ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากเขาใหญ่-ห้วยขาแข้ง-บูโด สู่เมือง
ศิริวรรณ นาคขุนทด
นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
จากจุดเริ่มต้นสู่ตำนาน งานวิจัย“นกเงือก” (ภาคสนาม)
กว่า ๔ ทศวรรษ
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
นับตั้งแต่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ริเริ่มงานวิจัยนกเงือกในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ และจัดตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้แง่มุมต่าง ๆ ของนกเงือกเพิ่มพูนขึ้นในสังคมไทย มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งภายในประเทศและนานาชาติ มีบทความทางวิชาการรวมทั้งเรื่องนกเงือกถูกนำเสนอในสื่อต่าง ๆ เป็นช่วงเวลากว่า ๔ ทศวรรษแห่งการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เรื่องนกเงือก
งานศึกษาเรื่องนกเงือกของอาจารย์พิไลเริ่มต้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนขยับขยายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่อื่น ๆ
ปัจจุบันมูลนิธิมีงานวิจัยที่ต้องรับผิดชอบหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการอนุรักษ์นกชนหินในภาคใต้ การฟื้นฟูประชากรนกกกในพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคเหนือ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการทำวิจัยนกเงือก ฝึกปีนต้นไม้ซ่อมแซมโพรงรัง การเดินลาดตระเวนสำรวจประชากรนกเงือกให้เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มอาสาสมัคร ชาวบ้านที่เป็นผู้ช่วยวิจัย นอกจากนี้ยังเข้าไปเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของนกเงือกในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา เกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นต้น
ขณะเดียวกันโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกซึ่งถือเป็นโครงการหลักของทางมูลนิธิก็ยังดำเนินการต่อเนื่องในสามพื้นที่หลัก เขาใหญ่-ห้วยขาแข้ง-บูโด โดยมีนักวิจัยภาคสนามห้าคนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ประกอบด้วย ศิริวรรณ นาคขุนทด กมล ปล้องใหม่ ณรงค์ จิระวัฒน์กวี พิทยา ช่วยเหลือ และ ปรีดา เทียนส่งรัศมี
ยากปฏิเสธว่าการทำงานอยู่เงียบ ๆ ในราวป่าของนักวิจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์นกเงือกและธรรมชาติ
ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการที่มีอายุยาวนาน หากแต่เป็นงานวิจัยที่จริงจังต่อเนื่องมากที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานความรู้ด้านปักษีวิทยา (ornithology) และนิเวศวิทยาสัตว์ป่า (wildlife ecology) ให้โลกใบนี้
ทีมวิจัยนกเงือกนำโดย ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ใช้ตาข่ายดักจับนกกกหรือนกกาฮังเพื่อติดวิทยุ ศึกษาอาณาเขตการหากินและพฤติกรรม ราวปี ๒๕๕๒ คนซ้ายคือ บุญมา แสงทอง อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ร่วมบุกเบิกศึกษางานวิจัยนกเงือกมาตั้งแต่เริ่ม คนขวาคือ ศิริวรรณ นาคขุนทด ปัจจุบันยังเป็นนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
คุณสมบัติของนักวิจัยนกเงือกมีอะไรบ้าง
อดทน ซื่อสัตย์ จริง ๆ เป็นแนวทางของนักวิทยาศาสตร์ อยากรู้อยากเห็น ตั้งสมมุติฐาน พยายาม
สมมุติเราไม่ได้ไปนั่งเฝ้านกจริง แล้วมาบอกคนข้างนอกว่านกเงือกเป็นอย่างนี้ ๆ ไม่ซื่อสัตย์ โกหก ก็คงไม่มีใครรู้ อย่างเราเคยทำปริญญาโทเรื่อง “การศึกษาแบบอย่างเสียงร้องของนกกกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ต้องเข้าป่าไปอัดเสียงนกเพื่อเอามาวิเคราะห์ ถ้าไม่ทำจริง แต่ทำเหมือนที่เป็นข่าว เมกผลการทดลองขึ้นมา ใครจะไปรู้
