Image

กินอย่างเทพ
ขนมโมทกะ
เมนูโปรด Ganesha

Eat Pray Art with “Bro ! Ganesha”

เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

หากใครบูชาพระพิฆเนศเป็นประจำคงเห็นพระองค์ถือถ้วยขนม “โมทกะ (Modak)” ในพระหัตถ์ซ้าย บางปางทรงใช้งวงตวัดหยิบขนมในถ้วยนั้นเหมือนกำลังจะเสวยด้วยความเอร็ดอร่อย

ในแวดวงคนบูชาเทพฮินดูมีคำกล่าวถึงพระพิฆเนศว่า “โมทกปริยัม” หมายถึงผู้ชื่นชอบขนมโมทกะ

ในซีรีส์อินเดีย พิฆเนศ ศึกมหาเทพอวตาร ออกอากาศสู่สายตาชาวไทยเมื่อปี ๒๕๖๑ บอกเล่าตำนานต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพิฆเนศ มีตอนหนึ่งที่พระแม่ปารวตีนำโมทกะมาให้และบอกว่าขนมชนิดนี้คือความสุข พร้อมทั้งสื่อถึงปรมาตมันและปรัชญาแห่งชีวิต  เมื่อพระพิฆเนศได้ลองลิ้มชิมรสก็เกิดปีติ จึงกล่าวว่า ขนมโมทกะจะเป็นอาหารที่โปรดปรานมากที่สุด

“ขนมโมทกะตีความแล้วหมายถึงอานันทะ คือ ความสุข ความรื่นรมย์ ความอุดมสมบูรณ์ สัมพันธ์กับรูปลักษณ์ของพระพิฆเนศที่อ้วน เป็นเด็ก ต้องกินขนมหวาน เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสุข ความอุดมสมบูรณ์ให้ผู้ที่ศรัทธา”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงความหมายของขนมโมทกะในเชิงเทวปรัชญา

“อันที่จริงมีขนมสองชนิดใกล้เคียงกันคือโมทกะและลัฑฑู (Laddu) แต่บางคนอธิบายว่าลัฑฑูประณีตกว่า คือเป็นลูกกลม ทำจากแป้งถั่ว ทอดใน (เนย) ฆี และคลุกน้ำเชื่อม ส่วนโมทกะก็คล้ายคลึงกันและทำได้หลากหลายรูปแบบตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น”

“ในทุกวัฒนธรรม ของหวานมีไว้ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่นับถือ เพราะเป็นของหายาก น้ำตาลไม่ใช่ของถูก การทำขนมที่เก็บไว้ได้ไม่นานต้องใช้เวลา ใช้แรงงานเยอะ ถ้าทำขนมต้องมีวันหยุดหรือช่วงเทศกาล คนมาร่วมมือช่วยกันเพราะได้แชร์ทรัพยากรร่วมกัน โดยอาศัยนามของพระผู้เป็นเจ้า”

Image

อาจารย์คมกฤชเสริมให้เห็นถึงความหลากหลายของขนมชนิดนี้ พบว่ามีทั้งแบบที่ปั้นแป้งคล้ายการห่อเกี๊ยว ใส่ไส้ด้วยมะพร้าวเคี่ยวน้ำตาล ทั้งยังมีโมทกะทอดที่ช่วยยืดอายุของขนมและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป  ขนมโมทกะทรงจีบคล้ายหัวกระเทียมและลัฑฑูทรงกลมที่มักพบตามย่านชุมชนอินเดียในไทย หรือร้านขายของบูชาองค์เทพเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

“เดิมเราไหว้พระ จะมีขนมที่เรียกว่ากระยาบวช คืออาหารที่ไม่ใช่ของสดของคาว มีขนมต้มขาว ขนมต้มแดง เทพฮินดูกินได้อยู่แล้ว แต่ผู้ศรัทธารู้สึกว่ายังไม่อินเดียพอ ต้องเอาโมทกะ ลัฑฑูมาไหว้”

การใช้ขนมต้มบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ก่อนหน้าที่คนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของขนมโมทกะก็ใช้ขนมต้มเป็นส่วนประกอบสำคัญในการบูชาพระพิฆเนศ อาจารย์คมกฤชอธิบายว่าขนมต้มเป็นญาติสนิทกับขนมโมทกะเพราะในอินเดียใต้มีขนมโมทกะรูปร่างหน้าตาเหมือนกันกับขนมต้มขาวไส้กระฉีกของไทย

เมื่อผู้ศรัทธารับรู้จากการศึกษาประวัติ เทวตำนาน และอิทธิพลของสื่อ จึงทำให้เกิดการช่วงชิงความจริงแท้ และเกิดร้านขนมสำหรับเทพฮินดูโดยเฉพาะขึ้นมา

“ส่วนใหญ่คนที่นำขนมไปไหว้ก็จะไม่กิน เขาคิดว่ากินไม่ได้”

“อาจจะกินนิดหน่อย ถือว่าเราได้ไหว้เทพแล้ว กินเพื่อสิริมงคล”

“หวานมาก จนรู้สึกผิดที่จะกิน”

ความคิดเห็นบางส่วนของผู้ศรัทธาที่มีต่อขนมโมทกะ ทำให้นุช-กัญญาภัค ภัททิยกุล ตัดสินใจทำขนมโมทกะบูชาพระพิฆเนศจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ในนามร้าน “เทวะบันดาล” ด้วยแรงขับเคลื่อนว่าขนมต้องอร่อยและเกิดปีติ “ทั้งเทพและคน”

