ทีม Refield Lab สามคนจากซ้ายไปขวา ได้แก่ อรกมล นิละนนท์, นักรบ สายเทพ และ อัตนา วสุวัฒนะ ทีม mor and farmer สามคนถัดมา ได้แก่ ธาริต บรรเทิงจิตร, รินรดา ราชคีรี และ ภาสุร์ นิมมล
แผนที่ (เดินเล่น) ชุมชน
ย่อยเรื่องยากมาไว้ในมือ
คนก(ล)างแผนที่
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เจ๋งดีที่มีคนคิดว่า “แผนที่ชุมชน” เป็นได้มากกว่านำเที่ยว
พวกเขาจึงคิดวิธีเดินเล่นให้คนพื้นที่นำไปใช้พัฒนาชุมชน
เกิดเป็น “mapmap GO! บางกอกใหญ่” แผนที่กระดาษขนาด A1 ที่ชาวภูมิสถาปนิก “Refield Lab” ผู้สนใจการวิเคราะห์พื้นที่โดยเชื่อมโยงกับความรู้งานออกแบบ นำแพลตฟอร์มดิจิทัลชื่อ mapmap studio ที่กลุ่มนักออกแบบ “mor and farmer” ผู้สันทัดการนำข้อมูลวิจัยมาสร้างเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเคยทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้กรุงเทพมหานครมาต่อยอดฐานข้อมูล กลายเป็นแผนที่ที่ชวนผู้คนมาตีซี้กับเมืองชื่อเบ้อเร่อแต่มีขนาดเพียง ๖.๑๘ ตารางกิโลเมตร...ถ้าเดินได้ก็เดินเถอะ !
“พวกเราเคยเห็น ‘GoodWalk Map’ ของลอนดอนสำรวจเมืองเพื่อหาเส้นทางเดินเงียบสงบให้ผู้คนอังกฤษมีแนวคิดเรื่อง slow life แม้ทั้งเกาะจะมีถนนสำหรับรถยังหาวิธีทำให้คนขับช้าที่สุด พร้อมพัฒนาทางเดินควบคู่ ผมสนใจ ‘การเดินเมือง’ พอรู้จักเครือข่ายกลุ่ม ‘ยังธน’ ผลักดันให้คนฝั่งธนบุรีลุกขึ้นมาพัฒนาย่าน และบริษัท ‘CROSS and Friends’ ที่ตั้งอยู่บนถนนอิสรภาพมีแนวคิดเรื่องการแบ่งพื้นที่ให้คนบางกอกใหญ่ร่วมใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมต่าง ๆ มีโอกาสเหมาะจึงคุยกันว่าอยากทำแผนที่ ‘เมืองที่ผู้คนสามารถเดินได้’ อาจใช้ขนส่งสาธารณะควบคู่การเดินอีกหน่อยก็สามารถไปถึงสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเราอยากให้เป็นข้อมูลที่ได้จากคนพื้นที่จริง ๆ จึงต้องเลือกชุมชนที่มีเครือข่ายทำงานอยู่จะได้อำนวยความสะดวกในการสำรวจ”
นักรบ สายเทพ ภูมิสถาปนิกและนักวิจัย Refield Lab ย้อนความตั้งใจแรกที่ทำให้ตื่นเต้นกับมัน
ธาริต บรรเทิงจิตร สถาปนิกข้อมูล mor and farmer ผู้ออกแบบและจัดทำแผนที่วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ เสริมเบื้องหลังภารกิจเฟ้นเส้นทางย่านที่รุ่มรวยด้วยสินทรัพย์ประดามี
“บางกอกใหญ่มีร่องรอยประวัติศาสตร์เด่นชัดเพราะเป็นกรุงธนบุรีเก่า มีโบราณสถานสำคัญอย่างวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีศาสนสถานเก่าแก่สะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด มีตลาดและชุมชนดั้งเดิมกระจายตัวอยู่มาก ทำให้พื้นที่มีศิลปวัฒนธรรมเด่นในอัตลักษณ์ แต่นอกจากวัดอรุณฯ ก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราจึงอยากรวบรวมมาไฮไลต์ให้ผู้คนได้สังเกตเห็นชัด”
