Image

กรุงเทพมหานครมีต้นไม้ราว ๓ ล้านต้น มีประชากรราว ๑๐ ล้านคน แต่มีรุกขกรอาชีพของ กทม. แค่ ๖ คน การส่งเสริมให้มีรุกขกรเพิ่มมากขึ้นเป็นนโยบายหนึ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต้องการให้มีรุกขกรประจำทั้ง ๕๐ เขต 
รวมถึงการสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชน
ในการดูแลต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ในเมืองใหญ่ร่มรื่น สวยงาม และเป็นประโยชน์แก่ทุกคน

การเดินทางใต้แมกไม้
ร่มเงาแห่งเมืองหลวง

Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า

เรื่อง : ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

“ผม” เกิดและเติบโตในเมืองหลวงที่มากด้วยมลพิษ กว่าครึ่งชีวิตก่อนที่จะก้าวสู่วัย ๒๐ กลาง ๆ จึงคุ้นเคยกับภาพชีวิตการเดินทางที่เร่งรีบและรถติดขณะฝนตกที่ยืดเวลาเดินทาง จากครึ่งชั่วโมงเป็น ๓-๔ ชั่วโมงจนเป็นปรกติ  ยิ่งเส้นทางหลักจากบ้านสู่โรงเรียนร่วม ๑๒ ปี คือทางด่วนที่ตัดข้ามจากงามวงศ์วานจนถึงสาทรด้วยแล้ว หลายครั้งป่าคอนกรีตที่เต็มไปด้วยบิลบอร์ดและตึกสูงนี้สร้างความเคยชินให้ผมละทิ้งผู้คนและสิ่งรอบข้าง สนใจแต่เพียงจุดหมายปลายทาง

แต่ทั้งผมและคุณต่างมีจุดเปลี่ยน (turning point) ที่ผลักเราออกจากความเคยชินด้วยความที่ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ เครื่องมือที่คุ้นชินคือ กราฟ แบบจำลอง และคณิตศาสตร์
จนวันหนึ่งผมหยิบหนังสือที่หน้าปกเขียนว่า Doughnut Economics ขึ้นมาอ่าน จุดนั้นท้าทายและพาผมให้รู้จักกับปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเมือง 

เมื่ออ่านจบ ภาพในหัวที่ปรากฏคือพุ่มสีเขียวด้านบนและฐานสีน้ำตาลด้านล่าง ผมคิดว่าครั้งหนึ่งเราต่างเคยวาดและระบายสีในห้วงวัยเยาว์

“ต้นไม้” คือภาพนั้นที่ผลักให้ผมออกเดินทางอีกครั้ง

เริ่มต้น
การเดินทาง

โต๊ะกลมม้าหินถูกแต่งแต้มด้วยหนังสือหลากสี สมุด และโน้ตบุ๊กสีเงิน สรรพเสียงแห่งชีวิตกู่รับฟ้าหลังฝน แสงแรกที่ค่อย ๆ ทอกระทบไม้ใบหลายขนาดที่ห้อมล้อมม้าหินดังกล่าว

ผมนั่งอยู่ ณ สวนหน้าบ้าน องค์ความรู้และเหตุการณ์ที่ข้องเกี่ยวกับธรรมชาติมากมายสลับกันแสดงตัวเป็นตะกอนฟุ้งในหัว

“ต้นไม้ขาดคนได้ แต่คนขาดต้นไม้ไม่ได้”

นี่คือสิ่งแรกที่ผมนึกถึง ประโยคบอกเล่าของ วลัย-ลักษณ์ ภูริยากร หรือ “เซียง” นักวิชาการเกษตรชำนาญการ หัวหน้าสวนสราญรมย์ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ผู้มีดวงตา น้ำเสียง และรอยยิ้มที่เป็นมิตร

ผมย้อนดูข้อมูลการสัมภาษณ์รุกขกรแห่งสวนสราญรมย์ ภาพหนึ่งที่จำได้ชัดคือต้นไทรคู่หน้าสวนสราญรมย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แผ่พุ่มและกิ่งก้านขยายให้ร่มเงาใหญ่แก่พนักงานสังกัด กทม. หรือผู้คนที่สัญจรไปมา โดยเฉพาะช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ป้วนเปี้ยนเหนือศีรษะ

