ห้าวมากก็เลยผมน้อย ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เรื่องหัวล้านนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้ชายส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าเกิดกับผู้หญิงคนไหนก็จะยิ่งกลุ้มใจหนักเข้าไปอีก กลายเป็นปัญหาชวนหนักอกหนักใจมากขึ้น
จากการสำรวจครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๒๐๒๒ พบว่ามีผู้ชายชาวอังกฤษ ๑๑ เปอร์เซ็นต์ที่ไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาทันทีที่พบว่ามีปัญหาเรื่องผมน้อย
หากตัวเลขนี้สะท้อนปัญหาที่แท้จริงก็อาจคำนวณได้ว่าน่าจะมีชายชาวอังกฤษ ๓.๖ ล้านคนที่กลุ้มใจและขาดความมั่นใจเนื่องจากจำนวนเส้นผมที่ลดลง
ปรกติคนเราจะผมร่วงราว ๕๐-๑๐๐ เส้นต่อวันโดยมักจะไม่รู้ตัวด้วยซํ้า และอาการผมบางก็มักปรากฏเมื่ออายุขึ้นเลข ๕ ไปแล้ว แต่สำหรับบางคนปัญหาก็มาเยือนขณะที่อายุน้อยกว่านั้นมาก สาเหตุที่ทำให้ผมร่วงนั้นมีเยอะอยู่ โดยสาเหตุหลักก็คือกรรมพันธุ์
แปลไทยเป็นไทยว่า คนบางคนมีโอกาสจะหัวล้านมากกว่าคนอื่น
แต่ความเครียด ความเจ็บป่วย การกินอาหารไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลได้เหมือนกัน อันที่จริงแค่เปลี่ยนทรงผมก็อาจทำให้ผมร่วงง่ายกว่าเดิมได้
ในสังคมตะวันตกมีความเชื่อเรื่องหัวล้านที่น่าสนใจมากอยู่อย่างหนึ่งคือ เชื่อกันว่าคนหัวล้านมักเป็นพวกเดียวกับคนที่มีความเป็นนักสู้ หรือ “ขาลุย” มาก ซึ่งสาเหตุน่าจะเป็นเพราะมีฮอร์โมนเพศชายคือเทสโทสเตอโรน (testosterone, TST) มากเกินไป ดังที่เราเห็นในพระเอกหนังบู๊ ไม่ว่าจะเป็น บรูซ วิลลิส, เดอะร็อก หรือ เจสัน สเตทัม หรืออีกฟากหนึ่งก็คือนักกีฬาอย่าง อังเดร อะกัสซี, ไมเคิล จอร์แดน และ ไมก์ ไทสัน ก็ล้วนแล้วแต่มีศีรษะโล่งเตียนเงางามทั้งสิ้น
แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ ?
มีนักประวัติศาสตร์สืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไป ๒,๐๐๐ กว่าปีระบุว่า นักปราชญ์คนดังสองคนคือฮิปโปเครตีสและอริสโตเติลตั้งข้อสังเกตคล้ายคลึงกัน พวกเขาเห็นว่าคนที่ถูก “ตอน” ตั้งแต่อายุน้อยเมื่ออายุมากขึ้นก็มักจะไม่หัวล้าน
แต่นี่ไม่น่าจะเป็นวิธีการป้องกันหัวล้านที่ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องการแน่ ๆ
การที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากอวัยวะเพศที่หายไปเป็น “สัญลักษณ์ของความเป็นชาย” จึงน่าจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ดังกล่าว ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าอวัยวะเพศชายและอัณฑะเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย จึงเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนเพศชายนี่เองที่ส่งผลกระทบทำให้ผมร่วงเมื่ออายุมากขึ้น
ล่วงมาถึงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ มีแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเยลคนหนึ่งคือเจมส์ บี. แฮมิลตัน (James B. Hamilton) ได้ศึกษาเด็กชายจำนวน ๒๑ คนที่จำเป็นต้องโดนผ่าตัดอวัยวะเพศทิ้งไป เนื่องจากในยุคนั้นใช้การตอนเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้มีปัญหาทางจิตหรือมีพฤติกรรมรุนแรงบางอย่าง
คุณหมอแฮมิลตันติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปอีกนาน ๑๘ ปี ทำให้พบว่าคนกลุ่มนี้แม้อายุมากขึ้นก็ไม่มีใครเลยที่มีผมบางหรือหัวล้าน ในขณะที่ผู้ชายอายุเท่า ๆ กันที่ยังมีระดับฮอร์โมน TST ปรกติดีอยู่กลับมีเส้นผมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นี่เองที่อาจทำให้เกิดความเชื่อต่อมาว่าหัวล้านเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายสูง
แต่ยังมีคำถามที่การทดลองนี้ตอบไม่ได้อยู่ คือผู้ชายหลายคนมีระดับฮอร์โมน TST ต่ำ ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรม แต่ปรากฏว่าผู้ชายกลุ่มนี้ก็ยังหัวล้านเมื่ออายุมากขึ้นอยู่ดี ถ้าเช่นนั้น TST จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับลักษณะหัวล้านจริงหรือ ?
