Image

วงแหวนแห่งไฟ
๙ เหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง
ในสถานการณ์ไฟใต้

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

นับกันว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เรียกกันว่า “ไฟใต้” เริ่มต้นขึ้นจากเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จากนั้นก็ลุกลามต่อเนื่องมา บางช่วงรุนแรงบางช่วงเบาบาง แต่ไม่ขาดหาย

แต่ว่าตามจริงรากเหง้าของปัญหาไฟใต้ไม่ได้เพิ่งเริ่มเมื่อปี ๒๕๔๗ แต่มีเชื้อปะทุมายาวนานก่อนนั้น กล่าวเฉพาะช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ก็นับตั้งแต่การจับกุมหะยีสุหลง นักสู้เพื่อคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้เมื่อปี ๒๔๙๑ และอุ้มหายไปในอีก ๖ ปีต่อมา แต่เขายังอยู่ในฐานะวีรบุรุษแห่งยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของท้องถิ่นชายแดนใต้ที่หมายถึงสามจังหวัดกับสี่อำเภอตอนล่างของสงขลา ผู้เปรียบเสมือนอิฐก้อนแรกบนเส้นทางการต่อสู้ ที่ยังมักถูกยกมาปลุกเร้าจิตใจของนักสู้เพื่อคนมลายูมุสลิมมาจนปัจจุบัน

กับอีกเหตุการณ์สำคัญคือประวัติศาสตร์ดุซงญอ ที่เป็นการปะทะระหว่างคนมุสลิมท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ และจบลงด้วยการนองเลือดเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ซึ่งต่อเนื่องมาเป็นเหตุการณ์ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ หรือที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์กรือเซะ” และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงเหตุร้ายรายวันที่ต่อเนื่องวนซ้ำเป็นวงแหวนความรุนแรงที่ยังไม่มีจุดจบ

เฉพาะในช่วง ๒๐ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มีสถิติตัวเลขของทางการที่ผ่านการลงมติร่วมของสามฝ่าย ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองแล้วว่าเป็น “เหตุความมั่นคง” หรือเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัว รวมทั้งสิ้น ๑๐,๓๙๒ ครั้ง

ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม ๔,๕๗๗ ราย บาดเจ็บรวม ๑๑,๓๔๙ ราย

จ่ายเงินเยียวยาเหยื่อความรุนแรงไปแล้วในช่วง ๒๐ ปีงบประมาณ รวมทั้งสิ้น ๔,๒๗๘ ล้านบาท

และใช้งบใน “แผนงานดับไฟใต้” ไปแล้วร่วม ๕ ล้านล้านบาท

ไม่เพียงงบประมาณมหาศาล 
รัฐยังมีกฎหมายพิเศษ* อย่างกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งเมื่อปี ๒๕๔๗  พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งห่วงโซ่ความรุนแรง

ปัญหาไฟใต้ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่มีส่วนเกี่ยวโยงถึงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง ชาติพันธุ์ พื้นที่ ซึ่งเคยเป็นรัฐปาตานีมาก่อน

บางทีการมองเห็นปัญหาตลอดสายอย่างทั่วถึงถ่องแท้ หวังว่าจะมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปได้ตามภวปัจจัย เพราะการดับไฟใต้คงไม่อาจฝากไว้ในมือใครเพียงลำพัง แต่เป็นภาระร่วมของผู้คนทั้งสังคม

* กฎหมายพิเศษเหล่านี้มีข้อบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คุ้มครองการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐจากการรับผิดชอบตามกฎหมาย เพื่อรักษาความมั่นคง
ของรัฐ โดยให้ควบคุมผู้ต้องสงสัยได้ ๗ วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถปกปิดเรื่องสถานที่ควบคุมตัวและมีสิทธิ์ปฏิเสธการให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ  ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จึงสามารถตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาคดียาวนานกว่าคดีอาญาทั่วไป และผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ มีข้อมูลว่ามีการดำเนินคดีความมั่นคงกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จำนวนมากโดยขาดหลักฐานที่เพียงพอ คดีมักสิ้นสุดโดยศาลตัดสินยกฟ้อง บางกรณีมีการซ้อมทรมานให้ได้ข้อมูลหรือการรับสารภาพ บางกรณีผู้ต้องสงสัยสูญหายไร้ร่องรอย

Image

ดุซงญอ

เมื่อการปกป้องตนเองกลายเป็นกบฏ

“หนังสือสำคัญฉบับนี้ออกให้...(ผู้มารายงานตัว) ได้หลบหนีไปคราวเกิดจลาจล ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาสแล้วตามระเบียบ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๙๒ จึงออกหนังสือนี้ให้เป็นหลักฐานว่าเป็นผู้ที่จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีแล้ว ไม่มีกรณีใด ๆ เกี่ยวข้อง”

ณายิบ อาแวบือซา แสดงข้อความในหนังสือมอบตัวของผู้ผ่านเหตุการณ์ดุซงญอรายหนึ่งที่ลูกชายเก็บรักษาไว้และเอาให้เขาดูพร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ฟังตามที่รับรู้

เหตุการณ์ที่รัฐเรียกขานว่ากบฏดุซงญอเป็นประวัติศาสตร์การปะทะใหญ่ที่สุดครั้งแรกระหว่างคนมลายู ท้องถิ่นกับรัฐไทยสมัยใหม่ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑๐๐ ราย เป็นฝ่ายตำรวจ ๓๐ นาย ซึ่งน้อยกว่าการสูญเสียของฝ่ายชาวบ้านหลายเท่า และได้กลายเป็นสัญลักษณ์การลุกขึ้นสู้ของคนมลายูปาตานีกับรัฐไทยต่อมา

โดยองค์ประกอบของเหตุการณ์จากข่าวสารและคำแถลงจากรัฐก็คล้ายคลึงกับเหตุรุนแรงในปัจจุบัน ที่มักมีการเชื่อมโยงกับปอเนาะ ครูสอนศาสนา พิธีกรรมลี้ลับที่เชื่อว่าทำให้อยู่ยงคงกระพัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีอยู่ที่ดุซงญอก่อนเกิดเหตุโศกนาฏกรรม

ดุซงญอในปัจจุบันเป็นชุมชนขนาดตำบล ตั้งอยู่ในหุบเขาสันกาลาคีรีใกล้ชายแดนมาเลเซีย ในเขตพื้นที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส  ชุมชนตั้งอยู่ริมคลองแปเราะ ตลาด โรงพัก มัสยิด ตั้งอยู่แถวแยกใจกลางเมือง ตึกแถวโบราณสร้างด้วยไม้และปูนขนาบอยู่สองฟากถนนและตรอกซอยที่ตัดเชื่อมต่อกันเป็นตาราง รอบนอกออกไปเป็นทิวสวนไม้ผลพื้นบ้าน โดยมีทิวเขาเขียวครึ้มทะมึนเป็นฉากหลัง  จากชุมชนมีเส้นทางสายหลักเชื่อมมายังตำบลตันหยงมัสเพื่อออกสู่ตัวจังหวัด บริเวณทั้งหมดนี้คือฉากในเหตุการณ์ดุซงญอ

Image

เหตุการณ์ในหมู่บ้านกลางหุบเขาสันกาลาคีรี เป็นข่าวใหญ่บนหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๙๑ ในเนื้อข่าวระบุว่า “เหตุร้ายในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เช้าวานนี้ มีรายงานข่าวต่อมาว่าพวกก่อการจลาจลได้ยึดเอาหมู่บ้านจะแนะกับหมู่บ้านลุงยอ ตั้งเป็นป้อมค่ายขึ้นต่อสู้กับกำลังฝ่ายปราบปรามของรัฐ และตั้งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องของอิสลามิกชนในบริเวณ ๔ จังหวัด ๗ ข้อ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ได้เคยขอมาครั้งหนึ่งแล้ว...”

แต่เดิมนั้นเคยอยู่ในเขตเมืองระแงะ ในสมัยเจ็ดหัวเมืองยุคต้นรัตนโกสินทร์ เป็นแถบป่าเขาที่เจ้าเมืองเข้ามาทำสวนจึงเรียกแถบนี้ในภาษามลายูท้องถิ่นว่าดุซงญอ แปลว่าสวนของท่าน (เจ้าเมือง)  มีผู้คนราว ๒๐๐ ครอบครัวอาศัยอยู่กันเรื่อยมาจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ตามเรื่องเล่าหลักว่า พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ซึ่งถูกสหพันธรัฐมลายาปราบปราม ถอยร่นมาหาแนวร่วมและเสบียงอยู่แถวแนวชายแดนไทย แต่คอมมิวนิสต์ไม่นับถือศาสนา ขณะที่คนท้องถิ่นดุซงญอส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่เคร่งครัด จึงไม่ได้รับการสนับสนุนและกลายเป็นความไม่พอใจ

แต่ ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ คนท้องถิ่นดุซงญอและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ยืนยันจากการศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เรื่องพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ยืนยันว่าช่วงเวลานั้น พคม. ยังตั้งมั่นอยู่ที่ยะโฮร์ เพิ่งเคลื่อนมาถึงแถบชายแดนใต้หลังปี ๒๕๐๐ มาแล้ว กลุ่มที่เข้ามาก่อนหน้านั้นเป็นจีนก๊กมินตั๋ง

เช่นเดียวกับ ณายิบ อาแวบือซา นักศึกษาวิจัยท้องถิ่นชายแดนใต้ ที่ยืนยันจากการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเรื่องดุซงญอว่า “ผมเชื่อจากข้อมูลว่าชาวบ้านไม่มีปัญหากับ พคม. อยู่ตรงไหนเขาต้องดีด้วย”

แต่โจรจีนตามแนวชายแดนนั้นมีอยู่จริง ซึ่งเข้ามาก่อเหตุปล้นสะดมสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอยู่เป็นประจำ

ตลาดดุซงญอเคยถูกปิดล้อม รวมทั้งบ้านกำนันก็ถูกโจรปล้นทรัพย์สินไปหลายอย่าง

กำนันแจ้งเหตุการณ์ไปทางอำเภอ แต่ไม่มีการตอบสนองใด ๆ จากทางราชการ ชาวบ้านจึงต้องหาทางป้องกันตนเอง

ณายิบเล่าด้วยว่า ตามข้อมูลที่ กอฮารุดดีน อาบูหลานชายของอดีตกำนันตำบลดุซงญอเล่าให้เขาฟังนั้นแกนนำชาวบ้านมีสองคน คนหนึ่งเป็นผู้นำกลุ่มที่เชื่อเรื่องอภินิหาร คาถา น้ำมนตร์

“เขาเล่าว่า หะยีมะ กาแร เป็นคนนำในการปะทะเขาได้รับการสรรเสริญในฐานะแม่ทัพ พวกเขาอ้างว่าคนที่ผ่านพิธีจะยิงไม่เข้า ผู้นำโหนสายไฟฟ้าหนีได้โดยไฟไม่ช็อต ตอนหลัง หะยีมะ กาแร มามอบตัวต่อนายอำเภอระแงะ เมื่อ ๘ กันยายน ๒๔๙๒ รัฐออกหนังสือรับรองว่าจะไม่ทำผิดอีก เช่นเดียวกับพ่อของคนเล่า ที่ได้หนังสือรับรองที่ผมให้ดูตอนแรก  หลังจากมาเคลียร์ตัวเองต่อรัฐแล้วต่อมาเขาไปอยู่มาเลเซียจนเสียชีวิตที่นั่น เป็นตัวละครที่ยังไม่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดุซงญอ”

