Image
Image

พิทยา ช่วยเหลือ
ณรงค์ จิระวัฒน์กวี

ชีวิตที่ไม่ง่าย
ของนักวิจัยนกเงือก

พิทยา ช่วยเหลือ
และ ณรงค์ จิระวัฒน์กวี  
นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

จากจุดเริ่มต้นสู่ตำนาน งานวิจัย“นกเงือก” (ภาคสนาม)
กว่า ๔ ทศวรรษ

สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก

เข้ามาทำงานให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกได้อย่างไร

ณรงค์ : ผมเรียนคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์พิไลเข้าไปนำเสนอผลงานในวันงานสัมมนาวิชาการเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย ผมอยู่ปี ๔ กำลังคิดว่าเรียนจบจะทำงานที่ไหน ได้ฟังอาจารย์บรรยายเรื่องนกเงือกก็เข้าไปเสนอตัวว่าหลังเรียนจบแล้วขอทำงานด้วยได้ไหม  อาจารย์บอกมาเลย คล้าย ๆ แกก็ไม่ค่อยมีคนเหมือนกัน เพื่อนคนอื่น ๆ หลังเรียนจบก็สอบเข้ากรมป่าไม้ ผมไม่ได้ชอบแนวทางนั้น ก็ทำงานกับอาจารย์เรื่อยมา ช่วงแรก ๆ ยังกระท่อนกระแท่น หาเงินทุนได้บ้างไม่ได้บ้าง

พิทยา : ส่วนผมเบื่อกรุงเทพฯ  ตอนนั้นเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมาตั้งแต่ปี ๑ ไม่มีตังค์ก็ต้องส่งตัวเองเรียน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราม-คำแหง ไม่ใช่จะเรียนจบได้ง่าย ๆ

ระหว่างเรียนผมทำงานที่แอฟริม (AFRIMS - สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร) ของอเมริกา วิจัยเกี่ยวกับโรคเขตร้อน ทำเรื่องเกี่ยวกับแมลง ออกไปถ่ายรูปจับตัวอย่าง เรียนทางแมลงกับแมลงทางการแพทย์ ฆ่าแมลงเยอะเพื่อความรู้ ฆ่าแล้วเอาเชื้อไปฉีด ส่องกล้องดู เขี่ยรังไข่ยุงในกล้องจนตาเบลอ ตั้งความหวังว่าอยากทำงานเกี่ยวกับแมลงสักช่วงหนึ่งก็ได้ทำตามอุดมการณ์หารู้ไม่ว่าต่อไปจะลำบากแค่ไหน

พอดีแฟนทำงานกับอาจารย์พิไล ช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๓๔ วันเสาร์อาทิตย์ถ้าผมว่างก็มาช่วยอาจารย์ที่เขาใหญ่ ถือโอกาสมาหาแฟน จนแฟนต้องกลับใต้ ผมก็เสนอตัวลาออกจากแอฟริม อาจารย์บอกตังค์ไม่มีนะ แต่เรายึดอุดมการณ์ ผมทิ้งทุกอย่างมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ก่อนพฤษภาทมิฬนิดเดียว ตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ลำบากมาเรื่อยแต่ตอบโจทย์ตัวเองได้

เราไม่มีสวัสดิการ ไม่มีขั้นเงินเดือน  น้องที่มาทีหลัง เรียนมาด้วยกัน ตอนนี้ไปไกลแล้ว เราไม่ได้ก้าวเหมือนเขา แต่เราโตในด้านอื่น วัดกับใครไม่ได้ เราจะฝ่าฟันโจทย์ของชีวิตไปโดยใช้ธรรมชาติ

ณรงค์ : ผมมาเพราะชอบ ตอนนั้นตัวคนเดียว โสดด้วย ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เงินเดือนส่วนใหญ่พอกินแค่เรา ผมก็เลยไม่มีครอบครัว กลัวว่าถ้ามีจะลำบาก

พิทยา : มีคำถามหนึ่งตอนผมพาคนญี่ปุ่นไปถ่ายสารคดี ไม่ว่า NHK หรือช่องไหน สิ่งที่เขาถามคือ your second work คืออะไร ? ผมบอกไม่มี ทำงานวิจัยนกเงือกอย่างเดียว  เขาสงสัย ทำไมคุณไม่รับทัวร์ ไม่รับเป็นไกด์ ผมบอกว่าเราทำงานในพื้นที่ที่อาจารย์พิไลปูทางมาอย่างยากลำบาก ต้องขัดแย้ง ทะเลาะกับคนที่ไม่เห็นด้วย แล้วเราจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าได้อย่างไร  เขาแปลกใจเพราะเราอยู่ในพื้นที่ทำเงินได้ แต่เราไม่รับอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นคุณติดต่อมาอย่างถูกต้องผ่านที่ทำงาน ผ่านกรม ผมถึงจะพาไป ถ้ามาขอส่วนตัวไม่ได้

