รถแห่
เสียงไทบ้านสู่มหรสพสัญจร
ลูกอีสานพลัดถิ่น
เรื่อง : จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ยังจำเสียงดังกึกก้องจากนักร้องบนรถแห่ ไฟสีสันสวยงาม และเครื่องเสียงที่อึกทึกครึกโครมจากงานวัดท่าพระ ฝั่งธนบุรี ในปี ๒๕๖๒ ได้ดี และนั่นเป็นจุดสนใจแรกที่ทำให้พาตัวเองเข้าสู่วงการการศึกษารถแห่อย่างจริงจังในฐานะนักเรียนมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องดนตรีในฉบับของชาวบ้านอีสาน ได้เห็นความเป็นไทบ้านอีสานยุคใหม่ผ่านมหรสพเคลื่อนที่อย่างรถแห่อีกมิติหนึ่ง
กว่าจะประกอบร่างเป็นรถแห่
รถแห่ มหรสพเคลื่อนที่สัญจรไปมาแห่งยุคสมัยทศวรรษ ๒๕๕๐-๒๕๖๐ เป็นการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมจากมหรสพสองทางในอีสานด้วยกัน คือ ๑. กลองยาว ในฐานะของการเป็นดนตรีแห่ในพิธีกรรม ใช้รถเข็นบรรทุกเครื่องเสียงและเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก และ ๒. หมอลำซิ่ง การแสดงดนตรีที่มีพัฒนาการมาจากหมอลำแบบเก่าในวัฒนธรรมลาวอีสาน สองสิ่งนี้ผนวกรวมกัน ก่อร่างสร้างตัวตนทางเสียงดนตรีจากคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นที่เห็นช่องทางการแสดงใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คือ เครื่องเสียง เครื่องดนตรีแบบระบบดิจิทัล และการดัดแปลงรถบรรทุกเพื่อการแสดงดนตรี
"กว่าจะมีวันนี้ เราได้ลองถูกลองผิดกันมาเยอะพอสมควร เสียเงินไปก็เยอะ"
พี่โอเล่ - สุวิทย์ ภาคบัว
เจ้าของรถแห่ย่องเบามิวสิค
รถแห่มักมีสองชั้น บริเวณชั้นบนเสมือนเป็นเวทีหรือพื้นที่แสดงที่นักร้องนักดนตรีใช้เล่นดนตรี ปัจจุบันเป็นแบบเปิดข้างได้ เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ชมกับนักแสดงได้เป็นอย่างดี
ส่วนบริเวณชั้นล่างเป็นพื้นที่ของผู้ควบคุมเสียง หรือในวงการรถแห่เรียกมือมิกซ์ มีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องเสียงของช่างเทคนิค สองส่วนนี้ทำงานร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผ่านระบบปฏิบัติการการเล่นดนตรีสมัยใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าแทบจะทั้งหมด ถือเป็นความรู้แห่งยุคสมัยของคนดนตรีอีสานที่ค่อย ๆ เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ธุรกิจบันเทิง
รถหกล้อบรรจุเครื่องเสียงเล่นสดไม่ใช่ของแปลกใหม่ในวัฒนธรรมอีสาน ชาวอีสานต่างคุ้นตาดีกับการเล่นดนตรีในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะในงานบุญบั้งไฟที่มีการประกอบรถขึ้นมาสำหรับเล่นดนตรีในวันแห่บั้งไฟเพื่อความสนุกสนาน
แต่นั่นเป็นเพียงการเล่นชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเลิกรางานบุญก็แยกย้าย นำรถไปประกอบกิจกรรมการงานอื่น ๆ ไม่ได้แต่งรถให้คงทนถาวรเพื่อใช้ในงานเฉพาะกิจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
“เล่นแบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้หน้าตาแบบนี้หรอก” คำกล่าวของพี่ช้าง ช่างทำรถแห่จังหวัดชัยภูมิ