กบฏดุซงญอเป็นประวัติศาสตร์การปะทะใหญ่ที่สุดครั้งแรกระหว่างคนมลายูท้องถิ่นกับรัฐไทยสมัยใหม่ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑๐๐ คน และได้กลายเป็นสัญลักษณ์การลุกขึ้นสู้ของคนมลายูปาตานีกับรัฐไทยต่อมา

Image

ชุมชนดุซงญอตั้งอยู่ริมคลองแปเราะ ตลาด โรงพัก มัสยิด ตั้งอยู่แถวใกล้แยกใจกลางเมือง มีเส้นทางสายหลักเชื่อมออกไปยังตำบลตันหยงมัสเพื่อออกสู่ตัวจังหวัด บริเวณทั้งหมดในภาพนี้คือฉากในเหตุการณ์ดุซงญอ

ส่วนคนที่ปรากฏตัวชัดเจนอยู่ในประวัติศาสตร์กบฏดุซงญอคือโต๊ะแปเราะ โต๊ะครูจากเมืองเประ รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย มาเปิดปอเนาะสอนศาสนาอยู่บริเวณที่เป็นโรงเรียนบ้านดุซงยอในปัจจุบัน รับสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มอบรมทำกิจกรรมทางศาสนาอยู่ในหมู่บ้าน

ส่วนอีกกลุ่มที่เชื่ออภินิหาร ทำพิธีอาบน้ำมันคงกระพันอยู่บนภูเขา ทำสมาธิ สวดมนตร์ร่วมกันจำนวนมากจนเสียงดังกระหึ่มกึกก้องได้ยินไปไกล

จนมีความเข้าใจกันไปว่าเป็นการปลุกใจให้เกิดความฮึกเหิมเพื่อลุกขึ้นแข็งข้อก่อกบฏต่อรัฐไทย

เมื่อเรื่องทราบถึงคณะกรรมการอำเภอ จึงให้ปลัดอำเภอนำตำรวจไปสอดส่อง แล้วโดนชาวบ้านไล่ตี

“ตำรวจเลยไปฟ้องว่าพวกนี้ซ่องสุมกำลังต่อต้านรัฐ ตำรวจรู้ข่าวก็ยกกำลังมาเจอโต๊ะแปเราะที่ทำพิธีกรรมอยู่ อีกกลุ่มรู้ข่าวก็เกณฑ์กำลังมา  วันปะทะคนเล่าบอกว่าโต๊ะแปเราะไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว หนีไปบ้านเมียที่ตำบลบองอ คนนำปะทะคือ ยีมะ กาแร” ณายิบถ่ายทอดคำเล่าตามที่เขาได้ฟังมาจาก กอฮารุดดีน อาบู หลานชายอดีตกำนัน

แต่ตามรายงานข่าวของทางการว่า ในช่วงนั้นชาวบ้านนับพันคนชุมนุมกันอยู่บนภูเขา เชื่อว่าเป็นการเตรียมการก่อกบฏซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการจับกุม หะยีสุหลง โต๊ะมีนา เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๙๑ ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่ปัตตานี

Image

บ้านเรือนโบราณสร้างด้วยไม้และปูนขนาบอยู่สองฟากถนนและตรอกซอยที่ตัดเชื่อมต่อกันเป็นตาราง คนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งเลี้ยงนกไว้ฟังเสียงกันแทบทุกบ้าน

สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อมีการรายงานไปยังจังหวัด และส่งโทรเลขถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในบทความ “ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน : ดุซงญอ-นราธิวาส, ๒๔๙๑” ของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บันทึกคำเล่าของ มุกดา ตาปู ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ที่ให้สัมภาษณ์ต่อ สะรอนี ดือเระ ว่าดุซงญอเคยถูกโจรจีนคอมมิวนิสต์เข้าปล้นหลายครั้งเพื่อเอาเสบียงอาหาร ชาวบ้านจึงรวมตัวกันต่อต้าน โดยกลุ่มหนึ่งไปรวมตัวกันที่เขาตือกอ ห่างชุมชนไปหลายกิโลเมตร เพื่อทำพิธีอาบน้ำมันคงกระพันกันที่ถ้ำวัว ซึ่งจุคนได้ไม่กี่คน  การปะทะเกิดจากตำรวจขึ้นไปยิงชาวบ้านที่รวมตัวกันบนเขาในวันเสาร์ แล้วโดนชาวบ้านไล่ลงมา จากนั้นเกิดการปะทะกันที่บ้านดุซงญอในวันจันทร์ ฝ่ายชาวบ้านราว ๘๐๐ คน มีปืน มีด ดาบเป็นอาวุธ ผู้นำคนหนึ่งชื่อ หะยีมะ กาแร

ขณะที่ลูกชายโต๊ะแปเราะเล่าจากมุมของฝ่ายชาวบ้าน ซึ่งมีการบันทึกไว้ในบทความเรื่อง “กบฏ ? ดุซงญอ” โดย พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม ว่าขณะเกิดเหตุการณ์เขาอายุ ๑๗ ปี ทราบว่าตำรวจมาซุ่มดูและยิงปืนขู่ จนชาวบ้านที่ทำพิธีอยู่แตกตื่นและวิ่งไล่เจ้าหน้าที่ไปจนถึงตลาดดุซงญอ แล้วชาวบ้านก็กลับเข้าปอเนาะ

เช้าวันจันทร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ร.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา เป็นหัวหน้าชุดนำกำลังเข้าปราบปรามผู้ก่อเหตุ

ลูกชายโต๊ะแปเราะเล่าว่า ตำรวจมายิงปืนหน้าปอเนาะ ชาวบ้านจึงออกมาขับไล่อีกครั้ง เกิดการปะทะต่อสู้กันรุนแรง ตำรวจถูกยิงเสียชีวิตสี่นาย ชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิตเจ็ดแปดคน

จากงานเขียนของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ อดีตครูและนักหนังสือพิมพ์ ที่เดินทางลงไปเก็บข้อมูลที่ดุซงญออยู่ ๑๒ วัน หลังเกิดเหตุการณ์ไม่ถึง ๒ เดือน เขียนเล่าไว้ใน ดุซงญอ ๒๔๙๑ ถึงตากใบวิปโยค ว่า ชนวนการปะทะเริ่มจากชาวบ้านไล่ยิงไล่ฟันตำรวจ แล้วมีการรวมตัวกันราว ๑,๐๐๐ คน ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๙๑  รุ่งขึ้นอีกวันหน่วยรบพิเศษจากส่วนกลางพร้อมเรือรบและเครื่องบินโจมตี ๓ ลำ ยกกำลังพล ๑๐๐ พร้อมอาวุธเข้ากวาดล้างบ้านดุซงญอ ซึ่งเปิดปฏิบัติการตอนเช้าตรู่วันที่ ๒๘ เมษายน ซึ่งระบุว่าอาจมีผู้ตายถึง ๖๐๐ คน อีกราว ๔,๐๐๐ คนหนีเข้าป่าทางฝั่งมาเลเซีย

Image

บ้านหรือวังของเจ้าเมืองระแงะ สมัยปกครองแบบเจ็ดหัวเมือง ส่วนเรือกสวนอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขา ที่คนมลายูท้องถิ่นเรียกว่าดุซงญอ ซึ่งแปลว่าสวนท่านเจ้าเมือง

Image

อนุสาวรีย์ลูกปืน หน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสที่ทางการสร้างเพื่อระลึกถึงเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดุซงญอ
ภาพ : คูไลดี ยามา

มีข้อมูลที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันพุธที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ตามที่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ้างไว้ใน “กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์” ว่า “เกิดจลาจลต่อสู้ที่นราธิวาส...” เนื้อข่าวอ้างถึงประกาศจากวิทยุกระจายเสียงรอบเช้าของเมื่อวานนี้ว่าเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎรครั้งใหญ่ ราษฎรกลุ่มหนึ่งประมาณ ๑,๐๐๐ คน ก่อจลาจลต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนทานไม่ไหว เนื่องจากมีอาวุธต่อสู้ทันสมัย เช่น คาร์ไบน์ ลูกระเบิด แม้แต่ปืนต่อสู้รถถังก็ยังมี จึงส่งโทรเลขมายังมหาดไทยเมื่อบ่ายวันที่ ๒๖ เมษายน ขอให้ส่งกำลังไปช่วยเหลือโดยด่วน

และต่อมา สยามนิกร ฉบับวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๑ รายงานว่า จลาจลในนราธิวาสได้สงบลงแล้ว ฝ่ายจลาจลเสียชีวิต ๓๐ คน ฝ่ายปราบปรามเสียชีวิต ๕ คน หลังการต่อสู้ ๓๐ ชั่วโมง  พระยาอมรฤทธิธำรง ข้าหลวงตรวจการมหาดไทย ภาค ๕ โทรเลขมายังมหาดไทยว่า ฝ่ายจลาจลแตกพ่ายหนีเข้าป่าหมดสิ้นแล้ว และได้บอกด้วยว่าอาวุธของฝ่ายจลาจลมีเพียงมีด ไม้ และปืนยาวเท่านั้น

แกนนำที่รัฐมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความไม่สงบ หนีออกนอกประเทศ จับตัวไม่ได้

และหลังเหตุการณ์ สยามนิกร รายงานด้วยว่าคนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ได้อพยพไปยังกลันตัน ไทรบุรี เประ รวมราว ๖,๐๐๐ คน ซึ่งบางส่วนอยู่เป็นพลเมืองมาเลเซียถาวร และมีบางส่วนกลับมามอบตัว ซึ่งรัฐได้ออกหนังสือรับรองให้ อย่างกรณีพ่อของ กอฮารุดีล อาบู ที่ณายิบ อาแวบือซา ได้ข้อมูลหลักฐานมา

ในภายหลังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงข้อสรุปว่า “โศกนาฏกรรมดุซงญอนั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงศาสนกิจอิสลาม”

และต่อมาก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ดุซงญอนั้น เกิดจากมุมมองเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าใจไปว่าพิธีอาบน้ำมันอยู่ยงคงกระพันของชาวบ้านเป็นการซ่องสุมกำลังเพื่อก่อการกบฏต่อรัฐไทย จึงเข้ากวาดล้างจับกุม กระทั่งนำไปสู่การหลั่งเลือดใหญ่ครั้งแรกหลังยุคเจ็ดเมืองมาเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้
...