“นอกจากต้องอดทนกับสภาพการกดดันจากสัตว์หรืออะไรต่าง ๆ ในป่า  ความกดดันในจิตใจก็ไม่น้อย ถ้าคนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอ”

ผืนป่าตรงนี้ตลอด ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ณรงค์ : เรื่องผืนป่าดูยากเหมือนกัน ที่เห็นชัดคือความแห้งแล้งมีมากขึ้น สมัยก่อนเขาใหญ่หน้าหนาวหนาวมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยหนาวเท่าไร หนาวช่วงสั้น ๆ ตอนเริ่มทำวิจัยเสือยังมีอยู่ เดี๋ยวนี้หายไปหมด

พิทยา : สำหรับผมมันเปลี่ยนทั้งสภาพป่า อากาศ จิตใจคน ทั้งคนในพื้นที่และคนที่มาท่องเที่ยว

คนอาจจะนึกไม่ออกว่าครั้งหนึ่งเขาใหญ่เคยมีรถทัวร์จากหมอชิตวิ่งช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๓๔ คนที่อยากเที่ยวจริง ๆ เขาขึ้นรถทัวร์มาทางฝั่งนครนายก วันละเที่ยว ป่าสมัยนั้น ผมว่าน่าอยู่ รถไม่ค่อยเยอะ จะโบกไปไหนก็ยาก ต้องอาศัยเดินไปกันแต่เช้า สภาพป่าและความชุ่มเย็นดีกว่านี้มากไม่ว่าฤดูกาลไหน  ป่ามีผู้ผลิต ผู้บริโภค ทั้งผู้บริโภค พืชและเนื้อ สัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้สมดุลของป่ายังคงอยู่เราเข้าป่าอย่างรู้สึกสบายใจ

แต่เข้าป่าเดี๋ยวนี้ต้องระวังมากกว่าเดิมเพราะสัตว์กินพืช ผมเคยโดนกระทิงขวิด กมล (กมล ปล้องใหม่) ก็โดน กาหลิบ (ณรงค์ จิระวัฒน์กวี) ก็เกือบถูกช้างแทงตาย

ในส่วนงานของเจ้าหน้าที่เมื่อก่อนไม่มีกิจกรรมส่องสัตว์ มีความสามัคคี พอเวลาผ่านไปมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา บางครั้งหน่วยกลางหยิบยื่นมาให้ จะจัดสรรปันส่วนอะไรก็แล้วแต่ มันทำให้คนเปลี่ยนไป ความสามัคคีโดยรวมทำให้การดูแลเป็นปัญหา และสมัยก่อนนักท่องเที่ยวมาน้อย การกระทบกระทั่งระหว่างคนกับสัตว์น้อย สัตว์ก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม  เดี๋ยวนี้ลิงเปลี่ยนการเรียนรู้ในการหากิน รถที่ไม่กดล็อกมันเปิดประตูได้ รูดซิปเต็นท์ เปิดกล่องแบบหมุน ทำได้หมด พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนจากที่มีกลุ่มยูทูบเบอร์มาตามถ่าย เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็น ในส่วนดีก็ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจทำงาน

เนื้อหาของงานวิจัยในภาคสนาม มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างในแต่ละยุคสมัย

ณรงค์ : แต่ละยุคไม่เหมือนกัน แล้วแต่หัวข้อวิจัย งานนับจากอดีตถึงปัจจุบันที่คล้าย ๆ กันคือเราติดตามการทำรังของนกเงือก รู้เลยว่าแต่ละปีเป็นอย่างไร จำนวนเท่าไร แล้วก็ดูเรื่องนกรวมฝูง ซึ่งแต่ละปีไม่เหมือนกันนี่คืองานหลัก

ปัจจุบันนอกจากดูนกเงือกแล้วพวกผมดูเรื่องพันธุ์ไม้ เน้นเรื่องอาหารนกเงือกว่าแต่ละปีมีผลไม้อะไรออกมาบ้าง เราทำแปลงถาวรเพื่อเก็บข้อมูลด้านองค์ประกอบของชนิดพันธุ์ บันทึกลักษณะทางชีพลักษณ์คือการออกดอกออกผล ซึ่งทำมาเป็นสิบปี เช็กจำนวน ๕๐ ต้นทุก ๑๐ วัน เป็นตัวแทนของป่า  เราดูสถิติเห็นว่าแต่ละปีนกเงือกทำรังไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง คิดว่าน่าจะสัมพันธ์กับอาหาร ก็เฝ้าติดตาม แต่พวกนี้ปีสองปียังดูไม่รู้เรื่อง ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี บางที ๕ ปียังดูไม่ค่อยออกเลย

“นกตัวหนึ่งที่เคยเห็นเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้แกยังปิ๊งปั๊งกับมัน”

