Image

ตากใบ
คดีที่ไม่มีวันหมดอายุความ
ในใจคนชายแดนใต้
คุยกับ อาอีเส๊าะ อาเย๊าะแซ
และ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Interview

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ณ วันเกิดโศกนาฏกรรมตากใบ อาอีเส๊าะ อาเย๊าะแซ ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ยังเรียนอยู่แค่ประถมศึกษาปีที่ ๖  อาอีเส๊าะในวัยเด็กรู้ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบและผู้เสียชีวิต แต่ไม่รู้รายละเอียดอื่น ๆ ที่ลึกไปกว่านั้น เพราะยังเสพข่าวสารจากโทรทัศน์ของเพื่อนบ้านเพียงช่องทางเดียว และยังไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ชัดเจนนัก

แต่เธออยู่กับเหตุการณ์ความไม่สงบที่กระทบกับวิถีชีวิตมาโดยตลอด เช่น โรงเรียนในจังหวัดยะลาถูกเผา ต้องหยุดเรียนไปช่วงหนึ่งเพราะครูไม่กล้ามาสอน, รู้ว่ามีโครงการพับนกกระดาษสู่ชายแดนใต้ พับนกทำไมพับนกให้ใคร เพื่ออะไร ทำให้เธอเข้าใจได้ไม่ยากว่าบ้านตัวเองไม่มีความสงบและไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อไร

“พอโตขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจำเป็นต้องรู้กฎหมาย เพื่อที่จะ หนึ่ง ปกป้องดูแลครอบครัว  สอง สามารถเอาความรู้ที่เรามีไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ ยิ่งโดยเฉพาะทนายผู้หญิงมีค่อนข้างน้อย เราคิดว่ากฎหมายคือสิ่งจำเป็นสำหรับคนในพื้นที่บ้านเราหรืออย่างน้อยที่สุดคือคนในหมู่บ้านของเรา ครอบครัวเรา หรือจังหวัดที่เราอยู่”

ปี ๒๕๔๗ เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่หลายคนจำไม่ได้ แต่หลายคนลืมไม่ลง ทั้งเหตุการณ์ตากใบ การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ และการบังคับและประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างเคร่งครัด ตามมาด้วยการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมอบอำนาจมหาศาลให้กับฝ่ายทหารหรือกองทัพไทยในการกำกับชีวิตคนในสามจังหวัดชายแดนใต้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในอดีตก่อนหน้านั้นเธอเองก็ยังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดฯ มากนักจนกระทั่งได้ทำงานช่วยเหลือสภาทนายความเรื่องการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำให้เธอได้สัมผัสกับความรุนแรงที่สะสมอยู่ในพื้นที่

“ตอนนั้นพวกเราตระเวนไปในพื้นที่เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนได้รับมอบหมายให้ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพราะว่าที่นั่นมีศพ เสียชีวิตไป ๗๙ รายด้วยกัน ส่วนอีก ๖ รายเสียชีวิตที่ สภ.อ. ตากใบ และอีกพันกว่าคนยังไม่ได้ถูกปล่อยตัว ส่วนเราได้รับมอบหมายให้ไปที่นราธิวาส ช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วงแรกที่มีการแจกซีดีบันทึกภาพตากใบ สิ่งที่เราจำได้คือ มีน้องนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ช่วยทีมทนายความ พาเราไปตามสถานที่ต่าง ๆ  พอเปิดซีดีภาพข่าวในรถตู้ น้องนักศึกษาคนนี้ก็ร้องไห้โฮ เราตกใจมากก็เลยรู้ว่านี่เรื่องใหญ่มหาศาล ความรุนแรงในเหตุการณ์ตรงนั้นกลายมาเป็นความรุนแรงอีกชั้น และหลาย ๆ ชั้น”

ต่อมาทนายอาวุโส รัษฎา มนูรัษฎา เป็นบุคคลสำคัญในการริเริ่มคดีอาญาฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ข้อหาฆ่าผู้อื่น หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ. ตากใบ โดยได้รวบรวมพยานหลักฐานที่ดีในช่วงปี ๒๕๔๘ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนคดีไต่สวนการตาย คดีฟ้องแพ่ง คดีไต่สวนการตายทั้งผู้เสียชีวิตที่หน้า สภ.อ. ตากใบ การไต่สวนการเสียชีวิตของกลุ่มที่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากการกดทับที่ค่ายอิงคยุทธฯ

ปีนี้คือปี ๒๕๖๗ กว่า ๒๐ ปีให้หลัง การยื่นฟ้องคดีอาญาตากใบกำลังแข่งกับการหมดอายุความ 

สารคดี นั่งย้อนรอยเรื่องราวเหตุการณ์ตากใบและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้กับทนายอาอีเส๊าะและพรเพ็ญที่เวทีเสวนาหัวข้อ “๒๐ ปี แห่งความขัดแย้ง : หนทางการค้นหาความจริง เยียวยา และการนำคนผิดมาลงโทษในบริบทจังหวัดชายแดนใต้” ภายในงาน “ความหวังหลังความเจ็บปวด : วังวนความรุนแรงทางการเมือง ผ่านเรื่องเล่าจากผู้ได้รับผลกระทบ”

เด็กหญิงอาอีเส๊าะในอดีต กลายมาเป็นทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา

นางสาวพรเพ็ญในอดีต กลายมาเป็นผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เดินทางลงไปสามจังหวัดชายแดนใต้บ่อยครั้ง และเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา เธอเป็นทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ผู้รับมอบอำนาจครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากตากใบ ส่งหมายเรียกเพื่อขอเอกสาร คำสั่ง และรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตากใบหลายฉบับ รวมถึงได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งไม่ฟ้องกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ. ตากใบ

เดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๗ คดีการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเก้ารายกำลังจะหมดอายุความ

คดีตากใบ

คดีตากใบต่างจากคดีอื่น ๆ ที่ทำมาอย่างไรบ้าง

ทนายอาอีเส๊าะ : เราเป็นทนายความที่ได้รับมอบหมายจากทนายความรุ่นพี่ ให้จัดเตรียมเอกสารเพื่อประกอบในสำนวนคดี รวมถึงการติดต่อประสานงานกับญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นการทำงานเป็นทีมของทีมทนายความผู้ช่วยและผู้ช่วยทนายความ เพื่ออุทิศความรู้ พละกำลังและความคิดของเราให้เต็มที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม ชาวบ้านก็รวบรวมเอกสารหลักฐานมามอบให้ทีมทนายของเราเพื่อริเริ่มฟ้องคดีตากใบเอง โดยฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลยคดีอาญาที่ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บ

ชาวบ้านมีการบอกข่าวต่อ ๆ กันในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ บางคนที่ไม่เคยรู้ก็เพิ่งจะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะฟ้อง ก็ต้องการฟ้องด้วย จึงมีการส่งเอกสารเพิ่มเติมมาอีก ปรกติถ้าเป็นคดีอื่น ๆ เราจะสรุปได้ง่ายว่าจำนวนโจทก์กี่คน จำเลยกี่คน  ล่าสุดที่ไปยื่นฟ้องจำนวนโจทก์คือ ๔๘ คน ฟ้องจำเลย ๙ คน หลังจากนี้

วันที่ ๒๔ มิถุนายนจะมีการนัดไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลจังหวัดนราธิวาสก่อน เพราะเป็นคดีอาญาที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ซึ่งจะต่างกับคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล

สิ่งที่ยากหรือท้าทายในการทำคดีตากใบคืออะไร

ทนายอาอีเส๊าะ : คดีนี้มีความท้าทายค่อนข้างมาก เช่น ก่อนที่จะยื่นฟ้องคดีตากใบวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๗ เรายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าคดีนี้ไปถึงไหน อย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าสำนวนคดีหาย จึงเป็นที่มาของการทำสำนวนใหม่เป็นสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓/๒๕๖๗ เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ก็เริ่มปฏิบัติงานโดยการไปสอบถามชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและให้เซ็นเอกสารบางอย่าง  แต่เจ้าหน้าที่ใส่นอกเครื่องแบบ และมาเป็นขบวนรถสี่ถึงห้าคันพร้อมกับอาวุธครบมือ บางหมู่บ้านเจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไปรวมตัวที่บ้านผู้ใหญ่บ้านเพื่อเซ็นเอกสาร และมอบเงินให้คนที่เซ็นชื่อในเอกสารเป็นค่าเดินทาง บรรยากาศแบบนี้ทำให้ชาวบ้านกลัว และเข้าใจว่าคนที่เจ้าหน้าที่มาหาหรือตามหาคือผู้กระทำความผิด ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเราก็เข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่าเขาทำงานอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง ก็ต้องยึดหลักความปลอดภัยของเขาเป็นหลัก แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวชาวบ้านที่จะเป็นโจทก์ร่วมฟ้องในคดีนี้เดิมมีการลงชื่อไว้ประมาณ ๕๐ กว่าคน ก็ต้องถอนตัวเหลือแค่ ๔๘ คน

ชาวบ้านยังมีพลังใจเหมือนเดิมไหม นับตั้งแต่ตอนที่เริ่มยื่นฟ้องมาจนถึงตอนนี้

ทนายอาอีเส๊าะ : เราเคยพูดกับชาวบ้านว่า ถ้าเตรียมเอกสารไม่พร้อม เราจะขอไม่ให้เขาเป็นโจทก์ด้วย และอธิบายแล้วว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่การเรียกเงิน แต่เป็นการฟ้องคดีอาญา แต่ชาวบ้านก็ยังคงพร้อมที่จะฟ้อง

อุปสรรคสำคัญที่ต้องแข่งกับเวลาการหมดอายุคดีความในเดือนตุลาคม ๒๕๖๗ ในตอนนี้คืออะไรบ้าง

ทนายอาอีเส๊าะ : วันที่เรายื่นฟ้อง ๒๕ เมษายน ๒๕๖๗ มีข่าวว่าพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยแปดคน คือไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตากใบ จากรายงานผลหมายของศาลจังหวัดนราธิวาส จำเลยรับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและคำฟ้องเกือบทุกคนแล้ว แต่มีบางคนที่ยังไม่ได้รับหมายจากที่เรายื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้งเก้าคนก็จะมีข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทารุณโหดร้ายและพยายามฆ่า แล้วก็กักขังหน่วงเหนี่ยว แล้วก็ขืนใจทำให้กลัวว่าอันตรายจะเกิดขึ้น

