Image

เต็นท์แมววางเรียงรายแทบไม่เห็นจุดสิ้นสุด หมายถึงการแข่งขันที่ยากซึ่งแมวตัวหนึ่งต้องเผชิญกับคำตัดสินของกรรมการ รวมถึงความเครียดเมื่อเวลาผ่านไป ชั่วโมงต่อชั่วโมง แต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงองค์ความรู้ที่เหล่าบรีดเดอร์จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

เสียงแมว บรีดเดอร์ กรรมการ
และสมาคมแมว
คนไทยบนเวทีประกวดแมวโลก
EP.2

แมวววว...

เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา, ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, ธเนศ แสงทองศรีกมล, สโรชา เอิบโชคชัย

นักเลี้ยง
สายประกวด

มีงานประกวดแล้วก็ต้องมีผู้ประกวด จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้คนในแวดวงการประกวดแมว พบว่าจำนวนผู้เข้าร่วมการประกวดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบรีดเดอร์ชื่อดังเพียงใดล้วนผ่านการเป็นมือสมัครเล่นบนเวทีการประกวดทั้งนั้น จากแค่เลี้ยงแมวเฉย ๆ เริ่มกลายเป็นทาสแมว เริ่มศึกษาลงลึกมาตรฐานสายพันธุ์ จนในที่สุดก็ก้าวเข้าสู่เวทีประกวด เพื่อท้าทายและทดสอบตนเองว่าแมวที่ตัวเองเสียหยาดเหงื่อและเม็ดเงินปลุกปั้นขึ้นมานั้น สวยงามเพียงใดในสายตาของกรรมการและคนอื่น ๆ

เซียน-ชาญณรงค์ ร่วมเผ่าไทย คือหนึ่งในคนที่ผู้เขียนอธิบายไว้ข้างต้น จากความต้องการเพียงแค่อยากหาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อนคลายเหงา แม้สัตว์เลี้ยงในความทรงจำจะเป็นเจ้าสัตว์สี่ขาร้องโฮ่ง แต่ด้วยเสียงโฮ่งของมันทำให้ไม่อาจอยู่ร่วมกับเซียนในคอนโดมิเนียมได้ ก็เลยได้เจ้าสัตว์สี่ขาร้องเหมียวมาเลี้ยงคลายเหงาแทน

ทว่าเจ้าเหมียวตัวนั้นมีโรคติดมาด้วย ไม่นานนักจากเจ้าเหมียวหนึ่งตัว เริ่มกลายเป็นสอง สาม “เลี้ยงไปเลี้ยงมาเริ่มติดครับ มันฮีลใจ ก็เลยกลายเป็นโครงการแมวงอก” เซียนเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย

Image

Table Judging ที่ซึ่งบรีดเดอร์ได้ฟังคำตัดสินและคำแนะนำจากกรรมการโดยตรง และหากแมวตัวนั้นสวย เข้าตากรรมการ ก็มีโอกาสได้เข้าประกวดในรอบที่ลึกต่อไป

ช่วงแรกเซียนนำเข้าแมวจากต่างประเทศ โดยเจ้าแมวตัวแรกที่รับเข้าบ้านคือสายพันธุ์บริติชชอร์ตแฮร์ ทว่าตัวที่ ๒ และ ๓ นั้นเป็นสายพันธุ์แร็กดอลล์ หนึ่งในเหตุผลก็คงเป็นอุปนิสัยค่อนข้างขี้อ้อนและติดเจ้าของ ซึ่งใกล้เคียงกับสุนัขในความทรงจำของเซียน และการเลี้ยงแร็กดอลล์นี่แหละที่พาเซียนก้าวเท้าเข้าสู่การทำฟาร์มแมว

“พอเริ่มเลี้ยงแร็กดอลล์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากจะเอาแร็กดอลล์เข้ามาในไทย ทำให้ผมเริ่มทําฟาร์ม เพราะสมัยก่อนแร็กดอลล์ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในไทยและน้องก็แพงมาก ตัวหลายแสน ตอนนั้นยังมีอยู่ไม่กี่ฟาร์ม เรารู้สึกว่าอยากให้คนไทยมีแมวนิสัยแบบนี้ที่ราคาเอื้อมถึง” เซียนอธิบาย

ก่อนเลี้ยงแมวระบบฟาร์ม เซียนเล่าว่าเขาไม่ได้ดูแลแมวดีนัก ๓-๔ เดือนก็ส่งไปอาบน้ำสักครั้งหนึ่ง การดูแลสุขภาพกายหรือขนก็ไม่ได้ทำอย่างถูกต้องเท่าไร ทว่าพอกลายมาเป็นระบบฟาร์ม แมวเยอะขึ้น การดูแลเรื่องสุขภาพหรือการสังเกตถึงความผิดปรกติที่เกิดขึ้นในฟาร์มนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เขาจึงเริ่มศึกษาวิธีการดูแลแมวอย่างจริงจัง มีระบบระเบียบ ใส่ใจทั้งเรื่องการอาบน้ำหรืออาหารการกินต่าง ๆ และเริ่มจัดสรรบริเวณที่เลี้ยงดูแมวให้เป็นระบบมากขึ้น เช่น การแยกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออกจากกัน แยกแมวสายเลือดใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันการผสมแบบเลือดชิด (inbreeding) หรือแยกกระบะทรายเพื่อป้องกันโรคที่ติดต่อกันจากของเสีย

