Image

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
เรื่องเล่าของนักเล่าเรื่อง
โลกขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่า
แต่ไม่ใช่เรื่องเล่าของเราคนเดียว

writer
40 Years of Storytelling

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

หากนับจากปี ๒๕๕๗ ที่เธอได้รับรางวัลระดับประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแจ้งเกิดของนักเขียนหน้าใหม่คนหนึ่งในวงการวรรณกรรมไทย ล่วงถึงบัดนี้ก็เป็นเวลากว่า ๑ ทศวรรษมาแล้ว

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นามปากกา “ร เรือในมหาสมุท” เธอตั้งใจนำตัว ร มาใส่ไว้ข้างหน้า เนื่องด้วยคำสมุท ท้ายนามสกุลไม่มีอักษรตัวนี้

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทั้งสองนามนี้นับเป็นนักเขียนดาวรุ่งมาแรงในทศวรรษนี้ กับรางวัลอีกมากมายที่การันตีฝีมือในการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนของเธอ ซึ่งได้รับมาตลอดช่วงการทำงานเขียน ไล่มาตั้งแต่รางวัลพระยาอนุมานราชธน เมื่อยังเป็นนักศึกษา  รางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้นเล่ม สิงโตนอกคอก เมื่อปี ๒๕๖๐ ฯลฯ  จนถึงนักเขียนรางวัลศิลปาธรคนล่าสุดเมื่อปี ๒๕๖๖ 

ผู้อ่านฟังเรื่องเล่าผ่านตัวหนังสือของเธอมานับสิบปี วันหนึ่งวันนี้เราขอให้จิดานันท์เล่าเรื่องของตัวเธอเอง ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องเล่ามากมายที่เราได้ฟัง (อ่าน) มา...

ตอนอายุ ๑๒ เรียนอยู่ ป. ๖ ครอบครัวย้ายจากสมุทรปราการบ้านพ่อ ไปอยู่เชียงรายบ้านแม่ ช่วงไปอยู่บ้านญาติไม่มีอะไรทำเลยเขียนหนังสือ

ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาอ่านหนังสือ ซึ่งในบ้านมีสองลังกระดาษ พี่ ๆ อ่านอยู่ก่อนแล้ว น่าจะมาจากพ่อแม่  ตอนนั้นอ่าน เราจะข้ามเวลามาพบกัน แล้วอยากเป็นจิตแพทย์ ดูเก๋ดี

พ่อเขียนกลอนได้แต่ไม่เคยถามว่าแกหัดเขียนจากไหน พี่ ๆ เขียนเอง บางครั้งเขียนให้เพื่อนด้วย  พ่อดีใจนะที่เราเขียนหนังสือ แกเพิ่งเสียเมื่อ ๒ ปีก่อน

เมื่อยุคเริ่มมีอินเทอร์เน็ต เด็ก ๆ ฮิตการเขียนลงเว็บไซต์ เราก็เขียนมาเรื่อย ส่วนใหญ่แนวแฟนตาซี แต่เราไม่เคยผ่านพิจารณาได้ตีพิมพ์เลย จนมีเพื่อนมาชวนให้ประกวดเรื่องสั้นสยองขวัญ ก็ได้รับรางวัลที่ ๑ กับที่ ๓ ได้เงินมาก้อนหนึ่งเป็นค่าเทอมช่วงเรียนมหาวิทยาลัย

แต่ไม่ใช่ว่าส่งแล้วได้รางวัลทุกเวที เราก็ต้อง “เก็งข้อสอบ” ได้รางวัลพระยาอนุมานราชธนของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี ๒๕๕๗  รางวัล Young Thai Artist Award 2016  เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี ๒๕๕๗ และปีต่อมาได้รางวัลยอดเยี่ยมจากเรื่องสั้น “จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว”

