คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
พระพิฆเนศที่ได้รู้จัก ตัวตน ที่มา
และบทบาทของเทพอันเป็นที่รัก
Interview
Eat Pray Art with “Bro ! Ganesha”
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ลองหันมองรอบตัว ตั้งแต่หิ้งพระในบ้าน เทวาลัยขนาดย่อมหน้าร้านอาหาร โปสเตอร์บนรถขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงบนโต๊ะของรุ่นพี่ที่นั่งติดกับเราในที่ทำงาน ล้วนมี “พระพิฆเนศ” และไม่ว่าคุณจะสายมูเตลูหรือไม่ก็ตาม คุณก็ต้องรู้จักเทพฮินดูที่ชาวอินเดียและเอเชียให้ความเคารพบูชามากที่สุดองค์นี้
ในแวดวงภารตวิทยา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และวัฒนธรรมอินเดีย ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรืออาจารย์ตุล เป็นที่คุ้นเคยในฐานะนักเขียน นักวิชาการ อาจารย์สอนปรัชญา ผู้แสดงทัศนะและอธิบายเรื่องราวความเชื่อ ศาสนา ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้เข้าใจง่าย แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน ทำให้มีแฟนคลับทุกช่วงวัยและหลากหลายอาชีพ หากพูดถึงพระพิฆเนศหรือเทพฮินดู ชื่อของอาจารย์ตุลก็จะเป็นลำดับต้น ๆ ที่คนนึกถึง
อาจารย์ตุลบอกว่า เวลาพูดถึงเทพเจ้า คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความศักดิ์สิทธิ์ เทวตำนาน การบูชา แต่เขาสนใจในแง่ความเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ ความเชื่อมโยงกับสภาพสังคม ข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมล้วนกลั่นมาจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ในภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอีกแง่ในบทบาทผู้ปฏิบัติจริงจนเจนจัดในเรื่องพิธีกรรม
เขายังเป็นโต้โผการจัดงานคเณศจตุรถีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย ชุมชน และนักศึกษา เพื่อให้เป็นพื้นที่แสดงออกถึงความหลากหลายของความคิด ความเชื่อทางศาสนา และขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียในวงกว้าง
เมื่อ สารคดี ฉบับนี้ว่าด้วยหลากหลายเรื่องราวของพระพิฆเนศ หากจะให้ครบรสเราจึงมานั่งพูดคุยกับอาจารย์ตุล ในมุมมองและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเรื่องราวของพระพิฆเนศ พระคเณศ คณปติ วินายก ฯลฯ ทั้งประวัติศาสตร์ ความเชื่อ การบูชา ความนิยมชมชอบงานสะสม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับผู้คน และการกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาแบบไทย ๆ ซึ่งจะทำให้รู้จักตัวตนแท้จริงของเทพที่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุดองค์นี้ยิ่งขึ้น
หลายคนเรียกพระพิฆเนศ บ้างเรียกพระคเณศ คำเรียกมีหลากหลาย อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายความหมายของชื่อ
จริง ๆ เทพฮินดูแต่ละองค์มีชื่อเป็นพันชื่อ เพื่อเอาไว้สวดอย่างพระพิฆเนศก็มีชื่อหลัก ๆ ที่เราได้ยินบ่อย เช่น วินายก คณปติ คเณศ วิฆเนศวร์ ภาษาไทยก็พิฆเนศ ส่วนในอินเดียมีชื่อเรียกที่เป็นหลักเลยคือคเณศ มาจากคำว่า คณะ และ
อีศะ คณะในที่นี้มีความหมายพิเศษ หมายถึงบริวารของพระศิวะ ซึ่งก็คือบรรดาภูตผี ส่วนอีศะหมายถึงพระเจ้า หรือผู้เป็นใหญ่ ความหมายโดยรวมจึงแปลว่าพระพิฆเนศคือหัวหน้าของภูตผีปีศาจ
ส่วนคนไทยนิยมเรียกพระพิฆเนศวร์ ผันมาจากวิฆเนศวรที่แปลว่าเทพเจ้าแห่งความขัดข้องและอุปสรรค ตามบทบาทหลักในอินเดีย เมื่อบูชาแล้วจะขจัดอุปสรรคและเสริมให้เกิดความสำเร็จ และหลัง ๆ มีการโยงกับเรื่องความสำเร็จเยอะ ท่านมีอีกชื่อว่าสิทธิวินายก แปลว่านายผู้ประทานความสำเร็จ
ทำไมพระพิฆเนศจึงเป็นเทพแห่งอุปสรรคและความขัดข้อง
เหตุที่เอาไปโยงกับเรื่องอุปสรรค มีที่มาที่ไปแต่โบราณอยู่ในคัมภีร์เก่า ๆ บางเล่มจะบอกว่าพระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าผู้สร้างอุปสรรค ไม่ได้ให้ความสำเร็จนะ แต่เป็นผู้ขัดขวาง และยิ่งไปโยงกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็เห็นชัดว่า พระพิฆเนศหรือเทพฮินดูไปขวางชาวพุทธอยู่เสมอ ในเชิงศิลปะ เราจึงได้เห็นมีรูปพระโพธิสัตว์บางองค์เหยียบพระพิฆเนศ เช่น พระมหากาล และบรรณศวรี ซึ่งต้องการสื่อสารกับชาวพุทธโดยตรง
ในฮินดูเองก็มีที่พระพิฆเนศถูกสร้างขึ้นเพื่อขัดขวางคนบาป เช่นตอนที่พระศิวะสร้างพระพิฆเนศให้เป็น “วิฆนราชา” ไปสร้างอุปสรรคให้พวกคนบาป ไม่ให้ไปบูชาพระศิวลึงค์ เพราะเชื่อว่าหากใครได้ไหว้จะขึ้นสวรรค์หมด เพื่อไม่ให้เทวดา เดือดร้อน จึงเกิดพระพิฆเนศในรูปแบบของผู้สร้างอุปสรรคนี้ขึ้นมา
ในเชิงโบราณคดีมีนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่าพระพิฆเนศไม่ได้เป็นเทพในพระเวท เพราะชาวอารยันไม่คุ้นชินกับช้าง พระพิฆเนศจึงอาจเป็นเทพพื้นเมืองหรือเป็นผีในระบบของชาวบ้าน ซึ่งคนอารยันมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ด้วยเหตุนี้จึงสอดคล้องกับการที่เป็นเจ้าแห่งอุปสรรคที่มีการพูดถึงในคัมภีร์เก่า ๆ ทั้งในแง่ตำนานและโบราณคดี
ทำไมพระพิฆเนศต้องมีเศียรเป็นช้าง
ช้างเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับผู้คน โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบรรดาสัตว์บก ช้างใหญ่ที่สุด มีอำนาจสูงสุด เวลาเดินเข้าป่า ถ้าคุณเจอช้างตัวใหญ่มากจะรู้สึกอย่างไร มันทรงพลัง ในขณะเดียวกันยังเป็นสัตว์ที่เราใกล้ชิดได้ ฝึกได้ สัตว์ที่ทรงอิทธิพลด้านความรู้สึกก็จะกลายเป็นสัตว์ทางศาสนา ทั้งช้าง งู เสือ พวกสัตว์เทพทั้งหลายแหล่ อาจรวมถึงสัตว์สัญลักษณ์ของเทพเจ้าที่แสดงคุณลักษณะของเทพเจ้าแต่ละองค์ได้ในเชิงสัญวิทยาศาสนา
ความร่วมรากของพระพิฆเนศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย มีความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างไร
