ไพลิน วีเด็ล
จากนักข่าวสู่ผู้กำกับหนังสารคดี
หญิงไทยคนแรกที่ได้รางวัลเอ็มมี
Documentary Filmmaker
40 Years of Storytelling
สัมภาษณ์ : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว ไพลิน วีเด็ล ลงพื้นที่เพื่อทำข่าวครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ซึ่งตัดสินใจรักษาร่างของลูกสาววัย ๒ ขวบที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง โดยใช้เทคโนโลยีไครออนิกส์ที่แช่แข็งร่างกายของมนุษย์ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ด้วยประสบการณ์ในการเป็นนักข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่อเมริกาหลายปี การลงพื้นที่ข่าวเป็นสิ่งที่ไพลินคุ้นชิน แต่ครั้งนั้นไม่เหมือนครั้งอื่น ๆ เพราะมีหลายประเด็นที่ไม่ได้ถูกพูดถึง และเธอคิดว่าสังคมต้องรับรู้
ความรู้สึกอึดอัดที่อยากเล่าบางเรื่องราวในข่าวให้ลึกซึ้งเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกมาโดยตลอด
เธอจึงตัดสินใจลงพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เริ่มสัมภาษณ์ครอบครัวเพื่อทำสารคดีด้วยทุนของตนเอง (ในระยะแรก) และพยายามอยู่ ๕ ปีจนสำเร็จเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก
ก่อนที่ Hope Frozen : A Quest To Live Twice (ความหวังแช่แข็ง : ขอเกิดอีกครั้ง) จะเข้าฉายใน Netflix เคยฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ หลายเทศกาลมาแล้ว ทั้งยังได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival ปี ๒๕๖๓ และล่าสุดคือรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากงาน International Emmy Awards ครั้งที่ ๔๙ ซึ่งไพลินเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
ต่อมาเธอผลิตสารคดีเรื่องที่ ๒ ๑๓ หมูป่า : เรื่องเล่าจากในถ้ำ (The Trapped 13 : How We Survived The Thai Cave) ที่ Netflix ลงทุนในสเกลใหญ่มาก ครั้งผลิต Hope Frozen มีเพียงแค่เธอและช่างภาพเป็นหลักแต่ ๑๓ หมูป่าฯ มีทีมงานกว่า ๒๐๐ คน ไพลินทำงานกับนักจิตวิทยา มีรายละเอียดมากมายที่ต้องเน้นและสื่อสารให้ทีมงานจำนวนมากเข้าใจ เธอบอกว่าเป็นความท้าทายในการทำงานที่บังคับให้ต้องตัดสินใจอย่างเฉียบขาด
แต่ดูเหมือนเธอจะคุ้นเคยกับความท้าทายพอสมควร ไพลินจึงใช้เวลาเพียง ๒ ปี (ซึ่งถือว่ารวดเร็ว) ผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เพื่อถ่ายทอดมุมมองของโค้ชเอกและน้อง ๆ หมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนให้สังคมได้รู้ถึงมิติที่มากกว่าในหน้าข่าว
การเอาตัวรอด สภาพจิตใจ ความหวัง ความอดทน แรงบันดาลใจ ความไม่ยอมแพ้