Image

หะยีสุหลง
อับดุลกอเดร์

นักต่อสู้เพื่อมุสลิมชายแดนใต้ที่ถูกอุ้มหาย

“กรณีท่านหะยีสุหลง ใช้เวลา ๕๒ ปี กว่าจะคลายล็อกได้”

พ.อ. อุทัย รุ่งสังข์ รอง ผอ. ศูนย์สันติวิธี กล่าวถึงเหตุการณ์ที่นับกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ยุคใหม่ที่ยังเป็นความเจ็บปวดติดค้างใจของคนในครอบครัว และเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่มักถูกหยิบยกมาเล่าขานปลุกจิตใจการต่อสู้ของขบวนการต่อต้านรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้

โดยในส่วนแรกได้รับการคลี่คลายไปบ้างแล้ว

“ท่านไกรศักดิ์ ลูกหลานตระกูลชุณหะวัณ มาขอโทษบุตรหลานของท่านหะยีสุหลง ตระกูลโต๊ะมีนาที่ปัตตานีถึงความผิดพลาดของตระกูลที่มีส่วนทำให้ท่านหายไป  มีการยอมรับและขอโทษ ทางตระกูลผู้สูญเสียก็คลายล็อกทางจิตใจ”

หะยีสุหลงถูกอุ้มหายไป ๗๐ ปีแล้ว แต่เขายังอยู่ในฐานะวีรบุรุษของผู้ต่อสู้เพื่อมุสลิมปาตานี

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

แต่ในส่วนหลังยังไม่มีใครถอดสลักได้ และเขาได้กลายเป็นเสมือนวีรบุรุษในฐานะผู้นำการเรียกร้องเพื่อชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะเขามีอายุราว ๕๐ ปีแล้ว

ก่อนหน้านั้น หะยีมูฮัมหมัดสุหลง อับดุลกอเดร์ หรือชื่อเต็มว่า หะยีมูฮัมหมัด บินอับดุลกอเดร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟาฏอนี ซึ่งอัล-ฟาฏอนี ท้ายชื่อนั้นเป็นการแสดงตนว่าเป็นมลายูปาตานี  เขาเกิดในเมืองปัตตานีที่กำปงอาเนาะรู เมื่อปี ๒๔๓๘  เรียนปอเนาะที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น แล้วไปศึกษาศาสนาอิสลามที่เมืองมักกะฮ์ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี แต่งงานที่นั่นเมื่ออายุ ๒๗ ปี แต่ ๒ ปีต่อมาภรรยาก็เสียชีวิต  เขาแต่งใหม่และมีลูกชายได้ขวบเศษ ลูกชายก็เสียชีวิต  เขาเสียใจมากจนต้องเดินทางกลับปัตตานีเมื่อปี ๒๔๗๐ และจากนั้นก็อยู่กับแผ่นดินเกิดจนสิ้นชีวิต

เขาเป็นผู้นำมุสลิมภาคใต้ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือด้วยความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ จบการศึกษาจากมักกะฮ์ ตั้งใจจะกลับมาฟื้นฟูการศึกษาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้ และเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของคนมุสลิม

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตเขาเกิดขึ้นในการประชุมประจำปี ๒๔๙๐ ของสมาคมสมางัตปัตตานีที่เขาเป็นประธาน ที่ประชุมลงมติให้เขาทำหนังสือยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดประการต่อรัฐบาลไทย อันเนื่องมาจากความไม่พอใจการปฏิบัติของข้าราชการต่อประชาชนมุสลิมในพื้นที่ ตามที่เขากล่าวไว้ใน “รวมแสงแห่งสันติ” ว่า “ราษฎรในขณะนั้นถูกเจ้าหน้าที่กดขี่เป็นอย่างหนัก หากไม่พอใจก็ใส่ร้ายให้เป็นคดีผิดกฎหมาย โดยจับกุมพาไปยิงทิ้งกลางทาง และใส่ร้ายว่าพยายามหลบหนี และต่อสู้เจ้าหน้าที่...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่เกิดแก่คน ๒-๓ คน แต่เป็นสิบ ๆ คนในทุกอำเภอ...”

ข้อเรียกร้องเจ็ดประการนั้น ขอให้สี่จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ มีผู้ปกครองสูงสุดเป็นคนในพื้นที่, มีข้าราชการเป็นชาวมลายูร้อยละ ๘๐, ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาได้เรียนภาษามลายู, ให้ใช้ภาษามลายูกับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ, ภาษีในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีสิทธิออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนา และการพิจารณาคดีใช้หลักกฎหมายอิสลาม

ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหลังสงครามและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ

โดยหะยีสุหลงได้ส่งหนังสือถึง เติงกูมะห์มูด มุฮัยยิดดิน ตัวแทนชาวมลายูผู้มีอำนาจเข้าเจรจากับรัฐบาลด้วยว่า “ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งต่อรัฐบาลสยาม...แต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับคำตอบใดจากพวกเขา”

หนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมเจ็ดประการถูกส่งถึงรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๙๐ ระหว่างการพิจารณาเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ

Image

“katadua kepada siam พูดครั้งที่ ๒ ต่อสยาม” พาดหัวแท็บลอยด์ อุตุซันมาลายา หนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่อยู่มาจนถึงปัจจุบันของมาเลเซีย ฉบับวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๙๗ หลังหะยีสุหลงหายตัวไป ๔ เดือน เข้าใจว่าเป็นข้อเรียกร้องของคนข้างหลังต่อรัฐไทยให้เร่งจัดการเรื่องการหายสาบสูญของหะยีสุหลง “พูดครั้งที่ ๒” ในที่นี้เป็นสำนวน หมายถึงยื่นคำขาด ซึ่งคนจริงจะไม่พูดครั้งที่ ๓

ทั้งนี้ก่อนจะเสนอ “คำขอเจ็ดประการ” ต่อรัฐบาลนั้น หะยีสุหลงได้ปรึกษาพระยารัตนภักดี ข้าหลวงปัตตานีก่อนแล้ว ตามบันทึกการสนทนาระหว่างหะยีสุหลงกับเจ้าเมืองปัตตานีที่ “ดอกไม้ขาว” นักข่าวหนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์ ได้จากการสัมภาษณ์หะยีสุหลง ซึ่ง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นำมาอ้างไว้ใน “มูลนิธิของคนสาบสูญ, ทะเลสาบสงขลา ๒๔๙๗-ปัตตานี ๒๕๓๗” ว่า “‘จะยื่นดังนี้ได้ไหมครับท่าน’ เจ้าคุณบอก ‘ได้’  ‘ผิดกฎหมายไหมครับ ?’  ท่านเจ้าคุณตอบอีกว่า ‘...ไม่ผิด...’  อาจารย์ฮัจยีสุหลงจึงขอยืมปากกาท่านเจ้าคุณลงนามในเอกสารฉบับนั้นบนโต๊ะอาหารต่อหน้าท่านเจ้าคุณเดี๋ยวนั้น !”

แต่ต่อมาเขาถูกพระยารัตนภักดี ข้าหลวงปัตตานีสั่งจับด้วยข้อหากบฏ

ตามที่เขาบันทึกไว้เองว่า “ผู้กำกับการตำรวจมาที่บ้านข้าพเจ้า พร้อมตำรวจอีกหลายคน เมื่อเวลา ๕ โมงเย็นของวันศุกร์ที่ ๕ เดือนรอบิอุลอาวัล ฮ.ศ. ๑๓๖๗ ตรงกับวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๙๑ โดยได้รับคำสั่งจากพระยารัตนภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้มาจับข้าพเจ้า และตรวจค้นในบ้านของข้าพเจ้า เพราะทำหนังสือร้องเรียนไปยังตนกูมะไฮยิดดิน บิน ตนกูอับดุลกาเดร์ เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง ๗ ข้อ ของราษฎรปัตตานีต่อรัฐบาลไทย”

ประชาชนราว ๓๐๐ คน รวมตัวกันชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี  อัยการเกรงจะเกิดเหตุไม่สงบจึงยื่นคำร้องต่อศาลให้โอนคดีไปพิจารณาที่นครศรีธรรมราช ฐานความผิดสามข้อหา สมคบกันคิดการเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองในราชอาณาจักร ตระเตรียมการกระทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และเตรียมการให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก ถูกตัดสินลงโทษจำคุก ๔ ปี ๘ เดือน

หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางบางขวาง นนทบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๙๕ เขากลับมาสอนศาสนาอยู่ที่ปัตตานี แต่ได้รับคำสั่งจากทางการให้หยุดสอนซึ่งเขาก็หยุดทันที ด้วยเกรงจะสร้างความยุ่งยากเดือดร้อนแก่ตัวเอง ทั้งยังโทรเลขถึงรัฐมนตรีฯ มหาดไทย เมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๙๖ แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทราบ “กระผมเพียงแต่ทำการสอนหลักธรรมศาสนาแก่ทุกคนที่สมัครใจเรียน และไม่เคยไปไหนเลย แม้แต่งานเลี้ยงและงานศพ เพื่อป้องกันมิให้ถูกเพ่งเล็งในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร”

แต่ไม่ถึงปีหลังจากนั้นเขาก็หายตัวไป

เด่น โต๊ะมีนา ลูกชายคนที่ ๓ ของเขาเล่าไว้ในเอกสารของมูลนิธิฮัจยีสุหลงว่า ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๗ บิดาได้รับแจ้งว่า พ.ต.ท บุญเลิศ เลิศปรีชา ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลสงขลา เชิญตัวให้ไปพบ

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๗ หะยีสุหลงพร้อมผู้ติดตาม แวสะแม มูฮัมหมัด  เจ๊ะสาเฮาะ ยูโซ๊ะ และ อะห์มัด โต๊ะมีนา ลูกชายคนโต ออกเดินทางจากปัตตานีไปยังสงขลา จนผ่านไป ๗ วัน ทั้งสี่คนยังไม่กลับบ้าน

หะยีสุหลงเป็นผู้นำมุสลิมภาคใต้ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องนับถือด้วยความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะฟื้นฟูการศึกษาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้และเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของคนมุสลิม

ความเป็นนักการศึกษาและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวมุสลิม ทำให้บ้านของหะยีสุหลงมักเป็นที่ชุมนุมคน ลูกศิษย์ลูกหา จนเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่รัฐยุคชาตินิยม เขาถูกจับติดคุกเมื่อปี ๒๔๙๑ หลังพ้นโทษราว ๒ ปี ถูกตำรวจควบคุมตัวหายไป

ครอบครัวจึงออกตามหา ทราบว่าเมื่อเที่ยงวันศุกร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ทั้งสี่คนมาละหมาดที่มัสยิดหาดใหญ่ สงขลา โดยมีตำรวจพร้อมอาวุธควบคุมอยู่ด้วย

คนในครอบครัวติดตามสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

จนวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน รองปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงเจ๊ะเยาะ ภรรยาของหะยีสุหลงว่า “ตามที่ท่านได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอความกรุณาทราบว่า นายหะยีสุหลง สามีของท่านว่าอยู่ที่ใดเพื่อจะได้หายกังวลใจนั้น เรื่องนี้ตามทางสืบสวนของเจ้าหน้าที่ทราบว่า นายหะยีสุหลงกับพวกอยู่ภายนอกประเทศ จึงแจ้งมาเพื่อทราบ”

แต่ในประวัติย่อของหะยีสุหลงที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิฮัจยีสุหลง กล่าวถึงเขาว่า “ฮัจยีสุหลงถูกฆ่าตายพร้อมลูกชายคนโต วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๗ นายฮัจยีสุหลงกับเพื่อนอีก ๒ คนและนายอาห์หมัด โต๊ะมีนา ลูกชายคนโต (ที่ตั้งครรภ์ที่เมกกะฮ์) เดินทางไปพบตำรวจสันติบาล ที่จังหวัดสงขลา ตามคำสั่งของ พ.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา ซึ่งลูกชายช่วยเป็นล่ามให้เท่านั้น แต่ได้หายสาบสูญไปทั้งหมด  รัฐบาลได้แถลงว่าตำรวจสันติบาลได้ปล่อยตัวแล้วตามบันทึกปล่อยตัวที่เซ็นไว้ (ขณะนั้นฮัจยีสุหลงมีอายุ ๕๙ ปี) ในเวลาต่อมาจึงได้ทราบจากคณะกรรมการสะสางคดีนี้ ซึ่งแต่งตั้งโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีว่า นายฮัจยีสุหลงกับพวก ๒ คนและลูกชายได้ถูกฆ่าตายในวันนั้นเอง โดยรัดคอตายแล้วผ่าศพผูกเสาซีเมนต์ไปทิ้งทะเลสาบสงขลา ต่อมาอดีตรองผู้กำกับตำรวจสันติบาลได้เขียนบันทึกเปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งฆ่านายฮัจยีสุหลงจริง (ดูหนังสือ บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ)”

พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม กล่าวถึงหนังสือ ชัยชนะ และความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย และตัวผู้เขียนไว้ใน “หะยี มูฮัมหมัดสุหลง อับดุลกอเดร์” ว่า “พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้สั่งการผ่าน พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ” โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ “เขียนสารภาพไว้ในหนังสือชื่อ ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย แต่เขียนว่าเหตุที่สั่งฆ่าเพราะหะยีสุหลงเป็นคนชั่ว  คุณเด่น โต๊ะมีนา จึงฟ้อง พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ต่อศาลยุติธรรมฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา  สุดท้าย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ ที่อยู่ในวัยชรามากแล้ว ยอมรับผิดต่อศาล และขอโทษคุณเด่น โต๊ะมีนา”

รวมทั้งต่อมาครอบครัวโต๊ะมีนาก็ได้รับการขอโทษจากลูกหลานจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ด้วย

และกล่าวกันว่ามัสยิดกลางปัตตานีที่สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เพื่อสร้างความปรองดองกับชาวมลายูมุสลิมจากเหตุการณ์สูญหายของหะยีสุหลง
...

Image

เหตุฆาตกรรม
ที่สะพานกอตอ

และการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกชายแดนใต้

การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ตามที่หนังสือพิมพ์สมัยนั้นลงข่าวว่าราว ๒ แสนคน จากเหตุนาวิกโยธินสังหารหมู่ชาวมุสลิม ๕ คน จนนำไปสู่การจับกุม และย้ายฐานทหารออกจากพื้นที่ หลังการชุมนุมกว่า ๔๐ วัน

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย
ฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๙

เหตุฆาตกรรมคนมุสลิมปัตตานีห้าราย เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ เกิดขึ้นในเวลากลางคืน แต่ไม่เป็นความลับดำมืดเงียบหายเหมือนกับหลายกรณี เนื่องจากมีเด็กหนุ่มที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งรอดชีวิต  ต่อมาศูนย์พิทักษ์ประชาชนนำเขามาที่กรุงเทพฯ เพื่อบอกเล่าความจริงต่อประชาชนบนเวทีที่สนามหลวงและเข้าให้ปากคำต่ออธิบดีกรมตำรวจโดยตรง

ตามคำให้การของ สือแม บราเซะ ชาวบ้านบ้านอุแตบือราแง อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี วัย ๑๖ ปี เล่าว่าคืนที่เกิดเหตุเขาเดินทางกลับมาจากเมืองนราธิวาสกับผู้ใหญ่อีก ๕ คน  เมื่อมาถึงด่านหน้าวัดหัวเขา ปัตตานี ที่นาวิกโยธินตั้งฐานอยู่ ถูกชายฉกรรจ์ในชุดเขียวราว ๒๐ คนจับกุม แล้วนำตัวขึ้นรถไปคันละ ๓ คน โดยถูกบังคับให้ก้มหน้าเอามือไพล่หลังตลอดเวลา  เขาเป็นคนแรกที่ถูกแทงหลังด้วยดาบปลายปืน จากนั้นอีก ๕ คนก็โดนเช่นกัน และ ๒ คนถูกจับโยนจากรถแล้วใช้รถเหยียบศีรษะจนแหลก

ทั้งหมดถูกนำมาโยนลงน้ำที่สะพานกอตอ บนถนนหมายเลข ๔๒ ซึ่งทอดข้ามคลองกอตอ ที่แบ่งเขตจังหวัดนราธิวาส-ปัตตานี 

สือแมซึ่งเพียงแค่สลบตอนถูกแทง ฟื้นคืนสติขึ้นมาเกาะเสาสะพานไว้ได้ เมื่อเหล่าชายชุดเขียวกลับไปแล้ว จึงไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านแถวนั้นนำส่งโรงพยาบาล และกลายเป็นพยานปากเอกในเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องแล้วเงียบหาย

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๙

ตามที่ วีรชาติ บุณยศักดิ์ เผยคำสัมภาษณ์คนมุสลิมในพื้นที่หลายราย ในหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๙ ว่า “ความจริงเรื่องชาวมุสลิม ๓ จังหวัดภาคใต้นี้ ไม่ได้ถูกฆ่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ถูกฆ่ามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  ไอ้เรื่องการฆ่าชาวไทย-อิสลามใน ๓ จังหวัดนี้ เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ที่บ้านผมลักษณะบ้านเป็นที่ลุ่ม พอถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมหมู่บ้าน จะเห็นชาวมุสลิมถูกฆ่าตายมาติดเป็นประจำทุก ๆ ปี ผมก็ต้องทำตามหลักศาสนา คือนำไปฝัง”

ช่วงนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุฆาตกรรมถูกเปิดเผยมาถึงองค์กรนิสิตนักศึกษามุสลิมที่กรุงเทพฯ ลงไปนำการประท้วงที่ปัตตานี ในนามศูนย์พิทักษ์ประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๘ เรียกร้องให้ถอนทหารออกไปจากฐานวัดหัวเขา และให้ชดเชยค่าเสียหายแก่ญาติผู้สูญเสีย

สองวันต่อมา มีคนร้ายซึ่งผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมหน้าศาลากลาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๐ คน บาดเจ็บ ๓๐ คน และอีก ๒ รายถูกยิงขณะพูดอยู่บนเวที

การชุมนุมย้ายไปหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มีการเดินขบวนนำศพผู้ตายแห่ไปตามถนน มุ่งไปยังกุโบร์ศพของผู้เสียชีวิตทั้ง ๑๒ รายถูกประกาศเป็นการตายในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า หรือชะฮีด

หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๙ ลงภาพข่าวหน้า ๑ พร้อมคำบรรยายภาพ “ประชาชนหลายจังหวัดประมาณ ๒ แสนคน เดินขบวนประท้วงรัฐบาลที่จังหวัดปัตตานี เมื่อบ่ายวันที่ ๖ มกราคม” ถึงตอนนั้นศูนย์พิทักษ์ประชาชนซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่ม ให้ทางการจับตัวคนร้ายทั้งสองกรณีมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด  ให้ถอนทหารที่มาปราบปรามออกจากสามจังหวัดชายแดนใต้ใน ๗ วัน  ให้ทบทวนนโยบายเกี่ยวกับสี่จังหวัดภาคใต้ใหม่หมด และให้นายกรัฐมนตรีมารับข้อเรียกร้องของประชาชน

กระทั่งวันที่ ๒๔ มกราคม หนังสือพิมพ์ลงข่าวม็อบปัตตานีสลายตัวเป็นข่าวหลักหน้า ๑ ของแทบทุกฉบับ

“เรื่องการฆ่าชาวไทย-อิสลาม ใน ๓ จังหวัดนี้เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ที่บ้านผมลักษณะบ้านเป็นที่ลุ่ม พอถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมหมู่บ้าน จะเห็นชาวมุสลิมถูกฆ่าตายมาติดเป็นประจำทุกๆ ปี ผมก็ต้องทำตามหลักศาสนา คือนำไปฝัง”

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๙ และ ฉบับวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๑๘

“การเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนประชาชน ๓ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งชุมนุมกันที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเป็นแรมเดือน ตกลงกันได้แล้วเมื่อวานนี้ และจะมีการประกาศสลายการชุมนุมวันนี้  ระหว่างเจรจาทหารส่งรถหุ้มเกราะหลายคันล้อมที่ชุมนุม บรรยากาศตึงเครียดจนผู้ชุมนุมคนหนึ่งช็อคตาย” หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย

ขณะที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ระบุถึงการถอนกำลังทหารด้วย “การชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งดำเนินมากว่า ๑ เดือน ได้ยุติลงแล้วเมื่อวานนี้ ภายหลังจากรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วงได้ตกลงกัน  โดยจะให้มีการถอนทหารนาวิกโยธินออกจากภาคใต้”

ส่วนหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งดำเนินคดี “...บุกจับนาวิกโยธินต้นเหตุสังหารหมู่มุสลิมแล้ว ทหารรับตัวเข้าขังในค่าย ผู้บังคับการเขต ๙ เผยจะดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ”

และหนังสือพิมพ์ จตุรัส ฉบับวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๙ ลงข่าวเป็นเหมือนบันทึกการชุมนุมครั้งนี้ “นับเป็นการชุมนุมประชาชนในขนาดเดียวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีที่แล้ว และเป็นการชุมนุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหัวเมือง”

เดือนต่อมา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีกล่าวกับข้าราชการในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่จังหวัดยะลาว่า “...ขอให้ทุกคนยอมรับความจริงว่าเขาไม่ใช่คนไทย... ความหวังที่จะดึงคนมลายูเป็นคนไทยนั้นนโยบายลับ ๆ ของมหาดไทยได้เห็นดังนโยบายผสมกลมกลืนให้เป็นไทยยาก...อย่าบังคับให้เขาเป็นคนไทยส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของเขา รักษาเอกลักษณ์ชนมลายูไว้แต่ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษเหนือคนถือศาสนาพุทธซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้  การดำเนินงานผ่านมาเริ่มต้นก็ผิดแล้ว
คือบอกว่า ‘แขกเป็นไทย’ การให้เขาพูดภาษาไทยจึงยากมาก...”