ตามข้อคิดเห็นของ ไมเคิล ไรท (ปี ๒๔๘๓-๒๕๕๒) ว่า ชาวอุษาคเนย์นับถือผีปู่เจ้าสมิงพรายในร่างพญาช้าง พร้อมกันหรืออาจจะก่อนชาวภารตะ ชวนให้ผมคิดว่าพระพิฆเนศในความหมายของเทพที่มีเศียรเป็นช้างหรือคติการนับถือช้างจะส่งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่อินเดีย เพราะด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มีกลุ่มคนในอินเดียที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร คือชาวมุนดะ เป็นกลุ่มชนคนเลี้ยงช้าง มีเทคโนโลยี ในการฝึกช้าง ซึ่งต้นกำเนิดอพยพไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาษาพูดของตนเอง และมีคำภาษาสันสกฤตบางคำโดยเฉพาะในทางใต้ที่ใช้ภาษาซึ่งเราคุ้นเคยดี เช่น พลู (ใบพลู) อันนี้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอินเดีย
อีกเหตุผลหนึ่ง คนเสนอคืออาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ว่าช้างในโลกมีสามสายพันธุ์ คือ ช้างแอฟริกา ช้างอินเดีย และช้างไทย แต่ช้างแอฟริกาฝึกไม่ได้ ส่วนช้างอินเดียนักสัตวศาสตร์ก็บอกว่าเป็นลูกผสมมาจากช้างไทย แปลว่ามีการผสมกับช้างไทยมาแต่โบราณ แล้วมีหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้าช้างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังอินเดียใต้และศรีลังกา อันนี้ตั้งแต่ก่อนอยุธยา คือช้างอาจจะไปกับคนมุนดะด้วยส่วนหนึ่ง แต่ว่าหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารคือมีการค้าช้าง บางท่านบอกว่ากว่าอยุธยาจะค้าช้างไปอินเดียมันก็ยุคหลังแล้ว ไม่ได้เก่าแก่อะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีแค่อยุธยาที่ค้าช้างไปอินเดีย ทางมอญก็ค้า เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ที่จะมีช้างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปพร้อมเทคโนโลยีการฝึกช้าง
อีกเหตุผลหนึ่ง ผมลองเสนอดูว่า คัมภีร์เกี่ยวกับช้างที่เรียกว่าคชศาสตร์ เราก็คิดว่าเอามาจากอินเดีย แต่คชศาสตร์ฉบับเก่า ๆ ในอินเดียก็ประหลาดมากเลย คือไม่พูดถึงเทพฮินดูแต่พูดถึงฤๅษี อันนี้ก็น่าสงสัยสำหรับผมว่าวิชาการเลี้ยงช้าง เผลอ ๆ อาจเป็นของคนพื้นเมือง ไม่ใช่วิชาหลวง แล้วตำราเลี้ยงช้างอินเดียก็ไม่ได้เก่าแบบยุคพระเวท มันก็พอ ๆ กับอยุธยา แม้ว่าช้างจะถูกยกระดับไปเป็นของหลวง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นพื้นเมืองค่อนข้างสูง นักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงสันนิษฐานว่า พระพิฆเนศในความหมายของเทพที่มีเศียรเป็นช้าง เป็นเทพที่ไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งกันไป ๆ พอส่งไปปุ๊บก็ส่งกลับมา
ในเมื่อพระพิฆเนศอาจมาจากเทพพื้นเมือง แล้วทำไมในเทวตำนานที่รับรู้กันถึงไปเป็นลูกของพระศิวะได้
ในคัมภีร์ฮินดูจะบอกเลยว่า “อาทิปูชยัม” ต้องสักการะบูชาพระพิฆเนศก่อน หรือเป็นองค์แรกเสมอในพิธีกรรม อย่างน้อยก็ต้องเอ่ยนามก่อน หากไม่ทำจะเกิดอุปสรรค เพราะท่านเก่าแก่ที่สุด มีมาก่อนเทพฮินดูทุกองค์ และเทวตำนานที่เรารับรู้และเข้าใจก็เกิดขึ้นทีหลังในสมัยคุปตะ