การประกวดกับการทำงานกับบรรณาธิการก็ขัดเกลาเราอย่างมาก เวลาตกรอบมันสอนเราอย่างรุนแรงว่างานชิ้นนี้มีข้อเสียอะไร อันที่ผ่านมีข้อเด่นอะไร  เมื่อจะพิมพ์หนังสือการทำงานกับสำนักพิมพ์ก็ได้เรียนรู้เยอะ มีการขัดเกลาทางภาษา ซึ่งจำเป็นสำหรับงานเขียน  บรรณาธิการบางคนก็คัดทิ้งเยอะ บางเรื่องบอกให้ไปแก้ บางคนไม่แก้ มีแต่เอากับไม่เอาเท่านั้น

Image

(เอาเรื่องจากไหนมาเขียน)

เคยอ่านงานของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ แล้วพบว่าเราไม่เคยมีชีวิตแบบนั้นเลย เราเข้าไม่ถึงกลุ่มก้อนวัฒนธรรมตรงนั้น ชีวิตเราไม่มีอะไร ลูกบ้านจีน โตในเมืองสมุทรปราการ แม่อยู่บ้านตึกแถว ไปอยู่เชียงใหม่ก็อยู่ในเมือง เข้ามหาวิทยาลัยอยู่รังสิต เรียนจบทำงานบริษัท ไม่มีเรื่องอะไร  เรื่องราวต่าง ๆ ในงานเขียนมาจากการสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาว่าถ้ามีฉากแบบนี้ มีปมปัญหาแบบนี้ ใส่ตัวละครเข้าไปแล้ว ตัวละครแต่ละตัวจะเกิดปฏิสัมพันธ์อย่างไร สร้างทุกอย่างขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่

(ในแง่กลวิธีการเล่าเรื่อง มีกระบวนการเรียนรู้มาอย่างไร)

เกิดจากสิ่งที่เราอ่าน โตมากับหนังสือแปล วรรณกรรมต่างชาติ แต่จะไม่เอามาหมด  อย่างเรื่องฤดูหนาว ถ้าเราเอา เรื่องนี้มาเขียนจะเอามาเพียงครึ่ง แล้วเอาอย่างอื่นมาผสม พอมาต่อ ๆ กันจะกลายเป็นเรื่องที่เหมือนใหม่ ที่เอามาอาจมีราวหนึ่งในสี่ของส่วนอื่น ๆ ที่มารวมกัน

(แต่เนื้อหาหลักอิงอยู่กับสังคมการเมืองไทย ?)

เราเล่าเรื่องของคนที่อาศัยอยู่ในสังคม สังคมเป็นองค์ประกอบในชีวิตของตัวละคร อย่างเล่ม สิงโตนอกคอก มุ่งคำถามทางปรัชญา อะไรคือความดี อะไรคือความยุติธรรม ซึ่งตัวคำถามยึดโยงกับสังคมอยู่แล้ว  บางเรื่องก็ใส่การเมืองเข้าไปนิดหน่อย เหมือนเป็นมุกอย่างหนึ่ง ให้คนอ่านรู้สึกตื่นเต้นขึ้น

(งาน “แบบจิดานันท์” เป็นอย่างไร)

ให้อ่านเข้าใจง่าย เราไม่อ่านงานที่รุ่มรวยภาษามาก ฉันโง่ ฉันสู้ไม่ไหว มันเหนื่อย  อยากเขียนให้เข้าใจง่ายที่สุด อ่านแล้วเข้าใจ  มีหนังสือเยอะมากอ่านแล้วไม่เข้าใจ เหนื่อยกับการอ่านสิ่งนั้น  แล้วเราก็เสียใจมากถ้าเขียนแล้วคนอ่านไม่เข้าใจ

(ตั้งเป้าไหมว่างานเขียนเราต้องเปลี่ยนแปลงโลก)