อย่างไรก็ตามเหตุฆาตกรรมและการชุมนุมใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ได้สร้างความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาวมุสลิมท้องถิ่นกับทางราชการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องลุกลามตามมายังไม่รู้จบ

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๘

Image

ทวงคืน
มัสยิดกรือเซะ

“แต่ก่อนมัสยิดเป็นสิทธิ์กรมศิลป์ เพิ่งเปิดให้ใช้ทำศาสนกิจได้เมื่อปี ๒๕๓๔ หลังประท้วงสำเร็จ  ที่บ้านผมยังมีผ้าคาดหัวมีชื่ออัลลอฮ์อยู่”

ตามคำเล่าของ มูหมัดซอเร่ เดง วัย ๓๘ ปี  บ้านของเขาอยู่ตรงข้ามกับมัสยิด ลึกเข้าไปจากถนนราวห้าหลังคาเรือน  เขาเป็นชาวบ้านกรือเซะดั้งเดิมมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรือเซะอยู่ในความรับรู้ของเขา ทั้งที่เห็นด้วยตัวเองและผ่านคำเล่าขานต่อกันมาเป็นรุ่น ๆ

ตามตำนานปาตานีกล่าวถึงมัสยิดแห่งนี้ว่า สุลต่าน มูซัฟฟาร์ชาห์ที่ปกครองปาตานี ค.ศ. ๑๕๓๐-๑๕๖๔ ให้สร้างมัสยิดตรงหน้าประตูพระราชวัง จึงเรียกว่ามัสยิดปินตูกือบัง

ใน พงศาวดารเมืองปัตตานี ของพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) กล่าวถึงนายช่างหล่อปืนใหญ่ชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ เคี่ยม แซ่หลิม มาได้ภรรยามลายู รับศาสนาอิสลาม จึงถูกเรียกในชื่อใหม่ว่า หลิมโต๊ะเคี่ยม ต่อมาน้องสาวจากเมืองจีนชื่อเก๊าเนี่ยวมาตามให้กลับเมืองจีน พี่ชายไม่ยอมกลับ “เก๊าเนี่ยวซึ่งเป็นน้องมีความเสียใจ หลิมโต๊ะเคี่ยม ผู้พี่ชาย จึงผูกคอตายตำบลกะเสะ ทำเป็นฮ่องสุย ปรากฏอยู่ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้”

ต่อมาพงศาวดารดังกล่าวได้ถูกต่อเติมเรื่องราวให้เกี่ยวข้องกับมัสยิดกรือเซะว่า หลิมโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้สร้างมัสยิดด้วย และก่อนน้องสาวจะผูกคอตายได้แช่งว่ามัสยิดที่พี่ชายสร้างอยู่นั้นจะสร้างไม่เสร็จ  หลังจากนั้นลือกันว่าระหว่างก่อสร้างเกิดฟ้าผ่ามัสยิดสามครั้ง จนสร้างไม่เสร็จตามคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ตำนานเล่าขานได้ถูกหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและมูลนิธิต่าง ๆ ตีพิมพ์เป็นเอกสารเชิญชวนท่องเที่ยวฮวงซุ้ยศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่และมัสยิดที่ถูกสาป เผยแพร่ไปทั่วแหลมมลายูด้วยจุดมุ่งหมายด้านการท่องเที่ยว

“แต่ก่อนการท่องเที่ยวที่ฮวงซุ้ยเจ้าแม่ รถบัสมาวันละเป็นสิบคัน  วันหยุดเสาร์อาทิตย์ไม่ได้ไปไหน  เราจะมาขอเงินนักท่องเที่ยว ได้วันละเยอะเลย” มูหมัดซอเร่เล่าความทรงจำเมื่อยังอยู่ชั้นประถมฯ

จากการศึกษาสืบค้นทางวิชาการในยุคต่อมา มัสยิดไม่ปรากฏร่องรอยการถูกไฟไหม้หรือรอยแตกร้าวจากการถูกฟ้าผ่า ตั้งแต่คาน ผนัง จนถึงฐานราก  ตามข้อสันนิษฐานทางวิชาการสาเหตุที่สร้างไม่เสร็จน่าจะมาจากภาวะสงครามหรือโครงหลังคาที่เป็นโดมทรุดพังเพราะโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว

มัสยิดถูกปล่อยทิ้งร้างจนปี ๒๕๐๐ รัฐบาลมอบหมายให้กรมศิลปากรบูรณะไว้เป็นโบราณสถานของชาติ

ต่อมาปี ๒๕๒๒ มุสลิมกลุ่มชีอะฮ์ไปสร้างมัสยิดของสายนิยมอิหร่านที่ยะลา แล้วขัดแย้งกับกลุ่มวะฮาบีย์ ที่เข้ามามีอิทธิพลในมัสยิด  สรยุทธ สกุลนาสันติศาสน์ หรือหมอดิง แกนนำกลุ่มจึงมองหาสถานที่ใหม่ของกลุ่ม กระทั่งมีผู้แนะนำให้ใช้มัสยิดกรือเซะ  เขาให้สัมภาษณ์หลังพ้นโทษจากเรือนจำข้อหากบฏจากการเป็นแกนประท้วงให้รัฐถอนการขึ้นทะเบียนมัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถาน ซึ่งอารีฟิน บินจิ บันทึกไว้ใน “การชุมนุมประท้วงทวงคืนมัสยิดกรือเซะ” ว่า “มัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นมัสยิดประวัติศาสตร์สำคัญของมุสลิม ทางการได้ติดป้ายประกาศว่าเป็นโบราณสถาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดความรู้สึกของชาวมุสลิม สมควรที่จะไปบูรณะและเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของกลุ่ม”

คำประกาศเจตจำนงทางการเมืองบนแนวกำแพงมัสยิดกรือเซะ เมื่อปี ๒๕๓๓ เป็นความพยายามในการต่อรองเพื่อรักษาเอกลักษณ์บนจุดยืนทางศาสนา

ภาพจากนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

และเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ สรยุทธได้ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการ Deepsouth Bookazine ถึงเรื่องนี้อีกครั้ง

“อย่างเรื่องกรือเซะที่ว่าสร้างไม่ได้เพราะว่าเจ้าแม่สาปไว้นั้นผมอยากพิสูจน์ให้ดู กูจะไปสร้างเอง  ใครคิดว่าจะมาตายไม่ต้องมา ให้ฟ้ามาผ่ากูนี่ ดูซิว่าจริงอย่างเขาว่ามั้ย พอไปดูก็รู้ว่าสร้างไม่ได้ เพราะติดกฎหมายโบราณสถาน ใครฝ่าฝืนก็ติดคุกสองปี  พอเรารู้แล้วก็เลยว่าไม่เกี่ยวกับเจ้าแม่โกวเนี้ยว แต่เกี่ยวกับกฎหมายก็เลยว่าจะสร้างให้ดู ก็ถอนออกมาสิ จะได้สร้างใหม่เพื่อลบล้างคำสาป  จริง ๆ แล้วไม่เกี่ยว เพราะมันเกิดจากการรบราสมัยก่อน แล้วมันก็พังไป  แต่ทางการท่องเที่ยวต้องการที่จะหาประโยชน์ เพื่อบูมเจ้าแม่ แล้วเอาคนจีนมาเที่ยว...”

หมอดิงกับพวกจึงเริ่มทำกิจกรรมดื้อแพ่งโดยเข้าไปละหมาดทุกวันศุกร์ มีคุตบะห์ หรือการบรรยายธรรม และมีการชุมนุมตามวาระวันสำคัญ ๆ ในมัสยิด  จัดพูดคุยปราศรัยและแจกจ่ายเอกสารประวัติมัสยิดและประวัติศาสตร์ปาตานี ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากการกระทำของภาครัฐ ตลอดจนแนวคิดการรับใช้สังคมตามแนวทางของมุสลิม

“...ตรงนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นสุเหร่าโบราณ แล้วทำไมจะซ่อมไม่ได้  พอสร้างแล้วจะจับเราเข้าคุก ที่ผิดก็กฎหมายลูก แล้วกฎหมายแม่ให้เรา แล้วทำไมกฎหมายลูกมาดันกฎหมายแม่ได้ เราก็ชี้ให้คนเข้าใจ”

กระทั่งมีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐถอนการขึ้นทะเบียนมัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถาน ให้คืนกลับชุมชนได้ใช้ประกอบศาสนกิจ โดยมีนักการศาสนาและครูสอนศาสนาอิสลามมาร่วมด้วยจำนวนมาก แต่ไม่มีคำตอบจากทางการ

จากเดือนตุลาคม ๒๕๓๒ มีประชาชนจากที่ต่าง ๆ ในสามจังหวัดมาร่วมชุมนุมและฟังปราศรัยตอนกลางคืนจำนวนมากขึ้นเรื่อย จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๓๓ เหตุการณ์การชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะสุกงอม หลังมีคนเข้ามาแจกใบปลิวต่อต้าน จนเกิดชุลมุนกับผู้ชุมนุม นายตำรวจที่เข้าห้ามปรามถูกผู้ชุมนุมทำร้ายได้รับบาดเจ็บกลายเป็นมูลเหตุให้ทางการเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายสลายการชุมนุม

กระทั่งในคืนวันที่ ๓ มิถุนายน ก็กลายเป็นคืนสุดท้ายของการชุมนุม  ตามคำเล่าของหมอดิงว่า เขาประกาศถึงสามครั้งให้ประชาชนที่เป็นสตรี เด็ก และผู้ที่กลัวความตายออกจากที่ชุมนุม แต่กลับมีผู้เข้ามาร่วมชุมนุมมากขึ้น จนถึงราว ๑ แสนคน และไม่มีผู้ใดออกจากที่ชุมนุม

และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาในที่ชุมนุม

จนการปราศรัยจบลงตอนเที่ยงคืนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาประชาชนก็แยกย้ายกันกลับ บ้างนั่งรถบ้างเดินผ่านเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่รอบรัศมี ๒ กิโลเมตร โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น

แต่หมอดิงกับพวกที่เป็นแกนนำรวมแปดคนถูกตั้งข้อหากบฏจากการเป็นแกนนำชุมนุม และได้หลบหนีไปอยู่ประเทศมาเลเซีย กระทั่งถูกจับกุมส่งตัวกลับมาดำเนินคดีเมื่อปี ๒๕๓๘

ศาลพิพากษาจำคุก ๓๑ ปี แต่ได้รับอภัยโทษหลังถูกคุมขัง ๗ ปี

หลังการชุมนุมเรียกร้องใหญ่ครั้งนั้น ทางการอนุโลมให้ชาวบ้านเข้าใช้มัสยิดโบราณได้ตามสภาพมาตั้งแต่นั้น

แต่เหตุการณ์รุนแรงที่กรือเซะยังเกิดตามมาอีกหลายครั้ง
...

Image

ปล้นปืน
ค่ายปิเหล็ง

ไม่ใช่ครั้งแรก และยังไม่เป็นครั้งสุดท้าย

คนสนใจการเมืองคงพอจำได้ วาทะ “โจรกระจอก” ที่นายกรัฐมนตรีเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้วพูดถึงโจรใต้ เป็นการให้ภาพว่าขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงกลุ่มโจร

พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีก็ยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ ๔๓ (พตท. ๔๓) เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕  ตามคำรายงานของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า โจรก่อการร้ายมีจำนวนไม่เกิน ๕๐ คน สามารถปราบปรามได้เด็ดขาดภายใน ๓ เดือน แต่ต้องถอนกำลังทหารบางหน่วยออกจากพื้นที่ ให้บทบาทงานด้านความมั่นคงแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ระบบการบริหารงานราชการจังหวัดแบบบูรณาการ โดยตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ขึ้นเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๗ เป็นองค์กรในลักษณะเดียวกับ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)

นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โยกย้ายข้าราชการฝ่ายปกครองที่เป็นมุสลิมและผู้มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ยาวนานออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่ามีเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลและผู้ก่อเหตุรุนแรง

แต่เหตุร้ายไม่ได้เบาบางลง ตรงกันข้ามกลับยิ่งรุนแรงมากขึ้น

หลังยุบสองหน่วยงานความมั่นคงได้ ๒ เดือน คนร้ายห้าคนใช้รถกระบะบุกสำนักงานอุทยานแห่งชาติบางลาง จังหวัดยะลา ปล้นเอาปืนเอชเค ๑๗ กระบอก ปืนลูกซอง ๖ กระบอก พร้อมกระสุนปืนจำนวนมาก

เดือนต่อมาคนร้ายจำนวนหนึ่งเข้าไปลักเอาปืนลูกซอง ๘ กระบอก ในสำนักงานอุทยานแห่งชาตินํ้าตกซีโป จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕

เดือนเมษายนปีถัดมา ในช่วงเวลาเดียวกับที่เคยเกิด “เหตุการณ์ดุซงญอ” ก็มีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์เมื่อปี ๒๔๙๑