Image
Image

“ขนมโมทกะตีความแล้วหมายถึงอานันทะ คือ ความสุข ความรื่นรมย์ ความอุดมสมบูรณ์ สัมพันธ์กับรูปลักษณ์ของพระพิฆเนศที่อ้วน เป็นเด็กต้องกินขนมหวาน เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสุข ความอุดมสมบูรณ์ให้ผู้ที่ศรัทธา”

“คนไทยมักจะบูชาพระพิฆเนศด้วยผลไม้หรือทองหยิบ ทองหยอด แต่พอเรามาศึกษาลึก ๆ ถึงรู้ว่า การไหว้เทพฮินดูต้องไม่มีเนื้อสัตว์ ซึ่งขนมไทยจะมีส่วนผสมของไข่ไก่ ไข่เป็ด”

ด้วยความศรัทธาและผูกพันกับพระพิฆเนศมาแต่วัยเด็ก ประกอบกับความตั้งใจหาของที่ดีที่สุดมาถวายองค์เทพ นุชจึงศึกษาวิธีทำขนมโมทกะด้วยการลองผิดลองถูกจากสูตรที่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโมทกะที่ไม่มีไส้ ปรับจนเป็นสูตรเฉพาะตัว ด้วยวัตถุดิบหลักคือแป้งถั่วลูกไก่คั่วกับฆีหรือเนยใสจากอินเดียจนสุกเป็นสีเหลืองทอง นำมาผสมกับนมและน้ำตาล ปรับความหวานให้พอดี และขึ้นรูปทรงจีบด้วยพิมพ์ขนมสำเร็จรูป ส่วนทรงกลมต้องอาศัยความชำนาญในการปั้นและควบคุมปริมาณให้เท่ากันทุกลูก

รสมัน หวานตาม เมื่อเคี้ยวเต็มคำจะสัมผัสได้ถึงรสกลมกล่อมชุ่มในปาก หากจะหยิบมากินซ้ำก็ไม่รู้สึกผิดเกินไปยามต้องไปตรวจสุขภาพ แตกต่างจากภาพจำลักษณะเฉพาะของขนมอินเดียที่รสหวานนำ โดดเด่น จนตราตรึง

“ขนมนี้เป็นตลาดเฉพาะ เพราะเป็นขนมหายาก ถ้าไม่ใช่ตามแหล่งหรือร้านขายของบูชาเทพฮินดูก็จะไม่เจอ การสั่งซื้อทางออนไลน์จึงสะดวกและเป็นที่นิยม”

การเดินทางไปสักการะเทพเจ้าที่เทวาลัยหลักมักเกิดขึ้น ในช่วงเทศกาลหรือโอกาสสำคัญ ผู้บูชาเทพฮินดูหลายคนจึงมักมีเทวรูปบูชาประจำบ้านเพื่อสะดวกในการบูชาทุกวันหรือตามต้องการ การสั่งซื้อเครื่องบูชาโดยให้มาส่งถึงบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ ทำให้เกิดร้านขายขนมออนไลน์สำหรับไหว้เทพมากมาย ในขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันในตลาดธุรกิจสายมูเตลูเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Image

“สายมูฯ อยู่คู่กับคนไทยมาตลอด ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี การบูชาเทพก็เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นความหวัง และหากเศรษฐกิจดี คนก็ยิ่งบูชา เพราะอยากให้ปังกว่าเดิม  ถึงจะแข่งขันสูง แต่ก็มีการบริโภคในกลุ่มสูงเช่นกัน คุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนผูกปิ่นโต ซื้อเป็นประจำ”

นุชเคยปั้นขนมโมทกะวันละเกือบ ๑,๐๐๐ ลูก ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี ยิ่งมีกระแสความนิยมที่มาเป็นระลอก
จากคนดังในวงการบันเทิงก็ยิ่งทำให้ยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เกิดโรคระบาด ยอดสั่งซื้อขนมบูชาเทพก็ไม่ลดลง กลับกันยังทำให้เธอตัดสินใจหันหลังให้งานประจำ มาเอาดีทางด้านนี้อย่างเต็มตัว

“ในทุกวัฒนธรรม ของหวานมีไว้ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่นับถือ เพราะเป็นของหายาก น้ำตาลไม่ใช่ของถูก การทำขนมที่เก็บไว้ได้ไม่นานต้องใช้เวลา ใช้แรงงานเยอะ ถ้าทำขนมต้องมีวันหยุดหรือช่วงเทศกาล คนมาร่วมมือช่วยกันเพราะได้แชร์ทรัพยากรร่วมกัน โดยอาศัยนามของพระผู้เป็นเจ้า”

รองศาสตราจารย์ ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ผู้เชี่ยวชาญ ด้านคติชนกับอาหาร สะท้อนเรื่องขนมกับการบูชาเทพว่า เกี่ยวเนื่องกันอย่างมีนัย กล่าวคือ การคัดเลือกของที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งที่เราเคารพรัก เป็นเสมือนพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนและให้รางวัลตัวเองในช่วงพิเศษของปี และอาหารของแต่ละวัฒนธรรมจะเกิดการแลกเปลี่ยนกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก่อนถูกปรับให้เป็นแบบเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ตามความนิยม วัตถุดิบ และการถ่ายทอดสืบต่อ สำคัญที่การได้รู้ที่มาที่ไปของอาหารแต่ละอย่างนั้นจะทำให้เราได้รู้ถึงรากเหง้าและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปพร้อมกัน

การถวายขนมอันเป็นที่โปรดปรานแก่เทพเปรียบเสมือนการติดสินบนเพื่อความสุขทางใจในอนาคต ส่วนการลิ้มรสความหวานในทันทีคือความสุขที่มีในฉับพลัน