Image

๒๐ ปี ไฟใต้
ฮารา ชินทาโร่
นักวิชาการอิสระ
ผู้เกาะติดการเจรจาสันติภาพ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

Small Talk

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

‘ความยาวนาน’ 
เป็นเรื่อง ‘ปรกติที่สุด’
ของการเจรจาสันติภาพ

นับตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๔ (ปี ๒๕๔๗) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จนถึงตอนนี้เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้กินเวลานานเกินกว่า ๒ ทศวรรษแล้ว

ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ (ปี ๒๕๕๗) สารคดี เคยสัมภาษณ์อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ นักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยและศึกษาปรากฏการณ์ความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้  สังคมไทยรู้จักอาจารย์ในฐานะผู้แปลแถลงการณ์ของ BRN (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี - Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) โดยอาจารย์บอกเจตนาของการแปลว่า ไม่ได้ต้องการช่วยขบวนการต่อต้านรัฐ แต่อยากอาสาเป็น “น้ำมันเครื่อง” ของกระบวนการสันติภาพ เพราะเคยพบการรายงานข่าวของนักข่าวที่อาจใช้ภาษาแย่จนอาจเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหา บวกกับประสบการณ์สะเทือนใจเมื่อครั้งทำงานเป็นล่ามให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในพื้นที่กับเรื่องราวความสูญเสียในเหตุการณ์

“พระเจ้าคงต้องการให้ผมทำเรื่องนี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการสื่อสาร ผมจึงสมัครใจลงมือทำ”

ค.ศ. ๒๐๒๔ (ปี ๒๕๖๗) ในวาระ ๒ ทศวรรษของปัญหาไฟใต้ สารคดี สนทนากับอาจารย์ชินทาโร่อีกครั้ง เพื่ออัปเดตและฟังมุมมองว่าตอนนี้ “ไฟใต้” ของไทยอยู่ตรงจุดไหนของกระบวนการสันติภาพ

การเจรจาระหว่างรัฐไทยกับฝ่ายตรงข้ามคือกลุ่ม BRN ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๓ (ปี ๒๕๕๖) ส่งผลกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่

เกี่ยวข้องกัน ถ้าดูสถิติความรุนแรงจะพบว่าตั้งแต่มีกระบวนการเจรจาสันติภาพเหตุการณ์รุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ดูกราฟสถิติจะพบว่ามีการเพิ่มและลดเป็นจังหวะสอดคล้องกับสถานการณ์การเจรจาด้วย จะเห็นว่าหากมีพื้นที่ที่ให้คนนำเสนอจุดยืนทางการเมือง ปริมาณความรุนแรงก็ลดลง แต่เมื่อใดก็ตามที่การเจรจามีอุปสรรค พื้นที่แสดงออกทางการเมืองถูกปิด ความรุนแรงก็เหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ตอนนี้ (พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๒๔/ปี ๒๕๖๗) เหตุรุนแรงรายวันก็เริ่มถี่ขึ้นอีก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่ดี

คนในพื้นที่ตีความและให้ความหมายเหตุการณ์ “กรือเซะ” และ “ตากใบ” อย่างไร

มองว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ รัฐบาลไทยอาจไม่ตระหนักว่าเหตุการณ์นี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิดและวาทกรรมในการต่อสู้ของพวกเขา  มูฮัมมัด อาราฟัต นักวิชาการสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม ที่ศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิด “ความทรงจำร่วม” (collective memory) และความรู้สึกร่วมกันว่าถูกกระทำ ตกเป็นเหยื่อ

กรณีตากใบ คนในพื้นที่เขารู้สึกทันทีว่า “คนมลายู” โดนกดขี่ คนที่รู้สึกแบบนี้อาจไม่ได้มีญาติหรือคนรู้จักเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่เขารู้สึกร่วมด้วย ยังไม่นับว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กรณีอุ้มหายหะยีสุหลงและอื่น ๆ จะถูกเชื่อมเข้ามาด้วยโดยอัตโนมัติ

