ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
หลังกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี
ใครไปเดินตลาดสดแถบพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก อย่างเช่นตลาดโคกสำโรง หนองม่วง ที่ลพบุรี หรือศรีเทพ พุเตย หนองไผ่ ที่เพชรบูรณ์ มักเห็นแม่ค้าเอาลูกกำจัด หรือย่านเพชรบุรีเรียกพริกพราน แถบล้านนาเรียกมะข่วง มาวางขาย ต้นกำจัดซึ่งยืนต้นอยู่ในป่าชุ่มชื้นจะออกลูกช่วงนี้แหละครับ
เปลือกลูกกำจัดทั้งสดและแห้งกลิ่นหอมเหมือนผิวส้มฉุนซ่าลิ้นเกือบเท่ามะแขว่น หรือฮวาเจียในพริกหมาล่า เมื่อถึงเวลานี้ คนที่อยู่ในวัฒนธรรมกินกำจัดจะรู้สึกคึกคัก ชีวิตชีวาในห้องครัวดูจะมีสีสันขึ้นมาก
ถึงใครไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมนี้ ผมก็ขอเชียร์ให้ลองหามาปรุงกับข้าวกินดูเถิดครับ แล้วจะรู้ว่า กุสุมรสเผ็ดร้อนละเมียดอันละเอียดซับซ้อนนั้นมีอยู่จริง แถมยังเนรมิตกับข้าวพื้นๆ ให้เลิศเลอรสขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ
ถ้าใครซื้อลูกกำจัดสดสีเขียวสีแดงมา อีกเพียง ๒ วัน มันจะแห้งอย่างรวดเร็วครับ เปลือกเผยอแยกออก เวลาเราเอามาทำกับข้าว ต้องแคะคัดเอาเมล็ดดำๆ ทิ้งไป เปลือกสดนั้นฉุนแรงวูบวาบ เปลือกแห้งกลิ่นจะเนียนแบบลึกกว่า
เราสามารถเก็บเปลือกแห้งนี้ไว้ปรุงกับข้าวได้ข้ามปีทีเดียว
คนลาวโซ่งเพชรบุรีจะเอาเปลือกพริกพราน (เขาเรียกแบบนั้น) มาตำใส่ “แจ่วมะเอือดด้าน” รสเผ็ดจัด ส่วนคนหนองม่วงมีสูตร “พริกเกลือสระโบสถ์” มาบอกผม ว่ายังมีทำกินในเขตอำเภอสระโบสถ์ ลพบุรี มาก
ผมเองนั้นตกอยู่ในวัฒนธรรมกินกำจัดมาได้ ๒-๓ ปีแล้ว ได้ลองทำกับข้าวหลายอย่าง ทั้งตามคำแนะนำของชาวบ้านและที่แผลงเอาเอง คิดเอาเองว่าอร่อย เลยขอเอามาเล่าให้ฟังสักสี่ห้าอย่างนะครับ