รถแห่ของพี่ช้าง-สัญญา จุลชีพ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราวทศวรรษ ๒๕๔๐ โดยพี่ช้างทดลองใช้เครื่องปั่นไฟกับการแห่งานบวชของคนใกล้ชิดเป็นครั้งแรก จากการโอนย้ายเครื่องปั่นไฟของวงดนตรีหมอลำที่เคยได้ร่วมงานกัน จากนั้นดัดแปลง ทดลองระบบ จนสามารถรับงานอย่างจริงจังในเวลาต่อมา
ความรู้รวมถึงแนวทางการเล่นดนตรีแห่ในลักษณะนี้เพิ่มขยายมากขึ้นในดินแดนอีสานในช่วงทศวรรษ ๒๕๕๐ และในพื้นที่ชัยภูมิยังมีโรงงานประกอบรถแห่เจ้าดังคือเอกซาวด์ของ
เอกรินทร์ ทางชัยภูมิ ที่เติบโตในธุรกิจนี้ได้ดี จนขยายเครือข่ายและผลิตรถแห่อย่างมืออาชีพส่งออกทั่วประเทศ
“กว่าจะมีวันนี้ เราได้ลองถูกลองผิดกันมาเยอะพอสมควรเสียเงินไปก็เยอะ”
คำกล่าวอีกเสียงของผู้ประกอบการรถแห่ พี่โอเล่ หรือสุวิทย์ ภาคบัว เจ้าของรถแห่ย่องเบามิวสิค จากจังหวัดมหาสารคาม เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นรถแห่ เครื่องเสียง หรือมหรสพเคลื่อนที่สำเร็จรูปอย่างในปัจจุบันที่มีความนิยมแพร่หลาย เขาเริ่มต้นทำรถแห่มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๕๕๐ จนในปัจจุบันมีรถแห่ที่รับงานแสดงได้สองคันด้วยกัน รับทั้งงานแห่และงานจอดเล่น
“รถแห่” เสียงแห่งความม่วนของไทบ้านอีสานจากคอนเสิร์ตเคลื่อนที่ในงานบุญ
เสียงเฉพาะของรถแห่
แน่นอนว่าภาพจำของรถแห่คือหน้าตาของรถแต่ง บรรทุกลำโพงขนาดใหญ่ และเสียงดังกระหึ่ม คนชอบก็ชื่นชอบมาก แต่เหรียญมักมีสองด้านเสมอ ในส่วนคนที่ไม่ชอบเสียงดังก็ถึงขั้นปฏิเสธการมีอยู่ของรถแห่เสียงแข็งเหมือนกัน สิ่งนี้สะท้อนจากข่าวต่าง ๆ ที่กล่าวถึงรถแห่ว่ามีเสียงดังรบกวนและเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น ถึงขั้นเกิดพื้นที่มั่วสุม
รถแห่เป็นมหรสพและการแสดงที่โดยมากไม่มีเพลงเป็นของตนเอง มักนำเพลงของศิลปินอื่น ๆ มาผลิตซ้ำ ซึ่งมักพบสติกเกอร์ค่ายเพลงที่ติดตามรถแห่ต่าง ๆ นั่นแสดงถึงใบอนุญาต
การซื้อลิขสิทธิ์เพลงค่ายนั้น ๆ เป็นที่เรียบร้อย สามารถร้องเล่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รถแห่จึงมีสถานะเป็น cover band หรือวงดนตรีที่นำเพลงของคนอื่นมาร้อง แต่การร้องใหม่ของรถแห่น่าสนใจมากตรงที่สามารถนำเพลงที่เคยดังอยู่แล้วมาเล่นใหม่ในฉบับของตัวเอง จึงมักพบเพลงต่าง ๆ ที่ต่อท้ายว่า “เวอร์ชันรถแห่” ตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นั่นหมายถึงความเป็นดนตรีรถแห่มีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่แสดงถึงตัวตนของคนดนตรีรถแห่
สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนของดนตรีรถแห่คือความไว ในอดีตมีคำว่า “ซิ่ง” ในดนตรีอีสาน แปลว่าเร็ว จนมีการใช้คำนี้กับหมอลำ เป็น “หมอลำซิ่ง” หมายถึงหมอลำที่มีการประยุกต์มาให้สนุกสนานเร้าใจ ทันสมัย