เชื่อหรือไม่ว่า เยาวชนในพื้นที่ที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยขณะเกิดเหตุการณ์ที่ตากใบเขารู้สึกร่วมอย่างรุนแรงมาก มันมีพลังที่ทำให้คนมลายูมองว่าโดนกระทำและเกิดความเห็นอกเห็นใจร่วมกันในทันที  ลักษณะการจำนี้จะต่างจากคนในกรุงเทพฯ ที่ส่วนหนึ่งอาจมองเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่นี่คนส่วนมากมองว่ามันใกล้ตัว  เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีกรณีที่เยาวชนในพื้นที่รวมตัวกันแต่งชุดมลายู ปรากฏว่าแกนนำเก้าคนถูกฟ้องดำเนินคดี เรื่องเหลือเชื่อคือคนในพื้นที่พูดถึงประวัติศาสตร์ว่า “ออแฆซีแย” (สยาม) เป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยก่อน พวกเขาย้อนไปนึกถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ใช้นโยบายรัฐนิยม ห้ามใส่โสร่ง ห้ามสวมฮิญาบ ทั้งที่คนเหล่านี้เกิดไม่ทันเหตุการณ์ จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นต่างเวลาและอาจไม่เกี่ยวกัน แต่ถูกนำมาเชื่อมเข้าหากัน

กรณีประวัติศาสตร์รัฐ “ปาตานี” คนในพื้นที่รับรู้เรื่องนี้หรือไม่

แตกต่างกันไปในแต่ละคน ถ้าไม่อยู่ในแวดวงขบวนการต่อต้าน ผ่านการเรียนในโรงเรียนไทย ก็อาจไม่ได้สนใจ อยากอยู่ในสภาพปัจจุบันต่อไป อีกส่วนคือรู้สึกว่าตนเป็นคนมลายูมากกว่าคนไทย

มีเรื่องหนึ่งที่ผมว่าเป็นปัญหาคือ การระบุ “เชื้อชาติ” ในบัตรประชาชน ถ้าไปดูในมาเลเซียจะมีบอกว่าสัญชาติมาเลเซีย แต่เชื้อชาติมีทั้งจีน มลายู สยาม อินเดีย ฯลฯ ไม่มี “เชื้อชาติมาเลเซีย” แต่ไทยนี่ใช้ว่า “เชื้อชาติไทย” ถามว่ามันคืออะไร คนเชื้อสายจีนที่มีมากมายหายไปไหนหมด เชื้อชาติไทยมาจากไหน อย่างลูกผมแม่เป็นมลายู ใส่เชื้อชาติญี่ปุ่นหรือมลายูได้ไหม ทั้งบ้านผมนี่เชื้อชาติไทยหมด (หัวเราะ) นี่คือความแข็งตัวของระเบียบราชการที่มีปัญหา สร้างเงื่อนไขของปัญหามากขึ้น ถ้าแก้ได้มันก็จะลดลง แต่รัฐไทยจะยอมหรือไม่ โดยเฉพาะ “ไดโนเสาร์” ทั้งหลาย

กรณีกรือเซะ ถ้ามองจากมุมคนนอกพื้นที่ กลุ่มขบวนการเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ก่อน ทำไมพวกเขาถึงมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ

ใช่ พวกเขาโจมตีเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าเราไปดูรายละเอียดเหตุการณ์ ดูอาวุธ มันไม่สมดุล พวกที่หลบและต่อสู้อยู่ในมัสยิดแทบไม่มีอาวุธ แต่ฝ่ายความมั่นคงใช้อาวุธสงครามครบมือ ต่อมาคนในมัสยิดก็โดนสังหารทั้งหมด ๓๐ กว่าคน

ผมอาจวิเคราะห์เรื่องนี้ผิดก็ได้ แต่คนในพื้นที่บางคนอาจมองเป็นการต่อสู้แบบหนึ่ง  ส่วนในกรณีตากใบ ความรู้สึกตกเป็นเหยื่อจะรุนแรงกว่ามาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่ากลุ่มญาติของผู้เสียหายจากกรณีตากใบต้องรวมตัวกันดำเนินการทางกฎหมายก่อนที่คดีจะหมดอายุความ

