Image

ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

งานวิจัยมีความเสี่ยง

กมล ปล้องใหม่
นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

จากจุดเริ่มต้นสู่ตำนาน งานวิจัย“นกเงือก” (ภาคสนาม)
กว่า ๔ ทศวรรษ

สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก

ผมเรียนชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ปลายปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ เหลืออีกสองสามวิชาจะจบ แต่ห้องแล็บไม่พอ ต้องจับฉลาก พอจับไม่ได้ก็ต้องไปเรียนอีกเทอม ระหว่างรออาจารย์ถามว่าช่วยทำเรื่องนกขุนทองได้ไหม ผมตัดสินใจไปช่วยก็เลยได้หัดตอกทอยขึ้นต้นไม้ เรียนรู้จากชาวบ้าน เขาใช้ตะปู ๓ นิ้ว ถ้ามันสูงมาก ๆ ผมใช้ตะปู ๔-๕ นิ้วเลย เน้นปลอดภัยไว้ก่อน พอพฤศจิกายน ๒๕๓๕ ผมกลับมาเรียนต่อจนจบ แล้วถูกชวนให้ไปทำนกเงือก ช่วงนั้นมูลนิธิต้องการคนพอดี

อาจารย์พิไลเป็นคนสัมภาษณ์ ถามผมว่าเรียนพันธุ์ไม้มาไหม ผมบอกเรียน taxonomy (อนุกรมวิธาน) อาจารย์บอกว่าได้ ถามต่อว่าปีนต้นไม้เป็นหรือเปล่า แกเล่าว่ามีโพรงนกเงือกเสียเยอะในแต่ละปี ไม่มีใครปีนขึ้นไปซ่อม ผมโอเค ตกลง

สมัครช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ตอนแรกอาจารย์จะให้เริ่มงานมกราคม แต่กลางเดือนธันวาคมอาจารย์บอกให้ขึ้นมาที่เขาใหญ่ ว่าทำได้ไหม ก็เริ่มซ่อมโพรงยาวมา ใช้วิธีตอกทอยขึ้นไปซ่อมโพรง

ตอนแรกเรายังไม่มีเชือก พอดีมีเวิร์กช็อปที่เขาใหญ่ สาธิตการจับนกเงือก ตอนนั้นฝนตก ผมปีนเถาวัลย์ขึ้นไปตัดแต่งกิ่งไม้ต้นข้าง ๆ ให้มันโล่งจะได้ขึ้นตาข่ายจับนก ปรากฏปีนขึ้นไปได้ ๑๐ เมตร เถาวัลย์ขาด ร่วงตกลงมาจากเหตุการณ์นั้นทีม BBC เลยบริจาคเชือก อุปกรณ์ปีนต้นไม้ให้สองชุด ช่วยสอนวิธีใช้ ช่างภาพ BBC ชอบถ่ายรูปบนเรือนยอดจะเก่งเรื่องพวกนี้

เมื่อก่อนอุปกรณ์ขึ้นต้นไม้แพง เชือกเส้นหนึ่ง ๓ หมื่นบาท ทาง BBC บอกว่าเขาจะบริจาคให้ สอนกันตอนนั้นเลย แล้วก็เริ่มใช้เชือก คือพวกช่างภาพต่างประเทศจะไม่ถ่ายกับพื้น บอกว่าภาพไม่สวย เขาต้องขึ้นเชือกหมด เราก็เลยขอเชือกไว้ อุปกรณ์อื่นก็ให้เขาเอากลับไป แต่เชือกเราได้ใช้ต่อ เชือกเส้นหนึ่งขึ้นบ่อย ๆ ก็อายุ ๓ ปี ใครมาเราก็ขอตุน ขอบริจาคไว้ก่อน

ก่อนตกเถาวัลย์เคยตอกทอยซ่อมโพรงนกแล้วทอยหลุด สมัยนั้นยังมีพราน เรากลัวพรานจะขึ้นไปขโมยลูกนกขาลงต้องหักทอยทิ้ง  ทอยทำด้วยเถาวัลย์ขนาดข้อมือ ตัดยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร เอาตะปู ๔ นิ้วตอกตรงกลางสองตัว มีช่องตรงกลางสัก ๑๐ เซนติเมตร ติดทอยกับต้นไม้แล้วปีนสูงขึ้นไปเรื่อย ห่างกันสักประมาณ ๖๐ เซนติเมตร เท้าเหยียบขึ้นไปสูง ๓๐-๔๐ เมตร

