Image

ชีวิตดีเมื่อมี
“สติ” เป็นเพื่อน

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

เมื่อพูดคำว่าสติ เรามักนำไปเชื่อมโยงกับสมาธิ ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา คนไม่น้อยจึงคิดว่า การฝึกสติคือการปฏิบัติธรรมในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องไปฝึกที่วัด หากฝึกที่บ้านก็ต้องอยู่ในห้องเงียบ ๆ นั่งขัดสมาธิ หลับตา

“สติ” ในที่นี้หมายถึง “ความรู้สึกตัว” หรือมีจิตจดจ่ออยู่กับ “ปัจจุบันขณะ” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในยุคที่มีสิ่งล่อใจอย่างโซเชียลมีเดียและความบันเทิงต่าง ๆ ทำให้เรามักหลงไปกับเรื่องราวในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะเสียเวลาดูแล้ว หากนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวของตัวเอง เช่น คนอื่น “มี” “สวย” แต่ฉัน “ขาด” หรือ “ด้อย” ก็มักจะเครียดหรือโศกเศร้าเสียใจ

มีคนเปรียบจิตมนุษย์ว่าเหมือนลิงที่ไม่หยุดนิ่ง ลิงตัวนี้จะพาเราคิดไปในอดีตและอนาคต โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่ากลุ่มเป้าหมายใช้เวลาครึ่งหนึ่งของช่วงตื่นคิดเรื่องอดีตและอนาคต ขณะงานวิจัยด้านจิตวิทยาหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า ธรรมชาติของจิตใจมนุษย์มักเกาะติดเรื่องลบมากกว่าเรื่องบวก ราวกับ “ตีนตุ๊กแก” ซึ่งความคิดลบ ๆ นี้เองคือบ่อเกิดความเจ็บป่วยทั้งกายและใจ

Image

ในหนังสือขายดี อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณคิด (Don’t Believe Everything You Think) เขียนไว้ว่า ความคิดของเราคือจุดเริ่มต้นและจุดจบของความทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เพราะฉันคิด ฉันจึงทุกข์” ทั้งนี้เพราะโดยปรกติความคิดมักผุดขึ้น ในหัวเรานาทีละหลายเรื่อง แล้วเมื่อเรา “คิด” ต่อจากความคิดนั้น เรามักเชื่อว่ามัน “จริง” ทั้งที่เป็นแค่เพียง “มุมมอง” ที่เรามีต่อเรื่องนั้น ๆ แถมยังนำมาสู่ความรู้สึกต่าง ๆ อีก เช่น โกรธ เศร้า หงุดหงิด

หนังสือเล่มนี้แนะนำว่า เราไม่อาจหยุดความคิดที่ผุดขึ้นในหัวได้ แต่สามารถทำให้ความคิดเหล่านั้นอยู่กับเราให้สั้นที่สุด ผ่านการอยู่กับปัจจุบันขณะ ด้วยการรับรู้ความรู้สึกทางร่างกาย เช่น รับรู้ลมหายใจเข้า-ออก, เสียงนกร้อง, ลมพัดผ่านผิวกาย, กลิ่นหอมของดอกไม้ และความรู้สึกทางใจ เช่น ฉันกำลังโกรธ เศร้า หงุดหงิด รัก เป็นต้น

เมื่อจิตมีที่ยึด ก็จะไม่มีช่องว่างสำหรับความคิดในห้วงเวลานั้น เปรียบได้กับเมฆหมอกแห่งความคิดที่ปกคลุมใจเราจางหายไป ท้องฟ้าโปร่งใสปรากฏ ความสุขสงบและเบิกบานซึ่งเป็นเนื้อแท้ในใจเราก็จะเผยตัวขึ้น

ด้วยเหตุนี้การฝึกสติในชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ อีกทั้งยังทำได้ทุกที่ทุกเวลา  

เครื่องมือฝึกสติแบบหมู่บ้านพลัม

หมู่บ้านพลัมเป็นชุมชนผู้ฝึกตนที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยพระติช นัท ฮันห์ พระสงฆ์ชาวเวียดนามผู้ล่วงลับ มีแนวปฏิบัติที่เน้นการฝึกสติและอยู่กับปัจจุบันขณะผ่านธรรมชาติและอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน กิน หายใจ