อากาศยามเช้ายังคงไอเย็นจากฝน แดดอ่อนสัมผัสผิวกายแผ่วเบา  ผมหมุนปากการอบนิ้วมือขวา มืออีกข้างเปิดหาข้อมูลในสมุด จนพบคำพูดหนึ่งจากอาจารย์ “แหม่ม” หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กนกวลี สุธีธร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อความนั้นผมไฮไลต์ไว้ด้วยหมึกสีเหลือง ว่า

“คนในเมืองไม่เห็นถึงชีวิตของต้นไม้”

Image

วลัยลักษณ์ ภูริยากร หรือเซียง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ หัวหน้าสวนสราญรมย์ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.  รุกขกรที่ได้รับใบรับรองวิชาชีพจากสมาคมรุกขกรรมไทย คนแรกของ กทม.

Image

ต้นหว้าในสวนสราญรมย์ คาดว่าปลูกในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ถือเป็นต้นไม้เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน

อาจารย์ยกตัวอย่างการวางขยะหรือเทเครื่องดื่มหลายประเภทที่โคนต้นไม้ โดยไม่คำนึงว่าจะทำให้ต้นไม้มีชีวิตสั้นลง  การที่ต้นไม้สื่อสารและเดินไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าต้นไม้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต

ข้อมูลจากอาจารย์แหม่มชี้ว่า เมืองขนาดใหญ่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมืองที่ขยายออกไปเรื่อย ๆ ตามขนาดของเศรษฐกิจ ผลักมนุษย์ห่างจากพื้นที่สีเขียวไกลออกไปเรื่อย ๆ เช่นกัน  นั่นอาจนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่บรรพบุรุษของเราเร่ร่อนออกจากทวีปแอฟริกา ที่มนุษย์ถูกแยกขาดจากธรรมชาติมากจนตระหนักได้ชัด แต่อาจเพราะมนุษย์ยังโหยหาพื้นที่สีเขียว ด้วยพื้นที่สีเขียวที่หายไปส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของผู้อาศัย ทำให้หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เมืองใหญ่ ๆ สมัยใหม่เริ่มนำต้นไม้เข้ามาปลูก

ปัจจุบันเมื่อพูดถึงต้นไม้ในเมือง ภาพแรกที่ผุดในหัวผมเป็นต้นไม้ความสูงไล่เลี่ยกันตั้งเรียงรายอยู่ริมทางเท้า ขนาบด้วยเสาไฟฟ้า  ภาพบาทวิถีรุ่มรวยด้วยการแก่งแย่งพื้นที่ระหว่างแม่ค้า ผู้สัญจรไปมา รวมถึงต้นไม้และเสาไฟฟ้า  ภาพถัดมาคือต้นไม้ที่ปลูกกระจายตามสวนสาธารณะ ลู่วิ่งที่คดเคี้ยวล้อมรอบบ่อน้ำขนาดใหญ่กลางสวนลุมพินี ขนาบด้วยที่โล่งคลุมด้วยหญ้า และยังมีภาพต้นไม้ตามสถานที่ท่องเที่ยว วัดวาอาราม สถานที่ราชการ เอกชน บ้านคน แม้บนอาคารต่าง ๆ ก็มีสวนขนาดเล็กตั้งอยู่เช่นกัน

ภาพเหล่านี้พาผมย้อนถึงคำพูดของเซียง รุกขกร กทม.

“พื้นที่ทุกแห่งในเมืองที่มีต้นไม้ รวมกันเป็นป่าไม้ในเมือง”

ผมคิดทบทวน ต้นไม้ริมถนนที่มีกิ่งก้านโยงใยเป็นเส้นทางแก่กระรอกได้ ดังนั้นเพียงต้นไม้แค่ต้นเดียวก็เป็นส่วนหนึ่งของสวนในเมืองได้

Image

ต้นไม้ในเมืองต้องได้รับการดูแลรักษา ตั้งแต่รากจนถึงเรือนยอด การปีนต้นไม้เป็นทักษะสำคัญและเป็นขั้นตอนหนึ่งของงานรุกขกรรม ซึ่งเสี่ยงอันตรายสูง

Image

การศัลยกรรมโพรงผุต้นไม้ เน้นเฉพาะกลุ่ม เช่นต้นไม้อนุรักษ์หรือต้นไม้ประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยเรื่องความสวยงามและฟื้นฟูดูแลสุขภาพ แต่ไม่ช่วยเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ที่มีความเสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องจัดการตามหลักวิชาการอีกต่างหาก

ร่มเงาและความสำคัญ 

ผมเตลิดสู่คำถามว่า ต้นไม้สำคัญต่อเมืองอย่างไร ? ผมนึกถึงคำตอบของอาจารย์แหม่มถึงสถานที่สำคัญ ๆ ในเมือง เช่น ถนนหน้าพระธาตุตรงข้ามสนามหลวง ที่ปลูกไม้ยืนต้นเรียงหน้ากระดานล้อกับถนนใหญ่ เป็นความสวยงามคู่เมือง

การมีพื้นที่สีเขียวยังลดฝุ่น อุณหภูมิของเมือง ให้ร่มเงา เป็นที่พักผ่อนทั้งกายและใจแก่คนในเมือง

ผมพบว่ามีการทดลองหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่นแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้เดินเข้าไปในป่า และกลุ่มที่ ๒ ให้เดินเข้าไปในเมือง เป็นเวลา ๑๕ นาที เมื่อถามความรู้สึก สิ่งที่ต่างคือกลุ่มแรกรู้สึกว่าความเหนื่อยล้าและความเครียดลดลง มีอารมณ์ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคนกลุ่มหลัง

ยังมีผลการทดลองอีกนับไม่ถ้วนที่ชี้ว่า เพียงปลูกต้นไม้ใกล้บ้านก็ช่วยให้สุขภาพกายและจิตดีขึ้น ยิ่งค้นลึกมากเท่าไร ข้อสงสัยต่อสัมพันธ์ค่อย ๆ คลายทีละปม และยิ่งผมกลับมามองคนรอบตัว บ่อยครั้งที่เพื่อนหลายคนมักเล่าถึงความประทับใจและความผ่อนคลายเมื่อเพิ่งกลับจากการใช้เวลากับธรรมชาติ

ผมจึงไม่แปลกใจว่า ในการทดลองหนึ่ง เมื่อให้จินตนาการถึงสถานที่ผ่อนคลายและเบาสบาย ผู้คนกว่าร้อยละ ๙๐ มักเห็นภาพตัวเองถูกห้อมล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว พร้อมสัมผัสถึงบรรยากาศร่มรื่นใต้ร่มเงา

ครั้งหนึ่งที่ผมเข้าร่วมกิจกรรม Ari Ecowalk ที่พาไปสำรวจธรรมชาติรอบ ๆ ย่านอารีย์ มีกิจกรรมหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมเลือกพื้นที่ภายในสวนสาธารณะ เพื่อให้เราได้อยู่กับตัวเอง ผมเลือกนั่งบนหญ้าและได้จดจำความเบาสบายเมื่อปล่อยให้ตัวเองอยู่กับธรรมชาติในเมือง

ก่อนจบกิจกรรมในวันนั้นมีการตั้งวงแลกเปลี่ยนกัน สิ่งแรกที่ผมสังเกตคือ เดิมผมมักแทนตัวเองว่า “ผม” แต่ในวันนั้นกลับแทนตัวเองว่า “เรา”  เพื่อนร่วมเดินทางในวันนั้นก็สะท้อนพลังความประทับใจและเอื้อเฟื้อ หลังจากพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติเช่นกัน

ผมจึงไม่แปลกใจที่พบงานวิจัย ศึกษาที่พักอาศัยในชิคาโก, บัลติมอร์ และแวนคูเวอร์ ชี้ว่า บริเวณที่พักอาศัยที่มีต้นไม้มาก มีการก่ออาชญากรรมลดลง

อย่างไรก็ตามไม่ใช่คนทุกกลุ่มในเมืองเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้เท่ากัน เช่นว่า ครอบครัวหนึ่งอาจเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในต่างจังหวัดได้ทุกสัปดาห์ ส่วนครอบครัวที่ต้องหาเช้ากินค่ำ อาจมีเวลาเพียงปีละครั้งที่ได้เที่ยวช่วงเทศกาล ดังนั้นจำนวนพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นจึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

Image

รุกขกรอาจมอบหมายหน้าที่ปีนต้นไม้แก่ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ซึ่งมีขอบเขตการทำงานอยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป เช่นการตัดแต่งเรือนยอด

Image

พื้นที่สีเขียวเข้าถึงง่ายในเมืองหลวงคือทางเท้า การดูแลต้นไม้ให้มีสุขภาพดีและปลอดภัยต่อผู้คนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สวน พื้นที่รกร้าง และความหลากหลายทางชีวภาพ

เช้าวันต่อมาผมตื่นตั้งแต่ตี ๔ ครึ่ง หยิบกล้องดูนกของพ่อมาปัดฝุ่น จับรถไฟฟ้าใต้ดินเที่ยวแรกจากสถานีเตาปูนเวลาตี ๕ ครึ่ง ภาพท้องฟ้าอมม่วงที่ยังไม่สว่างดีปรากฏก่อนผมก้าวเข้ารถไฟ นับเป็นครั้งแรกในรอบ

หลายปีที่ผมได้สัมผัสแสงแรกของวัน  ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ผมใช้ทางออก ๓ ของรถไฟฟ้าใต้ดิน ณ สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สู่สวนเบญจกิติ

ผมลัดเลาะบนสกายวอล์ก มองลงไปเห็นพื้นที่เขียวด้านล่างที่ปกคลุมด้วยน้ำ มีเกาะที่หญ้าปกคลุมกระจายตัวเป็นหย่อม ๆ ภาพพื้นหลังถูกแต่งแต้มด้วยตึกขนาดไล่เลี่ยกันเรียงเป็นหน้ากระดาน จากจุดที่ยืนอยู่ ผมหยิบกล้องดูนกจากเป้ ความรู้สึกตื่นเต้นเริ่มขึ้น

“สวนที่ตั้งใจออกแบบ นำมาซึ่งประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยในเมือง” เสียงของอาจารย์แหม่มที่พูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพใจกลางเมืองแว่วมาอีกครั้ง

เมื่อเราเห็นชีวิตอื่นนอกเหนือมนุษย์ นำเรามาสู่อีกหนึ่งประโยชน์ของพื้นที่สีเขียว คือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ภายในเมือง

อาจารย์จากภาควิชาภูมิสถาปัตย์ยกตัวอย่างนก ทุกปีจะมีนกอพยพบินผ่านเมือง แต่ไม่ใช่นกทุกชนิดสามารถบินต่อเนื่องจนข้ามพ้นเมืองได้ เพราะความเหนื่อยล้า สัตว์ปีกเหล่านี้จึงต้องการพื้นที่สีเขียวเพื่อพักระหว่างทางอาจเป็นพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ หรือต้นไม้สักต้นก็เพียงพอเป็นที่พักพิง

มีสัตว์อื่น ๆ อีกมากที่ต้องการร่มเงาของป่าในเมือง อาจารย์แหม่มย้ำว่าสิ่งสำคัญคือการเลือกพันธุ์พืชให้เหมาะแก่ชีวิตในเมืองเหล่านี้

เมื่อปรับโฟกัสของกล้อง ภาพแรกที่ผมเห็นคือเต่าแก้มแดงขนาดโตเต็มวัยที่ชะเง้อคอมองรอบ ๆ  เมื่อเลื่อนกล้องต่อไป ผมพบดวงตากลมโตสีดำล้อมด้วยสีเหลืองจ้องกลับมาจากโพรงไม้ ขณะชีวิตคนเมืองเริ่มขึ้นตอนเช้า นกลำตัวสีขาวแซมดำเพิ่งเตรียมตัวเข้านอน

ล่วงผ่านไป ๒ ชั่วโมง ผมหยุดนั่งลงบนไม้กระดานเรียงต่อกันริมน้ำ ลมที่พัดผ่านตัวผมดั่งกดสวิตช์เปิดรับมนตร์วิเศษ

Image

“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เอาไม่อยู่” ถ้าต้นไม้ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและถูกวิธี

เสียงของอาจารย์แหม่มยังคงลอยมาในความคิด

“พื้นที่ชุ่มน้ำและรกร้างที่คนไม่ใช้ประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์แก่สัตว์ต่าง ๆ” 

แม้พื้นที่เหล่านี้อาจไม่สร้างรายได้แก่มนุษย์ แต่ในแง่นิเวศวิทยากลับสร้างผลกระทบที่เชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ เป็นต้นว่า ถ้าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศลดลงจะกระทบ
ค้างคาว ผึ้ง และนก ที่มีบทบาทในห่วงโซ่อาหาร จนสร้างผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารแก่มนุษย์ในที่สุด

เมื่อพูดถึงพื้นที่รกร้าง ความทรงจำหนึ่งก็แล่นตามมา

วันหนึ่งลูกพี่ลูกน้องสองคนที่อายุห่างจากผมร่วม ๑๐ ปี ชวนไปปั่นจักรยานเล่น เจ้าตัวเล็กทั้งสองรับบทไกด์นำทาง เราขี่จักรยานเรียงแถวตอน ผ่านทางคดเคี้ยวในซอยต่าง ๆ ที่บังคับให้ต้องเลี้ยวซ้ายทีขวาที จนมาถึงวัดกล้วย ซอยเลี่ยงเมืองนนทบุรี ๓  หน้าซอยมีถนนขนาดสี่เลนตัดผ่าน สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงตั้งอยู่ไม่ไกลนัก

เราขี่ผ่านวัดออกไปตามซอยเล็ก ๆ ระหว่างทางขนาบ
ด้วยต้นไม้หลากขนาด เห็นคูน้ำขนาดเล็กทอดตัวประกบสองฝั่ง แทบไม่ปรากฏพื้นดิน เพราะที่ว่างถูกคลุมด้วยหญ้าและวัชพืช  กิ่งก้านของต้นไม้แผ่เป็นร่มเงาคลุมถนน ทำให้แดดกระทบเพียงรำไรตลอดการขี่

ผมสังเกตเห็นชีวิตที่หลากหลาย ตั้งแต่นก กระรอก แมลงต่าง ๆ และสัตว์นักล่าอย่างตัวเงินตัวทองที่ซ่อนตัวตามพุ่มไม้ ความรู้สึกที่ปะทะพร้อมกับอากาศที่สวนความเร็วของจักรยาน เป็นความบางเบา อ่อนนุ่ม โล่งสบาย ระคนประหลาดใจว่าเหตุใดแค่ขยับจากหน้าซอยที่วุ่นวายเพียงไม่กี่ร้อยเมตร กลับพบพื้นที่ที่ถูกห่อด้วยสีเขียวต่างเฉด  แต่เหมือนเวลาถูกดูดผ่านหลุมดำ เพียงชั่วอึดใจเดียวพวกเราก็กลับสู่ความวุ่นวายในซอยขนาดกว้างอีกครั้ง

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พื้นที่พิเศษทยอยล้มหาย มูลค่าของที่ดินที่สูงขึ้นเมื่อความเจริญของเมืองเข้ามา พื้นที่รกร้างหลายแห่งถูกแปรเป็นพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดิน

ผมย้อนถึงคำพูดของรุกขกรเอกชน “นิวส์” หรือ ศุภมงคล ศริพันธุ์ ชายหนุ่มสวมแว่นกรอบดำ ไว้หนวดเครา บุคลิกและน้ำเสียงสะท้อนความมั่นใจ เขาเล่าถึงผลที่ตามมาของนโยบายดังกล่าวว่า หลังจากโค่นต้นไม้ใหญ่ พืชผลที่ปลูกมักเป็นกล้วยหรือมะนาวเพื่อเลี่ยงภาษี 

นิวส์เสนอว่าจะดีกว่านี้ถ้าเราเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนขนาดเล็ก (pocket park) ให้รัฐเข้ามาดูแลแทนก็พอจะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้บ้าง แต่การผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและการให้แรงจูงใจแก่เจ้าของที่ดินเป็นตัวแปรสำคัญในสมการนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

Image
Image

กทม. ทดลองใช้พอรัสแอสฟัลต์คอนกรีต (porous asphalt concrete) ที่ใช้แพร่หลายในต่างประเทศในการดูแลพื้นผิวรอบโคนต้นไม้บนทางเท้า วัสดุนี้มีรูพรุน น้ำและอากาศผ่านถึงรากต้นไม้ได้ และไม่เป็นอันตรายต่อต้นไม้

 กิ่งกระโดงเกิดจากการตัดกิ่งหรือยอดจนไม่สามารถสร้างส่วนปลายยอดขึ้นใหม่ได้อีก กิ่งกระโดงไม่มีความแข็งแรงตามธรรมชาติและเสี่ยงที่จะหักได้

รุกขกรรม รุกขกร
หลักวิชาของผู้ดูแล 

ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม “รุกขกร” หรือ “หมอต้นไม้” คือผู้ทำหน้าที่นั้น

นิวส์-หนุ่มรุกขกร เคยเล่าว่า การหักของกิ่งไม้หรือการโค่นลงของต้นไม้เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ แต่เมื่อต้นไม้ถูกนำเข้ามาในเมือง วัฏจักรเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ จึงต้องตัดแต่งดูแลและจัดการความเสี่ยงโดยผู้เชี่ยวชาญ องค์ความรู้เหล่านี้เรียกว่า “รุกขกรรม”

รุกขกรทำงานร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ (tree worker) หรือเจ้าพนักงานเสื้อเขียวที่เราคุ้นชิน โดย ผู้ปฏิบัติงานมักสวมอุปกรณ์ป้องกันที่ผูกติดกับเชือกแล้วขึ้นไปตัดแต่งต้นไม้

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสเข้าร่วมการอบรมรุกขกรและผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ จัดโดย กทม. ณ สวนลุมพินี ผมยังจำภาพกระเป๋าสีดำใบใหญ่ที่มีอุปกรณ์สำคัญได้ดี ทั้งสายรัดช่วงเอวสำหรับโรยตัว เชือกต่างขนาด และหมวกสีส้ม แต่ที่ทำให้ผมทึ่งคือเลื่อยทรงโค้งหลากขนาด  รุกขกรผู้นำการอบรมเล่าว่าเคยตัดต้นไม้เทียบกัน ทิ้งไว้ ๓-๔ วัน ขณะที่แผลจากเลื่อยโค้งผสานตัวแล้ว แต่แผลจากเลื่อยยนต์กลับพุพอง เชื้อเชิญให้แมลงและเชื้อราเข้ามากัดกิน

องค์ความรู้การตัดแต่งกิ่งก็สำคัญ นิวส์ชี้ว่าถ้าตัดไม่ถูกหลักวิชาการ ต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงจะถูกเชื้อราและแมลงกัดกินจนตาย แต่ถ้าแข็งแรง ต้นไม้จะแตกกิ่งกระโดงออกมามากขึ้น ซึ่งหักโค่นง่ายเพราะเป็นกิ่งที่ไม่มีแก่น  ยิ่งสะสมไปเรื่อย ๆ ต้นไม้ก็จะอายุสั้นหรือโทรม ทั้งความสามารถในการฟอกอากาศและกักเก็บคาร์บอนก็ด้อยลง

การตัดแต่งต้นไม้ต้นเดียวอาจกินเวลาตั้งแต่ ๑๕ นาทีจนถึงทั้งวัน ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะ

Image

ในปัจจุบันประชาชนทั่วไปสนใจ “รุกขกร” มากขึ้น รุกขกรไม่จำเป็นต้องจบด้านต้นไม้โดยตรง สามารถสั่งสมประสบการณ์เพื่อเป็นรุกขกรได้

กรุงเทพฯ
เมืองที่ต้นไม้ป่วย ?

การผจญภัยผ่านข้อมูลและลงพื้นที่ตลอด ๒ วัน พาผมกลับมามองต้นไม้ในกรุงเทพฯ เมืองที่ผมเกิดและเติบโต ตะกอนความคิดก้อนท้าย ๆ พาผมมาสู่คำถามว่า ที่ผ่านมา กทม. เลือกต้นไม้และมีวิธีการดูแลต้นไม้อย่างไร ?

“ต้นไม้เกินกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ กทม. ...ป่วย” นิวส์เคยเล่า

อาจเพราะการตัดแต่งที่อิงกับหนังสือคู่มือตั้งแต่ ปี ๒๕๔๒ หรือเพราะข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรและระเบียบต่าง ๆ ทำให้การดูแลต้นไม้ใน กทม. เป็นปัญหาเรื้อรัง  ซ้ำร้ายการเลือกต้นไม้ก็เป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมาอาจเลือกปลูกตามชื่อถนน ดูแลง่าย เขียวเร็ว หรือริมถนนบางแห่งปลูกตามริมถนนอื่น ๆ โดยอาจไม่เคยคำนึงถึงชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อีกทั้งพืชที่ปลูกก็ไม่หลากหลาย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการกระจายของโรค

ดังเช่นที่อาจารย์แหม่มเล่าว่า เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ริมถนนพญาไทเคยปลูกต้นพิกุลเรียงราย แต่ด้วยการแพร่กระจายของโรค จาก ๑๐๐ กว่าต้นเหลือรอดถึงทุกวันนี้เพียง ๒ ต้น  ทั้งจากขนาดพื้นที่ปลูกเพียง ๑.๕ x ๑.๕ เมตร แต่รากต้นไม้แผ่ได้ไกลกว่าทรงพุ่ม จึงเกิดปัญหารากขดหรือรากงัดทางเท้า กอปรกับสายไฟ ท่อน้ำ และทางเท้าที่แคบ จึงยิ่งทวีข้อจำกัดการปลูกต้นไม้ใน กทม.

แม้ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสวน ๑๕ นาที, รุกขกร ๑ คน ๑ เขต, การปลูกต้นไม้ล้านต้น ควบคู่ไปกับการจัดซื้อเครื่องมือใหม่ และการจัดอบรมต่าง ๆ แต่อาจารย์แหม่มชี้ว่า กทม. ควรจัดทำเกณฑ์เลือกพืชพันธุ์ที่คำนึงถึงความหลากหลายของต้นไม้ ดิน ปริมาณน้ำ และพื้นที่ปลูก พร้อมมีแผนงานระยะสั้นและยาวที่คิดถึงการดูแลต้นไม้หลังปลูกด้วย

ผมรู้ตัวอีกทีพระอาทิตย์ก็ทอแสงเย็นผ่านกระจกร้านหนังสือเข้ามา จุดเริ่มต้นที่เกิดจากความสนใจเล็ก ๆ ต่อสิ่งมีชีวิตที่แต่งแต้มด้วยสีเขียวหลากเฉด นำผมไปสู่การเดินทางข้ามผ่านหลากหลายศาสตร์ ทั้งผ่านตัวอักษร สังเกตสิ่งรอบตัว และผลักตัวเองไปยังพื้นที่สีเขียวในเมืองหลายแห่ง

การเดินทางของผมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุดที่ไกลออกไปเรื่อย ๆ

“ผม” ได้กลับไปตื่นเต้นกับการอ่านงานเชิงนิเวศวิทยา จนพบความพิเศษในสาขานิเวศวิทยาเศรษฐศาสตร์ (Ecological Economics) ได้รับรู้ว่าเวลาถดถอยลงเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ในสวนสาธารณะ หรือกระทั่งสวนรอบ ๆ บ้าน

ได้เริ่มศึกษาต้นไม้ จนนำไปสู่การซื้อต้นไม้ต้นแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยต้นที่ ๒ ๓ ๔...

ได้มองเห็นชีวิตอื่น ๆ ตั้งแต่ความสวยงามของผีเสื้อและแมลงตัวเล็ก ๆ ที่พรางตัวบนใบไม้

การเดินทางของผมกับต้นไม้เริ่มต้นขึ้นแล้ว การเดินทางของคุณล่ะ ?

“คุณ” จะกำหนดการเดินทางในทิศทางไหน ? จะมีต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งด้วยหรือไม่ ?  

ขอขอบคุณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กนกวลี สุธีธร, วลัยลักษณ์ ภูริยากร, ศุภมงคล ศริพันธุ์ และ พิชามญชุ์ อาจคะนอง

อ่านเพิ่มเติม
หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนงาน Kicking Away the Ladder : Development Strategy in Historical Perspective โดย Ha-Joon Chang เป็นเล่มแรกที่พาผมหลุดจากความคุ้นชิน พร้อมทั้งคำถามใหม่ ๆ

Less Is More : How Degrowth Will Save the World โดย Jason Hickel เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนงานชิ้นนี้ช่วงต้น

Doughnut Economics : Seven Ways to Think Like a 21st-Century Economist โดย Kate Raworth เป็นเล่มแรกที่แนะนำให้ผมรู้จักการผสานเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนกับปัญหาในระบบนิเวศ

The Dawn of Everything โดย David Graeber และ David Wengrow ดีที่สุดในบรรดา ๑๐๐ เล่มที่ผมอ่านปีที่แล้ว นำพาผมตั้งคำถามกับหลายสิ่งและทำให้มองประวัติศาสตร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

งานวิจัย
Cherry, M.. “What Does the Color Green Mean ?”. Retrieved from https://www.verywellmind.com/color-psychology-green-2795817

Donovan, G. H., Michael, Y. L., Gatziolis, D., Prestemon, J. P., & Whitsel, E. A.. “Is tree loss associated with cardiovascular-disease risk in the Women’s Health Initiative ? A natural experiment”. Retrieved from https://doi.org/10.1016/j.healthplace.2015.08.007

Hamermesh, D., & Biddle, J.. “How prices, incomes, and discrimination affect the ways we use time”. Retrieved from https://cepr.org/voxeu/columns/how-prices-incomes-and-discrimination-affect-ways-we-use-time

Jia, B. B., Yang, Z. X., Mao, G. X., Lyu, Y. D., Wen, X. L., Xu, W. H., Lyu, X. L., Cao, Y. B., & Wang, G. F.. “Health Effect of Forest Bathing Trip on Elderly Patients with Chronic Obstructive Pulmonary Disease”. Retrieved from https://doi.org/10.3967/bes2016.026

Korpassy, K.. “Improving access to urban green spaces to reduce health inequalities”. Retrieved from https://ieep.eu/news/improving-access-to-urban-green-spaces-to-reduce-health-inequalities/

Park, B. J., Tsunetsugu, Y., Kasetani, T., Kagawa, T., & Miyazaki, Y.. “The physiological effects of Shinrin-yoku (taking in the forest atmosphere or forest bathing) : evidence from field experiments in 24 forests across Japan. Retrieved from https://doi.org/10.1007/s12199-009-0086-9 

Shi, Tian.. “Ecological economics in China : Origins, dilemmas and prospects”. Retrieved from https://doi.org/10.1016/S0921-8009(02)00025-3.

Song, C., Ikei, H., Park, B. J., Lee, J., Kagawa, T.,& Miyazaki, Y.. “Psychological Benefits of Walking through Forest Areas”. Retrieved from https://doi.org/10.3390/ijerph 15122804

Image