Image

ตามหาพลังชีวิตที่หายไป

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

คุณเคยรู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง ไม่อยากทำงาน ขาดแรงบันดาลใจ ทำงานไม่เสร็จ ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่มีสมาธิ และไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ดีอีกต่อไปไหม

เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นนักเขียนที่ผลิตผลงานชั้นยอดมานานนับสิบปี  แต่วันหนึ่งเขาไม่อาจเขียนงานได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น และนอนไม่หลับ

ปรากฏการณ์ “ขาดพลังชีวิต” ไม่เพียงเกิดกับผู้ใหญ่วัยใกล้เกษียณหรือคนทำงานมานานเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่ทำงานไม่กี่ปีก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน และบางคนอยู่ในสภาพนี้ยาวนานจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ พนักงาน ปฏิบัติการระดับล่างหรือผู้บริหาร มีโอกาสพบกับภาวะดังกล่าว และนับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

เมื่อปี ๒๕๖๕ Deloitte Touche Tohmatsu บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและบัญชีระดับโลก สำรวจความเห็นพนักงานทุกระดับจำนวน ๒,๑๐๐ คน พบว่า ๗ ใน ๑๐ มีภาวะขาดพลังชีวิต หรือเบิร์นเอาต์ (burnout)  จากการสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย พบว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์มีภาวะเบิร์นเอาต์และกำลังตัดสินใจลาออกไปทำงานที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่า โดย ๘๑ เปอร์เซ็นต์คิดว่า สุขภาพกายและใจสำคัญกว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

เมื่อเกิดภาวะอ่อนล้าจนทำงานไม่ได้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า “ต้องบริหารเวลาให้เป็น” แต่ Harvard Business School แนะนำว่า ในภาวะ “ขาดพลังชีวิต” สิ่งที่ควรทำคือ “บริหารพลังชีวิต” ไม่ใช่บริหารเวลา เพราะต่อให้มีเวลามากพอ แต่หากขาดพลังในการทำงานก็ไม่มีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม “พลังชีวิต” เป็นคำนามธรรมที่มีความหมายกว้าง เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะมองเห็นสัญญาณเตือนการขาดพลังชีวิตและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร

นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ ให้ความรู้เรื่อง “พลังชีวิตในโลกการทำงาน” ว่า แหล่งพลังชีวิตประกอบด้วยสี่ส่วน คือ ร่างกาย อารมณ์ ความนึกคิด และจิตวิญญาณ ซึ่งการบริหารครบทั้งสี่ด้านจะช่วยฟื้นฟูพลังทำให้ชีวิตสมดุล

“พื้นฐานพลังชีวิตมาจากการดูแลร่างกายให้แข็งแรง เช่น กินอาหารดี ดื่มน้ำเพียงพอ ได้รับอากาศดี สัมผัสแสงแดดบ้าง ออกกำลังกายพอประมาณ เป็นต้น”

การดูแลพลังชีวิตไม่ใช่เรื่องยากและซับซ้อน แค่ “กินดี อยู่ดี คิดดี และทำดี” แต่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแต่ละวันในวังวนของปัญหาจนลืมสังเกตตัวเอง ทำให้ร่างกายและจิตใจเสื่อมถอยลงทีละนิด กว่าจะรู้ตัวก็ป่วยกายใจอย่างหนัก บางคนไม่มีแรงขยับร่าง บางคนเป็นโรคซึมเศร้า  การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งใช้เครื่องมือฟื้นฟูตัวเองแบบรอบด้าน จะช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นภาวะขาดพลังชีวิตและมีชีวิตที่สมดุลได้  

Image