เมื่อสังคมมนุษย์เปลี่ยนไป เทพก็ต้องถูกจับเข้าไปอยู่ในขนบ
แบบมนุษย์ด้วย จะอยู่เป็นเทพโดด ๆ ไม่ได้ ต้องมีครอบครัว เพราะฉะนั้นเทพเด็กซึ่งในที่นี้คือพระพิฆเนศ กับเทพมารดร เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เพราะเด็กต้องมีแม่ และเมื่อเทพมารดรอยู่ในฐานะชายาของพระศิวะ พระพิฆเนศเลยต้องอยู่ในฐานะลูกพระศิวะไปโดยปริยาย เป็นเรื่องของการเปลี่ยนระบบความคิดเกี่ยวกับเทพ เพราะเทพฮินดูจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามสภาพสังคม
แต่พระพิฆเนศก็มีนิกายของตัวเองเรียกว่า “คาณปัตยะ” มีคำสอนว่าพระพิฆเนศใหญ่ที่สุดกว่าเทพทุกองค์ แบ่งภาคเป็นปางต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือการอวตารมาเป็นลูกพระศิวะ ในแคว้นมหาราษฎร์มีตำนานของเทวสถานว่า เมื่อพระศิวะจะปราบอสูรนามว่าตรีบุรัม ก็ต้องไปขอพรต่อพระพิฆเนศจึงจะชนะได้
ได้ยินว่ามีพระพิฆเนศในความเชื่อดั้งเดิมแบบไทยที่ไม่มีในอินเดียด้วย
ในระบบของเราเองมีการพูดถึงเทพที่มีเศียรเป็นช้างอย่างน้อยสามองค์ คือ วิฆเนศวรศิวบุตร พระโกญจนาเนศวร และพระเทวกรรม
วิฆเนศวรศิวบุตรมีบทบาทว่าเป็นลูกพระศิวะ อันนี้ตรงกับอินเดีย แต่ก็จะมีรายละเอียดอีกว่า พระพิฆเนศแบบไทยไม่เหมือนอินเดีย เพราะของเราเป็นองค์เดียวกันกับพระขันทกุมาร อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่งง ๆ เวลาเราพูดถึงเทวตำนานฝ่ายนี้
ส่วนพระโกญจนาเนศวรปรากฏในตำราคชศาสตร์ว่าเป็นพระเจ้าผู้สร้างช้างเผือก มีสามเศียร หกกร ในพระกรมีช้างพงศ์ต่าง ๆ ทั้งในสวรรค์และโลก
และองค์สุดท้ายพระเทวกรรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีรูปลักษณ์เป็นพระพิฆเนศ คือมีเศียรเป็นช้างและถือขอช้างกับบ่วงบาศ แต่ไม่มีชื่อพระเทวกรรมในสารบบเทพฮินดู เพราะเป็นชื่อที่ถูกจับบวชให้เหมือนแขก ที่มาคือก่อนหน้านั้นใช้ชื่อว่าพระเทพกรรม สุดท้ายนักวิชาการหลายท่านก็สรุปว่า มาจากคำว่า “ปะกำ” หมายถึงเชือกบาศที่ใช้คล้องช้าง ผมเข้าใจว่าเป็นการลากคำพื้นเมืองให้ดูเหมือนเป็นภาษาแขก เทพปะกำ กลายเป็นเทพกรรม และกลายเป็นเทวกรรม และเทพองค์นี้ ถือเป็นบรมครูของการจับช้าง คำนี้เป็นคำเก่า มีปรากฏในโองการแช่งน้ำ ว่า พระปะกำปู่เจ้า ซึ่งคือผีพื้นเมือง เพราะมีรูปลักษณ์เทพปะกำอีกแบบคือเป็นคนถือเชือกบาศ เพราะฉะนั้นเทพปะกำคือผีพื้นเมืองที่ถูกทำให้กลายเป็นแขก แล้วกลายเป็นพระพิฆเนศ
จากการเป็นเทพพื้นเมืองกลายมาเป็นครูหมอช้าง แล้วพระพิฆเนศกลายเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาได้อย่างไร
