Image

“นิ้วกลม”
คุณเป็นนักเล่าเรื่อง
ที่สนุกกับการใช้สื่อหลากหลาย

writer
40 Years of Storytelling

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

Image

หากนับจากปี ๒๕๔๗ ที่หนังสือเล่มแรกของคุณ โตเกียวไม่มีขา ออกมาเขย่าแวดวงการอ่านให้ต้องจับตามองนักเขียนหนุ่มหน้าใหม่คนหนึ่งในวงการวรรณกรรมไทย ล่วงถึงบัดนี้ก็เป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษมาแล้ว

แต่การงานแรกจริง ๆ ในชีวิตการทำงานของคุณคือครีเอทีฟโฆษณา ซึ่งคุณทำอยู่นาน ๗ ปี  เมื่อใครจะเขียนถึงคุณจึงควรออกแบบบ้างเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของคุณ

ส่วนการเขียนนั้นคุณเล่าว่าเริ่มขึ้นในยุคมีกระแสหนังสือทำมือ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ปี ๕ คุณกับเพื่อนติดไปกับกระแสนั้นด้วย พากันทำหนังสือและเขียนหนังสือ จนคุณมีผลงานเล่มแรก โตเกียวไม่มีขา ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักนาม “นิ้วกลม” กว้างขวางมาตั้งแต่นั้น

แต่ที่จริงคุณใช้นามนี้ในการเขียนคอลัมน์มาก่อนแล้ว และก่อนนั้นเคยใช้ในการเขียนเว็บบอร์ด ซึ่งเป็นครั้งแรกของการใช้นามนี้

“รุ่นน้องคนหนึ่งใช้นามปากกา ‘ตัวกลม’ เขาเป็นคนตัวอ้วนหน่อย  กูอะไรกลมวะ พิมพ์คีย์บอร์ดไปมองมือตัวเองไป นิ้วมันกลม ๆ ไม่เรียวยาว ก็เอาชื่อนิ้วกลมนี่แหละวะ”

เป็นชื่อที่ตัวเองตั้งเอง และคุณแทบไม่เคยใช้ชื่อจริง สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ในการเขียนหนังสือเลย

เล่มแรกผลตอบรับดี สำนักพิมพ์จึงให้คุณเขียนเล่มต่อ ๆ มา กัมพูชาพริบตาเดียว  เนปาลประมาณสะดือ นั่งรถไฟไปตู้เย็น ระหว่างนั้นก็ยังทำงานครีเอทีฟโฆษณาไปด้วย จากนั้นเป็นผู้กำกับหนังโฆษณา แล้วไปทำรายการโทรทัศน์ “พื้นที่ชีวิต” ต่อมาคุณทำสำนักพิมพ์ KOOB ของตัวเอง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักประจำในช่วงหลังมานี้

จนปัจจุบันนอกจากเขียนหนังสือและจัดพิมพ์เองเป็นงานหลัก คุณยังสร้างช่องทางเล่าเรื่องผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก : Roundfinger  ช่องยูทูบ : Roundfinger Channel คลับเฮาส์ : Roundfinger  พอดแคสต์ : Roundfinger Channel อินสตาแกรม : @roundfinger  รวมทั้งเป็นผู้บรรยายตามหน่วยงาน องค์กรที่ได้รับเชิญ จนถึงจัดทอล์กโชว์ก็ทำมาแล้ว

“ผมเป็นนักเล่าเรื่องที่สนุกกับการใช้สื่อหลากหลายครับ” คุณให้คำนิยามตัวเอง

Image

ยี่สิบปีเต็มบนเส้นทางคนเขียนหนังสือ คุณบอกว่าการเขียนทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นทุกวัน ได้ตกตะกอนกับตัวเองตลอดเวลา และทำให้เราเข้าใจเรื่องที่อยากจะเข้าใจ จากการเดินทางออกไปเก็บข้อมูลมาทำความเข้าใจแล้วเขียนออกมา เป็นอาชีพที่พาเราไปเจอคน เกิดประสบการณ์ที่เรียกกันว่าญาติน้ำหมึก รวมทั้งคนในแวดวงอื่นด้วย ผลงานหนังสือเป็นเหมือนโบรชัวร์ที่แนะนำตัวเอง  มากกว่านั้นคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ตลอดเวลา