ช่วงเฝ้ารังนกตั้งแต่ ๖ โมงเช้ายัน ๖ โมงเย็น เราต้องอดทน แล้วก็ต้องอยากรู้อยากเห็น อย่างถ้ายังไม่รู้ว่านกกินอะไร แต่ได้เมล็ดมา วันหลังเราเดินป่าเจอต้นไม้มีผลสุกลองขูดเนื้อออกดูว่าใช่เมล็ดเดียวกันไหม
ฉะนั้นคนทำงานด้านนี้ต้องอดทน ซื่อสัตย์ อยากรู้อยากเห็น ชอบตั้งสมมุติฐาน เก็บข้อมูลไปจนกว่าจะรู้จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงไม่มีอะไรแตกต่าง ลูกศิษย์ของอาจารย์พิไลที่ทำงานในป่ามีทั้งผู้ชายและผู้หญิง
หน้าที่หลักของคุณศิริวรรณในมูลนิธิคืออะไร
หลัก ๆ วิเคราะห์ข้อมูล ติดต่อประสานงาน แล้วก็เข้าป่าเก็บข้อมูล แทบจะทำทุกอย่าง ตำแหน่งเป็นนักวิจัยไม่ได้เป็นผู้จัดการ
มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกไม่ได้มีคนทำงานเยอะ พวกเราอยู่ในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก อาจารย์พิไลทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ พวกเราเข้ามาทีหลัง สมัยนั้นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาช่วยงาน ตั้งแต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขานุการมูลนิธิ คนปัจจุบันยังเป็นนักศึกษา
ปี ๒๕๓๖ อาจารย์ก็ตั้งเป็นมูลนิธิ บอกว่าเผื่อจะหาเงินได้เพื่อเอามาสนับสนุนงานวิจัย ในมูลนิธิมีคณะกรรมการที่เป็นผู้ใหญ่ ตอนนี้ประธานคือ ดร. วรพัฒน์ อรรถยุกติ ส่วนอาจารย์พิไลเป็นกรรมการมูลนิธิ มีที่ทำการอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล
เราไม่ได้เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย จริง ๆ เราอยู่ภายใต้อาจารย์พิไล ถ้าอาจารย์หาทุนไม่ได้ พวกเราก็ตกงานกันหมด
ก่อนที่จะมาเป็นนักวิจัยสนใจเรื่องอะไรมาก่อน
เราเกิดสระบุรี พ่อทำงานรถไฟ ย้ายบ้านไปเรื่อยจนไปตั้งรกรากอยู่ที่ขอนแก่น เราเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ปี ๒๕๒๙
อาจารย์พิไลเป็นลูกของป้า เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ตอนเราใกล้จบปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อาจารย์พิไลสอนอยู่ที่มหิดล ภาควิชาจุล-ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ บอกว่าห้องตรงข้ามกำลังทำแล็บโรคมาลาเรีย เข้ามาทำงานสิ เราบอกไม่ชอบ ทำแล็บต้องอยู่ในห้องนั่งส่องกล้องจุลทรรศน์
อาจารย์ถามว่าแล้วชอบอะไร เราบอกว่าเวลานั่งรถไฟเห็นภูเขา อยากรู้ว่าข้างในมีอะไร เราเป็นคนในเมือง ไม่ได้เป็นเด็กลูกทุ่งอยู่กลางทุ่งนา อยากรู้ว่าเวลาเดินไปใต้ต้นไม้ในภูเขามันมีอะไรอยู่ในนั้น
เราจบปริญญาตรีปี ๒๕๓๓ อาจารย์บอกว่าถ้าอยากเข้าป่าก็มาทำเรื่องนกเงือก พอมาทำจริงแล้วรู้สึกว่าตัวเองโง่ คิดไม่ออกว่าอยากวิจัยหัวข้ออะไร เลยขอไปเรียนต่อปริญญาโทแล้วกันเผื่อจะเรียนรู้วิธีทำงานวิจัย สอบมหิดลไม่ติดก็ไปเรียนวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาถามว่ามีงานวิจัยในดวงใจหรือยัง เราบอกมีแล้ว อยากทำเรื่องเสียงร้องของนกเงือก เอาอาจารย์พิไลเป็นที่ปรึกษา ทางเกษตรก็ยอม
ที่มาของหัวข้อคืออาจารย์พิไลบอกว่านกเงือกหน้าตาเหมือนกันหมด จะแยกออกไหมว่าตัวไหนอยู่รังไหน ก็เลยทำ อาจารย์พิไลมาช่วยด้วย เราทำงานด้วย เรียนด้วย โบกรถขึ้นเขาใหญ่เพื่อเก็บข้อมูลอัดเสียงมาวิเคราะห์ คนให้อุปกรณ์คือพาโนราม่า (บริษัทผลิตรายการสารคดี) เขามาถ่ายทำสัมภาษณ์อาจารย์พิไล แล้วถามว่าอยากได้อะไร อาจารย์บอกตอนนี้ปุ๊กกำลังทำเรื่องเสียงร้องของนกเงือก ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ราคาเป็นแสน ทางพาโนราม่าก็ซื้อให้
