สมองป็อปคอร์น
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
ลองนึกภาพคุณยืนอยู่ข้างเครื่องทำป็อปคอร์นที่เสียงข้าวโพดถูกความร้อนแตกตัว “เป๊าะ ๆ ๆ” จากทั่วสารทิศไม่หยุดหย่อนสัก ๓ นาที
จะเป็นอย่างไรหากในหัวคุณมีเครื่องทำป็อปคอร์นทำงานตลอดเวลา
นักจิตวิทยาเปรียบเทียบสมองที่เต็มไปด้วยความคิด จากเรื่องหนึ่งกระโดดไปอีกเรื่องหนึ่ง กระจัดกระจายไร้ทิศทางว่า ภาวะ “สมองป็อปคอร์น” ที่ยิ่งคิดเยอะ ยิ่งไร้การจดจ่อ นำมาสู่ความเหนื่อยล้า เครียด สับสนกระวนกระวาย หรือซึมเศร้า ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์และคุณภาพชีวิตของคนคนนั้น คนใกล้ชิด หรือเพื่อนร่วมงาน
“จำเลยหลัก” ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะสมองป็อปคอร์นคือโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักออกแบบให้แจ้งเตือนแบบทันทีทันใด มีอัลกอริทึมที่ทำให้คนติดหนึบอยู่กับหน้าจอปัดหน้าจอดูเรื่องแปลกใหม่น่าสนใจอย่างไม่จบสิ้น พาเราดำดิ่งในวังวนข้อมูล กว่าจะรู้ตัวเวลาก็ผ่านไปเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง
งานวิจัยระดับโลกชิ้นหนึ่งสำรวจพบว่า คนอเมริกันใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเฉลี่ย ๗ ชั่วโมง ๓ นาที ซึ่งคนไทยเองก็คงไม่ต่างกัน ขณะนิตยสาร ฟอร์บส์ รายงานว่าปีที่แล้ว (ปี ๒๕๖๖) ผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ ๔.๙ พันล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น ๕.๘๕ พันล้านคนภายในปี ๒๕๗๐ ซึ่งผู้ใช้เหล่านี้ไม่ได้จํากัดอยู่แค่แพลตฟอร์มเดียว แต่ละคนใช้หกถึงเจ็ดแพลตฟอร์มต่อเดือน เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ วอตส์แอปป์ ยูทูบ เป็นต้น
สมองที่ถูกกระตุ้นโดยการแจ้งเตือนและอัลกอริทึมเหล่านี้ มีลักษณะคล้ายกับสมองที่ติดยาเสพติด นั่นคือยิ่งดูยิ่งมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนโดปามีน ที่หลั่งออกมาเมื่อรู้สึกบรรลุเงื่อนไขบางอย่าง เหมือนได้รับรางวัล
เมื่อได้แล้วยิ่งอยากได้อีก ต้องคลิกเข้าไปดูทุกครั้งที่มีการแจ้งเตือน แม้ไม่มีการแจ้งเตือนก็โหยหา อยากดูสิ่งแปลกใหม่และเปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย ๆ หรือไม่ก็กระโดดจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์ม แล้ววนกลับมาที่แพลตฟอร์มเดิม
กลอเรีย มาร์ก นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ผู้เชี่ยวชาญชั้นนําด้านสารสนเทศและเขียนหนังสือ
Attention Span : A Groundbreaking Way to Restore Balance, Happiness, and Productivity พบว่าความสนใจของคนเราลดลงจากเวลาเฉลี่ย ๒.๕ นาทีในปี ๒๕๔๗ เป็น ๗๕ วินาทีในปีถัดมา และเหลือเพียง ๔๗ วินาทีใน ๕-๖ ปีต่อมา ซึ่งหลังจากความสนใจเรื่องนั้น ๆ “หลุด” ไป จะใช้เวลาประมาณ ๒๕ นาทีเพื่อกลับมาที่จุดเดิม
งานวิจัยพบว่าโซเชียลมีเดียไม่เพียง “ปล้น” ความสนใจหรือการจดจ่อไปเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบความรู้สึกนึกคิดของเราด้วย เช่น เราชอบข้อมูลสั้นลง บางคนแทบทนดูคลิปความยาว ๑ นาทีจนจบไม่ได้ นอกจากนี้ข้อมูลที่ล้นเกินยังทำให้เรากลายเป็นผู้บริโภคเชิงรับ กล่าวคือไม่มีความสงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถาม หรือสืบค้นข้อมูลเพิ่ม ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ ความทรงจำ การตัดสินใจ และการควบคุมอารมณ์
งานวิจัยจำนวนมากและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างออกคําเตือนเกี่ยวกับอันตรายของโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิตของคนทุกเพศทุกวัย เช่น รบกวนการนอนหลับ ก่อภาวะซึมเศร้าและความวิตก ที่ใกล้ตัวสุดคือ เมื่อทุ่มเทเวลาให้กับโซเชียลมีเดีย เรามักจัดเวลาเพื่อทำกิจวัตรอื่นอย่างยากลําบาก งานมักเสร็จไม่ทันหรือไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่อาจจัดลําดับความสําคัญได้ พอไม่ได้อยู่หน้าจอก็เบื่อหน่าย กระวนกระวายหรือรู้สึกว่างเปล่า
ดังนั้นสมองแบบป็อปคอร์นจึงส่งผลต่อร่างกายและจิตใจเรามากกว่าที่คิด และการก้าวพ้นจากภาวะนี้ทำได้ด้วยการฝึกความรู้สึกตัว และหากิจวัตรประจำวันทำจนกลายเป็นนิสัยและวินัย
การลดเวลาอยู่หน้าจออิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งท้าทาย กิจกรรมที่สร้างความสงบ เช่น ทําสมาธิ ออกกําลังกายเบาๆ หรือสร้างข้อกำหนดเพื่อให้เกิดวินัย เช่นนอนหลับเป็นเวลา จะช่วยให้ค่อยๆ ลดการเสพติดเทคโนโลยีได้
• ปรับช่วงเวลาการอยู่หน้าจอ เช่น ตั้งเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย ปิดแจ้งเตือนสำหรับแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็น
• กำหนดเขตปลอดโทรศัพท์มือถือ ลองวางโทรศัพท์ห่างจากตัวก่อนเริ่มทำงาน จะทำให้งานมีประสิทธิผลมากขึ้น
• ดีท็อกซ์ดิจิทัล การลดหรือหยุดใช้โทรศัพท์ในวันหยุดจะช่วยให้เราควบคุม ตัดวงจร หรือเป็นอิสระจากความคิดล้นเกินได้
• กำหนดกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เช่น กิน นอน ออกกำลังกาย โดยระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน งดใช้โทรศัพท์มือถือ
• ลองจับเวลาเพื่อวัดระดับความสนใจพื้นฐานของตัวเอง จากนั้นเริ่มทำงานและหยุดเมื่อมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ แล้วดูว่าเราจดจ่อกับการงานได้นานเท่าใด ฝึกขยายระยะเวลาการจดจ่ออย่างต่อเนื่อง
• จดจ่ออยู่กับงานชิ้นเดียว โดยกำหนดเป้าหมาย เช่น จะทำงานชิ้นนี้ ๑ ชั่วโมง หรือทำจนเสร็จ แล้วค่อยเริ่มกิจกรรมอื่น เป็นต้น
• สร้างความสัมพันธ์ในชีวิตจริง เช่น ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนหรือครอบครัว
• การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเครียดและทำให้ออกห่างจากโทรศัพท์มือถือได้