Image

ทั้งฉาก เวที ชุดประกอบการแสดงของหมอลำยุคใหม่ต้องทันสมัย ตื่นตา เร้าใจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนหลักสิบล้าน จึงมีไม่มากคณะที่มีศักยภาพจะทำได้ บางวงต้องยุบเลิกหรือไปเล่นอยู่กับคณะอื่น

หมอลำ
บันเทิงอีสานร่วมสมัย

EP.02
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ลำเรื่องต่อกลอน

จากบรรพกาลจนปัจจุบันหมอลำปรับเปลี่ยนพัฒนามาตามยุคสมัย ซึ่งอาจพอประมวลความและจำแนกกลุ่มตามรูปแบบวงได้ดังนี้

คนเดียวลำหลายเสียงตามท้องเรื่องนิทาน โคลงสาร หรือมหากาพย์ที่นำมาลำ  มีเสียงแคนและการแสดงบทบาท
ไปด้วย เรียกว่า “หมอลำพื้น”

เมื่อชายหญิงคู่หนึ่งกับหมอแคนลำกลอนตั้งโจทย์โต้ตอบกัน เรียกว่าลำโจทย์ลำแก้ เป็น “หมอลำกลอน” หรือ “หมอลำคู่”


ส่วน “หมอลำซิ่ง” มาจากหมอลำกลอน แต่ตัดเอาเฉพาะช่วงเต้ย เดินดง ชมนกชมไม้ ที่เรียกหย่าว ชมเรือนร่างอวัยวะหญิงชายกันแบบตรงไปตรงมา  เวทีลำซิ่งจะมีแต่เต้ยกับเต้น


และจากหมอลำพื้น เมื่อมีการเพิ่มผู้แสดงทั้งชายหญิงเป็นตัวละครตามเนื้อเรื่อง มีผู้ร่วมแสดงและเครื่องดนตรีประกอบมากขึ้นเรียก “หมอลำหมู่” หรือ “หมอลำเรื่องต่อกลอน” และพัฒนามาเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอนแอนด์คอนเสิร์ต ที่มีทั้งการโชว์เพลง เต้ย และการลำเรื่องในช่วงดึกสลับกันไป ซึ่งกำลัง
ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคปัจจุบัน
...

“ตามอุ๋งอิ๋งมาจากกาฬสินธุ์ เอาเฉพาะที่มาเล่นแถวใกล้ ๆ บ้าน พอเดินทางไปกลับได้ ขับรถมาเอง มากับแม่ที่ช่วยเป็น
สปอนเซอร์ให้ด้วย”

"หมอลำเรื่องต่อกลอนยุคนี้มีช่วงโชว์เพลงกับทีมนักเต้นที่ประดับแต่งตัวและหัวแบบจัดเต็ม ตื่นตาอลังการไม่แพ้วงดนตรีลูกทุ่งใหญ่ ๆ  มีช่วงลำเรื่องที่เป็นการแสดงเหมือนละครเวที โดยมีพิธีกรกับโชว์ตลกคั่นบางช่วง"

Image

เมื่อหมอลำเรื่องต่อกลอนยุคใหม่ปรับตัวให้มีโชว์วาไรตี การแสดงตลกก็เป็นหนึ่งในรายการชูโรงของแต่ละคณะ ซึ่งเรียกความสนใจจากคนดูได้ไม่ต่างจากนักแสดง

Image

หมอลำหมู่จะมีผู้แสดงครบตามจำนวนตัวละคร สวมเสื้อผ้าสมจริงตามท้องเรื่อง แต่ตัวตลกจะแต่งผิดแผกแหวกแนวออกไป

ตรงนั้นเป็นหน้าเวทีหมอลำคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ แต่เมื่อได้คุยกับบางคนที่มาปูเสื่อนั่งรอชมการแสดง ถึงได้รู้ว่าแฟนหมอลำจำนวนหนึ่งมารออุ๋งอิ๋ง ศิลปินหมอลำรุ่นเยาว์มาแรง จากคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง ที่จะมาร่วมเล่นบนเวทีนี้ด้วย

คณะหมอลำยุคใหม่มักมีซูเปอร์สตาร์เป็นแม่เหล็กดึงดูด
คอหมอลำมาเป็นผู้ตามติดกันไปในแทบทุกเวที ที่เรียกกันในภาษาร่วมสมัยว่าแฟนคลับ หรือ FC ในความหมายทำนองเดียวกับแม่ยก

“เสียงเขาเพราะมาก มาเป็นกำลังใจ รอให้ทิปหน้าเวที และถ่ายคลิปไปลงยูทูบ” เจ้าของช่องยูทูบจากกาฬสินธุ์เผยใจ


แฟนหมอลำยุคใหม่แทบทุกคนมักมาพร้อมกล้องบันทึกภาพและคลิป นอกจากเก็บไว้ดูเอง ตากล้องจำนวนหนึ่งนำลงเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และหมอลำยุคใหม่บางทีก็วัดความสำเร็จกันจากยอดวิวยอดไลก์ในโซเชียลฯ


ตากล้องบางคนเป็นหญิงวัยอาวุโส เห็นเธอตั้งกล้องจองที่ถ่ายคลิปอยู่หน้าสุดของเวทีแต่หัวค่ำ ตั้งแต่บนเวทียังติดตั้งฉากไม่เสร็จ เมื่อเข้าไปคุยด้วยถึงรู้ว่าเป็นครูเกษียณที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เธอก็เป็นแฟนประจำคนหนึ่ง
ของคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง

“ฐานเสียงของคณะสาวน้อยฯ เป็นแสน เราลงทีไรคนดูเป็นแสน พอรู้ว่าอุ๋งอิ๋งจะมาขึ้นเวทีนี้คนก็มารอ”

ศรายุทธ วังคะฮาต แฟนหมอลำจากคำชะอี เป็นอีกคนที่ได้เจอแถวหน้าเวทีหมอลำคณะรัตนศิลป์ฯ ที่ลานริมบึงสีฐาน ขอนแก่น ในคืนวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖

“โตมากับหมอลำทำนองกาฬสินธุ์แถวบ้าน” เขาเล่าเหตุผลในใจที่ทำให้ชื่นชอบเวทีหมอลำมาตั้งแต่เริ่มเป็นหนุ่ม มาจนถึงวัยเกษียณจากราชการครูมาแล้ว และความเป็นนักเขียนนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เขารู้ลึกถึงที่มาของหมอลำอีสานด้วยว่า เริ่มมาจากการอ่านหนังสือธรรมในงานศพ หรืองันเฮือนดี งานอยู่กรรม หรืออยู่ไฟหลังคลอดลูก

Image

ยอมรับกันในสังคมอีสานมาแต่เดิมว่า คนเป็นหมอลําต้องมีวิชาความรู้ ไหวพริบ มายุคนี้เรื่องรูปร่างหน้าตาก็สำคัญ

"คณะหมอลำยุคใหม่มักมีซูเปอร์สตาร์เป็นแม่เหล็กดึงดูดคอหมอลำมาเป็นผู้ตามติดกันไปในแทบทุกเวที ที่เรียกกันในภาษาร่วมสมัยว่าแฟนคลับ หรือ FC ในความหมายทำนองเดียวกับแม่ยก"

scrollable-image

ชุดเครื่องแต่งกายและการประดับเวทีหมอลำยุคนี้ มีส่วนคล้ายลิเกและการโชว์ของวงดนตรีลูกทุ่ง

“อ่านตัวหนังสือธรรมบนใบลานเรื่องพื้นบ้านอีสาน คล้ายแหล่เล่าเรื่อง พัฒนาเป็นร้องเล่นคนเดียว จากนั้นเป็นหมอลำกลอนกับหมอแคน หมอลำชายหญิงว่ากลอน ถามกระทู้ ธรรมชาดก โต้ตอบกันโดยไม่ได้นัดหมาย ถ้าตอบไม่ได้คนดูก็เอาผ้าขาวม้าคล้องคอลงมาว่าแพ้แล้ว จนเช้าก็แยกย้ายกันต่อมาพัฒนาเป็นลำเรื่องต่อกลอน เป็นทำนองของแต่ละท้องถิ่น อย่างคณะรัตนศิลป์ฯ ประถมบันเทิงศิลป์ ระเบียบวาทะศิลป์ นี่ทำนองขอนแก่น  ถ้าเป็นหมอลำต่อกลอนจริง ๆ ไม่มีโชว์ แต่ตอนนี้ประยุกต์เป็นสตริง เอากลองชุด แซกโซโฟน แอกคอร์เดียนเข้ามาใช้  เดินเรื่องไปช่วงหนึ่งมีการเต้ยกลอน เอาเพลงดัง ๆ มาร้องคั่น  ส่วนหมอลำกลอนก็แตกมาเป็นลำซิ่ง มีหางเครื่อง ตอนหลังแตกแขนงออกไปเชิงหยาบโลนก็มีตามที่เป็นข่าว แต่มันก็อยู่มานานแล้ว”

หน้าเวทีหมอลำนอกจากเป็นที่ชุมนุมของคนหลากวัย
ยังเป็นพื้นที่เสรีของคนหลากเพศด้วย

ตามความเห็นของชาตรี คนที่ยืนอยู่บนเวทีหมอลำมายาวนาน “หน้าเวทีหมอลำเป็นพื้นที่เปิดกว้าง ไม่มีใครห้าม 
เขาชอบแสดงออก ช่วงเวลาปรกติต้องเก็บงำไว้ แต่ตรงนั้นปลดปล่อยตัวเองออกมาได้เต็มที่”

ส่วนคนบนเวทีก็มีไม่น้อยที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+


“น่าแปลกที่พระเอกหมอลำหลายคนก็เป็นเพศที่ ๓ และแม่ยกหญิงก็ชอบ  คนกลุ่มนี้อาจน่ารักกว่าคนที่เป็นชายแท้”


กับอีกเรื่องที่ดูเป็นบรรยากาศเฉพาะของเวทีหมอลำ คือการเข้าถึงง่าย ไม่เย่อหยิ่งอย่างที่ซูเปอร์สตาร์มักถูกครหา  ยังไม่เห็นหน้าบนเวที แฟนเพลงหรือใครก็เดินเข้าไปพบปะพูดคุยได้ถึงข้างหลังเวทีแม้ในระหว่างเตรียมตัวขึ้นแสดง

...

