Image

รู้ทันฝุ่นจิ๋วไม่หลงทาง

Holistic 

เรื่อง ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ zembe

ฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูแล้งของทุกปีคือ
ฤดูฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ในบ้านเรา แต่เมื่อฤดูฝุ่นจิ๋วผ่านไป เราก็มักหลงลืมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแข็งแรงหรือผู้เจ็บป่วย เนื่องด้วยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นจิ๋วคือ คนทำงานกลางแจ้งวันละไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมง หญิงตั้งครรภ์ คนเป็นโรคภูมิแพ้ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนมีที่อยู่อาศัยแบบเปิด หรือคนชอบออกกำลังกายกลางแจ้งวันละอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง ผู้สูงอายุ และเด็ก ดังนั้นแม้จะเป็นคนแข็งแรงสุขภาพดี แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็อาจทำให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงได้ หรือแม้เราปกป้องตัวเองอย่างดี คนใกล้ชิดก็อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นได้เช่นกัน

เพราะฝุ่นจิ๋วมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เว้นแต่ในวันที่มีปริมาณสูงเกินมาตรฐานความปลอดภัยหลายเท่าตัว จึงปรากฏคล้ายหมอกหนา คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพมหาศาล

รายงานจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ IQAir โดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ในปี ๒๕๖๔ มีผู้เสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 จำนวน ๒.๙ หมื่นคน ซึ่งสูงกว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน การใช้ยาเสพติด และฆาตกรรมรวมกัน และข้อมูลจากเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศในประเทศไทยมากถึง ๑.๕๒ ล้านคน

Image

มองไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี สิ่งที่เรารับรู้ผ่านร่างกายคือ ฝุ่นจิ๋วทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ บางคนไอ จาม หรือแสบจมูก บ้างถึงขั้นเลือดกำเดาไหล เพราะฝุ่นจิ๋วสามารถผ่านเข้าสู่ผนังหลอดเลือดได้ง่ายและรวดเร็ว จึงส่งผลทันทีต่อผู้มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด

การสัมผัสฝุ่นจิ๋วยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคสมอง และการเสียชีวิต เพราะฝุ่นที่สะสมในร่างกายจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดหนืด จึงมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดในสมองง่ายขึ้น รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองจะแข็งตัวทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกได้

องค์การอนามัยโลกจัดให้ฝุ่น PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งประเภทหนึ่ง ดังนั้นข่าวนายแพทย์กฤตไท ธนสมบัติกุล ซึ่งใช้ชีวิตนักศึกษาแพทย์และเป็นแพทย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีปริมาณฝุ่นจิ๋วสูงเกินมาตรฐานทุกปีเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิต โดยระบุว่ามีสาเหตุจากฝุ่นจิ๋วจึงไม่ใช่การอ้างเกินจริง

จึงจำเป็นต้องรู้และตระหนักว่า “เรา” จะป้องกันตัวเองอย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้ง “รู้ทัน” ว่าการลงมือทำอะไรที่ไม่ช่วยและยังเสียทรัพยากรและเสียสุขภาพเพิ่มขึ้น  

เรื่องต้องรู้
เกี่ยวกับฝุ่น
PM 2.5

ฉีดน้ำและฝนตกไม่ช่วยลดฝุ่นจิ๋ว
นักวิจัยในหลานโจวประเทศจีนวิเคราะห์ระดับอนุภาคที่เล็กที่สุด (๑-๒.๕ ไมครอน) พบว่าแม้ช่วงฝนตกหนักสุดก็ลดมลพิษได้เพียง ๘.๗ เปอร์เซ็นต์ และฝนที่ตกเล็กน้อยถึงปานกลางลดฝุ่นจิ๋วแทบไม่ได้เลย ส่วนกรุงเทพ-มหานครและคณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (เอไอที) ทดลองนำเครื่องฉีดน้ำแบบละอองติดตั้งที่โรงเรียนแห่งหนึ่งโดยเปิดน้ำ ๑ ชั่วโมง ปิดน้ำ ๑ ชั่วโมง พบว่าการฉีดน้ำในอากาศทำให้ค่าฝุ่นจิ๋วลดลงเพียง ๑-๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือไม่ลดเลย

สวมหน้ากาก N95 เท่านั้น
หน้ากากอนามัยทั่วไปกรองฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้  ส่วนหน้ากาก N95 สามารถกรองฝุ่นขนาดจิ๋วได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องหมั่นกระชับหน้ากากไม่ให้หลวมและไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่

น้ำด่างกับฝุ่น PM 2.5
ขณะแวดวงโซเชียลมีเดียเผยแพร่แนวคิดดื่มน้ำด่างเพื่อปรับสภาวะความเป็นกรดในร่างกาย ทำให้เซลล์ในอวัยวะภายในไม่อักเสบและเสียหาย และอ้างว่าน้ำด่างช่วยป้องกันผลกระทบจากฝุ่นจิ๋วได้  แต่หลักฐานทางการแพทย์ยังสรุปไม่ได้ว่าการกินน้ำด่างหรืออาหารสร้างด่างเป็นประจำจะเป็นผลดีต่อทุกคนอย่างมีนัยสำคัญ

ฝุ่นจิ๋วทำให้ผิวอักเสบ-แก่เร็ว
งานวิจัยจากเนเธอร์แลนด์พบว่าฝุ่น PM 2.5 เพียง ๑๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังได้ และการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าเซลล์ผิวหนังมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงเมื่อสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่ ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ๒ ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องระยะยาวทำให้เกิดจุดด่างดำบนใบหน้าและริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากขึ้น รวมถึงการทำงานในระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังลดลง กล่าวโดยรวมคือ “แก่เร็ว”

Image

ฝุ่นจิ๋วเกิดขึ้นจากภายในบ้านได้
บุหรี่มวนเล็ก ๆ ก่อให้เกิดมลพิษและฝุ่น PM 2.5 มหาศาล การจุดบุหรี่หนึ่งมวนสร้างสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกว่า ๔,๐๐๐ ชนิด เมื่อควันบุหรี่เจอออกซิเจนในอากาศจะทำให้เกิดสารพิษ โดยเฉพาะไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญของฝุ่น PM 2.5  ส่วนการจุดธูปทำให้เกิดสารหลายตัวคล้ายที่พบในควันบุหรี่ รวมถึงไนโตรเจนออกไซด์ด้วย

หมั่นเช็กค่าฝุ่น
ช่วงฤดูฝุ่นหมั่นเช็กค่าฝุ่นประจำวันผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ แล้วควรดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  องค์การอนามัยโลกตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในอากาศว่า หากมีเกินกว่า ๒๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะประเทศไทยกำหนดไว้ที่ ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง) แต่ถ้าดูในแอปพลิเคชันอย่าง IQAir จะพบว่าวันที่ค่าตรวจวัดเป็นสีแดง ค่าฝุ่นมักสูงกว่าค่าอันตรายเกินสองเท่า  ในฤดูกาลฝุ่นบางวันค่าฝุ่นมากกว่า ๑๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในระดับวิกฤตต่อสุขภาพมนุษย์

งดออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตกลางแจ้ง
คนกลุ่มเสี่ยงควรงดเว้นออกไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นมลพิษมาก หรือสัมผัสฝุ่นให้สั้นสุด ใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย ทาโลชั่นหรือครีม และอาบน้ำทำความสะอาดผิวหนัง  สำหรับคนทั่วไปควรงดออกกำลังกายกลางแจ้งช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือหายใจแรงยิ่งเพิ่มการสูดละอองฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น จนอาจส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงไปทันที

เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันกฎหมาย
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การลดฝุ่นต้องทำเป็นระบบครบวงจร เช่น เปลี่ยนน้ำมันรถยนต์ จัดทำผังเมืองแบบบูรณาการ เปลี่ยนระบบขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” หรือการจัดการฝุ่นข้ามพรมแดน