Image

แม็กเน็ต F1
จากแดนลอดช่อง

Souvenir & History

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์

นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่และทรัพยากร เป็นที่รู้กันว่าหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล
สิงคโปร์คือการพัฒนา “คน” และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในแบบที่ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคเสมอเหมือน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย 

ยุทธศาสตร์นี้เองทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) ในเวลาต่อมา

ไปเยือนสิงคโปร์ครั้งหลังสุดขากลับผมนั่งแท็กซี่ผ่าน central business district - CBD ผ่านกลุ่มตึกระฟ้า ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ธนาคารและบริษัทระดับภูมิภาคหลายแห่ง อันเป็นพยานของความสำเร็จครั้งนั้น

CBD ยังมีถึง ๑๑ เขตย่อย ถือเป็น “พื้นที่แกน” ที่เติบโตมาพร้อมกับการเข้ามาของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ดังนั้นจึงปรากฏอาคารประวัติศาสตร์ เช่น ศาลสูง (Supreme Court Building), โรงแรมราฟเฟิลส์ (Rafflflf lfles Hotel) ฯลฯ แต่ที่คนทั่วโลกรู้จักดีคือสิ่งปลูกสร้างรุ่นใหม่ อย่าง Merlion (สิงโตพ่นน้ำ), Esplanade ตึกที่มีทรงคล้ายผลทุเรียน, Marina Bay Sands อาคารที่คล้ายมีเรือจอดพาดอยู่ระหว่างยอดตึกสามหลัง

Image

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมทึ่งคือ ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๘ ถนนหลายสายในเขต CBD ถูกใช้เป็นสนามแข่งรถสูตร ๑/ฟอร์มูลาวัน (Formula 1) โดยเป็น “สนามแข่งกลางคืน” (night race) ที่วิ่งผ่านใจกลางเมืองสนามแรกของโลก เรียกว่า “สิงคโปร์กรังด์ปรีซ์” (Singapore Grand Prix)

เป็นที่รู้กันว่ามีเพียงไม่กี่ชาติที่จะเป็นเจ้าภาพแข่งขัน F1 ได้ ยิ่งใช้ถนนในเมืองจัดแข่งขัน นั่นหมายถึงถนนต้องมีคุณภาพระดับรถแข่ง F1 วิ่งได้โดยไม่เกิดอันตราย 

เส้นทางแข่งขันของ CBD เรียกว่า Marina Bay Street Circuit ยาว ๔.๙๔๐ กิโลเมตร ผ่านถนนอย่างน้อยห้าสายและตึกระฟ้าอันโดดเด่น โดยจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเส้นทางทุกปี

แต่นั่นก็ไม่ใช่หนแรกที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ในความเป็นจริงสิงคโปร์จัดแข่งมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ ก่อนจะหยุดไปใน ค.ศ. ๑๙๗๓ และกลับมาจัดในยุคใหม่คือ ค.ศ. ๒๐๐๘ ด้วยรัฐบาลมองว่า F1 สร้างผลดีทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่แฟนรถแข่งจะบินตามมาดูจำนวนมาก รัฐบาลยังทุ่มทุนเชิญศิลปินระดับโลกมาเปิดคอนเสิร์ตและจัดแสดงแฟชั่น

Image

การแข่งช่วงกลางคืนยังมีผลให้การถ่ายทอดสดไปปรากฏในจอทีวีของทวีปยุโรปเวลากลางวัน ได้แอร์ไทม์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้การจัดครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๘ ปรากฏว่าขายตั๋วได้กว่า ๑.๑ แสนใบ โดยจัดแพ็กเกจเป็นแบบ ๓ วัน (รวมที่พัก) และ ๑ วัน (ตามจุดเข้าชม) ทั้งยังรวมการเข้าชมคอนเสิร์ตไปในราคาตั๋วด้วย ในปีนั้นผู้ชนะคือทีมเรโนลต์ หลังจากนั้น F1 ก็กลายเป็นอีเวนต์ใหญ่ทุกปี รัฐบาลสิงคโปร์และภาคเอกชนยังคงทุ่มทุนมหาศาลจัดการแข่งขันรายการนี้อย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

นั่งมองถนนสวยในเขต CBD หยิบแม็กเน็ต F1 ที่ซื้อติดมือมาในราคา ๖ ดอลลาร์สิงคโปร์ออกมาดู พลางนึกถึงข่าวที่ไทยประกาศตัวจะเป็นสนามแข่ง F1 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ผมก็ยังไม่แน่ใจกับคุณภาพถนนย่านเกาะรัตนโกสินทร์ของเราอยู่ดี