ปัจจุบันไพลินเพิ่งจะผลิตสารคดีเรื่องที่ ๓ เสร็จ เรื่องนี้มีเนื้อหาแตกต่างไปจากสองเรื่องแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะเกี่ยวกับ drag queen ในประเทศไทย
วันนี้เธอหัวเราะน้อย ๆ และบอกกับเราได้เต็มปากแล้วว่า เธอเป็นผู้ผลิตหนังสารคดี แต่ไม่ว่าเรื่องราวและสไตล์ของหนังแต่ละเรื่องจะแตกต่างกันมากแค่ไหน ประเด็นหนึ่งที่เชื่อมแกนของความเป็นไพลินไว้คือความเป็นมนุษย์
ช่วงที่เป็นนักข่าวรู้สึกอัดอั้นไหมว่ามีเรื่องราวมากมายหลังบ้าน แต่นำเสนอข่าวได้ในพื้นที่จำกัด
ทุกครั้งที่ออกไปทำข่าวก็จะอึดอัดตลอด เป็นคนที่เข้าห้องตัดต่อแล้วไม่อยากตัดอะไรออกเลย (หัวเราะ)
ตอนทำงานเป็นช่างภาพนิ่ง ก็ต้องเล่าข่าวโดยใช้ภาพ ภาพเดียว หลังจากนั้นก็ทำงานวิดีโอที่ถ่ายเอง ตัดเอง แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ลึกพอ ผิวเผินเกินไป เหมือนเน้นให้ข้อมูลมากกว่าความรู้สึกและความเข้าใจ เราเลยอึดอัด เพราะงานข่าวไม่มีเวลาให้เล่าได้อย่างเต็มที่ เราก็เริ่มถ่ายวิดีโอยาวขึ้น ๆ จนไปทำสารคดีข่าวความยาว ๓๐ นาทีให้ Al Jazeera ซึ่งตอนนั้นก็ยังเป็นนักข่าวอยู่หน้ากล้อง เมื่อได้เจอครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ถึงเริ่มคิดว่าการใช้กลยุทธ์เขียนหรือถ่ายภาพข่าวในกรณีนี้มันไม่ใช่ไม่ตรงกับเนื้อหา ถ้าจะเข้าใจครอบครัวนี้จริง ๆ เราต้องใช้เวลากับเขานานพอสมควร โปรเจกต์นี้ต้องใช้วิธีอื่นถึงจะเล่าได้อย่างเต็มที่
การทำงานในสนามข่าวหลายปีช่วยเหลาประเด็นในการทำหนังอย่างไรบ้าง
แน่นอน การทำข่าวมันพาเราลงสนามและเจอกับคนหลากหลาย ถ้าจะเข้าใจโลกใบนี้อย่างแท้จริง ก็ต้องไปเจอคนที่ไม่เหมือนเราให้เยอะที่สุด แล้วยิ่งเจอเราก็ยิ่งเข้าใจว่ามนุษย์มีอะไรที่เชื่อมโยงกันได้ อะไรที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน
อีกอย่างคือการทำข่าวทำให้เราเข้าใจว่าคนดูอยากดูอะไร ความสงสัยของสังคมอยู่ตรงไหน อะไรที่ทำให้คนสนใจเรื่องนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า news sense มีเซนส์อะไรสักอย่างที่ทำให้เราเข้าใจว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่หลายคนสนใจ
Hope Frozen เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่ทำ รู้สึกท้าทายและสนุกมากแค่ไหน
ท้าทายแน่นอน เครียดแน่นอน เพราะว่าเรากวนให้เพื่อนมาช่วยถ่ายทำ กวนพ่อแม่ มีน้องสาวมาช่วยแปล ตอนนั้นยังไม่มีงบเลย เราลงทุนกำลังของเราเองเข้าไป เครียดเรื่องเงินเยอะกว่าจะได้ทุนก้อนแรก แต่ก็ไม่พอหรอก เพราะเราทำเรื่องนี้อยู่ ๕ ปีน่ะ (หัวเราะ) แล้วเราก็ไม่ได้หวังค่าตอบแทนเยอะด้วย