ถ้าเกิดจำเลยรับหมายทั้งหมดเก้าคน ก็จะมีการไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าจำเลยไม่รับหมาย เราก็จะไต่สวนเฉพาะคนที่รับหมาย อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีความหวัง ในฐานะทนายความของประชาชน เรายังต้องสร้างความมั่นใจเรื่องของกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนอยู่ดี

เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าการซ้อมทรมาน การอุ้มหายคืออะไร แล้วคนในพื้นที่รู้สึกอย่างไรบ้าง

พรเพ็ญ : จริง ๆ เราเคยเห็นภาพลักษณะคล้าย ๆ เหตุการณ์ตากใบสมัยเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม และ ๑๔ ตุลาคม ที่เราอาจจะได้ชัยชนะจากการที่ทุกคนใช้สิทธิในการชุมนุมเรียกร้อง ตอนนั้นคำว่า “สิทธิในการชุมนุม” ยังไม่ได้เป็นคำสามัญที่เราใช้กัน ต่อมาพี่น้องตากใบก็รู้สึกประมาณนี้ คือพอคนกรุงเทพฯ เขาประท้วงชุมนุม ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ และใช้คำว่า “สิทธิมนุษยชนในการชุมนุม” คนสามจังหวัดฯ ถึงเพิ่งรู้ว่ามีสิทธินี้ด้วยเหรอ แต่พวกเขาทำไม่ได้ ทำแล้วถึงตาย เลยกลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นภายหลังว่าทำไมเขาชุมนุมแล้วถึงตาย เพราะก่อนหน้านั้นมันตลบอบอวลไปด้วยความหวาดกลัว  ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็มีเยอะมาก นั่นคือ ๑,๓๐๐ กว่าคนที่ตอนนี้เราเรียกเขาได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมาน

ผู้ได้รับผลกระทบนั้นรวมถึงครอบครัวของเหยื่อด้วย

พรเพ็ญ : ใช่ การที่เอาคนมาทับ ๆ กันแล้วขนย้ายเขาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งนี่ เรารู้สึกว่าเราไม่ทำกับคนหรอกนะ ก่อนหน้านั้นมันไม่ถูกนิยามว่านี่คือการทรมาน แต่เมื่อมีเรื่องของกฎหมายและกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีการพัฒนากฎหมายของไทยให้ทัดเทียมกับหลักการสากล เลยมีการนิยามว่า ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วก็โหดร้ายถึงขั้นที่ทำให้เกิดบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจสาหัส เราจะเรียกมันว่าการทรมาน 

เข้าไปช่วยเขาด้านไหนบ้าง

พรเพ็ญ : เราจะทำหน้าที่บันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่ถูกจับไปในค่ายแล้วยังมีชีวิตอยู่ เริ่มตั้งแต่ว่า ญาติได้เข้าเยี่ยมไหม ถ้าไม่ได้เราก็ร้องเรียน ตรวจสอบ  จริง ๆ แล้วทนายความควรจะได้เยี่ยมตั้งแต่วันแรกด้วยซ้ำ แต่กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำให้เข้าเยี่ยมไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ญาติได้เยี่ยมผ่านการทำงานของผู้ช่วยทนายความ เขาจะได้ตรวจสอบหรือช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับไม่ให้ขาดอากาศหายใจ ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต จนมีบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เรายังทำกิจกรรมค้นหาความจริงกับกรณีรายบุคคลหรือกรณีที่เจอรูปแบบความรุนแรงคล้าย ๆ กัน อย่างเช่น โดนทรมาน อุ้มหาย หรือกรณีคุกคามนักกิจกรรม อย่างตัวเราเองก็โดนคดีฟ้องหมิ่นประมาทจากการทำรายงานเรื่อง “สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘” ซึ่งเป็นข้อหาที่ตั้งใจปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างชัดเจน

ส่วนคดีความมั่นคงที่อาจมีข้อกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธ ใช้ระเบิด ใช้ปืน ซึ่งมีลักษณะของการก่อการร้าย ฆาตกรรม เจตนาฆ่า หรือพยายามฆ่า ก็เป็นคดีที่เราให้ความสนใจ และทำงานร่วมกันกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ภาคใต้

Image

สามจังหวัดฯ
ใต้กฎอัยการศึก

ทำไมคนส่วนใหญ่เชื่อในเรื่องเล่าที่ว่าสามจังหวัดฯ เป็นพื้นที่สีแดง มีการทำความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

พรเพ็ญ : คิดว่าทหาร การออกข่าว และทุกภาคส่วนอ้างถึงความเดือดร้อนและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่มีความรุนแรงต่อคนไทยพุทธหรือความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์เลย มันมีอยู่ แต่สังคมไทยก็มีทัศนคติของการเกลียดชังอิสลามโดยรวมด้วยเช่นกัน เพราะเราอยู่ภายใต้บริบทของอเมริกันอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด รวมทั้งการปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่เป็นมุสลิมหลังเหตุการณ์ 9/11 ดังนั้นมันไม่ง่ายที่จะทำให้เรื่องเล่าที่อิงหลักการสิทธิมนุษย-ชนของเราเป็นที่ยอมรับ