ปล่อยให้ผู้ก่อเหตุลอยนวล ทำให้คนลืมและกลายเป็นประวัติศาสตร์เป็นวิธีการเก่าของรัฐไทย วิธีนี้อาจใช้ได้กับบางพื้นที่ แต่กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่คนมีความทรงจำร่วมกันและมีความรู้สึกว่าเป็นเหยื่อรัฐสูงขนาดนี้ มันไม่ได้ผล อาจส่งผลตรงกันข้าม ท่าทีของรัฐบาลที่ไม่พยายามคืนความยุติธรรมให้ญาติของผู้เสียชีวิตอาจกลายเป็นอีกชนวนปัญหาที่ทำให้คนในพื้นที่ไม่ไว้ใจรัฐบาล มากกว่านั้นอาจจับอาวุธลุกขึ้นสู้ด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมารัฐไทยแทบจะไม่เคยดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด ผมยังนึกถึงกรณีสังหารชาวบ้านที่เขาตะเว จังหวัดนราธิวาส อัยการทำคดี อายุความ ๒๐ ปี คดีแบบนี้เมื่อถึงชั้นศาล สถิติบอกว่าส่วนมากถูกยกฟ้องและไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐได้รับโทษอาญาเลย ซึ่งเกิดขึ้นกับกรณีตากใบด้วย

ถึงตอนนี้ในพื้นที่ยังใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  เกิดผลอย่างไรกับคนพื้นที่

หนึ่ง การบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เป็นความล้มเหลวของรัฐไทย กฎหมายพิเศษต่างกับอาหารจานพิเศษนะครับ ต้องถามต่อด้วยว่ามันพิเศษสำหรับใคร ใครได้ประโยชน์คนในพื้นที่หรือไม่

สอง หน้าที่ของรัฐบาลคือหาทางยกเลิกการใช้กฎหมายเหล่านี้ให้เร็วที่สุด โดยทำให้สถานการณ์กลับไปสู่สภาพเดิม การต่ออายุกฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่มันก็ถูกต่ออายุ มันหมายความว่ารัฐควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

สาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ล้อมจับมักจะลงเอยด้วยการที่เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย

เจ้าหน้าที่ชอบใช้คำว่า “บังคับใช้กฎหมาย” แต่กฎหมายที่บังคับใช้คือกฎหมายพิเศษ  ผ่านมา ๒๐ ปี คำถามคือเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่กลับไปใช้กฎหมายปรกติ อีกทั้งการละเมิดสิทธิคนในพื้นที่ ไม่ว่าการควบคุมตัวโดยพลการ การเก็บดีเอ็นเอ ฯลฯ ล้วนเป็นผลจากกฎหมายพิเศษเหล่านี้ทั้งสิ้น

Image

มีสถิติจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่าตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๔ (ปี ๒๕๔๗) จนถึงตอนนี้
รัฐทุ่มเงินลงมากว่า ๕ แสนล้านบาทแล้วในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ อาจารย์เห็นดอกผลจากงบประมาณแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่

ไม่ได้สร้างความรู้สึกอะไร มันอาจตกหายระหว่างทาง อย่างที่เราทราบว่ามีเรื่องคอร์รัปชัน เทียบจังหวัดชายแดนใต้กับอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา งบประมาณมากระดับนี้ แต่การพัฒนาแย่กว่าที่หาดใหญ่  ผมไม่แน่ใจว่าเขาใช้งบประมาณส่วนมากไปกับเรื่องอะไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่มันขาดกระบวนการตรวจสอบและประเมินว่าคุ้มค่าหรือไม่ ที่ผ่านมามีแต่ชมกันเอง ประเมินกันเอง 

บางทีผมเห็นการทำโครงการ เช่น โครงการพหุวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา ฯลฯ ขอโทษที่ต้องบอกว่าโครงการเหล่านี้ “โลกสวย” มาก เพราะเท่าที่ผมเห็นมาความขัดแย้งในพื้นที่ไม่ใช่ระหว่างพุทธกับอิสลาม แต่คือปัญหาระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่ยอมรับอำนาจรัฐ เป็นกลุ่มที่มีความรู้สึกชาตินิยมเป็นหลัก ถ้านี่เป็นสงครามศาสนาสถานการณ์จะรุนแรงกว่านี้มาก กรณีภาคใต้ของไทยเพียงแค่รัฐที่ปกครองปาตานีเป็นรัฐพุทธแต่คนมลายูในพื้นที่เป็นมุสลิม ถ้ามันคือสงครามศาสนาพระสงฆ์จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่านี้ แต่ตอนนี้คนเหล่านี้ไม่ใช่เป้าหมายแต่อย่างใด