“เราชอบทำงานภาคสนาม มีความสุข เวลาเข้าป่าจะรู้หมดว่าคนที่ไปกับเราเป็นอย่างไร ความจริงใจหรือไม่จริงใจ จะแสดงออกมา โชคดีที่ส่วนใหญ่เจอการตอบรับและความจริงใจดี ๆ”
ผลการศึกษาออกมาอย่างไร
ผลออกมาว่าแยกได้ พบคลื่นเสียงฮาร์มอนิก (harmonic) แต่ละตัวจะเน้นที่ตำแหน่งไหน แต่ละรังจะไม่เหมือนกัน แต่ถามว่าถ้าเอานกตัวนี้ไปร้องที่อื่นเราจะรู้ไหมว่าเป็นตัวนี้ ก็ต้องไปอัดเสียงแล้วเอามาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับฮาร์มอนิกของมัน ถึงจะรู้ว่าไอ้นี่เบอร์ ๘ ไอ้นี่เบอร์ ๑๐
แยกออกมาได้ว่ามันมีเสียงร้องแบบไหนตอนก่อนบินประกาศอาณาเขต โมโห หรือก้าวร้าว
อาทิตย์หนึ่งมี ๗ วัน เราก็ทำเจ็ดตัว ออกไปเก็บเสียงทุกวัน แต่ที่วิเคราะห์ได้ก็น่าจะห้าตัว เป็นงานวิจัยใหม่ไม่เคยมีใครทำ เราเป็นคนแรก แต่คนก็ไม่ค่อยสนใจ เรื่องเสียงส่วนใหญ่เขาจะสนใจนกกรงหัวจุกที่เป็นนกร้องเพลง คลื่นเสียงของมัน โซโนแกรม (sonogram) มีหลายรูปแบบ ส่วนนกเงือกจะมีแต่ กก กก กก อยู่อย่างนั้น หรือไม่ก็ กาฮัง กาฮัง กาฮัง ฉะนั้นถามว่าตัวนี้เสียงเพราะไหม จะบอกว่าเพราะเหมือนนกกรงก็ไม่ได้
ความยากของงานวิจัยอยู่ตอนวิเคราะห์ข้อมูล สมัยก่อนนู้นเครื่องแมคอินทอชต้องใช้โปรแกรมวิเคราะห์ เอาเสียงที่อัดมาใส่เครื่องคอมพ์แล้วดูโซโนแกรม อาจารย์พิไลไปอบรมที่ญี่ปุ่นแล้วกลับมาสอนเรา
ชอบทำงานภาคสนามหรือวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่ากัน
เราชอบทำงานภาคสนาม มีความสุข เวลาเข้าป่าจะรู้หมดว่าคนที่ไปกับเราเป็นอย่างไร ความจริงใจหรือไม่จริงใจจะแสดงออกมา โชคดีที่ส่วนใหญ่เจอการตอบรับและความจริงใจดี ๆ เวลาเข้าป่าถ้าไม่ชอบกันนี่ถึงฆ่ากันตายได้ เราเป็นผู้หญิงบางอย่างทำเหมือนผู้ชายก็ไม่ได้ ต้องช่วยเหลือกันทุกอย่าง พี่หุงข้าวไม่เป็นนะ พี่ทำกับข้าวให้ น้องผู้ชายหุงข้าวนะ ช่วยเหลือกัน
มีคนบอกว่าปุ๊กต้องเลิกเข้าป่าได้แล้ว ให้นั่งทำงานที่ออฟฟิศ เราบอกถ้าให้เลิกเข้าป่าก็ออกแหละ เลิกทำ ที่มาทำเพราะอยากเข้าป่า เดินไหวไม่ไหวก็ตุปัดตุเป๋ไปเรื่อย
แต่การวิเคราะห์ข้อมูลก็จำเป็น เราวิเคราะห์ทุกอย่าง ทุกคนที่ทำงานอยู่ในภาคสนามจะส่งข้อมูลทั้งหมดมาที่เรา ข้อมูลต้องผ่านการวิเคราะห์เพื่อเอาไปเขียนเป็นเปเปอร์ ถ้าอาจารย์พิไลจะเอาไปใช้เป็นรายงานทางวิชาการก็จะบอกว่าต้องการแบบไหน สิ่งสำคัญคือการทำเป็นรายงานส่งให้แหล่งทุน ทุก ๆ ๖ เดือนเราก็จะตามเก็บข้อมูลจากทุกคน เอ้า ห้วยขาแข้ง เขาใหญ่ บูโด ส่งมา เพื่อวิเคราะห์ว่าปีนี้นกเงือกชนิดนี้ประสบความสำเร็จในการทำรังเท่าไร คนที่อยู่ในพื้นที่อาจรู้เฉพาะพื้นที่ของตัวเอง แต่เรารู้ทุกพื้นที่เพราะเป็นคนเก็บรวบรวมข้อมูล
ลงพื้นที่เก็บข้อมูลนกเงือก พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติบางลาง จังหวัดยะลา ปี ๒๕๕๒
ตอนนี้มูลนิธิศึกษาและวิจัยนกเงือก กำลังทำเรื่องอะไรอยู่
ที่เขาใหญ่ พี่อ๊อด (พิทยา ช่วยเหลือ) กำลังทำงานกับชุมชนหมูสี ติดตั้งโพรงเทียมภายในโรงเรียนบ้านหมูสี ถ้าเราไปพี่อ๊อดก็จะพาไปดู คล้าย ๆ เราเป็นคนตรวจงาน ต้องรู้ทุกอย่าง ไม่งั้นก็จะรายงานผู้ใหญ่หรือคนให้ทุนไม่ถูก พี่อ๊อดก็จะบอกว่าติดตั้งไปกี่โพรงแล้ว ตอนนี้มีเด็กสนใจการทำรังเทียมนะ
พี่กาหลิบ (ณรงค์ จิระวัฒน์กวี) กำลังเก็บข้อมูลชีพลักษณ์ต้นไม้ ปีนี้มีผลไม้อะไรสุก กี่ต้น กี่ชนิด เพื่อเอามาเปรียบเทียบช่วงที่ผลไม้สุกกับช่วงที่นกเข้ารัง มันจริงไหมที่พูดกันว่าปีไหนผลไม้สุกเยอะนกเข้ารังเยอะ เราพล็อตเป็นกราฟให้ดู ผลไม้ชนิดไหนสุกนอกฤดู แล้วนกรวมฝูงเยอะไหม