โดยเมื่อเช้าวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๖ ประชาชนราว ๑,๐๐๐ คน รวมตัวกันที่ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และทำร้าย ตชด. สองนายเสียชีวิต เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าเป็นโจรนินจาที่แต่งกายชุดดำเข้ามาเคลื่อนไหวในเวลากลางคืน

ต่อมาวันที่ ๒๘ เมษายน ราวตี ๒ คนร้ายไม่ต่ำกว่า ๑๕ คน โจมตีฐานปฏิบัติการหน่วยทักษิณพัฒนาที่ ๑๒ (นาวิกโยธิน) จังหวัดนราธิวาส สังหารทหาร ๕ นาย ปล้นปืนไป ๑๔ กระบอก

และในช่วงเวลาเดียวกัน คนร้ายอีกกลุ่มเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการหน่วยทักษิณพัฒนาที่ ๕ จังหวัดยะลา ปล้นปืนเอ็ม ๑๖ จำนวน ๑๗ กระบอก  เครื่องยิงเอ็ม ๒๐๓ จำนวน ๒ กระบอก 

ต่อมาวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ราว ๖ โมงเย็น คนร้ายราวห้าคนโจมตีฐานปฏิบัติการอาสาสมัครรักษาดินแดน ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส สังหารเจ้าหน้าที่หนึ่งคน ปล้นปืนเอชเคไปสี่กระบอก

ฯลฯ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งตำรวจรุ่นใหม่ที่นายกรัฐมนตรีให้สมญาว่าตำรวจฟาสต์แทร็กลงมาร่วมสืบสวนสอบสวนในพื้นที่

“ตำรวจจากนอกหน่วยที่ขาดประสบการณ์ ข่าวสาร ข้อมูลพื้นฐาน ความรู้ทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จึงกระทำการละเมิดต่อกฎหมาย ด้วยการอุ้มผู้คนไปทรมานเพื่อให้ได้พยานหลักฐาน  ฆ่าตัดตอน และฆ่าทำลายศพผู้ต้องสงสัย เกิดขึ้นในพื้นที่จำนวนมาก” เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมา ตามที่ พล.ต.ท. จำรูญ เด่นอุดม บันทึกไว้ใน “การปล้นปืนทหารนำไปสู่การอุ้มฆ่านายสมชาย นีละไพจิตร ทนายมุสลิม และเป็นต้นเหตุของความรุนแรง”

จึงมีการเคลื่อนไหวในหมู่เยาวชนในพื้นที่ที่เรียกตนเองว่าเปอร์มูดอ หรือเยาวชนกู้ชาติ คอยหาทางโต้ตอบเจ้าหน้าที่

ถึงเวลานั้นผู้นำรัฐบาลก็คงเริ่มตระหนักแล้วว่าโจรใต้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะปราบให้ราบคาบได้ใน ๓ เดือนอย่างที่คิด  อย่างไรก็ตามช่วง ๒ ปีที่ผ่านมายังไม่รุนแรงเท่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังวันปีใหม่ ๒๕๔๗

ตามข้อมูลบันทึกที่มีการเผยแพร่ระบุว่า ราวตี ๒ ของวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ คนร้ายที่ร่วมก่อการอาจมี ๕๐-๑๕๐ คน  กลุ่มหนึ่งใช้รถบรรทุกหกล้อราวห้าคัน ขับไปจอดไว้ที่บ้านตาโง๊ะ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส แล้วเดินเท้ามุ่งไปทางค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กองพันพัฒนาที่ ๔ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าค่ายปิเหล็ง

ใช้เวลาราว ๒๐ นาที จู่โจมเข้าสังหารเจ้าหน้าที่ ๔ นาย ปล้นอาวุธปืนไปกว่า ๔๐๐ กระบอก พร้อมกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง ลำเลียงไปขึ้นรถขับหลบหนี  

ถึงตอนนั้นผู้นำรัฐบาลคงเริ่มตระหนักแล้วว่าโจรใต้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่จะปราบให้ราบคาบได้ใน ๓ เดือนอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ ยังไม่รุนแรงเท่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังวันปีใหม่ ๒๕๔๗

Image

แต่นายพลเสนาธิการทหารนายหนึ่งที่ทำงานข่าวอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มา ๒๐ ปี อ้างจากการร่วมสอบสวนผู้ถูกจับกุมว่า การปล้นปืนครั้งนั้นใช้คนถึง ๓๐๐ คนเข้าไปในค่าย แยกย้ายกันขึ้นอาคารตามที่วางแผนการมา ซึ่งแต่ละกองร้อยอาจเหลือทหารอยู่แค่ ๑๐ คนในช่วงปีใหม่ สิบเวรที่ต่อสู้เสียชีวิต ทหารพัฒนาคนน้อย  จากนั้นขนเอาปืนใส่กระสอบ ลำเลียงผ่านสายสลิงลงมา ออกมาแยกเป็นสามสาย ส่งต่อ ๆ  เขาไม่เก็บเป็นคลัง ไปอาเจะห์ตามที่สังคมสงสัย แต่แยกย่อยส่งต่อไปเป็นสิบคน คนท้าย ๆ ไม่รู้ว่ามาจากไหนและจะไปไหน  สุดท้ายไปอยู่ตามหมู่บ้านที่จัดตั้งไว้  หลังเอาปืนไปแล้วมวลชนที่เหลือก็วางเรือใบ เผายาง ตัดต้นไม้  สกัดเส้นทางที่จะไปยังค่ายทหารปิเหล็ง

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คนร้ายอีกกลุ่มได้เผาโรงเรียนในนราธิวาสนับ ๒๐ แห่ง วางเพลิงจุดตรวจตำรวจ ๒ แห่ง วางระเบิดแสวงเครื่องและระเบิดปลอมตามเส้นทางรวม ๑๒ จุด

เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารโด่งดังเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ  ทำให้รัฐยอมรับว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีอยู่จริง ทั้งแถลงด้วยว่ามีการใช้ปืนที่ปล้นมาในการก่อเหตุรุนแรง

จากการสืบสวนปืนที่ถูกปล้นมีการนำไปแจกจ่ายไปใช้ก่อเหตุร้ายรายวันในพื้นที่ มีวิธีรักษาความลับโดยมีคนเดินปืนนำอาวุธส่งมอบและรับคืนตามจุดนัด ทำให้สมาชิกไม่รู้จักกัน เมื่อถูกจับกุมก็ไม่สามารถสาวถึงตัวผู้บงการ

ช่วงแรกของการสอบสวนพุ่งเป้าไปที่ทหารเกณฑ์ ๕๑ นายที่เพิ่งปลดประจำการ ขยายผลไปสู่การจับกุม ๘ อุสตาซ หรือครูสอนศาสนา โดยส่วนใหญ่สอนอยู่ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม BRN  ผู้บงการปล้นปืนและก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งจับกุมกำนันตำบลโต๊ะเด็ง ซึ่งซัดทอดถึงนักการเมืองระดับชาติอีกสามคนว่าอยู่เบื้องหลังการปล้นปืน แต่เขากลับคำให้การในชั้นศาลโดยอ้างว่าต้องยอมพูดตามที่ตำรวจบังคับเนื่องจากถูกซ้อมทรมาน

ผู้ถูกออกหมายจับอีกสองคนเป็นแกนนำของขบวนการ BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู ปัตตานี (มลายู : Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) คือ มะแซ อูเซ็ง เจ้าของแผน “บันไดเจ็ดขั้น” เพื่อการแบ่งแยกดินแดนจากประเทศไทย กับ สะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนนำสูงสุดของขบวนการ แต่ปัจจุบันทั้งคู่ได้เสียชีวิตแล้วในต่างแดน เมื่อปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐

นอกจากนี้ยังมีการลักพาตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการปล้นปืนไปสอบสวนทรมานอีกหลายราย ทั้งนักศึกษา ครูสอนศาสนา ราษฎรในพื้นที่ บางรายถูกทำร้ายถึงเสียชีวิต และบางรายสูญหายไม่พบแม้ศพ

ช่วง ๒-๓ เดือนหลังเหตุการณ์มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกเก้าคนไปสอบสวนจนผู้ต้องหารับสารภาพ มีการทำแผนประทุษกรรมออกข่าวทางโทรทัศน์เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศว่าจับคนร้ายปล้นปืนได้แล้ว ผู้ต้องหาถูกนำไปสอบสวนต่อที่กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพฯ

เมื่อได้พบกับ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมที่ได้รับการติดต่อให้มาว่าความให้กับผู้ต้องสงสัยกลุ่มนี้ พวกเขาเล่าว่าถูกตำรวจที่จับกุมทรมานทำร้ายร่างกายจนต้องยอมรับสารภาพ  ทนายทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังที่ห้องควบคุมตัวของตำรวจกองปราบฯ แต่ให้ฝากขังในเรือนจำดังคดีอาญาทั่วไป ซึ่งศาลรับคำร้อง

ขณะที่การคลี่คลายความจริงในเหตุการณ์ยังไม่เป็นที่ชัดแจ้ง หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ มีการตั้งข้อสงสัยกันว่า ปืน ๔๑๗ กระบอกที่ถูกปล้นไปจากค่ายปิเหล็งอาจเป็นการกระทำของทหารเองเพื่อนำอาวุธไปขายที่อาเจะฮ์ หรือเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องอาวุธที่หายไปก่อนหน้านั้น ต่อมาความจริงค่อยเปิดเผยเมื่อสามารถยึดคืนอาวุธที่คนร้ายนำมาก่อเหตุ

ตามข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถึงปัจจุบันมีปืนถูกปล้นไปนับ ๒,๐๐๐ กระบอก ยึดคืนมาได้ราว ๗๐๐ กระบอก ในจำนวนนี้เป็นปืนที่ถูกปล้นจากค่ายปิเหล็งกว่า ๙๐ กระบอก

คดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ถูกนับว่าเป็นหลักหมายแรกของเหตุการณ์ไฟใต้ในปัจจุบัน  ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังเชื่อด้วยว่าการชุมนุมใหญ่หน้า สภ.อ. ตากใบ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ก็เป็นความต่อเนื่องมาจากกลุ่มขบวนการเดียวกันกับเหตุการณ์ปล้นปืน

และคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็งยังเป็นชนวนเหตุให้ทนายความมุสลิมนักสิทธิมนุษยชนคนสำคัญ ถูกลักพาตัวหายไปยังไม่พบร่องรอยจนปัจจุบัน
...