ยังมีเส้นทางน่าเดินสำหรับนักทอดน่องที่ชื่นชอบพื้นที่สีเขียวและสนใจวิถีชีวิตแบบชุมชนเกษตร
อรกมล นิละนนท์ และ อัตนา วสุวัฒนะ สองสาวภูมิสถาปนิกและนักวิจัยทีม Refif ield Lab สลับเล่าประสบการณ์ลงพื้นที่และเสริมข้อมูลน่าสนใจร่วมกับ รินรดา ราชคีรี นักวิจัย mor and farmer
“อย่าง ‘สวนลุงสรณ์’ ลุงสรณ์ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรที่เหลืออยู่รายเดียวในบางกอกใหญ่ที่ยังทำเกษตรเอง เป็นต้นแบบของแหล่งอาหารใกล้บ้าน มีร่องสวนแบบบ้านต่างจังหวัด เข้าใจนิเวศชุมชนว่าต้องจัดการน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้น้ำเสียเข้าสวน ตอนเห็นครั้งแรกรู้สึกว้าวมาก ด้วยที่ตั้งสวนอยู่ในเมือง จากปากซอยที่เต็มด้วยตึกสูง มีทางรถไฟฟ้า ถนนมีรถราวิ่งวุ่นวาย แต่เดินเข้าซอยนิดเดียวบรรยากาศก็เปลี่ยน นอกจากที่นี่ก็มี ‘สวนบางกอกใหญ่’ เป็นสวนสาธารณะใจกลางฝั่งธนฯ ที่ยังมีร่องสวน สมัยก่อนมีจำนวนมากแต่ถูกความเป็นสังคมเมืองรบกวน หลายคลองในพื้นที่เอกชนจึงกลายเป็นแหล่งน้ำเน่าเสีย หรือบางคูคลองยังสะอาดแต่กำลังมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณนั้น เราจึงอยากบันทึกโครงข่ายนิเวศลงแผนที่ไว้ กระตุ้นให้คนเห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียวที่ยังมีอยู่หลากรูปแบบ”
เพราะการมองเห็นโอกาสจากทุกเหตุการณ์เล็ก ๆ ย่อมส่งต่อกันไปถึงจุดหมายปลายทางได้
และสิ่งสำคัญของแผนที่แบบพวกเขาคือ “เส้นทางเท้า” ที่เดินได้จริงเพื่อนำไปสู่การชมเมือง
ภาสุร์ นิมมล นักออกแบบกลุ่ม mor and farmer ผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการและประสานงาน เล่าเบื้องหลังการร่วมมือกับคนในพื้นที่เพราะอยากให้เจ้าบ้านได้ระบุเองว่าอยากให้มีอะไรในย่านของเขา
“ ‘ปล่อยให้เดินหลงบ้างคงไม่เป็นไร’ เสน่ห์ของการเดินเที่ยวชุมชน คือการปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ตามใจเรา ไม่ต้องเดินให้ครบวงรอบหรือไปตาม แผนที่แนะนำอย่างเดียว”
แผนที่ที่มีข้อมูลดีจะช่วยให้นักพัฒนามองเห็นศักยภาพและปัญหาของเมืองได้ตรงจุด สามารถวางแผนฟื้นฟูเมืองให้น่าอยู่น่าเดินเที่ยวเล่นต่อไปได้ในอนาคต
“จะมีวินมอเตอร์ไซค์อยู่จุดไหนบ้าง ซอยไหนต้องการไฟถนนเพิ่มความปลอดภัยยามค่ำคืน เราก็ประสานกับทีม CROSS and Friends ให้ช่วยทำกระบวนการกับทางชุมชน ส่วนทีมเราก็สำรวจข้อมูลจาก open data และเดินด้วยตัวเองเพื่อเช็กสิ่งที่รู้มาว่าอยู่ตรงไหน ซอยไหนลัดหรือเลียบริมคลองได้ บางโซนของบางกอกใหญ่ไม่มีถนนใหญ่ มีแค่ถนนอิสรภาพกับถนนจรัญสนิทวงศ์ แต่มีโครงข่ายทางเดินตามตรอก