อื่น ๆ คือเก็บข้อมูลว่านกเข้ารังเท่าไร ซ่อมรังที่ไหนบ้าง ซ่อมกี่โพรง โพรงที่เสียเป็นอย่างไร วิธีการซ่อมทำอย่างไร นำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ ใครทำงานอะไรก็มาบอก
นักข่าวไปสัมภาษณ์นักวิจัยของเราก็จะได้ข้อมูลเฉพาะที่ ถ้าอยากได้ทั้งหมดก็ต้องไปให้ครบ แต่รูปแบบการนำเสนอก็จะไม่ใช่งานวิชาการ ส่วนมากจะออกเป็นสื่อ
ถ้าเป็นการประชุมเชิงวิชาการ พี่อ๊อดจะรู้เรื่องในพื้นที่เพราะเขาอยู่หน้างาน เวลาเรารายงานผู้ให้ทุนต้องตามนักวิจัยภาคสนามมาทั้งหมด เรารายงานตัวเลขที่ถูกส่งมาให้วิเคราะห์ แต่รายละเอียดอื่น ๆ การเดินป่าบริเวณนั้นเป็นอย่างไร ทุกคนต้องมาช่วยกัน เราผสมผสาน เหมือนรถขาดอุปกรณ์บางตัวก็วิ่งไม่ได้
ชีวิตของนักวิจัยนกเงือกมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
ความจริงเสี่ยงหมดทุกอย่าง ออกเดินทางก็เสี่ยงแล้ว รถจะวิ่งมาชนหรือเปล่า ถ้าเดินเข้าป่าก็เจอสัตว์
อย่างภาคใต้ บูโด อุทยานตรงนั้นเหมือนเกาะเกาะหนึ่ง มีพื้นที่แค่ ๑๘๙ ตารางกิโลเมตร แล้วมีชุมชนอยู่รอบเทือกเขาบูโด ชาวบ้านปลูกยางพารา ทำสวนทุเรียน ลองกอง สัตว์ในป่าอย่างไรเขาก็ล่าอยู่แล้ว ถามว่าแล้วมันเสี่ยงอะไร เราพูดคนละภาษากับเขา คนที่นั่นพูดยาวี ยิ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง
สมัยก่อนตอนอาจารย์พิไลลงไปใหม่ ๆ โจรอยู่บนเขา ปรกติอาจารย์จะสอนพวกเราว่าให้แต่งตัวกลมกลืนกับผืนป่า อาจจะเป็นสีเขียว สีกากี จะได้ไม่เด่น แต่พอไปอยู่บูโด อาจารย์บอกไม่ได้ สีกากีเหมือนราชการ พวกโจรจะยิงเอา ใส่ไปเลยเสื้อลายสกอตเขาจะได้รู้ว่าเราคือใคร แล้วทุกครั้งก็จะต้องไปกับชาวบ้าน สมัยนี้มีจีพีเอสจับพิกัดได้เอง ป่าที่อื่น ๆ เราไปเองก็ได้ แต่บูโดอย่างไรก็ต้องชวนชาวบ้านไปด้วยทุกครั้ง เราขึ้นไปนอนบนยอดเขา เขาอาจจะมองเราอยู่ แต่เขารู้จักเราในนามนักอนุรักษ์ เราไม่ใช่ทหารหรือตำรวจ คุณตัดไม้โครม ๆ ก็แล้วแต่ทางอุทยานจะจัดการอย่างไร ส่วนเราอนุรักษ์นกเงือก ชาวบ้านที่ขึ้นไปกับเราดูแลนกเงือก นี่คือความเสี่ยงของบูโด แต่ตอนนี้ดีหน่อยโจรไม่ได้อยู่บนเขาแล้ว เมื่อก่อนบางช่วงเขาจะบอกเลยนะว่าอย่าขึ้นมา เดี๋ยวสับสนว่าเป็นฝ่ายไหน
เราเดินป่าเขาใหญ่มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เสือสักตัวก็หายาก บางทีเดินเข้าไปตอนเช้ายังไม่เห็น กลับลงมาถึงเห็นรอยเสือ เข้าป่าไปเฝ้าต้นไม้คนเดียวไม่อันตราย ถามเขาว่าถ้าเจอหมูป่าทำอย่างไร พี่บุญมา แสงทอง ที่ทำงานกับอาจารย์พิไลมาดั้งเดิมบอกทำเสียงดังหน่อยเดี๋ยวมันก็วิ่งหนี ลิงก็ไม่เยอะ เจอหมี ต่างคนต่างตกใจ เราวิ่งทางหนึ่ง หมีวิ่งทางหนึ่ง เมื่อก่อนจะเจอกระทิงสักตัวต้องขึ้นไปถึงเขาสามยอด เห็นแค่รอยด้วย ช้างนี่นาน ๆ จะออกมากินโป่ง พอช้างออกรีบวิ่งไปดู อยากเห็น แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่ากระทิงออกมาจนถึงข้างนอก ช้างเยอะแยะไปหมด สมัยนี้เจอสัตว์เยอะเพราะเสือหมด เหลือหมาใน ที่เป็นสัตว์ผู้ล่า
ล่าสุดโดนช้างล้อมตอนพาคนไปดูนก พี่อ๊อดบอกตรงนี้แหละปุ๊ก พี่ว่าปลอดภัย ไม่มีช้าง ไม่มีกระทิง ทำซุ้มแถวนี้ให้คนมาดูนกกัน อาทิตย์นี้ไม่มีอะไร ได้ดูนกสบาย อาทิตย์ถัดไปเข้าไม่ถึงรัง ช้างเดินกันเป็นโขลง ต้องโทร. บอกพี่อ๊อดให้มาพาออกไปหน่อย
พี่อ๊อดจะบอกเสมอว่าช้างเป็นโขลงไม่น่ากลัว ถ้าตัวเดียวน่ากลัวกว่า ส่วนจุดอื่นกระทิงเยอะ เมื่อก่อนเวลาทัศนศึกษาเราจะแยกกัน กลุ่มละ ๕ คน ๑๐ คน เพราะการที่เราจะสอนใครถ้าไม่เห็นภาพมันก็ไม่เกิดความประทับใจ ถ้าเราพาไปดูตอนที่พ่อนกเอาอาหารมาป้อนแม่กับลูกในโพรง คุณจะเกิดความประทับใจแล้วก็รักมัน