ในปัจจุบันมีการนิยามศัพท์ที่ใช้สำหรับดนตรีที่มีความเร็ว ความไวนี้ว่า “จ้วด จ้าด” ซึ่งภาษาพูดนี้ถูกทำมาหยอกล้อในวงการเพลงอีสานและรถแห่ค่อนข้างแพร่หลาย เมื่อมีการขอเพลงหรือชวนหยอกล้อระหว่างผู้ชมและนักร้องมักจะเอ่ยถึงความจ้วดที่ว่า เพลงรถแห่จึงต้องเร่งเร้าจังหวะให้จ้วด เร็ว กระชับ และกระชากเพื่อเอาใจผู้ชมที่บางจังหวะต้องการความตื่นเต้น
ความสนุกสนาน ทันสมัย และเร้าใจผู้ชมจึงเป็นลักษณะเฉพาะของคนดนตรีอีสาน รวมถึงคนรถแห่ที่เป็นคนดนตรี
รุ่นใหม่ที่ยังต้องสื่อสารกับผู้ชมในท้องถิ่นอีสานผ่านงานบุญต่าง ๆ
ทักษะของนักดนตรีรถแห่คือการดึงผู้ชมให้มีส่วนร่วมจนเป็นมหรสพที่ครองใจวัยรุ่นหนุ่มสาว
ที่ทางรถแห่ รถสายพันธุ์อีสาน
งานพิธีกรรมท้องถิ่น
การแสดงรถแห่ในอีสานแบ่งเป็นสองรูปแบบหลัก ๆ คือ ๑. แบบแห่ นิยมใช้ในท้องถิ่น ทำหน้าที่รับใช้งานพิธีกรรมที่ยังคงมีอยู่อย่างคับคั่ง เช่น งานแห่นาค แห่บั้งไฟ แห่บุญผะเหวด แห่กัณฑ์หลอน ผ้าป่า เป็นต้น ๒. แบบจอดเล่น มักใช้ในกิจกรรมรื่นเริง เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งส่วนนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมหรสพที่ถูกใช้คล้ายกับหมอลำซิ่งหรือคอนเสิร์ตขนาดย่อม ๆ
กรณีวงย่องเบามิวสิคของพี่โอเล่ รถหนึ่งคันจะมีสมาชิก ได้แก่ นักร้องสามถึงสี่คน ชายหญิงสลับกัน ซึ่งมีนักร้องหมอลำและเป็นนักร้องที่ร้องเพลงร่วมสมัยได้ด้วย มือกลอง มือกีตาร์ มือคีย์บอร์ด และมือเบส ไม่รวมคนขับรถและผู้ติดตามที่ทำหน้าที่เป็นช่างบันทึกภาพและการแสดงสด
พี่โอเล่เล่าถึงลีลาการแห่เฉพาะของวงย่องเบามิวสิคให้ฟังได้อย่างน่าสนใจว่า การแห่ขบวนงานบุญต่าง ๆ ในพื้นที่อีสานใช้เวลา ๓-๔ ชั่วโมง เริ่มต้นด้วยลายแห่สบาย ๆ เอาใจกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ จากนั้นเริ่มขยับเปลี่ยนแนวมาเป็นเพลงสนุกสนาน ร่วมสมัยมากขึ้น
“นักดนตรีต้องหูไวตาไว หัดมองบรรยากาศรอบ ๆ ด้วย ว่าคนสนุกไหม ถ้าไม่สนุก ไม่ถูกใจ ก็พร้อมจะเปลี่ยนรูปแบบการเล่น”
ทักษะของนักดนตรีรถแห่ที่สำคัญคือไหวพริบและความช่างสังเกต เพื่อจะปรับเปลี่ยนอารมณ์ดึงผู้ชมให้มีส่วนร่วมได้ ทำให้พวกเขาขึ้นมาเป็นมหรสพที่ครองใจวัยรุ่นหนุ่มสาวและรับใช้งานบุญในอีสานได้แทบจะทุกเทศกาล
ดูจากตารางงานแล้วใน ๑ เดือน รถแห่ ๑ คันรับงานมากกว่า ๒๐ งานก็มี ถือเป็นยุคทองแห่งเสียงของดนตรีไทบ้านอีสานที่แท้จริง
"แน่นอนว่าภาพจำของรถแห่คือหน้าตาของรถแต่ง บรรทุกลำโพงขนาดใหญ่ และเสียงดังกระหึ่ม คนชอบก็ชื่นชอบมาก แต่เหรียญมักมีสองด้านเสมอ ในส่วนคนที่ไม่ชอบเสียงดังก็ถึงขั้นปฏิเสธการมีอยู่ของรถแห่เสียงแข็งเหมือนกัน"
กรณีงานแห่ทั่วไปที่มีเจ้าภาพหลักหนึ่งเจ้าภาพ หรืองานในหมู่บ้านเล็ก ๆ นิยมจัดหารถแห่มาแห่เพียงงานละหนึ่งวงเท่านั้น แต่งานที่ยิ่งใหญ่ระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด มักจะมีรถแห่มารวมตัวกันกว่า ๑๐ คัน โดยเฉพาะงานบุญบั้งไฟที่ถือเป็นงานแห่ขบวนที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งที่ชาวอีสานให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ดีในอดีตการใช้งานมหรสพหรือแนวงันในอีสานมักจะเงียบเหงาลงในฤดูกาลเข้าพรรษา เนื่องจากงดกิจกรรมทางพุทธศาสนา ทำให้กิจกรรมทางสังคมที่ผูกพ่วงจึงงดไปด้วย แต่ปัจจัยหนี้สินและค่าครองชีพบีบรัด คนดนตรีรุ่นใหม่จึงเสาะแสวงหาทางใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด
พวกเขารวมกลุ่มคืบคลานเข้าสู่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ หรือนิคมอุตสาหกรรมแถบภาคตะวันออก ตอบโจทย์ชาวแรงงานอีสานพลัดถิ่นผู้ไกลบ้าน จึงพบงานรถแห่ไม่เว้นแต่ละวันในพื้นที่ตลาดนัดใกล้โรงงาน พวกเขาเรียกงานในลักษณะนี้ว่า “มหกรรมรถแห่” หมายถึงงานชุมชนคนรถแห่ที่มีการแสดงรถแห่จอดเล่นกับที่มากกว่าสองคัน บางแห่งใช้เล่นสลับกับเวทีคอนเสิร์ตหรือหนังกลางแปลง เป็นสีสันชุบชูใจให้ชาวแรงงานอีสานพอได้หายคิดถึงถิ่นฐานบ้านเกิด
นอกอีสานในฐานะความบันเทิง
ของชาวอีสานพลัดถิ่น
จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละครบทชีวิตสั้น...
เพลง “ละครชีวิต” ของ “ไมค์ ภิรมย์พร” แม้จะโด่งดังมา
ตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๔๐ แต่เมื่อรถแห่ใช้เล่นในพื้นที่ของแรงงานอีสานครั้งใดจำต้องหยุดชะงักให้ทุกคนยืนซึ้ง เรียกสำนึกทางชาติพันธุ์ลาว อีสาน ผู้เป็นนักเดินทางผจญชะตาชีวิตอย่างในเพลง เป็นจุดสนใจสำคัญในการเปิดการแสดงดนตรีไกลบ้านได้เป็นอย่างดี
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมงาน “มหกรรมรถแห่” ในพื้นที่ชุมชนใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายงาน พบว่าในพื้นที่สี่เหลี่ยมล้อมสังกะสีในตลาดใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมยังเป็นเซฟโซนให้เหล่าแรงงานพลัดถิ่นบรรเทาจากความหวนคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน ได้พบปะพูดคุย รวมถึงมาร่วมแสดงออกวัฒนธรรมย่อย (subculture) ของตัวเองผ่านอาหาร ภาษา หรือดนตรี รถแห่และคนดนตรีจากอีสานได้ทำหน้าที่อย่างสมน้ำสมเนื้อ แลกกับค่าตั๋วราคา ๑๐๐ กว่าบาทของวัยรุ่นไกลบ้านได้เป็นอย่างดี
เสียงดนตรีจากรถแห่ดึงดูดความเป็นลูกอีสาน สร้างสำนึกร่วมผ่านภาษาและดนตรี แม้จะไม่มีการบรรเลงดนตรีสดด้วยเครื่องดนตรีอีสานเลยก็ตาม แต่ชาวรถแห่ยังคงสงวนผัสสะทางด้านเสียงเป็นอีสานไว้ได้อย่างแนบเนียน นักดนตรีรถแห่เลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการเลียนแบบเสียงเครื่องดนตรีอีสาน โดยใช้กีตาร์เลียนเสียงพิณ คีย์บอร์ดเลียนเสียงแคน และใช้โหวดเพื่ออรรถรสของการเป็นดนตรีแบบอีสาน หากเปรียบเทียบเสียงกับผัสสะทางด้านการรับรู้รสชาติก็ต้องบอกว่าเป็นความ “นัว” หรือกลมกล่อมของรสชาติดนตรีที่ลงตัวตามแบบฉบับของนักดนตรีรุ่นใหม่สายพันธุ์อีสาน ที่รู้จักปรับแต่งรสของเสียงในแบบที่ตัวเองต้องการ แบบความเป็นอีสานใหม่ที่เข้าใจทั้งตัวเองและรับรู้โลกภายนอกในเวลาเดียวกัน รถแห่จึงเป็นมหรสพที่มีความหลากหลายในตัวเองและไม่จำกัดปิดกั้นแนวเพลงใดแนวเพลงหนึ่ง