พระพิฆเนศกลายเป็นเทพศิลปวิทยาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องพระพิฆเนศมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ (ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๖) ในทัศนะของคนไทยยังคลุมเครือและเข้าใจว่าพระพิฆเนศคือองค์เดียวกับพระขันทกุมาร เป็นเทพเกี่ยวกับช้าง ส่วนบทบาทด้านอื่น ๆ ก็มีน้อยมาก ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงไปศึกษาที่ตะวันตก ที่ในช่วงเวลานั้นกำลังสนใจภารตวิทยา วิชาบูรพาทิศคดี จึงทำให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเทพในแบบที่เป็นอินเดียจริง ๆ และอาจด้วยทรงเป็นนักประพันธ์ท่านจึงเชื่อมโยงกับศิลปวิทยา เพราะมีตำนานพระพิฆเนศจดคัมภีร์มหาภารตะตามคำบอกของฤๅษีวยาสะ นอกจากนี้ยังทรงนำพระพิฆเนศมาเป็นตราวรรณคดีสโมสร ก่อนจะพัฒนาไปเป็นตราสัญลักษณ์กรมศิลปากร ตราสัญลักษณ์วิทยาลัยนาฏศิลป์ เชื่อมโยงไปถึงตรามหาวิทยาลัยศิลปากร กลายเป็นภาพจำของเทพศิลปวิทยาทุกแขนง และเกี่ยวพันกับผู้คนที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรหรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่มักจะทำงานด้านศิลปะ การแสดง และนาฏศิลป์
จากช้างมาเป็นเทพพื้นเมือง กลายเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะเกิดการลื่นไหลแลกเปลี่ยนกันเรื่อยมา
“พระพิฆเนศกลายเป็นเทพศิลปวิทยาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องพระพิฆเนศมาถึงปัจจุบัน”
อาจารย์คิดว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้พระพิฆเนศเป็นที่รู้จัก จนกลายมาเป็นที่รักของผู้คน
ในโลกยุคก่อน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ได้เป็นศาสนาของคนทั่วไป เพราะเป็นของชนชั้นสูงและพราหมณ์ หรือถ้าในบ้านเราก็รู้จักในวงจำกัด พระพิฆเนศเองกว่ามวลชนจะเริ่มรู้จักอย่างแพร่หลาย ผมคิดว่าก็เกือบยุคปัจจุบันหรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๙ ผ่านองค์ความรู้หรือการเผยแพร่ของสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือเทวตำนานและซีรีส์อินเดีย และในสมัยนี้เองที่พราหมณ์ในราชสำนักได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีกรรมให้ประชาชนได้ ประจวบเหมาะกับที่องค์กรศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศาสนาให้คนไทย มีการตีพิมพ์หนังสือออกแจกจ่ายจึงทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ วงการบันเทิง ศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ เพราะคนในวงการนี้บางส่วนมาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ความเชื่อเรื่องพระพิฆเนศเป็นครูก็หยั่งรากฝังลึกและเอามาเผยแพร่ต่อ แล้วมีอิทธิพลต่อคนหมู่มาก
ส่วนที่ว่าหลายคนรู้สึกรักและผูกพันกับพระพิฆเนศ เพราะมีความพิเศษมากกว่าเทพองค์อื่น ๆ ในระบบฮินดู ด้วยลักษณะบางอย่าง เช่น ไม่มีความโกรธ และในประติมานวิทยาของพระพิฆเนศจะถูกบรรยายว่าเป็นเด็กหรือแคระ โดยรูปลักษณ์นี้ทำให้รู้สึกน่าเข้าถึง มีความน่ารัก ดูเป็นกันเอง ถึงขนาดว่าที่อินเดียใต้ ในภาษาทมิฬมีคำเรียกพระพิฆเนศว่าปิลไลยาร์ แปลว่าลูกช้าง