บางทางดูเหมือนเดินไม่ได้เพราะไม่มีรั้วกั้นคลอง พอเราลองเดินแค่ ๕ นาที กลับโผล่อีกสถานที่ของถนน ถ้ารัฐปรับปรุงทางเท้าให้ปลอดภัยจะเป็นทางเลือกให้คนสัญจรร่นเวลาเดินทางบนถนนสายหลักโดยไม่ต้องเปลืองค่ามอเตอร์ไซค์หนีรถติด เราเก็บข้อมูลพวกป้ายรถเมล์ สะพานลอย แม้แต่ทางม้าลายด้วย มันเป็นสิ่งที่อินไซด์กับชุมชน เมื่อเราอยากให้ผู้คนเข้าถึงด้วยการเดินเท้าจึงต้องแน่ใจว่ามันเดินได้จริง แต่ก็ต้องรู้ว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ตรงไหน หรือเส้นทางไหนมีร่มไม้ให้เดินเลียบคลองใกล้ชิดธรรมชาติก็ต้องให้ข้อมูล เส้นทางที่เอื้อต่อการเดินดีจะเกิดคุณค่ามากกว่าแค่ไปถึงจุดหมาย”
แล้วนำข้อมูลทุกอย่างจากการลงพื้นที่มากองรวมเพื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลที่มี รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเพื่ออัปเดตให้เป็นปัจจุบันที่สุด จัดหมวดหมู่ คัดสรรประเด็นสนุกของเมืองที่อยากเล่า แล้วจำลองแผนที่ขึ้นโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วย ที่สุดก็ออกมาเป็นห้าเส้นทาง
เส้นทางที่ ๑ “นิเวศเกษตรร่องสวน” ชมวิถีสัมพันธ์ของสายน้ำกับผู้คนในย่านพื้นที่เกษตรกรรม
เส้นทางที่ ๒ “ลัดเลาะริมแม่น้ำ” เส้นทางริมน้ำที่เดินเล่นได้ตั้งแต่ถนนจรัญสนิทวงศ์ไปจนวัดอรุณฯ
เส้นทางที่ ๓ “วัดวาอาราม” เพลินตาวัดเก่าและศาสนสถานสำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
เส้นทางที่ ๔ “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” ชมวิถีของคนในย่านจนถึงตลาดหาของกินขึ้นชื่อ
เส้นทางที่ ๕ “บางกอกใหญ่ใหญ่” สำรวจบางกอกใหญ่ทั้งเขตเพื่อเข้าใจภาพรวมของย่านใน ๑ วัน
“แต่ละเส้นทางมีข้อมูลวิเคราะห์เบื้องต้นผ่านคอมพิวเตอร์ว่าเป็นอย่างไร เช่น สีเขียวเข้มหมายถึงทางนั้นจะได้เดินผ่านต้นไม้เยอะ สีเขียวมีลายทแยงแสดงว่าทางนั้นก็มีพื้นที่สีเขียวแต่ไม่ร่มรื่นเท่าสีเขียวเข้ม หรือสีแดงแสดงว่าทางนั้นค่อนข้างร้อนนะ เป็นการวัด-วิเคราะห์ค่าอุณหภูมิพื้นผิวจากดาวเทียม และบนแผนที่จะมี QR code แต่ละจุดสำคัญถ้าสแกนปุ๊บจะเข้า Google Maps ของแต่ละเส้นทางนั้น ๆ”
ธาริต-ผู้ออกแบบจัดทำแผนที่วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยภาพเปรยว่า แผนที่ของพวกเขาใส่ใจการเล่าเรื่องราวให้เห็นมิติคุณค่าของสถานที่นั้น ๆ เพราะเมื่อเกิดความเข้าใจในพื้นที่ก็จะเที่ยวได้สนุกขึ้นอีก
“การออกแบบจะใช้ลายเส้นวาดเพื่อให้ความรู้สึกเฟรนด์ลี่ ไม่ดูเนิร์ดแบบกราฟิก ขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับเป็นการ์ตูน สีสันจะพิสดารมากไม่ได้เพราะข้อมูลเราเยอะ จึงเลือกใช้สีที่สื่อสารกับสิ่งที่เป็นอยู่ เช่น หมวดพื้นที่สีเขียวก็ใช้สีเขียวโทนฟ้า หมวดศิลปวัฒนธรรมใช้สีเหลืองสื่อถึงความคิดสร้างสรรค์
