Image

คุยกับหลาน 
ปรีดี พนมยงค์
ดร. อนวัช ศกุนตาภัย

ศาสตราจารย์ประจำสถาบันปาสเตอร์ 
ผู้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
เอื้อเฟื้อภาพ : ดร. อนวัช ศกุนตาภัย
ขอขอบคุณ ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชายหนุ่มร่างสูง น้ำเสียงนุ่มนวล พูดไทยคล่องแคล่ว แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่จะปรากฏคำศัพท์ภาษาอังกฤษปะปนอยู่ตลอด เพราะเรื่องที่เขาสนทนากับสารคดี เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการทำงานของเขาในสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับโลก

ก่อนหน้านี้ ๒-๓ สัปดาห์ สารคดี ได้รับข่าวว่า ดร. อนวัช ศกุนตาภัย เดินทางมาเมืองไทยจาก ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีประเด็นที่เชิญชวนคือ ข่าวที่เขาได้รับรางวัล ๑ ใน ๑๐๐ นักประดิษฐ์จากนิตยสาร Le Point ของฝรั่งเศส เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก

เมื่อสืบค้นชื่อบนเว็บไซต์ก็พบความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก คือการมีสถานภาพเป็นหลานของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย

เรามีเวลาสนทนากันประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ แม้บทสัมภาษณ์นี้จะโปรยเรียกแขกด้วยความเป็นหลาน ปรีดี พนมยงค์ แต่เนื้อหาสาระหลักคือการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันระดับโลก และมุมมองต่อการใช้งานวิจัยพื้นฐานช่วยแก้ไขปัญหาโรคระบาดและสาธารณสุข ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ใช้วิทยาศาสตร์แก้ไขอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

จากการเดินทางไปทั่วโลกโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็น soft power วันนี้เขาบอกว่าประทับใจคนญี่ปุ่นที่มีความพอเพียง ถ่อมตัว ไม่กินอาหารเหลือ ใช้ของอย่างประหยัด มีความสุขกับการอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งประเทศตะวันตกไม่มี ขณะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาหลายอย่าง การกลับสู่ธรรมชาติ การทำเกษตรกรรมแบบพอเพียง และทุนใหญ่ต้องยอมเสียกำไรบ้าง น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหา แม้ว่าความรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงเรื่องภาวะโลกร้อนจะมาถึงแน่นอน แต่ที่สุดแล้ว

“เราคงต้องคิดในแง่บวกแล้วพยายามหาทางแก้ไขต่อไป”

รางวัลที่นิตยสาร Le Point มอบให้ในฐานะ ๑ ใน ๑๐๐ นักประดิษฐ์อัจฉริยะชาวฝรั่งเศสที่จะเปลี่ยนชีวิตเรา (La relève du génie français : 100 inventions qui vont changer nos vies) เมื่อกลางปีนี้มีที่มาอย่างไร

ทางสถาบันปาสเตอร์เสนอชื่อผมไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และก็มาได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Le Point (หมายถึงประเด็น) ในปีนี้ แต่จริง ๆ เบื้องหลังก่อนหน้านั้น คือ ค.ศ. ๒๐๒๐ ทีมของผมได้รางวัลจากการแข่งขันนวัตกรรม i-Lab Grand Prix ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (Ministry of Higher Education, Research and Innovation) ของฝรั่งเศส  ที่นั่นให้ความสำคัญเรื่องงานวิจัยมาก มีการจัดแข่งขันทุกปี

คือนวัตกรรมไม่ใช่แค่ค้นพบอะไรแล้วจดสิทธิบัตร แต่ต้องมีกระบวนการนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ ซึ่งยากมาก เพราะส่วนใหญ่นักวิจัยทั้งหลายจะจบที่จดสิทธิบัตรแล้วก็เงียบหายไป

แต่ที่ฝรั่งเศสมีวิธีการส่งเสริม อย่างการแข่งขันจะไม่ได้ดูในแง่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ดูด้านธุรกิจด้วยว่าเราจะไปรอดไหม จะหาคนมาลงทุนได้ไหม มีตลาดหรือเปล่า จะบริหารและทำตลาดยังไง เรามีคุณสมบัติเป็น CEO หรือเปล่า เขาดูหลายอย่างมาก เพราะฉะนั้นการแข่งขันค่อนข้างจะหนัก  ตอนที่สมัครไปก็ไม่คิดว่าจะได้ แล้วก็ได้รางวัลมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และทำให้มาอยู่ในรายชื่อ ๑ ใน ๑๐๐ นักประดิษฐ์

หลังจากได้รางวัลการแข่งขันนวัตกรรมก็ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนนิดหน่อย ได้สร้าง startup ของตัวเอง โดยได้รับเงินทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนของฝรั่งเศส แล้วเขาไม่ได้ให้แค่เงินทุน เขาสนับสนุนเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น วิธีการทำงาน การโค้ชชิ่ง เพื่อให้ startup ของเราโต น่าเสียดายที่ผมยังเป็นนักวิจัยของสถาบัน เลยไม่สามารถเป็น CEO ได้

นวัตกรรมที่ทำให้ได้รางวัล i-Lab Grand Prix คืออะไร

มันคือวัคซีนไข้เลือดออกแบบใหม่  ไข้เลือดออกเป็นปัญหาของประเทศไทย ไม่ใช่ปัญหาของฝรั่งเศส แต่เขามีวิสัยทัศน์ เขาคิดกว้างในระดับโลก แม้ว่าตอนนี้จะมีวัคซีนไข้เลือดออกอยู่หนึ่งตัว ผลิตโดยบริษัทซาโนฟี (Sanof i) ซึ่งเป็นบริษัทของฝรั่งเศสเอง แต่ความยากของวัคซีนไข้เลือดออกคือตัวแอนติบอดี (antibody) เองสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครุนแรง

ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กที่สุด ไม่สามารถเติบโตด้วยตัวเอง มันต้องเข้าไปในเซลล์ ใช้เอนไซม์ของเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน  ไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกีที่มีอยู่สี่สายพันธุ์ มีพันธุกรรมเหมือนกันประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์  ถ้าเราติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น แต่เมื่อไปติดสายพันธุ์อื่น แอนติบอดีต่อสายพันธุ์แรกจะจับกับสายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่ดีพอที่จะป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์  ในทางตรงข้ามแอนติบอดีนี้จะพาไวรัสเข้าเซลล์ได้เร็วขึ้นเสียอีก ทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้น