เถาวัลย์ทน อยู่ได้เกือบปี พอเราลงมาต้องตัดทิ้งเพื่อป้องกันขโมยและไม่ให้คนรู้ว่าข้างบนมีรังนกเงือก ตะปู ๔ นิ้วตอกเข้าเนื้อไม้ลึกกว่า ๒ นิ้ว มันไม่มีทางถอนออกขาขึ้นใช้ขวานตอก ขาลงก็ค่อย ๆ สับลงมา พอเถาวัลย์ขาดก็จะมีรอยแตก ดึงเถาวัลย์ เหลือตะปูพับติดกับต้นไม่เห็นร่องรอย

ผมเกาะหน้าผากมัน ลอยกลางอากาศในท่ายืน พอขาผมถึงพื้นมันก็สะบัดผมหลุด ปลายเขาเกี่ยวเข้าที่ท้อง ตกลงมาคิด “ฉิบหายแล้ว”

ความตายเข้ามาเฉียดชีวิต ปี ๒๕๕๗ โดนกระทิงขวิดที่เขาใหญ่

เวลาลงมาบางทีเหนื่อยจัดก็ร่วงลงมาสามสี่ขั้นทอยประมาณ ๒ เมตรกว่า บางทีเหนื่อยทิ้งตัวลงมาทอยก็หลุดออก จนมาได้ตัวที่ ๕ เบรกไว้ มีกันบ่อย เมื่อก่อนงานเสี่ยงไม่มีเซฟ หลัง ๆ มีเชือกถึงเริ่มปลอดภัยมากขึ้น

อาจารย์พิไลท่านรู้ว่าโพรงมันลึกมาก ขึ้นลำบาก เราได้วิชาตอกทอยจากอ่างฤ ๅไน ก็บอกเอาเลย แค่นี้เอง ได้มาเป็นคนซ่อมโพรงนกเงือกคนแรก แล้วก็มาสอนพี่อ๊อด (พิทยา ช่วยเหลือ) พอเขาเป็นก็มาช่วยกันหลายคน ได้ซ่อมโพรงรังมากขึ้น

ผมเริ่มงานจริง ๆ เดือนมกราคม ๒๕๓๖ จนถึงเมษายน ๒๕๕๘ ลาออกไป ๒ ปี ๘ เดือน เพราะโดนกระทิงขวิด ร่างกายไม่ไหว เมียบอกให้หยุดก่อน แล้วกลับมาใหม่เดือนมกราคม ๒๕๖๑

วันที่โดนกระทิงขวิดผมเดินป่าอยู่กับลุงหมีน้อย (วิชัย กลิ่นไกล) เจ้าหน้าที่ภาคสนามอีกคนของโครงการ เส้นทางนั้นเรารู้ว่ามีนกเงือกกรามช้าง เพราะเคยเห็นแม่นกเอาลูกออกจากโพรงมาป้อนอาหาร ด่านที่เคยเดินประจำคือด่านขึ้นสันเขา วันนั้นบังเอิญมีนกเงือกกรามช้างบินโฉบเข้าไปในหุบ ผมบอกลุงหมีน้อยเดินด่านเดิมไปรอที่หน้าผาน้ำตก เดี๋ยวผมปีนตามขึ้นไปเจอกัน แยกกันได้ ๕ นาที พื้นที่เป็นเขาค่อนข้างชัน หุบเขารูปตัวยู ข้างหน้าเป็นหน้าผา กระทิงตัวผู้นอนหลบดงไม้อยู่

ตอนนั้นเริ่มหอบ ไม่ได้มองทางข้างหน้า ก้มอย่างเดียว เงยขึ้นมาได้ยินเสียง “ฟึ่บ” เห็นกระทิงนอนอยู่ห่างแค่ ๕ เมตร ลอยมาแล้ว คิดว่าไม่ได้ต้องการจะชน เหมือนต้องการหนีมากกว่า ติดว่าข้างหน้าเป็นหน้าผา ก็เลยต้องวิ่งมาทางผมที่ยืนขวางทางอยู่ พุ่งมาแล้วผมก็ไม่ได้หลบ ยกแขนบัง แขนก็หัก กระทิงตัวใหญ่เขากว้าง ผมเกาะหน้าผากมัน ลอยกลางอากาศในท่ายืน พอขาผมถึงพื้นมันก็สะบัดผมหลุด ปลายเขาเกี่ยวเข้าที่ท้อง ตกลงมาคิด “ฉิบหายแล้ว” ร้องบอกลุงหมีน้อยว่าอย่าเพิ่งลงมา ระยะห่างกันแค่ ๑๐๐ เมตร แต่เขาอยู่บนเขา