เซียนจดทะเบียนฟาร์มในชื่อ Royal Ragdoll Thailand เป็นฟาร์มแมวสายพันธุ์แร็กดอลล์ในจังหวัดสิงห์บุรี  หลังจากทำฟาร์มแมวไปพักใหญ่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปที่อยากครอบครองแร็กดอลล์ ทว่าเขาเริ่มสงสัยและอยากรู้ว่าเจ้าแมวแร็กดอลล์จากฟาร์มของเขาที่มันสวยในสายตาของผู้ซื้อ มันจะสวยตามมาตรฐานสายพันธุ์ของแร็กดอลล์หรือเปล่า

“คือเรามีประสบการณ์ในการหาแมวให้ลูกค้า แต่ก็ไม่มั่นใจว่ามันถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์หรือเปล่า บางทีมันสวยในสายตาเรา แต่สำหรับกรรมการมันอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานของสายพันธุ์ก็ได้ เราจึงอยากได้แร็กดอลล์ที่ตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์จริง ๆ” เซียนเล่าถึงช่วงที่ตัดสินใจเข้าสู่การประกวดแมว

“มันทำให้สังคมเรากว้างขึ้น หาวัตถุดิบง่ายขึ้น  เพราะเราอยู่ในสังคมประกวด ต่างชาติรู้จัก เราขอแบ่งแมวได้ เช่นเดียวกันเขาขอแบ่งแมวเราได้เหมือนกัน  เราก็จะซื้อขายในกลุ่มนักประกวด”

Ragdoll เป็นอีกสายพันธุ์ที่เริ่มนิยมเลี้ยงในประเทศไทย

Image

แมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศ หนึ่งในผู้ประกวดบนเวที WCF 

แม้มาตรฐานสายพันธุ์จะถูกเขียนไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นั่นไม่อาจเรียนรู้ได้เท่ากับได้สัมผัสร่างกายจริงของแมว การประกวดแมวครั้งแรกของเซียนและแร็กดอลล์เกิดขึ้นในงานประกวดของสมาคม ARC เขาและเจ้าแร็กดอลล์เดินทางจากสิงห์บุรีมาที่เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน สัมภาระที่เตรียมไปมีแค่ร่างกายกับหัวใจที่อยากประกวดแมวเท่านั้น

การประกวดแรกประสบความสำเร็จกว่าที่คาด เจ้าแมวแร็กดอลล์เพศผู้ที่เซียนพาไปเจิมสนามประกวดนั้นเข้าตากรรมการในการประกวดรอบริงจนได้รับเลือกเข้าสู่รอบมาสเตอร์ริง (Master Ring) ซึ่งเป็นรอบการแข่งขันสำหรับแมวทุกสายพันธุ์ที่คัดมาแล้ว เจ้าแร็กดอลล์ของเซียนคว้าอันดับที่ ๓ มาได้

ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าแร็กดอลล์ตัวนี้ก็เข้าตากรรมการในการประกวดรอบ Table Judging และถูกคัดเลือกให้เข้าไปประกวดรอบสุดท้ายของวันที่เรียกว่า “Best in Show” ในรอบนี้จะแข่งขันโดยแบ่งตามรุ่นอายุก่อน แต่มีเพิ่มขึ้นมาหนึ่งรุ่น คือ แมวหมัน แมวเด็ก แมวจูเนียร์ และแมวโต แล้วจะแบ่งแยกลงไปอีกตามลักษณะของขน โดยแบ่งเป็นขนยาว ขนกึ่งสั้นกึ่งยาว ขนสั้น Siamese/Oriental และไร้ขน แมวที่ได้อันดับ ๑ ในแต่ละรุ่นและลักษณะขนก็จะกลายเป็น Best in Show ในวันนั้น และสุดท้าย Best in Show ในแต่ละรุ่นก็จะมาแข่งขันกันอีกครั้งเพื่อหา “Best of Best” ซึ่งเจ้าแร็กดอลล์ของเซียนก็คว้า Best in Show มาได้ตั้งแต่การประกวดครั้งแรก

“งานประกวดมันเหมือนยาเสพติด เริ่มเกิดความประทับใจเพราะไปครั้งแรกก็ปังเลย คนก็เริ่มสนใจเราสนใจแร็กดอลล์ ก็รู้สึกสนุก ตั้งแต่นั้นมาก็ลงแข่งมาตลอดเลย” เซียนเล่าถึงความรู้สึกแรกในการประกวด

แต่อย่างไรก็ดีเซียนมองว่าการได้รางวัลเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่สำคัญคือการได้พูดคุยกับคนในวงการแมวที่เต็มไปด้วยความรู้ ซึ่งเปิดโลกทัศน์ให้เขามากกว่าแค่ทำฟาร์มแมวอย่างเดียว หรือการได้รับฟังการติชมของกรรมการที่ช่วยยกระดับการพัฒนาแมวของเซียนได้เป็นอย่างดี

“ตอนแร็กดอลล์เข้ามาใหม่ ๆ มาตรฐานสายพันธุ์อาจจะยังไม่นิ่ง (ในประเทศไทย) เราก็จะได้เจอกรรมการที่เขาตัดสินแร็กดอลล์มาเยอะ ๆ กรรมการก็จะแลกเปลี่ยน ได้แสดงความคิดเห็นกันว่าจะต้องเป็นแบบนี้แบบนั้นนะ” เซียนอธิบายต่อ