ถึงตรงนี้สิ่งที่บอกได้อย่างแน่นอนเรื่องหนึ่งคือ ระดับของฮอร์โมน TST น่าจะไม่เกี่ยวข้อง “โดยตรง” กับเรื่องหัวล้านเรื่องนี้จึงซับซ้อนกว่าที่คิดไว้แต่เดิม
มาดูกันว่าอันที่จริงแล้วการที่คนเสียเส้นผมจนหัวล้านนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ?
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวล้านไม่ใช่ฮอร์โมน TST แต่เป็นฮอร์โมน DHT (dihydrotestosterone) โดยในร่างกายของเราจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งชื่อ 5-แอลฟา-รีดักเทส (5-alpha-reductase) ที่คอยเปลี่ยน TST ให้กลายเป็น DHT การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งที่ตับ อัณฑะ และ ผิวหนัง
DHT ออกฤทธิ์กับร่างกายรุนแรงกว่า TST ถึงห้าเท่า โดยจะส่งผลกระทบกับหนังศีรษะ ทำให้ปุ่มรากผม (hair follicle) หดตัวแล้วผมก็ร่วงง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ใช่ปริมาณ DHT เสียทีเดียวที่ทำให้ผมร่วง ผลกระทบที่แท้จริงมาจากความไวของโปรตีนตัวรับ (receptor) ที่อยู่ตรงปุ่มรากผมมากกว่าและความไวดังกล่าวก็เป็นผลโดยตรงกับกรรมพันธุ์
แปลไทยเป็นไทยให้เข้าใจง่าย ๆ อีกครั้งก็คือ กรรมพันธุ์คือปัจจัยหลักที่กำหนดว่าคนไหนจะหัวล้าน โดยมีปัจจัยรองลงมาคือ อายุ (ยิ่งมากขึ้น ผมยิ่งน้อยลง) ความเครียด (ยิ่งมาก ผมยิ่งร่วง) และยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เช่นอาหารการกินอีกด้วย
ดังนั้นข่าวร้ายก็คือถ้ามีคนในครอบครัวหัวล้านก็ให้ทำใจไว้ได้เลยว่าจะมีโอกาสได้รับมรดกที่ไม่ต้องการนี้มาด้วย คุณผู้หญิงก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แค่ DHT อาจจะสร้างจากฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยมากกว่าในผู้หญิงคือ DHEA
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ นอกจากจะต้องแสดงความเสียใจกับคุณผู้ชายที่ไม่ต้องใช้หวีว่า ลักษณะดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นชายชาตรีแล้ว ยังมีงานวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดที่พบว่าลักษณะหัวโล่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคบางอย่างมากกว่าคนทั่วไปด้วย
ผู้ชายหัวล้านเสี่ยงจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าผู้ชายทั่วไปที่มีผมเยอะกว่า ๑.๕ เท่า ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัญหาหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนทั่วไปราว ๒๓ เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้เฉพาะเรื่องหัวล้านก็มีวิธีแก้ไขอยู่หลายวิธี เช่นยากินช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เปลี่ยน TST เป็น DHT ชื่อสามัญของยาดังกล่าวคือโพรพีเซีย (Propecia) และอะโวดาร์ท (Avodart) ชนิดแรกมีข้อมูลว่าใช้ได้ผลกับผู้ชายถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางคนใช้แล้วผมบางส่วนกลับมางอกใหม่อีกด้วย
แต่ยาที่ว่านี้ราคาแพง แถมต้องกินบ่อยและที่สำคัญที่สุดคืออาจมีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ก่อนหามารับประทาน ไม่งั้นอาจหายผมบาง แต่ป่วยอย่างอื่นแทน
นอกจากกินยาแล้วยังมีแชมพูที่ผสมคีโตโคนาโซล (ketoconazole) ที่อาจเคยได้ยินในโฆษณา มีการรักษาด้วยเลเซอร์หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายปุ่มรากผม (surgical hair follicle transplant) ฯลฯ
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าไม่ว่าหนังศีรษะนั้นจะมีผมงอกหรือไม่ ก็ยังพบสเต็มเซลล์ หรือ “เซลล์ต้นกำเนิด” อยู่ไม่ได้ตายหายไปหมด เซลล์พวกนี้ทำหน้าที่แบ่งตัวก่อนจะกลายร่างเป็นเซลล์ต่าง ๆ ทำหน้าที่สารพัดในร่างกาย แต่มีปัญหาว่าเซลล์พวกนี้ไม่สามารถพัฒนาเป็นเซลล์ขั้นตอนต่อไป ก่อนจะกลายไปเป็นเซลล์รากผมได้ เพราะมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น
หากว่าวันหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอะไรกันแน่ที่เป็นตัวขัดขวางการเจริญและการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง รวมถึงการทำงานในขั้นตอนนี้ของสเต็มเซลล์ หรือไม่ก็อาจค้นพบสารกระตุ้นที่เหมาะสมที่ทำให้สเต็มเซลล์กลับมาทำงานในขั้นตอนดังกล่าวได้ดังเดิม ก็อาจจะกระตุ้นให้มีผมงอกออกมาอีกครั้งก็เป็นได้
แต่เรื่องนั้นยังเป็นอนาคตข้างหน้าอยู่