Image

Kofuku Cat Hotel
โรงแรมที่ทั้งคนและแมวมีความรัก
ความสุข ความผูกพัน

แมวววว...

เรื่อง : กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล

เพียงเดินผ่านประตูกระจกขนาดเล็กของโรงแรมสีเหลืองแห่งหนึ่ง บนชั้น ๒ ของโครงการ Trail & Tail ซอยสุขุมวิท ๓๙ ฉันก็พลันสบตากับเจ้าเหมียวสีส้มและเจ้าเหมียวสีขาวน้ำตาลในห้องกระจกใหญ่กลางร้าน ที่ส่งสายตาปริบ ๆ คล้ายออดอ้อน  ห้องนั้นเต็มไปด้วยของเล่นแมวละลานตา ตั้งแต่ปลาที่มีสวิตช์เปิดให้ดิ้นราวเกยตื้น แป้นหมุนให้แมวตะปบเล่น ไม้ขนนก และอีกสารพัดสิ่ง จนอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาน่าจะมีเจ้าของที่มอบทั้งความรักและความเป็นอยู่ที่ดีให้ตลอดมา ไม่อย่างนั้นเจ้าเวกัสและจากัวร์คงไม่ได้อยู่ห้องใหญ่แบบนี้

พนักงานของโรงแรมแมวพยายามเดินเข้าไปเล่นกับเจ้าเหมียวหลายครั้ง หวังคลายความเหงาให้มันได้บ้าง

สายตาอ่อนโยนของผู้ชายคนหนึ่งจ้องมองลูกแมวด้วยความสงสาร

ตั้งแต่ฉันรู้จักพี่ว่าน-จิตรทิวัส พรประเสริฐ ช่างภาพสารคดีและกรรมการผู้จัดการ Kofuku Cat Hotel โรงแรมแมวแห่งแรกของประเทศไทยมานานนับปี ยังไม่เคยเห็นแววตาเขาเป็นประกายเท่ากับเวลาพูดถึงแมวและอยู่กับแมวแบบนี้

เขาเปิดโรงแรมมานานกว่า ๗ ปี มีโอกาสดูแลแมวของดารานักแสดง นักร้อง จนถึงไอดอลเกาหลีที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมทั้งแมวอื่น ๆ อีกมากมาย และแมวสองตัวนี้กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับที่นี่

ฉันเองก็ไม่คิดว่าจะได้มาร่วมเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนกัน

Image

จิตรทิวัสอุ้มน้องมาเรีย แมววัย ๕ ปีของเขาที่เติบโตมากับโรงแรมแห่งนี้

ให้ความรักนำทางมา 
check in
เข้าโรงแรมแมว

หลังจากเฝ้ามองสองเหมียววิ่งเล่นอยู่นาน จิตรทิวัสหยิบรูปน้องแมวตัวหนึ่งบนโต๊ะยาวที่ตั้งอยู่หน้าร้านมาให้ดู ระหว่างเล่าที่มาของโรงแรมแมวแห่งแรกของประเทศไทย

“นี่ตัวแรกชื่อสมชาย ตอนนี้ไปอยู่โคราชแล้ว” เขาบอกพร้อมมองรูปแมวของพี่ชายอยู่ครู่เล็ก ๆ “เมื่อก่อนทุกเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ จะไปเที่ยวต่างประเทศกันทั้งบ้าน แต่เรามีสมชายแล้วไม่มีที่ฝาก โรงพยาบาลสัตว์สมัยก่อนจะเป็นกรงอะลูมิเนียม ส่วนโรงแรมแมวเป็นบ้านแบ่งห้อง มีน้องหมาอยู่ด้วย มีกลิ่น เราไม่กล้าฝาก เลยคิดกับพี่ ๆ ว่าทำไมไม่มีโรงแรมรับฝากแมวดี ๆ”