พอเป็นเส้นทางก็ใช้สีชมพูซึ่งเป็นสีตรงข้ามของทุกคู่สีและต้องเป็นชมพูสดใสของ Pantone เพื่อเน้นสีออกจาก CMYK ที่รายล้อม แม้แต่กระดาษแผนที่ก็ตั้งใจเลือกพิเศษ ใจพวกเราก็ชอบที่มีผิวสัมผัสเก๋ ๆ แบบของญี่ปุ่นนะ แต่ต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงในภูมิประเทศของเราว่าถ้าใช้ขณะเดินหรือใช้บ่อยจะต้องพับ-กางบ่อย มีเหงื่อซึม เนื้อกระดาษที่เหมาะจึงต้องบาลานซ์ตรงกลางคือสวย ทน และขับสีสันได้โดดเด่น”
ลงตัวที่ชนิดกระดาษ brisk pure white ความหนา ๑๒๐ แกรม ผิวสัมผัสหยาบนิด ๆ ค่อนข้างมัน และทนกว่ากระดาษปอนด์ แต่พับแล้วไม่พองนัก จากขนาดกาง A1 (๘๔.๑ x ๕๙.๔ เซนติเมตร) พับแล้วเหลือ ๑๐ x ๒๐ เซนติเมตร มาพร้อมสติกเกอร์ผิวเคลือบด้านเป็นรูปวาดธรรมชาติที่พบได้ข้างทางและตามพื้นที่สีเขียวในชุมชน ให้ใช้แปะสิ่งที่พบบนแผนที่หรือติดของใช้ที่ต้องพกพาระหว่างเดินชมเมือง
“เพราะถึงจะบอกว่านี่คือ GoodWalk Map แต่เราก็อยากให้มันได้ทำหน้าที่มากกว่านำเที่ยวจึงใส่ข้อมูลอื่นเข้าไปด้วย เล่าประวัติศาสตร์เมืองเก่าให้รู้รากของย่านอย่างลึกซึ้ง มีคำแนะนำว่าแต่ละสถานที่เหมาะแก่การเดินเที่ยวฤดูกาลไหนและควรระมัดระวังอะไรบ้าง มีข้อมูลสภาพอากาศ บางช่วงมีฝุ่นเยอะ มีฝน มีแดดร้อน จุดไหนควรพกร่ม ยาดม จุดไหนควรเดินระวังก็จะมีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่เพื่อให้รู้จักย่านก่อนเลือกเส้นทางตามความเหมาะสมกับสไตล์ของแต่ละคน เป็นการพูดคุยกับคนใช้แผนที่ให้เกิดความสนุก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการรวมข้อมูลระดับประเทศที่ทำการเฉลี่ยย้อนหลัง ๕ ปี ไม่แน่ว่าการวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้มข้นมันอาจช่วยกระตุ้นให้ กทม. นำไปพัฒนาทุกเส้นทางเท้าให้เดินดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”
ภาสุร์แนะในมุมมองของประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสเมืองในระดับใกล้ชิดขึ้น
“เมื่อตอนต้นปีที่มีเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ๒๕๖๗ ธีม ‘คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ เรานำแผนที่ ‘mapmap GO! บางกอกใหญ่’ ไปจัดแสดงนิทรรศการเพื่อหยั่งเชิงก่อนพิมพ์จำหน่ายว่าคนกลุ่มไหนที่สนใจแผนที่ของเรา ปรากฏว่าเป็นชาวต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมการใช้แผนที่และซื้อเป็นประจำเวลาเดินทางท่องเที่ยว แผนที่ของเราจึงทำสองภาษาไทย-อังกฤษ อีกกลุ่มจะเป็นผู้สนใจเรื่องการพัฒนาเมือง