“ในแง่ทักษะเป็นการฝึกเรียบเรียงความคิด การใคร่ครวญมีผลมากต่อความทุกข์สุขในชีวิต” คุณยืนยัน และยกตัวอย่าง “ถ้ามีน้อง ผมจะแนะนำว่า ให้ใช้เวลากับการเขียน ซึ่งทำให้เราได้พูดคุยกับตัวเอง ได้ทบทวนทัศนะของตัวเอง  โลกตอนนี้ มีแต่คนคอยบอกกับเราว่าต้องคิดอย่างไร ตั้งแต่นักการเมือง นักการตลาด อินฟลูเอนเซอร์ คอยบอกเราว่าต้องคิดอย่างนี้ ต่อเรื่องหนึ่ง ๆ  แล้วตัวเราเองล่ะคิดอย่างไร  การเขียนช่วยให้เราทบทวนตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างวันนี้กินก๋วยเตี๋ยวร้านนี้มารู้สึกอย่างไร อร่อยไหม รู้สึกตามลิ้นเรานี่แหละ ไม่ต้องอร่อยอย่างที่คนอื่นบอกมา ไปจนถึงเรื่องใหญ่ของชีวิตอย่างเราเกิดมาทำไม ซึ่งต้องหาคำตอบของตัวเอง”

คุณเชื่อว่างานเขียนจะช่วยให้เราตกผลึก ได้คำตอบใหม่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งในยุคสมัยนี้ผู้คนอาจให้เวลากับการเขียนน้อยลง คุณจึงมักยั่วยุใคร ๆ “เขียนไปเลย เขียนมันออกมา สิ่งที่ปั่นป่วนอยู่ข้างใน เราจะได้เห็นความคิดเหล่านั้นเมื่อเขียนมันออกมาบนหน้ากระดาษ  เริ่มจากไม่ต้องรู้เรื่องก่อนก็ได้ เขียนไปเรื่อย ๆ จะเจออะไรบางอย่าง เหมือนสมองพยายามจะเข้าใจว่าเราเขียนอะไรอยู่ เขียนทำไม”

Image

“งานของ ‘นิ้วกลม’ เขียนเพื่ออะไร”

“เป็นเพื่อนคู่คิด อยากเป็นเพื่อนคนอ่าน เหมือนเขียนบันทึกให้เพื่อนอ่าน ใช้ภาษาเรียบง่าย สื่อสารให้เขาเข้าใจง่าย  ผมมองงานตัวเองว่ามีความเป็นศิลปะน้อยสักหน่อย ค่อนข้างเป็นอะไรที่เหมือนกับจดหมาย  ช่วงเขียนแรก ๆ เหมือนตั้งใจจะประกาศสัจธรรม เรามาคิดแบบนี้กันเถอะ  ถึงช่วงหนึ่งไม่คิดว่าจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรคนอ่าน  คิดว่าเราเป็นเพื่อนกันชวนคุยกันไปเรื่อย ๆ อยากสะกิดความคิด เราจะคิดเหมือนไม่เหมือนกันก็ได้ แต่เรามาคุยเรื่องนี้กันเถอะว่าคุณคิดอย่างไร และถ้าเขาอ่านแล้วรู้สึกดีกับชีวิตตัวเอง มีพลัง แรงบันดาลใจ ในการดำเนินชีวิตต่อไป ก็เป็นของแถมที่เราจะดีใจ”