จากข้อมูลในประเทศไทยและหลายประเทศพบว่าคนติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งที่ ๒ มีอาการรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก เนื่องจากการติดเชื้อครั้งแรกไปกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีข้ามสายพันธุ์ ช่วยไวรัสให้เข้าสู่เซลล์ง่ายขึ้น ผ่าน
ช่องทางของแอนติบอดี  เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์ได้แล้ว แอนติบอดีจะไม่สามารถทำอะไรไวรัส ทำให้คนติดเชื้อต่างสายพันธุ์ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ มีอาการรุนแรงขึ้น (เรียกว่า antibody-dependent enhancement หรือ ADE)

วัคซีนไข้เลือดออกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมุ่งหวังจะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีสี่ตัวสำหรับไวรัสสี่สายพันธุ์เลย แต่การฉีดไวรัสเข้าไปสี่ตัวพร้อมกัน แล้วหวังว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อทั้งสี่สายพันธุ์เท่ากันนั้นยากมาก  ผลการศึกษา phase 3 ที่ทำการวิจัยในหลายประเทศ พบว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาก่อน เมื่อได้วัคซีนไข้เลือดออกแล้วติดเชื้อใหม่ จะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกรุนแรงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ทำให้การใช้วัคซีนนี้มีข้อจำกัด แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า ๙ ปี

วัคซีนแบบใหม่จะมาช่วยแก้ตรงนี้อย่างไร

ผมดูปัญหาแล้วคิดว่าความคิดเก่าน่าจะผิด ผมคิดใหม่ว่าวัคซีนไข้เลือดออกควรไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาว ไม่ใช่แอนติบอดี ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีความจำเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ตอบสนองต่อการติดเชื้อใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากแอนติบอดีพาไวรัสเข้าสู่เซลล์

เซลล์ร่างกายที่ถูกไวรัสฝังตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่ผิวเซลล์ ทำให้มีรูปร่างหน้าตาต่างจากเซลล์ปรกติ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ถูกกระตุ้นไว้จะจำสิ่งแปลกปลอมนี้ได้ และจะทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสอยู่ นี่คือกลไกที่เราออกแบบไว้

แนวคิดนี้ใช้ได้กับหลายโรค รวมทั้งโควิด-๑๙ ด้วย อย่างที่รู้กันว่าฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วหลายเดือนภูมิคุ้มกันก็ลดลง ต้องฉีดบูสต์เพิ่มอีก ซึ่งการฉีดซ้ำ ๆ ด้วยวัคซีนเดิม ๆ จะยิ่งทำให้ความจำของเซลล์แย่ลง แล้วก็ล้าจนอาจสู้กับไวรัสไม่ได้ ตอนนี้ผมคุยกับบริษัทผลิตยาอยู่ว่าจะเอาวัคซีนของเราที่ทำกับไข้เลือดออกไปทำกับโควิดหรือเปล่า แต่ต้องมีกระบวนการอีกหลายอย่าง

สรุปว่าเราทำวัคซีนที่กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาว ไม่ใช่กระตุ้นแอนติบอดีไข้เลือดออกเหมือนวัคซีนปัจจุบัน

“ที่ผ่านมาวัคซีนหรือยามักผลิตเพื่อคนขาวหรือคอเคเซียนเท่านั้น แล้วคนในแอฟริกา เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล่ะ startup ของเราจึงตั้งชื่อว่า V4C ย่อมาจาก Vaccines for Communities เพื่อพยายามช่วยคนในทุกประเทศ ”

ก่อนจะทำวัคซีนตัวนี้ ต้องอาศัยงานวิจัยอะไรเกี่ยวกับไข้เลือดออกมาก่อนไหม

ประมาณ ค.ศ. ๒๐๑๐ ผมได้ทุนของ EU ทำเรื่องไข้เลือดออก คือฝรั่งมีวิสัยทัศน์ เขาคิดว่า climate change ทำให้โลกร้อน จะมียุงจากเขตร้อนแพร่พันธุ์ในยุโรป เขาให้ทุนเพื่อวิจัยหาวิธีป้องกันไม่ให้ไข้เลือดออกระบาดในยุโรป สถาบันปาสเตอร์ให้ผมนำทีมวิจัยและคิดโครงการมาแก้ปัญหาพอผมไปดูข้อมูลแล้วพบว่า คนที่ติดเชื้อไข้เลือดออกประมาณ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์จะไม่มีอาการ มีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการ และมีแค่ ๑-๒ เปอร์เซ็นต์ที่อาการรุนแรงถึงเสียชีวิต

คำถามวิจัยแรกคือคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ทำอย่างไรถึงสู้กับไวรัสได้โดยไม่มีอาการอะไร

ส่วนคำถามที่ ๒ คือเขาจะแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ยุงได้ไหม ถ้าแพร่เชื้อได้ มาตรการควบคุมไข้เลือดออกที่ไปฉีดยุงตามบ้านเมื่อพบคนป่วยก็สายไป เพราะถ้ามีคนประมาณ ๑ แสนคนติดเชื้อจะมีแค่ประมาณ ๒ หมื่นคนที่เราตรวจสอบได้ แต่อีก ๘ หมื่นคนเดินไปเดินมาและแพร่เชื้อไปเรื่อย ๆ

เราเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มตั้งคำถามว่าคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะแพร่เชื้อได้ไหม เพราะฉะนั้นมันลบล้างทฤษฎีเก่า ๆ ที่ให้ทุกคนตั้งรับในโรงพยาบาล คือต้องออกไปรับมือกันถึงในชุมชน ตอนนี้ทุกคนก็เชื่อแบบนี้แล้ว โควิดเป็นตัวอย่างมีการทดสอบด้วยตนเองที่บ้าน แม้จะไม่มีอาการ

ปัญหาคือจะออกแบบงานวิจัยอย่างไรที่จะค้นพบคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โชคดีที่เรามีทีมงานที่มีประสิทธิภาพในฝรั่งเศสและกัมพูชา มีทั้งนักระบาดวิทยา นักกีฏวิทยา นักไวรัสวิทยา ทำงานเป็นทีม แม้แต่ฝรั่งเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำงานร่วมกัน เพราะสำคัญที่สุดคืออีโก้ ถ้าเราอีโก้จัดก็ไม่มีใครอยากทำงานด้วย ทำงานแล้วก็ต้องแบ่งผลประโยชน์กัน ไม่ใช่ทุกอย่างเอาเข้าเราคนเดียว