Image

อุ้มหาย 
สมชาย นีละไพจิตร

ทนายความมุสลิมในคดีปล้นปืน

การหายตัวของทนายสมชายเป็นคดีสำคัญที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศและถึงระดับโลก ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เนื่องจากเขาเป็นทนายให้กับผู้ต้องหาคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง แล้วถูกชายฉกรรจ์ห้าคนจู่โจมล็อกตัวขณะขับรถอยู่บนถนนรามคำแหง
  
ภาพจาก www.amnesty.or.th

“ผมมีความสำนึกในการดำเนินชีวิตมาตลอดว่าต้องเป็นทนายความมุสลิมที่ดีให้ได้ แต่ผมไม่เคยได้เห็น...รูปแบบหรือบุคคลที่ประกอบอาชีพนี้เป็นแบบอย่างให้เห็นเลยโดยเฉพาะคนที่เป็นมุสลิม... ผมจึงทึกทักคิดเองถึงรูปแบบในใจของผม ว่าต้องปฏิบัติตนอยู่ในหนทางของอิสลามโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ต้องได้รับความสำเร็จ และในการดำเนินชีวิตในวิชาชีพทางกฎหมายนั้น อีกส่วนหนึ่งต้องทำเพื่อตนเองและครอบครัว ส่วนหนึ่งต้องทำเพื่อเอื้อเฟื้อต่อสังคมมุสลิม”

ทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เล่าเจตนารมณ์ของเขาไว้ก่อนถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ และยังไม่พบร่องรอยจนบัดนี้

ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เมื่อผู้ต้องหาคดีปล้นปืนถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ เขาได้รับการติดต่อให้ช่วยเป็นทนายจำเลยในคดีนี้

“ให้คนที่เป็นจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงในศาล” ตามที่ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย พูดถึงงานของสามีในคดีความมั่นคงทางภาคใต้

เมื่อได้พบกับผู้ต้องหา ทนายสมชายได้รับข้อมูลว่าพวกเขาถูกตำรวจซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายจนต้องยอมรับสารภาพ

ทนายสมชายจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ นำไปสู่การสืบสวนข้อเท็จจริงและกลายเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชน

Image

ภาพจาก Amnesty International Thailand

แล้วในช่วงค่ำวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ ระหว่างทนายสมชายขับรถอยู่บนถนนรามคำแหง จะกลับบ้านย่านถนนอิสรภาพ ถูกชายฉกรรจ์ห้าคนล็อกตัวนำไปขึ้นรถยนต์อีกคัน ส่วนรถของเขาถูกคนร้ายอีกคนขับไปจอดทิ้งไว้แถวหมอชิต

การสืบสวนของตำรวจนครบาลต่อมามีการออกหมายจับและจับกุมตำรวจกองปราบฯ และหน่วยอื่นรวมห้านาย แต่การสอบสวนฟ้องร้องคดีขาดความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง  ในที่สุดศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ เพียงคนเดียว จำเลยคนอื่นยกฟ้อง

ส่วนการติดตามหาตัวหรือศพของทนายสมชายยังไม่พบร่องรอยใด ๆ

การหายตัวของทนายสมชายเป็นคดีสำคัญที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศและถึงระดับโลก ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

แม้แต่นักกฎหมายที่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐยังไม่รอดพ้นจากการถูกละเมิดด้วยความรุนแรงนอกระบบ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุการณ์นี้จะยิ่งตอกย้ำความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐของคนมุสลิมลงอีกเพียงใด

ยังไม่นับถึงว่าครอบครัวหนึ่งต้องขาดเสาหลัก ซึ่งจากนั้นมาภาระการเลี้ยงดูลูก ๆ ห้าคนก็ตกอยู่กับภรรยาเพียงคนเดียว

“พูดกับลูก ๆ เสมอว่า เราไม่ต่างจากคนทั่ว ๆ ไปในสังคม บางคนเป็นกรรมกรก่อสร้าง รับค่าแรงรายวัน และต้องเลี้ยงดูครอบครัว เขาก็ต้องซื้ออาหารในตลาดเดียวกับที่เราซื้อ คนเหล่านั้นเขาอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้  เราอาจจะไม่มีเสื้อผ้าสวย ๆ ใส่ เราอาจจะไม่มีเงินทองไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เราก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
...

Image

“เหตุการณ์กรือเซะ”

๑๑ จุด ๑๐๘ ศพ

“ทำไมคนเหล่านั้นจึงลุกขึ้นถือมีดถือพร้าไปสู้กับปืน และตายในที่สุด  ทำไมเขาจึงพากันไปตายทิ้งลูกทิ้งเมีย บางคนลูกห้าคน บางคนเมียกำลังตั้งท้อง บางคนเพิ่งแต่งงานใหม่ไม่กี่วัน”

คำถามจาก โซรยา จามจุรี อาสาสมัครคนหนึ่งในทีมช่วยเหลือเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงชายแดนใต้ รวมทั้ง “เหตุการณ์กรือเซะ” ซึ่งฝ่ายที่ถูกเรียกว่าคนร้าย ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อน โดยใช้มีดดาบบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่พร้อมกัน ๑๑ จุด แล้วถูกเจ้าหน้าที่ยิงโต้ตอบเสียชีวิตรวม ๑๐๘ ศพ ซึ่งทีมอาสาสมัครได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องขาดหัวหน้าครอบครัวไปแบบกะทันหัน  นอกจากที่เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่งถูกจับกุมและได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้

จากการสอบสวนผู้ถูกควบคุมตัวและที่เข้ารายงานตัวต่อทหารและคณะกรรมการอิสระสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๗ สมาชิกประมาณ ๓๐ คน ประชุมกันที่บ้านแกนนำคนหนึ่งที่บ้านควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กำหนดพื้นที่ทำการโจมตี

โดยราว ๒ ปีก่อนหน้านั้นมีครูสอนศาสนาที่จบมาจากมาเลเซียนำเอกสาร “เบอร์ญีฮาด ดี ปาตานี” มาเผยแพร่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ใช้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนตามมัสยิด

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗

เนื้อหาเป็นบทสวดและประวัติความเป็นมาของชนชาติมลายูปาตานี ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ไม่เคยถูกจับกุม จึงไม่มีฐานข้อมูลทางคดีอยู่กับทางการ ได้รับการปลูกฝังสำนึกในความเป็นมลายูที่จะต้องปลดปล่อยเป็นอิสระจากรัฐไทย

มีการฝึกสมาธิ ฝึกความพร้อมด้านร่างกาย และการเรียนวิชาอาคมที่เชื่อว่าสามารถป้องกันตนจากอาวุธร้ายแรงได้

พวกเขาเรียกตัวเองว่าเปอร์มูดอปาตานี หรือเยาวชนกู้ชาติปาตานี ตามข้อมูลว่ามีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน พร้อมต่อสู้ในแนวทางนักรบพระเจ้าที่เรียกว่าญิฮาดหรือจีฮัด

เช้าตรู่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ สมาชิกที่มาเตรียมตัว ปฏิบัติการอยู่ที่มัสยิดกรือเซะ ออกเดินตามถนนมุ่งไปทางทิศเหนือหลังทำละหมาด  ถึงด่านจุดตรวจกรือเซะก็กรูกันเข้าไปในป้อมยาม ใช้มีดดาบบุกเข้าฟันตำรวจห้าหกนายที่อยู่ในป้อมไม่ให้ทันตั้งตัว  เจ้าหน้าที่บางนายใช้ปืนยิงสวนแต่ไม่อาจต้านทาน ต้องพากันวิ่งออกไปในสวนมะพร้าวของชาวบ้านแถวนั้น

หลังการปะทะตำรวจเสียชีวิตคาป้อมหนึ่งนาย ผู้บุกรุกถูกยิงตายหนึ่งราย พวกที่เหลือเก็บเอาอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่สามสี่กระบอก เผาจักรยานยนต์สามสี่คัน แล้วพาพวกที่ถูกยิงบาดเจ็บสามคนกลับไปหลบในมัสยิดกรือเซะ

“บ้านผมอยู่หลังที่ ๕ ถัดเข้าไปจากถนนหน้ามัสยิด เช้านั้นตื่นมาเพราะได้ยินเสียงปืน เหมือนใกล้มาก ดังมากเหมือนเสียงปืนอยู่ข้างหู  ห้องนอนผมอยู่บนชั้น ๒ ผมคลานลงจากเตียงเหมือนเป็นสัญชาตญาณ ออกจากบ้านมาดูหน้าปากซอย ตอนนั้นถนนสาย ๔๒ ปัตตานี-นราธิวาส ยังไม่มีเลนคู่ขนาน แถวนั้นยังเป็นร่องน้ำต่ำกว่าถนน เราหมอบดูอยู่ตรงนั้น พอเสียงปืนสงบมีคนกลุ่มหนึ่งเดินมา แบกคนเจ็บมาด้วย”

มูหมัดซอเร่ เดง ชาวบ้านกรือเซะวัย ๓๘ ปี ที่รู้เห็นอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย

“ชาวบ้านบางส่วนที่มาทำละหมาดในมัสยิดตามปรกติ เล่าว่าพวกที่จะออกปฏิบัติการทำละหมาดเสร็จ เข้าแถวเดินออกไป เขามีแต่มีดกับดาบ  คนในหมู่บ้านละหมาดเสร็จก็ได้ยินเสียงปืน  พอเจ้าหน้าที่ทิ้งป้อมแตกหนี เขาเอาปืนตำรวจกลับมา  หลังจากนั้นเขาใช้ไมค์คุยกับชาวบ้านว่าจะขอที่มั่นตรงนี้ พูดตั้งแต่ ๖ โมงครึ่ง จนฝ่ายรัฐตัดเสียงไป  อธิบายถึงสิ่งที่เขาทำ ว่าวันนี้ปฏิบัติการทั่วสามจังหวัด ขอให้ชาวบ้านถอยออกไป แต่เขาขออยู่ในมัสยิด ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งอยู่ในมัสยิดอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่เมื่อคืน  ชาวบ้านก็วิ่งกรูออกมา ผมกลับเข้าบ้าน ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะยืดยาว คิดว่าก่อนเจ้าหน้าที่มาถึงเขาคงหนีไปก่อน แต่เขาไม่ยอมหนี”

ทหารชุดแรกมาด้วยรถฮัมวี ทันทีที่จอดทางด้านใต้ของมัสยิดก็ถูกยิงเข้าที่ประตูรถ จึงยิงตอบโต้เข้าไปทางมัสยิด

กำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาเพิ่ม เช่นเดียวกับชาวบ้านที่เข้ามามุงดูอยู่รอบมัสยิด  จากคำให้การของแม่ทัพภาค ๔ ต่อคณะกรรมการอิสระฯ ว่าจนถึงช่วงบ่ายเขาได้มอบหมายให้ชุดเจรจาเข้าเจรจาฝ่ายตรงข้ามให้มอบตัว แต่ไม่ทันได้เจรจาพลปืนของกองร้อยปฏิบัติการพิเศษถูกยิงเสียชีวิต

“ความเป็นมลายูมุสลิมที่ดี เขาถือว่าแผ่นดินตรงนี้เป็นแผ่นดินที่ผู้คนเคร่งครัดในศาสนา และรู้สึกว่าทำไม คนในพื้นที่ที่เป็นเหมือนเจ้าของบ้าน กลับกลายเป็นคนต่ำต้อย ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง”

Image

กรือเซะ มัสยิดอายุร่วม ๕๐๐ ปี ผ่านยุคสมัยและเหตุการณ์สำคัญมากี่ครั้ง ก็ยังเป็นศาสนสถาน อันสงบสันติของศาสนิกชนในท้องถิ่น ภาพนี้ถ่ายในคืนหนึ่งของเดือนเราะมะฎอน ฮ.ศ. ๑๔๔๕

รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจึงสั่งการให้ใช้ความเด็ดขาดตามขั้นตอนทางยุทธวิธี เริ่มจากยิงปืนเล็กกล แก๊สน้ำตา ระเบิดสังหาร และยิงด้วยเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี  จากนั้นใช้ชุดจู่โจมเข้ากวาดล้างภายในมัสยิดสองชุด