พิทยา ช่วยเหลือ
ถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์

Image

นกเงือกกรามช้างรวมฝูง

สิ่งที่พวกเราทำ บางทีผมก็ถอดใจนะ แต่อาจารย์ไม่ถอดใจ แกบอก เฮ้ย ทำต่อไป ทำไปเรื่อย ๆ ถึงยังไม่รู้ผลแต่อาจารย์เป็นคนที่สู้  ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้หรอกว่าข้างหน้าจะเจออะไรบ้าง งานวิจัยบางอย่างทำมา ๘ ปียังไม่เห็นผล ว่าจะเลิก ๆ มาเห็นผลในปีที่ ๙  อย่างเรื่องพันธุ์ไม้ ผลไม้ เริ่มวิจัยกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ อยากรู้ว่าการออกดอกออกผลเกี่ยวข้องกับการเข้าโพรงรังของนกเงือกหรือเปล่า นอกจากอาหารยังมีเงื่อนไขอะไรอีกบ้าง ถ้าถอดใจตั้งแต่ตอนนั้นก็คงพลาด ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลง แม้เพียงเล็กน้อยของสภาพภูมิอากาศมีผลต่อการออกดอกออกผล เมื่อมีผลต่อการออกผลก็มีผลต่อนกเข้ารัง และมีผลต่อนกรวมฝูง

ไม่ถึงกับหวังอะไรมากมายในวันข้างหน้า เราพยายามรักษาสิ่งที่อาจารย์พิไลปูทางเอาไว้

นกตัวหนึ่งที่เคยเห็นเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้แกยังปิ๊งปั๊งกับมัน บางครั้งเราคิด...มันก็ธรรมดานะ แต่อาจารย์ไม่ใช่ วันที่เคยเจอเมื่อวันนั้นกับวันนี้ แกยังมีความสุขกับสิ่งที่เห็น ผมถึงบอกว่าอาจารย์มีภาพจำและถ่ายทอดออกมาได้ดีที่สุด

ใจนั้นสำคัญ และต้องมีความซื่อสัตย์ ข้อมูลพวกนี้ถ้าคุณเป็นเสือกระดาษ ไม่ไปจริงใครจะรู้

งานแรกที่ทำคืออะไรครับ

พิทยา : ตั้งแต่เริ่มมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือการติดตามรังนกเงือก ในแต่ละปีมีนกเข้าโพรงกี่รัง เข้าสำเร็จไหม ถ้าไม่สำเร็จเพราะอะไร จากนั้นผมก็คิดวิธีปีนซ่อมรังกับกมล กว่าจะถึงวันนี้ที่ปีนเชือก พวกผมสองคนปีนทอยจนจะตกทอยตาย ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖ เราคิดกันขึ้นมาเอง จากที่เห็นว่านกเงือกเข้ารังไม่สำเร็จ มันทิ้งรังทำไม ไปถามอาจารย์พิไล แกเคยถ่ายจากข้างหลังด้วยกล้อง ตกใจว่าพื้นมันไม่ได้ทรุดขนาดนั้น ตั้งแต่นั้นถึงบัดนี้ ๓๐ กว่าปี การซ่อมรังคืองานเสริมที่ต้องทำทุกปี

อีกอย่างที่ทำมาตลอดก็คือบันทึกการรวมฝูง เรามีข้อมูลพวกนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ณรงค์ : ฤดูกาลทำรังของนกเงือกกับฤดูรวมฝูงมีสองฤดูเท่านั้น ถ้าคุณอยากเจอนกเงือกง่าย ๆ ขอให้มาช่วงที่ไทรสุกจะเห็นง่ายกว่า และฤดูทำรังของนกเงือกตั้งแต่อินเดียลงมาถึงนราธิวาส แถวเขาสกหรือต่ำกว่า มันจะเข้าพอ ๆ กัน ประมาณเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม นี่เป็น breeding season ของนกเงือก

พิทยา : เขาใหญ่มีรังนกเงือกหลายรังมาดูได้ แต่ดูแล้วเคารพมันหน่อย เพราะนกเงือกไม่ใช่นกปรอดที่จะมายืนดูเฉย ๆ มันตื่นเหมือนกัน จะไม่ป้อนอาหาร ถ้าคนไม่รู้ช่วงเวลาเหมาะสมมันมีผลกระทบกับลูกนก ถ้าเพิ่งฟักมีโอกาสตายทั้งแม่ทั้งลูกถ้าพ่อไม่ป้อน นี่คือการรู้ช่วงเวลา

อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของคนทำวิจัยนกเงือก

ณรงค์ : ต้องอดทน เข้าป่าเจอสารพัด หนาม เห็บ ทาก ต้องระวังสัตว์ในป่า โดยเฉพาะปัจจุบันคือกระทิง พวกผมทำงานมานานก็ยังไม่คุ้น แล้วแต่ดวงว่าใครจะเจอหรือไม่เจอ บางทีก็เจอช้าง ถ้าเข้าไปคนเดียวต้องระวังตัวเอง