เราไม่ได้อยู่ในความเชื่อนั้นแล้ว ไม่รู้สึกว่าหนังสือเล่มเดียวจะเปลี่ยนแปลงโลก  สมัยก่อนอาจเป็นไปได้ แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าหนังสืออาจไม่ได้เป็นผลกระทบต่อสังคมใหญ่มากขนาดนั้นแล้ว จึงรู้สึกแค่ว่าพอเขียนไปแล้ว ถ้าคนอ่านรู้สึกว่าเข้าใจ ได้พบความรู้สึกของตัวละคร นี่คือจบแล้วสำหรับเรา เล่าเรื่องความเศร้าแล้วคนอ่านรู้ว่านี่คือความเศร้า แค่นี้คือจบแล้ว

(จำเป็นไหมงานเขียนเราต้องพิมพ์เป็นเล่ม)

เป็นอีบุ๊กก็ได้ สตอรีมันยังอยู่  ตัวเองชอบหนังสือเล่ม แต่ก็เห็นใจคนอ่านบางคนบอกว่าบ้านไม่มีที่เก็บแล้ว

(คาดหวังว่างานเราจะอยู่นานไหม)

ไม่ค่ะ โลกมันไปไวมากจนเราก็กลัว งานแนวแฟนตาซีแบบ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดังตอนเราอายุ ๑๒ จนเราอายุ ๒๒ ดังอยู่ ๑๐ ปี แต่ตอนนี้งานไม่ได้อยู่ถึง ๑๐ ปีอีกแล้ว อาจแค่ ๖ เดือน แนวมันเปลี่ยนไปเร็วมาก จนเราไม่คาดหวังอีกแล้วว่างานเล่มหนึ่งจะอยู่นาน

ไม่คิดว่างานเก่าจะวนมาขายได้ตลอด ถึงเวลามันก็ลง นอกจากงานที่ดีมาก ๆ ทุกคนต้องอ่าน หรือได้รับการบรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนนักศึกษา

เขียนหนังสือมาหลายเล่ม ตอนนี้เล่มแรก ๆ ก็ไม่มีขายแล้ว เลหลังหมด บางสำนักพิมพ์ปิดไปแล้ว ที่ยังอยู่ก็อาจไม่ได้อยากพิมพ์ซ้ำ เพราะคนไม่ได้อยากอ่านแล้ว เสี่ยงกับการสต๊อกซึ่งโหดร้าย นิยายวาย หรือซีรีส์ดัง ๆ เมื่อปีที่ผ่านมา พอข้ามปีก็มีเลหลังเหมือนกัน ดังไม่ดังไม่เกี่ยว

(โลกขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่า แต่ไม่ใช่เรื่องเล่าของเราคนเดียว ?)

ใช่ เพราะโลกมีเรื่องของคนมากมายให้เล่า เรื่องของเราไม่สำคัญขนาดนั้น เราเป็นใครหรือ ถ้าเราเป็นศาสดา คนในโลกอาจยังพูดถึงเรื่องของเราตลอดไป  แต่เราเป็นลูกจีนเกิดในห้องแถว ไม่คิดว่าโลกจะจดจำหรอก ข้ามพรมแดนไปประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่มีใครรู้จัก ยังไม่ต้องพูดถึงโลกตะวันตก

(นักเขียนต้องผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลา ?)

ใช่ค่ะ เหนื่อยมาก สมัยเด็ก ๆ อาจคิดว่าผลิตได้สักเล่มแล้วขายตลอดกาล แต่นักเขียนในโลกกี่คนคะที่ทำได้อย่างนั้น

ได้รางวัลซีไรต์ก็ยอมรับว่าทำให้ได้ยอดขาย ได้โอกาสหลาย ๆ อย่างเวลาไปเสนองาน แต่คนอ่านในออนไลน์ก็ไม่ได้รู้จักว่าเราเป็นนักเขียนซีไรต์  ซีไรต์ไม่ได้ใหญ่มากอีกแล้ว หลายเล่มก็ไม่ได้ดังมาก ยอดขายไม่ได้บูมมาก นักเขียนซีไรต์ ๔๐ กว่าคนก็ไม่ได้ดังทั้งหมด