“ตอนนั้นเราจัดกิจกรรมชวนเดินสำรวจย่านบางกอกใหญ่โดยใช้แผนที่นี้ ซึ่งก็มีทั้งคนที่สนุกและคนที่ใช้ไม่ค่อยเป็นเพราะยังจับทิศทางไม่ถูก แต่ก็เป็นความท้าทายให้เขาอยากกลับมาเดินสำรวจใหม่วันหลัง มีคนสะท้อนเกี่ยวกับตัวแผนที่กลับมาว่าถ้าปรับปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้จะดีขึ้น อย่างเรื่องทางเลี้ยว พอตรงมาแล้วไม่รู้ต้องเลี้ยวตรงไหน เจอซอยก็ไม่รู้ว่าเลี้ยวได้หรือยังเพราะไม่มีป้ายบอก ต้องใช้ Google Maps ดูว่าตนอยู่ตรงไหน ขณะที่บางคนกลับบอกว่าถ้าเขาไม่ได้มาเดินด้วยแผนที่นี้คงไม่รู้ว่ามีเส้นทางน่าผจญภัยเหล่านี้อยู่ เพราะแผนที่ทั่วไปบอกเพียงว่ามีสถานที่หลัก ๆ อยู่ที่ไหน แต่ไม่มีเส้นทางยิบย่อยให้ข้อมูลว่ามันนำไปสู่อะไร แล้วแต่ละที่มีเรื่องราวว้าวอย่างไร จึงยากที่คนนอกพื้นที่จะมีโอกาสมาเจอเอง บางเส้นทางไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเดินได้ปลอดภัยและไม่ใช่ที่ส่วนบุคคล ข้อมูลบางอย่างพวกเราชั่งใจเหมือนกันว่าควรระบุละเอียดแค่ไหน แต่สุดท้ายก็สรุปว่า ‘ปล่อยให้เดินหลงบ้างคงไม่เป็นไร’ เสน่ห์ของการเดินเที่ยวชุมชนคือการปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ตามใจเรา ไม่ต้องเดินให้ครบวงรอบหรือไปตามแผนที่แนะนำอย่างเดียว”
พลอยนึกถึงยุคที่แผนที่กระดาษกับ guide book เคยยืนหนึ่งในใจ การเดินทางโดยพกสองสิ่งนี้ติดตัวเป็นความตื่นเต้นที่ยังไม่สนอะไรมากกว่าข้อมูลคร่าว ๆ ว่าตั้งอยู่ที่ไหน ไปอย่างไร ที่เหลือค่อยลุ้นเอาทุกหัวโค้งว่าจะเจออะไร ใช้จินตนาการนำทางถึงจุดหมาย ยิ่งถ้าบอกว่าที่นั่นเป็น unseen ยิ่งเร้าใจ ความสดใหม่ที่ไม่เคยเห็นสำคัญกว่ากลัวหลง และของสะสมการเดินทางก็ไม่มีอะไรมากกว่า “แผนที่ชุมชน” ที่ได้ไปเยือน เพราะหาซื้อได้แค่ที่เมืองนั้น ๆ แล้วก็ส่งต่อในหมู่นักเดินทาง เป็นวิธีแบ่งปันข้อมูลกันรูปแบบหนึ่ง
ชาว Refif ield Lab กับ mor and farmer ยังมองความสุขของการใช้แผนที่กระดาษมากกว่านั้น
“เวลาไปเที่ยวต่างประเทศพวกเรายังชอบหาซื้อแผนที่ใช้ มันไม่ได้มีแต่ข้อมูลน่าสนใจ แต่มีเรื่องของดีไซน์ที่น่าสะสมด้วย อย่างที่ญี่ปุ่นจะแข่งกันออกแบบแผนที่สวยมาก บางรายใส่ใจไปถึงขั้นทำเป็นซีรีส์ ถ้าเราไปเที่ยวหลาย ๆ เมืองและเก็บแผนที่ของแต่ละเมืองมาสะสมมันจะกลายเป็นโปรดักต์อีกชิ้นหนึ่งเลยนะ”
เมื่อมองขาดโอกาสก็เกิด-ในงาน DEmark 2024 จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ “mapmap GO! บางกอกใหญ่” จึงคว้ารางวัลกลุ่มผลงานกราฟิกการออกแบบและการสื่อสารมาครอง
ถ้าเจอแผนที่ดี ๆ แล้วอย่าลังเลที่จะพาตัวเองออกไปสำรวจเส้นทาง-ใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์
และการออกนอกแผนบ้างก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ความสนุกจะทำให้การเดินทางสมบูรณ์แบบ