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมโดนช้างไล่เหยียบ ตอนนั้นอ๊อด (พิทยา ช่วยเหลือ) เพิ่งโดนกระทิงขวิดมาใหม่ ๆ เขาเดินไม่ไหวก็ยังอุตส่าห์มารอในรถ  ผมเดินไปดูต้นไทร ป่าไม่ลึกแค่ ๒๐๐ เมตรจากถนน  อย่างที่บอกว่าคืบก็ป่าศอกก็ป่า ส่วนหนึ่งเราไม่ระวังด้วย ด้วยความรีบ มุด ๆ ทางรก เงยหน้าขึ้นมาช้างยืนอยู่ตรงต้นไม้ มองมาแบบมึงมาได้ยังไง มองได้แป๊บเดียววิ่งมาหา ผมหลบหลังต้นไม้ มันจ้องตา ทำนองว่ามึงอย่าหนีไปไหน สักพักมันอ้อมไปทางขวา ผมก็วนหลบไปทางซ้าย กะจะข้ามไปหลบอีกต้น พลาด ล้มลง ไม่รู้ว่าล้มเองหรือสะดุดเถาวัลย์ แป๊บเดียวขามันมาอยู่ตรงข้าง ๆ หัวผมเลย แล้วมันก็ข้ามผมไป นึกว่าตายแล้ว

ผมลุกขึ้นมาใหม่ มันก็ยังเดินไปเดินมา เหมือนหงุดหงิดว่าเหยียบไม่โดน ผมรีบหลบหลังต้นไม้ คิดว่าถ้าเกิดมันไล่จะไปทางไหนดี  ช่วงที่มันหงุดหงิด เดินหันหลัง ผมรีบวิ่ง เอาเป้ออกทิ้ง ไปหลบตรงแถว ๆ ห้องน้ำ มองไม่เห็นกันแต่ได้ยินเสียงฟืดฟาด คิดว่ามันทำอะไรกับเป้เรา จะเข้าไปดูก็กลัวมันเห็นแล้วหนีไม่ทัน ช้างวิ่งเร็วนะ ก็ตัดสินใจรอ คิดว่ามันเดินกลับเข้าป่าแล้ว ที่ไหนได้สักพักมันเดินมา เห็นใบไม้ไหว ๆ ต้องรีบวิ่งกลับไปที่รถ อ๊อดถามทำไมหน้าซีด ๆ วันนั้นเกือบตาย

มาดูทีหลังมีรอยช้ำ ๆ ตรงสีข้าง คล้ายกับแทงแล้วแทงผิดเป็นรอยไหม้เลย

พิทยา : ในคำถามเดียวกับพี่กาหลิบผมมองต่างกัน แกมองปัจจัยภายนอกจากสัตว์ว่าเราต้องอยู่กับความอดทน สิ่งนั้นอยู่กับตัวนักวิจัยอยู่แล้ว แต่สำหรับผมมาจากภายใน เราอยู่อย่างนี้นอกจากต้องอดทนกับสภาพการกดดันจากสัตว์หรืออะไรต่าง ๆ ในป่า ความกดดันในจิตใจก็ไม่น้อย ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ

อยู่เขาใหญ่สบายมาก คุณไปอยู่ห้วยขาแข้งดูสิ อยู่เป็นเดือนในที่ที่ไม่มีอะไร  ผมบอกน้องหรือใครที่อยากเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือนักวิจัยที่ดี คุณไปสตาร์ตที่ห้วยขาแข้งอยู่ในป่าที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จบออกมาคุณอยู่ป่าไหนก็ได้  มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง อดทน เข้าใจสภาพของสัตว์และอดทนต่อป่า ป่าที่ไหนก็ไม่ทรหดเท่าห้วยขาแข้ง กลางวันร้อนฉิบหาย พอกลางคืนหนาว เราอยู่ท่ามกลางสัตว์ หัดเรียนรู้จากมัน

ช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ผมไปอยู่ห้วยขาแข้งที่หนองม้าเป็นประสบการณ์ล้ำเลิศ เหมือนถูกทิ้งไว้กลางป่า ไกลเกิน ไกลปืนเที่ยง  บางทีข้าวไม่มีกิน ไม่ใช่เขาไม่เอาไปส่ง แต่ยังมาไม่ถึง หน้าฝนรถวิ่งได้วันละไม่กี่กิโลเมตร ไอ้เราก็กินหน่อไม้หน้ายาว ไล่นาก เอาปลามันมากิน  การอยู่ด้วยกัน ความเครียดในสภาพนั้นระหว่างคนต่อคน ปฏิสัมพันธ์ในการทำงาน เอาเรื่องนะครับ