เราก็มานั่งคิดว่าจะไปหาคนมีเชื้อที่ไม่มีอาการได้อย่างไร เราใช้วิธีสำรวจที่บ้านของผู้ป่วยโดยมีสมมุติฐานว่ายุงที่เป็นพาหะจะกัดหลายคนในบ้าน เราส่งทีมนักระบาดฯ ไปเช็กทุกวัน เพราะวันที่ไปอาจจะมีหรือไม่มีการติดเชื้อ โดยใช้ ATK คล้ายกับที่ใช้ตรวจโควิด แต่เป็น ATK ของไข้เลือดออก

เรื่องที่มีปัญหาด้านจริยธรรมสักหน่อย คือเราเลี้ยงยุงในห้องแล็บ เป็นยุงปลอดเชื้อ ปล่อยให้มันหิวแล้วก็เอามาใส่ในถ้วย มีผ้าขาวบางปิดปากถ้วย แล้ววางไว้บนแขนของคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ให้ยุงกัดจนอิ่ม เอายุงมาเลี้ยงต่อแล้วดูว่ามีเชื้อถ่ายทอดจากคนสู่ยุงไหม เราพบว่าคนติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแพร่เชื้อสู่ยุงได้ แล้วก็แพร่ได้ดีกว่าคนติดเชื้อที่มีอาการเสียอีก

climate change ทำให้ยุโรปมียุงแล้ว มีการติดเชื้อในคนยุโรปที่ไม่ได้ออกนอกประเทศเลย แสดงว่าไวรัสแพร่พันธุ์ในยุโรปแล้ว มี host หรือผู้ติดเชื้อที่ให้เชื้อขยายตัว แล้วก็มี reservoir (แหล่งรังโรค) ด้วย ไม่เช่นนั้นเชื้อก็ควรจะต้องตายไปแล้ว มันเป็นลูกโซ่ของการแพร่เชื้อ  ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๔ ก็มีการระบาดใหญ่ที่โตเกียว ตอนนี้ไข้เลือดออกน่าจะแพร่กระจายไปทั่ว เพราะว่าการเดินทางที่ดีขึ้น

เราเจาะเลือดมาเปรียบเทียบระหว่างภูมิคุ้มกันของคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ กับคนมีอาการ พบว่าคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ร่างกายตอบสนองต่อไวรัสด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว แต่คนติดเชื้อที่มีอาการ ร่างกายตอบสนองด้วยแอนติบอดี ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราคิด เมื่อก่อนเราดูคนที่อยู่ในโรงพยาบาล
ว่าอาการจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง แอนติบอดีเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่ป้องกันอาการโรครุนแรงคือเซลล์เม็ดเลือดขาว

จากการวิจัยนี้ผมจึงเริ่มออกแบบวัคซีนตัวใหม่ไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันผ่านทางเซลล์เม็ดเลือดขาว ไม่ได้ผ่านทางแอนติบอดี ก็เลยได้รางวัล เพราะเป็นความคิดใหม่ที่ไม่มีใครคิดมาก่อน และน่าจะแก้ปัญหานี้ได้

Image

งานวิจัยนี้ได้มาทำที่เมืองไทยไหม

เราทำทั้งที่กัมพูชาและไทย แต่ได้ผลก่อนที่กัมพูชา ต้องขอบคุณสถาบันปาสเตอร์ที่ไปตั้งอยู่ที่นั่น เขาทำงานเป็นทีมได้ดี ทุกคนให้ความร่วมมือดี ทีมใหญ่มาก เมื่อไรเจอคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เราก็เจาะเลือดมาตรวจภูมิคุ้มกัน ตรวจ gene expression ตรวจหลาย ๆ อย่าง

การพัฒนาวัคซีนใหม่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหน

ผ่านขั้นทดลองในหนูและลิงแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องทำกับคน ซึ่งการทำเอกสารยุ่งมาก ใช้เวลา และการผลิตวัคซีนต้องใช้โรงงานที่ได้รับการรับรองคุณภาพ ไม่ใช่โรงงานปรกติ  ต้องใช้เงินลงทุนสูง ตอนนี้เงินทุนที่ได้จากธนาคารเพื่อการลงทุนยังไม่พอ เรากำลังหาผู้ร่วมลงทุน สิงคโปร์และแคนาดาสนใจร่วมมือกับเรามาก

สิงคโปร์ยังมีการระบาดของไข้เลือดออก เป็นเมืองที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์คล้ายไทย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการทำวัคซีน เนื่องจากแต่ละชาติพันธุ์ตอบสนองต่อวัคซีนหรือการติดเชื้อไม่เหมือนกัน  ที่ผ่านมาวัคซีนหรือยามักผลิตเพื่อคนขาวหรือคอเคเซียนเท่านั้น แล้วคนในแอฟริกา เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล่ะ  startup ของเราจึงตั้งชื่อว่า V4C ย่อมาจาก Vaccines for Communities เพื่อพยายามช่วยคนในทุกประเทศเราอยากให้การวิจัยและผลิตอยู่ที่เมืองไทยด้วย อยากจะสร้างความร่วมมือกับบริษัทในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนได้

เรื่องที่เข้าใจไม่ค่อยตรงกันคือบริษัทในหลายประเทศแถบนี้จะคิดแค่ซื้อสิทธิบัตรมาผลิตขายแล้วจบ เขาไม่เข้าใจเรื่อง R&D ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิบัตรหรือการทำกำไรจากสิทธิบัตร จะคิดอยู่ว่าเมื่อไรจะได้ทุนคืน เมื่อไรจะได้ใช้วัคซีน  แต่งาน R&D หรือนวัตกรรมเป็นกระบวนการระยะยาวต้องลงทุนเพื่ออนาคตใน ๕ ปี หรือ ๑๐ ปีข้างหน้าไม่ใช่ลงทุนใน ๒-๓ ปี  คิดดูว่าบริษัทโมเดอร์นาทำงานมากี่สิบปี แล้วตอนนี้มีมูลค่าสูงขนาดไหน หรืออีกปัจจัยที่สำคัญคือการทำงานกับทางราชการจะเป็นการควบคุมมากกว่าสนับสนุน แต่ที่ฝรั่งเศส แคนาดา หรือสิงคโปร์ รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้วย ทำให้เราสนใจไปเปิดบริษัทที่ประเทศเขา

