สำหรับธุรกิจขนส่งสินค้าที่ต้องคำนวณราคาจากระยะทาง แผนที่ที่เหมาะต้องระบุระยะให้ว่าจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง รวมแล้วกี่กิโลเมตร
แผนที่เส้นทางหลวงแผ่นดิน
คู่มือนักเดินทาง คู่ใจขนส่ง
คนก(ล)างแผนที่
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากแผนที่ประเทศไทยเมื่อใส่ทางถนนลงไปก็เป็น “แผนที่เส้นทางหลวง”
มีทั้งแบบ “โปสเตอร์แผนที่” แสดงทางหลวงสายหลักอย่างเส้นทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงสัมปทาน รวมถึงเส้นทางสายรองอย่างทางหลวงชนบท ทางหลวงท้องถิ่น และทางพิเศษ (ทางด่วน ทางยกระดับ และวงแหวน) ยังมี “หนังสือแผนที่” เคยเป็นสิ่งต้องมีประจำรถดั่งยาสามัญประจำบ้าน
เป็นคู่มือให้คนขับรถได้อุ่นใจทุกครั้งเมื่อออกเดินทางทุกทิศทั่วไทย ๗๗ จังหวัด
“สมัยก่อนผมเคยทำงานในเหมืองหลายจังหวัด ทั้งลำพูน ระนอง สงขลา ใช้ชีวิตเดินทางตลอดแต่ก็ยังไม่ได้สนใจเรื่องแผนที่ จนเมื่อ ๒๐ ปีก่อนหันมาทำธุรกิจโรงไม้ยางพาราที่จังหวัดพังงาและต้องนำของจากโรงไม้ขับไปส่งลูกค้าทุกวัน นอกจากโรงไม้ผมยังรับจ้างดูดทราย ขายข้าวสาร และขนส่งทั่วไป วันหนึ่งมีรถออกจากบริษัทเป็นสิบเที่ยว ผมจึงเริ่มหัดดูแผนที่โดยมี ‘โปสเตอร์แผนที่’ ขนาดใหญ่ติดผนังบ้านไว้”
นอกจากผลดีด้านการเดินทางถึงที่หมายโดยไม่เสียเวลาประดับ เหลืองวรพันธ์ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด มงคลสวัสดิ์ ขนส่ง ยังใช้ประโยชน์จากแผนที่เส้นทางหลวงด้านคำนวณระยะทาง
“นั่นทำให้ผมต้องใช้ ‘หนังสือแผนที่’ ด้วยเพราะมีข้อมูลละเอียดกว่าโปสเตอร์ ก่อนรับงานทุกครั้ง ผมต้องรู้ว่ารถเราจะวิ่งไปส่งของที่ไหนเพื่อดูจำนวนกิโลเมตรแล้วคำนวณราคารับจ้าง แผนที่ที่เหมาะกับผมจึงต้องระบุจำนวนกิโลเมตรให้ว่าจากที่ไหนไปที่ไหนรวมระยะแล้วกี่กิโลเพื่อช่วยให้ผมทำงานง่ายขึ้น”
ปรกติในหนังสือแผนที่จะมีแผนภูมิเพื่อขยายข้อมูลระยะทางระหว่างจังหวัดโดยยึดกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง แล้วจัดกลุ่มย่อยตามเส้นทางในแต่ละภูมิภาค จะไปที่ไหนก็หาชื่อจังหวัดต้นทาง-ปลายทางแล้วไล่ดูตามแถบช่องแนวตั้งกับแนวนอน ตัวเลขที่บรรจบในช่องตัดกันก็คือระยะทางระหว่างจังหวัด
เมื่อสลับบทเป็นนักเดินทาง นอกจากดูว่าจังหวัดไหนอยู่ตรงไหน เดินทางผ่านจังหวัดอะไร ประดับ เหลืองวรพันธ์ จะใช้ประโยชน์จากแผนที่หาวิธีเข้าถึงถนนสายที่ใกล้จุดหมายกว่าโดยไม่ให้เสียเวลา
“ดังนั้นเมื่อบริษัทผมอยู่พังงา แต่งานของผมคือทั่วประเทศ ดูแผนที่เสร็จผมจะใช้วิธีบวกระยะทางเพิ่ม สมมุติจะไปจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานก็อาศัยข้อมูลกิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดนั้นก่อนค่อยนำตัวเลขจากกรุงเทพฯ ไปพังงามาบวกเพิ่มก็จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนกิโลเมตรจากพังงาถึงจังหวัดที่ผมจะไป