เขาเดินทางไปประกวดแมวทุกเวทีโดยไม่เกี่ยงสมาคม การผ่านประสบการณ์หลายเวทีทำให้เขามองว่าเวทีการประกวดของ WCF ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้เริ่มต้นผสมพันธุ์แมวหรือผู้ที่เพิ่งเข้าสู่วงการประกวดแมว เพราะรอบ Table Judging ได้มีโอกาสเรียนรู้กับกรรมการผู้คร่ำหวอดในวงการแมว ต่างจากเวทีของสมาคมอื่น ๆ ที่บรีดเดอร์มีหน้าที่เพียงแค่อุ้มแมวไปให้กรรมการตัดสินเท่านั้น

“เลี้ยงไปเลี้ยงมา เริ่มติดครับ มันฮีลใจ ก็เลยกลายเป็นโครงการแมวงอก”

British Shorthair ขาประจำของการประกวดแมว ที่ไม่ว่าไปเวทีใดก็ต้องเจอ

ปัจจุบันเซียนอยู่ในวงการแมวมาร่วม ๑๐ ปีแล้ว โดย ๔-๕ ปีหลังก็มีส่วนร่วมในงานประกวดแมวมากมาย แต่หากถามหาถึงกำไรที่เหล่าบรีดเดอร์จะได้รับในการประกวดแมว ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งนั้นในพจนานุกรมของบรีดเดอร์ “การประกวดไม่ได้เงินกลับไปอยู่แล้ว น่าจะมีแต่จ่ายอย่างเดียว” เซียนเล่าพลางหัวเราะลั่น

เซียนนั่งคิดอยู่ครู่เดียวก็ได้เป็นตัวเลขออกมาว่า “๓ แสนบาท” นี่คือจำนวนเงินที่เขาเสียไปจากการก้าวเท้าเข้าสู่การประกวดแมว ซึ่งส่วนใหญ่หมดไปเป็นค่าสมัคร ยิ่งต้องการเก็บใบ certifif icate มากเท่าใดก็ต้องจ่ายเท่านั้น เมื่ออยู่ในช่วงของการประกวดก็จะมีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลแมว เช่น ค่าอาหาร ค่าอาหารบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะค่าอาบน้ำ ที่เมื่อก่อนเซียนก็ว่าจ้างร้านที่กรุงเทพฯ ซึ่งหมายรวมถึงค่าขนส่ง ค่าโรงแรมแมว และโรงแรมคนด้วย

“ช่วงหลังคือไปเรียนอาบน้ำเองแล้วครับ ส่งอาบน้ำบ่อย ๆ ไม่ไหว” เซียนเล่าติดตลกแต่ได้ลงเรียนจริง

เซียนมองว่ากำไรที่แท้จริงจากการประกวดแมวคือ “ชื่อเสียงและความนิยม” ที่จะเกิดขึ้นภายหลังมากกว่า หลังจากที่เขาเริ่มมาประกวดแมวทั้งเขาและฟาร์มของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีเครือข่ายผู้เลี้ยงแมวด้วยกันเพิ่มขึ้น หรือกระทั่งลูกค้าที่เข้ามาซื้อจากฟาร์มของเซียนเมื่อเห็นว่าแมวตัวนั้น ๆ ผ่านเวทีการประกวดมาแล้ว ก็เพิ่มโอกาสที่แมวตัวนั้นจะได้รับการอุปการะจากครอบครัวใหม่ด้วย ซึ่งสำหรับเซียนแล้วสิ่งเหล่านี้คือ “กำไร”

แน่นอนว่าปลายทางสุดท้ายของผู้ประกวดแมวในสมาคม WCF คือตำแหน่ง World Champion ทว่าปลายทางของเซียนกลับไม่ใช่เรื่องนั้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่เริ่มบานปลายจากการลงประกวดแมว และยิ่งเป็น Champion ในระดับที่สูงขึ้นไป นั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเก็บใบ certifif icate ฉะนั้นปลายทางที่เซียนมองขณะนี้คือการยกระดับฟาร์มของตนเองให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นและยกระดับการพัฒนาสายพันธุ์แมวให้ดีกว่าเดิม

“ถ้าเรายังไม่เคยประกวดก็พูดได้ไม่เต็มปาก งานประกวดจึงเหมือนเป็นเครื่องยืนยันว่าฟาร์มของเราได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ” เซียนเอ่ยอย่างหนักแน่น

Image

แมว Ragdoll จากฟาร์ม Royal Ragdoll Thailand ของ ชาญณรงค์ ร่วมเผ่าไทย เข้าประกวดเพื่อให้แร็กดอลล์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย จนปัจจุบันเขาเป็นบรีดเดอร์แร็กดอลล์ที่น่าจับตามอง

เส้นทางสายโหด 
กว่าจะเป็นกรรมการ WCF

คนหนึ่งที่แรกเริ่มเป็นเพียงคนเลี้ยงแมวทั่วไป เธอเริ่มจากแมวไทยบ้าน สักพักก็นำเข้าแมวจากต่างประเทศมาเลี้ยง ซึ่งทำให้ต้องศึกษาเงื่อนไขในการเลี้ยงแมวต่าง ๆ เช่น ระบบใบเพ็ดดีกรี การจดทะเบียนฟาร์ม และการประกวดแมว เธอกับครอบครัวได้เข้าไปรู้จักกับเจ้าของเดิมของ ARC (ก่อนจะเปลี่ยนมือมาเป็นกันและออย) ตั้งแต่นั้นเธอก็เริ่มเข้าสู่วงการประกวดแมวพร้อมทั้งเข้ามาช่วยงานสมาคม ARC ในเรื่องการดูแลเอกสารต่าง ๆ

