อารมณ์ อากาศ อาพาธ
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ นายดอกมา
ทุกคนคงพอจับความรู้สึกตัวเองได้ว่า เวลาอากาศแจ่มใส มีแสงแดด เรามักรู้สึกกระชุ่มกระชวย ในทางกลับกัน วันที่ฟ้าครึ้ม เมฆดำ อากาศมืดหม่น หรือมีพายุเข้า เราจะรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวนัก
ไม่แปลกที่จะเชื่อว่าลมฟ้าอากาศ (weather) หรือภูมิอากาศ (climate) ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม แต่เราได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ? แต่ละคนโดนลมฟ้าอากาศ “กำหนด” อารมณ์ความรู้สึกจนทำให้รู้สึกสบายหรือไม่สบายแตกต่างกันเพราะอะไร ? และในสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่เรามักพูดติดปากว่าอยู่ใน “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลต่อเรามากน้อยเพียงใด ?
สภาวะลมฟ้าอากาศส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คนได้จริง มีรายละเอียดแตกต่างกันหลายระดับโดยทั่วไปอากาศที่อุ่นกว่าทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและมีพลังมากกว่า แต่ก็มีระดับอุณหภูมิที่จำกัดอยู่ ไม่ใช่อุ่นจนร้อนแล้วจะดี มีงานวิจัยในคนอเมริกันมากถึง ๑.๙ ล้านคน ที่ทำให้รู้ว่าผู้คนมีอารมณ์คึกคักเมื่ออุณหภูมิไม่เกิน ๒๑ องศาเซลเซียส แต่หากมากกว่านั้นจะรู้สึกเหนื่อย เพลีย และอยากหลบหนีจากความร้อนที่เผชิญอยู่
ในทางกลับกันอุณหภูมิต่ำลงไปมาก ๆ ก็จะส่งสัญญาณทำให้ร่างกายอยาก “จำศีล” และอยากทำกิจกรรมน้อยลง ในฤดูหนาวของประเทศเขตอบอุ่น ผู้คนจึงมักอยู่นิ่ง ๆ ในที่พัก แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ก็มีข้อยกเว้นบ้างสำหรับบางคน
แสงแดดส่งผลกระทบผ่านกลไก “จังหวะรอบวัน (circadian rhythm)” ที่ร่างกายมนุษย์วิวัฒนาการมานับแสนนับล้านปี แสงแดดกระตุ้นให้สมองตื่นตัวหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (serotonin) เพิ่มมากขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้ทำให้รู้สึกมีความสุข มีความหวังกับชีวิต และคึกคักมีพลังมากยิ่งขึ้น
ส่วนการขาดแสงก็กระตุ้นให้รู้สึกต้องการพักผ่อน ฤดูร้อนที่มีช่วงเวลากลางวันยาว แสงแดดมาก จึงทำให้รู้สึกตื่นตัว ส่วนฤดูหนาวที่มีแสงแดดน้อยจะทำให้รู้สึกเซื่องซึมมากกว่า
ลมฟ้าอากาศยังเป็นสาเหตุของความเครียดได้อีกด้วย
หลายคนครั่นเนื้อครั่นตัวก่อนพายุเข้า เพราะร่างกายรับรู้ได้ถึงความดันอากาศรอบตัวที่ลดต่ำลง มีการทดลองในหนู
ที่ทำให้รู้ว่าความดันอากาศที่ลดลงไปกระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่าซูพีเรียร์เวสติ-บูลาร์นิวเคลียส (superior vestibular nucleus - SVN) ซึ่งใช้ควบคุมสมดุลและรับความรู้สึกแบบต่าง ๆ สมองส่วนนี้มีในมนุษย์ด้วยและทำหน้าที่คล้ายคลึงในสมองหนูความดันอากาศที่ลดลงจึงกระตุ้นสมองจนเกิดเป็นความเครียดขึ้นเวลาพายุกำลังมา บางคนอาจรับรู้ได้ถึงฮอร์โมนความเครียดที่หลั่งออกมามากเป็นพิเศษ และนี่เองที่ช่วยอธิบายว่าทำไมบางคนจึงรู้สึกเจ็บแผลหรือแผลปะทุขึ้นเวลาพายุกำลังจะมาแต่เรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือแสงแดดและอากาศอุ่น ๆ ช่วยเพิ่มประ-สิทธิภาพการทำงานของสมองหลายแง่มุม เช่น ความจำดีขึ้น เปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เพิ่มสมาธิจดจ่อมากขึ้น
เรื่องที่เด็ดไปกว่านั้นก็คืออากาศที่อุ่นกว่าอาจทำให้คนยอมรับความเสี่ยงทางการเงินได้มากกว่าด้วย ในช่วงเดือนที่อากาศอุ่นหลายคนจึงกล้าลงทุนในรูปแบบที่เสี่ยงมากกว่าปรกติ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบแบบนี้มักเกิดเมื่อเราออกไป “โดนแดดข้างนอก” จริง ๆ แค่เพียงการมองผ่านกระจกเห็นแดดจ้าอาจไม่ได้ส่งผลมากระดับนั้นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือมักเชื่อกันว่าในประเทศที่หนาวจัดมากแทบทั้งปีจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นพิเศษ แม้ว่าอาจจะจริง แต่มีนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่วิเคราะห์ฐานข้อมูลชุดใหญ่ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๕-๒๐๑๐ ทำให้รู้ว่าในสหรัฐอเมริกาอัตราความพยายามฆ่าตัวตายสูงสุดกลับเป็นฤดูใบไม้ผลิและต้นฤดูร้อน !
