Image

อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่โรงงานน้ำตาลไทย อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม EP.03

scoop

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ผู้ถือลิขสิทธิ์
พิชญ์ เยาวภิรมย์ สำเนาภาพต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพ

“นิยมไทย” ยุคแรก

ในแง่เศรษฐกิจ ยุครัฐบาลพระยาพหลฯ เป็น “ระยะเริ่มต้น” ของการวางพื้นฐานเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ที่จะมีแรงส่งไปยังยุครัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงครามฯ

ด้วยหลัง “สมุดปกเหลือง” มีปัญหา รัฐบาลก็เก็บใส่ลิ้นชัก แต่จะไปใช้แผนเศรษฐกิจแบบพระยามโนฯ ก็ไม่ใช่แนวทางที่ควรเป็น รัฐบาลพระยาพหลฯ จึงตัดสินใจใช้แนวชาตินิยม ส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ

ศ. ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ระบุใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมือง ในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ว่า ตอนนั้นนอกจากสมุดปกเหลือง ยังมี “โครงการเศรษฐกิจ” อีกเจ็ดโครงการ และ สาม “ข้อเสนอทั่วไป” ทั้งจากคนในรัฐบาล ผู้แทนราษฎร พ่อค้า นักธุรกิจ ที่ได้รับเสนอมายังรัฐบาลด้วย

แต่ในที่สุดนโยบายที่ถูกนำมาใช้ก็มีลักษณะชาตินิยม ซึ่งส่วนหนึ่งเสนอโดย วนิช ปานะนนท์, มังกร สามเสน, พระยาสุริยานุวัตร, หลวงวิจิตร-วาทการ ฯลฯ ผลักดันผ่านหลวงพิบูลฯ แนวนโยบายของกลุ่มนี้เน้นสนับสนุน “พ่อค้าไทย” (เชื้อสายจีน) ทั้งยังมีข้อเสนอจากพระสารสาสน์พลขันธ์ที่เคารพทรัพย์สินเอกชน แต่เสนอว่ารัฐต้องเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ทุนกับแรงงานมาเจอกันและทำงานได้ด้วย

นโยบายเศรษฐกิจแบบ “นิยมไทย” ปรากฏเป็นรูปธรรมในขอบเขตงานกระทรวงกลาโหมที่หลวงพิบูลฯ คุม เช่น ตั้งแผนกเชื้อเพลิง (ปี ๒๔๗๖/ที่มาของน้ำมันสามทหาร)  สร้างโรงงานฝ้ายสยาม (ปี ๒๔๗๘)  สร้างโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ของกรมแผนที่ (ปี ๒๔๗๙/เพิ่มกำลังการผลิตกระดาษในส่วนของราชการให้เพียงพอ)  สร้างโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง (ปี ๒๔๗๘) ฯลฯ

อาจารย์ศรัญญูระบุว่าหลายเรื่องเป็นความก้าวหน้าสำคัญ เช่นโรงงานกระดาษไทยฯ เพราะ “ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ราชการใช้กระดาษเยอะมาก น่าแปลกที่สยามมีโรงงานกระดาษย่านสามเสนที่กำลังผลิตไม่พอแต่ก็ไม่มีการสร้างเพิ่มเติม” นายพันเอก พระยาพหลฯ ยังกล่าวในวันเปิดโรงงานว่า ต้องการใช้ประโยชน์จากต้นไผ่ที่มีมากในกาญจนบุรี โดยโรงงานนี้จะสร้างงาน บริการน้ำประปา ไฟฟ้า ให้คนกาญจนบุรีด้วยเพราะมีโรงงานผลิตในตัว ซึ่งจะทำการ “จำหน่ายราคาพอควรและให้เปล่า” ทั้งยังเป็นการวางรากฐานอุตสาหกรรมจากหน่วยงานที่คุ้นเคยเรื่องวิศวกรรมที่สุดคือทหาร (กลาโหม)

เมื่อไม่สามารถหยิบ "สมุดปกเหลือง" มาใช้ได้ รัฐบาลคณะราษฎรเลือกที่จะใช้ "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" แทน
และยุคพระยาพหลฯ คือยุคของการเริ่มต้นส่งเสริมกิจการของชาวสยาม