ถามว่านกเงือกบินได้ไกลไหม อาจารย์พิไลวิจัยมาแล้ว ติดจีพีเอสบนตัวนก รู้ว่านกแต่ละตัวมีพื้นที่หากินแค่ไหน มีการทดลองด้วยว่าเมล็ดผลไม้ที่นกเงือกกินงอกได้และโตดีกว่าเมล็ดที่เก็บจากต้น
ติดตั้งโพรงรังเทียมร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่า ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
แล้วที่ห้วยขาแข้งมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
ห้วยขาแข้งมีวัวแดง เสือ ควายป่า บางครั้งเวลานอนในป่าจะได้ยินเสียง พยายามบอกเขาว่าเรามาดี ไม่ได้มาร้าย ไม่ได้มาล่าใคร เขาก็จะหายไป แต่ก็มีน้องที่โดนควายขวิด เวลาเดินไปเจอปั๊บก็แตกวง วิ่งกันคนละทิศละทาง เสียงอะไรตกใจได้หมดแหละ บางทีเสียงหมูป่าเราก็ตกใจ
การปีนขึ้นไปซ่อมหรือเปลี่ยนโพรงสูง ๆ บนต้นไม้เสี่ยงอยู่แล้ว อุปกรณ์เราต้องมั่นใจ ใช้เชือกคล้าย ๆ ปีนผาคล้องเชือกเอาไว้เพื่อเซฟตี้ ถ้าเชือกขาดตัวเราก็จะติดกับต้นไม้
เคยไปซ่อมโพรงที่บางลาง ทำร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เอา นูรีฮัน ดะอูลี เด็กผู้หญิงที่อยู่บูโดไปสอน นูรีฮันปีนไปดูโพรง แล้วก็สอนตำรวจตระเวนชายแดน ผู้ชายทั้งนั้น วัยรุ่น นายสิบ ก็ให้ปีนขึ้นไป จะยิงเชือกก็ยาก ครั้งหนึ่งมีต้นหลาวชะโอนขวาง มีหนาม เราก็ตัด ตชด. ก็ตัด ต้นก็ยังไม่ล้ม ก็ไม่ได้ใส่ใจ เชือกยิงขึ้นได้แล้วเขาก็เริ่มขึ้นกัน เรายืนอยู่ข้างล่าง คอยดูว่าข้างบนจะเอาอะไร เชือกที่ใช้ปีนต้องไปคล้องต้นไม้อีกทางหนึ่งด้วย อยู่ ๆ ต้นไม้นั้นล้ม ถ้าเรายังยืนอยู่ตรงนั้นเราตาย แต่มีน้อง ตชด. คนหนึ่งเห็น เข้ามาอุ้ม ทุกคนเป็นห่วง บอกว่าพี่ปุ๊กคนเดียวนี่แหละที่จะตาย พอต้นไม้ฟาดเชือก เชือกก็ดีด น้องผู้หญิงคนหนึ่งเจ็บขา ถ้าต้นไม้ล้มไปถูกเชือกที่น้องปีนอยู่ น้องจะกระเด็นออกจากต้นไม้เลย โชคดีรอดตาย บอกกันว่าเราคิดอะไรดี ๆ คงไม่ตายกันหรอก
มูลนิธิตั้งมาหลายสิบปียังมีพื้นที่มอนิเตอร์ไปไม่ถึงหรือเล็ดลอดสายตาบ้างไหม
ไม่ใช่เล็ดลอดสายตา จะให้เราไปทำทุกที่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าคนในชุมชนเห็นดีเห็นงามแล้วต้องทำกันเองด้วย อย่างเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา เราลงไปทำไม่ได้ แต่เป็นที่ปรึกษาได้ ถ้าเขาอยากให้ไปบรรยายเรายินดี ไม่ต้องจ่ายค่าตัว ขอแค่ช่วยค่าเดินทาง มีที่ให้อยู่ แล้วก็มีอาหารให้กิน
เราไปบรรยายให้พนักงานรีสอร์ตหลายแห่ง เขาอยู่ติดป่า พอนกมาก็ต้องให้พนักงานรู้เรื่องด้วย แขกถามจะได้คุยได้
เนื้อหาบรรยายเป็นเรื่องทั่วไปของนกเงือก เกิดเมื่อไร กินอาหาร ทำรัง ลูกออกจากรังเมื่อไร ออกมาแล้วอาหารที่กินมีอะไร หลังฤดูทำรังรวมฝูงกันอย่างไร เอางานวิจัยที่เราทำ ที่อาจารย์พิไลสั่งสมทำมาเปรียบเทียบให้เขาเห็นว่านกเงือกมีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับคน เขาจะได้อ๋อเวลาเราพูด เอางานวิจัยจากบูโดให้เขาดู ให้เห็นว่าชาวบ้านที่บูโดทำอย่างนี้นะ พวกเราดูแลชาวบ้านที่เป็นพรานเก่ามาก่อน ที่เกาะยาวอาจจะไม่ได้เฝ้ารังเหมือนที่บูโด แต่เขาก็ทำสถิติเวลามีลูกนกออก เฉพาะนกเงือกที่เกาะยาวรีสอร์ตมีกี่รัง ประสบความสำเร็จไหมในการทำรัง ได้ลูกนกกี่ตัว
เวลาบรรยายเนื้อหาแบบไหนที่กระทบใจคนฟัง เขาจะรู้สึกอินหรือสนใจ
ชีวิตของนกเงือกที่คนจะมองภาพออก อย่างคนแต่งงานกันไปไม่จีบกันแล้ว แต่นกเงือกตอนจะเข้ารังเขาจะจีบกันทุกปี พอตัวเมียยินยอมที่จะเป็นเมียของตัวผู้ เข้าโพรงไปแล้วตัวเมียก็ต้องทำความสะอาด เวลาไปบรรยายให้เด็กฟังจะบอกว่าเหมือนกับแม่เราที่ต้องทำความสะอาดบ้าน บ้านเราถ้าไม่ปิดประตูเดี๋ยวโจรมา นกเงือกก็ปิดเหมือนกัน เหลือแค่รูเล็ก ๆ ที่จะรับอาหารจากพ่อนก แม่จะเลี้ยงลูกอยู่ในนั้นจนกว่าลูกจะออกมา เราเปรียบเทียบกับชีวิตคนว่าเหมือนไหม