อยากให้อาจารย์วิเคราะห์การเจรจาที่ดำเนินมา ๑๐ ปี

หนึ่ง กระบวนการสันติภาพใช้เวลายาวนาน มันไม่จบภายใน ๑ ปี หรือ ๒ ปี  ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ (ปี ๒๕๕๗) ที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจแล้วเป็นนายกฯ เขาบอกว่าจะจบปัญหาใน ๖ เดือน คำนี้ผมมองว่าแสดงถึงความไม่รู้ หรือความเข้าใจไม่เพียงพอ เพราะกระบวนการสันติภาพไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ แบบการรัฐประหารที่พวกเขาชอบทำ มันอาจต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปี ผมโกรธที่ประยุทธ์พูดแบบนั้น

ต้องยอมรับว่าการเจรจาที่ผ่านมายังไม่นำไปสู่ผลที่เป็นรูปธรรม แต่กระบวนการเจรจาทำให้คนในพื้นที่ตื่นตัวมีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนคำว่า “ปาตานี” จะใช้ไม่ได้เลย คนที่ใช้คำนี้จะโดนมองเป็นขบวนการต่อต้านรัฐหรือไม่ก็แนวร่วม แต่ตอนนี้คนในพื้นที่ก็ใช้คำนี้ได้มากขึ้น แกลเลอรีแห่งหนึ่งมีชื่อว่า Patani Artspace รัฐจะไปปิดเขาได้อย่างไรเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด  อีกส่วนหนึ่งมีคนตื่นตัวสนใจศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น ผมคุยกับวัยรุ่นบางกลุ่มก็ตกใจว่าพวกเขาค้นคว้ากันเอง ตรงนี้ไม่เหมือนกับที่มีคำพูดว่าคนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ พวกเขาอาจจะฉลาดกว่าเราเสียอีกเพราะหาข้อมูลจากในโทรศัพท์มือถือได้ ตั้งคำถามกับสิ่งที่สอนในโรงเรียนได้ทันที เขามีเครื่องมือที่จะพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลที่มาจากฝ่ายรัฐนั้นถูกต้องหรือไม่ แน่นอนว่าการเจรจาต้องดำเนินต่อไป “ความยาวนาน” เป็นเรื่องปรกติที่สุดของการเจรจาสันติภาพ

ตอนนี้ถ้าเปรียบเทียบ ผมมองว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพมาได้แค่ชั้นอนุบาล ๓ หรือกำลังขึ้น ป. ๑ ยังไม่เข้าเรียนชั้นมัธยมฯ ด้วยซ้ำ

เวลาติดตามข่าวเจรจาสันติภาพ เราจะเห็นการแถลงเรื่องลดความรุนแรง การเจรจาการเมือง อีกเรื่องคือการมีส่วนร่วมของคนพื้นที่ สองเรื่องแรกจะถูกพูดบ่อยตั้งแต่เริ่มต้น มันดูวน ๆ อยู่เท่านั้น

