Image

เราควรมีเพื่อนสนิทกี่คน ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

คุณมีเพื่อนสนิทกี่คน ? ๒ คน ๓ คน ๖ คน ๑๐ คน หรือมากกว่านั้น ?

หากมีคนถามคุณแบบนี้ คุณจะตอบว่าอย่างไร ? หลายคนอาจยกนิ้วขึ้นมานับและอาจมีบางคนที่เริ่มตั้งคำถาม ต้องสนิทกันแค่ไหนถึงจะเป็น “เพื่อนสนิท” ?

คนส่วนใหญ่มีเพื่อนสนิทกันกี่คน ?
และเรามีเพื่อนสนิทน้อยหรือมากกว่าคนทั่วไป ?

ใคร ๆ ก็รู้ว่าเพื่อนน่ะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ทำอะไรด้วยกัน ช่วยเหลือกัน คอยรับฟัง และช่วยปลอบในยามเราเป็นทุกข์

มีงานวิจัยที่สรุปว่าในชั่วชีวิตของคนเรานั้นโดยเฉลี่ยแล้วมีเพื่อนที่จัดว่าสนิทกันเพียง ๒๙ คนเท่านั้น และในจำนวนนี้ก็มีอยู่เพียง ๖ คนที่ยังคงสนิทชิดเชื้อตลอดชีวิต จากจำนวนเพื่อนที่เราคบกันตลอดชีวิตซึ่งมีอยู่ราว ๒,๐๐๐ คนนั้น จะมีอยู่ราวเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ขาดการติดต่อแบบหายสาบสูญ

ในการสำรวจคราวหนึ่งพบว่าอายุของมิตรภาพโดยเฉลี่ยคือ ๑๗ ปี มีคนที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าเพื่อนสนิทที่สุดของตัวเองนั้นคบกันนานมากกว่า ๓๐ ปีทีเดียว !

สำหรับเด็กวัยรุ่นก่อนเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ผลการสำรวจพบถึง ๗๘ เปอร์เซ็นต์บอกว่าตัวเองมีเพื่อนสนิทอยู่ ๑-๕ คน ขณะที่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์บอกว่ามีเพื่อนสนิทมากกว่า ๖ คน และมีเพียง ๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บอกว่าไม่มีเพื่อนสนิทอยู่เลยแม้แต่คนเดียว !

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เพื่อนผู้หญิงที่เจ๊าะแจ๊ะกันเก่ง มีมิตรภาพต่อกันเฉลี่ยนาน ๑๖ ปี ซึ่งยาวกว่ามิตรภาพที่นำไปสู่ความรักแบบโรแมนติกถึง ๑๐ ปี

การคบหาเพื่อนสนิทมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงชีวิตของคนเรา มีการสำรวจใน ค.ศ. ๒๐๐๑ พบว่า คนอเมริกัน
มีเพื่อนสนิทเฉลี่ย ๓-๕ คน โดยราวครึ่งหนึ่ง (๔๙ เปอร์เซ็นต์) มีเพื่อนสนิทไม่เกิน ๓ คน ขณะที่ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ มีเพื่อนสนิท ๔-๙ คน ส่วนที่มีเพื่อนสนิท ๑๐ คนหรือมากกว่ามี ๑๓ เปอร์เซ็นต์ และที่ไม่มีเพื่อนสนิทแม้แต่คนเดียวมีเพียง ๒ เปอร์เซ็นต์  แสดงว่าการมีเพื่อนสนิท ๑-๑๐ คนถือเป็นเรื่องปรกติ ขณะที่การมีมากกว่านั้นหรือไม่มีเลยออกจะแปลกไปสักหน่อย

มีตัวเลขมหัศจรรย์ตัวเลขหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาชื่อ รอบิน ดันบาร์ เสนอไว้ โดยระบุว่าในทางทฤษฎีแล้วคนเราจะคงความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบตัวได้ดีที่สุดไม่เกินตัวเลขมหัศจรรย์นี้คือ ๑๕๐ คนพร้อม ๆ กัน ตัวเลขนี้รวมทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และครอบครัวทั้งหมด

แต่ในวงความสัมพันธ์ใหญ่นี้ เรายังมีความสัมพันธ์ที่สนิทกว่าเป็นวงเล็กด้วย โดยตัวเลขของเพื่อนสนิทจะอยู่ที่ราว ๕ คน หรือต่อให้มากกว่านี้ก็มักจะไม่เกินกว่า ๑๕ คน

อันที่จริง ๑๕๐ คนไม่ได้เป็นแค่เพียงจำนวนเพื่อนที่เรามีได้ในขณะใดขณะหนึ่ง แต่ยังมีงานวิจัยที่ขยายความครอบคลุมไปถึงจำนวนคนในโรงงาน คนในออฟฟิศ หรือกองทหาร ฯลฯ

ทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนปัจจัยพื้นฐานเดียวกันคือความจุสมองในการจดจำปฏิสัมพันธ์อันมากมายและซับซ้อนของคน ๑๕๐ คน ว่าใครชอบใคร ใครเกลียดใคร ใครทำอะไรไว้กับใคร ใครทำอะไรไว้กับเรานั่นเอง

มีการศึกษาของนักวิจัยชาวอังกฤษทำให้รู้ว่า การเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มต่าง ๆ เช่นกลุ่มแฟนคลับกีฬา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีความหมายและมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ยิ่งมีส่วนร่วมในกลุ่มที่มากขึ้นก็จะยิ่งพึงพอใจในชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย

ความสนิทชิดเชื้อที่น้อยกว่าอาจให้บางอย่างที่ความสนิทชิดเชื้อมากกว่าให้ไม่ได้ เช่น คุณอาจจะเลือกเก็บบทสนทนา
หนัก ๆ เรื่องชวนดรามาในชีวิตไว้คุยกับเพื่อนสนิทเท่านั้น แต่กับเพื่อนที่ไม่สนิทนัก คุณเลือกเรื่องคุยที่สนุกและเคร่งเครียด
น้อยกว่าได้

งานวิจัยในช่วงโควิด-๑๙ ระบาดแสดงให้เห็นว่า คนเราโหยหาความสัมพันธ์แบบไม่ได้ลึกซึ้งมากนักเช่นกัน เพราะมันช่วยทำให้เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในสังคม โดยพบว่าคนในช่วงนั้นจะทักทายและสนทนากับคนที่คุ้นหน้าคุ้นตา แต่ยังไม่ได้จัดว่าเป็นเพื่อนกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น คนในออฟฟิศที่
ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกัน คนที่บังเอิญเจอในร้านชำบ่อย ๆ หรือพนักงานในร้านค้าต่าง ๆ

อันที่จริงแล้วแม้แต่คนแปลกหน้าก็ยังทักทายกันมากขึ้นด้วยเป็นผลกระทบโดยตรงจากการที่ต้องกักตัว ลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แสดงให้เห็นถึงความโหยหาความสัมพันธ์แบบนี้อย่างเห็นได้ชัด

ผลการสำรวจชิ้นหนึ่งตอกย้ำเรื่องนี้ของคนอเมริกัน โดยพบว่าในช่วงที่มีการกักตัวกันอย่างหนักนั้น มีคนอเมริกันมากถึงหนึ่งในสามที่ระบุว่าตัวเองมีประสบการณ์ “ความเหงาอย่างหนัก” เกิดขึ้น

กล่าวได้ว่าโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ได้แพร่กระจายความเหงาไปในมนุษยชาติด้วยเช่นกัน !

Image

เรื่องสำคัญที่ต้องจดจำไว้ก็คือคุณภาพของความสัมพันธ์สำคัญกว่าจำนวนความสัมพันธ์ กล่าวคือเราไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนสนิทมากมาย แต่ควรต้องมีเพื่อนสนิทที่เชื่อใจไว้ใจกันได้ พูดคุย ปลอบโยนช่วยเหลือกันในยามยาก

อันที่จริงการสำรวจในกลุ่มคนที่อายุยืนพบว่า คนที่มีเพื่อนสนิทคอยสนับสนุนมักจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวมากกว่า มีความ
เครียด กังวลใจน้อยกว่า และมีความสุขมากกว่าคนไร้ญาติขาดมิตร รวมถึงอาจจะมีสุขภาพกายดีกว่าด้วยซ้ำไป

การรับรู้ว่าใครจัดให้เราเป็นเพื่อนสนิท (เช่นนำเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัวมาปรึกษา) ก็สำคัญมาก เพราะช่วยให้พึงพอใจว่ามีคนต้องการเราในชีวิตของพวกเขาด้วย แต่การจะเข้าสู่สถานะ “เพื่อนสนิท” นั้น มีงานวิจัยที่ชี้ว่าจำเป็นต้องใช้เวลาร่วมกันไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ชั่วโมงทีเดียว ซึ่งสำหรับคนที่มีนิสัยชอบเก็บตัวก็คงไม่ง่ายเลย

ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นหนึ่งในคนที่เป็นแก่นแกนร่วมอยู่ในชีวิตของเพื่อนสักคน สร้างความยินดีปรีดาในใจเราอยู่ลึก ๆ ด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราควรเลือกคบเพื่อนที่มีบุคลิกลักษณะหลากหลาย เพื่อนที่ชอบเฮฮาปาร์ตี้ก็อาจจะเหมาะกับบางจังหวะเวลาที่เราต้องการคนมาช่วยกระตุ้นจิตใจให้คึกคักเข้มแข็ง หายเหงา ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง ขณะที่เพื่อนผู้เคร่งขรึมจริงจังก็อาจช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้เราได้ในยามจำเป็น ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง

มีงานวิจัยในกลุ่มผู้หญิงอายุ ๓๑-๗๗ ปีที่พอใจจำนวนเพื่อนที่ตัวเองมีอยู่ ทำให้รู้ว่าผู้หญิงเหล่านี้มีความพึงพอใจในชีวิตตัวเองมากกว่าคนที่ไม่ได้รู้สึกกับเพื่อน ๆ ในทำนองเดียวกัน

ประเด็นสำคัญจึงน่าจะเป็นเรื่องการจัดการตัวเราเองอย่างเหมาะสมในการคบหาเพื่อนในแต่ละช่วงเวลา ช่วงชีวิต และการมองโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา มิตรภาพที่เหมาะสมทำให้เรามีทักษะเรื่องการสื่อสาร การแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าสังคม การเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น ฯลฯ

โดยสรุปคือการมีเพื่อนเป็นเรื่องดี การมีเพื่อนสนิทก็ยิ่งดี จำนวนเพื่อนสนิทอาจจะไม่ได้สำคัญนัก แต่ควรต้องมีเพื่อนสนิทบ้าง เพราะมีประโยชน์สารพัดต่อทั้งร่างกายและจิตใจ