รถแห่สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของนักดนตรีอีสานที่มาจากหลากหลายกลุ่มคน หลากหลายชาติพันธุ์แบบที่อีสานเป็น เช่น รถแห่แบบที่เล่นหมอลำ หรือรถแห่แบบที่เล่นกันตรึม เป็นต้น
ความเป็นอีสานใหม่ทางดนตรีกับการรับใช้พิธีกรรมการแห่ในท้องถิ่นอีสาน
รถแห่หัวใจกันตรึม
รถแห่เป็นมหรสพที่เติบโตขึ้นมาจากคนท้องถิ่นอีสานผู้รักในเสียงดนตรีและรถแต่งสวยงาม แต่ในอีสานนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนออกมาจากการแสดงรถแห่ด้วยเช่นกัน
กรณีรถแห่มาจากอีสานตอนกลาง เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ มักจะร้องเล่นหมอลำสลับกับเพลงร่วมสมัยที่กำลังโด่งดัง มีการซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากค่ายดังเพื่อ
ใช้แสดงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันมีกลุ่มรถแห่ที่เกิดขึ้นมาจากดินแดนอีสานใต้ มีลักษณะทางดนตรีที่บ่งบอกชาติพันธุ์และรากเหง้าตัวเองได้อย่างน่าสนใจเช่นเดียวกัน
วงดนตรีรถแห่วารีศิลป์อีสานเป็นกลุ่มคนดนตรีรุ่นใหม่ก่อตั้งโดยหน่อง-กิตติชัย วารี อายุ ๒๗ ปี ชาวบุรีรัมย์ จุดเด่นคือการนำดนตรีกันตรึมมาประยุกต์เข้ากับวงดนตรีสมัยใหม่ มีซอและการร้องแบบกันตรึม ใช้ภาษาเขมรเป็นจุดขายสำคัญ
หน่องเล่าว่าพื้นฐานอาชีพเดิมของตนนั้นขับรถบรรทุกก่อนมาทำวง ปีนี้ก็เข้าปีที่ ๗ แล้ว ช่วง ๓ ปีให้หลังมานี้มีการปรับเปลี่ยนไปรับเป็นงานเวทีคอนเสิร์ตสลับกับงานรถแห่
“รถแห่ไปในเมืองลำบากขึ้น พวกเราเลยต้องพยายามปรับตัวให้เล่นได้ทุกที่ โดยปรกติวงเราเล่นดนตรีทุกแนว ทั้งหมอลำ
ลูกทุ่ง สตริง กันตรึม จุดสนใจสำคัญคือกันตรึมที่มีมาแต่แรก
ส่วนตัวคิดว่าดนตรีมันทำได้หลากหลาย ถ้ามาทางนี้งานเยอะขึ้น เพราะไม่เหมือนคนอื่น” หน่องกล่าว
รถแห่กันตรึมวงวารีศิลป์อีสานเริ่มก่อตัวและโด่งดังเรื่อยมา จุดเด่นนอกจากเสียงซอสำเนียงกันตรึมที่ลื่นไหล สนุกสนานแล้ว สิ่งสำคัญคือเสียงร้องภาษาเขมรที่บ่งบอกตัวตนของคนรถแห่ผู้มีถิ่นกำเนิดมาจากหมู่บ้านของชาวเขมรในบุรีรัมย์ คือการร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของ “อาจารย์โอม วารีศิลป์” ชื่อที่รู้จักในวงการ
นุ่งโสร่ง ผูกผ้าขาวม้า เสื้อเชิ้ต เคี้ยวหมาก คือภาพจำของอาจารย์โอม อภิชาติ อาจบำรุง นักร้องนักดนตรีรถแห่ชาวบุรีรัมย์ ประจำวงวารีศิลป์อีสาน อายุ ๓๕ ปี ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เขมร ผ่านการแสดงออกจากการร้อง เล่นดนตรีกันตรึมบนรถแห่ และโด่งดังในพื้นที่การแสดงออนไลน์
ผู้เขียนมีโอกาสไปชมการแสดงของวงนี้กว่าสองครั้ง เห็นบรรยากาศที่อาจารย์โอมขึ้นเวทีพร้อมมือซอคู่ขวัญ สนทนากับผู้ชมเป็นภาษาเขมรล้วน ๆ ก่อนจะอัดกันตรึมอย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งชั่วโมง คันชักซอที่สีเข้าสีออกสอดรับกับสำเนียง ภาษาการร้องที่มั่นใจว่าคนหน้าเวทีเกินครึ่งฟังไม่ออก แต่ให้ความบันเทิงที่สุดแสนจะบรรยาย ร่างกายมนุษย์นับสิบนับร้อยโยกตามเสียงจังหวะของดนตรี นับว่าเป็นประจักษ์พยานความสนุกสนานได้ดีเกินกว่าจะพรรณนา
"การเติบโตของรถแห่คู่ขนานระหว่าง
ความเป็นสมัยใหม่กับความเป็นพื้นถิ่นแบบเก่าในอีสาน"
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
อาจารย์โอม ชายหนุ่มผู้ที่คงอัตลักษณ์ในชาติพันธุ์เขมรของตน ทั้งด้านภาษา การแต่งกาย และดนตรี ได้รับการยกย่องเรียก “อาจารย์” เพราะถือเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในการเล่นดนตรีแบบเฉพาะตัวของตนเอง
เขาเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ที่เติบโตมากับวงการดนตรีตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี เริ่มเล่นในวงขมิ้นสีทอง วงดนตรีจากจังหวัดบุรีรัมย์ การแสดงดนตรีแห่ในสมัยนั้นยังไม่มีการร้องประกอบดนตรี เป็นเพียงแค่การบรรเลงดนตรีเป็นลายแห่ ซึ่งเป็นการเล่นดนตรีแบบเขมรทางอีสานใต้ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเล่นดนตรีผสมผสานแล้ว คือมีเบส กีตาร์ กลอง พิณ และซอ
“ผมอาศัยการเล่นดนตรีแบบครูพักลักจำ มือซอสมัยก่อนไม่ได้มีเยอะและขาดตลาด ไปเล่นเป็น ๑๐๐ กิโลก็ต้องขับมอเตอร์ไซค์ไป” คำกล่าวถึงชีวิตนักดนตรีของโอม
เส้นทางชีวิตสายดนตรีของเขาออกเดินทางครั้งสำคัญจากบ้านเพื่อไปอยู่วงโปงลางสะออน วงดนตรีอีสานที่โด่งดังมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ แต่อยู่
ในวงได้ประมาณเกือบ ๒ ปี มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดคือแม่ไม่สบาย เขาจึงกลับมาบ้านเกิดและเล่นดนตรีในท้องถิ่นอยู่หลายวง
“มาอยู่วารีศิลป์อีสานได้ ๕ ปีแล้ว แต่ต้องบอกก่อนว่าคนที่เอากันตรึมมาบุกกรุงคนแรกคือ ‘ดาร์กี้ กันตรึมร็อค’”
สมชาย คงสุขดี หรือ “ดาร์กี้ กันตรึมร็อค” นักดนตรีชาวสุรินทร์ผู้บุกเบิกเส้นทางดนตรีอีสานใต้แนวกันตรึมร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคนแรก ๆ ในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ ที่โอมยกย่องนับถือให้เป็นศิลปินต้นแบบ เป็นครูทางดนตรีและเป็นผู้แผ้วถางทางเดินให้นักดนตรีอีสานใต้รุ่นใหม่ ๆ ได้เดินตามรอย
โอมกล่าวว่า “เพลงกันตรึมจะร้องให้สุภาพก็ได้ ไม่สุภาพก็ได้ เช่นเดียวกับหมอลำ อีกอย่างคือกันตรึมต้องด้นกลอนเป็น เช่น จ้างไปเล่นงานแต่งก็ต้องมีกลอนสำหรับงานแต่ง เล่นในงานศพก็ต้องมีกลอนสำหรับงานศพ พูดง่าย ๆ ว่าคำที่ร้องออกไปทำให้คนฟังรู้สึกดีต่อจิตต่อใจของเขา”
เพลงที่ถือว่าเป็นเพลงแจ้งเกิดของอาจารย์โอมในฐานะศิลปินรถแห่ เริ่มมาจากการนำเพลงทำนอง “ก.ไก่” ของ “ดาร์กี้
กันตรึมร็อค” มาร้องมาเล่นกับซอแบบฉบับของกันตรึม จึงถูกใจผู้ฟัง เริ่มต้นจากกลุ่มคนในหมู่บ้านที่เป็นชาติพันธุ์เขมร แล้วค่อย ๆ แพร่กระจายสู่ผู้คนนอกวัฒนธรรมไกลออกไปเรื่อย ๆ ทั้งทางกายภาพและทางสื่อออนไลน์สมัยใหม่ โดยเฉพาะยูทูบที่ถือเป็นเวทีทองออนไลน์ พลิกชีวิตศิลปินในท้องถิ่นมาหลายต่อหลายคนแล้ว
“มันไม่ใช่แค่ท้องถิ่นนะ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม
เขาจะบวชลูกบวชหลานก็จ้างเรา อ่างทอง อยุธยา ลพบุรี
ก็ไปมาแล้ว เราก็เล่นสไตล์ของเราเลย แล้วก็ถามเขาว่าเล่น แบบนี้โอเคไหม ถ้าสนุกก็จะปล่อยให้เล่น แต่ถ้าบางงานเจ้าภาพมาบอกว่าไม่ค่อยเท่าไร เราก็จะลดความเป็นตัวเองลง กลับเข้าหาเพลงสมัยนิยม”
โอมบอกเล่าถึงการปรับตัวในหน้างานการแสดงที่บางครั้งไม่สามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ เนื่องจากเจ้าภาพและผู้ฟังไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมการเล่นดนตรีแบบกันตรึมนัก แต่หากงานใดสามารถเล่นได้อย่างอิสระ พวกเขาก็จะเผยตัวตนทางดนตรีออกมาอย่างคมชัดทั้งภาพและเสียง
รถแห่ : จากดนตรีใหม่ในพิธีกรรมท้องถิ่นอีสาน สู่เสียงแห่งไทยบ้านพลัดถิ่น
รถแห่สะท้อนตัวตนไทบ้านอีสานผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมที่เขย่าวัฒนธรรมกระแสหลักได้อย่างน่าสนใจ
จากการเป็นมหรสพในพิธีกรรมเล็ก ๆ ตามหมู่บ้าน ปรับปรุงแต่งเติมหน้าตา เครื่องเสียงและฝีมือ รวมถึงเรียนรู้การใช้งานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนรถแห่ขยับมารับงานเพื่อความบันเทิงมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเคลื่อนย้าย คืบคลานเข้าสู่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พื้นที่ย่านนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรับใช้แรงงานอีสานผู้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดมาสู้ชีวิต และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ถูกส่งผ่านและแสดงออกผ่านการแสดงอย่างที่คนดนตรีอีสานได้คัดเลือกปรับเปลี่ยน และถูกขับเคลื่อนด้วยทุนเล็ก ๆ จากท้องถิ่น จนเข้าเมืองได้อย่างภาคภูมิ
เสียงที่ถูกขับออกมาจากนักร้อง นักดนตรี ผ่านเครื่องเสียงอันทรงพลังของรถแห่ ประกอบกับไฟแสงสีวิบวับน่าสนใจ ทำให้เป็นจุดดึงดูดสายตาแวบแรกของผู้คน แต่สิ่งที่ดึงดูดใจจริง ๆ คือตัวตนที่ซ่อนอยู่ในคราบความโฉบเฉี่ยวเหล่านี้ นั่นคือ “เสียงไทบ้าน” เกิดจากผู้คนหรือไทบ้านอีสานนักเดินทางแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองเสมอ
รถแห่คือภาพแทนของวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวอีสานที่เกิดและเติบโตในชนบท รู้จักปรับตัวเข้าหาโลกสมัยใหม่ที่ตัวเองรู้จักก้าวข้ามขีดจำกัดของการเรียนรู้ กล้าคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จนข้ามพรมแดนออกนอกวัฒนธรรมของตนเอง “บุกกรุง” บุกตลาดโรงงาน รวมไปถึงทลายขอบเส้นแบ่งความโด่งดังทางกายภาพ กระโจนสู่ความดังในมิติของดนตรียุคดิจิทัลเป็นเสียงไทบ้านอีสานที่ตอบสนองกลุ่มคนอีสานทั้งในและนอกพื้นที่ได้อย่างดี เป็นยาเย็นเยียวยาจิตใจแรงงานไกลบ้านได้อย่างสมราคา
อ้างอิง
จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์. (๒๕๖๔). “รถแห่อีสาน : มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม”. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.