ทว่าปลายทางที่เธอต้องการไม่ใช่บรีดเดอร์ที่มีชื่อเสียงแต่เธอต้องการเป็น “กรรมการ” มากกว่า

เอ๋-สุมิตตา สรรพกิจ เข้ามาร่วมการประกวดแมวอยู่สักพักหนึ่ง แต่ด้วยทักษะทางภาษาทำให้เธอมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งสจ๊วต (Steward) ให้สมาคม ARC คือเป็นผู้ช่วยกรรมการในการประกวด อย่างเช่น หากเป็นรอบ Table Judging ก็จะคอยแปลข้อเสนอที่กรรมการอธิบายให้ผู้เข้าประกวด หรือหากเป็นรอบ Ring ก็จะเป็นผู้คอยเรียกให้ผู้ประกวดนำแมวมาให้กรรมการตัดสิน

Image

บรรยากาศการสอบเป็นกรรมการ ณ ประเทศโรมาเนีย มือหนึ่งของ สุมิตตา สรรพกิจ กำลังขีดเขียนคำตัดสินให้เจ้าแมวสายพันธุ์ Devon Rex ที่เธอจับไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ยากจะพบในงานประกวดแมวในประเทศไทย

ภาพ : สุมิตตา สรรพกิจ
หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมการค้าแมวจดทะเบียน (ARC) และ WCF International Judge

แรก ๆ เธอเป็นสจ๊วตตามที่ได้รับมอบหมายจากสมาคม สักพักเธอเริ่มเป็นตัวหลักในตำแหน่งสจ๊วตและสนุกไปกับมัน

“พอทำไปสักพักหนึ่ง เรารู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเอง ต้องการเพิ่มศักยภาพในการพิจารณาเอกสารของแมวหรือการให้คำแนะนำกับฟาร์มต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ ARC อย่างมีประสิทธิภาพ เลยตัดสินใจว่าต้องสอบเป็นกรรมการ” เอ๋เล่าถึงความรู้สึกที่พาให้เธอก้าวเข้าสู่การเป็นกรรมการ

เส้นทางการเป็นกรรมการของสมาคม WCF นั้นมีอยู่สามขั้นตอนหลัก ขั้นแรกคือการเป็นสจ๊วต โดยนอกจากจะเป็นผู้จัดการแมวให้มาเจอกับกรรมการแล้ว ยังต้องดูแลความสะอาดของโต๊ะประกวดให้เรียบร้อย เพราะแมวอาจติดเชื้อโรคได้ (แมวทุกตัวจะขึ้นโต๊ะประกวดเดียวกัน) หลังจากงานประกวดเสร็จสิ้น สจ๊วตจะได้ใบ certificate มาหนึ่งใบ มีรายละเอียดเขียนไว้ว่าวันนี้เป็นผู้ช่วยตัดสินแมวในสายพันธุ์อะไรบ้าง จำนวนเท่าใด รวมถึงประเมินคุณสมบัติอื่น ๆ ของสจ๊วตผู้นั้นไว้ด้วย  สจ๊วตจะต้องเก็บใบ certificate นี้ให้ครบ ๒๐ ใบ รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น สจ๊วตจะต้องผสมพันธุ์แมวมาไม่ต่ำกว่า ๔ ปี หรือมีแมวที่ชนะระดับ Grand International Champion ไม่น้อยกว่าสามตัว เป็นต้น เงื่อนไขเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการเข้าใจระบบและขั้นตอนในการประกวดอย่างแม่นยำ

เมื่อครบเงื่อนไขอื่น ๆ และสะสมใบ certificate ครบตามกำหนดแล้ว ขั้นที่ ๒ ก็คือสจ๊วตผู้นั้นสามารถยื่นขอสอบเป็น “Student Judge” ได้ โดยต้องเลือกว่าจะเป็น Student Judge ในลักษณะขนแบบใด (เลือกสองแบบ) การสอบในขั้นตอนนี้จะเน้นทฤษฎีเป็นหลัก องค์ความรู้ในการสอบก็คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกฝนในระดับสจ๊วตกว่า ๒๐ ครั้งนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทั่วไปของสมาคม WCF สายพันธุ์แมว รหัสสีขนของแมว เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าสอบจะรู้ผลการสอบภายในวันที่สอบเลย และหากสอบผ่านก็จะขึ้นเป็น Student Judge ทันที

“พอทำไปสักพักหนึ่งเรารู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเอง ต้องการเพิ่มศักยภาพในการพิจารณาเอกสารของแมว หรือการให้คำแนะนำกับฟาร์มต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ ARC อย่างมีประสิทธิภาพ เลยตัดสินใจว่าต้องสอบเป็นกรรมการ”

วัฒนธรรมที่เห็นได้เฉพาะงานประกวดแมวในประเทศไทยเท่านั้นคือแฟชั่นโชว์ เหล่าบรีดเดอร์และทาสทั้งหลายจะพาน้องแมวแต่งองค์ทรงเครื่องตามรสนิยม ทั้งสาย street fashion, hip-hop หรือสไตล์ย้อนยุคใส่เครื่องหัวเครื่องคอ ในภาพคือแมวสฟิงซ์สวมชุดถักไหมพรม เพราะแมวพันธุ์นี้มีขนบางมาก จึงมักมีปัญหาเรื่องผิวโดยเฉพาะในห้องปรับอากาศหนาว ๆ

