“บทบาทการนำของพระยาพหลฯ
ไม่สามารถประเมินค่าได้”
พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์
นายทหารปืนใหญ่
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ๒๔๗๕
๓ มุมมอง กรณีพระยาพหลฯ
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
“ตอนเขียนหนังสือเรื่อง ๒๔๗๕ : เส้นทางคนแพ้ ผมไม่ค่อยเขียนถึงพระยาพหลฯ เพราะมองว่าท่านไม่ค่อยมีบทบาท แต่พอศึกษาลงลึกมากขึ้น พบว่าบุคคลนี้ได้รับความนับถือจากคนจำนวนมาก ท่านไม่มีอำนาจคุมกำลัง แต่ในยุคที่กองทัพไทยมีขนาดเล็ก นายทหารรู้จักกันเกือบหมด พระยาพหลฯ คือนายทหารที่วางตัวอย่างเที่ยงธรรม ไม่มีอำนาจแต่มีผู้คนมาพูดคุยปรึกษา เมื่อพระยาพหลฯ พูดคนจะฟัง ถ้าใช้คำว่าบารมีอาจจะดูเลื่อนลอยเกินไป ภาษาที่เหมาะสมคือ ‘มีความน่าเชื่อถือ’ ไม่ต่างกับเวลาพ่อบอกลูก ลูกก็จะเชื่อมั่นในตัวของพ่อ เวลาเกิดความขัดแย้งท่านก็วางตัวได้ดี ไม่ได้เข้าข้างใคร จึงเป็นคนที่ยึดเป็นหลักได้
“ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ บทบาทการนำของพระยาพหลฯ ไม่สามารถประเมินค่าได้ ถ้าพระยาพหลฯ เกิดยกเลิก คณะราษฎรก็คงต้องสลายตัว แต่นี่คนในคณะฟังท่าน ประโยคที่เขาพูดกันในยุคนั้นว่า ‘รัฐธรรมนูญคือลูกของพระยาพหลฯ’ ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนว่าคนเชื่อมั่นในตัวพระยาพหลฯ มาก ไม่ว่าทหาร พลเรือน หรือราษฎรทั่วไป
“หลายครั้งที่พระยาพหลฯ น่าจะเป็นคนสำคัญที่ช่วยยุติความขัดแย้งในคณะราษฎร เพราะคนที่เชื่อถือท่านมีทั้งทหารบก ทหารเรือ พลเรือน ผมมองว่าถ้าเราแบ่งคนเป็นกล่อง ๆ กล่องหนึ่งคือคนที่มีอุดมการณ์คณะราษฎร ผมเห็นปรีดี พระยาพหลฯ หลวงอดุลเดชจรัส และขุนศรีศรากรลองคิดว่าถ้าไม่มีพระยาพหลฯ เปรียบเทียบก็คือ เหมือนไม่มีตำรวจคุมซอย อาจจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง คนในซอยตีกัน
“ในช่วงเป็นนายกฯ พระยาพหลฯ มีอำนาจสั่งการแน่นอน ขึ้นกับเราจะหยิบข้อมูลมาดูแบบไหน เพราะผลงานรัฐบาลพระยาพหลฯ ไปกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ที่โดดเด่นคือ กระทรวงมหาดไทยที่ปรีดีจัดระบบการปกครองแบบเทศบาล ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พอไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศก็แก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบเรื่องการศาล ทางด้านกลาโหม หลวงพิบูลฯ จัดหาอาวุธ จัดการระบบกองทัพที่มีปัญหามาตั้งแต่สมัยพระยาทรงฯ ไปรื้อ มีการซื้อเรือรบ ๒๑ ลำ ซื้อเรือดำน้ำ ทั้งหมดนี้พระยาพหลฯ ย่อมต้องอนุมัติ จะเห็นว่าพระยาพหลฯ เป็นผู้นำที่ใจกว้าง ให้คนทำงานทำเต็มที่ แต่พอหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกฯ เราจะเห็นว่าท่านคับแคบกว่า ในข้อเขียนของขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร สมาชิกคณะราษฎร อดีตอธิบดีกรมรถไฟ กรมสรรพสามิต และกรมราชทัณฑ์) และคำให้การของหลวงอดุลเดชจรัส เขียนตรงกันว่าจอมพล ป. เป็นคนขี้อิจฉา เห็นใครมีผลงานมากกว่าก็ไม่ชอบ ต่างกับพระยาพหลฯ มาก
ถ้าไม่มีพระยาพหลฯ เปรียบเทียบก็คือ เหมือนไม่มีตำรวจคุมซอย อาจจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง คนในซอยตีกัน
“ผมเป็นเด็กลพบุรี พ่อก็คนลพบุรี คนลพบุรีรุ่นผมไม่รู้หรอกการเมืองเป็นอย่างไร แต่รู้ว่ามีค่ายพหลโยธิน อีกคนที่รู้จักก็จอมพล ป. มีอนุสาวรีย์ มีวงเวียน มีโรงหนังทหารบก รถราง ที่เป็นผลงานของท่าน จริง ๆ รู้จักจอมพล ป. ในอีกแบบด้วย เพราะตอนนั้นคือปี ๒๔๘๙ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ก่อเรื่องไว้เยอะ สมัยติดยศร้อยตรี ผมเคยอยากเข้าเหล่าทหารม้า (รถถัง) แต่คุณพ่อแนะนำว่าควรเป็นทหารปืนใหญ่ ผมเชื่อพ่อ พอเป็นทหารปืนใหญ่ ผมใช้ชีวิตในค่ายพหลโยธิน ลูกสาวคนแรกก็เกิดที่ค่ายนี้ ตึกที่พักก็อยู่หลังชาโต้และบ้านพักจอมพล ป. สมัยนั้นเรารู้เรื่องนี้แบบตื้น ๆ
“ตอนเข้าเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เราโดนสอนให้เคารพรัชกาลที่ ๕ ผ่านรูปปั้นเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถต้อง
โค้งคำนับ เพราะนี่คือบิดาเสนาธิการทหารไทย แต่ท่านทำอะไรเราไม่รู้เลย ไม่ต่างกับพระยาพหลฯ เราจะตอบได้ว่าท่านสำคัญยังไงก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ จนผมเกษียณอายุราชการแล้วมาค้นคว้าทำงานนี่แหละครับ ถึงรู้มากกว่าที่เห็นในลพบุรี
“ปรากฏการณ์เปลี่ยนชื่อค่ายทหาร ย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ผมมีความรู้สึกแบบเดียวกับตอนเกิดเหตุการณ์ถอนหมุดคณะราษฎร เหตุการณ์อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขนที่ถูกทำให้หายไป คือไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ไม่ทราบเลยว่าใคร สังคมไทยมีจุดอ่อนคือเราไม่รู้ประวัติศาสตร์จริง ๆ เทียบกับสหรัฐอเมริกา เขียนเลยว่าประธานาธิบดีคนแรก จอร์จ วอชิงตัน มีทาสนับร้อย เป็นเจ้าที่ดิน เขามีอีกด้าน ผู้นำที่รู้สึกว่าตนมีอำนาจ วิเศษ สมบูรณ์แบบ ต่างกับผู้นำที่คิดว่าตนคือมนุษย์ที่ได้รับอำนาจจากประชาชนไปนำประเทศ มันต่างกันมาก ผมเคยเขียนในเฟซบุ๊กเตือนใจทหารว่า ‘เกียรติยศคือสิ่งที่ประชาชนมอบให้ แล้วเขาจะเอาคืนจากเราเมื่อใดก็ได้’ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ก็มีความพยายามสร้างประวัติศาสตร์ใหม่จากของเดิมที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทำไว้ ประโยคที่ว่า ‘ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์’ น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้”