“สิ่งสำคัญคือเรื่องราคาเวลาประมูลงาน ต้องจับระยะจากเส้นทางหลวงที่ใกล้สุดตีราคาเหมาะสมออกมาเสนอสู้กับผู้ประกอบการรายอื่น แม้ค่าขนส่งจะขึ้นกับระยะทางและสภาพพื้นที่ว่าเป็นทางราบหรือภูเขา แต่สุดท้ายก็สู้กันด้วยราคาต่ำสุด ฉะนั้นผมจะแนะนำลูกน้องโดยดูจากแผนที่ว่าควรใช้ทางผ่านจังหวัดไหนจะประหยัดทั้งเวลา ระยะทาง และน้ำมัน เวลาขับจริงลูกน้องอาจเลี่ยงไปใช้อีกทางที่คดเคี้ยวน้อยและสะดวกกว่าก็ได้ มันอาจเป็นทางที่กินน้ำมันน้อยกว่าทางของผมที่เป็นภูเขา หรือถึงจะไกลกว่าก็คง ๕-๑๐ กิโลเมตร ผมไม่ซีเรียสเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ใหญ่กว่า เพราะในการประมูลงานถ้าตีราคาจากเส้นทางไกลคงยื่นเสนอราคาสู้คนอื่นไม่ได้ ยอมกำไรน้อยลงจากตรงนั้นแล้วมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้รถกินน้ำมันน้อยที่สุด ถ้าวางแผนเดินทางดีการขนส่งแต่ละรอบอาจร่นระยะทางจริงได้เกือบ ๓๐๐ กิโลเมตรเชียวละ
“แล้วเวลาลูกน้องส่งของเสร็จผมก็จะดูแผนที่ให้ว่าตรงนั้นมีอะไรบ้าง หรือระหว่างทางกลับจะผ่านจังหวัดไหนที่มีของน่าสนใจเพื่อไม่ให้รถต้องวิ่งเปล่า สมมุติขาไปลูกน้องขนยางพาราจากตลาดจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปส่งจังหวัดบุรีรัมย์ ขากลับผมจะให้ขนข้าวกลับมาด้วยเพราะตลอดทางอีสานมีขายข้าวมากมายทั้งข้าวสารและข้าวเหนียว แต่ถ้าข้าวเหนียวผมว่าของดีต้องมุกดาหาร ก็จะช่วยลูกน้องดูว่าควรใช้เส้นทางไหนให้ผ่านมุกดาหารที่เราต้องการขนข้าวกลับมาโดยไม่ต้องเปลืองน้ำมันขับรถอ้อมไปมา”
ประดับอวดหนังสือ นายรอบรู้ แผนที่ ๗๗ จังหวัด เที่ยวทั่วไทย ฉบับปี ๒๕๕๖ ว่ามีสองเล่ม จะไว้ที่ทำงานเล่มหนึ่งกับพกในรถด้านหลังเบาะคนขับอีกเล่มไว้เป็น “คู่มือคู่ใจ”
“ตามจริงตัวแผนที่เส้นทางใครทำก็คงไม่ต่างกันมาก ที่ต่างจะเป็นข้อมูลเสริมที่แข่งกันปรับปรุงให้ทันสมัย ถ้าเป็นกรมทางหลวงทำเขาอาจให้ข้อมูลเครื่องหมายจราจร สถานที่สำคัญแต่ละพื้นที่ หรือเบอร์โทร. ฉุกเฉิน ส่วน ‘นายรอบรู้’ เขาถนัดที่กิน ที่เที่ยว ที่พัก ที่ซื้อของ ก็จะแนะนำข้อมูลพวกนี้ได้มากกว่าคนอื่น แต่ผมไม่ค่อยใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรอก ใช้แต่ดูเส้นทาง จึงไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ฉบับปรับปรุง ผมชอบที่ ‘นายรอบรู้’ จัดหมวดหมู่ดี อะไรที่เกี่ยวข้องก็รวมไว้ต่อเนื่องไม่ต้องพลิกไปพลิกมาต้นเล่มท้ายเล่ม เสียดายนิดตรงอยากให้มีแผนที่ขนาดใหญ่เท่าโปสเตอร์แถมมาในเล่มเลย ตอนเปิดหนังสือแบบขยายเฉพาะพื้นที่จะได้ไม่ต้องพลิกกลับไปหน้าที่เห็นภาพรวมทั้งประเทศอีก บางทีกลายเป็นหลงหน้าต้องกลับมาเริ่มดูใหม่”
เขาเล่าว่าเมื่อก่อนสนุกกับการชอบดูแผนที่ทุกวันจนเหมือนว่าเวลาขับรถไปไหนแผนที่เส้นทางจะฉายภาพขึ้นในหัวหมด แค่ได้ยินชื่อจังหวัดใดจำนวนกิโลเมตรก็เด้งตึ๊ง !