งานหมอลำเฟสติวัล เนื่องในวาระ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงวันที่ ๙-๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ นับเป็นงานชุมนุมหมอลำครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้

หมอลำคณะใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วฟ้าอีสานเกือบ ๒๐ คณะมาร่วมเปิดการแสดงในงานนี้

คงไม่เป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่มากมายกับการบันทึกรายชื่อของทุกคณะไว้เป็นประจักษ์ ไล่เรียงตามเวทีและวันที่แสดง

คณะระเบียบวาทศิลป์  คณะหมอลำใจเกินร้อย (บอย ศิริชัย และ แอน อรดี)  คณะเพชรลำเพลิน (พร ภิรดี ราชินีลำเพลิน)  คณะขวัญใจแฟน (แมน จักรพันธ์)  คณะหนูภารวิเศษศิลป์  คณะเดือนเพ็ญ อำนวยพร

คณะประถมบันเทิงศิลป์  คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ คณะแก่นนครบันเทิงศิลป์  คณะศิลปินภูไท (วีระพงษ์ วงศ์ศิลป์)  คณะน้องใหม่เมืองชุมแพ  คณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง

คณะเสียงอิสาน (นกน้อย อุไรพร)  คณะบัวริมบึงรุ่งลำเพลิน  คณะคำผุนร่วมมิตร  คณะอีสานนครศิลป์  คณะซานเล้าบันเทิงศิลป์  คณะนกยูงทอง

"นับตั้งแต่เปิดฉากแรก เวทีหมอลำจะดำเนินต่อไป จนซอดแจ้ง... แต่ละชุดการแสดงทยอยออกมาปรากฏต่อเนื่อง ไม่มีขาดช่วงว่างเว้นที่เรียกว่าเดดแอร์"

Image

แฟนหมอลำยุคใหม่แทบทุกคนมักมาพร้อมกล้องบันทึกภาพ นอกจากเก็บไว้ดูเอง ตากล้องจำนวนหนึ่งนำลงเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และหมอลำยุคใหม่บางทีก็วัดความสำเร็จกันจากยอดวิวยอดไลก์

คณะหมอลำเหล่านี้จะตั้งเวทีสี่มุมริมบึงสีฐาน เปิดการแสดงไปพร้อม ๆ กันทั้งสี่เวที ประชันกัน ๓ คืนต่อเนื่อง ส่วนสองคณะที่มีชื่ออยู่ลำดับท้ายของแต่ละคืนจะไม่ตั้งเวทีแต่ส่งศิลปินมาร่วมแสดงกับเวทีใดในสี่เวทีนั้น

ใครเป็นแฟนคณะไหนก็สืบเสาะแล้วเตร่กันไปจับจองพื้นที่หน้าเวที ยืนดู ปูเสื่อ พูดคุย ตะโกนทักทายกันอย่างง่าย ๆ และเป็นกันเอง ทั้งในหมู่คอหมอลำด้วยกันและกับคนบนเวที


เพิ่งออกพรรษาใหม่ ๆ ฝนยังโปรยพรมพื้นแฉะ พ่อเอ๊ะ 
หัวหน้าคณะระเบียบวาทะศิลป์สวมรองเท้าบูตยางสูงถึงแข้งลงมาลุยงานแบบติดดินกับลูกวง เดินลุยโคลน ลากสายไฟช่วย ทีมงานเตรียมเวที ก่อนขึ้นไปนั่งแฝงตัวอยู่หลังตู้ลำโพงข้างเวที ดูการเปิดวงไปของแต่ละชุดการแสดงช่วงแรก ถ้าติดขัดตรงไหนก็พร้อมเข้าช่วยแก้ปัญหาในทันที

หลังเวทีไม่เป็นพื้นที่หวงห้ามอย่างเวทีคอนเสิร์ตของซูเปอร์สตาร์ทั่วไป แฟนเพลงสามารถเดินไปหา แอบมอง ส่องดู
เบื้องหลัง แวะทักทายศิลปินคนโปรดของเขาได้แบบถึงตัว แม้ในระหว่างแต่งหน้าแต่งตัว และลักษณะร่วมของชาวคณะหมอลำ ไม่ว่าศิลปิน ซูเปอร์สตาร์ นักเต้น นักแสดงส่วนใหญ่ดูมีท่าทีอ่อนน้อม มีมิตรภาพ ไม่มีวางท่าหยิ่ง หวงตัวอย่างภาพจำของคนดังโดยทั่วไป

เราได้พบ “ต้าวหยอง” แดนเซอร์ซูเปอร์สตาร์ของคณะระเบียบวาทะศิลป์ ในช่วงที่เขาเตรียมตัวอยู่หลังเวที ไม่กี่นาทีก่อนเขาขึ้นแสดง


“แปลว่าอะไรไม่รู้ วัยรุ่นเรียกกัน” เขาพูดถึงชื่อตัวเองที่
ฟังดูแปลกหู แต่เป็นที่คุ้นหูและคอหมอลำจำได้ดีนับตั้งแต่มหกรรมดนตรี Big Mountain ปลายปีก่อน

“เล่นทุกคืนเลย เล่นที่ไหนก็ยกกันไปทั้งหมด ๓๐๐ คน ฝ่ายเวทีไปก่อน เราก็ต้องไปถึงก่อนเวลาเพื่อแต่งหน้าแต่งผม” หมอลำหนุ่มจากคำม่วง กาฬสินธุ์ เล่าถึงงานของเขา “ผมเป็นแดนเซอร์มาก่อน และแสดงเป็นดาวร้าย หาเรื่องแกล้งคน 
คืนนี้ลำเรื่อง แรงรักแรงอธิษฐาน เป็นเรื่องประจำของคณะลำเรื่องสลับกับโชว์เพลง เล่นตั้งแต่ ๓ ทุ่ม ถึง ๖ โมงเช้า”

เป็นมหากาพย์ความบันเทิงที่ยาวนานข้ามคืน

...