Image

โรงงานน้ำตาลไทย อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ถ่ายในช่วงต้นปี ๒๕๖๗
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image
Image
Image

อาคารโรงงานกระดาษไทย จังหวัดกาญจนบุรี ในปี ๒๕๖๗ (ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์)

สภาพโรงงานผลิตน้ำประปาในโรงงานกระดาษไทย ปี ๒๕๖๗
ตรากระทรวงกลาโหมบนซุ้มประตูโรงงาน

กรณีโรงงานน้ำตาล นายพันเอก พระยาพหลฯ กล่าวว่าเลือกสถานที่ด้วยตนเอง เพื่อ “ให้โรงงานน้ำตาลอยู่ในมือคนไทยแท้ ๆ” ส่งเสริมการนำผลผลิตอ้อยในประเทศมาใช้โดยมุ่งให้คนไทยในแหล่งที่เพาะปลูกอ้อยได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการแปรรูปเพิ่มมูลค่า โดยโรงงานเริ่มหีบอ้อยในเดือนธันวาคม ๒๔๘๐ และต่อมายังขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย

ยังปรากฏข้อมูลว่า พระยาพหลฯ ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ โดยให้องค์การเหมืองแร่ดำเนินการขุดแร่วุลแฟรมที่ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังมีคำบอกเล่าจากท่านผู้หญิงบุญหลงว่า ครั้งหนึ่งให้เจ้าหน้าที่สำรวจคอคอดกระเพื่อขุดคลองคล้ายปานามา แต่ในที่สุดก็ต้องล้มเลิกไปเพราะอังกฤษเข้ามากดดันและไม่รับประกันความมั่นคงของดินแดนใต้คลอง

การวางแนวนโยบายลักษณะนี้คือจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ที่จะเดินหน้าเต็มรูปแบบในยุครัฐบาลหลวงพิบูลฯ ด้วยนายพันเอกพระยาพหลฯ เชื่อว่า “ชีวิตของชาติก็มีสภาพเช่นเดียวกับชีวิตของบุคคล...จะเจริญได้ก็ด้วยอาศัยความมั่งคั่งสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ แห่งชาติ ซึ่งได้แก่ราษฎรทั่วไป...”

Image

สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี
ในสมุด “เตือนใจเพื่อน” ปี ๒๔๗๗
(ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ)

"ชีวิตของชาติก็เช่นเดียวกับสภาพชีวิตของบุคคล...เจริญได้ก็ด้วยอาศัยความมั่งคั่งและสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ แห่งชาติ ซึ่งได้แก่ราษฎรทั่วไป"

ถ่ายในพิธีเกี่ยวข้าวของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการกสิกรรมที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และอำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร

เชษฐบุรุษ
ทูตพิเศษ

ในที่สุด ปลายปี ๒๔๘๑ นายพันเอก พระยาพหลฯ ก็วางมือจากตำแหน่งนายกฯ

ต้นเรื่องมาจาก ถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เสนอแก้ไขข้อบังคับประชุมสภาข้อ ๖๗ จะกำหนดให้เมื่อรัฐบาลเสนอ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี ต้องเสนอรายละเอียด แสดงหลักคำนวณภาษีอากร สถิติ จำนวนคน ฯลฯ ให้ทราบด้วยในการรับหลักการวาระแรก แทนที่จะทำโดยย่อ

พระยาพหลฯ อภิปรายว่าไม่มีรัฐบาลประเทศใดทำได้ “ถ้าสภาขืนลงมติให้รับไป และเมื่อรัฐบาลทำไม่ได้ ก็ย่อมหมายความว่าไม่มีความสามารถ ซึ่งรัฐบาลจำจะต้องลาออก” โดยในมุมรัฐบาล เรื่องที่เสนอมาจะทำได้ในชั้นกรรมาธิการในขั้นตอนถัดไป แต่ก็แพ้มติไป ๔๕ ต่อ ๓๑