อีกอย่างคือเครียดเรื่องผลกระทบต่อครอบครัว จรรยาบรรณ การทำสารคดีมันดีตรงที่ว่าเราไม่ได้ทำข่าวเพื่อที่จะเปิดเผยอะไร เลยทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งที่จะช่วยชีวิตคนทั่วไป ผลประโยชน์วัดไม่ได้ ถ้าเราทำข่าว เปิดเผยคนโกง ก็วัดได้ชัดเจน เราก็จะมีคำถามกับตัวเองตลอดว่ามันคุ้มไหม
เรารู้สึกว่าเป็นคนละวิชากันกับการทำข่าวเลย (หัวเราะ) เพราะการทำหนังยาวมากกว่า ๖๐ นาที ไม่ใช่แค่การเรียบเรียงข้อมูลอย่างเดียว แต่เป็นการเรียบเรียงซีนให้คนอิน เราถ่ายเป็นร้อยชั่วโมง แต่ต้องสกัดให้เหลือแค่ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นก็มีทางเลือกเยอะ แล้วสิ่งที่เราเลือกก็มีผลกระทบกับการเล่าเรื่อง เราจะเล่าแต่ละวินาทียังไงให้มันบิลด์จนคนเข้าใจครอบครัวนี้มากขึ้น ไม่ตัดสินครอบครัวนี้มากเกินไปเมื่อดูจบ
ตัดสินใจตั้งแต่แรกเลยไหมว่าจะทำเรื่องของครอบครัวนี้ หรือแค่คิดว่าอยากทำให้ได้น้ำได้เนื้อมากกว่าการทำข่าว
เราคิดว่าถ้าอ่านพาดหัวข่าวอย่างเดียวจะค่อนข้างเป็นไปในทางลบ เพราะแม้แต่ข่าวใหญ่ในสังคม คนก็ใช้เวลาแค่ ๙๐ วินาที คำถามที่เหลือของคนดูก็ไม่ได้ถูกตอบ พอคนดูสงสัยและไม่มีข้อมูลก็จะคิดไปนู่นนี่ซึ่งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ครอบครัวนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งครอบครัว มีอะไรที่เยอะกว่าข่าวมากมาย ตอนแรกเราคิดว่าจะทำเป็นสารคดีสั้น ๑๕ นาที แต่พอยิ่งถ่ายก็ยิ่งมีคำถาม เลยกลับไปถ่ายอีก ๒ ปีกว่า จนต้องหาทุนทำสารคดีแบบยาว
จุดที่ทำให้ทำต่อเรื่อยๆ มีคำถามเรื่อยๆ คืออะไร
เราไม่มีเดตไลน์ว่าต้องเสร็จเมื่อไรจนกว่าเราจะได้ทุน ช่วงแรกคือถ่ายไปเรื่อย ๆ ตอนแรกสนใจเรื่องเทคโนโลยีว่าเขาฟรีซกันยังไง ส่วนไหน ต้องไปอ่านเอกสารทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ว่ามีการพิสูจน์อะไรไปแล้วบ้าง หาว่าความจริงอยู่ตรงไหน
นอกเหนือจากนั้นก็มีประเด็นเรื่องศาสนาพุทธที่ครอบครัวนี้นับถือด้วย ความคิดของเขาคืออะไรที่เขาศรัทธาว่าน้องมีโอกาสจะกลับมาได้อีกครั้ง
ความยากและความท้าทายของการทำเรื่อง ๑๓ หมูป่าฯ
ยากตรงที่ไม่มีฟุตเทจเลย เรื่องนี้เราจะระมัดระวังมาก Netflix มีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กเข้ามาช่วยสัมภาษณ์ ตกลงกันว่าถ้าน้องไม่ไหว เราถอยเลย จะไม่ผลักให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ถ้าน้องเขายินดีและอยากเล่าเรื่องของเขา เราถึงจะเข้าไปหา รอบแรกเราไปสัมภาษณ์แบบชิล ๆ ก่อน ได้เห็นบางคนชอบพูด อยากเล่า บางคนเก็บตัวหน่อย เจอสื่อมาเยอะแล้ว ไม่เอาแล้ว เราก็จะเลือกคนที่พูดเก่งและยินดี
กระบวนการทำ ๑๓ หมูป่าฯ แตกต่างกับ Hope Frozen อย่างไร