ถ้าเป็นไปได้ ผมมองว่าควรมีความคืบหน้าเรื่องประเด็นการเจรจาได้มากกว่านี้ ตอนนี้สองฝ่ายคือรัฐไทยกับขบวนการต่อต้านคุยกันสามเรื่อง หนึ่ง ลดการใช้ความรุนแรง  สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ หรือการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ (public consultation) สาม การเจรจาทางการเมือง  ตามทฤษฎี ดูจากรายละเอียดมันสวยงาม แต่ทุกคนก็ทราบว่าในทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน นี่คือปัญหา ยกตัวอย่างเรื่องการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ผมยังไม่ทราบเลยว่าจะเกิดขึ้นแบบไหน อย่างไร ทางมองแบบวิชาการก็มีหลายวิธี เช่น โดยอ้อม ส่งตัวแทนประชาชนมาร่วมพูดคุยกับคณะเจรจาสันติภาพโดยตรง คนในพื้นที่รวมตัวกันแล้วไปคุยกับคณะเจรจาฯ วิธีการที่เล่ามาบางประเทศก็ทำ อาจมีคนหลักร้อยหรือหลายพันคนเข้าร่วมในสถานที่เดียวกัน อีกแบบคือการส่งสารแสดงความต้องการว่าต้องการให้กระบวนการเดินไปอย่างไร ผมพยายามเผยแพร่วิธีการเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าที่จะเกิดขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะกระบวนการเจรจาสันติภาพที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเปรียบได้กับการแข่งขันฟุตบอลที่ไม่มีกองเชียร์ดูในสนาม นักฟุตบอลก็ไม่รู้จะเล่นไปทำไม รัฐไทยมีแนวโน้มที่จะเล่นโดยไม่ต้องการกองเชียร์ ต้องการผูกขาดความถูกต้องเอาไว้ วิธีคิดแบบนี้จะเป็นปัญหา  ผมมองว่าต้องเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นที่แตกต่างกัน ต้องเข้าใจว่าแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายก็อยู่ร่วมกันได้ คุยกันได้ มันไม่ใช่ปัญหา แต่ที่ผ่านมารัฐไทยมองว่าคนต้องคิดเหมือนกับรัฐเท่านั้น

ในมุมของรัฐไทย เขาอาจกลัวว่าการเปิดให้สาธารณะมีส่วนร่วม มองแบบสุดขั้ว อาจกลายเป็นช่องทางในการทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราช

ผมขอแนะนำว่ารัฐไทยต้องใช้ความจริงมาคุยมากกว่าจินตนาการ เรื่องประชามติอาจเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนสุดท้ายหรือในอนาคต แต่ในตอนนี้เป็นเรื่องห่างไกลมาก รัฐไทยก็ต้องมั่นใจในตัวเองด้วย ในภูมิภาคมีรัฐที่แย่กว่าอย่างเกาหลีเหนือหรือพม่า รัฐไทยนี่ถือว่าแย่น้อยกว่ามาก มีคอลัมนิสต์คนหนึ่งที่เขียนบทความหรือรายงานข่าวตามจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง อ้างเรื่องเอกราช เรื่องประชามติบ้างและดูเหมือนว่าฝ่ายความมั่นคงก็ชอบที่จะเชื่อ การเชื่อแบบนี้ไม่ได้มีผลดีและไม่มีประโยชน์

คนมลายูไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชในพื้นที่ที่ผมสัมผัสเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง อาจเป็นการกระจายอำนาจ การมีสิทธิปกครองตนเอง แต่เรื่องต้องการเอกราชแบบไม่ต้องการประนีประนอมเลยมีไม่มาก ผมมองว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองจะทำให้เกิดความปลอดภัย ดีกว่าการปล่อยให้ฆ่ากัน ทำร้ายกัน  ปัญหาคือผู้นำของทั้งสองฝ่าย นักการเมือง ไม่ได้ตาย คนล้มตายคือคนในพื้นที่ที่รับผลเหล่านั้น ดังนั้นมันต้องใช้เวลา เราไม่ทราบว่าเมื่อใดจะแก้ปัญหาได้ แต่อย่างน้อยก็มีการพูดคุย มีกระบวนการสันติภาพ มีการตระหนักว่าปัญหาในพื้นที่ต้องแก้ไขด้วยวิธีการทางการเมือง นี่คือขั้นตอนสำคัญ มันต่างจากช่วงแรกที่บอกว่าโจรกระจอก ต้องปราบอย่างเดียว แต่ผมก็หวังว่ามันจะเดินหน้าไปได้มากกว่านี้ และหวังกับข้าราชการที่มีวิสัยทัศน์ที่น่าจะยังมีเหลืออยู่ในระบบรัฐไทย เราต้องหวังกับคนเหล่านี้