หลังจากนั้นลุงหมีน้อยก็รีบวิ่งมาดู เป้กระเด็นไปอีกทาง จุดที่ถูกกระทิงขวิดไม่มีสัญญาณ ลุงหมีน้อยต้องหยิบโทรศัพท์ในเป้เอาไปเดินหาสัญญาณบนที่สูง ผมคิดว่าโดนหนักขนาดนี้ยังไงกระดูกสันหลังก็ร้าว ไม่รู้จะร้ายแรงแค่ไหน เลยขอนอนเฉย ๆ ไม่เคลื่อนที่

ผมถูกขวิดที่เขาจันทร์ ฝั่งปากช่อง โทร. หาน้องที่เขาใหญ่ไม่ติด มาติดที่เขาแผงม้า ต้องใช้เวลาเตรียมตัว ๑๕ นาทีถึงครึ่งชั่วโมงบอกเพื่อนฝูงให้ขึ้นรถมา จากจุดนั้นขับมาปากทางอีก ๑ ชั่วโมง มาบ้านคีรีวันอีก ๑ ชั่วโมง แล้วต้องเดินอีก

Image
Image

ผมถูกขวิด ๙ โมงเช้า คิดว่าเที่ยงคนช่วยน่าจะมาถึง พอติดต่อได้แล้วทุกคนต่างก็รีบ เจ้าหน้าที่ให้ลุงหมีน้อยใช้จีพีเอสบอกพิกัด แต่คนที่มาไม่มีใครถือจีพีเอสสักคน เพราะว่ารีบ ตกใจ ข้าวกับน้ำก็ไม่ได้ติดมา น้ำในคลองก็แห้ง คิดแล้วตลกดี ตอนนั้นเฮลิคอปเตอร์มาบินวนแล้วสองลำ เขารู้ตำแหน่งแล้วแต่ลงจอดไม่ได้ มีคนบอกว่าเดินลงไปข้างล่าง ๒ กิโลเมตรเป็นทุ่งหญ้าป่าละเมาะ ก็ไปตัดไม้ให้พอลงจอด พวกข้างบนก็ตัดไม้ทำเปลหาม หามไปได้ ๑๐๐ กว่าเมตรอาการผมเริ่มแย่ เพราะแผลไม่ได้ล้าง มันคงเริ่มติดเชื้อ วิทยุบอกเฮลิคอปเตอร์ให้เอาน้ำเกลือมาล้างแผล ได้แล้วหย่อนลงมา ทีมกู้ภัยเขาใหญ่มาถึงพอดี ได้เปลสนามก็ขึ้นเปลไปลงตรงที่ทำลานจอดเฮลิคอปเตอร์

ตอนแรกนึกว่าต้องไปโรงพยาบาลรามาธิบดีในกรุงเทพฯ ทางพี่ปุ๊ก (ศิริวรรณ นาคขุนทด) ช่วยประสานไว้ให้ ทางโรงพยาบาลน่าจะเตรียมห้องผ่าตัดรออยู่ แต่พอขึ้น ฮ. ปุ๊บ ผมหายใจไม่ออก ตอนนั้นราว ๕ โมงเย็น เริ่มแย่แล้ว ต้องลง อบต. หนองน้ำแดง ขึ้นรถพยาบาลไปโรงพยาบาลปากช่องนานา เข้าห้องผ่าตัด  ยังจำได้หมอบอกจะให้ยาสลบแล้วนะ แล้วผมก็ตื่นมาอีกทีตอน ๒ ทุ่มในรถพยาบาล ขับไปโรงพยาบาลมหาราช ไปเข้าห้องผ่าตัดที่นั่นต่อ ผมงงทำไมผ่าหลายรอบ เห็นเลยว่าหมอใช้พลาสติกปิดปากแผลไว้เฉย ๆ ผมเห็นไส้ เห็นอะไรหมด ถามว่าทำไมไม่เย็บ เขาบอกตับพี่ตอนนี้ขาด ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่กระทิงขวิดจนเละเอาออกไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ดี ๆ เอามาแปะ แล้วใช้ผ้าก๊อซพันไว้อยู่  เลือดหยุดไหลเมื่อไรจะเอาผ้าออกให้แล้วเย็บ

ผมถามว่าไม่ตายเหรอครับ เลือดออกเยอะขนาดนี้ เขาบอกไม่ตาย ไม่เห็นเหรอท่อสองท่อ เลือดสองถุง ตอนนั้นขาดเลือดด้วยนะ พี่ชายที่เป็นทหารม้าโคราชบอกทหารในค่ายใครกรุ๊ปเอเกณฑ์มาให้หมด ได้ทหารมาเกือบ ๒๐๐ คนที่เป็นกรุ๊ปเอ เขาบริจาคเลือดให้ก็เลยรอด

ระหว่างเป็นนักวิจัยผมเรียนปริญญาโท ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิชาการเรื่องชนิดพันธุ์ของต้นไม้ ผลไม้ที่นกเงือกกิน จากที่เคยเรียนเบื้องต้นมาจากรามคำแหง พอมาภาคสนามเรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ จบโทก็มาเปิดพื้นที่ใหม่

ช่วงปี ๒๕๕๐ ผมยังอยู่เขาใหญ่ที่เดียวกับพี่อ๊อด (พิทยา ช่วยเหลือ) ผมบอกว่าการเพิ่มประชากรนกเงือกทำที่เดียวไม่ได้ แต่ละโพรงมันมีระยะห่าง มีการป้องกันกันเองอยู่ บนเขาใหญ่แน่นแล้ว พอมาสำรวจแถบคลองปลากั้ง รู้ว่านกเงือกวัยรุ่นเขาใหญ่บินมานี่ แต่เขาต้องบินกลับเพราะไม่มีโพรง  คิดว่าถ้าเปิดพื้นที่ตรงนี้ นกเงือกจากตรงนี้จะไม่ขึ้นเขาใหญ่ จากตรงนี้ไปทับลาน แล้วไปต่อปางสีดาได้ ก็เลยคิดว่ามาตรงนี้ดีกว่า

ทอยที่ตอกลงบนต้นไม้เพื่อปีนสูงขึ้นไปหารังนกเงือก ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์เชือกที่ปลอดภัยมากขึ้นในเวลาต่อมา

ช่วงแรก ๆ พื้นที่วิจัยยังไม่ชัด มีการติดวิทยุดาวเทียมตามนกเงือกกรามช้างกับนกกกบนเขาใหญ่ พอนกออกจากรังก็บินมาหากินที่นี่ เพราะช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม ลูกไทรตกเยอะ

พอเราทำมานาน เสียงปืนก็หายไป ปี ๒๕๔๖-๒๕๔๗ เคยได้ยินเสียงปืนเฉลี่ยชั่วโมงละ ๑๖ นัด พอเราอยู่นาน ๆ พรานก็หายไป พื้นที่เขาแหลมไม่มีการล่าอยู่แล้ว เพราะช่วงตั้งเขาใหญ่ใหม่ ๆ มีไฟป่าเยอะ ไม้ถูกไฟไหม้หมด ปัจจุบันต้นยังไม่ใหญ่มาก แต่เริ่มให้ผลผลิตเป็นอาหารนก อาหารสัตว์ป่าได้แล้ว ส่วนไม้โบราณเหลืออยู่หน้าเขา เป็นป่าดิบเขา เส้นทางเดินยาว หารังแป๊บเดียว

โพรงนกเงือกจะเสียภายใน ๕ ปี ผมดูแล ๒๕๐ โพรง ทั้งพื้นที่เขาใหญ่กับห้วยขาแข้งรวมกัน ซ่อมให้ได้ปีละ ๕๐ โพรง ๕ ปีก็ครบพอดี แล้วก็เริ่มต้นใหม่ เวียนมา  เขาใหญ่ซ่อมหน้าฝน ลมหนาวมาก็ไปห้วยขาแข้ง พอมกราคม-กุมภาพันธ์ก็นับนกเข้ารังที่เขาใหญ่ก่อน เข้ามีนาคมเริ่มเช็กห้วยขาแข้งแถบป่าล่าง รอให้นกเข้ารังเรียบร้อยก่อนถึงไป

เราไม่สามารถไปได้หลายครั้ง พื้นที่ที่ดูแลมันกว้าง มีนาคมเราไปป่าล่าง ๑๐ วัน พอเมษายนขึ้นป่าบน ถ้าขึ้นหลังเมษายนทางจะเละ ฝนลงรถก็จะแย่อีก  ถ้าปีไหนมีงานบนเขาใหญ่ ขอให้เราไปช่วย ต้องเลื่อนมาพฤษภาคม-มิถุนายน กลับมารถพัง ค่าซ่อม ๒ หมื่นทุกที ตอนไปซ่อมโพรงเดือนพฤศจิกายนท้องรถกระแทกกับก้อนหิน เกียร์พังหมดไป ๔ หมื่น รถเราเตี้ยกว่าเขา เกียร์ออโต้ ต้องวางแผนงานดี ๆ