๑๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๑ กันยายน พระยาพหลฯ ตัดสินใจ “ยุบสภา” หลังถูกผู้สำเร็จราชการฯ คัดค้านการลาออก เนื่องจากสถานการณ์ต่างประเทศไม่น่าวางใจ (ระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒) อีกทั้งรัชกาลที่ ๘ จะเสด็จนิวัตเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในเดือนธันวาคม จึงควรมีนายกฯ และรัฐบาลรักษาการ ซึ่งทำงานได้ดีกว่าในกรณีนายกฯ ลาออกแล้วเกิดภาวะสุญญากาศ โดยการยุบสภาครั้งนี้กำหนดให้เลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน

แถลงการณ์ชี้แจงเหตุที่ต้องยุบสภาของรัฐบาลมีเนื้อหาคือ หากทำตามข้อบังคับใหม่ เอกสารงบประมาณจะหนากว่า ๗๐๐ หน้า บางเรื่องก็เป็นความลับ เช่นหลักคำนวณ หากเปิดเผยต่างชาติก็จะทราบ “นำความเสียหายมาให้แก่ประเทศ” จึงควรจัดเลือกตั้งให้มีสภาชุดใหม่ที่ทำงานกับรัฐบาลได้ดีกว่า

Image

ทูตพิเศษของรัฐบาลไทยไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ

หลังเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน พระยาพหลฯ ก็แจ้งที่ประชุมแกนนำคณะราษฎรว่าจะไม่รับตำแหน่งอีก และแถลงทางวิทยุในวันที่ ๑๖ ธันวาคมว่า ตนวางมือเนื่องจากสุขภาพ
ทรุดโทรมและ “ใคร่จะแสดงวิถีรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเข้าใจว่า การผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการธรรมดาตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” โดยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนนายกฯ คนใหม่คือหลวงพิบูลฯ เต็มที่

งานสุดท้ายของนายพันเอก พระยาพหลฯ นายกฯ รักษาการคือ รับเสด็จรัชกาลที่ ๘ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เขาถวายพระพรว่าทรงเป็น “องค์ประมุขของปวงชนชาวสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ”

อาจารย์ศรัญญูอธิบายว่า ที่พระยาพหลฯ ตัดสินใจเช่นนั้นเนื่องจาก “ระบอบใหม่ลงหลักปักฐานได้แล้ว งานหลายอย่างเป็นรูปร่าง แนวโน้มนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๗๙ ที่มีพิธีวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บางเขน แปลว่าคณะราษฎรเริ่มมองย้อนกลับว่าผ่านอะไรมาบ้าง” ส่วนที่ต้องเป็นหลวงพิบูลฯ เพราะเป็น “คนเดียวที่น่าจะพิทักษ์ระบอบใหม่ได้ มีบารมีพอเป็นนายกฯ ส่วนหลวงประดิษฐ์ฯ แม้เด่นด้านการเมืองก็ไม่เท่า แต่ทั้งสองก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในห้วงเวลานั้นด้วย”

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกฯ คณะผู้สำเร็จฯ ก็ประกาศให้พระยาพหลฯ อาศัยอยู่วังปารุสก์ได้ตลอดชีพเพื่อ “เหมาะสมแก่ฐานะที่เป็นรัฐบุรุษผู้ใหญ่”

นับแต่นั้นสาธารณชนก็เรียกนายพันเอกพระยาพหลฯ อดีตนายกฯ ว่า “เชษฐบุรุษ”

Image

พระพุทธรูปองค์หนึ่งบนระเบียงวิหารของวัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน บรรจุอัฐิของพระยาพหลฯ ไว้
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

พระยาพหลฯ คงเหลือเพียงตำแหน่ง สส. ประเภท ๒ (แต่งตั้ง) และตำแหน่งจเรทหารทั่วไป โดยในปี ๒๔๘๒ ได้รับการเลื่อนยศทหารเป็นพลตรี และกลางปี ๒๔๘๔ พระยาพหลฯ วัย ๕๓ ปี ก็ตัดสินใจบวชที่ “วัดพระศรีมหาธาตุ” บางเขน ซึ่งเขาเป็นผู้ผลักดันให้รัฐบาลหลวงพิบูลฯ สร้างในบริเวณที่เคยเป็นสมรภูมิรบกับกบฏบวรเดช โดยมีพระสงฆ์สองนิกายมาร่วมพิธี เป็นการแสดงเจตนาปฏิรูปศาสนา หาทางรวมธรรมยุติกับมหานิกายเข้าด้วยกัน หลังแยกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