รัฐบอกว่าเขาบังคับใช้กฎหมาย แต่กฎหมายที่ใช้คือกฎอัยการศึก คือการใช้กฎหมายในภาวะสงคราม ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วต้องขึ้นศาลทหาร แต่ต่างชาติรับไม่ได้ คนไทยก็รับไม่ได้ ดังนั้นก็เลยเกิดการออกแบบว่า แม้จะเป็นสถานการณ์ภายใต้กฎอัยการศึกติดต่อกัน ๒๐ ปี เราก็ต้องใช้ศาลพลเรือนในการบริหารจัดการความยุติธรรมซึ่งในตอนนี้ฝ่ายทหารเป็นแค่เพียงคนถือปืน ใช้เงินงบประมาณ แต่คนที่ไปบริหารจัดการเรื่องกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ คือตำรวจที่ใช้มุมมองด้านความมั่นคงแบบทหาร

ด้วยความที่ระยะเวลา ๒๐ ปีมันยาวนานมาก บางช่วงเวลาฝ่ายทหารบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ แต่บางช่วงก็จะบูรณาการร่วมกัน ช่วงที่เรารู้สึกปลอดภัยในฐานะคนทำงานคือช่วงที่ฝ่ายทหารและตำรวจขัดแย้ง ตรวจสอบกัน แต่เวลาต่อมาพอเขารวมกันเราก็รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีใครตรวจสอบให้เรา ไปคาดหวังกับ DSI กระทรวงยุติธรรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็แทบจะไม่มีผล เพราะตอนนี้ ทุกองคาพยพโดยการนำของ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) กับ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ทำงานเป็นเนื้อเดียวกันเรียบร้อยแล้ว

“ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วก็โหดร้าย ถึงขั้นที่ทำให้เกิดบาดแผล
ทั้งร่างกายและจิตใจสาหัส เราจะเรียกมันว่าการทรมาน”

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ 
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กระบวนการยุติธรรมมีส่วนกับการบังคับใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จอย่างไร

พรเพ็ญ : แต่ก่อนหน้านี้เรียกว่า “คดีความมั่นคง” ซึ่งเป็นคดีที่ประกอบด้วยการใช้ความรุนแรง เช่น การใช้ระเบิด ใช้ปืนลอบสังหาร และมีผู้เสียชีวิต ก็จะมีการเพิ่มข้อหาที่เรียกว่า “ก่อการร้าย” เข้าไป ซึ่งกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการกดขี่ หรือใช้โครงสร้างทางกฎหมายควบคุมประชาชนไม่ให้ได้รับการประกันตัว หรือถ้าให้ประกันตัวก็ต้องใช้หลักทรัพย์ที่สูงมาก หรือเป็นคดีความมั่นคงที่จะหย่อนหลักการการรับฟังพยานหลักฐาน เช่น พยานบอกเล่า พยานแวดล้อม ซึ่งปรกติคดีอาญาจะไม่รับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้โดยง่าย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคดีที่ไม่สามารถจับกุมซึ่งหน้าได้ และไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนแน่นอน ก็ใช้กระบวนการซักถาม หรือที่เขาเรียกว่ากระบวนการ “กรรมวิธี” นี่แหละ ซึ่งประกอบด้วยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สักชิ้นสองชิ้น เช่น ภาพกล้องวงจรปิด ดีเอ็นเอ หรือคำซัดทอดของบุคคลที่ ๓ ซึ่งในคดีอาญาปรกติตามมาตรฐานสากล เขาจะไม่รับฟังหลักฐานเหล่านี้ เพราะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต้องได้มาโดยชอบ หลักฐานจากกล้องวงจรปิดก็ต้องเป็นบันทึกการกระทำความผิด ไม่ใช่แค่บันทึกว่ามีรถวิ่งผ่านหน้าบ้าน แต่ที่สามจังหวัดฯ ใช้หลักฐานแบบนี้ได้ ยังไม่รวมว่าคำสารภาพที่ได้มาเกิดขึ้นภายในค่ายทหารและถูกบันทึกเป็นบันทึกการซักถาม ซึ่งศาลรับฟัง ดังนั้นพอผู้พิพากษามีข้อยกเว้นแบบนี้ ก็เลยเกิดบทบาทของตุลาการในการควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงข้างนอก คือให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีความมั่นคงถูกควบคุมตัวไว้ให้นานที่สุด

ความจริงก่อนหน้านี้เขาก็ไม่รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการบังคับให้สารภาพ ซึ่งทําให้มีจํานวนคดียกฟ้องเยอะมากราว ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ มีอัยการกลุ่มหนึ่งเริ่มไปทํางานทางความคิดกับผู้พิพากษา ว่าถ้าศาลมีมาตรฐานแบบนี้จะไม่มีทางจับโจรได้นะ จะมีวิธีอื่นไหมที่จะควบคุมตัวไว้ให้ได้นานที่สุดในเรือนจํา เช่น การกําหนดหลักทรัพย์การประกันตัวสูงลิ่ว ไม่ให้ประกันตัวนอกจากจะใช้หลักทรัพย์ที่ดิน ชาวบ้านก็ต้องไปรวบรวมโฉนดที่ดินมาเพื่อจะประกันตัวคนที่โดนข้อหาก่อการร้าย

สถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และเป็นกระบอกเสียงที่ทำให้นานาชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในได้ยาก เพราะตุลาการเป็นที่เคารพในระบบคิดของสากล แล้วประเทศเราไม่ได้เป็นประเทศเผด็จการแบบเลือดนอง ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นต่างประเทศก็ยังมีความเข้าใจว่าตุลาการของไทยน่าจะมีความสามารถอยู่ในฐานะสถาบันหลัก ไม่ค่อยมีใครแตะต้อง

คำว่า “กรรมวิธี”
คืออะไร

พรเพ็ญ : หนึ่ง คือการควบคุมตัวและไม่ให้พบทนาย ไม่แจ้งข้อหา และเกลี้ยกล่อมให้สารภาพ ให้ข้อมูล จนนำข้อมูลมาประกอบรวมกันเป็นบันทึกซักถาม แล้วก็หาทนายความที่เป็นพวกเดียวกันกับทางเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่มาร่วมรับฟังการซักถามและร่วมทำสำนวนคดี แปรรูปให้เป็นสํานวนของพนักงานสอบสวนที่เป็นตํารวจแล้วก็ยื่นให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาล นั่นคือแปลงจากสิ่งที่ในกฎหมายเราเรียกว่า “รับฟังไม่ได้” เพราะเป็นประโยคที่พูดออกมาโดยบุคคลที่ ๓ ที่ไม่เห็นเหตุการณ์ หรือเป็นพยานบอกเล่า พยานซัดทอด ให้เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ อันประกอบด้วยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หนึ่งอย่าง นั่นคือดีเอ็นเอที่มีอยู่แล้ว และ/หรือได้มาโดยไม่ชอบเหมือนกัน หรือหลักฐานจากกล้องวงจรปิด เป็นต้น

Image

ตอนนี้รัฐเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือเป้าประสงค์ในการตั้งข้อกล่าวหากับชาวบ้านบ้างไหม

พรเพ็ญ :  มีการถูกกดดันจากนานาชาติบ้าง จากสื่อต่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เมื่อก่อนการออกหมายจับภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำได้ง่ายมาก จะมีอยู่สองแบบคือ การออกหมายจับตาม ป.วิอาญากับหมายจับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งตามกฎอัยการศึกเขาไม่ต้องขอหมาย สามารถวิ่งไปจับได้เลย แต่ส่วนใหญ่เขาจะมีข้อมูลอยู่แล้วว่าคนนี้น่าจะออกหมายจับได้ เขาใช้กฎหมายพิเศษกดดันและไม่ได้ทำอย่างโปร่งใส เช่น พอจับกุมคนมาปุ๊บก็เก็บดีเอ็นเอ แล้วอ้างว่ามีดีเอ็นเออยู่ตามที่ต่าง ๆ ที่เป็นจุดก่อระเบิด แต่ตัวชาวบ้านเองไม่รู้เรื่อง หรือบางคนเป็นผู้ก่อความไม่สงบจริง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับระเบิดที่ว่า ก็ต้องหาทางแย้งให้ได้ว่าตัวเองขี่มอเตอร์ไซค์จากตรงนี้ไปเพื่ออะไร แต่ผู้พิพากษาก็ไม่ฟัง เพราะกระบวนการทั้งระบบมีความเชื่ออยู่แล้วว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน

ถ้ามีคนตั้งคําถามว่า หากเป็นผู้ก่อการร้ายจริง ๆ ขึ้นมา ทำไมเราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย

พรเพ็ญ : เราควรจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้า ณ วันหนึ่งเราถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางอาญา เราก็สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

ถ้าคุณไม่มีศักยภาพในการเอาผู้ก่อการร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างยุติธรรม ก็ไม่ต้องมาเป็นตํารวจ ทหาร ไม่ต้องมาเป็นรัฐบาล เพราะคุณใช้สิ่งที่อยู่นอกกฎหมายเหมือนที่เขาใช้ แต่มันก็ยูโทเปียเนอะ แต่ทำไมรัฐไทยจึงยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องสร้างความสงบเรียบร้อยมาจมอยู่กับเรื่องเดิม ๆ เช่น ต้องทําอะไรที่ผิดกฎหมาย บังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพ สร้างพยานหลักฐานเท็จ

นอกจากนั้นยังมีการปิดกั้นสื่อและการสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกัน เช่น พวกเราทํารายงานสถานการณ์สิทธิฯ แต่กลับถูกฟ้องดําเนินคดี ทําไมถึงไม่ให้เราสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา การฟ้องปิดปากเราส่งผลกระทบถึง ๕๘ เคสในรายงานเล่มนั้น แต่แม้ว่าจะใช้เวลานาน ก็ส่งผลให้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ ออกมา

ความหวังและ
ความเปลี่ยนแปลง

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นองค์กรภาคประชาสังคมองค์กรแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มา
ร้องเรียน เช่น คนในครอบครัวโดนอุ้มหาย หรือถูกซ้อมทรมาน  โดยมูลนิธิจะให้ความช่วยเหลือตั้งแต่กระบวนการกฎหมายพิเศษ ไปจนถึงกระบวนการในชั้นศาล  ทนาย อาอีเส๊าะเล่าว่า สถิติของผู้ที่มาร้องเรียนเรื่องอุ้มหายหรือถูกซ้อมทรมานน้อยลงกว่าเมื่อก่อน เพราะมีเวทีเจรจาสันติภาพ การประกาศหยุดยิงในช่วงเดือนเราะมะฎอนและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมากพอสมควร จำนวนผู้ที่มาร้องเรียนที่มูลนิธิศูนย์ทนายความจึงลดลง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีพัฒนาการในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเช่นเดียวกัน