เวทีที่มืดสลัวเปิดฉากขึ้นด้วยดวงไฟหลากสีที่สาดส่ายสลับกับกะพริบเปลี่ยนแสงสี เสียงดนตรีไฟฟ้ากระหึ่มก้องฟ้า กีตาร์ลีดไล่ล้อกับคีย์บอร์ด กับจังหวะหนักแน่นของกลองชุดและเบส ผสานเครื่องเป่าโลหะมากชิ้นอย่างวงลูกทุ่ง กระหึ่มสะเทือนพื้นและสะเทือนถึงในอก

แถวแดนเซอร์ ๔๐-๕๐ คน รี่ไหลออกมาจากขอบข้างเวที กระจายกันประจำตามชั้นเวทีที่อาจมีหน้ากว้าง ๓๐-๔๐ เมตร เรียงหลั่นเล่นระดับขึ้นไปด้านหลังแบบขั้นบันได เต้นสะบัดกันสุดเหวี่ยงทันทีที่เท้าแตะพื้นเวที  ขณะที่หน้าเวทีก็ฟ้อนเซิ้งกันออกมาอย่างธรรมชาติ เหมือนกับว่าจังหวะและท่วงท่าการเต้นรำนั้นอยู่ในเลือดเนื้ออยู่แล้ว


จริง ๆ ช่วงแรกสุดนี้เป็นเหมือนการลองเครื่องเช็กความพร้อมของแต่ละส่วน แต่กับวงที่เล่นอยู่ทุกคืน ทุกอย่างดู
ลื่นไหลไปง่ายไม่ติดขัด หรือขลุกขลักบ้างก็แนบเนียนไปได้แบบใครดูไม่ออก  คนดูที่มารอออกันอยู่แต่ย่ำค่ำก็ไหลจากขอบข้างเข้ามาอัดแน่นกันอยู่หน้าเวที รวมกับกลุ่มที่ปูเสื่อจองที่อยู่ก่อน

Image

ซูเปอร์สตาร์จะมีแฟนคลับตามไปทุกเวที ร่วมถ่ายรูปและมอบเงินให้ บางคนนำของขวัญหรือผลผลิตทางการเกษตรมามอบให้ก็มี

เมื่อนักร้องปรากฏตัวออกมาพร้อมเสียงเพลงจังหวะเร่งเร้า คนดูก็กลายเป็นนักเต้นไปด้วย บนเวทีกับหน้าเวทีผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แฟนขาประจำนำมาลัยและใบธนบัตรสีต่าง ๆ ไปมอบให้นักร้องในดวงใจ ห้อมล้อม หอมแก้ม กอดคอ จับมือกันชื่นมื่น

และดูจะไม่ใช่แค่นักร้องเท่านั้นที่มีแม่ยก บรรดานักเต้น
ในคณะหมอลำบางคนก็มีแฟนคลับของตัวเอง ติดตามเป็นกำลังใจและแสดงน้ำใจกันหน้าเวที ดังที่ “ต้าวหยอง” เคยให้สัมภาษณ์ว่าบางคืนเขาได้ทิปเป็นหมื่น “แล้วแต่วันครับ ได้ทิปจากหน้าเวที ๒-๓ หมื่นได้ แล้วเก็บรวบ ๆ ใส่ตะกร้า แล้วค่อยมานับทีหลัง” มากกว่านั้น “มีทั้งทองคำ แหวน เงินสด” ตามที่พ่อเอ๊ะ หัวหน้าคณะและพ่อบุญธรรมของ “ต้าวหยอง” เล่าในรายการ “คุยแซ่บSHOW”  “บางคนก็โอนเข้าออนไลน์” ในช่วงวันเกิด “ต้าวหยอง” ที่เขาบอกข่าวถึง “แม่ ๆ” ว่าจะจัดคอนเสิร์ตไลฟ์สด ขายบัตรออนไลน์ แต่ “บางแม่ ๆ ก็มาให้กำลังใจถึงที่เลย” ตามข่าวว่าวันเกิดปีนั้นเขาได้สินน้ำใจจากแฟนคลับราว ๑.๓ ล้านบาท

เพลงบนเวทีหมอลำส่วนใหญ่ไม่ใช่เพลงที่คุ้นหูทั่วไป และเป็นภาษาอีสานที่คนนอกถิ่นอาจไม่เข้าใจความหมาย แต่เมื่ออยู่หน้าเวทีก็สนุกไปได้อย่างกลมกลืนด้วยกระแสและมวลพลังของหมู่คณะที่หลอมรวมกันบันเทิง


ฟ้าหลังออกพรรษายังไม่หมดฝนเกลี้ยง หน้าเวทีรอบบึง
ศรีฐานที่เป็นพื้นดินและหญ้ายังเฉอะแฉะ ที่ลุ่มยังเจิ่งนองน้ำฝนที่เพิ่งโปรย แต่ดูไม่มีใครกังวลร้อนใจ  มุมของนักดนตรีมีเพิงหลังคาผ้ายางสีใสคลุมคนเล่นและเครื่องดนตรีไฟฟ้าให้ปลอดภัยจากละอองฝน  ส่วนหน้าเวทีคนดูพร้อมเปื้อน เดิน ยืน เต้นย่ำกันอยู่บนพื้นโคลน จนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกไปด้วย ดึก ๆ วัยรุ่นคอหมอลำก็ตีลังกาไถลตัวกันไปกลางปลักโคลนก็มี