นักวิจัยอธิบายว่าการที่ร่างกายได้รับแสงแดดมากขึ้นอาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทอย่างปุบปับ อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นรวดเร็วยังอาจกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ พูดง่าย ๆ ว่าทำให้อารมณ์
“สวิง” สุดขั้ว โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) อยู่แล้ว
งานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๒๐ ชี้ว่า คนที่ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วราวหนึ่งในสี่ได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล
สาเหตุอีกข้อหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงก็คือ ระยะเวลาที่คนอเมริกันฆ่าตัวตายมากสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่มีละอองเรณูในอากาศมาก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน จนอาจทำให้อาการทางจิตที่แย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วแย่ลงมากอย่างปัจจุบันทันด่วนได้
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอให้คนทั่วไปฆ่าตัวตาย แต่เป็น “ตัวกระตุ้นเสริม” ให้คนที่มีความเสี่ยงจะทำเช่นนั้น ตัดสินใจลงมือง่ายขึ้น
คนกลุ่มหนึ่งมีอาการป่วยที่เรียกว่าอุตุพยาธิสภาพ (meteoropathy) ที่การเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศทำให้ป่วยได้สารพัด ทั้งปวดหัวไมเกรน ครั่นเนื้อครั่นตัว นอนไม่หลับขาดสมาธิ ไปจนถึงเจ็บตามแผลเป็น ฯลฯ
หนักขึ้นไปอีกคือผู้ป่วยโรค Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือ Major Depressive Disorder (MDD) จะเกิดอาการป่วยแบบต่าง ๆ ในบางช่วงของปี ไม่ว่าจะเป็นซึมเศร้า ง่วงซึม เจริญอาหารเป็นพิเศษในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวแต่พอถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนกลับไม่มีความอยากอาหารเลย บางคนก็ป่วยสวิงกลับกันกับคนทั่วไป คืออากาศดี อุ่นขึ้นมาเมื่อไร (ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน) ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า แต่พออากาศหนาวกลับร่าเริงดีก็มี
มีงานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๑๑ ที่ศึกษาวัยรุ่นเกือบ ๕๐๐ คน โดยติดตามอารมณ์ติดต่อกัน ๓๐ วันเทียบกับการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศทำให้พบว่าแบ่งกลุ่มวัยรุ่นนี้ได้คร่าว ๆ เป็นสี่กลุ่ม คือพวกที่ชอบฤดูร้อน พวกที่เกลียดฤดูร้อน พวกที่เกลียดฝน และพวกที่การเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกมากนัก
คราวนี้มาดูเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปีกัน
ผลกระทบนี้น่าจะกระทบกับคนส่วนใหญ่ของโลกก็ว่าได้ ทั้งนี้แต่ละสถานที่อาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ประเทศไทยเองอยู่ในตำแหน่งที่อาจจะได้รับผลกระทบมากอันดับต้น ๆ ผลการวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๑๗ พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นกำลังส่งผลให้เกิดระดับความรุนแรงของภัยพิบัติต่าง ๆ ที่สูงขึ้นไปทั่วโลก อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทำให้มีความเครียด เกิดความหุนหันพลันแล่น และความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงพวกนี้อาจจะส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดการจลาจลและสงครามกลางเมืองเพิ่มได้ ยังไม่นับการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังทำให้เกิดเหตุการณ์ด้านลมฟ้าอากาศแบบสุดขั้ว (extreme weather events) มากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมหนัก พายุร้ายแรง และไฟป่า ผลการวิเคราะห์ทางสถิติของงานวิจัยรวม ๑๗ ชิ้นในอังกฤษพบว่ามีสัดส่วนของผู้ประสบพบเจอเหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นราว ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดอาการกังวลใจ ซึมเศร้า หรือมีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)
การเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศกระทบต่อแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้เจ็บป่วยได้สารพัดรูปแบบ มีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องซับซ้อนทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งเกินกว่าที่คิดกันทั่วไป และอาจส่งผลกระทบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้