เรื่องการอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นอุปสรรคในการลงทุนไหม

ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่าไทยเป็นประเทศแรกที่อนุมัติการให้ใช้วัคซีน ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศท้าย ๆ ซึ่งอันนี้ทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่กล้าลงทุนถ้าจะมาผลิตที่ไทย ปรกติถ้าคุณไปทำวิจัยที่ประเทศไหนก็หวังจะได้ขายที่นั่นเป็นประเทศแรก วัคซีนไข้เลือดออกของบริษัทซาโนฟี ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ใช้ วัคซีนไข้เลือดออกของบริษัททาเคดาก็เป็นบราซิลกับอินโดนีเซีย

กระบวนการของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับหน่วยงานรับผิดชอบและปัจจัยหลาย ๆ อย่างเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องดูระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งก็มีกรณีที่พลาด เช่นฟิลิปปินส์อนุมัติให้ใช้วัคซีนของซาโนฟี เป็นข่าวช่วง ค.ศ. ๒๐๑๖ มีเด็กรับวัคซีนแล้วตาย แล้วพอดีกลายเป็นประเด็นการเมืองด้วย เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนจากรัฐบาลอากีโนเป็นดูแตร์เต ดูแตร์เตเลยสั่งจับคนที่อนุมัติเข้าคุกหมด

ช่วยเล่าประวัติว่าอาจารย์มาทำงานวิจัยที่สถาบันปาสเตอร์ได้อย่างไร

ผมเป็นหมอมาก่อน ก็อย่างที่รู้ตอนสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสมัยก่อน ถ้าไม่เลือกวิศวะก็ต้องหมอ ผมติดหมอก็เข้าไปเรียน เรียนไปก็ทุกข์ไปตั้งแต่แรกเลย เพราะไม่ชอบ ไม่ชอบชีววิทยา ไม่ชอบฟิสิกส์ แต่ชอบคณิตศาสตร์เหมือนน้องสาวผม (พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ นามสกุลเดิม ศกุนตาภัย ภรรยาของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  พอขึ้นคลินิกอยู่ในโรงพยาบาล ก็ยิ่งรู้ว่าไม่ใช่ตัวเราเลย แต่ก็ต้องทน

ตอนนั้นผมเลือกเรียนหมอผิวหนัง เพราะคิดว่าเรากำหนดได้ว่าจะตรวจคลินิกเมื่อไร เคสฉุกเฉินก็น่าจะน้อย และไม่ต้องทนทรมานอยู่เวร เพราะผมเป็นคนให้ความสําคัญกับเวลาของตัวเอง ไม่ชอบอยู่ในห้องคับแคบ ชอบชีวิตกลางแจ้งมากกว่า  ก็เรียนจนสำเร็จ เป็นอาจารย์ด้านผิวหนังอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำคลินิกนอกเวลาเลิก ๒ ทุ่ม  คือ ๕ โมงหลังการตรวจ ทำงานราชการเสร็จก็ต้องทำคลินิกต่อถึง ๒ ทุ่ม เงินก็ได้เยอะ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ชีวิต เราไม่ต้องการชีวิตที่รักษาสิวฝ้าคนไปเรื่อย ๆ  ชีวิตเราที่เหลืออยู่อีก ๔๐ ปีน่าจะมีประโยชน์อะไรมากกว่าการทำเงิน

อีกเหตุผลที่เลิกเป็นหมอ คือชอบงานวิจัย พยายามทำวิจัยที่เมืองไทยแต่ไปไม่ถึงที่สุด โชคดีที่พอดีมีทุนให้หมอไปทำปริญญาเอก แล้วก็โชคดีที่มหาวิทยาลัย Oxford อังกฤษ รับผมไปทำวิทยานิพนธ์

ตอนนั้นผมบอกทุกคนว่าอยากจะทำวิจัยอยากรู้ว่าการทำงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นอย่างไร  Oxford เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรมและโรคทางพันธุกรรมซึ่งกำลังเป็นที่สนใจกันมากเวลานั้น ผมได้โจทย์งานวิจัยที่ต้องหายีนของโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเป็นแต่กำเนิด คิดว่าอะไรดี ๆ ในชีวิตจะต้องเกิดขึ้นถ้าเจอยีนตัวนี้ แล้วผมก็เจอ งานวิจัยได้เผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำ ทำให้มีคนเสนองานเข้ามามากมาย ตั้งแต่ที่ซานฟรานซิสโก ลอนดอน เอดินบะระ แล้วก็ที่สถาบันปาสเตอร์ ปารีส

ผมก็ถามภรรยา เธอชอบปารีสอยู่แล้ว เพราะเกิดที่ปารีส ผมเองก็ผูกพันกับฝรั่งเศส เพราะมีญาติอยู่ เคยไปเยี่ยมคุณตาปรีดีตั้งแต่ยังเด็ก จนท่านเสีย ก็เลยตัดสินใจมาที่สถาบันปาสเตอร์โดยแทบไม่รู้จักสถาบันปาสเตอร์เลย พูดภาษาฝรั่งเศสก็ไม่ได้ ตอนนี้พอได้บ้าง

“เมื่อวิทยาศาสตร์คือ soft power ในโลกที่ ‘สุขภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสุขภาพของสัตว์และสิ่งแวดล้อม”

สถาบันปาสเตอร์เป็นหน่วยงานลักษณะไหน และทำอะไรบ้าง

เป็นสถาบันวิจัยที่ต่างจากที่อื่น ตรงที่เป็น state approved, non-profit private foundation เขาสามารถทําอะไรหลายอย่างที่รัฐบาล มหาวิทยาลัย หรือบริษัทเอกชนทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลจะทำอะไรต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย ทำตามข้อระเบียบของราชการ ส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องมีงานสอน บริษัทเอกชนก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ กำไร หรือตลาดเป็นตัวนำ เพราะฉะนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขได้

แต่สถาบันปาสเตอร์เราไม่เป็นทั้งหมด  ไม่ขึ้นอยู่กับระเบียบราชการ ไม่ต้องสอน ไม่มีการตลาดเป็นตัวนำ และไม่อยู่ใต้การเมือง

เราทําวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างความรู้ใหม่ที่จะนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เขามีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายใน ๒๕ ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในอดีต เช่น กัมพูชา ลาว แต่ปัจจุบันขยายไปในประเทศอื่น ๆ รวมถึงจีน เกาหลี และญี่ปุ่นที่ผมกำลังก่อตั้ง

ประเทศไทยมีสถาบันปาสเตอร์ไหม

ไม่มีครับ คงยาก เพราะโครงสร้างและเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่อำนวย

ตอนนี้ผมก็มีงานสำคัญคือการตั้งสถาบันปาสเตอร์ที่ญี่ปุ่น เพราะจะเป็นสถาบันที่ทำวิจัยเพื่อสาธารณสุข มีการจัดอบรมและการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยสถาบันปาสเตอร์ทำงานด้านวิจัยพื้นฐานและด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเรื่องการศึกษา แล้วยังร่วมมือกับบริษัทในญี่ปุ่นทำธุรกิจได้ด้วย

งานหลักจริง ๆ คือการวิจัยพื้นฐานที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่โดยมีเครือข่ายทั่วโลก เราเป็นสถาบันเดียวที่มีเครือข่ายทั่วโลก

พอผมไปอยู่ในสถาบันปาสเตอร์ถึงรู้ว่านักวิทยาศาสตร์เขาก็มีโลกของเขา สามารถทำอะไรที่เราไม่รู้ เช่น การสร้างโมเดลของเซลล์ สัตว์ทดลอง หรืออะไรก็ตาม ทำให้ทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดในอนาคต

แต่ก่อนเคยคิดว่าพวกนี้บ้าบอลงทุนอะไรตั้งเยอะแยะกับโมเดลเหล่านี้ ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่านักวิทยาศาสตร์ทำงานเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ คือธรรมชาติเป็นคำถามวิจัยอันใหญ่ที่เราต้องการเข้าใจกลไกของมัน

นักวิทยาศาสตร์ไทยไม่ค่อยมีที่ยืน เพราะที่นี่หมอเป็นใหญ่ นักวิทยาศาสตร์เป็นแค่เทคนิเชียนของหมอ หมอจะคิดแต่เรื่องการประยุกต์ใช้งาน ถ้าไม่ใช่เขาก็ไม่ทำ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถจะพัฒนานวัตกรรมจริง ๆ ได้ ผมก็เคยคิดกับนักวิทยาศาสตร์แบบนั้น แต่ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้ว

วิทยาศาสตร์พื้นฐานมีความสำคัญ แต่ใครจะเรียน ผมก็ไม่เรียน คุณก็ไม่เรียน คณะวิทยาศาสตร์ปรกติเอาไว้อันดับสุดท้าย

พอไปทำงานที่สถาบันปาสเตอร์ เขาเทรนอะไรให้อาจารย์บ้าง

อย่างเรื่องเขียนทุนวิจัย เขาจะมีคนมาช่วยเทรนว่าจะนำเสนอโครงการอย่างไร เขียนรายงานอย่างไร เขาเน้นว่าการประเมินผล หรือ evaluation เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่มีการประเมิน การทำงานจะสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง แต่จะประเมินผลกันทุกเดือน ก็ไม่ต้องทำงานกัน ถ้าประเมินทุก ๒ ปีก็พอเป็นไปได้ หรือการเขียนรายงานยาว ๆ แล้วใครจะอ่าน  เขามีระบบการประเมินที่ดีที่ทำให้เราพัฒนาตัวเอง

ผมจำได้เลยว่าครั้งแรกเขียนรายงาน ๒ ปี แล้วเขาให้เขียนแค่สองหน้า เรามีอะไรจะทำตั้งเยอะจะเขียนพอหรือ เขาบอกคุณต้องเขียนให้พอ เขาบอกว่ารู้ไหมคนที่ได้ Nobel Prize เพราะทำงานอย่างเดียวแล้วสำเร็จ  ทุกครั้งเขาจะเน้นให้เราโฟกัส ๆ  เราบอกอยากทำนู่นทำนี่ เขาบอกไม่ได้ทุกอย่างต้องมี story คุณจะทำอะไร จะแก้ปัญหาอะไร ปัญหาเดียวแก้ให้ออก เขาบังคับให้เราไปจนถึงจุดนั้น

แล้วพอมีทุนเข้ามา เขาก็จะถามว่าคุณโอเคจะทำอันนี้ไหม เขาคอยกระตุ้นเราด้วย ไม่ใช่แค่นั่งเช็กว่าเราทำงานหรือเปล่า และก็มีการอบรม เป็นกฎหมายของฝรั่งเศสที่นายจ้างจะต้องให้พนักงานได้รับการอบรม เขาถือเป็นเรื่องสำคัญจนเป็นกฎหมาย เราอยากเรียนอะไรก็ได้ที่จะพัฒนาตัวเอง  แต่ที่ประทับใจคือเรื่องการประเมินผลที่บังคับให้ต้องโฟกัสกับงานที่สำคัญงานเดียว

เรื่องการรับทุนวิจัยเขาก็ให้ความสำคัญประเด็น conflict of interest  ลำดับแรกคือเราต้องเข้าใจว่าคืออะไร เขาให้เราเข้าคอร์สแล้วลงนามกรรมการที่ดำเนินการเรื่องทุนวิจัยจะตรวจสอบเรื่อง conflict of interest ดูว่าคนนี้เรารู้จักยังไง มีความสัมพันธ์ส่วนตัวไหม ถ้ามีก็ถูกคัดออกจากคณะกรรมการประเมินผล ทำให้เกิดการประเมินที่เป็นธรรม แล้วยังมีผู้ตรวจสอบภายนอก แม้แต่คนฝรั่งเศสก็ต้องเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษเพราะว่าต้องส่งผู้ตรวจสอบภายนอก

เรื่องความหลากหลายก็เป็นประเด็นสำคัญมากในการขอทุน ผมโชคดีเพราะเป็นคนกลุ่มน้อยของสหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือฝรั่งเศส การแข่งกับคนผิวขาวคอเคเซียนเราก็มีโอกาสจะชนะมากกว่า  เวลาเขียนขอทุนวิจัย เราต้องแสดงเรื่องความหลากหลายในโครงการ มีเพศหญิงเท่าไร มีคนกลุ่มน้อยเท่าไร รวมทั้งการมีสถาบันที่ไม่เคยทำวิจัยมาก่อนเข้ามาอยู่ในโครงการ เพื่อจะได้พัฒนาเขา ก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ

เขาไปไกลเรื่องงานวิจัย ไม่แปลกใจที่การค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ จะไปเกิดที่นั่น ของเราแค่รับนวัตกรรมมาดัดแปลงนิดหน่อย

Image

สถาบันปาสเตอร์มองปัญหาสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

จุดมุ่งหมายสำคัญคือสุขภาพของมนุษย์ แต่ตอนนี้เขามองว่าสุขภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสุขภาพของสัตว์และสิ่งแวดล้อมแล้ว

แนวคิดนี้ยังทำความเข้าใจกันยาก เพราะถ้าไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุข เขาจะบอกว่าหน้าที่คือดูแลสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น  ถ้าไปคุยกับกระทรวงเกษตร เรื่องโรคจากสัตว์ที่มาสู่คน แต่ไม่ได้เกิดโรคในสัตว์ ไม่ได้เป็นปัญหาของปศุสัตว์ เช่นโรคไข้สมองอักเสบในหมู หมูไม่ได้เป็นอะไร แต่หมูเป็นตัวแพร่เชื้อ ยุงไปกัดหมูแล้วมากัดคนเป็นโรคไข้สมองอักเสบ เป็นโคม่า กระทรวงเกษตรก็จะบอกว่าไม่ใช่ปัญหาของเขาก็เลยไม่รู้ว่าปัญหาเป็นของใคร

ตอนนี้ที่ฝรั่งเศสพยายามรณรงค์เรื่องนี้ one health ทั่วโลก แม้แต่ WHO ก็ทำไม่ได้ ต้องสร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และพยายามหาองค์กรระดับนานาชาติเป็น international organizer เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด

สุขภาพของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ตรวจพบโรคแล้วรักษา แต่ต้องไปถึงการป้องกัน โดยเฉพาะการทำให้สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี สารพิษที่เรากินเข้าไปทําให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง ก็มาจากอุตสาหกรรมการเกษตร มาจากกระบวนการผลิตอาหารทั้งหลาย ทุกอย่างเกี่ยวกัน

climate change กับโรคไข้เลือดออกก็เหมือนกัน เพราะโลกร้อนทำให้ยุงลายแพร่ไป  มีเพื่อนที่ทำโมเดลโลกร้อนที่สถาบันปาสเตอร์ คาดว่าในอนาคตไทยอาจจะไม่มีไข้เลือดออก เพราะยุงจะตายหมด มันร้อนเกินไป แต่ยุงจะขึ้นไปยุโรป แคนาดา ส่วนไทยก็เจอน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอย่างอื่นแทนเมื่อถึงจุดนั้น

ปัญหาทุกอย่างมาจากการที่เราทำลายธรรมชาติ ปัญหาโรคระบาด ปัญหาเชื้อดื้อยา มันเกิดตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเป็นสังคมบริโภคที่ต้องการให้คนบริโภคเกินความพอดี เกินความต้องการ

การแก้ปัญหาใช้แค่วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว

วิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ต้องไปด้วยกัน อย่างที่เล่าเรื่องการอนุมัติให้ใช้วัคซีน ไม่ได้อยู่กับวิทยาศาสตร์อย่างเดียว มันอยู่กับปัจจัยอย่างอื่นด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นโครงการที่ผมทำที่ญี่ปุ่น คือการกำจัดเชื้อที่เรามีวัคซีนแล้ว เรามีโรคติดเชื้อหลายอย่างที่มีวัคซีนป้องกันเรียบร้อยแล้ว เช่น หัดเยอรมัน โปลิโอ แต่เชื้อเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ในโลก เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสังคมศาสตร์  ต้องสร้างความร่วมมือที่จะทำความรู้ความเข้าใจระหว่างนักการเมืองที่เป็นคนกำหนดนโยบาย กับหน่วยงานรับผิดชอบด้านสาธารณสุข กับหมอ กับประชาชนที่เป็นคนได้รับเชื้อ

เรื่องโรคระบาดต้องเฝ้าระวัง ต้องคอยตรวจสอบ อาจเรียกว่าเป็นงานวิจัยพื้นฐาน แต่ก็ไม่ได้พื้นฐานมาก ต้องศึกษาไวรัสตัวใหม่ที่จะเข้ามา ศึกษาการผลิตวัคซีนที่ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิ-ภาพมากขึ้น ศึกษาโรคที่ควรจะกำจัดได้ แต่ยังกำจัดไม่ได้เสียที  ซึ่งต้องอาศัยสังคมศาสตร์เข้ามาช่วยเพราะว่าวิทยาศาสตร์ไปถึงที่สุดแล้ว มีวัคซีนแล้ว มีชุดตรวจพิเศษแล้ว แต่ยังไม่สามารถกำจัดโรคได้ หลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมก็กำจัดโรคไม่ได้

ถ้าแยกวิทยาศาสตร์ออกจากสังคมศาสตร์เด็ดขาดจะแก้ไขปัญหาได้ยาก มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา จะกินจะทำอะไรก็เกี่ยวข้องกันหมด

ตอนนี้สิ่งที่เราเน้น คือใช้วิทยาศาสตร์เป็น soft power  วิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาความจริงของชีวิต ของธรรมชาติ  ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนทฤษฎีเดิม คุณก็ต้องหาทางพิสูจน์  วิทยาศาสตร์จะต่างจากสังคมศาสตร์ตรงที่วิทยาศาสตร์ทําที่ไหนผลต้องเหมือนกัน ถ้าไม่ตรงกันต้องอธิบายได้ เป็นอะไรที่บริสุทธิ์ในการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน แล้วก็ช่วยชีวิตคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน วิทยาศาสตร์จะเป็น soft power ที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกันได้

เรื่องนี้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลไทยจะสนับสนุน soft power แต่เขาไม่คิดว่า science คือ soft power อย่างหนึ่ง เขาว่าจะใช้ soft power เปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนมี science and technology เป็นตัวนำเศรษฐกิจ

คนที่ส่งผมไปญี่ปุ่นก็คือรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อไปทำความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับญี่ปุ่น ใช้วิทยาศาสตร์ทำความร่วมมือกันในภูมิภาคในเอเชียแปซิฟิก