คุณบอกว่าตอนนี้มองตัวเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมจะคอยสร้างบทสนทนาที่ประจวบเหมาะกับอารมณ์ของสังคมเห็นโลกที่กำลังทำให้เราเป็นบ้า เร่งความเร็วให้เราต้องสร้าง ตัวตน แคร์ยอดไลก์  คุณว่าเราอยู่ในโลกแบบนี้ไม่ไหว ก็โยนความคิดลงไปว่าในสถานการณ์นี้คุณคิดแบบนี้ คนอื่นคิดแบบไหน

เพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กของคุณคงมองเห็น คุณเป็นคนที่เขียนโพสต์ยาวแบบตั้งใจเขียน ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาและพลังงานไม่น้อย ซึ่งไม่เปลืองเปล่าสำหรับคุณ

“ผมใช้เฟซบุ๊กเหมือนสมุดบันทึก เวลาคุยกับผู้คน หรืออ่านเจอโน่นนี่ก็บันทึกลงไป  พอมีคนได้อ่าน เขาแชร์กัน เพจเราก็มีคนติดตามมากขึ้น  ผ่านไป ๒-๓ ปีผมก็คัดมารวมเล่ม เวลากลับมาอ่านตอนรวมเล่มก็ได้เห็นตัวเองด้วยว่าช่วงวัยที่ผ่านมาเราครุ่นคิดกับอะไรเป็นพิเศษ เรื่องความตาย ความเจ็บป่วย ความรัก”

“เขาว่านักเขียนมักเป็นซึมเศร้า คุณเป็นไหม”

“บันทึกของผมช่วงหนึ่งรู้สึกว่ามีความลึกซึ้งบางอย่าง ตัวเราเปราะบางลง ทำให้ได้สัมผัสกับอีกมุมหนึ่ง ยอมรับตัวเองเป็นทุกข์ อ่อนแอ เป็นช่วงที่น่าสนใจ ก่อนหน้านั้นไม่เคยสัมผัสมุมนั้น ทำให้รู้สึกตัวเองเล็กลง  มึงไม่ได้สว่างสุกใส มึงก็โง่ ๆ ห่วย ๆ อ่อนแอ ท้อเป็นเหมือนกัน  ผมคิดว่าคนที่เขียนหนังสือเก่ง ๆ อาจจะมีห้วงความรู้สึกแบบนั้นบ่อย ๆ ก็ได้ ความอ่อนไหวของคนเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ทำให้เขาสัมผัสเรื่องเดียวกับเราด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้งซับซ้อนกว่า”

“ผ่านช่วงที่ท้อ ๆ เบื่อ ๆ มาอย่างไร”

“ไม่รู้ใช่วิกฤตวัยกลางคนไหม เคยเกิดขึ้นช่วงอายุ ๓๗ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้วสำหรับตัวเองในแง่นักโฆษณาทำงานออกมามีคนชื่นชม ได้รางวัล  มีงานเขียนหลายเล่ม
ชีวิตส่วนตัวแต่งงาน สร้างบ้านเสร็จ เหมือนมันสมบูรณ์  พอสมบูรณ์มันงง อยู่ ๆ ก็หมดแรง จะทำยังไงต่อไป  ช่วงนั้นความขัดแย้งทางการเมืองสูงมากด้วย แล้วทุกครั้งที่ผมโพสต์ก็เจอดรามา ทัวร์ลง จากคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา แม้กระทั่งรุ่นพี่ที่คณะ  เวลาเขียนโพสต์เรื่องการเมือง ก้อนอิฐลอยมาเต็ม ตีนลอยมาด้วย ช่วงแรงมาก ๆ คนเขียนมาว่าจะเผาหนังสือทิ้งก็มี ญาติมิตรใกล้ตัว เพื่อนของพี่ เพื่อนของพ่อ ไลน์มาต่อว่าเขา เราไม่ได้คาดฝันว่ามันจะไปไกลขนาดนั้น เราก็สั่นไหวเหมือนกัน ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะเราไม่กล้าหาญมากพอ ส่วนหนึ่งพอสื่อสารออกไปโดนดรามา ก็เลยอึดอัด  เราเป็นคนชอบสื่อสาร เรื่องที่เราคิดว่าสำคัญพอสื่อสารออกไปก็โดน  ช่วงนั้นแหละที่รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากทำงานและซึม ๆ เซ็ง ๆ”

“ผมข้ามช่วงเวลานั้นมาด้วยการออกกำลังกาย” คุณพูดถึงการเยียวยาภาวะนั้น “มันดิ่งลงไปช่วงหนึ่งเลย อย่างน้อย
๒ เดือน เพื่อนมาเตือนว่าถ้าคิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มึงจะป่วย สุขภาพจิตเสีย มันดึงผมไปออกกำลังกาย ปั่นจักรยานทางไกล ๒๐๐ กิโล วิ่งมาราธอน เป็นบทเรียนใหม่ที่ได้เรียนรู้เลยครับ”

จากที่เคยคุ้นแต่กับการใช้สมอง คุณได้มารู้จักร่างกาย

“ทำงานที่อยู่กับความคิดมาตลอด เราให้ความสำคัญกับการคิดสูงมาก ขณะเดียวกันก็ละเลยการไม่ต้องคิดและการใช้ร่างกาย  เราไม่รู้เลยว่าร่างกายมีความรู้อีกชุด การรับรู้ตัวเองว่าเหนื่อย เครียด เราหลงลืมผิวหนังกล้ามเนื้อของเรา  พอไปออกกำลังกายรู้สึกว่าเป็นช่วงที่ใช้ความคิดน้อยลง  ขณะเดียวกันมันมีปัญญาความรู้ชนิดอื่น ใจเต้น โคตรเหนื่อย ขาเราไม่แข็งแรง เราละเลยสิ่งเหล่านี้มาเกือบ ๔๐ ปี ใช้ชีวิตแคบอยู่แค่ในหัวสมองของเราซึ่งแคบมาก ๆ  พอออกกำลังกาย คิดน้อยลง ก็เปิดให้กับข้างนอกมากขึ้น มันบาลานซ์ชีวิตได้ดีขึ้น ชีวิตกลับมาจากการออกกำลังกาย”

คุณเล่าถึง หิมาลัยไม่มีจริง ที่เขียนขึ้นจากการไปเดินเขาในช่วงนั้นด้วยว่า ได้ถ่ายทอดความรู้สึกข้างในที่เกิดจากประสบ

การณ์ข้างนอก ออกมาผสมปนกับความคิด “ถ้าเลือกได้ว่าอยากเขียนงานแบบไหน ผมจะเขียนด้วยวิธีนี้แหละ อยากให้ ‘นิ้วกลม’ เป็นแบบนั้น”

คุณปักธงของตัวเองไว้ในใจ

Image

“ผมว่าชีวิตที่สับสนน้อยลงคือชีวิตที่ปฏิเสธเรื่องเล่าของคนอื่นได้ และสร้างเรื่องเล่าของตัวเองได้ แล้วดำเนินชีวิตไปด้วยการทำความเข้าใจเรื่องที่เราเล่า
ให้ตัวเองฟังอยู่  ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่บนเรื่องเล่าของคนอื่นหมดเลย เรื่องที่พ่อแม่บอกมา ซึ่งพ่อแม่ก็อาจได้ยินมาอีกที ”

Image

งานเขียนที่ดีตามนิยามของคุณในตอนนี้ จึงต้องตีเข้าไปที่สองจุด “ตีกบาลและตีหัวใจ” คุณเชื่อว่าทำสองสิ่งนี้ได้งานเขียนจะสำเร็จ

ตีกบาล คือ เขย่าความคิดคนอ่านได้ แบบที่เขาไม่เคยคิดไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน

ตีหัวใจ คือ ทำให้รู้สึก อ่านแล้วน้ำตาไหล ใจสั่น ขนลุก

“หนังสือที่อ่านแล้วประทับใจต้องเขย่าใจเรา งานวิชาการอาจเขย่าหัวเราได้ แต่วรรณกรรมจะสร้างความสั่นสะเทือนในใจเรา”

“เขียน nonfiction เป็นส่วนใหญ่ คิดอย่างไรกับงานแนวนี้”

“อยากเขียนนิยาย เรื่องสั้นมากเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้ลอง ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเองคิดว่าสมาธิสั้น ไม่สามารถคงตัวเองในการอ่านเรื่องแต่งที่ยาวได้ อ่านเรื่องสั้นพอสมควร แต่ไม่ได้เยอะมาก นิยายอ่านจบบ้าง แต่คิดว่า input ยังน้อย เลยยังไม่มีความ ‘คัน’ ไม่มีสติปัญญาด้วย ไม่มีฝีมือที่จะสร้างมันขึ้นมาใช้เวลาในการอ่าน nonfiction ไปเยอะ เวลาเขียนก็เป็น nonfiction”

“ตัวงานมีโดนวิจารณ์ไหม”

“มีคนบอกว่าผมโลกสวย ผมคิดว่าเป็นช่วงหนึ่งของตัวเองที่สนใจเรื่องเล็กน้อยของชีวิต มองเห็นแง่งามของมัน  ขณะที่คนวิจารณ์เห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น ที่ต้องใส่ใจมันด้วย อันนี้มันก็กระตุกเรา จริงว่ะ เราต้องให้ความสนใจสิ่งเหล่านั้นด้วย”

เมื่อถูกถามว่านักเขียนคนหนึ่งทำอย่างไรให้ยืนระยะอยู่ได้ยาว ๆ

คุณตอบว่างานเขียนต้องการช่องทางเผยแพร่ แต่ละช่องทางมีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้ช่องทางมากขึ้นแต่คนอ่านมีอยู่เท่าเดิม ที่เคยอ่านกระดาษก็แบ่งไปอ่านจอมากขึ้น “ผมสนุกกับการใช้สื่อหลากหลาย อยู่ที่ว่าจะใช้ธรรมชาติของสื่อนั้นให้เหมาะกับงาน ให้มีพลัง เราจึงยังพอเชื่อมโยงกับคนที่เปลี่ยนไปตามสื่อได้ทัน”

แล้วพลังของคนสร้างงานมีอะไรหล่อเลี้ยงไว้

คุณเปรียบว่าเป็นอาการ “คัน” ยังมีเรื่องที่เราไม่รู้อีกเยอะมาก และมีคนเขียนเรื่องที่เราอยากอ่านอยู่ตลอดเวลา  เมื่ออ่านก็กระตุ้นเรา งานเขียนมันสร้างความ “คัน” ให้กัน  “ความอยากรู้นี่แหละเป็นพลังมหาศาล คันแล้วต้องไปหา หาเสร็จคันต่อ รู้แล้วจะคันอีกสเตป คันอยากบอก”

ในฐานะผู้เล่า คุณมองความหมายและความสำคัญของเรื่องเล่าอย่างไร

“มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาผ่านเรื่องเล่า” คุณยกบางประโยคจากหนังสือ เซเปียนส์ แล้วขยายความว่าถ้าถอยออกมาดูจะพบว่าทุกเรื่องที่ครอบงำความคิดเราอยู่และการดำเนินชีวิตไป เกิดจากการที่มีคนหนึ่งมาบอกเราว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นคุณต้องคิดแบบนี้ ไม่ว่าเรื่องศาสนา การปกครอง วิถีชีวิต วัฒนธรรม การแต่งกาย อาหาร ถูกบอกผ่านเรื่องเล่าทั้งหมด