เขาใหญ่นี่สบาย เดินที่ไหนยังมีสัญญาณโทรศัพท์ ห้วยขาแข้งทำให้ผมแข็งแกร่งอยู่ได้จนทุกวันนี้ มันบ่มเพาะจากสภาพที่เราผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้  ผมยอมรับว่าห้วยขาแข้งคือศาสดาของป่าเมืองไทย

หลังจากถูกกระทิงขวิด อาจารย์พิไลบอกเอาคนอื่นไปด้วยเถอะ ไม่ได้ไปช่วยอะไร เอาไปเก็บศพก็ยังดี ผมบอกน้องทุกคนว่าไม่ต้องช่วยนะถ้าสัตว์ชาร์จ ให้ต่างคนต่างไป

Image

พิทยา ช่วยเหลือ รอนับจำนวนนกเงือกรวมฝูง

Image

ณรงค์ จิระวัฒน์กวี กำลังเดินสำรวจชีพลักษณ์อาหารนกเงือกในแปลงตัวอย่าง

ณรงค์ : มีคนที่เขาไม่ได้ชอบป่าเหมือนพวกเราแต่ถูกเกณฑ์เข้าไปทำงาน เหมือนเป็นลูกจ้าง ไม่ได้มีพื้นฐานด้านชอบป่า มันเครียดมาก เขาบ่นเลยนะ โอ๊ย เหมือนติดคุก ขนาดพวกผมชอบไปอยู่ห้วยขาแข้งยังลำบาก คนไม่ชอบนี่ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่

คนทำงานในป่าไม่ต้องจบอะไรมาก แต่ใจนั้นสำคัญและต้องซื่อสัตย์ ข้อมูลพวกนี้ถ้าคุณเป็นเสือกระดาษไม่ไปจริงใครจะรู้  ถึงแม้เราจะอยู่เขาใหญ่แต่ในอดีตเคยผ่านห้วยขาแข้งมาแล้ว  บูโดที่ปรีดา (ปรีดา เทียนส่งรัศมี) อยู่ก็เคยไปอยู่ ได้เห็นความหลากหลาย

พิทยา : จริง ๆ ในป่าผมจะไม่ค่อยคุย จะฟังเสียง ถ้าคนเดินมาข้างหลัง เสียงที่เขาเหยียบบางทีผมจะแยกไม่ออกว่าเสียงคนหรือเสียงป่า  ผมชอบไปไหนมาไหนคนเดียว นอนก็นอนคนเดียว จนหลังจากถูกกระทิงขวิดอาจารย์พิไลบอกเอาคนอื่นไปด้วยเถอะ ไม่ได้ไปช่วยอะไรเอาไปเก็บศพก็ยังดี ผมบอกน้องทุกคนว่าไม่ต้องช่วยนะ ถ้าสัตว์ชาร์จให้ต่างคนต่างไป เพราะมันช่วยไม่ได้ น้ำหนักมันเยอะ แรงต่างกัน ต้องเอาตัวเองให้รอด

ผมโดนมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้มีสื่อเอาไปออก เคยโดนแมงมุมกัดต้องแอดมิต สั่งเสียแล้วเหมือนกัน ตกทอยก็ยังดีที่คว้าติด เรามีประสบการณ์พวกนี้เยอะ

จังหวะที่พาคนไปถ่ายสารคดีก็มีรอยช้างแม่ลูกอ่อนเดินขึ้นสันเขาไปทางจุดที่จะพัก ผมเห็นแต่ไม่เอะใจว่าในรอยเท้าช้างมีกระทิงโทนตัวหนึ่งตามเหยียบย่ำอยู่ ผมสนใจแต่ช้างแม่ลูกอ่อน พาคนเดินเข้าไปตรงจุดที่เราจะนอน พอเห็นวิวถ่ายนกบนหน้าผาเราก็หยุด ผมเดินไปส่งตรงที่พัก เป็นเวิ้งเข้าไปในป่า

จุดที่ผมนอนประจำอยู่ห่างคนอื่นสักหน่อย ปลดเป้ปั๊บได้ยินเสียงฟืด เป้ยังไม่ถึงพื้น เหลือบตาดูห่างออกไป ๓ เมตร กระทิงยืนอยู่ หันหน้ามอง ก่อนเดินไปไหนผมเช็กลมแล้วว่าลมพัดจากผมไปหาสัตว์ มันได้กลิ่นผมตั้งแต่ผมเข้าเวิ้งป่า แต่มันไม่หนี  โดยปรกติสัตว์ได้กลิ่นเรามันจะหนี นี่มันรอว่าถ้าผมพ้นทางก็ไม่สนใจ แต่ผมเข้าไปตรงจุดที่จะเป็นอันตรายต่อมัน ฟืดที่ ๑ มันเตือน พอเตือนปั๊บ ผมแอบหลังต้นไม้คู่  ผมมองมันพร้อมกวาดตาไปหาคนกลุ่มโน้น มันฟืดที่ ๒ แล้วยกเข่าเตรียมจะพุ่งเข้าใส่