นกเงือกเลี้ยงลูกสามแบบ นกกก พ่อกับแม่ช่วยกันเลี้ยง ถึงระยะหนึ่งแม่จะออกจากโพรงมาช่วยพ่อหาอาหารก็เหมือนบ้านที่พ่อกับแม่ช่วยกันทำงาน เอาเงินมาเลี้ยงดูเรา
นกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง พวกนี้พ่อหาเลี้ยงตัวเดียวจนกว่าลูกจะออกมาพร้อมแม่ ก็เหมือนบ้านบางบ้านที่พ่อทำงานคนเดียว
และนกเงือกสีน้ำตาล มีผู้ช่วยเลี้ยง เหมือนบางบ้านมีพี่น้อง น้า อา มาช่วยกัน
ทีนี้บ้านที่อยู่ทุกปีก็ต้องพัง พ่อเราซ่อมไม่เป็นก็ต้องไปหาช่างมาซ่อม แต่นกเขาซ่อมรังไม่ได้แน่นอน พวกเราก็ต้องไปซ่อมให้ นกก็จะได้มาอยู่บ้านนี้ ออกลูกทุกปี พวกเราคือคนที่ปีนขึ้นไปซ่อมโพรงรัง
พอเราเปรียบเทียบกับคนเขาจะมองภาพออก
นกเงือกมีความสำคัญอย่างไร หลังจากศึกษาพฤติกรรมมานาน
นกเงือกกินผลไม้ในป่าไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชนิด เลือกเฉพาะผลสุก เวลากินเขาบินไป ถ้าเมล็ดเล็กก็อึออกมา เมล็ดใหญ่ก็ผ่านการย่อยก่อน เมล็ดจากอึนกพร้อมงอกเป็นต้นใหม่
ถามว่านกเงือกบินได้ไกลไหม อาจารย์พิไลวิจัยมาแล้ว ติดจีพีเอสบนตัวนก รู้ว่านกแต่ละตัวมีพื้นที่หากินแค่ไหน มีการทดลองด้วยว่าเมล็ดผลไม้ที่นกเงือกกินงอกได้และโตดีกว่าเมล็ดที่เก็บจากต้น หมายความว่านกเงือกช่วยปลูกป่าจากเมล็ดราว ๓๐๐ ชนิด กว่าจะเป็นป่าอาจจะยาวนาน แต่เราก็เห็นแล้วว่าป่ามีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตของเรา
เวลาทำค่ายเด็กเราจะก่อทรายขึ้นมาสองกอง กองหนึ่งเอาใบไม้มาเสียบ ๆ ให้เห็นว่าเป็นป่า อีกกองหนึ่งเป็นกองทรายโล้น ๆ ลองเอาน้ำราด แบบไหนที่น้ำไหลลงมาเร็ว เด็กได้เห็น เราก็ต้องเปรียบเทียบ
เราบรรยายให้เด็ก ๑๐๐ คนฟัง ถ้ามีแค่ ๑๐ คนมาสานต่อได้เราก็ดีใจแล้ว มีนะคนที่เข้าค่ายกับเราตั้งแต่เด็ก ตอนเราไปทำค่ายที่บูโด นราธิวาส มีนูรีฮันเป็นฮอร์นบิลเลดี้ ตอนนั้นเรียนประถมฯ จากนั้นเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พอจบปริญญาตรีกลับมาทำงานอนุรักษ์นกเงือกที่บ้านเกิด เนี่ยทั้งหมด สักคนก็ยังดี
เงินทุนสนับสนุนมูลนิธิมีความสำคัญอย่างไร
สำคัญมาก ช่วงที่อาจารย์พิไลหาทุนไม่ได้จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน อาจารย์ถึงกับบอกว่าใครมีหนทางไหนก็ให้ไปทำ จะกลับบ้านหรือไปทำอะไรก็ให้ขยับขยาย พวกเราบอกว่าไม่เป็นไร ไม่เอาเงินเดือนก็ได้ แต่ขอให้อาจารย์จ่ายเป็นค่าอาหารก็พอ เราไม่ได้มีหนี้มีสิน แค่นั้นพอแล้ว ขอช่วยงานอาจารย์ ถึงวันนี้ทุกคนก็ยังอยู่
เงินเดือนพวกเราไม่เท่าไร ต้องมัธยัสถ์กันน่าดู ใครได้ภรรยาหรือสามีรวยก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่โสดเยอะเหมือนกัน
เงินทุนสำคัญมาก ถ้าไม่มีเงินทุนพวกเราตกงานกันหมด ถามว่าเงินเดือนพอกินไหม ก็ไม่พอหรอกถ้าต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เมียต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยนะ เราอยู่ได้เพราะโสด ไม่ต้องดูแลพ่อแม่ พ่อแม่หาเลี้ยงตัวเอง เจ้าหน้าที่หลายคนก็เป็นแบบนั้น แต่ถามว่าพวกเราทนอยู่เหรอก็ไม่ใช่ พวกเราทำเพราะใจรัก เงินไม่ได้เป็นที่ตั้ง
อย่างโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก รังที่แพงที่สุดมีผู้อุปการะปีละ ๓,๗๐๐ บาท แต่เราจ้างชาวบ้านทำงานทุกวันนะ วันละ ๒๐๐ บาท ชาวบ้านที่เราดูแลเกือบ ๔๐ คน ถ้าเดือนหนึ่งทำ ๒๐ วัน ก็ ๔,๐๐๐ แล้ว จนต้องบอกว่า ๑ เดือนขึ้นเขา ๑๕ วันก็พอ วันอื่นก็ไปหางานอย่างอื่นทำบ้าง ชาวบ้านที่เราจ้างเป็นพรานล่านกมาก่อน เมื่อเราทำให้พรานกลับใจมาเป็นผู้ดูแลนกเงือกก็ต้องมีอะไรตอบแทนเขา เมื่อก่อนเขาเอานกไปขายได้ครั้งหนึ่ง ๕,๐๐๐ หรือ ๓ หมื่น นี่เราให้เขาวันละ ๒๐๐ ขึ้นเขาไปเก็บข้อมูลเพื่อรายงานให้กับผู้อุปการะ