เรารู้เส้นเรื่องของ ๑๓ หมูป่าฯ ว่าเริ่มหรือจบตรงไหน เหตุการณ์เกิดขึ้นใน ๑๘ วัน เราต้องสกัดให้หนังเหลือแค่ ๙๐ นาที ดังนั้นสิ่งที่ยากคือการเลือกว่าจะพูดหรือไม่พูดถึงอะไร เราตัดสินใจตั้งแต่แรกว่าสิ่งที่คนอื่นไม่มีคือการได้มุมมองของน้อง ๆ เราก็จะไม่เน้นผู้กู้ภัย นักดำน้ำต่าง ๆ เพราะมีหนังเกี่ยวกับเรื่องถ้ำหลวงอีกมาก เรื่องเราถือเป็นเรื่องสุดท้ายด้วย (หัวเราะ) แล้วเราจะทำยังไงให้คนยังสนใจอยู่
มีธงอะไรที่เปลี่ยนไประหว่างที่คลุกคลีกับทั้งครอบครัว Hope Frozen หรือน้องๆ หมูป่าไหม
Hope Frozen เราไม่รู้เลยว่าจะเจออะไร เป็นงานสังเกตการณ์อย่างเดียวเลย จุดเริ่มต้นพอจะนึกออก แต่จุดจบไม่รู้เลย เป็นความศรัทธาของเราล้วน ๆ ว่าเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้ คือเรารู้ว่ามันน่าสนใจพอ เป็นสัญชาตญาณของนักข่าวที่รู้ว่าถ้าตามไปสักพักน่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะตรงกับสิ่งที่เราสนใจก็ใช้เวลานาน เช่น ตอนที่น้องเมทริกซ์ (พี่ชาย) บวช แล้วก็ฉากที่ไปเยี่ยมน้องครั้งแรกที่อเมริกา (ไพลินบินไป-กลับสหรัฐอเมริกาภายใน ๔๘ ชั่วโมงเพื่อถ่ายฉากนี้เพียงฉากเดียว) แต่เซนส์ของเรารู้ว่าถ้าไม่มีฉากนี้ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้
ส่วนเรื่อง ๑๓ หมูป่าฯ เราอยากสัมภาษณ์และเน้นน้อง ๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่เราคิดว่าหลายคนอยากทราบคือฝ่ายพ่อแม่เพราะน้อง ๆ อาจจะไม่รู้ความร้ายแรงของสถานการณ์หรือเหตุที่ทำให้เขาไม่รอดได้ แต่พ่อแม่รู้ เพราะฉะนั้นอารมณ์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่พ่อแม่หมดเลย พอเราตีเส้นเรื่องเป็นผู้กู้ภัย > น้อง ๆ ที่อยู่ในถ้ำ > พ่อแม่ที่อยู่นอกถ้ำ แล้วเอาสามเส้นเรื่องนี้มาพันกันเพื่อเล่าให้ครบ กลายเป็นว่าสับสนมาก เราเลยเน้นน้อง ๆ เป็นหลักและพ่อแม่ที่เล่าเรื่องเก่ง นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนเยอะที่สุด
ที่ผ่านมาการเลือกความจริงออกมาเล่าท้าทายแค่ไหน
แน่นอน สำหรับคนทำสารคดี ในที่สุดสิ่งที่เราปั้นขึ้นมาก็เป็นการปั้น ข่าวก็เป็นการปั้นนะ แต่เป็นระยะสั้น (หัวเราะ) คือเราจะเน้นด้านไหน สัมภาษณ์ใคร มันคือการเลือก ทุกอย่างมันจริงหมดนะ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกความจริงของใคร
มีวิธีการเลือกโควตหรือซีนอย่างไรให้น่าสนใจ
จุดที่เราตื่นเต้น รู้สึกอิน หรือร้องไห้ แต่สิ่งที่อยากสื่อที่สุดคืออยากให้เห็นว่าคนทราบว่าอะไรเกิดขึ้น น้อง ๆ ที่อาจจะเป็นแค่เด็กชนบทที่คนอื่นในโซเชียลต่อว่าว่าเข้าไปในถ้ำทำไม เขาไปแบบไร้เดียงสามากและไม่ได้ไปถ้ำครั้งแรก พอเห็นว่ามีน้ำอยู่ก็คิดว่าคงเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็คงคาดไม่ถึง นอกจากนั้นก็อยากให้ทุกคนเห็นความเป็นห่วงที่โค้ชเอกมีต่อน้อง ๆ เพราะถ้าไม่มีโค้ชก็ไม่รู้ว่าน้อง ๆ จะแตกแยกหรือรอดกันมาได้ยังไง
สิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือความแข็งแรงทางด้านกายและใจของน้อง ๆ เพราะว่าถ้าจิตใจเขาไม่ไหว ร่างกายเขาก็คงไม่สู้แล้วเขาเก่งทั้งสองด้านเพราะเป็นนักฟุตบอล ร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีอยู่แล้ว เขาเคยทำงานเป็นทีมและรู้จักกันมาก่อน และมีวิธีคิดเป็นทีมว่าถ้าแพ้ก็แพ้ด้วยกัน
มีวิธีจัดการกับความกดดันและกระบวนการคิดเวลาได้โจทย์ที่ท้าทายอย่างไร
ส่วนหนึ่งก็คือการเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถ เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของตัวเอง และเชื่อว่าเราเป็นคนที่เหมาะที่สุดกับการทำเรื่องนี้
สำหรับ Hope Frozen เราคิดว่าครอบครัวเขาเปิดใจในตอนแรก เพราะเราจบชีวะมา (ชีววิทยา) แล้วเราสื่อสารกับเขาได้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องถ้ำหลวง เราก็เคยทำข่าวเรื่องพม่ามาเยอะ จึงทราบเรื่องชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเชียงรายเพราะเคยถ่ายมาเกือบทุกกลุ่มแล้ว เราทราบสิ่งแวดล้อมที่เขาเติบโตมา เข้าใจว่าการเป็นเด็กไร้สัญชาติที่อยู่แถวนั้นเป็นยังไง นอกจากนั้นเราก็ทราบด้วยว่าคนต่างชาติเขาสนใจอะไร คนไทยจะสนใจไม่เหมือนกับคนต่างชาติ แล้วเราจะหาจุดไหนที่เชื่อมโยงกันได้
สิ่งแวดล้อมและบริบทแบบไหนที่เอื้อให้มีความคิดที่เข้มแข็งขึ้น เชื่อมั่นในการทำงานที่ฉีกออกไปได้
ทุก ๆ อย่างที่เราเจอมามีส่วนปั้นคนที่เราเป็นในทุกวันนี้ ครอบครัวสนับสนุนอย่างที่สุดเลย ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะเกษียณแล้ว เขาก็มาช่วยแปลหนังเรื่องแรก น้องสาวทำงานเสร็จตอนเช้าก็มาช่วยแปลตอนเย็น เป็นจุดเริ่มต้นที่เวลาเราไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เขาก็มาช่วยเติมให้เราลุกขึ้นมาใหม่ แล้วก็ยังมีเพื่อนด้วย ระหว่างทางเรามีที่ปรึกษา ถ้าเจอคนที่เขาสนใจพัฒนาการของเรา เราก็ส่งความคืบหน้าให้เขารู้ว่าเราเพิ่งไปทำงานนี้มานะ เราติดต่อกับคนที่สนับสนุนเรามาตลอด เช่น อาชีพแรกของเราเป็นช่างภาพข่าวให้หนังสือพิมพ์เล็ก ๆ ที่นอร์ทแคโรไลนา บอสของเราสนับสนุนเรามาก ๆ พอกลับไปเที่ยวอเมริกาก็จะนัดคุยกัน จนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่
การต้องขุดลงไปในใจมนุษย์ หลายคำถามอาจไปแตะจุดอ่อนไหว