อาจารย์ไมค์ (ไมเคิล ไรท) อธิบายในเชิงจิตวิเคราะห์ว่า พระพิฆเนศเป็นที่รัก เป็นที่นิยมของทุกคนได้ เพราะมีเหตุผลทางจิตวิเคราะห์รองรับ คือการสะท้อนปมบางอย่างในจิตใจมนุษย์ พระพิฆเนศอยู่ในภาวะก้ำกึ่ง เด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ไม่ชัดเจน เป็นคนก็ไม่ได้ เป็นสัตว์ก็ไม่เชิงคืออยู่ตรงกลาง เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้าม คุณจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จำเป็นต้องผ่านภาวะบางอย่าง และเมื่อเราเข้าใจตัวตนของพระพิฆเนศได้ เราก็ก้าวข้ามอุปสรรคได้ สามารถทำอะไรบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ทำในสิ่งที่เกินขีดความสามารถของตนเอง ผมว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจเพราะเทวตำนานมักจะสะท้อนปมจิตใต้สำนึกมนุษย์ และก็ยิ่งทำให้พระพิฆเนศเป็นที่เคารพรักมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเหมือนตัวแทนการก้าวข้ามและเข้ามานั่งในจิตใจ เข้าใจคนทุกผู้ทุกนาม
อาจารย์มองว่าพระพิฆเนศมีความใกล้ชิดกับผู้คนอย่างไรบ้าง
อย่างเด็กศิลปากรจะอินด้วยความเป็นสถาบัน เกิดจากความผูกพัน เพราะมีเทวาลัยพระพิฆเนศที่เป็นจุดแรกที่เห็นและเป็นจุดสุดท้ายที่ไปเจอของช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย พระพิฆเนศไม่ใช่เพียงสัญลักษณ์ แต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทพที่ใกล้ชิด เป็นที่ยึดเหนี่ยว ที่พึ่งทางใจ และไหว้ขอได้ทุกอย่าง จวบจนที่เรียนจบมาแล้วความผูกพันนี้ก็ยังคงอยู่ แม้จะไม่ใช่คนที่บูชาเทพ แต่ก็จะมีสักอย่างในชีวิตที่ยึดโยงกับพระพิฆเนศ
พระพิฆเนศยังมีนัยทางการเมืองด้วย อย่างเทศกาลคเณศจตุรถีที่บ้านเราเอาเข้ามา แต่เดิมที่อินเดียจะเป็นพิธีของครอบครัว บูชากันเองบ้านใครบ้านมัน เมื่อถึงเวลาแห่ลงน้ำ บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความรู้สึก เพราะต้องส่งเทพที่รักกลับสวรรค์ ด้วยหลายคนผูกพันเหมือนเป็นคนในครอบครัว จนในปี ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) ท่านโลกมันยะ พาล คงคาธร ติลก นักเคลื่อนไหวทางสังคมของอินเดีย มองว่าพระพิฆเนศเป็นเทพที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่มีแบ่งชั้นวรรณะ และในเวลานั้นรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียก็มีกฎห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ เทศกาลนี้จึงได้กลายเป็นการเฉลิมฉลอง รวมตัวผู้คน เพื่อลดช่องว่างของชนชั้น และเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อต่อต้านอังกฤษไปด้วย ความผูกพันของคนอินเดียในหลายท้องที่กับพระพิฆเนศจึงไม่ได้เป็นแค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อ แต่เกี่ยวกับความเป็นชาติและจุดยืนของผู้คน
ความป็อปปูลาร์ของพระพิฆเนศ จนมีการนำมาทำเป็นสินค้าหรืออาร์ตทอย
พระพิฆเนศเข้าถึงง่าย ใกล้ชิดกับผู้คน การบูชาพระพิฆเนศไม่ค่อยมีข้อห้ามเหมือนเทพบางองค์ที่ต้องมีเรื่องของความบริสุทธิ์ สะอาด ระบบการบูชาหรือผู้เข้าไปใกล้ชิดจึงสงวนไว้เฉพาะคนวรรณะสูง ในขณะที่การบูชาพระพิฆเนศทำได้ทุกคน ทุกชนชั้น ด้วยความที่อะไรก็ได้ นักสร้างหรือคนที่ทำงานศิลปะก็ช่วงชิงพระพิฆเนศเป็นสินค้าความเชื่อ นายทุน ภาคเอกชนก็สร้างเทวาลัยให้ผู้คนเคารพบูชาอย่างแพร่หลาย
ก่อนหน้านี้หลายปีมีความพยายามจะทำให้พระพิฆเนศเป็นที่นิยมในวงกว้าง เหมือนจตุคามรามเทพหรือไอ้ไข่วัดเจดีย์ แต่ว่าเข็นไม่ขึ้น ไม่เปรี้ยง เพราะพระพิฆเนศดังอยู่แล้วและมีที่มาที่ไปชัดเจน ส่วนอะไรที่คลุมเครือจะมีพื้นที่ให้สร้าง storytelling เพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่พระพิฆเนศไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย กระแสก็ไม่หาย ไปเรียบ ๆ เรื่อย ๆ และถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอ ยิ่งตอนนี้อยู่ในกระแสอาร์ตทอยที่ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียว ก็กลายเป็นจุดยืนที่ดี เพราะคนไม่ได้นับถือก็เล่นได้ ส่วนคนที่บูชาอยู่แล้วก็รู้สึกว่ามีอะไรแปลกใหม่ ในตลาดความเชื่อพระพิฆเนศจึงไม่เคยหายไปไหน
เรื่องของความเชื่อเป็นเสรีภาพที่จะเชื่อ แต่ว่าคนอินเดียเมื่อพูดถึงหลักการสร้างเทวรูปจะมีขนบเป็นตัวกำกับ มีการระบุโครงสร้างสัดส่วนไว้ในคัมภีร์ศิลปศาสตร์ หากทำตามที่คัมภีร์บอกเทวรูปก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ปัจจุบันเส้นแบ่งระหว่างรูปเคารพกับอาร์ตทอยพร่าเลือนมาก แบบที่สร้างเป็นอาร์ตทอยก็อยากให้คนบูชา แบบที่สร้างไว้บูชาก็อยากทำให้ดูอาร์ตทอย ก็เลยทำให้คนสับสนว่าจะมองในฐานะงานศิลปะหรือรูปเคารพ ส่วนตัวผมจะแยกชัดเจนระหว่างส่วนของการบูชากับสะสม เช่น พระพิฆเนศตุ๊กตาแม่ลูกดก ได้มาจากมุมไบที่นั่นจะมีงานศิลปะที่เกี่ยวกับพระพิฆเนศเยอะ เพราะเขามองว่าเป็นเทพเจ้าที่สนิทสนมคุ้นเคย เอามาสร้างสรรค์ได้หลากหลายและจุดประสงค์ไม่ได้ทำเพื่อการไหว้
ขนบการบูชาพระพิฆเนศในอดีตและปัจจุบัน แตกต่างกันหรือไม่
ถ้ามีศรัทธาและความตั้งใจ แค่จัดวางเทวรูปพระพิฆเนศไว้ในที่เหมาะสม ให้ความเคารพกราบไหว้ และดูแลความสะอาดก็เพียงพอแล้ว ต่อเมื่อถึงช่วงพิเศษจึงบูชาอย่างเต็มที่ตามวาระสมควร
เมื่อก่อนคนบูชาพระกับบูชาเทพแบบเดียวกัน มีดอกไม้ ธูป
เทียน หมู ไก่ แบบไทย ๆ แต่เมื่อมีองค์ความรู้เข้ามา เรารับรู้ว่าเทพชั้นสูงของฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์ โต๊ะบวงสรวงจึงถูกปรับให้เป็นมังสวิรัติ มีการบูชา ๕ ขั้นตอน หรือ ๑๖ ขั้นตอนตามตำราฮินดู การบวงสรวงแบบไทย ๆ จะค่อย ๆ ซาลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของกูรูจำนวนมากที่มานำเสนอวิธีการบูชา เพราะคนไทยมักกังวล กลัวทำผิดแล้วจะไม่ได้ผล แต่การบูชาเทพฮินดูที่จริงเป็นเรื่องเรียบง่าย หากจะทำพิธีมากมายแต่ขาดความรู้ความเข้าใจก็เปล่าประโยชน์ สิ่งนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในระยะเตาะแตะและจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้นตามองค์ความรู้ที่มากขึ้นในอนาคต
ในอนาคตบทบาทของพระพิฆเนศจะเป็นอะไรได้อีก
เรารู้ว่าเรานับถือศาสนาผสมผสาน นิยามได้ว่าเป็นศาสนาไทย คือจะนับถือพราหมณ์ก็ไม่ลงลึก ผีก็ไม่เชิง พุทธก็ฉาบ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ ไม่ได้ผิดอะไร ในสังคมไทยผมเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงเรื่องพระพิฆเนศอยู่เป็นระลอก ระยะนี้สังคมรับรู้พระพิฆเนศในความเป็นอินเดียขนานแท้ มีกลุ่มคนที่ต้องการจะอนุรักษ์ความดั้งเดิม เกิดความพยายามจะทำให้ทุกสิ่งเป็นของจริงแท้ หรือกลับไปที่จุดเริ่มต้น เช่น ไหว้พระเทวกรรมแบบยุคก่อน สังคมไทยอยู่ในขั้นการปะทะกันระหว่างความแท้และความไม่แท้ ทำให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยน นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ ส่วนในเชิงรูปลักษณ์ต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน พัฒนาได้ไม่สิ้นสุด ผมคิดว่าพระพิฆเนศจะเป็นสินค้าทางความเชื่อขนาดใหญ่ที่รัฐมองว่าขายได้ เพราะดูดี ชัดเจน และค่อนข้างจะสากล เป็น universal god
“ผมคิดว่าพระพิฆเนศจะเป็นสินค้าทางความเชื่อขนาดใหญ่ที่รัฐมองว่าขายได้ เพราะดูดี ชัดเจน และค่อนข้างจะสากลเป็น universal god”
กระแสมูเตลูดูจะเป็นที่นิยมในกลุ่มตลาด ที่เห็นได้ชัดคือผู้หญิงและ LGBTQ+ อาจารย์คิดว่าพระพิฆเนศเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้อย่างไร
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเราจำนวนมากต้องปรับตัวในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเพศสภาพ เพราะแต่เดิมความเชื่อทางศาสนาหรือไสยศาสตร์เป็นพื้นที่ของผู้ชาย สิ่งที่ผลิตออกมา วัตถุมงคลต่าง ๆ ก็มีไว้เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ชายเป็นหลัก แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ซื้อเปลี่ยนไป ผู้ใช้มากที่สุดคือเพศหญิงและ LGBTQ+ พระพิฆเนศจึงต้องเปลี่ยนไปสู่ความสัมพันธ์กับบทบาทที่เปลี่ยนไปของเพศสภาพด้วย ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีมาให้เห็น เช่น การนำพระพิฆเนศปางเพศหญิงหรือคเณศานีมาบูชาและสร้างการรับรู้ในสังคมไทย หรือการทำให้รูปลักษณ์ดูน่ารักขึ้นไปอีก เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าหลัก สิ่งนี้จะมีบทบาทมากขึ้น และวัตถุมงคลบ้านเรากำลังไปตามกระแสนี้ ที่เทพเป็นหญิงได้ มีความลื่นไหลของเพศที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์และการตีกรอบ
เมื่อได้รู้ที่มาและเรื่องราวของเทพอันเป็นที่รักของทุกคนแล้ว ก็ยิ่งทำให้เข้าใจความเป็นไปในสังคมและเห็นตัวตนของเรายิ่งขึ้นเช่นกัน