สมมุติมีผู้อุปการะครอบครัวนกชนหินแพงที่สุดเลย ๓,๗๐๐ บาท ประมาณปีกว่าเราถึงจะส่งรายงาน เป็นข้อหนึ่งที่ผู้อุปการะสงสัย ทำไมเงียบไปนาน คนให้เงินเราวันนี้คุณจะได้รายงานข่าวจากเรากลางปีหรือปลายปีหน้าโน่นแหละ เคยมีผู้อุปการะบางคนไม่เปิดอีเมล ก็ว่าพวกเราเงียบ เราส่งจดหมายก็มีจดหมายหายหรือตีกลับบ้าง พอเห็นว่าเป็นของมูลนิธิเขาไม่เปิดดูหรืออะไรเราก็ไม่รู้ ผู้อุปการะหลายคนอาจจะได้รายงานฉบับเดียวกัน เพราะเงินของคุณไม่พอใช้จ่ายทั้งปีสำหรับนกเงือกหนึ่งครอบครัว
คำถามแรกที่แหล่งทุนส่วนใหญ่ถามคือตอนนี้ประเทศไทยมีนกเงือกเหลือกี่ตัว ใครตอบได้ล่ะ
แต่ถ้าถามว่าในพื้นที่ต่อตารางกิโลเมตรที่เราทำงานมีกี่ตัว เรามีงานวิจัย อาจจะไม่ได้ตีพิมพ์ทางวิชาการ แต่เรารู้ว่าในพื้นที่ที่เราทำวิจัยอยู่แต่ละปีมีลูกนกออกมากี่ตัว เขาใหญ่ตั้งแต่อาจารย์พิไลทำปี ๒๕๒๑ ถึงปัจจุบันมีลูกนกเงือกรวมสี่ชนิดไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ตัว ห้วยขาแข้งประมาณ ๒,๐๐๐ บูโดทำตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบันมีลูกนก ๘๐๐ ตัว นี่คืออัตราการเกิดที่เราเก็บเป็นข้อมูลทุกปี ๆ
อบรมให้ความรู้และทำงานร่วมกับพี่น้องมุสลิมที่บ้านแบมุ ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ศึกษาวิจัยนกเงือกมา ๔๐ กว่าปีแล้ว ยังเหลืออะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือว่าต้องทำต่อไปอีก
อาจารย์พิไลได้ทุนตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ สำรวจประชากรนกเงือกทั่วประเทศ พอได้รู้ว่าที่ไหนมีประชากรนกเงือกเท่าไร ตอนนี้ก็อยากจะรีเช็กว่าประชากรเหลือมากน้อยแค่ไหน เพราะเราทำเฉพาะห้วยขาแข้ง เขาใหญ่ บูโด พื้นที่อนุรักษ์แค่นั้น ตอนนี้การทำวิจัยมีหลายรูปแบบทั้งเดินพอยต์ (point transects) คือการเดินสำรวจตามจุดกำหนด เดินไลน์ (line transects) คือการเดินสํารวจตามแนวเส้นทางที่กำหนด
เดือนสิงหาคมกำลังจะได้ทุน กำลังนะ จะได้จริงหรือเปล่ายังไม่รู้ คุยกับทีมงานว่าเราน่าทำผืนป่าทางภาคใต้ คนให้ทุนคือสิงคโปร์ เขาก็อยากได้ข้อมูลของอินโดนีเซีย มาเลเซีย เพราะนกเงือกเหล่านี้จะอาศัยอยู่ทางอินโดนีเซีย มาเลเซียด้วย
เราจะดูว่าการแพร่กระจายของนก จำนวนประชากรมากน้อยแค่ไหน ที่ต้องดูอีกครั้งเพราะทำงานวิจัยมา ๔๐ ปี นกเงือกปากย่น นกเงือกดำมีอยู่โพรงสองโพรงเอง นกเงือกดำเจอที่ป่าพรุโต๊ะแดง นราธิวาส มีอยู่ตรงนั้นโพรงเดียว นกเงือกปากย่นเจอที่ฮาลา-บาลากับบางลาง พอทำปีหนึ่ง ปีถัดไปก็ไม่ได้ทำแล้ว เราถือว่าประชากรน้อย ยังไม่มีข้อมูลพวกนี้
ปัจจุบันทุกอุทยาน ทุกเขต มีเจ้าหน้าที่เดินสมาร์ตพาโทรล (smart patrol) สำรวจป่าของเขาเป็นประจำทุกเดือน ทีมของเราเสนอว่าจะเข้าไปร่วม เอานกเงือกบรรจุด้วย เราเคยอบรมให้เจ้าหน้าที่ทุกอุทยาน ทุกเขต ตอนที่นกชนหินซึ่งพบทางภาคใต้จะขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน ให้เขาบันทึกด้วยว่าเจอหรือไม่ ตำแหน่งไหน แล้วก็ไปเพิ่มนกเงือกทุกชนิดที่เจอในป่าทางภาคใต้ เราจะได้รู้จำนวนประชากร
ตอนนี้ไฮเทคโนโลยีมากขึ้น มีวิธีการคำนวณที่เราเองก็ต้องศึกษา ทางมูลนิธิก็เพิ่งรับน้องใหม่มา เพราะมีโครงการขยายไปทำวิจัยในผืนป่าตะวันตก บริเวณอุ้งผาง ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ตะวันออก แม่วงก์ คลองลาน เพื่อดูจำนวนประชากรของนกเงือกคอแดงที่อาศัยอยู่บนยอดเขาสูงระดับ ๑,๐๐๐ กว่าเมตรขึ้นไป น้องใหม่ที่มาต้องทำแผนที่ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเพิ่งเรียนมา วางจุดให้ครอบคลุมพื้นที่สำรวจเพื่อดูประชากร นี่คือสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ ทำเป็นอยู่แล้ว