เรื่องน่าสนใจคือ หลังกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น คนในพื้นที่ตื่นตัวตระหนักเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นมลายู มีพื้นที่ใหม่ ๆ เปิดขึ้น เช่นศิลปะ  ผมต้องเรียนว่าปาตานีมี “กะลา” สองชั้นที่ต้องทำลาย ชั้นแรก “กะลาไทย” ชั้นที่ ๒ “สังคมผู้ชายเป็นใหญ่”  ตอนนี้น่าประทับใจว่าศิลปินหลายคนเป็นผู้หญิง นำงานศิลปะมาสะท้อนความคิด  ตอนนี้ปาตานีต่างจาก ๒๕ ปีก่อนมาก ตอนนั้นศิลปะในพื้นที่มีแต่ภาพชายหาด ต้นมะพร้าว เรือกอและ ไม่มีงานศิลปะสมัยใหม่ ส่วนตอนนี้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำงาน แต่พวกเธอใช้โทนสีมืดมาก ศิลปินหญิงคนหนึ่งวาดภาพกุโบร์ (สุสาน) ผมถามเธอว่าทำไมต้องวาดภาพกุโบร์ เธอบอกผมว่าเพราะบิดาของเธอโดนยิงเสียชีวิต  ถ้าเป็นยุคก่อนผู้หญิงปาตานีร้องไห้อย่างเดียว ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ และตอนนี้มีงานศิลปะหลายชิ้นที่แสดงตัวตนของคนในพื้นที่

วิธีการเจรจาสันติภาพในต่างประเทศใช้กับภาคใต้ของเราได้หรือไม่

ผมเริ่มศึกษากระบวนการสันติภาพในแต่ละพื้นที่ได้ไม่นาน สิ่งที่พบคือไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ทุกที่ แต่ละพื้นที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน เราต้องเรียนรู้จากกรณีอื่นเอามาปรับใช้กับสถานการณ์บ้านเราว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ต่างจากบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Nissin ที่ผลิตในไทยกับญี่ปุ่น แม้จะรสเดียวกันก็แตกต่างกัน ของไทยอาจเพิ่มตะไคร้ ใส่มะนาว ทำให้เผ็ด ปรับให้เข้ากับลิ้นคนไทย เช่นกันถ้าเราเอาวิธีที่ใช้ในอาเจะฮ์ของอินโดนีเซียมาใช้ที่ภาคใต้ทั้งหมดก็จะมีปัญหาแน่  เราดูตัวอย่างที่อื่นได้ แต่อย่าติดกับตัวอย่างนั้น ไม่ควรลอกมาใช้ทั้งหมดไม่งั้นล้มเหลวแน่นอน

มีความต่างของการเจรจาภายใต้รัฐบาลไทยที่เป็นพลเรือนกับทหารหรือไม่

กรณีรัฐบาลพลเรือน ต้องดูว่าเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน  สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ค่อนข้างโอเค ตอนนั้นผู้นำการเจรจาคือ พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง แต่พอเกิดรัฐประหาร ค.ศ. ๒๐๑๔ (ปี ๒๕๕๗) มีแต่นายพลที่ถูกส่งมาเป็นหัวหน้าคณะเจรจา

หลังเลือกตั้งใหญ่ ค.ศ. ๒๐๒๒ (ปี ๒๕๖๕) ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทั้งที่ได้เสียงจำนวนมาก เพื่อไทยไปรวมกับพรรคการเมืองที่ทหารสนับสนุนและได้เสียงจากวุฒิสภาที่ คสช. แต่งตั้ง ดังนั้นจะบอกว่าตอนนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนของคุณเศรษฐา ทวีสิน ตั้งพลเรือนคือคุณฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ผมแทบจะไม่เห็นความแตกต่างจากรัฐบาลทหารของประยุทธ์เลย ในแง่นโยบาย การดำเนินการทั้งหมดยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของทหาร 

ตอนคุณเศรษฐา นายกรัฐมนตรีมาเยือนชายแดนใต้ก็ไม่ได้พูดถึงกระบวนการสันติภาพ มาทัวร์สามจังหวัด บางคนก็บอกท่านมาโปรโมตสินค้าท้องถิ่น ชูเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว แต่มันไม่ตรงจุด นี่คือวิธีคิดแบบทหาร การพัฒนามาพร้อมกับการเอางบประมาณลงมา เราก็สงสัยว่างบประมาณมันหายไปไหนวะ (หัวเราะ)

สถานะของกรรมการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาฝั่งรัฐไทยมีการเปลี่ยนตัว อีกฝั่งก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนตัวบุคคลบ้าง อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