“พระภิกษุพหลโยธี” เลือกไปจำพรรษาที่วัดเบญจมบพิตร ๑ พรรษา

ช่วง ๓ เดือนที่เป็นพระ  ภิกษุพหลโยธียังออกข้อสอบให้พระนวกะ (พระบวชใหม่) เทศนาธรรมอบรมนักเรียนนายร้อยทหารบกหลายชุด เมื่อสึกก็กลับเป็น สส. ประเภท ๒ และทำงานในฐานะจเรทหารทั่วไป

ผมพบว่าปลายปี ๒๔๘๔ ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและรัฐบาลจอมพล ป. ยอมให้เดินทัพผ่าน ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวพระยาพหลฯ จนช่วงต้นปี ๒๔๘๕ พระยาพหลฯ จึงมีตำแหน่ง “ที่ปรึกษาทหารสูงสุด” ภายหลังไทยเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว

ท่าทีพระยาพหลฯ ต่อการที่ไทยเข้ากับญี่ปุ่น เห็นได้จากบันทึกของ จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรี จอมพล ป. ที่ว่า “รัฐบาล (จอมพล ป.) ได้รับการสนับสนุนจากท่าน (พระยาพหลฯ)...อธิบายว่า รัฐบาลนั้นได้ทำถูกแล้วในการที่ต้องยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่าน...เพื่อชาติไทยจะอยู่รอดและได้ดำรงความเป็นเอกราชของชาติไว้”

เมษายน-พฤษภาคม ๒๔๘๕ พลตรี พระยาพหลฯ รับเป็นหัวหน้าคณะทูตฉลองกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นแทนจอมพล ป. เป็นช่วงเดียวกับที่หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์) ที่ขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จฯ ก่อตั้งเสรีไทยในประเทศ ส่วนนอกประเทศ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก่อตั้งเสรีไทยในสหรัฐฯ เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลจอมพล ป. ที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่น

พันตรีพุทธินาถเล่าชีวิตในวังปารุสก์ช่วงนี้ว่า “ค่ำ ๆ หลังรับประทานอาหารกันเสร็จ...คุณพ่อกับคุณแม่จะให้ลูก ๆ มานั่งที่โซฟาซึ่งอยู่ที่มุขเป็นห้องโถง...คุณพ่อจะนุ่งกางเกงแพรสวมเสื้อป่าน คุณแม่จะสวมผ้าถุงกับเสื้อผ้าลูกไม้ บางทีคุณพ่อก็อุ้มผมนั่งตักไปด้วยในเวลาที่คุยกับคุณแม่และพี่ ๆ คุณพ่อจะเรียกคุณแม่ว่า ‘ยาย’...แม่จะเรียกคุณพ่อว่า ‘เจ้าคุณพี่’...คุณพ่อชอบฟังละครย่อยของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย...ถึงบทขำคุณพ่อหัวเราะเสียงดังลั่นตึกโดยไม่มีการเก็บเสียง”

การบวชของพระยาพหลฯ คือหนึ่งในกุศโลบายการ "หลอมนิกาย" ระหว่างธรรมยุติกับมหานิกายของคณะราษฎร แต่ภารกิจนี้ไม่สำเร็จ

พระยาพหลฯ ขณะอุปสมบท
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ

Image
Image

นอกจากนี้ยังมักมีอารมณ์ขัน แกล้งทหารยามที่ยืนหลับด้วยการ “หาเชือกผูกตะขอโรยลงไปเกี่ยวหมวกเหล็กที่ทหารยามผู้นั้นสวมอยู่ แล้วดึงขึ้นอย่างเร็ว ทหารยามคนนั้นตกใจร้องตะโกนว่าผีหลอกทิ้งปืนวิ่งหนี โดยคุณพ่อจะหัวเราะลั่นตึกแต่ไม่ได้ลงโทษอะไร”

ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๔๘๕ พระยาพหลฯ ยังพายเรือพาลูก ๆ ไปเที่ยวไกลจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พันตรีพุทธินาถจำได้ว่าตอนนี้วังปารุสก์ไม่ใช่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว และปรกติบิดามักนั่งรถยนต์ของราชการยี่ห้อ FIAT ที่สตาร์ตเครื่องด้วยการหมุนคันหมุนที่หน้ารถ มีนายทหารเป็นพลขับไปทำงานเสมอ

