“มรดก”
หลังปราบกบฏบวรเดช
2476 กบฏบวรเดช
คณะราษฎร ปะทะ คณะเจ้า
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
หมายเหตุ : สิ่งของส่วนหนึ่งได้รับการเอื้อเฟื้อจาก
ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ให้นำมาบันทึกภาพ
เมื่อได้รับชัยชนะเหนือกบฏบวรเดช รัฐบาลพระยาพหลฯ สร้างสิ่งของเพื่อขอบคุณผู้ให้ความร่วมมือปราบกบฏ รวมไปถึงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้หลายประเภท
ปัจจุบันบางอย่างก็ยังคงปรากฏอยู่ (ในมือนักสะสมของเก่า) แต่บางอย่างก็หายไปแล้ว
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ปี ๒๔๗๖
รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาผลิตแจกไม่ต่ำกว่าหมื่นเหรียญ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ด้านหน้ามีรูปรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น แผ่รัศมี ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ยืนเหนือตัวอักษร “ปราบกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖”
เหรียญนี้ห้อยบนห่วงที่มีอักษร “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งห้อยพ่วงกับแถบแพรลายธงชาติไทยอีกที โดยจะเชื่อมกับส่วนเข็มโลหะที่เขียนว่า “สละชีพเพื่อชาติ”
ข้อที่น่าสังเกตคือ คณะราษฎรใช้ “พระสยามเทวาธิราช” ที่เกิดในระบอบเก่ามาเป็นสัญลักษณ์ปกป้องระบอบใหม่ วางพื้นฐานคำขวัญที่กองทัพไทยจะใช้ต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันคือ “สละชีพเพื่อชาติ”
เหรียญ
“สละชีพเพื่อชาติ”
เข็มกลัดโลหะ มีลักษณะเป็นวงกลมขอบหยัก ขนาดประมาณเหรียญ ๑๐ บาทยุคนี้ ด้านหน้าเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ มีข้อความ “สละชีพเพื่อชาติ” ล้อมรอบ รัฐบาลพระยาพหลฯ ผลิตขายในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๖ เป็นปีแรกและวางขายในงานฉลองปีต่อ ๆ มา จนงานถูกยกเลิกเมื่อรัฐบาลคณะราษฎรหมดอำนาจลง
เทอดรัฐธรรมนูญ และชุดหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
หนังสือรวมบทความเพื่องานฉลองรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ หน้าปกเป็นรูปรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น มีรัศมีโดยรอบ ด้านหลังเป็นแผนที่ประเทศสยามที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาค มีพื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน ในเล่มนี้มีบทความน่าสนใจหลายบทความ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบันทึก “ความรู้สึกของยุคสมัย” ของคนที่ต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะปัญญาชน สมาชิกคณะราษฎร ฯลฯ
งานสิ่งพิมพ์ลักษณะนี้ยังแพร่หลายในโอกาสต่าง ๆ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เล่าว่าเล่มหลัก ๆ มีหกเล่ม เช่น หนังสือที่ระลึกในการเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏ, หนังสือที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศล, อนุสสาวรีย์ ๑๗ ทหารและตำรวจ ฯลฯ
แสตมป์ที่ระลึก
อนุสาวรีย์ปราบกบฏ
ปี ๒๔๘๓
หนังสือรวมบทความเพื่กรมไปรษณีย์โทรเลขผลิตจำหน่ายในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีการปราบกบฏบวรเดช บนดวงตราไปรษณียากรใช้ภาพอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นภาพหลัก ด้านล่างพิมพ์ตัวอักษร “อนุสาวรียปราบกบถ” มีทั้งแบบราคา ๒ สตางค์ และ ๑๐ สตางค์
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
และ “อำเภอบางเขน”
อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกวีรกรรม ๑๗ ทหารและตำรวจ มีชื่อหลายชื่อ เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ ๑๗ ทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม อนุสาวรีย์หลักสี่ อนุสาวรีย์บางเขน อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลพระยาพหลฯ เปิดอนุสาวรีย์ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๙ เรียกชื่อทางการในช่วงแรกว่าอนุสาวรีย์ ๑๗ ทหารและตำรวจ
ต่อมาในยุครัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเรียกอนุสาวรีย์หลักสี่ ทั้งยังปรากฏในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในชื่อ อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม คราวพิจารณาสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ (วัดประชาธิปไตย)
ส่วนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ นิยมเรียกตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ปัจจุบันเหลือเพียงอาคารต่าง ๆ และวัดประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันอนุสาวรีย์หายไปแล้ว
เสื้อปราบกบฏ
ผลิตโดยคนเสื้อแดง เป็นการเชื่อมร้อยการต่อสู้ของพวกเขาเข้ากับทหารฝ่ายรัฐบาลสมัยคณะราษฎร และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เหตุการณ์กบฏบวรเดชกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในหน้าสื่อ
เหรียญปราบกบฏ
ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐
สร้างโดยคนเสื้อแดงช่วงหลังจากเหตุการณ์อนุสาวรีย์ปราบกบฏหายไปอย่างไร้ร่องรอยในปี ๒๕๖๑ มีต้นแบบจากเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๖ ต่างก็แต่ตัวอักษรใต้พระสยามเทวาธิราชที่เขียนว่า “ปราบกบฏ พ.ศ. ๒๕๔๙-๕๐” หมายถึงการต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อันเป็นคณะนายทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ในปี ๒๕๔๙
ปฏิทินเทอดรัฐธรรมนูญ Honoring The Constitution (ปฏิทินป๋วย ๒๕๖๖)
โครงการอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป นำเหตุการณ์สำคัญของสังคมไทยในประวัติศาสตร์มาจัดทำปฏิทินตั้งแต่ ปี ๒๕๕๔ โดยในปี ๒๕๖๖ จัดทำเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชครบ ๙๐ ปี ใช้แนวคิดตามแบบ American comics นำเสนอเหตุการณ์ในปีนั้นตลอด ๑๒ เดือน มี นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เป็นบรรณาธิการ