“อย่างอำเภอลี้ไปกรุงเทพฯ ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร”
เราคว้าหนังสือแผนที่เปิดหน้าแผนภูมิระยะทาง ไล่นิ้วหาหัวข้อเส้นทางภาคเหนือหยุดที่ลำพูน-กรุงเทพฯ ๖๗๔ กิโลเมตร หักลบกับที่อำเภอลี้ตั้งห่างจากตัวเมืองลำพูน ๑๐๕ กิโลเมตร เขายิ้มอย่างผู้กำชัย
“ทุกวันนี้ผมแทบไม่ต้องดูโปสเตอร์หรือหนังสือแผนที่ เว้นแต่ที่ที่ยังไม่เคยไปก็จะดูแผนที่ไปล่วงหน้าจากบ้านแล้วจำเอาคร่าว ๆ อย่างตอนผมจะไปอุ้มผางกับพ่อ ผมไม่เคยไปหรอก แต่ดูแผนที่ก็รู้ว่าเดี๋ยวก่อนถึงจังหวัดตากต้องเลี้ยวซ้ายเพื่อไปแม่สอดนะ พอ ๑๐ โมงเช้าก็ไปรับเพื่อนของพ่อที่บ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วขับไปถึงแม่สอดตอนตี ๓ โดยไม่ต้องดูแผนที่อีกเลย พักนอนจน ๗ โมงเช้าก็มีคนที่นัดไว้มานำทางขับไปต่อจนถึงปลายทางคือวัดเขาวงพระจันทร์ที่อุ้มผาง”
เขาเล่า ก่อนเดินทางไปไหนชอบกำหนดว่าจะให้ตัวเองถึงปลายทางกี่โมงซึ่งมักทำได้ตามแผน เมื่อเพื่อนพ้องจะไปไหนจึงมักนึกถึงเขาเป็นคนแรกให้ช่วยแนะนำว่าจะไปที่นั่นอย่างไร ด้วยเส้นทางไหน ออกจากบ้านกี่โมง ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ที่เขาเคยไปแล้วจะยิ่งเล่าเส้นทางได้ละเอียดจนเพื่อนเห็นภาพ
“มีครั้งหนึ่งผมนัดกับเพื่อนไปเที่ยวภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อนผมขับรถตรงดิ่งไปภูเรือก่อนครึ่งวัน ส่วนผมนั่งเครื่องบินไปลงที่กรุงเทพฯ แล้วขับรถตามโดยใช้เส้นทางหลักอย่างเดียว พอเพื่อนกำลังจะถึงภูเรือก็โทร. หาผมถามว่าถึงไหนแล้ว ผมบอกให้มองกระจกหลังสิ ผมตามไปทันทั้งที่ออกเดินทางห่างกันครึ่งวัน”
ไม่มีเรื่องบังเอิญ ทุกอย่างเกิดจากความเจนสนามของนักเดินทางที่พัฒนาความทรงจำตนด้วยการนำข้อมูลที่รู้มาใช้งานจริงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้สิ่งที่ต้องการจดจำถูกลืมเพราะร้างการทบทวน
“เดี๋ยวนี้ตามร้านหนังสือไม่มีขายหนังสือแผนที่แล้ว บางทีผมเดินทางแบบที่ไม่ได้พกแผนที่มาจากบ้านแล้วอยากหาซื้อเล่มใหม่มาดูก็ไม่มีให้ซื้อ”
“เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ใช้ Google Maps แต่ผมเข็ด ผมเคยไปเที่ยวภูเก็ตกับพรรคพวก ตอนกลางวันเพื่อนมีธุระต้องไปส่งลูกค้าชาวอินเดียที่สนามบินภูเก็ตก่อนสองคน ส่งเสร็จจะพาอีกห้าคนไปเที่ยวหาดป่าตองระหว่างรอเวลากลับไปสนามบินอีกครั้งตอนทุ่มหนึ่ง จริง ๆ ถ้าใช้เส้นทางหลักก็ไม่ไกลมาก แต่ผมอยากลองเส้นทางลัดโดยใช้ Google Maps นำทางปรากฏว่าพาหลงมั่วไปหมด ระบบบอกให้เลี้ยวผมก็เชื่อ เลี้ยวแล้วดันพาไปเจอทางตัน คนอินเดียเขาก็ตกใจว่าจะพาไปไหนแน่ นี่ขนาดเป็นระยะทางที่อยู่ใกล้กันนิดเดียวเอง”
ปัญหาระบบ GPS พาหลง-นำออกนอกเส้นทางไปสู่อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คนขับรถพบบ่อย นอสตร้า แมพ (NOSTRA Map Thailand) แผนที่ดิจิทัลอันดับ ๑ ของคนไทยเคยวิเคราะห์สาเหตุไว้สามข้อ คือ เกิดอุปสรรคในการรับสัญญาณช่วงเวลานั้นพอดี (อาจเป็นที่สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์รับสัญญาณของตน) หรือข้อมูลแผนที่ไม่ถูกต้องรวมถึงการไม่อัปเดตข้อมูล และสุดท้ายอาจเป็นผู้ใช้งานเองไม่เข้าใจการทำงานของระบบ GPS ดีที่สุดคือผู้ใช้ควรตรวจสอบการทำงานของ GPS ในระบบตัวรถหรือในโทรศัพท์มือถือของตนให้มั่นใจก่อน และพิมพ์ชื่อสถานที่ปลายทางให้แม่นยำ สำคัญคือต้องมีสติ-วิจารณญาณ ไม่เชื่อ GPS ตลอดเวลา ให้ใช้ถนนสายหลักในการเดินทางและหลีกเลี่ยงการขับรถเข้าไปในทางลัดที่เสี่ยงอันตราย
ไม่ว่าอย่างไรอย่าฝากชีวิตไว้กับสิ่งที่วางแผนได้แต่กลับละเลย
การศึกษาแผนที่เส้นทางก่อนขับรถทุกครั้งยังสำคัญที่สุดอยู่ดี
ทว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว แป๊บเดียวหนังสือแผนที่ก็กำลังเปลี่ยนสถานะเป็นของสะสมแบบงง ๆ
“เดี๋ยวนี้ตามร้านหนังสือไม่มีขายหนังสือแผนที่แล้ว บางทีผมเดินทางแบบที่ไม่ได้พกแผนที่มาจากบ้านแล้วอยากหาซื้อเล่มใหม่มาดูก็ไม่มีให้ซื้อ อย่างตอนที่ผมพักอยู่โรงแรมแห่งหนึ่งที่จังหวัดเลยแล้วอยากไปเที่ยวถนนคนเดินที่เชียงคาน ทั้งที่ก็รู้ว่าขับรถเลาะแม่น้ำไปเรื่อย ๆ ได้แต่ก็อยากดูหนังสือแผนที่ก่อนเพื่อความมั่นใจว่ามีถนนทางหลวงไปถึงแน่นอน หรือไปถึงจุดไหนแล้วเปลี่ยนเป็นถนนเส้นทางชนบทไหม แต่ตามร้านหนังสือในเมืองก็มีแต่แบบแผนที่แผ่นเล็ก ๆ แค่พอมองเห็นเส้นเล็กเส้นน้อยแล้วเดาเอา”
แม้วันหนึ่งหน้าที่ของโปสเตอร์-หนังสือแผนที่เส้นทางหลวงแผ่นดินอาจถึงทางสิ้นสุด
แต่รอยทรงจำของผู้เคยโลดแล่นบนถนนแผนที่กระดาษคงไม่หมดความผูกพันง่าย ๆ