Image

พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ ทำให้เจ้าหน้าที่ปรับตัวอย่างไรบ้าง

ทนายอาอีเส๊าะ : ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็จะมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นระหว่างการกักตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ  เวลานำสืบในศาล เขาจะต้องมีบาดแผลจริง หรือมีการร้องเรียนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ศาลถึงจะเชื่อ  แต่หลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ทำให้เริ่มตรวจสอบได้ง่ายขึ้น  เวลานำสืบในศาล เมื่อก่อนไม่มีวิดีโอถ่ายระหว่างกระบวนการซักถามว่ามีการรับสารภาพ แต่ตอนนี้เขามีแล้ว อันนี้ถือเป็นพัฒนาการ หลังจากที่เราถามค้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็พยายามจะหาเครื่องมือมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาด้วย เราคิดว่าเป็นข้อดีสำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายเราก็สามารถจะป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย ส่วนฝ่ายเขาก็สามารถป้องกันตัวเองได้ว่าเขาไม่ใช่ผู้ทำร้ายร่างกาย

ในฐานะทนายความ ความรู้เรื่องสิทธิฯ ของคนในพื้นที่ดีขึ้นไหม มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ทนายอาอีเส๊าะ : ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เราไม่ได้แค่ทำงานเรื่องคดีความอย่างเดียว แต่วัตถุประสงค์ขององค์กรเราคือการเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายด้วย มีการจัดอบรมเรื่องกฎหมายที่บังคับใช้ในพื้นที่ อย่างเช่น พ.ร.บ. ความมั่นคง กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และกฎหมายอื่น ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่ทุกคนในพื้นที่จำเป็นจะต้องรู้ กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิทำนู่นนี่นั่น แต่ไม่ได้เขียนว่าชาวบ้านมีสิทธิทำอะไรได้บ้าง เราในฐานะที่เป็นนักกฎหมายก็ต้องพยายามให้ความรู้เพื่อที่เขาจะได้ปกป้องสิทธิของตัวเอง

ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเองโดยตรงเขาจะไม่รู้ซึ้ง เช่น ถ้าเกิดสามีถูกเชิญตัวไป สิทธิที่เขาควรจะทำก็คือต้องไปเยี่ยมทุกวัน บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปเยี่ยมไหม บางครั้งก็มีข้อจำกัดของเขา เช่น ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีรถ ไม่รู้ว่าจะเอารถที่ไหนไปเยี่ยมสามี นี่คือความยากลำบากของชาวบ้าน

ชาวบ้านบางคนก็อ่านหนังสือออก บางคนเป็นถึงข้าราชการ เราคิดว่าเขาน่าจะรู้วิธีการรับมือ แต่พอประสบกับตัวเองก็นับหนึ่งใหม่เหมือนกัน ด้วยความเครียด ความกดดัน ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง

ตอนนี้ชาวบ้านตื่นตัวมากขึ้น เวลามีเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่บ้านในยามวิกาล เขาก็รู้แล้วว่าตัวเองมีสิทธิที่จะต่อรองกับเจ้าหน้าที่ ต่อรองได้ว่ารอให้สว่างก่อน หรือรอให้บุคคลที่เราไว้วางใจมาก่อนถึงจะเปิดประตูรับเจ้าหน้าที่เข้ามาได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่สั่งให้ทำอะไรก็ทำหมด

แต่บางคนในพื้นที่ใช้ภาษามลายู พูดไทยไม่ได้ บางคนอ่านหนังสือไม่ออก เมื่อถูกจับเขาก็ไม่มีสิทธิที่จะรู้ว่าเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหานั้นหมายความว่าอย่างไร ตัวเขามีสิทธิทำอะไรและอย่างไรได้บ้าง

คาดหวังอยากให้เกิดอะไรขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชนในชายแดนภาคใต้

ทนายอาอีเส๊าะ : สิ่งที่เราพยายามผลักดันคืออยากให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ แต่ในเมื่อตอนนี้ยังยกเลิกไม่ได้ เราก็จำเป็นจะต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ มีองค์ความรู้เรื่องของข้อกฎหมายที่เขาต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดเขาขับรถผ่านหน้าด่าน อาจถูกตรวจเก็บดีเอ็นเอ หรือตรวจบัตรประชาชน หรือเจ้าหน้าที่บางคนก็ถ่ายรูปเก็บไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนตัว ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นโชคของใคร

ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดฯ ไม่ปลอดภัยตราบใดที่ยังคงบังคับใช้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่ชาวบ้านต้องไม่หนีทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีความผิด เพราะพอหนีครั้งแรก ครั้งที่ ๒ ก็ต้องหนีอีก สุดท้ายพอเจ้าหน้าที่ มาที่บ้านแล้วไม่เจอ เขาก็จะกลายเป็นผู้ต้องหา กลายเป็นการผลักให้คนดีเป็นโจร นี่คือสิ่งที่เราไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น

“ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดฯ 
ไม่ปลอดภัย ตราบใดที่ยังคง
บังคับใช้กฎอัยการศึก
หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่”

