ไม่ใช่เฉพาะแต่หมู่บ้านท่าเรือที่เห็นในภาพนี้ หากผ่านไปในถิ่นคนชาติพันธุ์ลาวในช่วงเดือนสี่ก็จะพบเห็นงานบุญแห่พระเวสได้แทบทุกชุมชน
ลาว
แคน ผู้คน
และหมู่บ้านเครื่องดนตรีอีสาน
ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์
เวทีหมอลำยาวเกือบเท่ากำแพงด้านหนึ่งของวัดศรีโพธิ์ชัย หมอลำยุคนี้ไม่ได้ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีหลักในการแสดงอีกแล้ว แต่ความนิยมในท่วงทำนองดนตรีอันเร่งเร้าใจและในจังหวะการร้องลำสำเนียงอีสานยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย
ช่วงหนึ่งของเวทีหมอลำในงานสืบสานตำนานแคน งานบุญใหญ่ประจำปีของหมู่บ้านท่าเรือ แคนยังคงมีบทบาทสำคัญและได้แสดงตัวอย่างโดดเด่น เป็นการบรรเลงเพลงแคนหลากหลายทำนองของบรมครูแคนในชุมชน ซึ่งในปัจจุบันหมู่บ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทำแคนและเครื่องดนตรีอีสานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย เมื่อถึงยุคที่โลกมีตลาดออนไลน์ แคนจากหมู่บ้านท่าเรือก็ส่งขายให้นักดนตรีทั่วโลกด้วย
“แคนเกิดมาจากไหนไม่รู้ แต่เกิดมาก็เห็นคุณตาทำแคน พ่อก็ทำแคน ผมหัดทำแคนจากพ่อตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี และก็เล่นแคนมาตั้งแต่อายุ ๑๓ ด้วย” ปัจจุบันพ่อใหญ่ไสว ปฏิโยพันธ์ อายุ ๗๗ ปีแล้ว เป็นปราชญ์แคนคนหนึ่งของหมู่บ้านท่าเรือ ผู้นำคณะขึ้นเวทีโชว์เพลงแคนในงานสืบสานตำนานแคนของหมู่บ้านหลังออกพรรษาปี ๒๕๖๖
“ผมเป็นช่างแคน รู้สำเนียงเสียงของมัน รู้คู่ของมัน ทำเองได้ เล่นเองได้ ตัวแคนยาวเสียงทุ้ม ถ้าตัวสั้นเสียงแหลมขึ้น ทำมาเรื่อย ๆ สอนลูกศิษย์ไปด้วย สอนไปหลายสิบคนลูกหลานบ้านนี้ และยังทำแคนทุกวัน สืบสานไปเรื่อย ๆ เป็นมรดกของอีสาน”
เมื่อถามถึงเทคนิคเล่นแคนให้ไพเราะ พ่อใหญ่วิชัย แก้วอินที ปราชญ์แคนอีกคนตอบว่า อยู่ที่ลมเป่ากับจังหวะที่เข้ากันกับปลายนิ้วมือ
คนชาติพันธุ์ลาวเข้ามาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ และสืบเนื่องมาตามยุคสมัยและสถานการณ์ทางสังคมการเมืองระหว่างสองฝั่งมหานที ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีต่อมาพวกเขายังคงเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ภาพถ่ายเมื่อคราวสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรอีสาน ปี ๒๔๔๙ น่าจะเป็นภาพคนลาวภาคอีสานที่เก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่งที่ได้รับการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปร่างหน้าตาและแฟชั่นการแต่งกาย ซึ่งมีพลวัตไปตามยุคสมัยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่อยู่อาศัยและอาหาร ภาษาจึงถูกใช้เป็นสิ่งบ่งบอกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้ดีกว่าทางกายภาพ
“กระแทกนิ้วมือพร้อม ๆ กับทั้งดูดทั้งเป่า หายใจไปด้วยในตัว เสียงไม่ขาด แต่ก่อนผมเป่าได้ทั้งวัน เมดเลย์ต่อเพลงไปเลย สลับเพลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้อายุ ๗๕ ปีแล้ว ๒-๓ ชั่วโมงยังเล่นได้”
มือแคนอาวุโสของหมู่บ้านท่าเรือช่วยกันนับไล่เรียงลายทำนองเพลงแคนที่เล่นกันอยู่ในท้องถิ่นริมโขงว่ามีอยู่อย่างน้อย ๓๒ ลายทำนอง ซึ่งมักเรียกชื่อเป็นคู่น้อย-ใหญ่ เช่น เต้ยน้อย เต้ยใหญ่ ผู้ไทน้อย ผู้ไทใหญ่ ล้อตูบลายน้อย ล้อตูบลายใหญ่ ลายรอบเล็ก ลายรอบใหญ่ สุดสะแนนน้อย สุดสะแนนใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลายลำเพลิน ลายลมพัดข้าว ลายแม่ม่ายกล่อมลูกนอน ลายเดินขึ้นเขา ฯลฯ
ฟังเพลงแคนและความรู้จากหมู่ปราชญ์อาวุโสบ้านท่าเรือแล้วสืบสาวต่อไปว่าได้วิชาทั้งหลายนี้มาจากไหน
ปราชญ์แคนอาวุโสต่างอ้างถึงนาม “พ่อใหญ่โลน” แล้วชี้ให้ไปดูอนุสาวรีย์บิดาแคนที่ใต้ร่มต้นโพ ในมุมรั้ววัดศรีโพธิ์ชัย
มีรูปปั้นผู้ชายบุคลิกหน้าตาแตกต่างแต่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน บนผนังด้านหลังมีแถวตัวหนังสือบอกชื่อและวัย เรียงจากซ้ายคือ นายโลน แสนสุริยวงศ์ เกิด ๒๐ พ.ย. ๒๔๕๑ นายไกร แมดมิ่งเหง้า เกิด ๑๐ พ.ย. ๒๔๕๓ นายไคร้ แมดมิ่งเหง้า เกิด ๑๕ มี.ค. ๒๔๕๔ นายลอง แมดมิ่งเหง้า เกิด ๑๕ เม.ย. ๒๔๕๒
สี่คนในอนุสาวรีย์เป็นคนกลุ่มแรกที่นำการทำแคนมาสู่บ้านท่าเรือ
เริ่มต้นจากพ่อใหญ่โลน เดิมเป็นชาวบ้านยอดชาด อำเภอวังยาง มาสร้างครอบครัวที่บ้านท่าเรือ ได้ชักชวนเพื่อนในหมู่บ้านไปเรียนการทำแคนจากพี่ชายที่เป็นช่างแคนอยู่ที่บ้านเกิด แล้วกลับมาเริ่มทำเล่นกันในหมู่บ้านท่าเรือตั้งแต่ราวปี ๒๔๗๕ และสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนปัจจุบันทั้งการทำและการเล่นแคน
เมื่อปี ๒๔๔๕ ไทลาวราว ๓๐ คน อพยพตามลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ย้อนขึ้นมาทางต้นน้ำ จนถึงแถวโคกป่าเต็งรังที่มีไม้มะค่า ไม้ใหญ่ใบหนาขึ้นอยู่ริมหนอง ก็ลงหลักปักฐานตั้งบ้านหนองแต้และสร้างวัดศรีโพธิ์ชัยขึ้นเป็นวัดประจำชุมชน
อีกภาพคุ้นตาในชุมชนอีสาน ยามมีงานบุญ คนเฒ่าพาดเฉียงผ้าขาวตุ้มโฮมกันอยู่ที่วัด
“พ่อทำมาก่อน ตอนนี้พ่อ ๘๘ ปีแล้ว พี่ชายคนโตมาทำต่อเป็นรุ่นที่ ๒ แล้วมาพี่เขย ผมเป็นรุ่นที่ ๔ ของครอบครัวที่สืบทอดทั้งการเล่นการทำแคน” ไชยา ชา-สงวน ช่างทำแคนคนหนึ่งที่สืบทอดวิชาการทำแคนของหมู่บ้านท่าเรืออยู่ในปัจจุบัน
“อยากสืบทอดภูมิปัญญาไว้ พ่อมีลูกหลายคนทำให้เราไม่ได้เรียนหนังสือ ตั้งใจว่าจะทำแคนส่งลูกเรียน และให้ลูกรักษาภูมิปัญญาการทำแคนไว้ด้วย ตอนนี้คนโตจบปริญญาแล้ว ทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้า และเขาเป่าแคนเป็น”
เขาเล่าถึงวิธีการถ่ายทอดวิชาเป่าแคนให้แก่กันว่า หัดไปเรื่อย ๆ เหมือนเรียน ก ไก่ อาศัยฟัง ถ้าจำเสียงได้เพลงอะไรก็จะเล่นได้โดยไม่ต้องกางโน้ต
ไม่เพียงแต่ในครอบครัวชุมชนที่เรียนรู้สู่กันตามธรรมชาติ โรงเรียนมัธยมศึกษาในตำบลก็นำวิชาเป่าแคนไปเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้กับนักเรียนด้วย
ทุกวันนี้ผู้ชายในหมู่บ้านท่าเรือตั้งแต่ลูกเล็กเด็กน้อย คนหนุ่ม ไปจนถึงผู้เฒ่า ต่างเล่นแคนเป็นกันแทบทุกคน ยังไม่นับว่าอีกไม่น้อยทำแคนเป็นด้วย และมีจำนวนหนึ่งทำเป็นอาชีพ ฝีมือดีถึงขั้นส่งออกขายต่างประเทศ และนักดนตรีอีสานชั้นนำในเมืองไทยมาสั่งทำ
“ปลายทางไปทั่วโลก ฮ่องกง เม็กซิโก ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ขายให้พี่น้องม้งลาวและคนไทยที่อยู่นั่น และคนชาตินั้นด้วย เขาสั่งมาเป็นภาษาอังกฤษก็เอาให้กูเกิลช่วยแปล”
“อยากให้คนข้างนอกรู้ว่าเราเป็นหมู่บ้านช่างแคน ทำให้แคนอยู่คู่กับชาวท่าเรือ จังหวัดนครพนม และถิ่นอีสานเป็นร้อยปีมาแล้ว”
ช่างทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านประกอบลำไผ่เป็นตัวแคน และแปลงชิ้นไม้ให้กลายเป็นพิณ
ก่อนส่งไปสู่มือนักดนตรี
ตั้งแต่ระดับสมัครเล่นจนถึงมืออาชีพ หากเป็นเครื่องดนตรีอีสาน หมู่บ้านท่าเรือ นับเป็นแหล่งใหญ่สุดในยุคนี้
ส่วนในเมืองไทย
“ศิลปินไทย มนต์แคน แก่นคูน วงหมอลำศิลปินภูไท ใช้ทั้งแคน พิณ หวูดของผม ห้องอัดแกรมมี่โกลด์นี่ซื้อยกแผงเลยทั้งไมเนอร์ทั้งเซเว่นรวม ๑๒ ตัว ถึงรอบปีจะมาสั่งทำ สั่งแล้วรอ ๑๕ วัน ต้องจอง ลูกค้ามืออาชีพสั่งไม่เหมือนกัน ความยาวไม่แน่ ของศิลปินมืออาชีพทำไว้ก่อนไม่ได้”
โดยมาตรฐานส่วนตัวของช่างแคน
“ทำเสร็จแล้วต้องรู้สึกว่าชิ้นนี้เรายินดีซื้อจึงส่งขายให้ลูกค้า เราทำมาตรฐาน ลูกค้าจับชิ้นไหนได้ทุกตัว”
เป็นความภาคภูมิของหมู่บ้านท่าเรือที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ของตนเอง
“ชาวอีสานได้ยินเสียงแคนก็นึกถึงอีสาน ปากประตูสู่แดนอีสานที่โคราชก็มีประติมากรรมแคนใหญ่ให้คนเข้าสู่อีสานได้เห็น” ความภูมิใจของ เกษชัย มิ่งวงศ์ธรรม ผู้อาวุโสไทลาวชาวหมู่บ้านผลิตแคน “เราทำแคนให้เมืองขอนแก่นไปสร้างวงแคนใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว ทำให้เขากลายเป็นเมืองหมอแคน ด้วยแคนจากที่นี่ทำส่งให้ อยากให้คนข้างนอกรู้ว่าเราเป็นหมู่บ้านช่างแคน ทำให้แคนอยู่คู่กับชาวท่าเรือ จังหวัดนครพนม และถิ่นอีสานเป็นร้อยปีมาแล้ว”
นับร้อยปีของพัฒนาการหมู่บ้านทำเครื่องดนตรีอีสาน แต่ความเป็นมาของหมู่บ้านยาวนานกว่านั้น และหากนับไปถึงความเป็นมาของผู้คนก็ยิ่งยาวนานกว่า
ชาวบ้านท่าเรือเป็นคนชาติพันธุ์ลาว ชนชาติหลักกลุ่มหนึ่งของแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
เฉพาะทางฝั่งขวาก็อยู่มาอย่างน้อย ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี ตามหลักฐานภาพเขียนบนผนังหินผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งไม่แน่ว่าอาจเป็นลูกหลานของบรรพชนที่เขียนภาพไว้บนผนังถ้ำที่ผาแต้ม ริมแม่น้ำโขง หรือที่บ้านเชียงเมื่อหลายพันปีก่อน
สี่บรรพชนในอนุสาวรีย์บิดาแคน ผู้นำการทำแคนมาสู่หมู่บ้านท่าเรือ ต่อเนื่องยาวนานมากว่า ๑๐๐ ปี คนลาวหมู่บ้านนี้ยัง “สืบสานตำนานแคน” ซึ่งงานจัดใหญ่ทุกปีในบุญเดือนสี่
หลังผ่านยุคสมัยข้าวแลกปลา บ้านท่าเรือผ่านพ้นบทบาทการเป็นหมู่บ้านชุมนุมเรือ มาสู่หมู่บ้าน ทำเครื่องดนตรีที่สร้างรายได้หมุนเวียน
เข้าชุมชนปีละเป็นร้อยล้านบาท เป็นชุมชนผลิตเครื่องดนตรีอีสานแหล่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
รวมทั้งการอพยพโยกย้ายข้ามไปมา ซึ่งตามประวัติศาสตร์การอพยพของคนชาติพันธุ์ลาวเข้ามาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ และสืบเนื่องมาตามยุคสมัยและสถานการณ์ทางสังคมการเมืองระหว่างสองฝั่งมหานที และตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีต่อมา เขายังคงเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
สำหรับบ้านท่าเรือ หมู่บ้านริมขอบทางตะวันตกของอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ต่อแดนอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ในทุกวันนี้ไม่มีจุดเชื่อมต่อทางน้ำและไม่มีท่าเรือตามชื่อหมู่บ้าน รอบชุมชนเป็นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำกว้างใหญ่อย่างเหมาะกับการกสิกรรมและการหาอยู่หากินทางประมง ตัวชุมชนตั้งอยู่บนเนินและมีเนินเขาเตี้ย ๆ เก้าลูกกระจายอยู่รายรอบ บนยอดเขาเหล่านั้นบางแห่งมีการขุดพบโบราณวัตถุ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณพร้อมเครื่องประดับที่บ่งบอกฐานะและศักดิ์ทางสังคม
“วัดโพนสวรรค์ตั้งมาก่อนผมเกิด ทวดผมเป็นคนบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม มาบวชอยู่ที่นี่ ตอนหลังพระฝ่ายธุดงค์มาอยู่เป็น ๑๐ ปี ท่านไม่ได้ปลูกสร้างอะไร พระอาจารย์ท่านนี้มาจึงพาญาติโยมสร้าง ยอดเขาถูกตัดเป็นครั้งที่ ๓ เพื่อสร้างวิหาร พระลูกหลานบ้านนี้หมุนเวียนกันอยู่มาเรื่อย แต่ที่ตั้งวัดอยู่บนที่สาธารณประโยชน์ของสองเขตจังหวัด เขาว่าขออนุญาตตั้งวัดยาก”
พื้นภูมิของวัดที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญของชุมชนตามคำเล่า บุญนงค์ ยะภักดี โยมวัดโพนสวรรค์
“จนวันนั้นท่านกวาดพื้น เจอโครงกระดูกหญิงกับชาย เห็นโครงสร้าง เรียกว่าคน ๘ ศอกก็ได้ โครงยาว ผู้หญิงมีเข็มขัดนาก พอโดนอากาศเป็นสีเขียว เราใช้ที่สูบลมล้อรถเป่าดู ขุดเป็นรูปร่าง นอกนั้นก็เป็นไห หม้อดิน มีกระดูก แตกบ้างไม่แตกบ้าง ที่แตกน่าจะตอนตัดยอดเขาสร้างวิหาร แต่ทางจังหวัดสั่งให้กลบไว้ก่อน เอาเศษกระเบื้องหมายไว้ ถ้าเดินขึ้นไปหันหน้าเข้าหาวิหารโครงผู้หญิงจะอยู่ข้างขวามือ ผู้ชายอยู่ทางซ้ายมือ ถ้าไม่สั่งกลบไว้ป่านนี้วัดคงจะรุ่งเรืองน่าดู คนคงมามาก”
หลุมกระดูกมนุษย์โบราณที่ชาวบ้านเรียกคนแปดศอก บนยอดเขาที่พระวัดโพนสวรรค์พบโดยบังเอิญและวางกระเบื้องเป็นหมายไว้ รอการขุดค้นเป็นทางการ
บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานอาศัยมายาวนาน อาจมีช่วงที่ร้างไป กระทั่งมีคนเข้ามาอยู่ใหม่อีกครั้งเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน
ตามข้อมูลในเอกสารแนะนำหมู่บ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เล่าถึงต้นกำเนิดของชุมชนไทลาวแห่งนี้ว่า เมื่อปี ๒๔๔๕ ไทลาวราว ๓๐ คน จากบ้านไร่อีเป จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน นำโดยนายไชยราชกับนายศรีวงษา พากันอพยพตามลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ย้อนขึ้นมาทางต้นน้ำ จนถึงแถวโคกป่าเต็งรังที่มีไม้มะค่า ไม้ใหญ่ใบหนาขึ้นอยู่ริมหนอง ก็ลงหลักปักฐานตั้งบ้านหนองแต้ ตามชื่อต้นไม้ใหญ่ริมหนองที่คนลาวเรียกหมากแต้ และสร้างวัดศรีโพธิ์ชัยขึ้นเป็นวัดประจำชุมชน
ในหน้าฝน ห้วยก่อ ห้วยแกที่อยู่รายรอบหมู่บ้านมีน้ำหลากเอ่อขึ้นมาถึงหนองหมากแต้ เวิ้งน้ำเชื่อมกับลำน้ำอูนและแม่น้ำสงคราม เรือกระแชงจากศรีสงครามและชุมชนทางปลายน้ำที่ไม่มีพื้นที่ทำนาจะเดินขึ้นมาตามชุมชนนำปลามาแลกข้าวกับชุมชนกสิกรรมทางต้นน้ำ ซึ่งบ้านหนองแต้ก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่เป็นชุมทางจอดเรือในหนองท้ายหมู่บ้าน
กระทั่งปี ๒๔๙๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านท่าเรือ ตามบทบาทที่เป็นชุมทางเรือในฤดูน้ำหลาก
ถึงหน้าแล้งแถวห้วยบ่อเกลือและริมหนองเรือจะมีส่าเกลือผุดขึ้นจากใต้ดินให้ขูดไปต้มเป็นเกลือสินเธาว์เป็นอาชีพแรกที่คนบ้านหนองเรือได้ทำมาตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชน
แต่การต้มเกลือต้องตัดต้นไม้จำนวนมากมาทำฟืน รวมทั้งสร้างปัญหาดินเค็ม ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาทำผ้าไหม ก่อนกลายมาเป็นหมู่บ้านผลิตเครื่องดนตรีใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ชุมชนตั้งอยู่บนเนินและมีเนินเขาเตี้ย ๆ เก้าลูกกระจายอยู่รายรอบ บนยอดเขาเหล่านั้น บางแห่งมีการขุดพบโบราณวัตถุ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณพร้อมเครื่องประดับที่บ่งบอกฐานะและศักดิ์ทางสังคม
หลังผ่านยุคสมัยข้าวแลกปลา พร้อมการห่างหายไปของทางน้ำและการสัญจรทางเรือ หมู่บ้านท่าเรือผ่านพ้นบทบาทการเป็นหมู่บ้านชุมนุมเรือมาสู่หมู่บ้านทำเครื่องดนตรีที่สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าชุมชนปีละเป็นร้อยล้านบาท
ไม้ไผ่ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำแคนต้องสั่งซื้อจากลาวปีละเป็นล้านบาท
เฉพาะของไชยารายเดียวก็หลายหมื่นบาทต่อปี “ผมซื้อไม้ไผ่จากลาวปีละ ๒-๓ หมื่นบาท เขาตัดลำยาว ๔-๕ เมตร ทำเป็นมัด มัดละ ๑๐๐ ลำ ราคา ๓๐๐ บาท ใส่เรือข้ามฝั่งมาขึ้นที่ท่าอุเทน ขนใส่รถหกล้อมาส่งที่บ้าน ผมซื้อตุนไว้ ลำใหญ่เกินทำแคนก็ใช้ทำปี่ภูไท เศษปลายไม้ที่เหลือก็มีคนมาซื้อไปทำอย่างอื่นต่อ”
แคนเต้าหนึ่งใช้ไม้ไผ่ ๑๘ ลำเป็นวัสดุหลัก นำมาตัดให้ได้ขนาดความยาวตามระดับเสียงที่ต้องการ แล้ว “เข้าไฟ” คือผ่านความร้อนเพื่อดัดลำไผ่ให้ตรง ไฟจะช่วยกันมอดแมลงด้วย จากนั้นใช้เหล็กแหลมเจาะปล้องเป็นรู
เต้าแคน ทำจากไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้รักใหญ่ ไม้ประดู่ ไม้สัก ที่เหลือจากการทำพิณ เซาะร่องด้วยสิ่ว หรืออีเตอร์ไฟฟ้า
ขี้ผึ้งชันโรง สำหรับพอกปรับแต่งเสียง
ลิ้นโลหะ หลอมจากสตางค์แดง เงิน และน้ำทอง นำลงหม้อดินวางบนไฟจนหลอมเหลวรวมกัน ตีเป็นแผ่นบาง แล้วตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ แคนเต้าหนึ่งใช้ลิ้น ๑๖ ชิ้น
“ศูนย์รวมเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน” ที่ผลิตในหมู่บ้านท่าเรือ มีเครื่องดนตรีอีสาน ๑๔ ชนิด ให้เลือกหลากหลายขนาดและระดับราคาโดยเฉพาะแคน เครื่องดนตรีที่เป็นดีเอ็นเอและจิตวิญญาณอีสาน
นำลำไผ่ประกอบเข้าเต้าแคน ใส่ลิ้น แล้วเป่าเทียบเสียงให้ได้มาตรฐานเสียงดนตรีสากล หากต้องการให้เสียงทุ้มขึ้นใช้ชันโรงแปะ ถ้าอยากให้เสียงแหลมปาดออก
“เวลาเป่าลมจะหมุนอยู่ในเต้าแคน เกิดการสั่นของลิ้น ปิดรูไหนดังเสียงนั้น เหมือนคีย์บอร์ด กดคีย์ไหนดังเสียงนั้น กดหลายรูมันจะเข้าคู่กัน บางทีกดพร้อมกันห้าหกนิ้ว เป่า-ดูดเป็นเสียงเดียวกัน เสียงจะไม่ขาดช่วงเลย เวลาหมู่บ้านมีงานบุญผมก็ไปร่วมเล่น ไม่ได้เก่งมาก เล่นแบบศิลปินเพื่อชุมชน”
นอกจากเป็นชุมชนผลิตเครื่องดนตรีอีสานแหล่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทยที่ทำกันแทบทุกบ้านใน ๖๐๐ หลังคาเรือน ทั้งระดับสมัครเล่น ทำเป็นของโชว์ของประดับ จนถึงระดับมืออาชีพ เมื่อเข้าสู่ยุคตลาดออนไลน์ยังกลายโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีช่องทางสร้างรายได้จากสินค้าที่ท้องถิ่นผลิตขึ้น
“ผมเล่นดนตรีพื้นบ้านตั้งแต่เข้า ม. ๑ โรงเรียนในหมู่บ้านสอนเล่นแคน พิณ โหวด แต่ก่อนนั้นพ่อแม่พาทำเครื่องดนตรีมาแต่แรกแล้ว บ้านนี้เป็นหมู่บ้านทำเครื่องดนตรี เกือบทุกหลังคาเรือนทำแคน พิณกันมานาน เด็ก ๆ ก็เล่นเป็น ตอนอยู่ ป. ๖ ผมอยากหาเงินก็ไปรับจ้างขัดพิณ บางทีคนทำโปงลางจ้างไปช่วยงาน ตอนเรียนมัธยมฯรับจ้างทำเครื่องดนตรีหาเงินเรียน พอไปต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ไม่ได้ทำ จนอยู่ปี ๓ ลองขายพิณทางออนไลน์”
ผู้ชายในหมู่บ้านท่าเรือเล่นแคนเป็นกันแทบทุกคน ยังไม่นับว่าอีกไม่น้อย
ทำแคนเป็นด้วย ฝีมือดีถึงขั้นส่งออกขายต่างประเทศ และนักดนตรีอีสานชั้นนำในเมืองไทยมาสั่งทำ
ทนุศักดิ์ บินศรี เจ้าของร้านเครื่องดนตรีอีสาน เล่าชีวิตช่วงวัยรุ่นของเขาแบบย่นย่อ
“เห็นราคาที่เขาโพสต์ซื้อขายของกันทางไปรษณีย์ พิณขายกันแพงกว่าที่บ้านเรา ผมขายต่ำกว่านั้นได้ ในออนไลน์ ๓,๐๐๐ กว่าบาท ในหมู่บ้านเราขายกัน ๑,๐๐๐ กว่าบาท ผมซื้อมาปรับแต่ง หาสั่งอะไหล่มาให้ช่างเปลี่ยน เอาไปโพสต์ขาย ๒,๐๐๐ หักต้นทุนและค่าส่งแล้ว กำไรตัวละ ๕๐๐-๖๐๐ บาท ก่อนเรียนจบเป็นช่วงโควิด-๑๙ ขายดีมาก ได้เงินมาซื้อที่ทำร้านและตั้งโรงงานทำพิณกับโปงลางเมื่อปี ๒๕๖๔”
โรงงานของทนุศักดิ์ตั้งอยู่ใกล้หนองเรือ บึงน้ำใหญ่ท้ายหมู่บ้านท่าเรือ
เป็นอาคารโรงเรือนปลูกง่าย ๆ มีเครื่องมืองานไม้ครบชุด ช่างเป็นสิบคนกำลังง่วนอยู่กับงานของตน เปลี่ยนท่อนไม้ให้กลายเป็นตัวพิณ
“ไม้แผ่นหนึ่งทำได้สองตัว ไขว้กัน พิณโปร่งเจาะด้านหน้าแล้วใช้ไม้อัดแปะ พิณไฟฟ้าใส่ตัวขยายเสียง ใส่แจ็ก แล้วใช้แผ่นปิดหลัง เล่นกับเครื่องดนตรีสากลได้” ช่างทำพิณพูดขณะหยิบท่อนไม้ขนุนหนา ๔ เซนติเมตร ยาว ๒๕ เซนติเมตร วางจ่อใบเลื่อยที่กำลังหมุนจี๋ด้วยแรงมอเตอร์ไฟฟ้า
“ผมลงทุนซื้อไม้ เอาแบบมาให้ช่างทำ วัดครั้งเดียวแล้วทำแบบไว้ทาบ ไม้ชนิดเดียวกันราคาต่างกันที่อุปกรณ์ ทั้งพิณโปร่ง พิณไฟฟ้า และพิณโปร่งไฟฟ้า ราคาเริ่มตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น เกรดกลาง ๆ สมัยก่อนราว ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ตอนนี้ปรับลงมา ๒,๐๐๐ กว่า ให้จับต้องได้ง่ายขึ้น และการแข่งขันสูง บางเจ้าเริ่มต้น ๔๐๐-๕๐๐ บาทก็มี แต่ของเราคัดเกรด และผมจ้างช่างแพง ตั้งแต่ ๓๐๐ บาทถึง ๑,๐๐๐ กว่าบาทต่อตัว โรงงานมีช่าง ๑๒ คน ถ้าเกรดง่ายก็ทำเร็ว ใครทำเยอะได้เยอะ วันละสองตัวได้ แต่เฉลี่ยก็วันละตัวต่อคน”
นอกจากพิณ ตอนหลังโรงงานของทนุศักดิ์ยังผลิตโปงลาง ไห เบสโปร่ง กรับ เกราะ และเครื่องดนตรีอีสานชนิดอื่น ๆ ด้วย สำหรับพิณมีทั้งแบบสอง สาม และสี่สาย
เสียงดนตรีอีสานยังเดินทางไกล เช่นเดียวกับเผ่าพงศ์คนชาติพันธุ์ลาวที่ยังคงเคลื่อนไหลวิถีชีวิตไปตามยุคสมัย พร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ อย่างน้อยที่สุดก็ในด้านดนตรีอันรื่นเริงใจ
พร้อมกับการตั้งชุมชน คนลาวมักสร้างวัดขึ้นเพื่อศาสนกิจ ศูนย์กลางของชุมชนที่รวมคน รวมทั้งเป็นลานมหรสพในงานรื่นเริง
“การขายออนไลน์ต้องใช้เงินซื้อโฆษณา จ่ายค่ายิงแอด ๕๐๐ บาท คนเห็นราว ๕,๐๐๐ คน ซื้อ ๑๐-๒๐ คน เราก็อาจได้กำไร ๕,๐๐๐ หรือ ๑ หมื่นบาท ขายเฉลี่ยราว ๒๐-๒๕ ตัวต่อวัน ผลิตเองได้ ๑๐-๑๕ ตัวต่อวัน ตอนนี้ยังซื้อพิณของคนอื่นมาขายด้วย”
แต่สำหรับแคน ทนุศักดิ์เห็นว่าในหมู่บ้านมีคนทำอยู่เยอะแล้ว เขาไม่ผลิต แต่เป็นผู้คัดรวบรวมมาวางขายใน “ศูนย์รวมเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน”
“ในหมู่บ้านยังไม่มีคนทำร้านให้ลูกค้ามาซื้อ เน้นออนไลน์ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องสต๊อก แต่ผมอยากให้มีแหล่งศูนย์รวมเครื่องดนตรีอีสาน ที่ผ่านมาก็มีทั้งลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่นักดนตรีและศิลปินก็มี”
จากพ่อค้าออนไลน์ส่งขายทางไปรษณีย์ รายได้ดีจนต่อมาเขาสามารถซื้อที่แถวต้นทางเข้าหมู่บ้านตั้งร้านขายเครื่องดนตรี นอกจากพิณ แคน โหวด ที่ผลิตเอง เขายังหาเครื่องดนตรีอีสานครบทุกชนิดมาวางให้เป็นศูนย์จำหน่ายเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานที่พร้อมครบจบในร้านเดียว นอกจากลูกค้าที่มาลองเล่นเลือกซื้อในร้านคำสั่งซื้อทางออนไลน์ก็ยังมีเข้ามา ต้องมีคนมาช่วยแพ็กห่อและมีเจ้าหน้าที่ขนส่งมารับถึงบ้านทุกวัน
เสียงดนตรีอีสานยังเดินทางไกล เช่นเดียวกับเผ่าพงศ์คนชาติพันธุ์ลาวที่ยังคงเคลื่อนไหลวิถีชีวิตไปตามยุคสมัย พร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ อย่างน้อยที่สุดก็ในด้านดนตรีอันรื่นเริงใจ
ตามที่กล่าวกันเป็นทีเล่น แต่สะท้อนความเป็นจริงที่สุดว่า หมอลำอยู่ในสายเลือดชาติพันธุ์ลาว ได้ยินเสียงพิณแคนบรรเลงก็ลุกขึ้นฟ้อนได้ทันที