ต่อมาเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดหนักขึ้น ท่านผู้หญิงบุญหลงและลูก ๆ ก็ต้องลงไปในหลุมหลบระเบิดติดกับกำแพงด้านถนนราชดำเนินนอก ในที่สุด พลตรี พระยาพหลฯ ก็ส่งครอบครัวไปอยู่ที่จวนข้าหลวงประจำจังหวัดสมุทรสาคร โดยจะไปเยี่ยมเฉพาะในวันสุดสัปดาห์

“แม่ทัพใหญ่”
บนเตียงคนไข้

เมื่อสงครามใกล้ยุติ พระยาพหลฯ ก็เริ่มป่วยปีใหม่ ๒๔๘๘ พระยาพหลฯ บอกผู้แทนหนังสือพิมพ์ ประชาชาติว่า “ประสาทของผมไม่ปกติ คือยังรู้สึกตัวว่าไม่สบาย” แต่ก็ยังเล่าว่า ได้ขอรัฐบาล ถ้าจะให้ไปเปิดงานหรือเผยแพร่รัฐธรรมนูญก็ “ยินดีและเต็มใจทั้งนั้น” ไม่ว่าหนทางจะไกลเพียงใด

ช่วงนี้เขาได้เลื่อนยศเป็นพลเอก และด้วยความที่ยึดวินัยทหารเคร่งครัด จึงทำหนังสือถึง จอมพล ป. ว่า “ขออภัยในการที่รายงานด้วยตนเองไม่ได้ เนื่องจากมีอาการป่วย แพทย์สั่งห้ามการออกกำลังกายและให้พักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ” ทั้งยังมีเรื่องเล่าว่าพลเอก พระยาพหลฯ ปฏิบัติเช่นนี้เป็นนิจศีล บางครั้งรถจอมพล ป. วิ่งผ่าน ท่านอยู่ริมทาง พลเอก พระยาพหลฯ ก็ยืนทำความเคารพอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุว่า “ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา”

พันตรีพุทธินาถเล่าว่าบิดาได้รับความเคารพจากทุกฝ่าย เช่น กองทัพญี่ปุ่นได้จัดอาหารกลางวันให้ทุกวันโดยส่งคนนำมาให้ถึงวังปารุสก์ ขณะที่นอกประเทศญี่ปุ่นกำลังแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรเกือบทุกแนวรบ

ถึงตอนนี้คณะราษฎรสายพลเรือนที่นำโดยหลวงประดิษฐ์ฯ ใช้กระบวนการในสภาล้มร่างพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ และร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ. ๒๔๘๗ ลงได้ ส่งผลให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

Image

ตึกทหาร วังปารุสกวัน ในปี ๒๕๖๗
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

แม้ลงจากตำแหน่งนายกฯ พระยาพหลฯ ก็ยังคงเป็นที่พึ่งสุดท้ายเสมอมา เมื่อภายในคณะราษฎรมีปัญหากันอย่างรุนแรง

ปัญหาที่ตามมาคือ จอมพล ป. ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไปเก็บตัวอยู่ในค่ายทหารที่ลพบุรีจนสร้างความหวั่นเกรงให้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพันตรี หลวงโกวิทย์อภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ด้วยอาจเกิดรัฐประหารได้ทุกเมื่อ ยังไม่นับกองทัพญี่ปุ่นที่อาจจะเข้ามาแทรกแซง

นายกฯ ควงจึงยุบตำแหน่ง ผบ.สส. และขอให้พลเอก พระยาพหลฯ เป็นทั้งรัฐมนตรีลอยและรับตำแหน่ง “แม่ทัพใหญ่” มีอำนาจคุมกำลังทหารทั้งหมด โดยสั่งตั้งในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๘๗

ทั้งที่ป่วย พลเอก พระยาพหลฯ จึงมีคำสั่งในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ว่าที่เข้ารับตำแหน่ง “ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้าเคลือบแฝง มิได้เห็นอะไรอื่นดียิ่งไปกว่าความเป็นเอกราชและสวัสดิภาพของชาติไทย” ขอให้ทหารทั้งหมดฟังคำสั่ง รักษาวินัยไม่ก่อความไม่สงบ ห้ามเคลื่อนย้ายกำลัง