หายใจ การหายใจเข้า-ออกอย่างมีสติ เป็นกุญแจสำคัญในการประสานกายและจิตให้เป็นหนึ่งให้สัมผัสลมหายใจอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่บังคับลมหายใจ
“หายใจเข้า ฉันรู้ว่า ฉันหายใจเข้า
หายใจออก ฉันรู้ว่า ฉันหายใจออก”

ฟังเสียงระฆัง ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงระฆังให้หยุดพูดคุย หยุดเคลื่อนไหว และหยุดทุกสิ่งที่กำลังทำ รวมทั้งความคิดในหัวสมองและกลับมาตามลมหายใจเข้า-ออก ผ่อนคลายร่างกาย

“ฟังสิ ฟังสิ เสียงระฆังอันประเสริฐนำฉันกลับมาสู่บ้านที่แท้จริง”

เราสามารถใช้เสียงของโทรศัพท์ เสียงระฆังจากโบสถ์ เสียงนกร้อง เสียงใบไม้ไหว เสียงเด็กร้อง หรือกระทั่งเสียงเครื่องยนต์ เสียงหวอรถดับเพลิง และเสียงหวอรถฉุกเฉิน เป็นเสียงระฆังแห่งสติได้ทั้งนั้น

เดินในวิถีแห่งสติ เดินเพื่อเดิน โดยไม่ต้องการไปถึงที่ไหน “ทุกย่างก้าว เรามาถึงแล้ว”  ก้าวอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เร็ว ไม่ช้าเกินไป พร้อมประสานลมหายใจให้สอดคล้องกลมกลืน เช่น หายใจเข้าสามก้าว ออกสี่ก้าว แล้วแต่ขนาดปอดของแต่ละคน

เราอาจท่องบทกลอนด้วยก็ได้ เช่น “ฉันได้กลับมา มาถึงบ้านแล้ว” ปล่อยความคิดทิ้งไปกับพื้นดิน ปล่อยวางความโกรธ กลัว กังวล หรือเสียใจ

นั่งในวิถีแห่งสติ หลังตรง มั่นคง และผ่อนคลาย เบาสบาย ไม่เกร็ง

“หายใจเข้า ฉันรู้ว่า ฉันหายใจเข้า
หายใจออก ฉันรู้ว่า ฉันหายใจออก

หายใจเข้า ฉันเห็นตัวฉันเอง เป็นดังดอกไม้
หายใจออก ฉันรู้สึกสดชื่นเข้า ดอกไม้ - ออก สดชื่น”

ตระหนักรู้ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ความโกรธ ความเจ็บปวด และความขุ่นเคือง หรือความเบิกบาน ความรัก และสันติภาพ ทั้งดีใจหรือเสียใจ โดยไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้ม หรือผลักไส กดดัน หรือแสร้งทำว่าความคิดเหล่านั้นไม่มีอยู่  เฝ้าสังเกตความคิดด้วยการยอมรับ

รับประทานอาหารในวิถีแห่งสติ
เมื่อตักอาหาร ตระหนักถึงธาตุต่าง ๆ เช่น สายฝน แสงแดด ผืนแผ่นดิน อากาศ และความรัก ที่ประกอบรวมกันเป็นอาหารอันมหัศจรรย์มื้อนี้

เคี้ยวอาหารจนกระทั่งอาหารละเอียด และเบิกบานกับการรับประทานร่วมกันของกัลยาณมิตรรับประทานอาหารในความเงียบประมาณ ๒๐ นาที เมื่อเสียงระฆังแห่งสติสองครั้งดังขึ้น เราอาจเริ่มพูดคุยกับเพื่อน ๆ หรือลุกจากโต๊ะเพื่อล้างภาชนะ

หลังรับประทานอาหารเสร็จ ใช้เวลาครู่หนึ่งเฝ้าสังเกตว่า ขณะนี้ชามเราว่างเปล่า และความหิวถูกระงับแล้ว เราสำนึกบุญคุณว่า เราโชคดีเหลือเกินที่มีอาหารบำรุงเลี้ยงร่างกาย ช่วยสนับสนุนเราบนหนทางแห่งความรักและความเข้าใจ

เรียบเรียงจาก : เครื่องมือฝึกสติแบบหมู่บ้านพลัม https://www.thaiplumvillage.org/th/mindfulness