Image

การกลับชาติมาเกิด

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

ปริศนาที่ยากที่สุดของเรื่องเหนือธรรมชาติสำหรับนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน น่าจะได้แก่เรื่องการกลับชาติ
มาเกิด เพราะผู้อ้างหลายรายมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนและโดดเด่นจนหาช่องโหว่ยาก

หากไม่นับความเชื่อที่เชื่อมโยงกับศาสนาแล้ว ความสนใจศึกษาเรื่องนี้มีหลักฐานย้อนกลับไปได้อย่างน้อยที่สุดถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ผู้สั่งให้บันทึกไว้ได้แก่จักรพรรดิอักบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล (The Mughal Emperor Akbar ค.ศ. ๑๕๔๒-๑๖๐๕) ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของชมพูทวีปในขณะนั้น

คนที่ทำวิจัยสมัยใหม่เรื่องนี้อย่างเป็นหลักเป็นฐานมากที่สุดคือศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสัน จิตแพทย์ชาวแคนาดา
ที่มีพื้นความรู้ทางชีวเคมี ผู้หันมาสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๔๐ ผลงานโดดเด่นที่สุดคือหนังสือหนาสองเล่ม รวม ๒,๒๖๘ หน้า เรื่อง Reincarnation and Biology : A Contribution to the Etiology of Birthmarks and Birth Defects (การกลับชาติมาเกิดและชีววิทยา : ข้อสนับสนุนของสมุฏฐานวิทยาของไฝหรือปานและความผิดปรกติแต่เกิด) ใน ค.ศ. ๑๙๙๗

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือคลาสสิก ด้านปรจิตวิทยา (parapsychology) ทำให้ความสนใจเรื่องการกลับชาติมาเกิดหันมาศึกษาในแนวชีววิทยามากขึ้นจากเดิมที่มักพยายามอธิบายกันด้วยหลักการฟิสิกส์  ในหนังสือให้รายละเอียดการศึกษาในเด็กมากกว่า ๒๐๐ คนที่เกิดมาพร้อมกับไฝหรือปานและมีความผิดปรกติบางอย่างที่เจ้าตัวอ้างว่าเกิดจากผลการกระทำในชาติก่อน

การวิจัยนานกว่า ๔๐ ปีของศาสตราจารย์สตีเวนสันทำให้เขามีโอกาสสัมภาษณ์เด็ก ๆ ทั่วโลกราว ๓,๐๐๐ คนที่บอกว่าจำเรื่องในอดีตชาติได้ มีข้อมูลมาตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ กว่า ๒๐๐ ฉบับและหนังสือ ๙ เล่ม อีกทั้งเขายังมีโอกาสเดินทางไกลนับหมื่นกิโลเมตรทุกปี

แต่ละกรณีเขาพยายามหาหลักฐานแน่นอนมายืนยันเรื่องช่วงเวลาและเรื่องที่ระลึกชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นสูติบัตรหรือมรณบัตร รวมทั้งการสัมภาษณ์พยานปากต่าง ๆ เพื่อยืนยันบุคลิกลักษณะว่าถูกต้องตรงกัน ทั้งบุคลิก ความเฉลียวฉลาด รวมถึงรายละเอียดเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาติก่อน เพื่อตัดกรณีการจัดฉากโดยผู้ปกครองที่อาจหวังผลประโยชน์บางอย่าง

ลักษณะร่วมสำคัญของเด็กที่จำอดีตชาติได้มีหลายอย่าง เช่นการจำความชาติเดิมได้ในช่วงที่เริ่มพูดคืออายุระหว่าง ๒-๓ ขวบ  พออายุราว ๗-๙ ขวบก็จะค่อย ๆ ลืมเลือนเรื่องในอดีตชาติ

ความยาวนานของช่วงเวลาระหว่างการเสียชีวิตในชาติก่อนกับการเกิดใหม่ในชาตินี้มีค่าเฉลี่ยประมาณ ๒ ปี แม้ว่ามีรายงานการข้ามภพข้ามชาติแบบข้ามศตวรรษด้วยเช่นกัน และส่วนใหญ่การกลับชาติมักเกิดบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ก็มีนาน ๆ ครั้งที่พบว่าไปเกิดไกลถึงประเทศอื่นหรือทวีปอื่น

เด็กแต่ละคนมักมีความทรงจำแจ่มชัดและสิ่งที่บอกกล่าวก็มักถูกต้องเสียด้วย แม้งานที่ศึกษาจะครอบคลุมเด็ก ๆ ในพื้นที่แถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีวัฒนธรรมและความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ก็มีบันทึกว่ามีกรณีที่พบในสหรัฐอเมริกา (๗๓ ราย) และยุโรป (๒๑ ราย) โดยกรณีหลังนี้เป็นชาวอังกฤษเกือบครึ่งหนึ่ง (๙ ราย) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัฒนธรรมหรือความเชื่อเดิมที่อยู่ล้อมรอบตัวของเด็กไปเสียทั้งหมด

Image

ขอยกตัวอย่างกรณีน่าสนใจของกามินี ชยเสนา ชาวศรีลังกา ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ เมื่อมีอายุ ๑ ขวบครึ่งก็เริ่มพูดเกี่ยวกับชีวิตชาติก่อน  ครอบครัวนี้นับถือพุทธศาสนา แต่กามินีกลับเข้ารีตศาสนาคริสต์ ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและพูดเกี่ยวกับซานตาคลอส

ปีต่อมาขณะที่ครอบครัวของเขาขับรถเที่ยวไปถึงเมืองนิทธรรมพุวา ห่างจากบ้าน ๓๕ กิโลเมตร เขาก็บอกว่าเมืองนี้คือบ้านในชาติก่อน  เมื่อสอบถามคนแถวนั้นก็ทราบว่าหลายปีก่อนมีเด็กอายุ ๘ ขวบ ชื่อ ปาลิถา เสนีวิรัตน์ ป่วยหนักจนเสียชีวิต  หลังจากครั้งนั้นเขามีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมอีกครั้ง เขาเล่าเรื่องพ่อคนเดิมเคยหักกิ่งไม้เพื่อนำผลไม้ที่เขาชอบมาให้ นอกจากนี้ยังจำตึกนอนที่โรงเรียนเดิมได้อีกด้วย

เรื่องหนึ่งที่ศาสตราจารย์สตีเวนสันสนใจเป็นพิเศษคือ ไฝ ปาน รอยย่นบนผิวหนัง หรือความผิดปรกติแบบต่าง ๆ ที่เด็กเหล่านี้อ้างว่าเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีตชาติ ซึ่งร่องรอยเหล่านี้ค่อนข้างเด่นชัด แตกต่างจากไฝฝ้าที่พวกเรามีกัน บางรายมีแห่งเดียว บางรายก็มีสองแห่ง โดยมักมีลักษณะเล็กและใหญ่คล้ายกับปากทางเข้าและออกของอาวุธ เขาพบลักษณะแบบนี้รวม ๑๘ รายด้วยกัน

เรื่องหนึ่งที่พบบ่อยคือ เด็กเหล่านี้มักสับสนระหว่างประสบการณ์ในชาติก่อนกับปัจจุบัน หรือหวาดกลัวต่ออาวุธที่อ้างว่าทำให้เสียชีวิต ซึ่งไม่สามารถโยงเข้ากับประสบการณ์ใดในชาตินี้ได้เลยเท่าที่ผู้ปกครองจำได้

เด็กระลึกชาติพวกนี้มักมีนิสัยชอบเสื้อผ้า อาหาร สัตว์ หรือของบางอย่างในแบบเดียวกับตอนที่มีชีวิตอยู่ในชาติที่แล้วอีกด้วย

ลักษณะของเด็กพิเศษพวกนี้ ศาสตราจารย์สตีเวนสันสรุปไว้ในย่อหน้าเดียวได้ชัดเจนในหนังสือ Children Who Remember Previous Lives (เด็กที่จำชีวิตในชาติก่อนได้) ว่า

“เด็กที่มีอายุ ๒-๓ ขวบมักเริ่มพูดย้ำเรื่องสิ่งของ สถานที่ และผู้คนที่พ่อแม่ไม่เคยรู้จักเลย เด็กคนนั้นอาจแม้แต่ทำตัวผิดแผกกับพี่น้องชายหญิง ซึ่งดูแปลกประหลาดเมื่อพิจารณาว่าเติบโตในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน เรื่องสุดท้ายคือตัวเด็กเองอาจจะเชื่อมโยงเรื่องทั้งหมดนี้เข้ากับชีวิตในชาติที่แล้วที่เจ้าตัวอ้างว่ายังจำได้อยู่ บางครั้งก็จำได้ถึงสถานที่ใกล้บ้านเดิมหรือสถานที่ที่ห่างไกลออกไป”

นักวิทยาศาสตร์มีคำตอบสำหรับเรื่องเหล่านี้บ้างหรือไม่ ?

ดังที่เกริ่นไว้แล้วว่า เมื่อตัดความตั้งใจกุเรื่องเพื่อผลประโยชน์แล้ว หากไม่ได้กลับชาติมาเกิดจริงก็อาจเกิดจากการหลอกลวงแบบไม่รู้ตัว (unconscious fraud) เพราะเด็กอาจได้ยินได้ฟังหรืออ่านเรื่องราวของใครเข้าแล้วรับมาก็เป็นได้ ในกรณีนี้พ่อหรือแม่อาจตอกย้ำความทรงจำโดยไม่รู้ตัวได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นการถ่ายทอดข้อมูลโดยไม่เจตนา (unintentional information transfer)

กรณีเช่นนี้ตรวจพบโดยนักวิจัยท่านอื่น

มีคำอธิบายอีกแบบหนึ่งที่เป็น “ความทรงจำในตระกูล (racial memory)” ที่มักกลับชาติมาเกิดในตระกูลเดียวกัน ซึ่งกรณีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อีกสมมุติฐานหนึ่งไปไกลกว่านั้น คืออธิบายในแนว “โทรจิต (telepathy)” ว่าเด็กอาจมีสัมผัสพิเศษ (extrasensory perception) บางอย่างที่ทำให้ “รับข้อมูล” เกี่ยวกับชีวิตของผู้เสียชีวิตได้ โดยอาจรับผ่านญาติ ๆ ที่ยังเสียอกเสียใจ แล้วความคิดคำนึงที่อยู่ใต้จิตสำนึกก็ส่งต่อมาด้วยวิธีการบางอย่างจนถึงตัวเด็ก

แต่จุดอ่อนของคำอธิบายนี้ก็คือเด็กพวกนี้มักไม่มีความสามารถพิเศษใด โดยเฉพาะเรื่องโทรจิต

สมมุติฐานต่อไปยิ่งห่างไกลจากวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมากขึ้นไปอีกคือ มีผู้เสนอว่าเรื่องราวในชาติก่อนอาจถ่ายทอดสู่โลกอื่นที่ไม่ใช่โลกกายภาพที่เราคุ้นเคย ซึ่งถ่ายทอดมายังเด็กคนนั้นได้

แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง คำถามคือทำไมเด็กแต่ละคนจึงรับข้อมูลของคนที่เสียชีวิตเป็นราย ๆ ไป ไม่เกิดการ “ลงข้อมูล” ซ้ำซ้อนบ้าง  ในทางกลับกันทำไมเด็กหลายคนจึงไม่มีความทรงจำของผู้เสียชีวิตคนเดียวกันบ้าง

การถ่ายทอดความทรงจำแบบนี้มีลักษณะเฉพาะอย่างไรกันแน่ ?

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กเหล่านี้มีความทรงจำเดิมในสภาวะที่มีจิตสำนึกครบถ้วนสมบูรณ์เป็นปรกติ ไม่จำเป็นต้อง “เข้าภวังค์” และบุคลิกลักษณะก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปแบบที่เกิดกับร่างทรงทั้งหลาย

การสะกดจิตหรือให้กินยาบางอย่างเพื่อเรียกความทรงจำกลับไปไกลมาก ๆ ถึงชาติอื่น มีความแตกต่างกับกรณีกลับชาติมาเกิดนี้จนถือเป็นหลักฐานที่นำมาใช้พิจารณาร่วมกันแทบไม่ได้เลย

ส่วนเรื่องไฝฝ้าและแผลเป็นต่าง ๆ ยังไม่มีคำอธิบายที่ดีนัก ที่มีอยู่คือยกให้เป็นปรากฏการณ์ของความน่าจะเป็นหรือความบังเอิญ ซึ่งหากประมาณให้ผิวหนังของผู้ใหญ่ครอบคลุม ๑๖๐ ตารางเซนติเมตร โอกาสที่จะเกิดรอยพวกนี้ตรงกันก็จะเท่ากับ ๑/๑๖๐ หากมีรอยตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปโอกาสจะลดลงเหลือเพียง ๑/๒๕,๐๐๐ ซึ่งยากมาก และไม่สามารถใช้อธิบายได้เลยในกรณีของเด็กชาวตุรกีคนหนึ่งที่มีรอยมากถึงเจ็ดแห่ง โดยรอยหกแห่งตรงกับหลักฐานการชันสูตรของแพทย์ !

คำอธิบายสุดท้ายที่ขอนำเสนอในที่นี้คือเกิดจากแม่ได้รับผลกระทบทางใจหรือทางกายจนทำให้เกิดบาดแผลบนตัวเด็ก แต่ก็ไม่ได้อธิบายเรื่องตำแหน่งว่าเหตุใดจึงตรงกันเช่นนั้นได้

การกลับชาติมาเกิดจึงยังคงเป็นปริศนาสำหรับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้องเช่นใดและเมื่อไร