ผมทิ้งเป้ แอบหลังต้นไม้ เห็นเถาวัลย์อยู่ กระโดดเพื่อจะใช้เถาวัลย์ดึงตัวเองขึ้น  ถ้าเถาวัลย์ไม่ทรุดผมก็ไม่เจ็บ ขึ้นต่อได้เลย แต่แค่สาวขึ้น เถาวัลย์ทรุด แรงที่จะส่งตัวไม่มี  มันก็เข้าถึง พุ่งชนข้างหลัง  โดยสัญชาตญาณผมยกขาขึ้นป้องกันช่องท้อง มือยังจับเถาวัลย์นะ จากนั้นก็โลกมืด ตัวหลุดจากเถาวัลย์ลงไปนอนในหลุมดิน โดยร่างมันยืนคร่อมอยู่บนตัวผมชนิดเอามือจับได้  มันตามมาซ้ำ แต่ผมลงมาติดหนามเถาวัลย์อยู่บนนั้นนิดเดียวทำให้มันซ้ำไม่โดน มันยืนคร่อม ผมนอน แล้วมันก็เดินไป ผมโบกมือ มึงกับกูสิ้นสุดกันนะ ไม่ได้โกรธมัน ผมอาจจะเคยตีมันขาหัก  แล้วมันก็เดินเฉยไปทางทิศเหนือ กลุ่มที่มาด้วยอยู่ตรงลานหินทางทิศใต้

ผมรู้ว่าโดนแน่ เพราะหลุดมาตั้งหลายเมตรจากจุดที่โดนขวิด สิ่งแรกที่สำรวจคือแนวแกนกลางที่เป็นจุดอันตราย เห็นว่าไม่มีแผลตรงกลางลำตัวก็ไปดูที่ขา หัวแม่ตีนพลิกไปอยู่ที่ส้น ส้นขึ้นมาอยู่หัวแม่ตีน ผมรู้ว่าขาหัก จับขาพลิกกลับให้อยู่ในลักษณะปรกติ  ทีนี้ก็ร้องเรียกคนข้างนอกให้เข้ามา เลือดไหล แต่เราเรียนวิทย์มารู้ว่าตรงนี้ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ เริ่มโทร. ปรึกษา ดูว่าเลือดจะหยุดไหม ฝนตก เลือดไหล ผมก็หนาว สั่น พอสั่นหนาวคนที่อยู่ด้วยกันเริ่มคิดว่าไอ้อ๊อดไม่รอดแน่ โทร. บอกหัวหน้าให้เอา ฮ. มารับ สำหรับผมโทร. บอกคนที่บ้าน จะไปก็ไป ทำอย่างไรได้ ความที่เฉียดมาเยอะมันทำให้อยู่กับแผลได้โดยให้กำลังใจคนอื่นอีกนะ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่บอกด้วยปาก มันสั่งสมมานาน ผมทำจนถึงที่สุดจนกว่าจะหมดเวลาที่เขาจะให้โอกาส โดนกันเกือบทุกคน นิด ๆ หน่อย ๆ แล้วไม่ใช่โดนแล้วจะไม่โดนอีกนะ

คิดว่างานที่ลำบากและเสี่ยงชีวิตขนาดนี้ จะมีใครมาสานต่อ

พิทยา : ผมไม่ได้คาดหวังกับคนรุ่นใหม่ ๆ บอกตรง ๆ ว่ามันไม่ง่าย คุณเห็นจากภาพภายนอก มันน่าอยู่ มึงมาเดินดู เดินป่าคนเดียวได้ไหม เพราะงานวิจัยนกเงือกส่วนใหญ่ต้องไปคนเดียว แยกกันไป คนมันน้อย  แล้วเราไม่มีอะไรเป็นจุดบันดาลใจให้เขามา ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนสูง ไม่มีสวัสดิการ  ถ้าคุณไม่มีใจข้อเดียวข้อนั้นคุณทำไม่ได้หรอก อาจจะแต่งตัวสวย อาจจะบอกว่ากูอยู่ตรงนี้ แต่อยู่ได้แป๊บเดียวเพราะมันไม่มีอะไร

ณรงค์ : เรื่องนี้ไม่คิดเลยนะ  เรามองว่าเงินเดือนมันน้อย มีญาติพี่น้องผมก็ไม่ชวนมา มาแล้วตกระกำลำบาก ถ้าใครอยากมาให้มาเลย มาเอง มันต้องอยู่ที่ความชอบ

ผมมองว่าจะทำงานอย่างนี้ได้ต้องมีงานเสริม ตรงนี้แค่ประทังชีวิตให้รอดได้ เก็บเงินเอาเองเพราะไม่ได้มีบำนาญ เพื่อนผมทำงานในกรมเกษียณกันหมดแล้ว ก็สบายกันแล้ว แต่ผมก็ยังต้องทำงานอยู่