หน้าที่ของ Student Judge แตกต่างจากสจ๊วตตรงที่ว่าไม่ต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องความสะอาดแล้ว แต่ต้องตัดสินแมวที่ขึ้นมาประกวดบนโต๊ะเหมือนกับกรรมการ เว้นเสียแต่ยังไม่มีสิทธิ์แสดงความเห็นต่อเจ้าของแมวแม้จะมีความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์นั้นเป็นอย่างดีก็ตาม

แต่ก่อนที่ Student Judge จะเข้าไปฝึกฝนการตัดสินร่วมกับกรรมการในงานประกวดต่าง ๆ จะต้องยื่นความต้องการต่อสมาคมที่สังกัดอยู่ (อย่างเช่นเอ๋ที่สังกัดสมาคม ARC) และต้องยื่นคำขออนุญาตต่อกรรมการในงานนั้น ๆ ด้วยว่าจะมีนักเรียนไปฝึกฝนกับเขาในวันงาน ซึ่งกรรมการก็จะเตรียมตัวว่านักเรียนเป็นใคร เป็น Student Judge ในลักษณะขนแมวแบบใด เพื่อที่จะมอบหมายแมวในวันงานได้ถูกกระบวนการนี้จะกินเวลา ๑ เดือนก่อนวันงาน

การฝึกฝนของ Student Judge นั้นจะต้องเก็บใบ certificate ๓๐ ใบ แต่ใบรับรองนี้แบ่งตามลักษณะขนที่ผู้เข้าฝึกฝนเลือกไว้ หากงานประกวดแมวครั้งนั้นจัดทั้งหมด ๒ วัน Student Judge ก็จะเก็บใบรับรองได้ทั้งสองใบ และก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน ๔ ปี

“พี่เลือก Shorthair คู่กับ Siamese/Oriental การฝึกฝนครั้งหลัง ๆ กรรมการจะเริ่มให้เราตัดสินแมว ให้จับแมวเหมือนอย่างที่กรรมการจับ ตรวจสอบอวัยวะ ไล่ตั้งแต่ศีรษะ ลําตัว หลัง หาง ขา  ถ้าในบางสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจกับหูเป็นพิเศษก็เช็กหู” เอ๋อธิบายเพิ่มเติม

หลังการฝึกฝนในเวทีประกวดแต่ละครั้ง Student Judge
จะต้องเขียนรายงานที่เป็นคำตัดสินแมวแต่ละตัวในทัศนะของผู้ฝึกฝนเองและส่งให้กรรมการ จากนั้นกรรมการจะให้อธิบายว่าทำไมถึงตัดสินแบบนั้น ทำไมถึงให้เหตุผลแบบนี้ ถ้ามีส่วนไหนที่ผิดแปลกไปจากที่กรรมการมอง หรือไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ของ WCF กรรมการก็จะคอยชี้แนะให้ปรับปรุง รวมถึงมีการสอบทฤษฎีบ้างบางครั้ง เช่นในเรื่องของพันธุกรรมที่สำคัญอย่างมาก เพราะหากแมวตัวนั้น ๆ มีลายหรือสีที่ผิดไปจากหลักพันธุกรรม ก็แสดงว่ามันอาจถูกผสมพันธุ์มาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่ง Student Judge ก็จะต้องทำตามกระบวนการเหล่านี้จนครบ ๓๐ ครั้งนั่นเอง

British Shorthair หนึ่งในสายพันธุ์แมวที่นิยมมากในประเทศไทย

ใน ๓๐ ครั้งของการฝึกนั้นไม่จำเป็นว่าต้องฝึกแค่ในประเทศไทย เอ๋เล่าว่าเธอเลือกไปฝึกฝนที่ต่างประเทศหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงในแถบยุโรปด้วย เธอมองว่างานประกวดแมวในประเทศไทยยังมีสายพันธุ์แมวที่ไม่หลากหลายมากนัก

“ในเอเชียจะคล้าย ๆ กัน คือจะมีแค่สกอตติชโฟลด์หรือบริติชชอร์ตแฮร์ นาน ๆ ทีเราจะเจอไลคอย อะบิสซิเนียน  บางสายพันธุ์ไม่มีในเอเชียเลย แต่นิยมมากในยุโรปซึ่งการเป็นกรรมการของ WCF ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นระดับสากล” เอ๋ยกตัวอย่าง

ครั้งสุดท้ายของการฝึกฝน Student Judge เอ๋เลือกประเทศโครเอเชียและตัดสินใจสอบที่ประเทศโรมาเนีย

หลังจากสะสมครบ ๓๐ ใบ Student Judge จะต้องยื่นเอกสารต่อสมาคมที่สังกัดอยู่ว่าพร้อมสอบเป็นกรรมการ ทางสมาคมก็จะยื่นเอกสารต่อสมาคม WCF และติดต่อขอเชิญกรรมการจาก WCF มาเป็นผู้คุมสอบ

