Image

แผนที่เดินดินเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน ดังเช่นหมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้แผนที่เดินดินช่วยทำความเข้าใจและวางแผนในการฟื้นฟูลำห้วยจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว 

แผนที่นักสู้
ของผู้ “เดินดิน”

คนก(ล)างแผนที่

เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

“ที๊งคูเท๊ะฌี้” หรือ “ต้นน้ำดีที่อมก๋อย” เป็นชื่อแผนที่ที่ชาวกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยกันขีดเขียน เพื่อแสดงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแหล่งน้ำ

คำว่า “อมก๋อย” ในภาษาลัวะแปลว่าขุนน้ำหรือต้นน้ำ คำว่า “ที๊งคูเท๊ะ” เป็นภาษาถิ่นกะเหรี่ยงโปว์ แปลว่าต้นน้ำ  และ “ฌี้” แปลว่าดีหรือสวย ทั้งสองคำรวมกันเป็น “ต้นน้ำดี” เป็นชื่อเรียกเหมาะสมที่สุดของแผนที่ สื่อความตรงตามเจตนารมณ์ของชาวชุมชนบนดอยสูง

บ้านเรือน วัด ถนน เกาะกลุ่มเป็นชุมชนที่ตำแหน่งมุมบนซ้ายของแผนที่ ใต้ลงมาคือแหล่งทรัพยากรหล่อเลี้ยงชุมชน จากจุดบรรจบของห้วยมะขามกับห้วยผาขาวเป็นบริเวณพบแร่ถ่านหินที่จะกลายเป็นเขตเหมือง เส้นสีฟ้าทอดยาวพาดผ่านกลางกระดาษจนสุดขอบด้านล่าง สองข้างทางเต็มไปด้วยลำห้วยสาขา จากทิศเหนือจดทิศใต้ เช่น ห้วยโดยดังกล๊อง ห้วยทีแวคี ห้วยฌี๊ล่างท่อง ห้วยกองต๊อก ห้วยผีปาน เป็นต้น เส้นสีเงินแทนลำน้ำสาขาไหลมาบรรจบห้วยผาขาวที่เป็นลำน้ำหลัก

นอกจากแหล่งน้ำสำคัญต่าง ๆ แล้ว แผนที่ยังแสดงตำแหน่งไร่ฟักทอง ไร่มะเขือเทศ นาข้าว ที่ตั้งป่าจิตวิญญาณขนาดประมาณ ๓๙ ไร่ พื้นที่เลี้ยงวัว จุดขุดพบถ้วย จาน หม้อดินโบราณ รวมทั้งไปป์ หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่าโมะ จุดเลี้ยงผีนาหรือเสี้ยนผีนาที่คนกะเบอะดินจะทำกันสม่ำเสมอหลังเพาะปลูกแล้วเสร็จและช่วงข้าวตั้งท้อง เพื่อขอให้ผลผลิตและราคาดี 

สัญลักษณ์ทั้งหลายบนแผนที่ ตั้งแต่รูปวาดมะเขือเทศ ฟักทอง วัว ปลา ปูในลำห้วยลำธาร บ่อน้ำ ต้นไม้ขนาดใหญ่ในธรรมชาติ ปูพรมไปทั่วทั้งกระดาษ คงทำให้คนดูแผนที่เข้าใจว่านี่เป็นดินแดนของคนผลิตอาหารและเป็นหมู่บ้านอันสงบสุข

แต่...

“เราไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย”

Image

หลังหมู่บ้านเป็นไร่ฟักทอง มะเขือเทศ นาข้าว แหล่งน้ำซับ แหล่งเลี้ยงวัว  มีป่าจิตวิญญาณขนาดประมาณ ๓๙ ไร่  และจุดขุดพบถ้วย จาน หม้อดินโบราณ รวมทั้งไปป์ หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่าโมะ

ที๊งคูเท๊ะฌี้

แม้แทบทุกหนแห่งบนแผนที่จะถูกระบายด้วยสีเขียวกับสีฟ้า แต่ พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนที่เกิดและเติบโตภายในหมู่บ้านเล่าว่า “ที๊งคูเท๊ะฌี้” ถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายอันตรายที่จะเกิดกับชุมชนต่างหาก เธอบอกว่าการทำแผนที่เป็นหมุดหมายหนึ่งของการต่อสู้และก้าวย่างคนอมก๋อย หลังโครงการเหมืองถ่านหินคืบคลานเข้ามา

“ตั้งแต่ถ่านหินซับบิทูมินัสถูกค้นพบในลำห้วยที่พวกเราใช้ดำรงชีวิต มีสายแร่อยู่ที่ห้วยผาขาวกับห้วยมะขาม โครงการเหมืองถ่านหินก็เข้ามา”

ข้อห่วงกังวลของชาวกะเบอะดินคือเหมืองแร่ถ่านหินจะสร้างมลพิษในน้ำและอากาศ กระทบวิถีการทำเกษตร และชุมชนอาจต้องย้ายหนีเหมือง 

“เจ้าของโครงการวางแผนเบี่ยงเส้นทางน้ำ ทั้ง ๆ ที่ลำห้วยสำคัญกับเรามาก กระบวนการผลิต พืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี พริก ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยน้ำ เราเขียนไว้บนแผนที่เลยว่ามะเขือเทศที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องใช้น้ำมาก ไร่มะเขือเทศของเราเป็นเพียงไม่กี่แหล่งที่ปลูกได้ในหน้าแล้งเพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์  ผลผลิตของเราถูกส่งไปกระจายต่อที่เชียงใหม่ ลำพูน กรุงเทพฯ พืชผลอื่น ๆ อย่างกะหล่ำปลี ฟักทอง ก็ถูกส่งออกไปยังตลาดค้าส่งต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ”

ย้อนเรื่องไปเริ่มจากบริษัทเอกชนยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินในปี ๒๕๔๓ มีการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีกฎหมายรองและประกาศต่าง ๆ ตามมา เปิดพื้นที่ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ ชุมชนต่าง ๆ ในอำเภออมก๋อยรวมตัวยื่นจดหมายและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินต่อนายอำเภอ

เดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต่อมา กสม. ชี้ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อจัดทำรายงานอีไอเอ (EIA) โครงการเหมืองแร่ถ่านหิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ผู้นำศาสนาและชาวชุมชนในอำเภออมก๋อยกว่า ๕๐๐ คน ร่วมประกอบพิธีบวชป่า ฝังหมุดประกาศเขตพื้นที่ทางจิตวิญญาณบริเวณพื้นที่ป่าหมู่บ้านกะเบอะดิน

๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ยื่นเรื่องให้สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทบทวนมติอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของเหมืองถ่านหิน

ระหว่างเส้นทางการต่อสู้ ภาคประชาชนนำโดยเยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดินจัดทำแผนที่ “ที๊งคูเท๊ะฌี้” เป็นข้อมูลประกอบอีกทาง

พรชิตาเล่าว่ากลุ่มเยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดินใช้เวลาประมาณ ๑ ปี ออกสำรวจทั่วหมู่บ้าน ลงมือทำแผนที่อย่างจริงจังตั้งแต่เดือนเมษายน และสำเร็จในเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ 

“การทำแผนที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าถ้าหากมีโครงการเหมืองแร่ถ่านหินจะส่งผลต่อชุมชนอย่างไร ทั้งในแง่สุขภาพ ที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ ต่อไปวัวอาจจะต้องกินน้ำเสียจากเหมืองหรือไม่มีน้ำกิน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อป่าต้นน้ำ จุดที่พบแร่ถ่านหินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้วยผาขาวที่ไหลผ่านเขตเหมืองก็จะไหลไปสู่แม่น้ำเมย”

ถ่านหินเกรดซับบิทูมินัสพบได้ในแอ่งกะเบอะดิน มีมากตรงจุดบรรจบของห้วยผาขาวกับห้วยมะขาม บริษัทเอกชนจึงยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

Image

จะเกิดอะไรหากแก่งกะเบอะดินกลายเป็นเขตเหมือง  คนในหมู่บ้านช่วยกันทำแผนที่แสดงตำแหน่งชุมชน สายน้ำ ป่าจิตวิญญาณ พื้นที่การเกษตร ฯลฯ

แผนที่เดินดิน

แผนที่ “ที๊งคูเท๊ะฌี้” ของคนอมก๋อยเป็นรูปธรรมของ “แผนที่เดินดิน” 

นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เคยเขียนไว้ในหนังสือ วิถีชุมชน : เครื่องมือ ๗ ชิ้นที่ทำให้งานชุมชน ง่าย ได้ผล และสนุก สำนักพิมพ์สุขศาลา ตีพิมพ์ในปี ๒๕๕๔ ว่า แผนที่เดินดินเป็นหนึ่งในเจ็ดเครื่องมือศึกษาชุมชน ร่วมกับการจัดทำผังเครือญาติ, โครงสร้างองค์กรชุมชน, ระบบสุขภาพชุมชน, ปฏิทินชุมชน, ประวัติศาสตร์ชุมชน และประวัติชีวิต แสดงภาพรวมของชุมชนในมิติต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ไปจนถึงสถานการณ์ปัญหาอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเข้ามาช่วยกันทำแผนที่ผ่านการเดินสำรวจ จดบันทึก สัมภาษณ์ สนทนากลุ่ม ค้นคว้าข้อมูลเอกสาร

กระบวนการอาจเริ่มจากนำแผนที่ที่มีอยู่แล้วมาลงข้อมูลพื้นฐาน เช่น เลขที่บ้าน ชื่อเจ้าของบ้าน สถานที่สำคัญ จากนั้นออกเดินสำรวจ พูดคุย และสังเกต หลีกเลี่ยงการใช้รถ เขียนอธิบายรายละเอียดทางกายภาพของบ้านเรือน เช่น บ้านเก่า มีรั้ว ไม่มีคนอยู่อาศัย

ธนกฤต โต้งฟ้า ผู้ช่วยงานรณรงค์ลุ่มน้ำโขง เอิร์ธไรซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรเอกชนต่างประเทศด้านกฎหมาย เคยนำแผนที่เดินดินมาใช้ศึกษาทำความเข้าใจชุมชนหลายแห่งให้ความเห็นว่า แผนที่เดินดินช่วยให้มองเห็นภาพรวมของชุมชน ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากภายในระยะเวลาสั้น ๆ ข้อมูลน่าเชื่อถือเพราะได้มาจากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตัวเอง  การทำแผนที่เดินดินเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ช่วยสร้างความคุ้นเคยกัน มองเห็นกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ได้รับผลกระทบที่จะทำงานสานต่ออย่างทั่วถึง

สำหรับธนกฤต นอกจากเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการทำแผนที่เดินดินในชุมชนต่าง ๆ ตัวเขาเองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยผ่านความเจ็บปวดมาก่อนจากโครงการเหมืองตะกั่ว

หลังจากโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาประกอบกิจการแต่งแร่ริมลำห้วยคลิตี้ที่ไหลผ่านหมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จนเกิดการปนเปื้อนของกากแร่ลงในลำน้ำ นำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องและฟ้องคดีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องฟื้นฟูลำห้วยในเวลาต่อมา

คลิตี้ล่าง

ลึกเข้าไปในผืนป่า คลิตี้ล่างหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากตัวอำเภอทองผาภูมิร่วม ๘๐ กิโลเมตร บางพื้นที่ในหมู่บ้านไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำประปาเข้าไม่ถึง ไม่มีถนนหนทางให้รถวิ่งอย่างสะดวกสบาย ระบบระบุพิกัดบนพื้นโลกอย่างจีพีเอส (GPS) รวมทั้งกูเกิลแมป (Google Maps) ก็แทบเข้าไม่ถึงเช่นกัน กลุ่มเยาวชนคลิตี้ล่างออกเดินไปทีละก้าวเพื่อบันทึกเรื่องราวลงบนแผนที่

ตำแหน่งของจุดอาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน หุงข้าว เก็บผักริมห้วย ดำน้ำหาปลา ตกปลา ช้อนกุ้งช้อนหอย ค่อย ๆ ถูกปักหมุดลงบนแผนที่เดินดินทีละจุด เช่นเดียวกับตำแหน่งของพื้นที่ทำกินและบ้านแต่ละหลัง

ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนคลิตี้ล่างดีจัง ถ่ายทอดเหตุการณ์ระหว่างทำแผนที่ว่า “เราหอบแผนที่เดินไปทีละบ้าน ลงข้อมูลชาวคลิตี้ล่างที่มีตะกั่วอยู่ในร่างกาย พอทำไปได้ระยะหนึ่งก็นำแผนที่มากางให้ชาวบ้านดู บางคนอวดเพื่อนว่าจุดนี้เขาช่วยเขียน จุดนี้เขาบอกข้อมูล คุณยายอายุมากที่สุดในชุมชนบอกว่าอย่าลืมบ้านยายนะ เรารีบชี้ให้ยายดู ยายยิ้มดีใจที่เราไม่ลืมเขียนบ้านแก”

รายละเอียดบนแผนที่ลงลึกไปถึงจุดอาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน ดำน้ำหาปลา ฯลฯ ถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางประกอบการพูดคุยโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว

ต้นปี ๒๕๖๓ แผนที่ร่างแรก ๆ ของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านถูกนำไปให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลงรายละเอียดเพิ่มเติม พบว่าชื่อสถานที่ที่เด็กเรียกกับผู้ใหญ่เรียกไม่เหมือนกัน จึงนัดหมายลงพื้นที่รอบหมู่บ้านร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจ และให้แผนที่ออกมาถูกต้องใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment Platform - CHIA Platform) หนึ่งในหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนการทำแผนที่เดินดินอธิบายเพิ่มเติมว่า

“การทำแผนที่เดินดินหรือแผนที่ชุมชนไม่ใช่แค่เพื่อทำแผนที่ หากแต่ต้องทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าแผนที่นี้เป็นของเรานะ  กรณีหมู่บ้านคลิตี้ล่างแผนที่การใช้ประโยชน์จากลำห้วยคลิตี้เริ่มต้นวาดโดยคนในชุมชนไม่กี่คนเท่านั้น จากนั้นนำไปปรึกษาหารือทีละบ้าน เมื่อลงข้อมูลครบก็นำมาไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้ผู้ปกครองที่มาส่งเด็กได้ช่วยกันตรวจสอบ เติมเต็ม เสร็จแล้วนำมาทำเป็นกราฟิก แล้วให้คนในชุมชนช่วยกันตรวจสอบอีกครั้ง ใช้โอกาสในวันออกพรรษาที่ชาวบ้านเกือบทั้งหมดจะมาทำบุญที่วัดปรึกษาหารือและตรวจแผนที่ร่วมกัน  การทำแผนที่ไม่ยาก แต่การทำแผนที่ให้มีชีวิตและคนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ง่าย”

สิ่งสำคัญของการทำแผนที่เดินดินคือเมื่อเขียนแผนที่แล้วมองเห็นความสัมพันธ์หรือวัฒนธรรมของชุมชนนั้นชัดเจนหรือไม่ แสดงออกถึงภูมิปัญญา ขุมพลัง รวมถึงโอกาสของชุมชนนั้นอย่างไร

ที่ผ่านมาแผนที่เดินดินถูกใช้เป็นสื่อกลางการพูดคุยและเป็นข้อมูลอีกชุดที่ชาวบ้านนำไปโต้แย้งกับอีกฝ่ายได้อย่างมีเหตุมีผล ยกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านกะเบอะดิน หมู่บ้านคลิตี้ รวมถึงกรณีแผนที่เดินดินชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ชุมชนในอำเภอแม่ลาน้อยที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ฟลูออไรต์ พื้นที่ชายแดนจังหวัดน่านได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าหงสา

“แทนที่จะรอรับฟังอย่างเดียว เขากลายเป็นผู้รู้ อย่างน้อยที่สุดรู้ว่าต้นทุนแท้จริงของโครงการพัฒนาหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ มีอะไรบ้าง นี่คือกลไกการสร้างความรู้ ไม่ใช่แค่การมาให้สุขศึกษา แต่มันไปถึงระดับการสร้างความฉลาดทางด้านสุขภาพ ที่พร้อมต่อสู้เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชนตัวเอง” สมพรอธิบาย
..
การก้าวเดินไปในชุมชนเพื่อทำแผนที่เดินดินเป็นวิธีการขั้นต้น ทำให้มองเห็นพื้นที่ทางกายภาพ เข้าใจพื้นที่ทางสังคม มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในชุมชน

ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะทำให้เสียงคนเดินดินดังขึ้น