ที่ห้วยขาแข้ง ถ้าซ่อมโพรงก็มีเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งไปด้วยสามคน ถ้าเข้าป่าลึกก็มีทีมรับผิดชอบในพื้นที่ไปด้วย เหมือนเดินสมาร์ตพาโทรลในเส้นทางนกเงือก ไปรังต่อรัง  ถ้าต้องการคนเยอะก็บอกเจ้าหน้าที่ เวลาเข้าพื้นที่เสี่ยงต้องเอาเจ้าหน้าที่ป่าไม้มา เพราะเขาก็ยิงกันทั้งนั้น ถ้าพรานเยอะต้องมีลูกซอง ถ้าแค่เช็กรังนกก็เอาแค่คนเดียว

อย่างที่บอกว่าโพรงนกเงือกจะเสียภายใน ๕ ปี ถ้าไม่ทำต่อ นกเงือกไม่สามารถออกลูกหลานก็จะค่อย ๆ หายไป อย่างประเทศมาเลเซียไม่มีคนทำ ส่วนเกาะบอร์เนียวตอนนี้เหลือไม่กี่ตัวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เป็น land of hornbill เคยมีนกเงือกเยอะมาก ปัจจุบันไม่มีโพรง

งานพวกนี้หยุดไม่ได้ ถ้าอยากให้นกเงือกมีถึงลูกหลาน เราซ่อมปีละ ๕๐ โพรงก็แทบจะไม่ทัน ถ้าหยุดเมื่อไรมันก็จะหมดไปเรื่อย ๆ

ปัจจุบันงานวิจัยนกเงือกเราแทบไม่ได้ทำอะไรมากมาย เรารู้ว่าสาเหตุที่นกเงือกสูญพันธุ์คือไม่มีโพรงออกลูกหลาน เราเอาข้อมูลงานวิจัยมาเป็นงานอนุรักษ์มากกว่า ทำงานเพื่ออนุรักษ์ ไม่ใช่วิจัย  ทีมพี่อ๊อดถนัดเรื่องค่าย คุยกับคน แกก็ไปทำค่าย อย่างผมไม่ถนัดคุยกับคนก็ไปลุยภาคสนามซ่อมโพรง งานวิชาการก็ทำแค่ศึกษาการออกดอกเก็บผลของพันธุ์ไม้ แต่ไม่ได้ทำค่าย 

“อาจารย์เป็นคนจริง แบกเป้ตั้งแต่สาว ๆ ทำงานหนักให้เห็นมาตลอดกว่า ๔๐ ปี”

กมล ปล้องใหม่ 
ถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์

Image

อาจารย์เป็นคนจริง แบกเป้ตั้งแต่สาว ๆ ทำงานหนักให้เห็นมาตลอดกว่า ๔๐ ปี คนที่ไม่มุ่งมั่นจริง ๆ ทำไม่ได้ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็อยู่สบาย สอนอย่างเดียวก็ไม่มีใครว่า แต่แกไม่หยุดแค่นั้น ทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นก็ไม่ได้รู้จักนกเงือก ตอนนั้นทำเรื่องเสือ เรื่องช้าง ได้ยินเสียงนกกกตอนเดินเขาใหญ่ถึงได้เริ่มหาข้อมูล เห็นว่าโพรงนกเงือกมีน้อยลงก็เริ่มขอทุนจากญี่ปุ่นมาศึกษา บางปีเงินขาดก็ควักกระเป๋าตัวเอง หยิบยืมเพื่อให้โครงการไปต่อ ขายที่ขายทางให้น้อง ๆ ทำวิจัย อาจารย์กล้าสร้างงานให้คนหลายสิบคน สร้างพาวเวอร์ของบจากเอกชน ถ้าเขาไม่เห็นความมุ่งมั่นคงไม่ให้เงิน ๒๐-๓๐ ล้านบาท

อาจารย์เคยบอกว่า ครูคิดว่าครูโชคดีนะ สิ่งที่ทำคนมีเงินเห็นว่าเราทำจริง แต่เงิน ๓๐ ล้านก็ไม่ได้มีค่าเท่ากับสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เริ่มทำมาตั้งแต่แรกถึงปัจจุบันมันยากที่จะหาใครเหมือน

ตอนที่ผมมาสมัครก็ไม่คิดว่าจะอยู่นาน คิดว่ามาหาประสบการณ์แค่ ๒-๓ ปี แล้วไปเรียนต่อปริญญาโท ไปเป็นข้าราชการหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็อยู่มา ๓๐ ปีแล้ว

ผมเชื่อว่าอาจารย์พิไลเป็นคนมุ่งมั่น จริงจัง แล้วสิ่งที่ทำมันส่งประโยชน์ หาเงินมาทำวิจัยได้กว่า ๔๐ ปี ยากที่จะทำได้แบบนี้