พี่ชาย พี่สาว พี่เขย และพี่ว่าน จึงเริ่มคิดอยากเปิดโรงแรมแมว พวกเขาใช้เวลาหาข้อมูลจนพบว่ามีแมวอยู่ในกรุงเทพฯ นับแสนตัว ประกอบกับการเลือกทำเลของคนที่มีวิถีชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยว อยู่คอนโดฯ เป็นหลัก เวลาจะเดินทางไปไหนก็ไม่มีใครให้ฝากแมว จนเป็นที่มาของ Kofuku Cat Hotel สาขาแรกในย่านพระราม ๙ ก่อนจะเปิดอีกสองสาขาคือที่ซอยสุขุมวิท ๓๙ และอ่อนนุช

เรื่องบ้านของเจ้าเหมียวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมผู้ก่อตั้งให้ความสำคัญ หลังจากเห็นกรงอะลูมิเนียมจนชินตา พวกเขาอยากให้บรรยากาศโดยรวมดูดีตั้งแต่แรกเห็น จึงออกแบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านมากที่สุด โดยใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการทำกรง ตกแต่งภายในสไตล์ญี่ปุ่น และตั้งชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า kofuku แปลว่าความสุข

Image

เวกัสและจากัวร์ แมวที่ถูกเจ้าของทิ้งไว้ที่โรงแรมตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ลูกค้าสี่ขาพันธุ์มันช์กินเข้าห้องพัก ขนาด Deluxe หลังจากพนักงานปล่อยให้วิ่งยืดเส้นยืดสาย เพื่อให้แมวผ่อนคลายจากการอยู่ในห้องพักตลอดทั้งวัน

ห้องพักของที่นี่มีสี่ขนาดคือ Capsule แมวเข้าพักได้หนึ่งตัว  Deluxe แมวเข้าพักได้สูงสุดสามตัว  Suite แมวเข้าพักได้สูงสุดหกตัว และ Penthouse แมวเข้าพักได้สูงสุดแปดตัว

“เราเปิดช่วงแรกประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ ตอนนั้นเปิด ๕๐ ห้องแล้ว แต่มีลูกค้าแค่ ๑-๒ ห้อง เป็นลูกค้าที่มีแฟนเป็นคนต่างชาติ จองห้อง Capsule และ Deluxe เขาบอกขับรถผ่านเลยเข้ามาถาม ยังจำได้อยู่เลย”

ในยุคที่ยังไม่มีคนรู้จักโรงแรมที่รับฝากแมวโดยเฉพาะ พวกเขาจึงต้องทำให้คนรู้จักโดยออกร้านในงาน Pet Expo นำห้องนอนแมวไปตั้ง และที่สำคัญคือพาสมชายไปเป็นแมวนายแบบให้ผู้เยี่ยมชมงานเห็นว่าหากแมวได้อาศัยอยู่ในโรงแรมจะเป็นอย่างไร

แต่ธุรกิจใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ของธุรกิจรุ่นพี่เป็นบทเรียน ทีมผู้ก่อตั้งโรงแรมจึงต้องวางระบบด้วยการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เช่นเรื่องการรับลูกค้า จนถึงสัตว์ป่วยระหว่างเข้าพัก โดยยึดแบบอย่างจากโรงแรมคน

“เวลาลูกค้าเข้ามา บางคนรอนาน เพราะเราอยากทำให้เป็นมาตรฐานตั้งแต่แรก เลยต้องขอประวัติเจ้าของแมว เรามีระบบ check in ที่พัฒนามานานกว่า ๒-๓ ปี สามารถดูได้ว่าวันนี้ลูกค้ามีแมวกี่ตัว แล้วเอามาฝากกี่ตัว”

เพื่อคลายความกังวลเรื่องสุขภาพของน้องแมวตั้งแต่ก่อนเข้าพัก ทางโรงแรมจะรับดูแลเฉพาะแมวอายุ ๔ เดือนขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนครบและเลี้ยงในระบบปิดเท่านั้น