นับตั้งแต่เปิดฉากแรก เวทีหมอลำจะดำเนินต่อไปจนสว่างสำหรับการแสดงรอบปรกติ แต่ละชุดการแสดงทยอยออกมาต่อเนื่อง ไม่มีช่วงว่างเว้นที่เรียกว่าเดดแอร์ เพลงต่อเพลงจากลูกทุ่งหมอลำจนถึงอีสานอินดี้ เพลงตลาดที่อยู่ในกระแส 
ดนตรีเน้นจังหวะสนุกเรียบง่ายแบบอีสานดั้งเดิม แม้ใช้เครื่องดนตรีสากลแต่บางทีก็ปรับเป็นเลียนเสียงพิณ  สลับการแสดงวัฒนธรรม ประเพณี นิยายพื้นบ้าน โชว์ตลก และลำเรื่องต่อกลอนในช่วงดึก จนถึงเช้าสมาชิกทั้งคณะจะออกมารวมตัวกันหน้าเวที เต้ยลาคนดูด้วยเพลงเร็วเร้าใจปิดท้ายการแสดง

“หนูขึ้นตั้งแต่เพลงแรกจนจบการแสดงตอนเต้ยลา” ข้าวจี่ แดนเซอร์คนหนึ่งในคณะระเบียบวาทะศิลป์ เพศสภาพเป็นชาย แต่แทนตัวเองว่าหนู และยิ่งดูอ้อนแอ้นเมื่ออยู่ในชุดนางพญาหงส์


“ชุดโชว์มีหลายสีหลายรสชาติ เปลี่ยนชุดไปทุกเพลง เปลี่ยนคนเต้นด้วย  แดนเซอร์เราแบ่งเป็น ๓ ทีม สลับกันขึ้น ทั้งหมดก็เกือบ ๑๔๐ คน ทำหน้าที่ใครหน้าที่มัน เตรียมอุปกรณ์การแสดง แต่งหน้าทำผมเอง  ใต้เวทีเต็ม อยู่ได้
ไม่หมด บางส่วนต้องออกมากางเต็นท์อยู่ข้างนอก”

เป็นเต็นท์ทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่า หลังคาแหลม มีผ้ายาง
สีสดใสคลุมแบบร้านค้าชั่วคราวตามตลาดเปิดท้าย เสาสูง รอบด้านไม่มีฝา แต่แน่นหนาด้วยเสื้อผ้าชุดการแสดงที่แขวนเรียงไว้ตามลำดับที่จะใส่ขึ้นโชว์

ใกล้กับบริเวณที่ตั้งเต็นท์ของกลุ่มแดนเซอร์ เป็นเต็นท์ของแมกซ์ ที่ใคร ๆ เรียกขานเขาว่าพิธีกรปากหวาน


“โชว์เปิดเวทีขึ้นก่อน พอโชว์แรกจบ พิธีกรออกไปทักทาย กล่าวขอบคุณ แนะนำวง ร้องเพลง จากนั้นส่งเข้าโชว์ต่อไป

พิธีกรจะออกไปพูดเป็นพาร์ต คืนละสามถึงสี่เบรก อธิบายลำเรื่องให้คนเข้าใจแต่ละฉากการแสดง จากนั้นรันโชว์ต่อเลย ไม่ให้ขาดความต่อเนื่องของการแสดง ไม่ขัดความสุขของคนดู”

แมกซ์อธิบายถึงงานของเขาในเบื้องหน้าและหน้าที่ใน
เบื้องหลัง

Image

Image

“พิธีกรคนเดียว ทำงานตั้งแต่ทุ่มครึ่ง จบหน้าที่ ๖ โมงเช้า เราต้องคุมคิวตลอด ไม่ได้ออกไปหน้าเวทีแต่ยังส่งเสียงอยู่ตลอด ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา บนเวทีจะเดดแอร์ไม่ได้เลย ไปหยุดจริง ๆ หลังเต้ยลา คือจบการแสดง ลงเวทีพร้อมกัน จบการแสดงในแต่ละวัน แล้วเดินทางไปจุดที่จะแสดงวันต่อไปเลย”

แมกซ์และข้าวจี่เล่าด้วยกันว่า เขากับแดนเซอร์กว่า ๑๓๐ คน กับทีมงานแผนกต่าง ๆ ไปไหนไปด้วยกันโดยรถบัสของวงห้าคัน รวมอุปกรณ์ เวที เครื่องเสียง ชุดการแสดงด้วยก็ประมาณ ๒๐ คันรถ ส่วนนักร้องศิลปินราว ๓๐-๔๐ คน ต่างใช้รถส่วนตัวเดินทางไปเอง


“เช้ามาอาบน้ำ กินข้าว เตรียมขึ้นรถ ไปต่ออีกงาน เป็นแบบนี้ทุกวัน มีครัวให้เรากินนอนไปบนรถ เหมือนเป็นหมู่บ้านหนึ่ง อยู่กับวงตลอด ไม่มีเวลาชิล เล่นต่อเนื่องไปทุกวัน ถ้าป่วยก็โยกคนข้างหลังขึ้นมา”