ก็เพราะเป็น “พระยาพหลฯ” จึงทำให้จอมพล ป.ยอมรับ “แม่ทัพใหญ่” ภายหลังยังแถลงกับหนังสือพิมพ์หลังนายกฯ ควงไปพบว่า นายควงก็เป็น “น้องชายที่รักของฉัน” (๑๓ สิงหาคม ๒๔๘๗) และยินดีสนับสนุนรัฐบาลใหม่ พันตรีพุทธินาถเล่าว่า เมื่อนายกฯ ควงที่มาเยี่ยมบิดาที่วังปารุสก์ ก็บ่นให้เขา (ซึ่งเป็นเด็ก) ฟังเป็นเรื่องสนุกสนานว่า “ตาแปลกมันแกล้งอา ให้อาไปพบมันที่ลพบุรี เพราะอาเป็นพันตรี มันเป็นจอมพล”

กุหลาบเขียนใน สุภาพบุรุษ (๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐) ว่า จริง ๆ มีการเสนอให้พลเอก พระยาพหลฯ รับตำแหน่งนายกฯ เสียด้วยซ้ำ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ เพราะนอกจากป่วย อีกส่วนคือได้ลั่นวาจาตอนลงจากตำแหน่งในปี ๒๔๘๑ กับหลวงพิบูลฯ ว่า “สละตำแหน่งนั้นโดยเด็ดขาดและโดยเต็มใจ ฉะนั้น ขอคุณหลวงพิบูลอย่ามีกังวลว่า ผมจะกลับมาครองตำแหน่งนั้นอีก” ซึ่งถ้ารับเป็นอีก “วาจาของผมก็จะไม่เป็นวาจาสัตย์ ผมอยู่ในที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลนวาจาของเราได้”

การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจึงดำเนินไปด้วยดี ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือนที่ขึ้นมามีอำนาจหลังสงครามทุ่มสมาธิเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรจนไทยพ้นจากสถานะ “ผู้แพ้สงคราม” ได้

แต่พระยาพหลฯ ก็ต้องยุติหน้าที่ “แม่ทัพใหญ่” ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๘ 

พันตรีพุทธินาถเล่าว่า คุณพ่อป่วย “เป็นอัมพาตครึ่งซีก ต้องนอนอยู่กับที่บนตึกวังปารุสก์แพทย์บอกว่าเส้นโลหิตฝอยในสมองแตก แต่คุณพ่อก็ยังพอต้อนรับแขกได้เป็นอย่างดี” และพยายามต่อสู้กับโรคต่อมาอีก ๒ ปี โดยถึงแม้จะป่วย พลเอก พระยาพหลฯ ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นทหาร

“ทุกครั้งที่ทหารรักษาการ (วังปารุสก์) เชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาช่วงเช้าและเย็น เป่าแตรเดี่ยว คุณพ่อจะยกมือทั้งสองข้างมาพนมที่อก ถึงแม้ว่าแขนข้างขวาเป็นอัมพาต ท่านก็พยายามใช้มือข้างซ้ายที่ยังดีอยู่ช่วยยกขึ้น...จนแตรเดี่ยวจบ”

Image

บรรยากาศการรดน้ำศพพระยาพหลฯ​
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ

Image

ภรรยาและบุตรของพระยาพหลฯ ในงานสวดพระอภิธรรมที่วังปารุสกวัน เมื่อปี ๒๔๙๐
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ

พินัยกรรม
พระยาพหลฯ

ในปี ๒๔๘๙-๒๔๙๐ ขณะที่พระยาพหลฯ ป่วย ที่นอกรั้ววังปารุสก์รัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือนที่ตั้งขึ้นห้าชุดเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการทุจริตในวงราชการ

ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เป็นเวลาสั้น ๆ ช่วงกลางปี ๒๔๘๙ ผลักดันให้มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่งได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนมากเพื่อสร้างสันติ ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงกลับสู่เวทีการเมืองอีกครั้ง

แต่คดีรัชกาลที่ ๘ สวรรคตก็ทำให้รัฐบาลตกที่นั่งลำบาก ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่าหลวงประดิษฐ์ฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง

เมฆหมอกการรัฐประหารตั้งเค้าทั่วกรุงเทพฯ

ท่านผู้หญิงบุญหลงยังเล่าว่าในช่วงต้นปี ๒๔๘๙ พระยาพหลฯ อาบน้ำ มีจิ้งจกตัวหนึ่งตกมาโดนแขน “ท่านเป็นผู้ที่เกลียดสัตว์ประเภทนี้ที่สุด...จึงตกใจอย่างสุดขีด ถึงกับล้มฟุบลงสิ้นสติ” และทรุดหนักลงอีก ก่อนจะรักษาจนเริ่มกลับมาเดินได้อีกครั้ง (บางกอกไทม์, ๑๑ กันยายน ๒๕๒๑)

ปลายปี ๒๔๘๙  กุหลาบเข้าเยี่ยมเชษฐบุรุษ และพบท่านรอในสวนข้างตึก โดยนั่ง “บนเก้าอี้เก่า ๆ นุ่งโสร่ง ไม่ห่มคลุมส่วนบน เห็นกระดูกชายโครง ท่านผ่ายผอมไปมาก มือข้างซ้ายงอพับอยู่ใช้การไม่ได้ตลอดลำแขน จะพูดก็ไม่สู้ถนัด” เขาบรรยายด้วยความเศร้าใจว่า “กำลังแห่งความพ่วงพีของเสือแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายนได้อันตรธานไปหมด”

เมื่อถึงแก่อสัญกรรม
ครอบครัวพระยาพหลฯ
เหลือเงินทั้งหมดร้อยกว่าบาท

พระยาพหลฯ บอกกุหลาบว่า “ออกเดินเล่นได้บ้างในระยะทางสั้น ๆ ความทรงจำไม่สู้ดี และการใช้ความคิดก็เป็นของแสลง”

หลังปีใหม่ ๒๔๙๐-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ท่านผู้หญิงบุญหลงพบว่าสามีหายใจลึกสะท้อน ชีพจรเต้นอ่อน มีเสมหะในลำคอมาก แม้แพทย์ประจำตัวจะฉีดยากระตุ้นหัวใจและปอดอาการก็ไม่ดีขึ้น ต่อมาหลวงธำรงฯ นายกฯ, หลวงอดุลฯ ผบ.ทบ. และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ประธานสภา ถูกเรียกมาดูอาการ

มีการตัดสินใจเชิญนายแพทย์ใหญ่ทหารบก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ. จิตต์ ตู้จินดา มาช่วยกันรักษา แต่ก็ไม่ประสบผล

เช้ามืดวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ พระยาพหลฯ ถึงแก่อสัญกรรมในเวลา ๐๓.๐๕ น.

โดยก่อนจากไป สั่งเสียกับหลวงธำรงฯ ว่า “ฝากประเทศด้วย”

บ่ายวันต่อมามีการรดน้ำศพพระยาพหลฯ ท่ามกลางความกังวลของท่านผู้หญิงบุญหลง เรื่องไม่มีเงินจัดงาน ด้วย “ทั้งบ้านมีเงินร้อยกว่าบาท” แต่หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทาน “โกษฐ์ชั้นเอกอัครมหาเสนาบดี” (สยามนิกร, ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒, ๒๔๙๐)

๒๒ กุมภาพันธ์ หลวงประดิษฐ์ฯ กลับจากเยือนต่างประเทศ ลงจากเครื่องบินที่สนามบินน้ำ คลองเตย แล้วรีบตรงมาที่วังปารุสก์ เคารพศพเชษฐบุรุษ ท่ามกลางการจับจ้องของนักข่าวว่า “จอมพล ป.” ที่วางมือไปทำนาอยู่แถบอำเภอลำลูกกาจะมาคารวะ “พี่ใหญ่” หรือไม่

เป็นคราวสุดท้ายที่ “น้องรัก” ของพระยาพหลฯ สองคนคือ หลวงประดิษฐ์ฯ กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้พบกัน  ก่อนที่กระแสการเมืองจะทำให้ทั้งสองหํ้าหั่นกันในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๙๐

โดยไม่มี “พระยาพหลฯ” เป็นตัวกลางอีก  

Image

อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

Image