อาอีเส๊าะ อาเย๊าะแซ
ทนายความประจำมูลนิธิ
ศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา

สันติภาพและ
สิทธิมนุษยชน

หากเข้าไปในเว็บไซต์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หมวดหมู่ห้องสมุดคดี เราจะพบข้อมูลของคดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีการชุมนุม คดีการบังคับสูญหาย คดีวิสามัญฆาตกรรม คดีเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คดีความมั่นคง และคดีที่เราไม่เคยได้ยินชื่อในหน้าสื่อ หรือไม่ได้เป็นคดีความที่โด่งดัง แต่คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ล้วนเป็นพ่อแม่พี่น้องของใครสักคนที่สมควรได้รับความยุติธรรมเหมือนกัน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมลงพื้นที่และใช้วิธีจัดอบรมการใช้เครื่องมือ Paralegal ที่จะทำให้ชาวบ้านหรือญาติของผู้เสียหายสามารถเล่าได้ว่าผู้เสียหายเป็นใคร ถูกทําอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ข้อเรียกร้องที่เขาอยากได้คืออะไร ชาวบ้านจะได้เรียนรู้วิธีการได้ข้อมูลว่าคนในครอบครัวถูกควบคุมตัวไปที่ไหน ค่ายที่ควบคุมตัวลูก สามี เพื่อน ญาติไปนั้นอนุญาตให้เยี่ยมได้ตั้งแต่วันที่เท่าไร กี่โมงถึงกี่โมง โดยมูลนิธิทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ช่วยทนายความอาสาสมัครชุมชน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รวมถึงผู้ที่เคยถูกจับและผู้ที่มูลนิธิเคยช่วยเหลือ

ถึงตัวเลขในเชิงสถานการณ์มีความรุนแรงน้อยลงแต่อาจารย์อสมา มังกรชัย (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) บอกว่ายังเป็นสันติภาพแบบแข็ง ๆ  

พรเพ็ญ : เวลาเจ้าหน้าที่รัฐพูดถึงสันติภาพ ในมุมของเขาหมายความว่า ไม่มีการฆ่ารายวัน ระเบิด การลอบสังหาร ไม่มีคนไทยพุทธหรือคนบริสุทธิ์ถูกทําร้าย ไม่มีการโจมตีค่ายทหาร แต่สันติภาพจริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้น มันคือการกินอิ่มนอนหลับ ไม่ใช่มีคนมาแขวนเปล นอนถือปืนอยู่ในสวนยางของเราตอนตี ๓ ตี ๔ แล้วเราจะออกไปกรีดยางได้ยังไง

เราอยากยุติความขัดแย้งที่เป็น negative peace และอยากได้ positive peace นั่นคือทําอย่างไรให้เราอยู่ร่วมกันได้โดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน เช่น คนไทยพุทธกินหมูได้ ขายหมูในตลาดได้โดยไม่ถูกระเบิด หรือไม่มีใครถูกกราดยิงในมัสยิด อยากให้ทุกคนได้รับการกระจายรายได้อย่างเหมาะสม มีงานทํา มีการศึกษา ใช้ชีวิตตามวัฒน-ธรรมตัวเองได้ แต่ทุกวันนี้หลายเรื่องทําไม่ได้ เช่น คนที่ขอเงินบริจาคให้กับผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมก็ถูกดำเนินคดี ออกไปประท้วงชุมนุมก็ถูกจับภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จัดกิจกรรมใส่ชุดมลายูก็ถูกมองว่ามีเป้าประสงค์แอบแฝงเรื่องปลุกระดม

ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้ว่าถ้าถูกดําเนินคดีแล้วมีคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือในเชิงรุก ความกลัวของเขาลดน้อยลงบ้างไหม

พรเพ็ญ : สำหรับบางคนความกลัวก็น้อยลง กล้าที่จะพูดมากขึ้น แต่ความกลัวของเขามีมากกว่าเราเยอะ เพราะตายจริงเจ็บจริง มีกรณีหนึ่งที่ภรรยารู้สึกว่าต้องเรียกร้องให้สามี เพราะสามีถูกซ้อมปากแตก เราเลยยื่นคําร้องขอให้ปล่อยตัวด้วยเหตุว่ามีการซ้อมทรมาน และต้องยื่นให้ทันภายใน ๗ วันของการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก แต่พอมาถึงศาลในวันไต่สวน ภรรยาบอกเราว่าสามีจะบอกกับศาลว่าเขาเตะฟุตบอลล้มปากแตก  เราก็เลยถามว่า แล้วเด๊ะ (น้อง) ว่ายังไง เด๊ะจะให้อาแบ (พี่) พูดแบบนั้นจริงหรือ เขาโดนดุอะไรมาไหม ภรรยาบอกว่าเขารู้ทุกอย่างของเราหมดเลย บอกได้ถึงขั้นว่าคนข้างบ้านหนูตายยังไง  แบบนี้เราจะไม่กดดันเขา แต่สรุปวันนั้นเขายอมพูด คือตัวเขาเองก็อยากสู้ แต่ความตั้งใจของเขาต้องฝ่าปัจจัยหลายอย่างมาก ๆ เช่นภาษา หรือภรรยาก็ต้องพร้อมสนับสนุนเต็มที