แมกซ์อยู่กับคณะระเบียบวาทะศิลป์มา ๙ ปีแล้ว รู้เห็นโครงสร้างการบริหารงานอย่างเป็นระบบอันแข็งแกร่งฉับไว ที่ส่งผลให้คณะโด่งดังอย่างมั่นคง จนบางคนยกให้เป็นเบอร์ ๑ 
ในยุคนี้

จากหัวหน้าวงที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ จะดูแลสั่งการลงมาที่หัวหน้างานแต่ละฝ่าย ทีมไฟ ทีมคอนวอย ทีมดนตรี ทีมแดนซ์ ฝ่ายดูแลศิลปิน ฝ่ายชุดเสื้อผ้าการแสดง ซึ่งมีทีมตัดเย็บเอง


อุปกรณ์ทุกอย่างเป็นของวง หัวหน้าเป็นผู้ลงทุน บางโชว์ใช้งบถึง ๒ แสนบาท เฉพาะค่าขนนกปีละเป็นล้าน ซึ่งพ่อเอ๊ะ หัวหน้าคณะระเบียบวาทะศิลป์เล่าว่า เมื่อรวมกับการซ่อมบำรุงส่วนอื่น ๆ ด้วยแล้วต้องมีการลงทุนใหม่ปีละราว ๗-๑๐ ล้าน แต่หากนับรวมต้นทุนทั้งก้อนที่ใช้ในการทำวงก็ตกหลายสิบล้านบาท


เช่นเดียวกับคณะอื่น ตามที่บอลลูน คอสตูมของคณะ
รัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ เล่าว่าฉากเวทีกับชุดนักแสดงของคณะจะเปลี่ยนใหม่ทุกปี ซึ่งต้องใช้งบก้อนใหญ่ไม่น้อย

“หัวและชุดเปลี่ยนใหม่ทุกปี เรามีทั้งหมด ๓๐ แบบ 
เปลี่ยนชุดเปลี่ยนหัวทุกเพลง แต่ละเพลงจะแบ่งกันเต้น แต่ถ้าเพลงที่เต้นรวมก็ต้องใช้ ๗๐ ชุด ชุดผู้ชาย ๔๐ ชุด ผู้หญิง ๓๐ ชุด ใช้ได้ ๑ ฤดูกาล ปีหน้าเปลี่ยนใหม่” บอลลูนเล่าพร้อมแสดงตัวเลขให้เห็น

“ลงทุนเป็นล้าน สั่งขนนกกระจอกเทศของจริงที่ฟอกสีแล้วจากจีน เส้นละ ๑๘๐ บาท ใช้ ๕๐๐ ก้านต่อ ๑ เพลง  ถ้าพวกขนไก่โต้ง ผ้ากากเพชร ซื้อจากพาหุรัด กรุงเทพฯ”


“ครูออกแบบท่าเต้นจะดูว่าเพลงนี้ชุดสีอะไร ชุดกับหัว
จะไปด้วยกัน ชุดสีฟ้าหัวก็โทนสีฟ้า จะคุยกับครูสอนเต้นว่าโชว์นี้ต้องการประมาณไหน หัวเล็ก-ใหญ่  เราดูอุปกรณ์แล้วออกแบบมาให้ครูดู แล้วส่งต่อคนตัดเย็บชุด ทำหัว ประสานงานกัน”

หน้าที่ของคอสตูมเริ่มตั้งแต่เก็บตัวซ้อมจนถึงข้างเวที


“ดูแลเครื่องแต่งกายทั้งหมด ไปเล่นที่ไหนใช้รถคอน
เทนเนอร์คันใหญ่บรรทุกไปตามที่เล่น นักแสดงใช้เสร็จเราถอดขนนกเก็บ เก็บหัวใส่ลัง  หลังสิ้นฤดูในรอบปีเก็บเข้าโกดังของ แยกห้องเก็บหัว เก็บชุด เก็บอุปกรณ์ ซึ่งบางชิ้นวนกลับมาปรับใช้ใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของทีม”

สมาชิกในวงหมอลำยุคนี้ไม่ได้มีแต่ลูกอีสานอีกแล้ว แต่รวมคนที่สมัครมาทั้งจากภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ที่มีใจรักในการแสดงหมอลำ


“เป็นโรงเรียนสอนศิลปิน ใช้ชีวิตจริง เรียนจริง ลงมือ
ทำจริง” อาทิตย์ ลูกหลานลิเกจากราชบุรี ให้คำนิยามต่อคณะรัตนศิลป์ฯ ที่เขาเข้ามาเป็นทีมแดนเซอร์อยู่ด้วย

"อยากให้มองหมอลำว่าเป็นศิลปะการแสดง ให้คนหัวเราะ มีความสุข ให้คนยิ้มได้ อยากให้มองแค่นั้น  ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะพูดให้ลามกขึ้นมา แต่มันเชื่อมกับบทบาทสถานการณ์ตรงนั้น ตัวโจ๊กหรือพวกร้ายที่ใช้คำพวกนี้"

ช่วงหัวค่ำราว ๓ ชั่วโมงแรกของการแสดงยุคปัจจุบันจะเน้นโชว์เพลง ส่วนการลำเรื่องจะมาช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงเช้า

“บ้านปู่ผมเป็นมาก่อน แต่วงลิเกหายหมดแล้ว  ผมมาหาประสบการณ์ร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ เขาเป็นแล้วมาหัดกับเขา มาเรียนรู้จากพ่อครูแม่ครูศิลปินแห่งชาติ รัตนศิลป์ฯ เป็นวงต้นกำเนิดที่เป็นหมอลำเรื่องทำนองขอนแก่น  ในวงเราประมาณ ๒๐๐ คน หญิงชายเท่า ๆ กัน พักอยู่บ้านพักคณะ ตอนออกงานก็นอนแถวข้างเวที ลากยาวไปจนปิดฤดูกาล”

ค่ำคืนของเวทีหมอลำจำดำเนินไปอย่างครึกครื้นลื่นไหล จากความตื่นตัวรู้หน้าที่ตนของสมาชิกแต่ละคน


“เสื้อผ้า ๑ ราวต่อ ๑ คน เราต้องใช้เวลาเปลี่ยนชุดให้เร็ว ภายใน ๒-๓ นาที บางทีใส่ชุด ๒ ก่อน แล้วใส่ชุดแรกคลุมคอสตูมจะคอยช่วยดูเรื่องชุด ลงจากเวทีเราถอดกอง ๆ ไว้
เขาจะคอยช่วยเก็บ เราขึ้นเต้นต่อด้วยชุดข้างในที่ใส่ไว้ก่อน”

เป็นอยู่เช่นนี้ไปตลอดค่ำคืน ต่อเนื่องไปแทบทุกคืนนับแต่หลังออกพรรษา ที่เรียกว่าช่วงเปิดฤดูกาล ไปจนปิดฤดูกาล เมื่อกาลเข้าพรรษาอีกครั้ง เป็นวงรอบปรกติของหมอลำชื่อดังทุกคณะที่มีคิวเต็มแน่นตลอดฤดูกาล

...

บ้านหมอลำเงียบเหงาในช่วงเปิดฤดูกาล บ้านระเบียบ วาทะศิลป์ท้ายหมู่บ้านสาวะถีปิดประตูเงียบ ลานกว้างใต้โถงหลังคาทรงสูงที่เป็นพื้นที่ตั้งเวทีซ้อมใหญ่ของวงกลายเป็นลานจอดรถของชาวคณะที่ขับมาจอดไว้ในช่วงออกตระเวนทัวร์กับทีม หอพักชายหญิงปิดเงียบทุกห้องทุกหลัง มีแต่แม่บ้านเฝ้าดูแล กับฝ่ายเสื้อผ้าที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมและตัดเย็บชุดใหม่ให้คณะอยู่ตลอด  ถัดออกไปด้านหลังลานซีเมนต์กว้างใหญ่ใหม่หมาดกลางทุ่งนายังเห็นร่องรอยการชุมนุมคนนับพันเมื่อวันเปิดฤดูกาล ซึ่งเป็นการเล่นครั้งแรกหลังหยุดพักวงในกาลพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านหมอลำจะคึกคักด้วยสมาชิกที่มาร่วมฝึกซ้อมกันพร้อมหน้า

หมอลำจะเจอตัวได้ยากที่บ้าน จะง่ายกว่าหากตามสืบหาว่าวันนั้นคณะเล่นอยู่ที่ไหน ก็ไปพบตัวได้ที่หลังเวที


ตอนเจอกันครั้งแรกที่หลังเวทีงาน ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ริมบึงสีีฐาน ได้คุยไม่มาก พ่อเอ๊ะกำลังวุ่นกับการ
เตรียมเวทีและอำนวยการแสดง เขาให้เบอร์ไว้ บอกให้โทร. หาตอนบ่าย ๆ เป็นช่วงที่พอมีเวลาว่างคุยได้

“ชาววงของเราอยู่ด้วยกันหมด จ้างครูจากกรุงเทพฯ ที่ออกแบบท่าเต้นในรายการทีวีมาสอนแดนเซอร์ ทีมดนตรีก็อีกส่วนหนึ่ง  เซตเพลงขึ้นมาก่อนว่าใครจะร้องเพลงไหน นักร้องเหมาะกับเพลงไหน ดูว่าจะทำจังหวะยังไงให้ไหลลื่น แล้วมาซ้อมร้อง แดนเซอร์ของเรามีสามเซต เอ บี ซี ชุดละ ๔๗, ๔๘ และ ๓๘ คน เพลงไหนเหมาะกับเซตไหนเต้นเพลงนั้น ไหลต่อกันไป ลงซ้อม ๒ เดือน ไม่โอเคก็ปรับแก้” พ่อเอ๊ะพูดถึงทีมงานและเบื้องหลัง


“หมอลำเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแต่ลำเรื่องลำกลอน ?”


“มีช่วงคอนเสิร์ต ช่วงลำเรื่อง ลำกลอนเต้ย  มีเพลงอินดี้กับเพลงตลาดที่ทุกคนรู้จักร้องผสมผสานไปด้วย รวมเวลาทั้งหมดถ้าแสดงเต็มชุด ๙ ชั่วโมง  ตอนนี้มีงานต่อเนื่อง วัน
ต่อวันเลย ไม่มีวันหยุด เป็นแบบนี้ไปจนเข้าพรรษาจะพักวง เตรียมตัวซ้อม ซ่อมสิ่งที่พัง เตรียมโชว์ใหม่ไว้ฤดูกาลต่อไป”

“วันนี้พ่อเอ๊ะกับคณะอยู่ที่ไหน”

“บิ๊กซี ๒ ขอนแก่น”
“พรุ่งนี้ไปไหน”
“ร้อยเอ็ด”

“เมื่อวานอยู่สกลนคร” พ่อเอ๊ะเล่าต่อเอง ให้เห็นวิถีของหมอลำ “ถัดจากร้อยเอ็ดไปอุบลฯ” 

ถามวันไหนก็คงได้คำตอบราว ๆ นี้  เก้าเดือนในแต่ละปี
ที่เขาแทบไม่ได้นอนบ้าน

“ถ้าผ่านก็แค่แวะพัก ไม่ได้นอนค้าง แวะไปดูบ้าน นอนกลางวัน ตอนเย็นก็ไปทำงาน  ชาวคณะก็ไม่ได้กลับ ไม่สบายลาพัก นอกนั้นทำต่อเนื่อง  ถ้าที่เล่นวันต่อไปอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ได้แวะเข้าบ้านพักก็ได้พักผ่อน ดูแลตัวเอง  แต่ถ้าเดินสายต่อเนื่องอยู่ในพื้นที่ก็ต้องเร่งรีบจัดการตัวเอง  วันไหนถึงที่แสดงเร็วก็พากันซักผ้าตามบ้าน หรือซักเครื่องหยอดเหรียญ เรื่องอาหารการกินพอถึงสถานที่เล่นจะมีรถไปจ่ายตลาด หาเสบียงเตรียมไว้ให้ชาวคณะกินอยู่”

“อยู่กับหมอลำมาด้วยความรู้สึกอย่างไร”


“หมอลำเป็นศิลปวัฒนธรรมอีสานที่เกิดมาหลายยุคสมัย พ่อแม่ปู่ย่าตายายสร้างขึ้นมาให้เราได้สมโภชในงานต่าง ๆ  เรานำมาประยุกต์กับศิลปะของคนรุ่นใหม่ ดนตรีสากล เพลงที่
ทุกคนรู้จัก นำมาผสมผสาน  ถ้าลำตามแบบหมอลำจริง ๆ สมัยนี้ก็อาจไม่ค่อยมีคนดู”

คงไม่เกินเลยกับคำว่า “อลังการงานสร้าง” สำหรับเวทีหมอลำสมัยนี้ ที่มีจอและอุปกรณ์ประกอบฉากซับซ้อน มีมิติทั้งในแนวลึกและแนวดิ่ง ทำให้คนดูตื่นตาเมื่อนักร้อง
อาจโผล่จากด้านล่างขึ้นมากลางเวทีหรือโรยตัวลงมาจากมุมบนด้วยสายสลิง

Image
Image

ซอดแจ้ง

เมื่อฟ้าสางข้างเวที ต่างคนก็แยกย้ายกันไปตามวิถี คนดูไปสู่การงานประจำวันในชีวิตจริงของตัวเอง หมอลำก็ยกขบวนไปยังเวทีใหม่ที่จะเล่นในค่ำคืนต่อไป

“เก็บเวทีเสร็จก็ไปต่ออีกงานเลย ไม่มีวันหยุด” ข้าวจี่
แดนเซอร์คณะระเบียบฯ กล่าวระหว่างแต่งตัวเตรียมขึ้นทำหน้าที่บนเวที

“ได้ค่าตัวเป็นรายคน หลักร้อยหลักพันไม่เท่ากัน ตามความ
สามารถ” คำเล่าของอาทิตย์ซึ่งออกจากงานบุรุษพยาบาลมาเป็นแดนเซอร์ในวงหมอลำ “มาทำตามความฝัน แดนเซอร์หมอลำทำได้ในวัยนี้ ถ้าอายุมากขึ้นคงไม่สามารถทำได้แล้ว”

“ใครเหมาะจะอยู่ตรงไหนก็รับให้อยู่ตรงนั้น 


“ตอนนี้ออดิชันคัดเอา แล้วมอบบทบาทหน้าที่ให้ มีคนหมุนเวียนเข้ามาเรื่อย ๆ จากทั่วสารทิศทุกภาค ไม่ได้จำกัดอยู่แต่คนอีสาน มีความสามารถด้านไหนก็ดูตามคาแรกเตอร์ให้เหมาะกับคนดู”


พ่อเอ๊ะพูดถึงการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันไปของสมาชิก
ในคณะตลอดช่วง ๖๐ ปีที่ผ่านมา และในกาลข้างหน้า

และคงเป็นเช่นเดียวกับคณะหมอลำอื่น ๆ ในยุคสมัยนี้ด้วย ที่สมาชิกและซูเปอร์สตาร์ย่อมมีหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าไปตามวันเวลา


แต่หมอลำจะยังอยู่ซอดแจ้งแห่งแดนอีสานต่อไป  

อ้างอิง
สมชาย ปรีชาเจริญ. (๒๕๖๔). ชีวิตและศิลป (พิมพ์ครั้งที่ ๓).

วิทยานิพนธ์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์. (๒๕๖๔). “รถแห่อีสาน : มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม”. 

ศิริชัย ทัพขวา. (๒๕๖๐). “การพัฒนารูปแบบการแสดง
หมอลำหมู่เชิงธุรกิจ”.

เว็บไซต์

https://entertainment.trueid.net/detail/lpAAjxLDqaZp

ขอขอบคุณ

เจน อักษราพิจารณ์, เจน สงสมพันธุ์