“Make your cat at home” 
มีความสุขเหมือนอยู่บ้าน

ขนาดของโรงแรมในภาพรวมไม่ได้กว้างขวางนัก แต่หากคำนวณด้วยจำนวนห้องแล้ว Kofuku Cat Hotel ได้รับการบันทึกในหนังสือ Thailand Book of Records ว่าเป็นโรงแรมแมวที่มีจำนวนห้องมากที่สุดในประเทศไทย

ตอนนี้ทั้งสามสาขามีจำนวน ๑๒๓ ห้อง

“ห้องแบบไหนขายดีสุด” ฉันถามเจ้าของโรงแรม

“ถ้าเป็นสาขาพระราม ๙ ห้อง Penthouse ขายดีสุด สาขานี้ (สุขุมวิท ๓๙) ห้อง Deluxe ดีสุด เพราะมีจำนวนห้องมากกว่า มีพื้นที่ให้แมววิ่งเล่นมากกว่า แมวใช้ชีวิตแนวดิ่งมากกว่าแนวกว้าง ห้องเลยออกมาเป็นทรงสูง” เขามองห้องพักแมวด้วยความภูมิใจ “ห้องนี้ผ่านการคิดมาหมดแล้วว่าง่ายต่อการอาศัยของแมวและคนทำความสะอาด เราจดสิทธิบัตรแล้ว ตู้หนึ่งจะมี Deluxe สองห้องและ Capsule หนึ่งห้อง มีลิ้นชักเก็บของข้างล่างด้วย”

Image

พนักงานโรงแรมมักใช้กระจกหน้าห้องพักแมว บันทึกเรื่องการให้อาหาร การดูแลที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ หรือแม้แต่เป็นพื้นที่แสดงฝีมือวาดรูปเลียนแบบน้องแมวในห้อง

เรื่องอากาศก็เป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เขาจึงออกแบบห้องพักแมวเป็นลูกกรงแทนการใช้กระจก เพื่อให้อากาศเข้าไปในห้องพักของเจ้าสัตว์ขี้ร้อนได้ทั่วถึงและเปลี่ยนเครื่องกรองอากาศเป็นประจำ เพราะเขาเชื่อว่าทั้งคนและแมวต่างต้องการกลิ่นและบรรยากาศที่ดี

นับตั้งแต่เข้ามาในโรงแรมนี้ ฉันยังไม่จามหรือไอ ทั้งที่ปรกติจะมีอาการแพ้ขนแมวอย่างหนัก

ห้องพักของน้องแมวทุกห้องจะผ่านการทำความสะอาดด้วยน้ำยาแบบ food grade ก่อนเข้าพัก และระหว่างวันพี่เลี้ยงจะปล่อยให้น้อง ๆ ได้ออกมาวิ่งเล่น

อย่างตอนนี้เจ้าแมวมันช์กินขาสั้นสีเทากำลังวิ่งปรู๊ดไปทั่วบริเวณอย่างมีความสุข

ระหว่างน้องแมวเข้าพัก พนักงานของโรงแรมจะดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยผู้จัดการสาขาพระราม ๙ และอ่อนนุชพักอาศัยอยู่ภายในโรงแรมเพื่อดูแลน้องแมวตลอดเวลา พร้อมทั้งติดกล้องวงจรปิดให้ลูกค้าได้ติดตามชีวิตน้องแมวด้วย

“เพราะฉะนั้นพนักงานทุกคนจะชอบแมวเฉย ๆ ไม่ได้ แต่ต้องเคยเลี้ยงแมวด้วย จะได้รู้ว่าชีวิตแมวตลอด ๒๔ ชั่วโมงเป็นยังไง และต้องผ่านการอบรมของ IBPSA หรือสมาคมผู้ให้บริการสัตว์เลี้ยงนานาชาตินะ  อย่างน้องผู้จัดการร้านก็อยู่ตั้งแต่เปิดวันแรก ๆ เขาก็ไปเทรนมาจนได้ประกาศนียบัตร”