สิ่งที่ยังขาดคือการสื่อสารไปยังชุมชน การสอนให้ชุมชน เราต้องการคนด้านนี้ งานวิจัยอย่างเดียวถ้าไม่ออกสื่อบ้างก็ไม่มีใครรู้ว่าเราทำอะไร
กังวลบ้างไหมเรื่องที่จะขาดคนมาสานต่อ
เด็กรุ่นใหม่รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ รู้เทคนิคใหม่ ๆ ตามแต่ใครจะสนใจ เก่ง EIS (executive information system) ทำแผนที่ภูมิศาสตร์ การใช้ประโยชน์ที่ดิน
เพียงแต่ความอดทนเขาอาจจะยังน้อยหรือยังไม่พบสิ่งที่ต้องการทำจริง ๆ สมัยก่อนคนทำอะไรก็จะทำกันนาน ๆ ทำจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง น้อยคนที่จะทำงานนี้แป๊บเดียว ขณะที่รุ่นใหม่เหมือนเขาเข้ามาเรียนรู้ว่างานนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ชอบ เปลี่ยน ซึ่งใจเราใจเขานะ เพราะเราก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้หรอกว่าเขาชอบอะไรแบบไหน
ความกังวลว่าจะไม่มีใครมาสานต่อก็มีบ้าง สิ่งที่อาจารย์พิไลวางรากฐานคืองานวิจัยพื้นฐาน ความรู้พื้นฐานเรื่องนกเงือกถือว่าแน่นพอระดับหนึ่งแล้ว ถ้ารุ่นใหม่มาหยิบจับแล้วทำต่อมันก็ดี
อย่างที่บอกว่าเรามีนักวิจัยรุ่นใหม่ทำมา ๒๐ ปี เขาอาจจะไม่ต้องไปเฝ้านก ไปดูพฤติกรรม อันนี้รู้แล้ว เขาทำเรื่องจีพีเอส นกชนิดนี้ที่เราติดจีพีเอสบินไปทางไหน หากินในพื้นที่เท่าไร พื้นที่เป็นแบบไหน แต่เวลาลงพื้นที่ก็ต้องไป ground check ว่าพื้นที่ที่นกใช้ประโยชน์เป็นแบบไหนป่าที่นกลงมาแวะ ทำให้รู้ว่านกเงือกก็มีการอพยพ
“อาจารย์เป็นคนจริงใจและสร้างชื่อเสียงให้คณะ”
ศิริวรรณ นาคขุนทด
ถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์
อาจารย์เป็นต้นแบบให้ทุกคน ที่พวกเราอยู่ยั้ง อยู่ยืน อยู่ยาว ก็เพราะอาจารย์ ท่านเป็นหัวหน้างานที่ไม่เอาเปรียบลูกน้อง ไม่เคยชี้นิ้วสั่ง ทำเองทุกอย่าง อะไรที่ยากขอให้พาอาจารย์ไปด้วย ไม่เคยนั่งอยู่ในออฟฟิศแล้วสั่งไอ้ปุ๊กไปโน่น กมลไปนี่ อย่างเราเฝ้ารังนกเงือก มีกิ่งไม้มาบัง อาจารย์ปีนขึ้นตัดกิ่งไม้เองเลย สิ่งไหนยาก ๆ อาจารย์จะขอทำเอง อย่างตอนออกสำรวจประชากรนกเงือกทั่วประเทศ เข้าป่าไปด้วยกันทั้งหมด รุ่นน้องคนหนึ่งบอกเดี๋ยวผมจะแบกอาจารย์ใส่ตะกร้าขึ้นหลังแบบชาวเขา
มีอาจารย์แล้วเราอุ่นใจ เป็นที่ปรึกษาได้ทุกอย่าง ทุกคนเห็นว่าอาจารย์เป็นตัวอย่างที่ดีถึงอยากช่วยงาน ทุกคนรักอาจารย์ ยังเคยพูดกันว่าไม่มีอาจารย์ก็เลิกทำนะ
อาจารย์ขยันมาก บางครั้งนั่งนึก เราอายุน้อยกว่าอาจารย์ตั้ง ๒๐ ปี เริ่มเหนื่อย บ่นว่าไม่ไหว ขนาดอาจารย์ยังไม่ท้อ ยกแขนไม่ได้ เจ็บแขนไปหมดก็ยังทำงานเขียนเปเปอร์
อาจารย์คอยให้คำแนะนำทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องงาน ความจำดีด้วยนะ ถ้ามีความรู้ใหม่ ๆ อาจารย์จะบอกให้พวกเราไปอบรม เราบอกส่งอาจารย์นั่นแหละไปแล้วกลับมาสอนเรา เพราะอาจารย์ความจำแม่นมาก ความรู้ก็แน่น
ตอนนี้อาจารย์อายุ ๗๘ ปี เกษียณนานแล้ว เมื่อก่อนเคยสอนนักศึกษาแพทย์เพราะอยู่ภาคจุลชีววิทยา นักศึกษาแพทย์รามาฯ ต้องมาเรียนที่นี่ อาจารย์สอนเรื่องปรสิตพวกแมลงที่มีผลทางการแพทย์ ทางภาควิชาก็เชิญไปสอนเรื่องปักษีวิทยา บางทีไม่ต้องไปเขาใหญ่หรอก ตั้งตาข่ายดักนกที่คณะเลย ที่ทำการมูลนิธิตั้งอยู่ภาคจุลฯ ได้เพราะหัวหน้าภาคสนับสนุนอาจารย์มาทุกรุ่น ทั้ง ๆ ที่นกเงือกไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคจุลฯ เพราะอาจารย์เป็นคนจริงใจและสร้างชื่อเสียงให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล