Image

โกหกนั้นตายตกนรก ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

วลี “โกหกนั้นตายตกนรก” นั้น ในมุมของนักวิทยาศาสตร์แล้วอาจฟังดูไม่น่าสนใจสักเท่าไร เพราะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีนรก แล้วตามด้วยการพิสูจน์ว่าโกหกทำให้ต้องตายตกนรก จากนั้นจึงจะสรุปได้ว่าจริงหรือไม่

แต่ถ้าเปลี่ยนเล็กน้อยเป็น “โกหกนั้นเป็นทุกข์ ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ” แบบนี้ก็ค่อยน่าสนใจขึ้นหน่อย และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์กันได้จริงจังมากกว่า ว่าจริงหรือไม่ เพราะอะไร

มาเริ่มกันที่ทำไมคนต้องโกหก ?

อันนี้ตอบไม่ยากเลย โกหกเพราะได้ประโยชน์บางอย่างน่ะสิ

การโกหกส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อรักษาน้ำใจ ดำรงความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม ทำให้คนอื่นรู้สึกดีไม่มีความประสงค์ร้าย เช่น ได้รับของขวัญที่ไม่ชอบเลย แล้วพูดว่า “หูย ดีจัง ชอบมาก” นี่มันโกหกเห็น ๆ !

แต่ก็ยังมีการโกหกอีกจำพวกหนึ่งที่ประสงค์ร้าย อยากได้ประโยชน์บางอย่าง ลามไปจนถึงการใส่ร้ายป้ายสี หรือตั้งใจก่ออาชญากรรม เช่นการฉ้อโกง

มีงานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๐๒ ที่ทำให้รู้ว่า คนราว ๖๐ เปอร์เซ็นต์ โกหกบ่อย ทุก ๆ ๑๐ นาทีทีเดียว แต่งานวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ให้ผลแตกต่างกันมากเพราะประเมินว่าคนส่วนใหญ่โกหกอยู่ที่ราวหนึ่งถึงสองครั้งต่อวันเท่านั้น

โดยรวมแล้วสรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่โกหกกันทุกวัน แล้วแต่ว่ามากบ้างน้อยบ้างเป็นคน ๆ ไป

การโกหกนั้นมีรากลึกทีเดียว ลิงหลายชนิดในกลุ่มไพรเมต (primate) ที่มนุษย์ก็เป็นสมาชิกด้วยนั้นรู้จักการหลอกลวงและโป้ปด เด็กอายุแค่ ๒-๕ ขวบก็เริ่มรู้จักการโกหกแล้ว

นักจิตวิทยาบางคนถึงกับถือว่า การโกหกถือเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของความรู้สำนึก (cognitive growth) ของมนุษย์

เล่ามาถึงตรงนี้อาจมีคนคิดว่า ในเมื่อการหลอกลวงฝังอยู่ในเลือดเนื้อ ทำไมเราจึงไม่ยอมรับความจริงว่า มนุษย์โกหกปลิ้นปล้อนเป็นธรรมชาติ  จงช่วย ๆ กันยอมรับและเลิกทำเหมือนกับการลวงกันเป็นเรื่องเลวร้ายได้แล้ว

อันนั้นก็อาจจะมากเกินไป เพราะหลายศาสนาถือสาเรื่องการโกหกพกลมมาก เช่น ศาสนาพุทธบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้ในเบญจศีลด้วยซ้ำ และการหลอกลวงกันก็ทำลายความเชื่อใจและสายสัมพันธ์ของมนุษย์กับผู้คนรอบข้าง

แต่มนุษย์อยู่กันเป็นสังคมที่จำเป็นต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันจึงจะอยู่รอดได้ดี

แม้การโกหกอาจจะทำให้บางคนเข้าถึงทรัพยากรและสถานะบางอย่างที่เหนือกว่า แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว การโกหกก็ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย ๆ เลย

Image

เวลาโกหกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งหัวใจเต้นถี่ หายใจถี่มากขึ้น มีเหงื่อออก ปากคอแห้งผาก เสียงและมือสั่น บางคนอาจท้องไส้ปั่นป่วน ปวดหัว ไปจนถึงครั่นเนื้อครั่นตัว หรือนอนไม่หลับ

อาการต่าง ๆ เหล่านี้เองที่นำมาใช้ออกแบบเครื่องจับเท็จ (lie-detector หรือ polygraph)

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ในภาพยนตร์หรือชีวิตจริงเราอาจพบคนที่พะอืดพะอมแทบจะอ้วกหรือถึงกับอ้วกเวลาที่ต้องโกหกคนอื่น  มีงานวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งสมมุติฐานว่าอาจเป็นรีเฟลกซ์ (reflflflex) ที่เกิดจากการประสานการทำงานระหว่างลำไส้กับสมอง (gut-brain axis)

พูดอีกอย่างว่า สมองสั่งให้อ้วกเพราะรู้สึกผิด ก็คงพอได้ !