พิทยา : ไม่ใช่งานเสริมอย่างเดียวนะ พูดง่าย ๆ ว่าต้นทุนของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ต้องการคนรวยด้วยนะ ฐานะทางบ้านค่อนข้างไม่ขัดสน  ถ้าขัดสนหรือเป็นลูกคนเดียวอย่ามาทำ เดี๋ยวไม่ได้มีโอกาสสั่งเสีย

มีเหมือนกันที่เข้าป่าทำงานพร้อมกันทั้งคู่ แต่งานวิจัยนกเงือกส่วนใหญ่ต้องแยกกัน ต้องเดินทางเพียงลำพังเพราะคนน้อย

ทำวิจัยนกเงือกมานาน คิดว่ามีเรื่องอะไรที่ยังไม่รู้อีกบ้าง

ณรงค์ : เยอะ บางทีเรามีความสามารถในการวิจัยหรือเปล่า มันยากเหมือนกัน กว่าจะตีประเด็นแต่ละประเด็นแตก พวกผมเดินดูต้นไม้ในแปลงตั้งหลายปีกว่าจะรู้ว่าข้าง ๆ แปลงมีรังนกเงือกอยู่  มาได้ยินเสียงหลังจากปิดโพรงไปแล้ว

แม้แต่การซ่อมรัง ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วเสร็จนะ นกเงือกใช้รัง ๕-๖ ปี โพรงทรุดอีก ถ้าเราปล่อยรังนั้นก็เสียไปเลย เป็นสิ่งที่ต้องดูแลระยะยาว ถ้าทิ้งก็ใช้ไม่ได้

พิทยา : ในวันที่เริ่มงานกันใหม่ ๆ ตอนนั้นเดินป่ากันดุเดือดมาก ร่างกายเรายังแข็งแรงอยู่ มาถึงวันนี้คำถามหนึ่งคือในพื้นที่ ๑๕๐ ตารางกิโลเมตรที่รับผิดชอบ คุณรู้จักรังนกเงือกทุกรังหรือเปล่า ผมบอกเปล่า คุณต้องเดินหนักขนาดไหน แค่เป็นตัวแทนเท่านั้น ไม่อย่างนั้นต้องเดินดูต้นไม้ทุกต้นเลย ขนาดอัดเกือบทุกต้นมันยังรอดตาเราไปได้

การหารังจริง ๆ บางทีเราก็มองไม่เห็น บางอย่างเรายังไม่รู้ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างนี้เพื่ออะไร ได้แต่ตั้งคำถามไว้ว่าจะศึกษาอย่างไร  ข้อมูลพื้นฐานเรามีเยอะ แต่ในบางเงื่อนไขเราก็ยังไม่รู้

ข้อมูลพื้นฐานที่เรารู้อย่างแน่ชัดมีอะไรบ้าง

ณรงค์ : เรื่องการเข้าโพรง ว่าเข้าตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร การรวมฝูง

สมัยก่อน BBC ขอให้อาจารย์พิไลพามาดูนกเงือกรวมฝูง เกาะอยู่เยอะ ๆ เป็นร้อยตัว อาจารย์ก็ยังไม่รู้ว่ามันรวมตรงไหน สมัยที่ยังไม่ได้ทำงานวิจัยก็เที่ยวไปเดินหาในป่า

พิทยา : แต่ละครอบครัวพาลูกมา ผัวเมียก็มา เหมือนเราพาลูกไปโรงเรียน เรามีเวลาอยู่กับลูก ๒๐-๓๐ ปี แต่นกเงือกส่วนใหญ่ปีเดียว หลังจากรวมฝูงก็ให้ไปกับพวกวัยรุ่น พ่อกับแม่แยกมา

ข้อมูลพื้นฐานที่เรารู้แน่นอนคือฤดูกาลทำรัง การเลี้ยงลูกเลี้ยงอย่างไร กินอาหารอะไรบ้าง อายุของไข่ ไข่กี่ใบ จำนวนลูก ความสำเร็จดูตรงไหน เมื่อไรจะออกจากโพรง มั่นคงและแน่นอนว่าเรารู้  แม้แต่อุณหภูมิความชื้นของต้นไม้จริงและต้นไม้ตาย เพื่อเอามาใช้ทำโพรงเทียม ถ้าเป็นต้นไม้จริงจะมีอุณหภูมิและความชื้นคงที่ในช่วงที่นกเงือกทำรัง

ณรงค์ : เวลาไปพื้นที่ใหม่แม้แต่ฤดูทำรังก็ยังไม่รู้ อาจารย์พิไลเคยไปซาราวัก (รัฐในมาเลเซีย) ถามว่านกเงือกทำรังเมื่อไร เขาไม่รู้ เราก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน  ศึกษาเขาใหญ่แล้วบอกว่าที่อื่นเป็นแบบนี้อาจจะไม่ใช่ เราต้องวางที่เขาใหญ่ไว้  ที่ซาราวักก็หากันเป็นปี ๆ กว่าจะเจอรัง พอเจอแล้วปีต่อไปนกไม่เข้า ไม่แน่เสมอไปในพื้นที่ใหม่ ๆ มันท้าทาย

ในเมืองไทยเองทางเหนือก็ไม่ค่อยมีข้อมูล ปัญหาคือไม่มีนกเงือก หมดไปแล้ว  ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์เมื่อก่อนมีนกเงือก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว อาจจะเหลือนกแก๊กบ้างแต่ก็ไม่ค่อยมีคนเห็น  ม่อนจองอาจจะมีบ้าง แต่เราก็ไม่มีกำลัง แค่นี้ก็จะแย่อยู่แล้ว คนมีจำกัด แต่งานก็มีเข้ามาอยู่เรื่อย จะให้เขาแจ้งไปทางปุ๊ก (ศิริวรรณ นาคขุนทด) รับเรื่องทั้งหมดแล้วพิจารณาว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาต เพราะพวกเราอยู่ในพื้นที่

Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image

งานสำรวจชีพลักษณ์หรือการออกดอกออกผล มีความสำคัญ แต่ถ้าจะเชื่อมโยงไปยังสถิติการเข้ารังของนกเงือกต้องใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี ๑๐ ปี

คิดว่างานที่กำลังทำอยู่ส่งผลกระทบกับคนในเมืองหรือคนส่วนใหญ่อย่างไร

ณรงค์ : เราศึกษานกเงือกเพื่อรักษาป่า เพราะนกเงือกกับป่าสัมพันธ์กัน ถ้าเรารักษานกเงือกได้ก็เหมือนกับเรารักษาป่า บางทีเวลาพูดรักษาป่าก็จะลอย ๆ ถ้าบอกอนุรักษ์นกเงือกมันเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า  รักษาป่ามันดีอยู่แล้ว ช่วยลดโลกร้อน  ทุกวันนี้ขนาดรณรงค์กันป่ายังลดอยู่เรื่อย

พิทยา : เคยมีคนแย้งว่านกเงือกไม่ใช่ผัวเดียวเมียเดียวและไม่ใช่นักปลูกป่า  เขาต้องมาอยู่เอง มาเห็นเอง

นกเงือกกินวันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยผล แล้วคายเมล็ดแก่ ๆ แม้ไม่ได้งอกทุกเมล็ด แต่วันหนึ่งงอกแค่เมล็ดเดียวในจุดที่พอจะงอกเป็นต้นใหญ่ก็รักษาป่าแล้ว  เราดูแลนกเงือกหรือนกใหญ่จะช่วยรักษาป่าให้คงที่ มีผลไม้ที่แพร่กระจายโดยสัตว์ ทำให้ผืนป่าคงอยู่

“ชื่อเสียงพวกผม เอาไปขอทุนคงจะยาก แต่ของอาจารย์ชื่อเสียงระดับโลก”

ณรงค์ จิระวัฒน์กวี
ถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์

Image

เรื่องนกเงือกไม่มีใครเก่งเท่าอาจารย์ บรรยายที่ไหนคนฟังฮือฮา เพราะแกมีของเยอะ มีมุก มีตอดตลอด คนหัวเราะกันฮาครืน  ถ้าเป็นเราเหมือนคลื่นเรียบ ๆ เสร็จแล้วเสร็จเลย คนฟังไม่ถาม

ผู้ร่วมบุกเบิกเรื่องนกเงือกกับอาจารย์อีกสองคนคือ พี่บุญมา แสงทอง เคยช่วยงานอาจารย์ทุกอย่างตั้งแต่เป็นไกด์นำทาง พ่อครัว ลูกหาบ ผู้ช่วยวิจัย อาศัยอยู่ข้าง ๆ บ้านอ๊อด (พิทยา ช่วยเหลือ) แต่แกเสียชีวิตไปแล้ว  กับอาจารย์อาซูโอะ ซูยิ ชาวญี่ปุ่น ที่ร่วมกับอาจารย์ก่อตั้งโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เป็นช่างภาพที่ทำให้คนรู้จักนกเงือกเขาใหญ่อย่างกว้างขวาง เคยได้ยินข่าวว่าท่านเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ไม่แน่ใจว่าตอนนี้สุขภาพเป็นอย่างไร

ทุกวันนี้เวลาขอทุนยังต้องอาศัยชื่อเสียงของอาจารย์ บอกว่าเราทำงานให้อาจารย์พิไล อาศัยผลงานต่าง ๆ ที่อาจารย์สั่งสมไว้  ลำพังชื่อเสียงพวกผมเอาไปขอทุนคงจะยาก แต่ของอาจารย์ชื่อเสียงระดับโลก ต่างประเทศเขาก็ยอมรับ