ใน ๑ ปีเราต้องทำงานเพื่อให้คนไม่ลืมเรา ตอนนี้อยู่บ้านที่เชียงรายจะเขียนตลอด อยู่ด้วยรายได้จากการเขียนอย่างเดียว นับตั้งแต่ออกจากงานเมื่อปี ๒๕๕๘

ตื่นตอนสาย ๆ ชงชา กาแฟ เริ่มเขียน ทุ่มหนึ่งหาอะไรกิน เลิกงาน ๓ ทุ่ม  ถ้างานด่วนจะมาเขียนต่ออีกทีตอน ๕ ทุ่ม ถึงตี ๒ หรือตี ๔ ทำทุกวัน เขียนลงคอมพิวเตอร์เลย ไม่พัก ทำแบบนี้ต่อเนื่องเป็นเดือน ๆ อารมณ์จะเริ่มหดหู่ โศกเศร้า ปวดแขนเพื่อนบอกปิดคอมพ์ออกไปข้างนอกบ้าง แต่เรารู้สึกกดดันว่าถ้าไม่ทำงานไม่ได้นะ

Image

ตอนนี้อายุ ๓๐ ไม่ค่อยไหวแล้ว ทำน้อยลง แต่ยังรู้สึกว่าฉันต้องทำงานให้มากที่สุด ต้องหาเงินสำรองเลี้ยงชีพไว้ให้มากที่สุด เราอยู่บนความไม่แน่นอน คนรุ่นใหม่ หรือเอไอ อาจเก่งกว่าเรา คนอายุ ๕๐ ตอนนี้เป็นผู้บริหาร มั่นคงแล้ว คนช่วง ๓๐-๔๐ กำลังไล่มา จะไปแทนที่เขาก็ยังไม่เกษียณ ไปต่อไม่ได้ คนรุ่นใหม่ก็ไล่หลังมา เรามีภาระ ถ้าหยุดทำงานจะไม่มีคนให้งาน ในขณะที่คนรุ่นเราหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา แต่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบยุคนี้อาจไม่ได้คิดแบบนี้ เขาอาจหันไปให้คุณค่ากับบางสิ่งบางอย่างมากกว่า

(คนอ่านยุคนี้อ่านอะไรกัน)

หลากหลายมาก ซึ่งอยู่ในวงโคจรของเขา คนรุ่นใหม่อาจอ่านในสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะอ่าน  นักเขียนแต่ละคนก็มีฟองสบู่ของตัวเอง ให้เรารู้ว่าแนวของตัวเองคืออะไร เราก็อยู่กับคนอ่านแบบนั้น เราต้องหาให้เจอ

(จิดานันท์เขียนนิยายวายจากโจทย์นี้ ?)

อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะก็ซึมซับมา ชินกับสิ่งที่เป็นอย่างนี้ รู้สึกว่าทุกคนสนุกร่วมกัน เราก็ไปด้วย เหมือนเรามีเพื่อน เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง เหมือนคนกลุ่มตกปลา ดูนกตอนนี้นิยายวายไทยแปลเป็นจีนเยอะมาก เพื่อนต่างชาติบอกว่ามาอ่าน คู่กรรม ก็เพราะตัวละครในซีรีส์วายอ่านเรื่องนี้ อ่านแล้วทำให้เขาอยากมาดูทางรถไฟเมืองกาญจน์ นี่ซอฟต์พาวเวอร์มาก

ครั้งหนึ่งไปคุยงานที่ตึกแกรมมี่ มีคนจีนมายืนหน้าตึก ถามเขาว่ามารอดาราคนไหน วันนี้ใครจะมา  เขาบอกไม่รู้ แค่มายืนรอ เผื่อว่าจะมีดาราขวัญใจเขาผ่านมาสักคน

(อยากเห็นผลจากงานของตัวเองเป็นแบบไหน)