การสอบนี้จะเกิดขึ้นในงานประกวดจริงและมีรายละเอียดมากขึ้นจากตอนสอบเพื่อเป็น Student Judge โดยจะแบ่งเป็นทั้งการสอบทฤษฎีและปฏิบัติ การสอบทฤษฎีนั้นจะบรรจุคำถามที่เกี่ยวกับกฎของการประกวด ระบบการให้คะแนนมาตรฐานสายพันธุ์ และเรื่องกรรมพันธุ์ของแมวที่ลึกและละเอียดกว่ารอบ Student Judge โดยผู้เข้าสอบจะต้องทำคะแนนให้ผ่านเกณฑ์ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถึงจะได้รับโอกาสในการสอบภาคปฏิบัติ

การสอบภาคปฏิบัติจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวัน ผู้เข้าสอบจะได้รับโต๊ะการประกวดแยกออกมาต่างหาก มีสจ๊วตคอยอุ้มแมวมาให้ผู้เข้าสอบตรวจสอบและตัดสิน แต่ผู้เข้าสอบนั้นไม่มีสิทธิ์พูดคุยกับเจ้าของแมวที่นั่งอยู่ตรงหน้า ทำได้เพียงตัดสินแมวและเขียนคำตัดสินนั้นเป็นรายงานที่ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเขียนได้  แมวที่ถูกนำมาให้ผู้เข้าสอบตัดสินล้วนเป็นแมวที่ผ่านตากรรมการหลักในวันนั้นทุกตัว ฉะนั้นหมายความว่ารายงานนั้นต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นไปตามคำตัดสินของกรรมการหลัก แต่หากแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กรรมการก็จะเรียกแมวตัวนั้นมาตัดสินร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งผู้เข้าสอบยังต้องเลือกแมวที่เข้ารอบ Best in Show ให้ตรงกับแมวที่กรรมการเลือกอีกด้วย

Image

Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image

“เราต้องเขียนรายงานแมวทั้งหมด ๓๐ ตัว เขียนละเอียดกว่ากรรมการอีก ชนิดที่ว่ากระดาษไม่พอเลยถ้าแมวตัวนั้น grooming มาไม่ดี แต่เราดันไปเขียนว่าดีกรรมการก็จะเรียกแมวตัวนั้นกลับมาดู เราจะเขียนรายงานมั่ว ๆ ไม่ได้เลย” เอ๋อธิบาย

ท่ามกลางบรรยากาศประเทศเจ้าของประวัติศาสตร์แดร็กคูลาอย่างโรมาเนีย ผิวกายขาวผ่องดวงตาสีฟ้าของชาวโรมาเนียที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากหนังแวมไพร์ที่เคยดู ด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปชวนให้เอ๋ค่อนข้างกังวลกับการเดินทางไปสอบเป็นกรรมการของ WCF ในครั้งนั้น

“ตอนสอบคือเกร็งมาก เครียดมาก เพราะเราคิดว่าฝรั่งเขาเข้มงวดเรื่องเวลา ปรกติกรรมการจะใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างเร็ว แต่อย่างเราเนี่ยอาจจะช้า เพราะว่าคิดแล้วคิดอีก พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อไม่ให้พลาด” เอ๋บรรยายถึงความกังวลในตอนนั้น

ทว่าเมื่อถึงสนามจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เอ๋เล่าว่าทีมงานที่งานประกวดต้อนรับเธออย่างดี สจ๊วตที่อยู่โต๊ะเดียวกับเธอก็ช่วยเหลือเต็มที่ อีกทั้งบรีดเดอร์ที่เป็นเจ้าของแมวที่เธอจะต้องตัดสินก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่เช่นกัน เพราะเขารู้ว่าเอ๋กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการสอบ

“ปรกติกรรมการจะเป็นฝ่ายพูดให้ผู้เข้าประกวดรู้สึกผ่อนคลาย เพราะว่าผู้เข้าประกวดจะเป็นมือใหม่บ้างอะไรบ้าง แต่ในขณะที่พี่สอบ กลายเป็นว่าบรีดเดอร์ต้องมาคุยปลอบให้พี่ผ่อนคลาย” เอ๋เล่าพลางหัวเราะ

ครั้งนั้นเอ๋เลือกสอบกับ Albert Kurkowski และ Jürgen Trautmann ในสนามประกวดของ Beverly Elian ซึ่งเป็นประธาน Judges and Pedigree Registration Commission และเธอก็รับผิดชอบในเรื่องข้อสอบในการสอบกรรมการด้วย แม้การเลือกสอบกับประธานคณะกรรมการจะสร้างความกังวลอย่างมาก แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นการยืนยันหากเธอสอบผ่านว่า เธอคือของจริง ไม่ได้โชคช่วย

“จริง ๆ ท่านเข้มงวดมาก แต่ในงานคือท่านน่ารักมาก ท่านยังเล่าให้ฟังเลยว่าตอนที่ท่านสอบครั้งแรก ท่านเครียดขนาดไหน คือเราก็จะเห็นว่าในความเข้มงวดนั้นก็จะมีความเห็นอกเห็นใจกัน” เอ๋เล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชื่อเอ๋-สุมิตตา สรรพกิจ ปรากฏบนเว็บไซต์ในฐานะคนไทยคนแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกรรมการของสมาคมในรอบ ๓๖ ปีของ WCF

ปัจจุบันเธอเป็นกรรมการที่สามารถตัดสินแมวขนสั้นได้ทั้งหมดและอยู่ในระหว่างการสอบลักษณะขนอื่น ๆ เพื่อที่จะขึ้นเป็นกรรมการ All Breed ที่ตัดสินแมวได้ทุกชนิดขน ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะเธอฝึกฝนเหมือนอย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น ทว่าต้องทำแบบนั้นไปในทุกลักษณะขนนั่นเอง

“เป็นการเปิดโลก WCF ในไทยออกไปอีก จากที่เราเคยมองว่างานประกวดแมวเป็นเรื่องยาก การเป็นกรรมการเป็นเรื่องยากและไกลตัว แต่การที่เราพัฒนาตนเองจนก้าวมาเป็นกรรมการได้ คนในวงกว้างก็จะได้ทราบกันว่าคนไทยหรือคนเอเชียอย่างเราก็ทำได้ และความท้าทายของการเป็นกรรมการคือการเพิ่มพูนความรู้จากประสบการณ์จริงที่เราไม่สามารถหาได้จากที่อื่น” เอ๋เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

Image

Image

เพ็ดดีกรี

ปัจจุบันการประกวดแมวคึกคักอีกครั้งหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาของโรคระบาดโควิด-๑๙ ผู้เข้าประกวดและคนแวดวงแมวพูดคล้ายกันว่าโรคระบาดทำให้ต้องอยู่บ้าน และการอยู่บ้านนั้นเต็มไปด้วยความเบื่อเหงาจนต้องหาแมวมาเยียวยาหัวใจ

สังเกตได้จากงานประกวดแมวหลากหลายสมาคมที่จัดขึ้นอย่างบ่อยครั้งในประเทศไทย จำนวนแมวและบรีดเดอร์ที่เข้าร่วมงานก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทางสมาคมแมวก็ต้องทำงานกันจนหัวหมุนเพื่อรองรับบุคลากรคนและแมวที่เพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้าของฟาร์มแมว บรีดเดอร์ หรือกระทั่งผู้เลี้ยงทั่วไปก็อยากจดทะเบียนเพื่อรับรองแมวทั้งนั้น

กันและออยเล่าว่าตั้งแต่มีการประกวดที่ไม่ค่อยจริงจังมากนักอย่าง Fun Show ที่คนทั่วไปนำแมวของตนมาลองประกวดได้ ไม่ว่าจะเป็นแมวไม่มีใบเพ็ดดีกรี แมวส้ม แมววัว กิจกรรมนี้ทำให้คนที่เพิ่งเข้าสู่วงการประกวดมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น และเขาเหล่านั้นก็สนใจที่จะทำใบเพ็ดดีกรีให้แมว หรือสนใจจดทะเบียนฟาร์มจริงจัง กระทั่งบางคนก็อยากจะเข้าร่วมการประกวดในรอบ Table Judging หรือ Ring ด้วย

ฉะนั้นตอนนี้ทั้งสองจึงอยากยกระดับงานหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มคนที่กำลังเข้ามาใหม่ ออยอธิบายว่าการจดทะเบียนต่าง ๆ ของสมาคมนั้นค่อนข้างมีเงื่อนไขเยอะ จนทำให้คนที่เพิ่งเข้ามาใหม่มีส่วนร่วมในวงการแมวได้น้อยกว่าที่ควร เธอยกตัวอย่างว่าหากมีคนต้องการจดทะเบียนฟาร์มแมวกับ ARC สิ่งที่สมาคมต้องการรู้อย่างมากคือสภาพความเป็นอยู่ของฟาร์มนั้น ๆ เลี้ยงแยกห้องหรือเปล่า (ป้องกันการผสม inbreeding) เลี้ยงสายพันธุ์อะไร แมวทุกตัวมีใบเพ็ดดีกรีหรือไม่ หรืออยากแลกเปลี่ยนใบเพ็ดดีกรีของสมาคมอื่นมาเป็นของ WCF ทาง ARC ก็จะเช็กย้อนกลับไปทุกรุ่นของแมวครอกนั้นเลยว่ามีตัวใดที่สีผิดเพี้ยนหรือไม่

Image

การได้รางวัลหาใช่เพียงโครงสร้างลักษณะของแมวเท่านั้น หากยังหมายถึงการได้รับความรักและการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่แมวจะแสดงออกให้เห็นบนเวทีประกวด

Image

แม้เงื่อนไขเคร่งครัดเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าบางกลุ่มหนีหายไป แต่กันและออยก็เชื่อว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องและดีอยู่แล้ว เพราะทำให้คนที่ได้ใบเพ็ดดีกรีหรือขึ้นทะเบียนฟาร์มแมวกับ ARC มั่นใจได้ว่าเป็นแมวและฟาร์มแมวที่ได้รับการคัดกรองอย่างดี

“ทุกวันนี้ขนาดเราเคร่งขนาดนี้ยังมีคนมาถามว่าทำไงดีคะแมวหลุดผสมพันธุ์ก่อนอายุที่ตั้งไว้ แล้วบางครั้งมันส่งผลเสียต่อตัวแมว น้องบางคนอาจยังไม่แข็งแรง ถ้าเกิดหลุดผสมแบบพ่อกับลูก น้องก็ยิ่งไม่แข็งแรง หรือบางคนก็อาจจะเถียงว่าน้องเกิดมาแล้วไม่เป็นอะไรเลย ก็ใช่ แต่ว่าไม่เป็นไรในตอนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นในอนาคต เพราะฉะนั้นเราควรที่จะป้องกันไว้ก่อนดีกว่า” ออยอธิบาย

สำหรับกันและออย งานประกวดแมวเป็นเครื่องยืนยันว่าแมวไทยไม่แพ้แมวใดในโลก ยิ่งแมวเหล่านี้เก็บรางวัลและไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ความน่าเชื่อถือไม่ได้เกิดขึ้นกับแมวตัวนั้นและบรีดเดอร์อย่างเดียว แต่หมายถึงองคาพยพทั้งหมดที่จะได้รับความน่าเชื่อถือไปพร้อมกันและเป็นเชื้อไฟในการพัฒนาวงการแมวต่อไป

เช่นเดียวกันกับเซียน เขามองว่าการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีอยู่ที่ดีที่สุดคือการนำแมวตัวนั้น ๆ เข้าสู่เวทีการประกวดเพราะเซียนเองก็เริ่มผสมพันธุ์จากองค์ความรู้ที่หาได้ทั่วไป ทว่าพอเขารู้มาตรฐานของสายพันธุ์ก็ทำให้แมวที่เขาพัฒนานั้นสวยงามกว่าเดิม อีกทั้งลูกค้าที่รับแมวจากเขาไปก็รู้สึกภูมิใจในแมวมาก เพราะมันเคยผ่านงานประกวดมาแล้วหรือไม่ก็เป็นลูกหลานของแมวที่คว้ารางวัลจากงานประกวดมาได้

อย่างแมวสายพันธุ์แร็กดอลล์ของเซียนในช่วงแรกที่มาตรฐานสายพันธุ์ยังเต็มไปด้วยคำถาม เขาก็อาศัยการเข้าร่วมงานประกวดเพื่อศึกษาว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าสวย “เรื่องโครงสร้างเรื่องขน ถ้าไปหาอ่านอย่างเดียวมันไม่เห็นภาพหรอกครับ มันมีเป็นมาตรฐานแต่ใช่ว่าทุกคนจะจินตนาการออก ต้องได้เห็นแมวตัวจริง” เซียนย้ำมุมมองของตนเอง

สำหรับเอ๋ เธอมองว่างานประกวดแมวนั้นสำคัญกับคนเลี้ยงแมวมาก โดยเฉพาะผู้ต้องการพัฒนาและขยายพันธุ์แมว แน่นอนว่าใบเพ็ดดีกรีจะเป็นเอกสารยืนยันแหล่งที่มาของแมวตัวนั้น ทว่าความสวยงามและมาตรฐานของสายพันธุ์ไม่ได้วัดจากใบเพ็ดดีกรี การได้ฟังคำติชมและคำแนะนำจากงานประกวดมากกว่าที่จะทำให้แมวตัวนั้น ๆ ก้าวข้ามตนเองและสวยขึ้นกว่าเดิม 

“งานประกวดยังคงจําเป็นสําหรับคนเลี้ยงแมว โดยเฉพาะ
สําหรับคนที่ต้องการขยายพันธุ์แมว เพื่อที่เราจะได้มีความรู้ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์หรือดูลักษณะของลูกแมวที่เกิดมาว่าถูกต้องไหม ถ้าเราผสมพันธุ์แมวแล้วได้ลูกแมวที่มีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน เราก็นำความรู้ที่ได้จากงานประกวดมาปรับกับแมวของตัวเองได้” เอ๋ย้ำกับผู้เขียน
...
หากบรีดเดอร์หรือเหล่ากรรมการใช้เวลาเป็นหลักปีเรียนรู้เรื่องแมว ๆ ก็นับว่าเป็นอภิสิทธิ์ของผู้เขียนที่มีโอกาสใช้เวลาเพียง ๒ วันในงานประกวดแมวของ WCF x WCC World Show เพื่อท่องความทรงจำและประสบการณ์ของผู้คร่ำหวอดในวงการแมวต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่ว่าจะลัดเวลาสักเพียงใดผู้คร่ำหวอดเหล่านั้นก็ยังมีเรื่องราวเล่าสู่กันฟังไม่มีหมด จนผู้เขียนชักสงสัยแล้วว่าเจ้าเหมียวสี่ขานั้นพาพวกเขาไปค้นพบเรื่องราวได้มากมายเช่นนี้ได้เชียว

งานประกวดสองงานที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ แม้จะเป็นงานประกวดเหมือนกัน ทว่าลึกลงไปในรายละเอียดกลับแตกต่างกันอยู่หลายขุม หากถามผู้ประกวดใน CFA เขาก็อาจบอกว่า CFA เข้มข้นกว่า แต่หากถามผู้ประกวดใน WCF ก็อาจจะได้คำตอบที่ตรงข้าม

เมื่อเป็นเช่นนั้นคนเดียวที่จะตัดสินใจว่าการประกวดของสมาคมใดดีที่สุดก็คงหาคำตอบที่แน่นอนไม่ได้ ฉะนั้นคำถามที่ว่า “งานประกวดใดเหมาะสมกับเราที่สุด” คงเป็นคำถามง่ายที่สุด และผู้ที่จะหาคำตอบได้ก็คือผู้ที่ตัดสินใจเข้าประกวดนั่นเอง

“สัมภาษณ์ขนาดนี้งานหน้าลงประกวดได้แล้วแหละ” หญิงแปลกหน้ากล่าวกับผู้เขียนระหว่างสัมภาษณ์ผู้ประกวด

“ก็คิดไว้ว่าแบบนั้นเหมือนกัน” ผู้เขียนเอ่ยตอบด้วยรอยยิ้ม  

Image