อาจต้องทําใจด้วยว่าต้องสู้กับเรื่องนี้ต่อไปอีก มันอาจจะไม่จบลงง่าย ๆ

พรเพ็ญ : ภรรยาเล่าว่า อาแบไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้หนูฟังเลย เราก็เลยบอกว่า บางเรื่องอาแบก็ไม่กล้าเล่าว่าเขาถูกทรมานหนักมาก ถูกจับให้แก้ผ้า แต่พออยู่ตรงหน้าศาลในวันจันทร์นั้น เราก็ไม่รู้ว่าค่ายที่กักตัวเขาไว้ในวันเสาร์อาทิตย์ก่อนวันนัดศาลเขาถูกกดดันอะไรบ้าง แล้วทำไมเขาถึงยอมที่จะพูด แต่เราก็สนับสนุนเต็มที่ สุดท้ายพอศาลสั่งปล่อยตัว เราก็พาเขาไปที่คลินิกจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่หาดใหญ่ด้วยความยากลําบาก กว่าจะได้เข้าลงทะเบียน กว่าหมอจะตรวจให้ ทุกอย่างมันยากไปหมด จนกระทั่งสุดท้ายเราก็ไม่ได้ฟ้องกลับเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ แต่เขาก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ถูกดำเนินคดี

Image

ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร เพราะใจหนึ่งเราอยากให้เขาต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เส้นทางก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง

พรเพ็ญ : เราจะแจ้งทุกสิ่งทุกอย่างให้เขารู้ว่า ผลดี ผลเสียคืออะไร แล้วให้เขาตัดสินใจเอง เราพยายามทําหน้างานให้ดีที่สุด เช่น บางคนอยากให้เราปกปิดชื่อ หรือบางคนยอมที่จะเปิดเผย แต่อีกวันหนึ่งเปลี่ยนใจ เราก็ต้องทําตามนั้น

มีอีกกรณีที่เศร้ามาก เป็นน้องเยาวชนที่ถูกซ้อม แล้วก็น่าจะอยู่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีตากใบ ชื่อหมู่บ้านกาเยาะมาตี ในจังหวัดนราธิวาส ตอนนั้นเรายังเป็นคณะอนุกรรมการรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราก็จดบันทึกอย่างละเอียด น้องเขาดูลังเล แต่สุดท้ายก็ยินยอมเซ็นร้องเรียนเพราะครอบครัวพามา แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาก็ถูกยิงเสียชีวิตในอีกพื้นที่หนึ่งเพราะไปร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มเยาวชนลักษณะนี้จะถูกโยกไปโยกมา เขาไม่รู้หรอกว่าทางไหนคือทางที่ดีที่สุดสําหรับเขา สุดท้ายก็เลือกไปอยู่ในกลุ่มประชาชนที่ทางรัฐเชื่อว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน เราสะเทือนใจมากเพราะช่วยเขาไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เขามาร้องเรียนแล้ว เขาต้องการพื้นที่ปลอดภัย แต่แม้กระทั่งเราที่ทำงานใช้บทบาทอนุกรรมการสิทธิฯ ยังไม่สามารถทําให้เขาเห็นได้เลยว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยสําหรับเขา

เหตุการณ์ตากใบทําให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง

พรเพ็ญ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยเกิดเหตุการณ์เหมือนตากใบมาแล้ว นั่นคือเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ แต่เราไม่ได้ทําให้เรื่องของ ๖ ตุลาฯ เป็น lesson learned ที่ดี ไม่มีใครถูกดําเนินคดีทางอาญาเลย อาจจะด้วยเหตุที่ว่ามีการนิรโทษกรรม ซึ่งก็ถูกรับรองโดยระบบตุลาการ เราไม่รู้ว่าสมัยนั้นทําไมเขาถึงไม่ดําเนินการให้เป็น transitional justice (การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรม)

จําได้ไหมว่าใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะจัดนิทรรศการ “แขวน” ๖ ตุลาฯ ขึ้นมาได้ เพียงแต่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดฯ ได้บทเรียนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และความมุ่งมั่นที่ว่าคดีจะหมดอายุความแล้ว น่าจะต้องทําอะไรบางอย่างให้กับคนที่ตายไป และเป็นเหมือนกับความมุ่งมั่นตามหลักศาสนาของเขาด้วย การริเริ่มนี้จึงได้รับการตอบสนองโดยแรงผลักจากภายในทั้งทีมทนายความและตัวผู้เสียหายเอง

ในกรณีตากใบ เราค้นพบว่าการฟ้องคดีโดยรัฐแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เราสามารถฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐได้ ในคดีบิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกบังคับให้สูญหายแล้วต่อมาพบว่าเสียชีวิต แม้คําพิพากษาในขณะนี้จะไม่เหมาะสมกับการกระทําความผิด แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็เรียนรู้ว่าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เราก็ยังต้องการความมุ่งมั่นทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่น ทำอย่างไรให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารสําคัญจากสํานักนายกรัฐมนตรีได้ในคดีตากใบและให้จำเลยปรากฏตัวต่อหน้าศาลก่อนหมดอายุความ

เราต้องการ political will จากรัฐบาลนี้ อยากให้เขาแสดงเจตจำนงเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อแล้วมีการรับฟ้องก่อนอายุความเสร็จสิ้น