อีกหนึ่งสาเหตุที่พี่เลี้ยงต้องมีความเข้าใจแมว ส่วนหนึ่งเพราะแมวแต่ละตัวก็มีนิสัยต่างกัน

เบญ-เบญจมาศ จันทร์สุข พนักงานที่นี่เคยเลือดตกยางออกจากการดูแลน้องแมว เธอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใจเย็น

“น้องแมวอยู่มานานเป็นเดือน จะกลับบ้านแล้ว น้องไปเจอหน้าแมวตัวอื่นซึ่งไม่ถูกกัน แค่ผ่านกระจกเขาก็โมโหเลยกัดพี่เลี้ยง ทั้งที่ปรกติเราสนิทกัน เล่นด้วยกันทุกวันเป็นเดือนแล้ว” เธอยกแขนให้ฉันดูรอยแผลเป็นจาง ๆ “มันมีทั้งหมดห้ารู ห้าเขี้ยว เพราะน้องกัดขย้ำเลย เราก็เข้าใจว่าน้องอารมณ์ไม่ดี เราใช้น้ำล้างแผลก่อนพักหนึ่ง เพราะน้ำลายน้องแมวมีเชื้อแบคทีเรีย แล้วรีบไปโรงพยาบาล”

เจ้าของโรงแรมเล่าต่อว่าได้ทำประกันอุบัติเหตุให้พนักงานเพราะนี่คือหนึ่งในอาชีพที่มีความเสี่ยง

ฉันเคยเห็นเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่โรงแรม Kofuku สาขาพระราม ๙

“กลับบ้านกันนะคะลูก”

Image

เจ้าของแมวร่างท้วมอ้าแขนเตรียมอุ้มเจ้าเหมียวสองตัวออกมาจากห้องพักขนาด Deluxe ที่สูงเท่าตัวคน แมวสีขาวขนปุกปุยเดินถอยหลบเข้ามุมพร้อมกับแมวอีกตัวในห้องพักเดียวกัน

ทั้งหมดนี้มีสายตาคู่หนึ่งจากฝั่งตรงข้ามกำลังจ้องมองด้วยความใคร่รู้

ไม่นานนักเสียงกรุ๊งกริ๊ง ๆ ของไม้ตกแมวลายหนอนน้อยก็ดังขึ้น สายตาของเจ้าเหมียวดูตื่นเต้นมองตามไม้นั้นอยู่หลายที ในที่สุดเจ้าเหมียวก็เผลอตัวมาอยู่ในอ้อมกอดของพนักงานร้านสวมเสื้อสีเหลือง ก่อนถูกใส่เข้ากรงเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน

ระหว่างเจ้าของแมวกำลังเรียกชื่อลูกตัวถัดมา เธอกลับเดินถอยหลังไปหนึ่งก้าว โดยไม่ทันรู้ว่ากำลังไปชนกรงของเจ้าของสายตาโตคู่นั้น

อุ๊ย !

เสียงอุทานดังขึ้นเบา ๆ ทันทีที่ แฮรี่ พอตเตอร์ แมวสีดำสนิทที่พี่เลี้ยงเขียนชื่อด้วยลายมือการ์ตูน พร้อมวาดรูปสัญลักษณ์ของบ้านกริฟฟินดอร์ไว้บนกระจก ยื่นมือข้างหนึ่งออกมาตะปบบั้นท้ายเธอ เจ้าของแมวห้องตรงข้ามรีบหันไปขอโทษเจ้าแมวดำที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในลูกค้าที่ดุที่สุดอยู่หลายครั้ง ก่อนอุ้มเจ้าเหมียวตัวถัดมาใส่กระเป๋าแล้วพากลับบ้าน

จริง ๆ ความดุของเจ้าพ่อมดน้อยแฮรี่เป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น เพราะวันนี้เจ้าแมวดำยังไม่ได้ทำให้พนักงานต้องเข้าโรงพยาบาล

พนักงานทุกคนมีวิธีรับมือน้องแมวดุคล้าย ๆ กัน คือถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้น้องแมวก็หาอุปกรณ์ เช่นถุงมือขนาดใหญ่เหมือนถุงมือเตาอบ ที่โรงแรมเรียกกันเล่น ๆ ว่าถุงมือทานอส ไว้ป้องกันตัว

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือสุขภาพของแมว

หากน้องแมวมีอาการป่วยระหว่างเข้าพัก โรงแรมจะส่งไปรักษากับโรงพยาบาลสัตว์ที่เป็นพันธมิตรซึ่งอยู่ละแวกใกล้เคียง พร้อมให้ทางโรงพยาบาลสัตว์เหล่านี้เข้ามาตรวจสุขภาพน้องแมวทุกวันอังคาร โดยหมอเน๋ง-นายสัตวแพทย์
ศรัณย์ นราประเสริฐกุล พระเอกชื่อดังและเจ้าของ Hato Pet Wellness Center หนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่อยู่ ชั้น ๑ ของโครงการ Trail & Tail เคยเป็นสัตวแพทย์ที่เข้ามาตรวจสุขภาพคุณลูกค้าแมวเหมียวของที่นี่

บางทีฉันก็อยากเกิดเป็นแมวบ้าง

“พี่รับแมวมาดูแลแล้วทั้งหมดกี่ตัว”

เจ้าของร้านสวมเสื้อสีดำสนิทรีบลุกจากเก้าอี้ พลางไล่สายตาไปตามรายชื่อแมวในฐานข้อมูล แล้วตะโกนบอกว่า “๕,๔๓๖ ตัว เจ้าของ ๓,๒๐๐ คน นี่ไง ! ชื่อแมวตัวแรกยังอยู่เลย น้องทอมทอม”

ลูกค้าของโรงแรมแมวแห่งนี้จะนำแมวมาฝากเวลาที่พวกเขาจำเป็นต้องเดินทางไกล เช่น พักร้อนที่ต่างจังหวัดไปทำงานต่างประเทศ

ลูกค้าบางส่วนอาจฝากนานนับเดือนหรือนับปี ในกรณีที่ซ่อมบ้าน เพราะไม่ต้องการให้แมวได้ยินเสียงรบกวนจากการซ่อมแซม

หนึ่งในลูกค้าที่ต้องการเลี้ยงแมว แต่แฟนแพ้ขนแมวจึงนำมาฝากไว้ที่โรงแรมก็มี

Image

ห้องพักแมวที่ได้รับการออกแบบพิเศษ เรียงแถวยาวชิดผนังอย่างเป็นระเบียบ บางห้องเจาะช่องหน้าต่างให้แมวมองเห็นข้างนอกได้

น้องแมวบางตัวมานอนโรงแรมบ่อยจนเคยชิน บางตัวเจ้าของก็เช่าให้อยู่รายเดือน หนึ่งในนั้นคือ ซิม คิวเท หรือเจ้าของช่อง YouTube - Kyutae Oppa ที่นำลูกชายตัวแรกอย่างเจ้ามีโซมาฝากช่วงที่เขาปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่เป็นเวลาเกือบ ๑ ปี นับว่านานราวกับอยู่บ้านตัวเอง

แต่ที่นี่ก็กลายเป็นบ้าน (ที่ไม่ได้ตั้งใจ) ของแมวบางตัว

เจ้าของโรงแรมย้ำอีกเหตุผลในการ check in น้องแมวที่ต้องใช้เวลานานก็เพื่อป้องกันเจ้าของทิ้งแมว ซึ่งนับตั้งแต่รับน้อง ๆ มาดูแลกว่าครึ่งหมื่นยังไม่เคยเกิดกรณีนี้ จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา

“มีแมวบ้านหนึ่ง เจ้าของเป็นคนยูเครน เขารักแมวมาก ๆ เอาของเล่นมาให้ มาเล่น มาถาม ติดแมวมาก แต่อยู่ดี ๆ ก็หายเงียบ คิดว่าเขาน่าจะกลับไปรบช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราติดต่อเขาไม่ได้เลย ตอนนี้น้องเสียแล้วจากโรคหัวใจ น่าจะเป็นโรคประจำสายพันธุ์”