ก็มีหลายวันที่เราถามตัวเองว่ามีสิทธิ์อะไรไปถามเขาแบบนี้ แต่ในที่สุดเราก็คิดถึงคนดู ถ้าเราทำงานแบบโปร่งใส อธิบายให้เขาฟังได้ว่าถ่ายฉากนี้เพราะอะไร เขาก็จะเห็นที่มาที่ไป ไม่รู้สึกว่าเราถามไปเพื่อทำร้ายเขา เพราะเขารู้เจตนาเราดี เมื่อเราได้รับความไว้ใจ หลังจากนั้นเราถามอะไรก็ได้ ใช้แค่เวลาอย่างเดียวเลย อย่างน้อยปีหนึ่งในการทำความรู้จัก คลุกคลีกับเขา และทำให้เขาเห็นวิธีการทำงาน ไม่กลัวกล้อง อย่างเช่นโค้ชเอก เราสัมภาษณ์เขาสี่ครั้ง สองครั้งแรกเขายังเก็บตัว ไม่กล้าบอกว่าเขารู้สึกกลัวจริง อยากให้เห็นว่าเขาควบคุมได้ ไม่มีอะไรเสี่ยง แต่ว่าในที่สุดเราก็ต้องบอกเขาว่าเราคิดว่าคนดูจะสงสัยว่าไม่กลัวเลยเหรอ ซึ่งเขาไม่อยากจะเน้นความรู้สึกลบ เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายที่เขาจะได้บอกความจริงออกมา คุณจะทำอะไรกับโอกาสนี้ เราต้องโปร่งใสในการทำงาน
ในฝ่ายของน้อง ๆ หมูป่า ถ้าเราสื่อออกไปว่าเขาเป็นเด็กดี เรียบร้อย มีความสามัคคี ไม่กลัวอะไรเลย คนดูก็จะไม่เชื่อแน่นอน เพราะไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ดังนั้นถ้าเรา
ดูออก คนดูก็จะดูออก ถ้าเรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่เขานะ เขายังไม่ได้พูดหรือเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องที่เราอยากรู้ คนดูจะดูออกหมดนะ เขาไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเป็นตัวแทน ซึ่งเรามีสิทธิ์จะถามอะไรกับเขาก็ได้ แต่โค้ชเอกเป็นโค้ชฟุตบอล เป็นมนุษย์ที่เคยติดอยู่ในถ้ำและเจอโชคร้ายมาอย่างที่สุด เราจะใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่สัมภาษณ์นักการเมืองไม่ได้ ถ้าเขาพูดอะไรแล้วเราคิดว่าไม่ใช่ตัวเขา หลังกล้องเขาไม่ได้เป็นแบบนี้ ก็ต้องถ่ายใหม่ คราวหน้าจะถามคำถามนี้อีกรอบ ต้องใช้ความใจเย็นประมาณหนึ่งกว่าที่เขาจะไว้ใจเรา น้อง ๆ ด้วย เราสัมภาษณ์หลายรอบ บางครั้งสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม และในระยะเวลา ๑ ปีก็เริ่มเพิ่มกล้องให้ใหญ่ขึ้น
“เราได้เห็นความหลากหลายของโลกใบนี้ เราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจกันและกันได้คือความเป็นมนุษย์และถ้าเราไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ก็มีความเสี่ยง ในการเข้าใจผิดหรือตัดสินกันเหมือนตอนนี้ที่เห็นการแบ่งแยกกันเยอะทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นไทย อิสราเอล หรืออเมริกามีแนวโน้มที่คนจะคิดว่าคนคนนี้คือศัตรูของเรา ”
คุณค่าของการที่ทำให้คนดูเห็นว่ามนุษย์คนหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง ไม่ได้มีแค่มิติเดียวหรือเป็นตามข่าว คืออะไร
คือสาเหตุที่เราทำหนังสารคดี เราเติบโตในสามประเทศ สิงคโปร์ อินเดีย และไทยมา ๑๔ ปี ได้เห็นความหลากหลายของโลกใบนี้ จึงเข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจกันและกันได้คือความเป็นมนุษย์ ถ้าเราไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ก็เสี่ยงเข้าใจผิดหรือตัดสินกัน เหมือนตอนนี้ที่เห็นการแบ่งแยกกันเยอะทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไทย อิสราเอล หรืออเมริกา มีแนวโน้มที่คนจะคิดว่าคนคนนี้คือศัตรู ทั้ง ๆ ที่ถ้ากลับมาเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน จะช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ แม้ว่าฝ่ายนั้นจะคิดไม่เหมือนเรา