นอกจากนี้คนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ต้องโกหกมากกว่าคนที่ตั้งใจโกหกเองก็คือ คนที่ “โดนบังคับให้โกหก” ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

มีงานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๑๕ ที่วิเคราะห์งานวิจัยของคนอื่นจำนวนมากด้วยวิธีการทางสถิติ (เพื่อตัดตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องออก) ทำให้รู้ว่าการโกหกซ้ำ ๆ ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง ไม่ว่าจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดบีบตัว และเพิ่มฮอร์โมนความเครียด

ตรงนี้มีประเด็นน่าสนใจเพิ่ม นั่นก็คือหากโกหกบ่อย ๆ ร่างกายคงย่ำแย่เกินจะทนใช่หรือไม่ ?

คำตอบคือไม่ใช่ !

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อโกหกบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็คือ คนจะชินและรู้สึกสบายปาก สบายอกสบายใจ พูดอีกอย่างก็คือ เกิดความต้านทานต่อความไม่สบายใจที่ต้องโกหก จนทำให้ร่างกายไม่เกิดผลเสีย เสมือนว่าการโกหกเป็นอุปนิสัยปรกติธรรมดาอย่างหนึ่งในชีวิต

การทดลองสแกนสมองด้วยเทคนิค fMRI ทำให้รู้ว่าคนที่โกหกบ่อย ๆ จะส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งไวต่อพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์น้อยลงเป็นอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะสมองตีความผลกระทบที่จะได้รับจากผลลัพธ์ครั้งหลังสุด  หากโกหกแล้วรอดไปได้เรื่อย ๆ สมองก็จะมองว่าไม่จำเป็นต้องส่ง “สัญญาณเตือน” ไปที่ศูนย์กลางควบคุมพฤติกรรมความซื่อสัตย์ จึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนที่โกหกพกลมซ้ำ ๆ จะกังวลใจน้อยลง หรือ “รู้สึกผิด” น้อยลง บางคนจึงโกหกแบบ “เล่นใหญ่” มากขึ้น จนมักจบลงที่การโดนจับได้ในที่สุดนั่นเอง

Image

ปฏิกิริยาแบบนี้จะเด่นชัดขึ้นอีกในกรณีของคนที่ช่วยคนอื่นปกปิดหรือโกหก เพราะสมองเกลียดการยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้โกหกมากกว่าเกลียดการช่วยให้คนอื่นเป็นคนขี้โกหก

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ป่วยทางจิต (psychopath) บางประเภท หรือที่บางทีมองกันว่าเป็น “อาชญากรโดยสันดาน” มีสมองผิดแผกจากคนทั่วไป จนไม่อาจเกิด “ความรู้สึกร่วม (empathy)” กับคนอื่นได้ ไม่ได้รู้สึกเสียใจ ผิดหวัง สงสารเหยื่อเลยแม้แต่น้อย เวลาคนเหล่านี้โกหกอาจไม่แสดงอาการวิตกกังวล เครียด หรือผิดปรกติใด ๆ ของร่างกายเลยก็ได้เวลาโกหก หากฝึกสักเล็กน้อย คนพวกนี้ก็ผ่านการทดสอบจากเครื่องจับเท็จได้สบายมาก เพราะดูแล้วสงบมากอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองทางกายแบบคนทั่วไป

ในทางกลับกันก็จะมีผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ผ่านเครื่องจับเท็จ เพราะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลเวลาต่อสายระโยงระยางของเครื่องนี้เข้ากับตัว

จึงมีการถกเถียงเรื่องความเชื่อถือได้ของอุปกรณ์เครื่องจับเท็จดังกล่าวตลอดมา

ในทางตรงกันข้าม วิธีการสแกนสมองให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่า เพราะความวิตกกังวลที่เกิดจากการโกหกจะไปกระตุ้นสมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) ซึ่งทำงานในสถานการณ์ “ลุยหรือหลบ (fififight or flflight)” ให้แอกทีฟราวกับกำลังจุดพลุไฟฉลองอะไรสักอย่าง แต่หากเกิดความวิตกกังวลทั่วไปที่ไม่ได้เกิดจากการโกหก สมองส่วนนี้จะสงบนิ่ง ไม่สามารถตรวจจับการทำงานได้

การสแกนสมองจึงให้ผลแม่นยำกว่าการใช้เครื่องจับเท็จแบบเก่า ๆ มาก กลับไปที่วลี “โกหกนั้นตายตกนรก” เป็นจริงได้หรือไม่

แม้นักวิทยาศาสตร์จะตอบคำถามนี้ไม่ได้อย่างตรงไปตรงมาเพราะหานรกมาตรวจสอบไม่ได้ แต่ก็พอบอกให้รู้ได้ว่าคนปรกติทั่วไปที่ต้องโกหก จะรู้สึกไม่สบายใจ “ราวกับตกนรก” ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพใจและกายเลย โดยมีหลักฐานประจักษ์ชัดมาก

ยิ่งหากชะล่าใจจนโกหกบ่อย ๆ ก็อาจกลายเป็นความเคยชิน เป็นนิสัย ซึ่งก็แน่ใจได้ว่าจะจบลงแบบ “ไม่สวย” อย่างแน่นอน เรียกว่ามี “นรก” รออยู่ข้างหน้าก็คงไม่ผิด