การเจรจาต้องการความต่อเนื่องของคนทำงาน เปลี่ยนบ่อยไม่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าผมชอบที่คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ๘ ปีนะครับ แต่กระบวนการสันติภาพมันต้องการความต่อเนื่อง ฝั่งไทยกรรมการเจรจาส่วนมากถูกส่งมาจากหน่วยงาน ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ ยุติธรรม ฯลฯ ผมอยากเห็นคนที่ทำงานต่อเนื่องได้ ทุ่มเทได้ และไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากจนเกินไป ถ้าเปลี่ยนก็ต้องมีการต่อยอด ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลหนหนึ่งก็มารื้อครั้งหนึ่ง ตอนนี้มันเหมือนกับแย่งพวงมาลัยกันขับ อีกฝั่งคือ BRN ที่เปลี่ยนตัวคนเจรจาน้อยมาก ตอนนี้การเจรจานับเป็นรอบที่ ๓

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด บางพรรคการเมืองเสนอว่าควรยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถอนทหารจากพื้นที่ คิดว่ามาตรการนี้ทำได้หรือไม่ถ้าถูกนำมาใช้จริง

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมเพิ่งกลับจากมาเลเซีย คนที่เห็นใจขบวนการที่ต่อต้านรัฐไทยเขามองว่าปาตานีกลายเป็นอาณานิคมสยาม สัญลักษณ์สำคัญสองอย่าง หนึ่งคือการมีอยู่ของทหารในทุกพื้นที่  สอง ศอ.บต. เหมือนกับกระทรวงอาณานิคมในยุคล่าอาณานิคม นโยบายของ ศอ.บต. ที่คนในองค์กรถูกแต่งตั้งมาจะตอบสนองคนในพื้นที่ได้อย่างไร ทั้งยังมีอำนาจยิ่งกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเสียอีก ผมมองว่านอกจากเลิก ศอ.บต. ควรให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

ส่วนข้อเสนอการถอนทหารที่มีคนมองว่าจะรักษาความปลอดภัยต่ออย่างไรเมื่อถอนกำลังไปแล้ว ผมกลับมองว่าทุกวันนี้ที่มีทหารในพื้นที่ ความปลอดภัยมีแค่ไหนกับงบประมาณมากมายที่ลงมาในเรื่องนี้ การมีบุคลากรทางการทหารและด่านตรวจจำนวนมากในพื้นที่ยังทำให้ภาพของไทยดูเสียหายในสายตาชาวโลก การพัฒนาก็ทำไม่ได้อีกด้วย ใครจะมาท่องเที่ยว ประกันภัยที่ไหนเขาจะมีผลในพื้นที่แบบนี้

การเมืองระดับชาติส่งผลต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพหรือไม่ ในอนาคตถ้าเกิดรัฐประหารอีกจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ

มันแยกออกจากการเมืองที่กรุงเทพฯ ไม่ได้  ในประวัติศาสตร์ ค.ศ. ๑๙๗๔ (ปี ๒๕๑๗) (หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖) มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ปาตานี ๔๕ วัน เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบานทำให้คนกล้ามารวมตัวกัน เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนว่าเมื่อไทยมีรัฐบาลพลเรือนกระบวนการสันติภาพจะเริ่มต้นและเดินได้ พอเป็นรัฐบาลทหารจะเกิดการหยุดชะงัก 

ผมถามว่าคนกรุงเทพฯ ได้อะไรจากการปล่อยให้เกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาล มีแต่ผลเสีย ยิ่งตอนนี้จะหาเหตุผลมารองรับแบบคณะรัฐประหารยุคก่อนก็ยากแล้ว ถ้าทำจะหาความชอบธรรมจากไหน มันเป็นการปิดพื้นที่ทางการเมือง รัฐประหารครั้งหลังสุดใน ค.ศ. ๒๐๑๔ (ปี ๒๕๕๗) เราเห็นการเอาคนไปปรับทัศนคติ ที่คนโดนก็มีฝั่งเดียวเท่านั้น ถ้าเกิดอีกก็กระทบกับกระบวนการสันติภาพแน่นอน ช่องทางการสื่อสารทางการเมืองจะแคบลงเมื่อเทียบกับรัฐบาลพลเรือน ซึ่งกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้เปิดพื้นที่มากพอ

ผมมองว่าเมื่อไรก็ตามที่ไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบ ปราศจากอำนาจนอกระบบ กระบวนการสันติภาพจะไปได้ดีมากและทำงานได้ในระยะยาว  สำหรับฝ่ายตรงข้ามการบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลทหารมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม รัฐบาลพลเรือนหลังจากนั้นจะยอมรับหรือไม่ เอาแค่ตอนนี้เราคงต้องทำใจว่าอย่าให้กระบวนการเจรจาสันติภาพล้มลงก็พอแล้ว  ถ้าเราไปดูกรณีในต่างประเทศ กรณีอาเจะฮ์สำเร็จหลังรัฐบาลอำนาจนิยมของนายพลซูฮาร์โตล้มแล้ว ที่ฟิลิปปินส์ก็ทำได้กรณีมินดาเนาหลังรัฐบาลเผด็จการมาร์กอสล้มแล้ว

ความมุ่งหมายส่วนตัวของอาจารย์หลังจากนี้

หลังการรัฐประหารใน ค.ศ. ๒๐๑๔ (ปี ๒๕๕๗) ม.อ.ปัตตานี ไม่ต่อสัญญากับผม เพราะผมเป็น ๑ ในคณาจารย์ ๑๐ คนที่แถลงต่อต้านการชุมนุมของ กปปส. ที่กรุงเทพฯ ผมจำได้ว่าตอนนั้นมหาวิทยาลัยจัดรถไปส่งบุคลากรที่จะไปประท้วงที่กรุงเทพฯ ฟรี อาจารย์ที่ไปร่วมไม่ถูกนับว่าขาดสอน นักศึกษาที่ไปร่วมไม่ถูกนับว่าขาดเรียน แพทย์ที่ไปก็ได้รับการประเมินการปฏิบัติงานเป็นพิเศษ  ผมกับอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยก็แถลงข่าวแสดงจุดยืน หลังรัฐประหารผมก็ไม่ผ่านการประเมิน เขาบอกเป็นเรื่องจริยธรรม แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อ ผมบอกเขาว่าเรื่องนี้เป็นเสรีภาพทางวิชาการ แล้วแพทย์ที่ไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. ไปกล่าวคำไม่เหมาะบนเวทีประท้วงจะอธิบายอย่างไร เขาก็บอกว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าผมจะต่อสัญญาก็ต้องไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ต้องทิ้งหลักการ ผมเลยคิดว่าออกมาทำงานอิสระดีกว่า

ผมเคยอ่านหนังสือ 1984 และ Burmese Days ของจอร์จ ออร์เวล ไม่คิดว่ามาอยู่ไทยจะได้พบ Siamese Days ทำให้เข้าใจนิยายมากขึ้น

ก่อนจะมาคุยกับ สารคดี วันก่อนมีสำนักข่าวหนึ่งไปสัมภาษณ์คนของฝั่งตรงข้ามรัฐไทยแล้วเขาขอให้ผมแปลให้ งานของผมช่วงนี้เป็นแบบนี้ เดือนหนึ่งผมจะมีงานแปลแบบอาสาสองสามชิ้น และหวังว่ามันจะเป็นส่วนช่วยในกระบวนการสันติภาพที่จะบรรลุผลในอนาคต

อยากฝากอะไรถึงรัฐบาล

ฝ่ายความมั่นคงต้องพิจารณาเรื่องกฎหมายพิเศษไม่ว่ากฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กฎหมายเหล่านี้บังคับใช้มากว่า ๒ ทศวรรษ รัฐไม่ได้พยายามแก้ไขให้กลับไปสู่การใช้กฎหมายปรกติได้เลย สถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้นบ้างนั้นต้องเข้าใจว่าเกิดจากกระบวนการสันติภาพ ไม่ได้เกิดจากกฎหมายเหล่านี้  กฎหมายเหล่านี้ยังทำให้ไทยเสียชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ไม่มีการมาลงทุนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

หากนายกฯ เศรษฐาอยากพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ คำถามคือถ้าไม่ยกเลิกการใช้กฎหมายเหล่านี้ใครจะมาลงทุน