พอเราได้ไปอยู่หลายที่ ใช้หลายภาษา เจอการต่อสู้ การเอาตัวรอด การอพยพ เราก็คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทุกคนในโลกใบนี้แชร์กันได้ นั่นคือความเป็นมนุษย์ คือวิธีที่เรารักลูก คือความกลัวของเราเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีแสง ไม่มีข้าว นั่นคือความเป็นมนุษย์ มันคือความรัก ความกลัว ความสุข ความตื่นเต้นที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ แล้วสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยโลกได้ เราอาจจะคิดเกินไปนะ แต่เราคิดว่ามันมีส่วน
การทำสารคดี ๑๓ หมูป่าฯ ทำให้ต่อยอดอาชีพนักทำสารคดีแบบเต็มตัวเลยไหม
ก็รู้สึกว่าเหมือนเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ แทนที่จะไปเรียนต่อเปลี่ยนจากสายข่าวมาเป็นสารคดี และจากสารคดีเป็นกึ่งหนังแล้ว (หัวเราะ)
ต่อจากนี้จะพุ่งเป้าทำหนังสารคดีเต็มตัวเลยหรือเปล่า
เหมือนจะเป็นอย่างนั้น (หัวเราะ) หลังจากเรื่องถ้ำหลวงก็มีโปรดักชันเฮาส์ชื่อ N8 ที่อยากทำหนังไทยที่สามารถสื่อทั่วโลกได้ เขาสนใจสารคดีเรื่องของ Pangina Heals เป็นโปรเจกต์น่าสนใจเกี่ยวกับ drag queen ที่เราไม่เคยทำมาก่อน เราคิดว่าเมืองไทยมีความพิเศษในวิธีคิดเรื่องเพศ ในแง่ที่ว่ามันก้าวไปไกลกว่าประเทศอื่น ๆ เยอะ ถึงแม้ว่ากฎหมายเพิ่งจะเริ่มแก้ให้เท่าเทียม ไม่ได้เป็นประเทศที่มีแนวคิดขาว-ดำเรื่องเพศอย่างตายตัว แต่ประเทศอื่นเพิ่งจะเห็นเรื่องนี้ เราเลยภูมิใจที่เมืองไทยเป็นแบบนี้ เรามีเพื่อนหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ต้องคิดว่าทำไมเราถึงมีสิทธิ์มากกว่าเขาทั้ง ๆ ที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน
จนถึงตอนนี้ยังมีที่ทางให้หนังสารคดีไหม
ดีขึ้น แต่ว่าสิ่งที่สตรีมเมอร์ชอบและดึงสายตาของคนดูได้มากที่สุดคือสารคดีเซเลบ อาชญากรรม หรืออีเวนต์บางอย่างที่ดังทั่วโลก เช่น ๑๓ หมูป่าฯ นอกเหนือจากนั้นหนังสารคดีค่อนข้างนิ่ง เราคิดว่าถ้าเขาดูสถิติอย่างเดียวก็คงไม่ซื้อเรื่อง Hope Frozen หรอก แต่พอดีเขากำลังสนใจคนดูไทย แล้วมีสารคดีให้เลือกน้อยมาก เราก็เลยโชคดีไป พอมีการประท้วงที่ฮอลลีวูด คนก็เรียกร้องให้ปล่อยสถิติคนดู เขาก็เพิ่งเปิดเผยตัวเลขช่วง ๖ เดือนแรกของ ค.ศ. ๒๐๒๓ ปรากฏว่า Hope Frozen ออกมา ๓ ปีแล้วก็ยังมีคนดู ๑.๕ ล้านชั่วโมง ซึ่งถือว่าดีมากเลย