เส้นทางการทำงานเมื่อมาถึงจุดนี้แล้วก็อยากเคลื่อนที่ต่อไป เขียนงานได้แล้วก็อยากให้คนอ่านรู้จัก ถ้าขายเป็นละครได้ก็ดี  ถ้าอยากออกไปพ้นแดนประเทศก็ต้องทำงานแปลให้หนัก คิดว่านั่นเป็นก้าวต่อไปของเรา แต่ก็ไม่มั่นใจเลยแม้แต่น้อยว่าจะทำได้

ตอนนี้ก็รู้สึกทรมานเหมือนกัน รู้ว่ามีสิ่งต้องทำ แต่ด้วยโอกาสสภาพปัญหาภายในภายนอก เทียบกับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เกิด ไม่รู้ว่าเราจะมีวันที่จะไปสู่ได้ไหม ผ่านไปปีสองปีบางเป้าหมายเราก็อาจทิ้งไป

(หวังไหมว่างานของเราจะเป็นที่จดจำ แม้คนเขียนไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว)

ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว ยังไงเราก็ไม่รู้อยู่ดี  

Image

ย้อนมอง
เส้นทาง
ผลงานเขียน

✑ นิยาย Music of Memory กล่องดนตรีสีทรงจำ หลวยสูสำนักพิมพ์
✑ รวมเรื่องสั้น Divine Being ไม่ใช่มนุษย์และตัวตนอื่น ๆ สำนักพิมพ์ Salmon Books
✑ นิยาย ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง ภาค คฤหาสน์สมบัติซ่อนเลือด สำนักพิมพ์ Scalab Production
✑ นิยาย ปลายฟ้า สาวสวยสามวิญญาณ สำนักพิมพ์ Groove Publishing
✑ รวมเรื่องสั้น เด็กสาวกับแมวสีขาว สำนักพิมพ์ lily house
✑ นิยาย ถ้ารักบังเกิดก็เปิดใจรัก สำนักพิมพ์ Rose
✑ นิยาย ดานิกามาลีรินทร์ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
✑ รวมเรื่องสั้น อาจไม่เหมาะหากเปราะบาง สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด
✑ นิยาย Monochromatic Night สีสุดท้ายของกลางคืน สำนักพิมพ์ P.S.
✑ นิยาย ผู้คนในวังหลวงล้วนหลอกลวงข้าทั้งนั้น สำนักพิมพ์ Rose
✑ นิยาย วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ 3 สำนักพิมพ์พะโล้
✑ นิยาย วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ 2 สำนักพิมพ์พะโล้
✑ นิยาย Sweet and Strong อ่อนหวานและหาญกล้า สำนักพิมพ์ JLS+
✑ นิยาย Good Night My Last Mistake ราตรีสวัสดิ์รักแท้ สำนักพิมพ์ everY
✑ นิยาย ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง แพรวสำนักพิมพ์
✑ นิยาย วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ 1 สำนักพิมพ์พะโล้
✑ นิยาย จีบเยลลี่แถมฟรีคนดื้อ สำนักพิมพ์ everY
✑ นิยาย เฟื่องนคร สำนักพิมพ์ everY
✑ นิยาย Bad Genius ฉลาดเกมส์โกง สำนักพิมพ์แจ่มใส
✑ รวมเรื่องสั้น วันที่ดอกไม้บานในจักรวาลของความรัก สำนักพิมพ์ everY
✑ นิยาย ตีแผ่ชีวิตสายซึน สำนักพิมพ์ everY
✑ นิยาย Good Morning Mr. Bad Love อรุณสวัสดิ์รักร้าย สำนักพิมพ์ everY
✑ รวมเรื่องสั้น วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
✑ รวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก แพรวสำนักพิมพ์
✑ นิยาย ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่ สำนักพิมพ์ everY
✑ นิยาย House of Death บนบานศาลผี สำนักพิมพ์โซฟา