หัวหน้าชุดจู่โจมกล่าวกับคณะกรรมการอิสระฯ ว่า “ผมตกใจว่าทำไมข้างในมีคนเยอะขนาดนี้ ที่ได้รับข่าวครั้งแรกแค่สี่ห้าคน ชุดของเราได้ยิงเข้าไปจนเสียงโต้ตอบเงียบลง  เราออกมาให้ชุดหลังเข้าตรวจสอบว่าเสียชีวิตหมดหรือไม่ ชุดเราปลอดภัย ชุดสนับสนุนปลอดภัย”

ยอดผู้เสียชีวิตภายในมัสยิดมีทั้งสิ้น ๓๒ ราย

ในวันและเวลาใกล้เคียงกัน นอกจากที่มัสยิดกรือเซะยังมีการก่อเหตุรุนแรงที่ฐานทหารและจุดตรวจตำรวจอีกสองแห่งในจังหวัดปัตตานี  ในพื้นที่จังหวัดยะลาอีกราวหกแห่ง และที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นข่าวสลดใจไปทั่ว เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นนักกีฬาฟุตบอลเยาวชนของท้องถิ่นเกือบทั้งทีม

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เล่าถึงกรณีนี้ว่า “วิสามัญ ๑๙ ศพ นักกีฬาฟุตบอล ที่ร้านอาหารสวยนะ อำเภอสะบ้าย้อย ญาติมาร้องคดีว่า จับเป็นก็ได้ทำไมต้องยิง จำเป็นต้องวิสามัญหรือไม่  เราไปดูที่เกิดเหตุ ดูแผนที่ ดูอะไรทั้งหมดแล้วก็เห็นว่าถ้าจะกดดันให้เขาจำนนยอมวางอาวุธก็สามารถจับได้โดยไม่ต้องวิสามัญ เพราะล้อมไว้หมดแล้ว และทุกศพโดนยิงแบบจ่อหัวทั้งหมด วิถีกระสุนพุ่งลงพื้น ช่วงนั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ลงมาดู สุดท้ายสำนวนการชันสูตรก็ออกมาว่าความตายเกิดขณะเจ้าหน้าที่ทำการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิด ปิดคดี”

“เหตุการณ์กรือเซะ” ที่เกิดในพื้นที่สามจังหวัดเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ วันเดียวกับที่เคยเกิด “เหตุการณ์ดุซงญอ” เมื่อ ๕๖ ปีก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต ๖ นาย ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตรวม ๑๐๘ ราย

คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ โดยเสียงข้างมากเห็นว่า การยุติเหตุการณ์โดยวิธีรุนแรงและอาวุธหนักนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเกินกว่าเหตุ  ต่อมามีการพิจารณาเงินเยียวยาให้กับญาติผู้เสียชีวิตในมัสยิดครอบครัวละ ๒ หมื่นบาท โดยคณะกรรมการผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทำไมคนเหล่านั้นจึงยอมตายถือมีดถือดาบไปสู้กับปืน จากคำถามที่ใครหลายคนตั้งขึ้นมา

โซรยา จามจุรี พบคำตอบบางส่วนจากการลงพื้นที่เยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย ที่ผู้ก่อเหตุเป็นอุสตาซ หรือครูสอนศาสนาคนหนึ่ง

“ข้อมูลจากลูกศิษย์เขาบอกว่า อุสตาซคนนี้ไม่พอใจกับระบบการศึกษาของรัฐไทยที่ไปเปลี่ยนแปลงเยาวชนในท้องถิ่น ทำลายตัวตนของเขา ความเป็นมลายูมุสลิมที่ดี  เขาถือว่าแผ่นดินตรงนี้เป็นแผ่นดินที่ผู้คนเคร่งครัดในศาสนา และเขารู้สึกว่าทำไมคนในพื้นที่ที่เป็นเหมือนเจ้าของบ้านกลับกลายเป็นคนต่ำต้อย ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง ขณะที่คนต่างถิ่นซึ่งเข้ามาภายหลังกลับได้ดิบได้ดี ได้รับการเอื้อประโยชน์ทุกอย่าง”

แต่อาจเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรง ผู้เสียชีวิตในกรณีกรือเซะจึงไม่ได้เงินเยียวยาจากรัฐ และยังถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์ว่านั่นไม่ใช่หนทางที่จะยุติปัญหา

Image

"เหตุการณ์ตากใบ"

การชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
ในประวัติศาสตร์ชายแดนใต้

Image

เหตุการณ์ตอนท้ายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ. ตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้ตอนราวบ่าย ๓ โมง แต่ความสูญเสียครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น ในระหว่างการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปยังค่ายทหาร

ภาพจากศูนย์ข่าวเนชั่น

ช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ คาบเกี่ยวกับเดือนเราะมะฎอน ฮ.ศ. ๑๔๒๕ เดือนที่ ๙ ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งคนมุสลิมจะถือศีลอด แต่ในวันที่ ๑๑ เดือนเราะมะฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ ตุลาคม มีการชุมนุมของคนมุสลิมบริเวณหน้า สภ.อ. ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หกคน ที่ถูกจับกุมข้อหายักยอกปืนลูกซองห้านัดที่ทางการให้ไว้ป้องกันตนเองในชุมชนไปมอบให้โจรใต้แบ่งแยกดินแดน ซึ่งผู้ชุมนุมชี้ว่า ชรบ. ไม่ใช่ผู้ผิด จำนวนผู้ชุมนุมมากถึงราว ๓,๐๐๐ คน และสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นในช่วงบ่าย จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ใช้รถดับเพลิงฉีดใส่ผู้ชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา และยิงปืนให้ผู้ชุมนุมสลายตัว  กระทั่งควบคุมสถานการณ์ได้หลังใช้เวลาราว ๓๐ นาที  ผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต ๖ คน ไปเสียที่โรงพยาบาลอีก ๑ คน ถูกควบคุมตัวราว ๑,๓๐๐ คน ซึ่งถูกลำเลียงด้วยรถบรรทุกทหารราว ๒๔-๒๘ คัน ไปคุมขังที่คุกทหารในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างที่เกิดเหตุ ๑๕๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๕-๖ ชั่วโมง จากปรกติไม่เกิน ๒ ชั่วโมง ทำให้ผู้ชุมนุมที่อ่อนแรงจากการอดอาหารและน้ำมาตลอดวัน ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างสลายการชุมนุม และเหตุสำคัญที่สุดคือถูกมัดมือไพล่หลังให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อนกันบนรถบรรทุก ๓-๗ ชั้น ไม่เท่ากันในแต่ละคัน ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตบนรถ ๗๘ คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงพิการ ๘ คน ขณะที่อีก ๕๙ คน ถูกทางการตั้งข้อหาดำเนินคดี  แต่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้กลายเป็นข่าวสะเทือนใจไปทั่วประเทศและนอกประเทศ ในประเด็นการใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีสมัยต่อมาได้ลงพื้นที่มากล่าวคำขอโทษต่อหน้าตัวแทนชาวมุสลิมชายแดนใต้ ๑,๕๐๐ คน  มีการจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ ๗.๕ ล้านบาท รวมถึงผู้บาดเจ็บและผู้ถูกฟ้องร้องซึ่งต้องสูญเสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน รวมทั้งสิ้นราว ๗๐๐ ล้านบาท  นับเป็นการชดเชยทางแพ่งต่อผู้บริสุทธิ์  แต่ฝ่ายผู้สูญเสียยังอยากได้รับความยุติธรรมในแง่ของการเปิดเผยให้ได้รู้ความจริงทั่วกันว่าใครคือผู้สั่งการให้เกิดการล้มตายครั้งใหญ่ที่สุดนี้ และให้ “เหตุการณ์ตากใบ” ได้รับการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน
...

Image

ตันหยงลิมอถึงครูจูหลิง

ความรุนแรงตอบโต้ที่ต่อเนื่อง

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ครูจูหลิง (เสื้อสีฟ้า) เป็นจิตรกรก่อนสอบบรรจุเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ จังหวัดนราธิวาส ภาพนี้ถ่ายระหว่างเขียนผนังโบสถ์วัดปากบางภูมี ริมทะเลสาบสงขลา

หลังละหมาดค่ำ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๘ คนร้ายรัวปืนเข้าใส่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิตสองคน บาดเจ็บสี่คน เกิดข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อเหตุ

เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุ ชาวบ้านก็มารวมตัวกันจะปิดล้อมด้วยความไม่ไว้วางใจคนของรัฐ ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชนในการรวมตัวกันดูแลป้องกันตนเอง

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยอมถอย แต่นาวิกโยธินสองนายที่ประจำอยู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ตันหยง-ลิมอออกรถไม่ทัน จึงถูกจับตัวไว้

ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าในการเจรจาให้ชาวบ้านปล่อยตัวประกัน ซึ่งยังไม่สำเร็จ  กระทั่งล่วงบ่ายก็พบว่านาวิกโยธินสองนายเสียชีวิตแล้ว จากการถูกทำร้ายร่างกายและมีรอยถูกแทง  คนทั้งหมู่บ้านปิดบ้านเงียบอยู่ในความหวาดกลัว

และในปีนั้นที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้อำนาจสั่งการสูงสุดอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางฝ่ายมองว่าจะทำลายแนวทางสันติวิธีและทำให้เหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น

ต่อมาในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ขณะครูจูหลิง ปงกันมูล กับเพื่อนครู นั่งกินก๋วยเตี๋ยวมื้อเที่ยงอยู่ที่หน้าโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก็มีประกาศเสียงตามสายเป็นภาษามลายู ซึ่งเพื่อนครูได้ยินแล้วต่างตกใจ เนื่องจากเสียงนั้นบอกให้ชาวบ้านมารวมตัวกันจับครูไทยพุทธเป็นตัวประกัน ไว้แลกเปลี่ยนกับผู้ต้องหาสองคนที่ถูกจับข้อหาทำร้ายนาวิกโยธินสองนายเสียชีวิตที่ตันหยงลิมอ ซึ่งมาถูกจับกุมตัวที่บ้านกูจิงลือปะ บ้านของภรรยา

ครูไทยพุทธสองคนถูกจับลากไปตามถนนราว ๔๐๐ เมตร จนถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกูจิงลือปะ ทั้งสองถูกนำตัวเข้าห้องเก็บของ แล้วถูกทุบตีโดยชายฉกรรจ์ปิดคลุมหน้า  กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าช่วยเหลือได้ก็ใช้เวลานาน เนื่องจากการขัดขวางเส้นทางทั้งโดยตะปูเรือใบและใช้ต้นไม้ปิดทาง

ครูจูหลิงได้รับบาดเจ็บหนักตั้งแต่ศีรษะถึงสันหลังเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์กว่า ๗ เดือน ยังไม่รู้สึกตัว และจากโลกไปเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐ ด้วยความสลดสะเทือนใจของคนทั่วประเทศที่เห็นอกเห็นใจและติดตามข่าวส่งกำลังใจ

ทั้งกรณีครูจูหลิงและสองนาวิกโยธินที่ตันหยงลิมอเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็นับว่ารัฐได้ชัยชนะในทางการเมืองกลับมา จากความอดกลั้นในการไม่ใช้ความรุนแรงแต่เลือกแนวทางสันติ แม้ถึงกับต้องสูญเสียชีวิตบุคลากรสำคัญของฝ่ายตน  

scrollable-image