สายตาของจิตรทิวัสหันกลับไปมองเจ้าเวกัสและจากัวร์อีกครั้ง

“ส่วน…สองตัวนี้” เขามองเจ้าแมวที่เพิ่งถูกเจ้าของทิ้งไปสด ๆ ร้อน ๆ “จริง ๆ เขามาฝากตามปรกติ เราติดต่อไปแล้ว ครั้งแรกเขาขอฝากต่อ ตามปรกติก่อนถึงกำหนดรับน้อง ๑ วัน เราจะโทร. ถามว่าพรุ่งนี้จะมารับกี่โมง เจ้าของแมวอ่านไลน์แต่ไม่ตอบ เลยลองเอาชื่อไปค้นหาดู เลยรู้ว่าเขาโดนคดีจากเวทีประกวดนางงาม เราพยายามติดต่อเรื่อย ๆ ส่งรูปความน่ารักของน้อง ๆ ให้ทุกวัน เผื่อเขาจะคิดถึง”

จิตรทิวัสตัดสินใจปรึกษาตำรวจเพื่อดำเนินเรื่องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็รับเป็นผู้ปกครองจำเป็นให้กับน้องเวกัสและจากัวร์โดยปริยาย เพราะมีกรณีที่แมวพบว่าเจ้าของไม่อยู่อาจตรอมใจ จึงต้องดูแลใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้เจ้าของใหม่มั่นใจว่าน้องแมวสุขภาพดี

สุดท้ายเจ้าของใหม่ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นน้องเบญจมาศ พนักงานของโรงแรมที่แพ้ทางให้กับสายตาอ้อน ๆ ของสองเหมียวนี่เอง

เบญจมาศ พนักงานโรงแรมที่มักเดินมาเล่นกับเจ้าเวกัสและจากัวร์ด้วยความรักและสงสาร

Check Out 
บอกลาด้วยความผูกพัน

ระหว่างก้าวเดินไปตามทางแคบ ๆ ขนาบด้วยกรงสองข้าง ฉันสัมผัสได้ว่ามีสายตาหลายคู่กำลังจับจ้องผ่านลูกกรง พอหันไปมองทางซ้ายก็เจอเจ้าเหมียวสามตัวจ้องมองฉันด้วยความเป็นมิตร ราวจะเว้าวอนขอขนมหรือสื่อสารให้ฉันเปิดกลอนให้พวกมันออกมาเดินเล่นอย่างอิสระ

เมื่อเงยหน้าก็เจอชื่อเขียนบนกระจกว่า “‘สมเกียรติ ผดุง เดชา”’ เป็นภาษาไทยและภาษาเกาหลี

“สามตัวนี้เป็นพ่อแม่ลูกกันค่ะ” พนักงานบอกสั้น ๆ ก่อนปล่อยให้ครอบครัวนี้เดินเล่นบนทางแคบ ๆ นั้นสักครู่

หันขวาไปอีกทีก็เจอแมวสี่ตัวจากห้องฝั่งตรงข้ามที่น่าจะถูกตั้งชื่อตามการ์ตูนเรื่องโปรดของเจ้าของ ยืนเรียงแถวหน้ากระดานหรี่ตาเข้ม จ้องมองฉันและช่างภาพราวกับนักสืบ เช่นเดียวกับเจ้าชมัยพร แมวสีขาวเทาวัย ๕ ปีที่นอนก่ายบนชั้นสูง และมาเรีย แมวสามสีขนปุยอายุเท่ากันที่อยู่ในกรงเดียวกัน

“สองตัวนี้เป็นแมวของพี่ว่านค่ะ” พนักงานอีกคนเล่า
“สองตัวนี้ชอบดรามามาก ๆ เวลาโดนย้ายห้อง จากขนาด Penthouse มาอยู่ห้องเล็กกว่า น้ำตาจะไหลเยอะเป็นพิเศษ”