ที่ญี่ปุ่นมีปัญหากับคนรุ่นใหม่มาก คนญี่ปุ่นในอดีตถ้าได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ก็ถือว่าชีวิตจบแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่เขาไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น เขาอาจมีไอเดียใหม่ ๆ แต่บริษัทใหญ่ไม่สนับสนุน เราก็กำลังหาทางเปิดการแข่งขันนวัตกรรมเหมือนที่ฝรั่งเศส หาเทคโนโลยีที่จะช่วยเรื่อง climate change ให้เด็กรุ่นใหม่เสนอความคิดที่เขาอยากจะทำ เอานักลงทุนมานั่งฟังว่าอยากจะสนับสนุนโครงการไหน อาจมีคนทำเรื่องเห็ดเป็นอาหารทดแทนในอนาคต มันมีประโยชน์แล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออะไรอย่างอื่นที่มาทดแทนสิ่งที่ทำลายธรรมชาติ

เราพยายามสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ถูกละเลยและถูกระบบเก่าครอบงำทำให้เขาไม่มีโอกาส

การทำงานเป็นทีมในสถาบันชั้นนำระดับโลก เขาทำงานกันอย่างไร มีทะเลาะกันบ้างไหม

เท่าที่สังเกต ถ้าทะเลาะกัน เขาจะทิ้งทุกอย่างไว้ในที่ประชุม คือเขาคิดว่าต้องทําเพื่อส่วนรวม ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว สถาบันมาก่อน ชาติมาก่อน แล้วก็ประชากรโลกที่เป็นจุดมุ่งหมายของเขา

ข้อดีของผมคือไม่ได้เป็นคนฝรั่งเศส เป็นคนเอเชียที่ค่อนข้างนุ่มนวล คุยกับทุกคนได้ แล้วเป็นคนที่รับฟัง รับข้อมูลมาวิเคราะห์  ผมจะสังเกตว่าคนนี้ไม่ชอบอะไร ชอบอะไร ก็ดึงส่วนที่มีประโยชน์กับงานมา เวลาประชุมถ้าสองคนนี้ไม่อยากคุยกันก็ไม่ต้องคุย มาคุยกับผม  ผมเป็นคนจัดการว่าทำยังไงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

“เราเกิดมาในครอบครัวแบบนี้ แม้ว่าจะไม่สนใจการเมือง แต่ก็ได้รับรู้รับฟังมาตลอดชีวิต คิดว่าทำให้เราชอบไปในทางสังคมนิยมมากกว่าทุนนิยม คิดไปทางซ้ายมากกว่าทางขวา”

ตำแหน่งและหน้าที่ตอนนี้ของอาจารย์ในสถาบัน

ในสถาบันปาสเตอร์ตำแหน่งทางวิชาการผมเป็นศาสตราจารย์ (professor) ที่นั่นเขาเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ต้องอาศัยคอนเนกชัน เพราะผมไม่รู้จักใครเลย แต่อยากไปอยู่เพื่อพิสูจน์ผลงาน อยากทำอะไรโดยที่ไม่ต้องอาศัยคอนเนกชันที่เมืองไทยต้องใช้คอนเนกชัน ถ้าผมได้อะไรขึ้นมา คนก็ต้องบอกว่าเพราะผมมีคอนเนกชัน

ตอนนี้ผมรับผิดชอบทีมวิจัยชื่อ Ecology and Emergence of Arthropod-borne Pathogens เราศึกษาเรื่องของระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปและทําให้โรคติดเชื้อจากแมลง (insect) สัตว์ขาปล้อง (arthropod) ทั้งหลายมาสู่คน อยู่ใต้แผนก Global Health ของสถาบันปาสเตอร์

อันนี้คือตำแหน่งงานปรกติ แต่ผมไม่อยู่นิ่ง เราสร้างโครงการอยู่ตลอดเวลา ตั้งศูนย์วิจัยด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ชื่อ Pasteur International Center for Research on Emerging Infectious Diseases ได้ทุนจาก NIH ของสหรัฐอเมริกามา ปีละกว่า ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราสร้างเครือข่ายกับกัมพูชา แคเมอรูน เซเนกัล แล้วก็จะมีเพิ่มที่ตุรกี กับอีกหลายประเทศที่สนใจ

ตอนทำงานกับประเทศเซเนกัล เขาไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสมาตักตวงผลประโยชน์ในประเทศเขา การที่ผมไม่ได้เป็นคนฝรั่งเศสไปคุยกับเซเนกัล ก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องการเป็นเมืองขึ้นในอดีต ยิ่งเราเป็นคนเอเชียเขาก็ไม่มีคำถาม ถ้าเป็นคนยุโรปก็อาจจะเป็นปัญหากับคนแอฟริกา

ทำไมต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหลาย ๆ ประเทศ

เพราะว่าโรคที่เราสนใจต้องการการเปรียบเทียบระหว่างระบบนิเวศที่ไม่เหมือนกัน ทำไมบางที่เกิดการระบาด บางที่ไม่เกิด ตอนนี้ก็ค้นพบอะไรเยอะมากเกี่ยวกับโรคที่อยู่ในสัตว์ซึ่งอาจจะแพร่มาสู่คน ทำไมบางครั้งเกิด บางครั้งไม่เกิด ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร  โรคแต่ละโรคในแต่ละสภาพสิ่งแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน

แล้วเป็นวิธีคิดของประเทศตะวันตกที่จะคิดปัญหาของโลกเป็นหลัก คำถามวิจัยอยู่ในประเทศไหนก็ไปทำในประเทศนั้น ไปสร้างความร่วมมือกับประเทศนั้น ไม่สนใจว่าต้องเป็นปัญหาของโรคในประเทศเขาหรือเปล่า ผมถึงต้องไปทำหลายประเทศ เริ่มต้นผมทำเรื่องมาลาเรียที่เซเนกัล ตอนนี้ทำเรื่องไข้ที่มาจากเห็บ เรียก tick-borne infection ซึ่งพบว่าเห็บเป็นพาหะของหลายโรคมาก จากโรคที่อยู่ในพวกวัวควาย หรือแพะแกะ พอเห็บไปกัด เชื้อโรคก็มาอยู่ในเห็บ เราไปเดินป่าหรือเข้าไปในฟาร์ม เห็บมากัดคน เชื้อโรคก็เข้ามา ตอนนี้เกิดโรคในคนแล้ว โรคอุบัติใหม่จากเห็บจะรุนแรงขึ้น เพราะเห็บใกล้ชิดคน