Image

“แล้วทำไมเราจึงเชื่อบางเรื่อง ปฏิเสธบางเรื่อง” คุณถามและตอบเอง “เพราะเราโตมากับเรื่องเหล่านี้ใช่หรือไม่  แล้วถ้าเราไม่เชื่ออย่างนี้ เราสร้างเรื่องของตัวเองขึ้นมาได้หรือไม่ ผมว่าชีวิตที่สับสนน้อยลงคือชีวิตที่ปฏิเสธเรื่องเล่าของคนอื่นได้ และสร้างเรื่องเล่าของตัวเองได้ แล้วดำเนินชีวิตไปด้วยการทำความเข้าใจเรื่องที่เราเล่าให้ตัวเองฟังอยู่  ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่บนเรื่องเล่าของคนอื่นหมดเลย เรื่องที่พ่อแม่บอกมา ซึ่งพ่อแม่ก็อาจได้ยินมาอีกที”

คุณยังเตือนให้ระวังเรื่องเล่าที่อาจไม่ได้มาในรูปแบบวรรณกรรม หนังโดยตรง แต่อยู่ในสิ่งที่ดูไม่เหมือนเรื่องเล่า เช่น ศาสนา ประวัติศาสตร์ อำนาจในสังคม ซึ่งทำให้บางคนมีอำนาจขึ้นมาเพราะมีเรื่องเล่าเรื่องนี้  ของบางชิ้นน่าซื้อเพราะมีเรื่องเล่า “ไวน์ขายขวดละ ๒-๓ หมื่นได้ก็เพราะมีเรื่อง story ของมัน  ถ้าเราเท่าทัน กินขวดละ ๓๐๐ ก็อร่อยได้เหมือนกัน”

ในวงการคนเขียนหนังสือก็เช่นกัน

“สมัยก่อนมีคนที่กุมอำนาจในการเล่าเรื่อง มีสื่อในมือ ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยนักเล่าเรื่องที่ไม่ต้องอนุมัติโดยใครแล้ว ไม่มี บก. ที่จะมาบอกว่าเรื่องนี้ผ่าน-ไม่ผ่าน ใครอยากเล่าก็เล่าเลย”

ในสถานการณ์นี้คุณเห็นข้อดีที่ทำให้เราได้ยินเสียงที่หลากหลายขึ้น แต่ขาดเรื่องเล่าหลักของสังคม ซึ่งเราต้องหาวิธีในการอยู่ร่วมกันให้ได้

“ไม่อย่างนั้นเราก็ยืนยันแต่เรื่องเล่าของตัวเอง แล้วมีโอกาสขัดแย้งกับความคิดที่แตกต่าง และมีความรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกันน้อยลง ซึ่งไม่รู้ว่าจะนำพาเราไปสู่สังคมแบบไหนและจะอยู่ร่วมกันอย่างไรดี”

Image

ทุกวันคุณยังคงสนุกกับการใช้สื่อหลากหลายในการเล่าเรื่อง เมื่อถูกถามว่าหากให้เหลือสิ่งเดียวจะเลือกอะไร

เขียนหนังสือ-คุณตอบ

“เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข มันช้า เงียบ งาม ทำห่าม ๆ ไม่ได้  อาศัยการเกลา สลับ เปลี่ยน ความรู้สึกแบบนี้มันดีภาวะของการได้นั่งลงเขียนหนังสือแทบไม่มีอะไรแทนได้”

เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับคุณ

และถ้าเราเห็นพ้องตามที่หนังสือ ประวัติย่อมนุษยชาติบอกไว้ มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาผ่านเรื่องเล่า

ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนใหญ่ หรือคนเล็กคนน้อยที่ไหน เมื่อใดที่เขาได้นั่งลงเขียนเรื่องเล่าของตัวเอง นั่นคือการร่วมสร้างอารยธรรมสืบต่อ

เป็นห้วงยามที่ใครคนนั้นดูสง่างามที่สุด ไม่ว่าในสายตาตัวเองหรือใครอื่นมองมา