สองเหมียวนี้น่าจะรักห้องขนาดใหญ่ ๆ มีพื้นที่กว้างขวางมากกว่าห้องแคบ ๆ เพราะนั่นคือหนึ่งในสิทธิพิเศษของการเป็นแมวเจ้าของโรงแรมและเติบโตมาพร้อมกับโรงแรมแห่งนี้  อีกเหตุผลสำคัญคือเจ้ามาเรียและชมัยพรกำลังรับหน้าที่เดียวกับที่สมชายเคยทำ คือพักในห้อง Penthouse เพื่อให้ลูกค้าดูประกอบการตัดสินใจ

เวลาผ่านไป ๒ สัปดาห์ ฉันเห็นเจ้าของโรงแรมสวมเสื้อสีดำกำลังอุ้มเจ้าแมวขนปุยที่ย้ายเข้าไปแทนเจ้าแมวสี่ตัวที่มีชื่อตามตัวการ์ตูนยามเช้าช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ขณะเจ้าสมเกียรติ ผดุง และเดชา ยังคงส่งสายตาปริบ ๆ มาให้ฉันเหมือนเดิม

เมื่อแมวบางห้องพักอยู่นาน ความผูกพันระหว่างคนดูแลกับแมวก็เกิดขึ้น

ไม่ว่าฉันจะชี้ไปกรงไหน ทั้งเจ้าของโรงแรมและพนักงานจะช่วยกันเล่าความทรงจำที่พวกเขามีต่อแมวแต่ละบ้านได้อย่างแจ่มแจ้ง ราวกับเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวาน พลางพาไปเยี่ยมเยียนแมวหลาย ๆ บ้านจนเสื้อสีดำสนิทของเจ้าของโรงแรมเต็มไปด้วยขนแมว

อดคิดไม่ได้ว่าขนาดฉันมาที่นี่เป็นครั้งที่ ๒ ยังอดถามถึงชมัยพรและมาเรียที่กำลังใช้เล็บฝนกระเป๋าเป้ของฉันในทันทีที่เข้ามาในโรงแรมไม่ได้ แล้วพนักงานจะรู้สึกอย่างไรในวันที่แมว โดยเฉพาะบางตัวที่อยู่นานหลายเดือนหลายปีต้องกลับคืนสู่อ้อมอกเจ้าของ

กรรมการผู้จัดการของโรงแรมเล่าว่าสมัยก่อนตอนน้องแมวบางตัว check out เขาเป็นคนขับรถไปส่งน้องที่บ้าน แต่ปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดูแลเรื่องนี้แทน และกำลังมองหาความร่วมมือกับธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้โรงแรมเติบโตมากขึ้น

“จริง ๆ มีเสียงเรียกร้องจากลูกค้าให้เปิดใกล้บ้าน เราก็พยายามจะขยายสาขาให้ทั่วถึง ต่อไปอาจมีบริการอาบน้ำแมวเพิ่มให้ครบวงจรด้วย”

ถึงแม้ Kofuku Cat Hotel จะเป็นโรงแรมแมวแห่งแรกของประเทศไทย แต่ทุกวันนี้ก็มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดโรงแรมแมวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีมากกว่า ๑๐๐ แห่ง

เจ้าของโรงแรมแมวให้ความเห็นว่า น่าจะเพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นรูปธรรม หากผู้ใดต้องการเปิดกิจการก็ทำได้เลยแต่คาดว่าจะมีการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมดูแลในอนาคต


ณ วันนี้ธุรกิจโรงแรมแมวจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับผู้มีสัตว์เลี้ยงให้สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเดินทางท่องเที่ยวหรือไปดูงานโดยไม่ต้องกังวลกับความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของเจ้าสัตว์สี่ขาในบ้านอีกต่อไป