การทำงานของฝรั่งเขาจะคาดการณ์ข้างหน้าแล้วไปตั้งรับ ไม่ใช่ว่ารอให้เกิดโรคอุบัติใหม่แล้วค่อยเริ่มทำอะไร แล้วมีทุนวิจัยเยอะมาก อย่างผมได้ทุนจากสหรัฐอเมริกา เขาก็ไม่ได้กังวลว่านี่คือการลงทุนให้ฝรั่งเศส เพราะเขาต้องการขยายความรู้  มันไม่มีเรื่องของเชื้อชาติ

สังคมประชาธิปไตยกับความสามารถคิดอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวข้องกันไหมในฝรั่งเศส

ต้องยอมรับว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่คิดอะไรใหม่ แล้วก็จะแอนตี้ทุนนิยมอยู่บ้าง จะไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ  ตามหลักการสามอย่างที่ปฏิวัติฝรั่งเศส คือ Libertéé, ÉÉgalitéé, Fraternitéé เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ  สามหลักนี้มนุษย์เราต้องมีภราดรภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างแย่งชิงกันจนเกินไป ต้องมีความเท่าเทียม แล้วก็มีเสรีภาพในการพูด การคิด การแสดงออก

วงการวิทยาศาสตร์ก็ต้องการหลักการสามอย่างนี้ที่ทำให้ทำงานด้วยกันได้ เป็นเพื่อนกัน ทำงานด้วยความผูกพันกัน ไม่ได้ทำงานเพราะว่าเป็นงาน  ยกตัวอย่างในสถาบันเราเรียก “ปาส-เตอร์คอมมูนิตี” เราพยายามดึงนักวิจัยที่ญี่ปุ่น
เข้ามาสู่ปาสเตอร์คอมมูนิตี มีความผูกพันกันเป็นเครือข่าย เวลาเจอกันเราคุยวิทยาศาสตร์กัน เพราะวิทยาศาสตร์ไม่มีเขตแดน เราใช้คำว่า science without border

เราต้องทำให้วิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น ผมอยากให้คำถามงานวิจัยมาจากสังคมแล้วให้ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ ทำงานวิจัยพื้นฐานที่จะตอบคำถามเพื่อให้สังคมใช้เป็นแนวทางการตัดสินใจ  อย่าคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ  วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า แค่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ช่วยตัดสินใจในนโยบายทั้งหลาย การดำเนินชีวิตของเราก็จะดีขึ้น เพราะอยู่บนฐานความจริงของธรรมชาติ

คนฝรั่งเศสจะไม่เชื่ออะไรง่าย เขาจะตั้งคำถามก่อนว่าจริงหรือเปล่า แล้วหาคำตอบ เป็นการคิดอย่างมีเหตุมีผล

คิดว่าตัวเองได้อะไรจากคุณตาปรีดีมาบ้าง

ผมไม่ใช่หลานสายตรง แต่เป็นหลานของท่านผู้หญิงพูนศุข คุณยายของผม (อัมพา สุวรรณศร นามสกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) เป็นน้องสาวท่านผู้หญิงที่สนิทกันมาก เพราะว่าบ้านอยู่ติดกัน ตอนเด็กผมเติบโตมาโดยลูกสาวท่านผู้หญิง (ลลิตา พนมยงค์) เป็นคนคอยเลี้ยง ก็รับรู้ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น ครอบครัวคุณตาปรีดีต้องทนทุกข์อย่างไร ท่านต้องไปอยู่ต่างประเทศ ลูกสาวต้องอยู่ที่นี่ ไม่ได้เจอพ่อ ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่บางครั้งก็ได้บินไปเยี่ยม ตอนนั้นผมยังเด็ก ไปอยู่กับท่าน นั่งกินข้าวกับท่าน แต่ไม่รู้จะคุยอะไร ไม่มีความรู้จะคุยด้วย และผมก็ไม่ได้ชอบสังคมศาสตร์ด้วย

เราเกิดมาในครอบครัวแบบนี้ แม้ว่าจะไม่สนใจการเมือง แต่ก็ได้รับรู้รับฟังมาตลอดชีวิต คิดว่าทำให้เราชอบไปในทางสังคมนิยมมากกว่าทุนนิยม คิดไปทางซ้ายมากกว่าทางขวา แล้วก็สนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ การได้มาอยู่ฝรั่งเศสก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ชีวิตลิขิต ได้รู้ว่าสังคมแบบรัฐสวัสดิการมีข้อดียังไง แต่ก็มีข้อเสียด้วย เพราะมีคนจำนวนมากที่ใช้ระบบไปในทางที่ผิด

คนฝรั่งเศสจริง ๆ เข้าใจ เมื่อสังคมให้เขามา เขาก็มีหน้าที่ต้องทำอะไรเพื่อตอบสนองสังคม แต่คนที่ใช้ระบบในทางที่ผิดจะเอาเข้าตัวอย่างเดียว ถ้าจะเป็นรัฐสวัสดิการ คงต้องดูว่าพร้อมแล้วหรือ เพราะจะมีช่องว่างเยอะแยะ ยิ่งในสังคมที่คนหาช่องทางเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง อันตรายครับ

จริง ๆ นั่งคิดไปก็อยากรู้เหมือนกันว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ท่านทำได้อย่างไร คือนึกไม่ออก ยิ่งในสังคมที่ท่านอยู่ คือท่านเป็นเขยของครอบครัว ณ ป้อมเพชร์ ก็เป็นลูกพระยา ตอนหลังครอบครัวเราก็มาเกี่ยวดองกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีก ซึ่งในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยมีความขัดแย้งกับคุณตาปรีดี คุณยาย ท่านผู้หญิงพูนศุข ยอมรับในตัวอภิสิทธิ์ อยากอยู่จนเห็นเขาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท่านเสียก่อนอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ เพียงไม่กี่วัน ชีวิตผมรายล้อมด้วยคนคิดต่าง แต่ด้วยทุกคนใช้เหตุผลและความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นตัวเชื่อม เลยทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความคิดที่หลากหลาย ผมนำประสบการณ์นี้มาใช้ในชีวิตการทำงาน ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน