กับฝรั่งเศสในลาว ผ่านหมวกเหล็กของนายทหารที่เข้ามาทำสงคราม จารึก “รุ่นสงครามอินโดจีน ปี ๒๔๘๓” มอบให้โดย อุดม วัฒนสุข ชาวเมืองหนองคาย
การบันทึกประวัติศาสตร์และเล่าวิถีชาวหนองคายไม่ได้เพิ่งมีหลังยุคก่อตั้ง “หนองค่าย” (หนองน้ำบริเวณที่ตั้งค่ายทหาร ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นหนองคาย) ครั้งเป็นฐานกองทัพสยามปราบฮ่อเมื่อปี ๒๔๑๘ ก็มีบันทึกผ่านพงศาวดารล้านช้าง รวมถึงในศิลาจารึกที่กษัตริย์เวียงจันทน์สร้างไว้มากทั่วหนองคาย อย่างจารึกที่วัดจอมมณี ลงศักราช พ.ศ. ๒๐๙๘ จารึกวัดศรีเมือง พ.ศ. ๒๑๐๙ จารึกวัดศรีบุญเรือง พ.ศ. ๒๑๕๑ ฯลฯ นอกจากนี้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็มี “ใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่อง”
น่าสนใจทั้งเสมาหิน “พระวิธุร-บัณฑิต” เดิมเป็นกลุ่มเสมาหินอยู่วัดดงนาคำ อำเภอโพธิ์ตาก ศิลปะทวารวดีชิ้นเอกของไทยอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี เล่าทศชาติชาดกที่ ๙ ตอนปุณณกยักษ์ถูกนางนาคใช้ให้มาเอาหัวใจของพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระวิธุรบัณฑิต พระองค์จึงทรงยืมม้าสินธพลงไปนาคพิภพแล้วเทศน์โปรดเหล่าพญานาคจนคลายความดุร้าย นับเป็นประติมากรรมชิ้นแรกที่กล่าวถึงพญานาคลุ่มแม่น้ำโขง
อีกชิ้นคือใบเสมาสลักภาพ “วิธุรชาดก” ทศชาติชาดกที่ ๙ ของพระโพธิสัตว์ก่อนจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหลักฐานบ่งบอกคติการสลักภาพชาดกว่าใช้เป็นศาสนบูชาในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ซึ่งวัฒนธรรมทวารวดีรุ่งเรือง นับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญยืนยันว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นบริเวณลุ่มน้ำโขงแห่งนี้มีชุมชนทวารวดีตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย
ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
พิพิธภัณฑ์จังหวัดหนองคาย
๑๒๐๓ ซอยมีชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ๔๓๐๐๐
เปิดชมฟรีทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. โทร. ๐๘-๓๔๕๙-๔๔๖๖